ข้ามไปเนื้อหา

พระเวชยันตราชรถ

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
พระเวชยันตราชรถ
พระเวชยันตราชรถ (รหัส 9781) ขณะทำการบูรณะในปี พ.ศ. 2551
ภาพรวม
เริ่มผลิตเมื่อพ.ศ. 2338 (จำนวน 1 องค์)
ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช
ผู้ออกแบบช่างสิบหมู่
ภายใต้การกำกับดูแลของกรมศิลปากร
ตัวถังและช่วงล่าง
ประเภทราชรถ/ราชยาน[1]
โครงสร้างทรงบุษบก ย่อมุมไม้สิบสอง หลังคาซ้อน 5 ชั้น
มิติ
ความยาว18 เมตร[2]
ความกว้าง4.85 เมตร[2]
ความสูง11.70 เมตร[2]
น้ำหนัก12.25 ตัน[2]
ระยะเหตุการณ์
รุ่นก่อนหน้าพระมหาพิชัยราชรถ
รุ่นต่อไปราชรถน้อย

พระเวชยันตราชรถ สร้างในสมัยรัชกาลที่ 1 ราวปี พ.ศ. 2338 คราวเดียวกับพระมหาพิชัยราชรถ เป็นราชรถทรงบุษบก มีความกว้าง 4.85 เมตร ยาว 18 เมตร สูง 11.20 เมตร หนัก 12.25 ตัน สำหรับใช้เป็นราชรถสำรองในงานพระบรมศพของพระมหากษัตริย์ และเป็นราชรถทรงพระศพพระบรมวงศานุวงศ์ซึ่งทรงศักดิ์สูง

เมื่อแรกเริ่มพระเวชยันตราชรถได้ใช้เป็นรถพระที่นั่งรองในงานถวายพระเพลิงพระบรมอัฐิสมเด็จพระปฐมบรมมหาชนกในปี พ.ศ. 2339 มีศักดิ์เป็นชั้นที่ 2 รองจากพระมหาพิชัยราชรถ ต่อมาได้ใช้ทรงพระโกศสมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากรมพระศรีสุดารักษ์ คู่พระโกศสมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากรมพระเทพสุดาวดี ซึ่งทรงพระมหาพิชัยราชรถ ออกพระเมรุท้องสนามหลวงคราวเดียวกัน พ.ศ. 2342 หลังจากนั้นจึงได้ใช้ราชรถองค์นี้เป็นราชรถรองในงานออกพระเมรุของพระมหากษัตริย์ในรัชกาลต่อ ๆ มา จนถึงงานพระเมรุพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5

ต่อมาพระมหาพิชัยราชรถชำรุดจนไม่สามารถฉุดชักออกมาจากที่ตั้งได้ จึงได้มีการใช้พระเวชยันตราชรถเป็นราชรถทรงพระบรมศพ โดยออกนามในหมายเรียกว่า "พระมหาพิชัยราชรถ" เพื่อเป็นการถวายพระเกียรติแก่พระบรมศพตามราชประเพณี ทั้งนี้ พระเวชยันตราชรถได้อัญเชิญออกใช้ในราชการครั้งล่าสุดเมื่อคราวพระราชพิธีถวายพระเพลิงพระบรมศพสมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณี พระบรมราชินีในรัชกาลที่ 7 เมื่อ พ.ศ. 2528

ปัจจุบันพระเวชยันตราชรถได้เก็บรักษาไว้ ณ โรงราชรถ พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร กรุงเทพมหานคร

สำหรับงานพระราชพิธีพระราชทานเพลิงพระศพสมเด็จพระเจ้าภคินีเธอ เจ้าฟ้าเพชรรัตนราชสุดา สิริโสภาพัณณวดี ในปี พ.ศ. 2555 นั้น เดิมจะได้เชิญพระศพขึ้นทรงพระเวชยันตราชรถตามพระอิสริยยศ ต่อมาพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้อัญเชิญพระศพด้วยพระมหาพิชัยราชรถ เพื่อเป็นการถวายพระเกียรติยศสูงสุดตามโบราณราชประเพณี พระเวชยันตราชรถจึงไม่ได้อัญเชิญออกมาใช้งาน

