ไพโรจน์ สุวรรณฉวี

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
ไพโรจน์ สุวรรณฉวี
ไพโรจน์ ภาพจบปริญญา ในปี พ.ศ. 2521
รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงพาณิชย์
ดำรงตำแหน่ง
13 กรกฎาคม พ.ศ. 2538 – 23 พฤษภาคม พ.ศ. 2539
นายกรัฐมนตรีนายบรรหาร ศิลปอาชา
ข้อมูลส่วนบุคคล
เกิด24 พฤศจิกายน พ.ศ. 2492
เขตดุสิต กรุงเทพมหานคร
เสียชีวิต7 พฤษภาคม พ.ศ. 2554 (61 ปี)
เขตห้วยขวาง กรุงเทพมหานคร
ศาสนาพุทธ
พรรคการเมืองชาติไทย (2521–2535, 2535–2538)
สามัคคีธรรม (2535)
ชาติพัฒนา (2538–2542)
ความหวังใหม่ (2542–2545)
ไทยรักไทย (2545–2550)
เพื่อแผ่นดิน (2550–2554)
ชาติพัฒนาเพื่อแผ่นดิน (2554)
คู่สมรสร้อยตรีหญิงระนองรักษ์ สุวรรณฉวี (2522–2554) (เสียชีวิต)

ว่าที่ร้อยตรี ไพโรจน์ สุวรรณฉวี (24 พฤศจิกายน พ.ศ. 2492 - 7 พฤษภาคม พ.ศ. 2554) อดีตรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงพาณิชย์ ในรัฐบาลของนายบรรหาร ศิลปอาชา และแกนนำกลุ่มโคราช พรรคเพื่อแผ่นดิน

ประวัติ[แก้]

ไพโรจน์ สุวรรณฉวี เกิดเมื่อวันที่ 24 พฤศจิกายน พ.ศ. 2492 ที่เขตดุสิต กรุงเทพมหานคร เป็นบุตรของนายจำรัส กับนางสำเภา สุวรรณฉวี[1] สมรสกับร้อยตรีหญิงระนองรักษ์ หงษ์ภักดี มีบุตรชาย 3 คน คือ พลพีร์ สุวรรณฉวี พีรพร สุวรรณฉวี และณัฐวัชร์ สุวรรณฉวี

การศึกษา[แก้]

ไพโรจน์ สุวรรณฉวี สำเร็จการศึกษาปริญญาตรีรัฐศาสตรบัณฑิต และปริญญาโทรัฐศาสตรมหาบัณฑิต จากมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เมื่อปี พ.ศ. 2514 และ พ.ศ. 2517 ตามลำดับ

การทำงาน[แก้]

ไพโรจน์ สุวรรณฉวี เริ่มรับราชการในสังกัดกรมการปกครอง กระทรวงมหาดไทย จนได้รับตำแหน่งนายอำเภอครบุรี จังหวัดนครราชสีมา ในปี พ.ศ. 2529 และตำแหน่งนายอำเภอเขาย้อย จังหวัดเพชรบุรีในปี 2532 และอำเภอท่ายาง จังหวัดเพชรบุรี ในปี 2533 และปี 2534 เป็นนายอำเภอเมืองสระบุรีเป็นอำเภอสุดท้าย จึงได้ลาออกมาสมัครรับเลือกตั้งเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร จังหวัดนครราชสีมา เมื่อปี พ.ศ. 2535 สังกัดพรรคสามัคคีธรรม ต่อมาในการเลือกตั้งเดือนกันยายน พ.ศ. 2535 จึงได้ย้ายมาสังกัดพรรคชาติพัฒนา เป็นหนึ่งในผู้ก่อตั้งกลุ่ม 16[2] และย้ายมาสังกัดพรรคชาติไทย ในปี พ.ศ. 2538 ซึ่งไพโรจน์ สุวรรณฉวี เป็นหนึ่งในแกนนำที่ต่อต้านรัฐบาลนายชวน หลีกภัย ในเรื่อง สปก.4-01 จนต่อมาไพโรจน์ สุวรรณฉวี ได้เข้ารับตำแหน่งรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงพาณิชย์ ในรัฐบาลของนายบรรหาร ศิลปอาชา

