บุญเอื้อ ประเสริฐสุวรรณ

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
บุญเอื้อ ประเสริฐสุวรรณ
ประธานรัฐสภาไทย และ
ประธานสภาผู้แทนราษฎรไทย
ดำรงตำแหน่ง
11 กรกฎาคม พ.ศ. 2538 – 27 กันยายน พ.ศ. 2539
(1 ปี 78 วัน)
กษัตริย์พระบาทสมเด็จพระมหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร
นายกรัฐมนตรีชวน หลีกภัย
บรรหาร ศิลปอาชา
ก่อนหน้ามารุต บุนนาค
ถัดไปวันมูหะมัดนอร์ มะทา
รองนายกรัฐมนตรี
ดำรงตำแหน่ง
9 ธันวาคม พ.ศ. 2533 – 23 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2534
(0 ปี 76 วัน)
นายกรัฐมนตรีชาติชาย ชุณหะวัณ
รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี
ดำรงตำแหน่ง
9 สิงหาคม พ.ศ. 2531 – 9 ธันวาคม พ.ศ. 2533
(2 ปี 122 วัน)
นายกรัฐมนตรีชาติชาย ชุณหะวัณ
ข้อมูลส่วนบุคคล
เกิด13 เมษายน พ.ศ. 2462
อำเภอบางปลาม้า จังหวัดสุพรรณบุรี ประเทศสยาม
เสียชีวิต13 ตุลาคม พ.ศ. 2559 (97 ปี)
โรงพยาบาลศิริราช ปิยมหาราชการุณย์ กรุงเทพมหานคร ประเทศไทย
ศาสนาพุทธ
พรรคการเมืองประชาธิปัตย์ (2494–2512)
สหประชาธิปไตย (2512–2514)
ธรรมสังคม (2517)
ชาติไทย (2517–2543)
คู่สมรสดวงเนตร ประเสริฐสุวรรณ[1]
บุตร10 คน
บุพการี
  • เอี้ยง ประเสริฐสุวรรณ (บิดา)
  • ช่วง ประเสริฐสุวรรณ (มารดา)
ยศที่ได้รับการแต่งตั้ง
ยศ พลตรี[2]

พลตรี บุญเอื้อ ประเสริฐสุวรรณ (ชื่อเดิม: กิมกุ่ย) (13 เมษายน พ.ศ. 2462 – 13 ตุลาคม พ.ศ. 2559) เป็นนักการเมืองชาวไทย เคยดำรงตำแหน่งประธานรัฐสภาและประธานสภาผู้แทนราษฎร เป็นอดีตรองนายกรัฐมนตรี และอดีตสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดสุพรรณบุรี 10 สมัย

ประวัติ[แก้]

บุญเอื้อ ประเสริฐสุวรรณ เกิดเมื่อวันที่ 13 เมษายน พ.ศ. 2462 ที่อำเภอบางปลาม้า จังหวัดสุพรรณบุรี เป็นบุตรของนายเอี้ยง กับนางช่วง สุวรรณหงษ์ (ต่อมาเปลี่ยนเป็น "ประเสริฐสุวรรณ") จบการศึกษาชั้นมัธยมจากโรงเรียนกรรณสูตศึกษาลัย และจบหลักสูตรประกาศนียบัตรวิชาครูพิเศษมัธยม (พม.) จากนั้นได้เข้าศึกษาต่อที่โรงเรียนทหารเสนารักษ์

สมรสกับนางดวงเนตร ประเสริฐสุวรรณ มีบุตร - ธิดา รวม 10 คน คือ

  1. นายสันชัย ประเสริฐสุวรรณ
  2. นายชัยวัฒน์ ประเสริฐสุวรรณ
  3. ร้อยตำรวจเอก ประภาวัตช์ ประเสริฐสุวรรณ
  4. นายณัฐวุฒิ ประเสริฐสุวรรณ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดสุพรรณบุรี
  5. นายฉัตรชัย ประเสริฐสุวรรณ ประธานสภาองค์การบริหารส่วนจังหวัดสุพรรณบุรี
  6. นางศิริกุล ประเสริฐสุวรรณ
  7. นายหฤษฏ์ณัฐ ประเสริฐสุวรรณ
  8. นางสาวสุภาพ ประเสริฐสุวรรณ
  9. นายเฉลิมชัย ประเสริฐสุวรรณ
  10. นายชาญชัย ประเสริฐสุวรรณ อดีตสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดสุพรรณบุรี

การทำงาน[แก้]

บุญเอื้อ ประเสริฐสุวรรณ เริ่มทำงานหลังจากจบประกาศนียบัตรครูพิเศษมัธยม (พม.) โดยเป็นครูประจำโรงเรียนกรรณสูตศึกษาลัย เมื่อปี พ.ศ. 2480 ก่อนจะไปศึกษาต่อที่โรงเรียนทหารเสนารักษ์ และรับราชการมีชั้นยศ "สิบเอก" จากนั้นได้เข้าร่วมในราชการสงครามจนได้รับเหรียญชัยสมรภูมิมหาเอเชียบูรพา และเหรียญชัยสมรภูมิสงครามโลกครั้งที่สอง และกลับมาเป็นอาจารย์สอนประจำที่โรงพยาบาลอานันทมหิดล จังหวัดลพบุรี กระทั่ง พ.ศ. 2488 ได้ลาออกจากราชการเพื่อดูแลครอบครัว และเปิดคลินิกรักษาพยาบาลชื่อว่า "วิริยะการแพทย์"

งานการเมือง[แก้]