การเชิญพระโกศพระบรมศพและพระศพ

[แก้]
  1. พ.ศ. 2342 เชิญพระโกศพระศพสมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากรมพระศรีสุดารักษ์
  2. พ.ศ. 2352 เชิญพระโกศพระศพสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้ากรมหลวงศรีสุนทรเทพ
  3. พ.ศ. 2367 เชิญพระโกศพระศพสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้ากรมหลวงเทพยวดี
  4. พ.ศ. 2391 เชิญพระโกศพระศพสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้าอาภรณ์
  5. พ.ศ. 2407 เชิญพระโกศพระศพสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้าจันทรมณฑล โสภณภควดี กรมหลวงวิสุทธิกระษัตริย์
  6. พ.ศ. 2423 เชิญพระโกศพระศพสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้ากรรณาภรณ์เพ็ชรรัตน์ โสภางคทัศนิยลักษณ์ อรรควรราชกุมารี
  7. พ.ศ. 2423 เชิญพระโกศพระศพสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้าอิศริยาลงกรณ์
  8. พ.ศ. 2425 เชิญพระโกศพระศพพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้ากรมขุนขัตติยกัลยา
  9. พ.ศ. 2425 เชิญพระโกศพระศพสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้าวิจิตรจิรประภา อดุลยาดิเรกรัตน ขัตติยราชกุมารี
  10. พ.ศ. 2430 เชิญพระโกศพระศพสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้ามหามาลา กรมพระยาบำราบปรปักษ์
  11. พ.ศ. 2430 เชิญพระโกศพระศพพระอรรคชายาเธอ พระองค์เจ้าเสาวภาคย์นารีรัตน์
  12. พ.ศ. 2431 เชิญพระโกศพระศพสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้าพาหุรัตมณีมัย กรมพระเทพนารีรัตน์
  13. พ.ศ. 2431 เชิญพระโกศพระศพสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้าศิริราชกกุธภัณฑ์
  14. พ.ศ. 2431 เชิญพระโกศพระศพสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้าตรีเพ็ชรุตม์ธำรง
  15. พ.ศ. 2433 เชิญพระโกศพระศพพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้านภาจรจำรัสศรี ภัทรวดีราชธิดา
  16. พ.ศ. 2441 เชิญพระโกศพระศพสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้าศิราภรณ์โสภณ พิมลรัตนวดี
  17. พ.ศ. 2442 เชิญพระโกศพระศพสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้าสมมติวงศ์วโรทัย กรมขุนศรีธรรมราชธำรงฤทธิ์
  18. พ.ศ. 2443 เชิญพระโกศพระศพสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้าจาตุรนต์รัศมี กรมพระจักรพรรดิพงษ์[3]
  19. พ.ศ. 2445 เชิญพระโกศพระศพพระอรรคชายาเธอ พระองค์เจ้าอุบลรัตนนารีนาค กรมขุนอรรควรราชกัลยา
  20. พ.ศ. 2448 เชิญพระโกศพระศพสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้าจันทราสรัทวาร กรมขุนพิจิตรเจษฎ์จันทร์
  21. พ.ศ. 2452 เชิญพระโกศพระศพสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้าเยาวมาลย์นฤมล สรรพสกนธ์กัลยาณี กรมขุนสวรรคโลกลักษณวดี
  22. พ.ศ. 2463 เชิญพระโกศพระบรมศพสมเด็จพระศรีพัชรินทราบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง (หมายกำหนดการให้ออกนามเป็น "พระมหาพิชัยราชรถ")
  23. พ.ศ. 2464 เชิญพระโกศพระบรมศพสมเด็จพระอนุชาธิราช เจ้าฟ้าจักรพงษ์ภูวนาถ กรมหลวงพิษณุโลกประชานาถ
  24. พ.ศ. 2466 เชิญพระโกศพระศพสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้าสุทธาทิพยรัตน์ สุขุมขัตติยกัลยาวดี กรมหลวงศรีรัตนโกสินทร
  25. พ.ศ. 2466 เชิญพระโกศพระศพสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้าจุฑาธุชธราดิลก กรมขุนเพ็ชรบูรณ์อินทราไชย
  26. พ.ศ. 2466 เชิญพระโกศพระศพสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาเทวะวงศ์วโรปการ
  27. พ.ศ. 2468 เชิญพระโกศพระศพสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้ามาลินีนภดารา ศิรินิภาพรรณวดี กรมขุนศรีสัชนาลัยสุรกัญญา
  28. พ.ศ. 2469 เชิญพระโกศพระบรมศพพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว (หมายกำหนดการให้ออกนามเป็น "พระมหาพิชัยราชรถ")
  29. พ.ศ. 2471 เชิญพระโกศพระบรมศพสมเด็จพระปิตุจฉาเจ้า สุขุมาลมารศรี พระอัครราชเทวี[4]
  30. พ.ศ. 2472 เชิญพระโกศพระบรมศพสมเด็จพระราชปิตุลา บรมพงศาภิมุข เจ้าฟ้าภาณุรังษีสว่างวงศ์ กรมพระยาภาณุพันธุวงศ์วรเดช [5]
  31. พ.ศ. 2473 เชิญพระโกศพระบรมศพสมเด็จพระมหิตลาธิเบศร อดุลยเดชวิกรม พระบรมราชชนก[6]
  32. พ.ศ. 2473 เชิญพระโกศพระศพพระวิมาดาเธอ พระองค์เจ้าสายสวลีภิรมย์ กรมพระสุทธาสินีนาฏ ปิยมหาราชปดิวรัดา[7]
  33. พ.ศ. 2493 เชิญพระโกศพระบรมศพพระบาทสมเด็จพระปรเมนทรมหาอานันทมหิดล พระอัฐมรามาธิบดินทร (หมายกำหนดการให้ออกนามเป็น "พระมหาพิชัยราชรถ")
  34. พ.ศ. 2499 เชิญพระโกศพระบรมศพสมเด็จพระศรีสวรินทิราบรมราชเทวี พระพันวัสสาอัยยิกาเจ้า (หมายกำหนดการให้ออกนามเป็น "พระมหาพิชัยราชรถ")
  35. พ.ศ. 2528 เชิญพระโกศพระบรมศพสมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณี พระบรมราชินี (หมายกำหนดการให้ออกนามเป็น "พระมหาพิชัยราชรถ")

