ปิยะณัฐ วัชราภรณ์

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
ปิยะณัฐ วัชราภรณ์
ปิยะณัฐ ใน พ.ศ. 2562
รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี
ดำรงตำแหน่ง
29 พฤศจิกายน พ.ศ. 2539 – 24 ตุลาคม พ.ศ. 2540
นายกรัฐมนตรีพลเอก ชวลิต ยงใจยุทธ
ดำรงตำแหน่ง
18 กรกฎาคม พ.ศ. 2538 – 24 พฤศจิกายน พ.ศ. 2539
นายกรัฐมนตรีบรรหาร ศิลปอาชา
ดำรงตำแหน่ง
17 เมษายน พ.ศ. 2535 – 10 มิถุนายน พ.ศ. 2535
นายกรัฐมนตรีพลเอก สุจินดา คราประยูร
รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข
ดำรงตำแหน่ง
9 ธันวาคม พ.ศ. 2533 – 23 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2534
นายกรัฐมนตรีพลเอกชาติชาย ชุณหะวัณ
ก่อนหน้าประจวบ ไชยสาส์น
ถัดไปไพโรจน์ นิงสานนท์
เลขาธิการพรรครวมไทย
ดำรงตำแหน่ง
5 มิถุนายน พ.ศ. 2529 – 11 เมษายน พ.ศ. 2532
ก่อนหน้าสันติ ชัยวิรัตนะ
(พรรคประชาไทย)
ถัดไปสมพงษ์ อมรวิวัฒน์
(พรรคเอกภาพ)
ข้อมูลส่วนบุคคล
เกิด13 เมษายน พ.ศ. 2492 (74 ปี)
อำเภอราษีไศล จังหวัดศรีสะเกษ
ศาสนาพุทธ
พรรคการเมืองธรรมสังคม (2518 - 2522)
เสรีธรรม (2522 - 2526)
ชาติไทย (2526 - 2529, 2538 - 2539)
เอกภาพ (2529 - 2535)
กิจสังคม (2535 - 2536)
ความหวังใหม่ (2539 - 2543)
ไทยรักไทย (2543 - 2550)
พลังพลเมืองไทย (2561)
พลังประชารัฐ (2561 - ปัจจุบัน)
คู่สมรสนางวิจิตรา วัชราภรณ์

ปิยะณัฐ วัชราภรณ์ เป็นอดีตสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดศรีสะเกษติดต่อกัน 10 สมัยนับตั้งแต่ พ.ศ. 2518 - พ.ศ. 2543 อดีตรัฐมนตรีหลายสมัย และอดีตรองหัวหน้าพรรคเอกภาพ[1] เจ้าของวลีทางการเมือง "เก็บอุดมการณ์ใส่ลิ้นชัก"[2] และเป็นนักการเมืองที่ได้รับการยอมรับในเรื่องการพูด จนได้รับฉายา "ดาวสภา" และเคยทำหน้าที่โฆษกพรรคกิจสังคม

ประวัติ[แก้]

นายปิยะณัฐ วัชราภรณ์ เกิดวันที่ 13 เมษายน พ.ศ. 2492[3] เป็นบุตรชายของนายสง่า วัชราภรณ์ อดีตสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร[4]กับนางมาลี (นาทวรทัต) วัชราภรณ์ สำเร็จการศึกษา นิติศาสตรบัณฑิต จากมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เขามีน้องชายเป็นนักการเมือง คือ ดนัยฤทธิ์ วัชราภรณ์ ปัจจุบันเป็นสมาชิกพรรคพลังประชารัฐ อดีตสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดศรีสะเกษ

ชีวิตส่วนตัวสมรสกับ นางวิจิตรา วัชราภรณ์ มีบุตรธิดา 3 คน

การทำงาน[แก้]

ปิยะณัฐ วัชราภรณ์ ประกอบอาชีพทนายความ และเข้าสู่งานการเมืองในปี พ.ศ. 2518 โดยได้รับเลือกตั้งเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร จังหวัดศรีสะเกษ สังกัดพรรคธรรมสังคม ซึ่งมีนายทวิช กลิ่นประทุม เป็นหัวหน้าพรรค จากนั้นเขาได้รับเลือกตั้งต่อเนื่องอีกหนึ่งสมัยในการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรไทยเป็นการทั่วไป พ.ศ. 2519 สังกัดพรรคธรรมสังคมเช่นเดิม ต่อมาเขาย้ายไปสังกัดพรรคเสรีธรรมในการเลือกตั้ง พ.ศ. 2522 จากนั้นเขาได้เข้าร่วมงานกับพรรคประชาราษฎร์ ซึ่งนำโดยนายไชยศิริ เรืองกาญจนเศรษฐ์[5]

ต่อมาย้ายไปพรรคชาติไทยในการเลือกตั้ง พ.ศ. 2526 ย้ายไปพรรครวมไทยในการเลือกตั้ง พ.ศ. 2529 พรรคเอกภาพ พ.ศ. 2531 และพรรคกิจสังคมในการเลือกตั้ง พ.ศ. 2535 ทั้งสองครั้ง จากนั้นได้ย้ายกลับไปสังกัดพรรคชาติไทยอีกครั้งในปี พ.ศ. 2538 และสังกัดพรรคความหวังใหม่ พ.ศ. 2539

