พระที่นั่งราเชนทรยาน

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
พระที่นั่งราเชนทรยาน
พระที่นั่งราเชนทรยาน (2 องค์ตรงกลาง) พระยานมาศสามลำคาน (ขวาหน้า) และพระมหาพิชัยราชรถ (ซ้ายเบื้องหลัง)
ภาพรวม
เริ่มผลิตเมื่อในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช (จำนวน 2 องค์)
ผู้ออกแบบช่างสิบหมู่
ภายใต้การกำกับดูแลของกรมศิลปากร
ตัวถังและช่วงล่าง
ประเภทราชยาน[1]
โครงสร้างทรงบุษบก ย่อมุมไม้สิบสอง หลังคาซ้อน 5 ชั้น
มิติ
ความยาว1.91 เมตร[2]
ความกว้าง1.03 เมตร[2]
ความสูง4.15 เมตร (จากฐานถึงยอด)[2]

พระที่นั่งราเชนทรยาน เป็นพระราชยานที่สร้างขึ้นในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช เป็นพระที่นั่งที่สร้างขึ้นโดยช่างหลวง เป็นทรงบุษบกย่อมุมไม้สิบสอง หลังคาซ้อน 5 ชั้น สร้างจากไม้แกะสลักลงรักปิดทองประดับกระจก พนักพิงและกระจังปฏิญาณแกะสลักเป็นภาพเทพพนมไว้ตรงกลาง ครุฑยุดนาคซึ่งประดับที่ฐานที่ 14 ตัว มีคานสำหรับหาม 4 คาน แต่เวลาปกติจะคงคานประจำไว้ 2 คาน การประทับจะต้องนั่งห้อยพระบาท ความสูงจากฐานถึงยอดสูง ราว 4.15 เมตร กว้าง 103 ซม. ยาว 191 ซม. พระที่นั่งราเชนทรยานนี้สร้างคู่กับพระราชยานกงและพระวอสีวิกากาญจน์

พระที่นั่งราเชนทรยานใช้เวลาเสด็จพระราชดำเนินโดยขบวนแห่ อย่างใหญ่ที่เรียกว่า ขบวนสี่สาย เช่น ในพระราชพิธีบรมราชาภิเษก จะเสด็จพระราชดำเนินจากพระราชมณเฑียร ไปถวายสักการะพระพุทธมหามณีรัตนปฏิมากร ที่วัดพระศรีรัตนศาสดาราม นอกจากนั้นแล้วยังใช้ในการเชิญพระบรมโกศพระบรมอัฐิพระมหากษัตริย์ และสมเด็จพระบรมราชินีจากพระเมรุมาศท้องสนามหลวง เข้าสู่พระบรมมหาราชวังด้วย

ปัจจุบันเก็บรักษาอยู่ที่พระที่นั่งภิมุขมณเฑียร พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร ในความดูแลของกรมศิลปากร ในปี พ.ศ. 2527 ได้เชิญออกมาซ่อมบูรณะ และต่อมาปี พ.ศ. 2539 เชิญมาใช้ในการเชิญพระโกศพระบรมอัฐิสมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี[3] ในปี พ.ศ. 2551 พระที่นั่งราเชนทรยานได้นำออกมาเชิญพระโกศพระอัฐิสมเด็จพระพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์[4] ในปี พ.ศ. 2555 ใช้เชิญพระโกศพระอัฐิสมเด็จพระเจ้าภคินีเธอ เจ้าฟ้าเพชรรัตนราชสุดา สิริโสภาพัณณวดีจากพระเมรุท้องสนามหลวงกลับเข้าสู่พระบรมมหาราชวัง และครั้งล่าสุด ในปี พ.ศ. 2560 เพื่อใช้ในการอัญเชิญพระโกศพระบรมอัฐิพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช

อนึ่ง ในการพระราชพิธีถวายพระเพลิงพระบรมศพของพระมหากษัตริย์นั้น จะมีการจัดสร้าง "พระที่นั่งราเชนทรยานน้อย" เพิ่มอีกองค์หนึ่ง ซึ่งมีลักษณะคล้ายพระที่นั่งราเชนทรยานแต่ขนาดเล็กกว่า ใช้อัญเชิญพระบรมราชสรีรางคารของพระมหากษัตริย์แทนพระวอสีวิกากาญจน์ ส่วนองค์ที่ใช้อัญเชิญพระบรมอัฐิจะยังคงเรียกว่า "พระที่นั่งราเชนทรยาน" ตามเดิม

ส่วนประกอบต่าง ๆ ของพระที่นั่งราเชนทรยาน[แก้]

  1. เม็ดน้ำค้าง
  2. ปลียอด
  3. ลูกแก้ว
  4. บัวกลุ่ม
  5. เหม
  6. บัวคอเสื้อ
  7. องค์ระฆัง
  8. บราลี
  9. บันแถลง
  10. เฟื่อง
  11. อุบะ
  12. ประจำยามรัดอก
  13. เสาไม้สิบสอง
  14. พนักพิง
  15. กง
  16. กาบพรหมศร
  17. กระจังปฏิญาณ
  18. หัวท้องไม้เชิงบาตร
  19. หน้ากระดาน
  20. บัวหงาย
  21. ครุฑยุดนาค
  22. ฐานสิงห์

ดูเพิ่ม[แก้]

อ้างอิง[แก้]

  1. ‘ราชรถ ราชยาน’ เครื่องประกอบพระบรมราชอิสริยยศ ร.9, เว็บไซด์:www.matichon.co.th .วันที่ 24 ตุลาคม 2560
  2. 2.0 2.1 2.2 พระที่นั่งราเชนทรยาน ศิลปกรรมชิ้นเอกแห่งยุครัตนโกสินทร์ เก็บถาวร 2017-08-23 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน, เว็บไซด์:www.posttoday.com .วันที่ 16 สิงหาคม 2560
  3. "สำเนาที่เก็บถาวร". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2008-09-29. สืบค้นเมื่อ 2009-01-05.
  4. http://thainews.prd.go.th/hrhprince/index.php?option=com_content&task=view&id=10&Itemid=8[ลิงก์เสีย]

แหล่งข้อมูลอื่น[แก้]