ดูเพิ่ม

[แก้]

อ้างอิง

[แก้]
  1. ‘ราชรถ ราชยาน’ เครื่องประกอบพระบรมราชอิสริยยศ ร.9, เว็บไซด์:www.matichon.co.th .วันที่ 24 ตุลาคม 2560
  2. 2.0 2.1 2.2 2.3 [https://www2.manager.co.th/Travel/ViewNews.aspx?NewsID=9590000111603%27 ยลความงาม “พระมหาพิชัยราชรถ” ราชรถหลักที่ใช้ส่งเสด็จสู่สวรรคาลัย][ลิงก์เสีย], เว็บไซด์:www2.manager.co.th .8 พฤศจิกายน 2559
  3. ราชกิจจานุเบกษา, การพระศพพระเจ้ามหัยยิกาเธอ กรมสมเด็จพระสุดารัตนราชประยูร แลพระเจ้าน้องยาเธอ เจ้าฟ้ากรมพระจักรพรรดิพงษ์, เล่ม ๑๗, ตอน ๔๗, ๑๗ กุมภาพันธ์ ร.ศ. ๑๑๙ (พ.ศ. ๒๔๔๓), หน้า ๖๖๑.
  4. ราชกิจจานุเบกษา, การพระเมรุ พระราชทานเพลิงพระศพ สมเด็จพระปิตุจฉาเจ้า สุขุมาลมารศรี พระอัครราชเทวี ณ ท้องสนามหลวง, เล่ม ๔๕, ๒๗ พฤษภาคม พ.ศ. ๒๔๗๑, หน้า ๖๖๒.
  5. ราชกิจจานุเบกษา, กหมายกำหนดการ ที่ ๓ พระราชทานเพลิงพระศพ สมเด็จพระราชปิตุลา บรมพงศาภิมุข เจ้าฟ้าภาณุรังษีสว่างวงศ์ กรมพระยาภาณุพันธุวงศ์วรเดช ณ พระเมรุท้องสนามหลวง พฤษภาคม พุทธศักราช ๒๔๗๒, เล่ม ๔๖, ตอน ๐ง, ๒๔ พฤษภาคม พ.ศ. ๒๔๗๒, หน้า ๕๕๔.
  6. ราชกิจจานุเบกษา, การพระศพพระเมรุท้องสนามหลวง พระราชทานเพลิงพระศพ สมเด็จพระเจ้าพี่ยาเธอ เจ้าฟ้ามหิดลอดุลเดช กรมหลวงสงขลานครินทร, เล่ม ๔๖, ตอน ง, ๓๐ มีนาคม พ.ศ. ๒๔๗๒, หน้า ๔๖๐๘.
  7. ราชกิจจานุเบกษา, การพระเมรุท้องสนามหลวง พระราชทานเพลิงพระศพ พระวิมาดาเธอกรมพระสุทธาสินีนาฏ ปิยมหาราชปดิวรัดา, เล่ม ๔๗, ตอน ง, ๖ เมษายน พ.ศ. ๒๔๗๓, หน้า ๑๙.
  • เอกสารนำชม "โรงราชรถ" พิพิธภัณฑ์สถานแห่งชาติ พระนคร สำนักพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ กรมศิลปากร กระทรวงวัฒนธรรม

แหล่งข้อมูลอื่น

[แก้]