ปิยะณัฐ เคยดำรงตำแหน่งเลขานุการรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ ในปี พ.ศ. 2518 และเลขานุการรัฐมนตรีว่าการทบวงมหาวิทยาลัย ในปี พ.ศ. 2519 ต่อมาได้รับแต่งตั้งเป็นรองประธานสภาผู้แทนราษฏร ในปี พ.ศ. 2526

ต่อมาในรัฐบาลของพลเอกชาติชาย ชุณหะวัณ ได้รับแต่งตั้งเป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข (พ.ศ. 2534)[6] กระทั่งสิ้นสุดลงจากการยึดอำนาจของ รสช. จนเป็นที่มาของวลีทางการเมืองที่นายปิยะณัฐ กล่าวไว้ว่า

ผมหมดหวังทางการเมืองแล้ว ที่เล่นการเมืองต่อไปก็เพื่อประคับประคองไม่ให้สถานการณ์เลวร้ายลงกว่านี้ ตอนนี้ไม่มีอะไรมากกว่าการรักษาอำนาจเอาไว้ เรื่องของอุดมคติ อุดมการณ์ เก็บไว้ในลิ้นชักก่อน

ต่อมาเขาก็ได้รับแต่งตั้งเป็นรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ในรัฐบาลพลเอกสุจินดา คราประยูร[7] ในรัฐบาลนายบรรหาร ศิลปอาชา และในรัฐบาลพลเอกชวลิต ยงใจยุทธ[8] จนกระทั่งเขาประสบอุบัติเหตุทางรถยนต์ และลาออกจากตำแหน่งรัฐมนตรีในที่สุด

ในการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรไทยเป็นการทั่วไป พ.ศ. 2544 เขาลงสมัครรับเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร แบบบัญชีรายชื่อ สังกัดพรรคไทยรักไทย ลำดับที่ 33 และได้รับเลือกตั้ง[9] เป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรสมัยที่ 11 แม้ว่าเขาจะเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรฝ่ายรัฐบาล แต่ก็ลงมติไม่ไว้วางใจรัฐมนตรีฝ่ายเดียวกัน รวมทั้งยังร่วมกับฝ่ายค้านในการลงชื่อยื่นถอดถอน กรรมการ ปปช. อีกด้วย[10]

ในปี พ.ศ. 2561 เขาได้ร่วมกับนักการเมืองหลายคนในการจัดตั้งพรรคการเมืองในชื่อพรรคพลังพลเมืองไทย[11]

ต่อมาในวันอาทิตย์ที่ 25 พฤศจิกายน พ.ศ. 2561 นายปิยะณัฐได้ลาออกจากสมาชิกพรรคพลังพลเมืองไทยและได้ย้ายมาสมัครเป็นสมาชิก พรรคพลังประชารัฐ และลงสมัครรับเลือกตั้งในการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรไทยเป็นการทั่วไป พ.ศ. 2562 แต่ไม่ได้รับเลือกตั้ง

สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร[แก้]

ปิยะณัฐ วัชราภรณ์ได้รับการเลือกตั้งเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรมาแล้วทั้งหมด 11 สมัย คือ

  1. การเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรไทยเป็นการทั่วไป พ.ศ. 2518 จังหวัดศรีสะเกษ สังกัดพรรคธรรมสังคม
  2. การเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรไทยเป็นการทั่วไป พ.ศ. 2519 จังหวัดศรีสะเกษ สังกัดพรรคธรรมสังคม
  3. การเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรไทยเป็นการทั่วไป พ.ศ. 2522 จังหวัดศรีสะเกษ สังกัดพรรคเสรีธรรม
  4. การเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรไทยเป็นการทั่วไป พ.ศ. 2526 จังหวัดศรีสะเกษ สังกัดพรรคชาติไทย
  5. การเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรไทยเป็นการทั่วไป พ.ศ. 2529 จังหวัดศรีสะเกษ สังกัดพรรครวมไทย
  6. การเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรไทยเป็นการทั่วไป พ.ศ. 2531 จังหวัดศรีสะเกษ สังกัดพรรครวมไทย
  7. การเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรไทยเป็นการทั่วไป มีนาคม พ.ศ. 2535 จังหวัดศรีสะเกษ สังกัดพรรคกิจสังคม
  8. การเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรไทยเป็นการทั่วไป กันยายน พ.ศ. 2535 จังหวัดศรีสะเกษ สังกัดพรรคกิจสังคม
  9. การเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรไทยเป็นการทั่วไป พ.ศ. 2538 จังหวัดศรีสะเกษ สังกัดพรรคชาติไทย
  10. การเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรไทยเป็นการทั่วไป พ.ศ. 2539 จังหวัดศรีสะเกษ สังกัดพรรคความหวังใหม่
  11. การเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรไทยเป็นการทั่วไป พ.ศ. 2544 แบบบัญชีรายชื่อ สังกัดพรรคไทยรักไทย