บุญเอื้อ ได้เข้าสู่งานการเมืองโดยลงสมัครเป็นสมาชิกสภาจังหวัด (สจ.) เขตอำเภอบางปลาม้า จังหวัดสุพรรณบุรี และได้รับเลือกตั้งรวม 4 สมัย จากนั้นจึงได้เข้าสู่สนามการเมืองระดับชาติโดยการเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2500[3] จนถึงปี พ.ศ. 2539 รวมถึง 10 สมัย โดยในระยะแรกได้ร่วมงานการเมืองกับพรรคประชาธิปัตย์ ต่อมาในปี พ.ศ. 2518 จึงย้ายมาร่วมงานกับพรรคธรรมสังคม และพรรคชาติไทยในปีถัดมา และยังเป็นผู้ชักชวนนายบรรหาร ศิลปอาชา เข้าสู่งานการเมืองอีกด้วย

บุญเอื้อ ประเสริฐสุวรรณ เคยดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์[4] ในรัฐบาลของพลเอกเปรม ติณสูลานนท์ สืบแทนพันตำรวจเอก กฤช สังขทรัพย์ ที่ถึงแก่อนิจกรรมจากเหตุเฮลิคอปเตอร์เบลล์ตกที่จังหวัดเชียงใหม่ พ.ศ. 2524

บุญเอื้อ เป็นรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี และรองนายกรัฐมนตรี ในรัฐบาลของพลเอกชาติชาย ชุณหะวัณ[5][6] ต่อมาในปี พ.ศ. 2538 ได้รับเลือกเป็นประธานสภาผู้แทนราษฎร[7]

บุญเอื้อ ประเสริฐสุวรรณ ได้รับพระราชทานยศ "พลตรี" เป็นกรณีพิเศษ เมื่อปี พ.ศ. 2540[8][9]

ถึงแก่อนิจกรรม[แก้]

พลตรี บุญเอื้อ ประเสริฐสุวรรณ ถึงแก่อนิจกรรมอย่างสงบ ในวันที่ 13 ตุลาคม พ.ศ. 2559 เวลา 08.00 น. ณ โรงพยาบาลศิริราช ด้วยโรคชรา สิริอายุรวมได้ 97 ปี และมีพิธีพระราชทานน้ำหลวงอาบศพในวันศุกร์ที่ 14 ตุลาคม 2559[10] มีพิธีพระราชทานเพลิงศพเมื่อวันที่ 11 ธันวาคม พ.ศ. 2559 ณ เมรุหลวงหน้าพลับพลาอิศริยาภรณ์ วัดเทพศิรินทราวาส

เครื่องราชอิสริยาภรณ์[แก้]

อ้างอิง[แก้]

  1. บุคคลในข่าว 03/02/55
  2. "พระราชทานยศ" (PDF). คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิม (PDF)เมื่อ 2011-11-17. สืบค้นเมื่อ 2011-06-20.
  3. ประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง ผลการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรทั่วไป พ.ศ. ๒๕๐๐ ครั้งที่ ๒
  4. พระบรมราชโองการ ประกาศตั้งรัฐมนตรี (นายบุญเอื้อ ประเสริฐสุวรรณ)
  5. พระบรมราชโองการ ประกาศ ตั้งรัฐมนตรี (จำนวน ๔๕ ราย)
  6. พระบรมราชโองการ ประกาศ ตั้งรัฐมนตรี (จำนวน ๔๕ ราย)
  7. พระบรมราชโองการ ประกาศ แต่งตั้งประธานและรองประธานสภาผู้แทนราษฎร
  8. “หมอเอื้อขึ้นพลตรี จาก ‘ส.อ.’ ” เดลินิวส์, 1 เมษายน 2540, หน้า 17.
  9. "ประกาศสำนักนายกรัฐมนตรี เรื่อง พระราชทานยศทหาร (นายบุญเอื้อ ประเสริฐสุวรรณ เป็น พลตรี)" (PDF). คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิม (PDF)เมื่อ 2011-11-17. สืบค้นเมื่อ 2011-06-20.
  10. “บุญเอื้อ ประเสริฐสุวรรณ”อดีตประธานรัฐสภา ถึงแก่อนิจกรรมด้วยวัย 97 ปี
  11. ราชกิจจานุเบกษา, ประกาศสำนักนายกรัฐมนตรี เรื่อง พระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์[ลิงก์เสีย], เล่ม ๑๐๕ ตอนที่ ๒๐๑ ง ฉบับพิเศษ หน้า ๑, ๓ ธันวาคม ๒๕๓๑
  12. ราชกิจจานุเบกษา, ประกาศสำนักนายกรัฐมนตรี เรื่อง พระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์ เก็บถาวร 2022-09-29 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน, เล่ม ๑๐๔ ตอนที่ ๒๔๗ ง ฉบับพิเศษ หน้า ๔, ๑ ธันวาคม ๒๕๓๐
  13. ราชกิจจานุเบกษา, แจ้งความสำนักนายกรัฐมนตรี เรื่อง พระราชทานเหรียญชัยสมรภูมิ[ลิงก์เสีย], เล่ม ๕๘ ตอนที่ ๐ ง หน้า ๙๒๒, ๒ พฤษภาคม ๒๔๘๔
  14. ราชกิจจานุเบกษา, แจ้งความกระทรวงศึกษาธิการ เรื่อง พระราชทานเหรียญลูกเสือสดุดี เก็บถาวร 2022-11-11 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน, เล่ม ๘๘ ตอนที่ ๙๔ ง หน้า ๒๓๗๘, ๓๑ สิงหาคม ๒๕๑๔