อุบัติเหตุ[แก้]

ปิยะณัฐ ประสบอุบัติเหตุรถยนต์เสียหลักชนกับรถบรรทุกบนถนนมิตรภาพ ระหว่างจังหวัดสระบุรีและนครราชสีมา เมื่อวันที่ 31 สิงหาคม พ.ศ. 2540[12] ในระหว่างที่เขากำลังจะเดินทางจากจังหวัดศรีสะเกษเพื่อไปเข้าร่วมประชุมคณะรัฐมนตรีในวันรุ่งขึ้น จากอุบัติเหตุในครั้งนั้นส่งผลกระทบต่อสุขภาพของเขา แต่เขายังคงเดินทางไปปฏิบัติหน้าที่แม้สภาพร่างกายไม่เอื้ออำนวย แต่ในที่สุดเขาก็ต้องลาออกจากตำแหน่งรัฐมนตรีในเดือนตุลาคมของปีเดียวกัน คงเหลือแต่หน้าที่สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร

ภายหลังอุบัติเหตุครั้งนั้นเขายังคงเล่นการเมืองต่ออีก 1 สมัย แต่ในที่สุดก็ต้องวางมือทางการเมืองเนื่องจากปัญหาทางสุขภาพและสายตา[13] ปัจจุบันเขาใช้ชีวิตส่วนตัวอาศัยอยู่ที่จังหวัดศรีสะเกษ

เครื่องราชอิสริยาภรณ์[แก้]

อ้างอิง[แก้]

  1. ประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง พรรคเอกภาพเปลี่ยนแปลงคณะกรรมการบริหารพรรค
  2. "ปฏิรูปช่อง 11 ทำได้จริงๆ เหรอ?". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2012-10-31. สืบค้นเมื่อ 2011-10-06.
  3. "ประวัติผู้สมัคร ส.ส." คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2012-11-06. สืบค้นเมื่อ 2010-08-07.
  4. เสียชีวิตแล้ว! “สง่า วัชราภรณ์” อดีต ส.ส.10 สมัยศรีสะเกษ[ลิงก์เสีย]
  5. "ประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง การจดทะเบียนพรรคการเมือง (พรรคประชากรไทย พรรคชาติประชาธิปไตย พรรคพลังใหม่ พรรคกิจสังคม พรรคประชาราษฎร์ พรรคแรงงานประชาธิปไตย พรรคเสรีนิยม และพรรคสังคมประชาธิปไตย พรรคเสรีนิยม และพรรคสังคมประชาธิปไตย)" (PDF). คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิม (PDF)เมื่อ 2016-03-04. สืบค้นเมื่อ 2014-12-21.
  6. พระบรมราชโองการ ประกาศ ตั้งรัฐมนตรี (จำนวน ๔๕ ราย)
  7. พระบรมราชโองการ ประกาศ ตั้งรัฐมนตรี (จำนวน ๕๐ ราย)
  8. พระบรมราชโองการ ประกาศ แต่งตั้งรัฐมนตรี (จำนวน ๔๙ ราย)
  9. "ประกาศคณะกรรมการการเลือกตั้ง เรื่อง ผลการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแบบบัญชีรายชื่อ (จำนวน ๑๐๐ คน)" (PDF). คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิม (PDF)เมื่อ 2022-05-31. สืบค้นเมื่อ 2012-10-31.
  10. "หลายคำถามหลังศาลฎีกาฯรับคดี ป.ป.ช." คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2016-03-05. สืบค้นเมื่อ 2013-02-20.
  11. อดีตสส. 30 คน ตั้งพรรคพลังพลเมืองสู้เลือกตั้ง
  12. วิเคราะห์ข่าว เล่มที่ 7 ประจำเดือน กันยายน-ตุลาคม-พฤศจิกายน 2540
  13. อดีตดาวสภาอยู่ในโลกมืด! ปิยะณัฐ วัชราภรณ์ “อุดมการณ์ไม่เคยเปลี่ยน”
  14. ราชกิจจานุเบกษา, ประกาศสำนักนายกรัฐมนตรี เรื่อง พระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์ เก็บถาวร 2022-10-06 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน, เล่ม ๑๑๒ ตอนที่ ๑๗ ข หน้า ๑, ๔ ธันวาคม ๒๕๓๘
  15. ราชกิจจานุเบกษา, แจ้งความสำนักนายกรัฐมนตรี เรื่อง พระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์ เก็บถาวร 2022-05-23 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน, เล่ม ๑๐๓ ตอนที่ ๑๒ ง ฉบับพิเศษ หน้า ๒, ๒๗ มกราคม ๒๕๒๙

ดูเพิ่ม[แก้]

ก่อนหน้า ปิยะณัฐ วัชราภรณ์ ถัดไป
ประจวบ ไชยสาส์น
รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข
(9 ธันวาคม - 23 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2533)
ไพโรจน์ นิงสานนท์