ต่อมาได้ย้ายมาสังกัดพรรคความหวังใหม่ และรับตำแหน่งผู้อำนวยการพรรค จนกระทั่งได้มีการยุบรวมเข้ากับพรรคไทยรักไทย ในปี พ.ศ. 2544 และไพโรจน์ สุวรรณฉวี ก็ถูกตัดสิทธิ์ทางการเมือง เนื่องจากเป็นกรรมการบริหารพรรคไทยรักไทยด้วย[3][4]

หลังการถูกตัดสิทธิ์ทางการเมือง[แก้]

ไพโรจน์ สุวรรณฉวี เป็นนักการเมืองที่มีบทบาทในการสนับสนุนพรรคเพื่อแผ่นดิน หลังการเลือกตั้งในปี พ.ศ. 2550 และมีส่วนในการผลักดันให้ร้อยตรีหญิงระนองรักษ์ สุวรรณฉวี ภรรยา เข้ารับตำแหน่งรัฐมนตรีในรัฐบาลนายสมัคร สุนทรเวช และรัฐบาลของนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ

ในการจัดตั้งของรัฐบาลซึ่งนำโดยพรรคประชาธิปัตย์ ในช่วงปลายปี พ.ศ. 2551 ไพโรจน์ สุวรรณฉวี เป็นบุคคลหนึ่งที่มีบทบาทสำคัญในการนำสมาชิกในกลุ่มให้การสนับสนุนนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ เป็นนายกรัฐมนตรี และเป็นหนึ่งในสามบุคคลที่มีบทบาทสำคัญ ในนาม "3พี" (ไพโรจน์ สุวรรณฉวี พินิจ จารุสมบัติ และปรีชา เลาหพงศ์ชนะ)[5]

การเสียชีวิต[แก้]

ว่าที่ ร.ต.ไพโรจน์ เสียชีวิตเมื่อวันที่ 7 พฤษภาคม พ.ศ. 2554 เวลา 15.50 น. ด้วยโรคมะเร็งต่อมน้ำเหลือง สิริอายุได้ 61 ปี ซึ่งหลังการเสียชีวิตแล้ว ทางครอบครัวมิได้เปิดเผยจึงทำให้เกิดเป็นข่าวลือต่าง ๆ จนในที่สุดในวันที่ 10 พฤษภาคม ปีเดียวกัน ทางโฆษกพรรคเพื่อแผ่นดินได้แถลงยอมรับถึงการเสียชีวิตว่าเป็นความจริง[6] มีพิธีพระราชทานเพลิงศพเมื่อวันที่ 24 พฤศจิกายน พ.ศ. 2555 ณ ฌาปนสถานกองทัพบก กองทัพภาคที่ 2 วัดสุทธจินดาวรวิหาร ถนนราชดำเนิน ตำบลในเมือง อำเภอเมืองนครราชสีมา จังหวัดนครราชสีมา

สโมสรฟุตบอล[แก้]

ไพโรจน์ สุวรรณฉวี ได้เข้ามารับตำแหน่งประธานสโมสรฟุตบอลทีโอที แคท ในฤดูกาล 2552 เป็นต้นมา

เครื่องราชอิสริยาภรณ์[แก้]

อ้างอิง[แก้]

  1. "ประวัติผู้สมัคร ส.ส." คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2012-11-05. สืบค้นเมื่อ 2010-10-26.
  2. เปิดตำนานกลุ่ม 16 เช็คชื่อใครเป็นใคร?
  3. ประวัติไพโรจน์ สุวรรณฉวีไทยรัฐ
  4. "เปิดรายชื่อ ทั้ง 111 กรรมการบริหารพรรคไทยรักไทยที่ถูกตัดสิทธิ์ทางการเมืองเป็นระยะเวลา 5 ปี !!!". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2011-11-08. สืบค้นเมื่อ 2012-01-27.
  5. "สุวัจน์-3 พี"รวมพรรค ยึดโคราชบุกอีสานรอ"คุก111"เปิด
  6. [1]เก็บถาวร 2011-11-08 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน ผอ.เขตห้วยขวางเผย"ว่าที่ร.ต.ไพโรจน์"เสียชีวิตตั้งแต่วันเสาร์ จากกรุงเทพธุรกิจ
  7. ราชกิจจานุเบกษา, ประกาศสำนักนายกรัฐมนตรี เรื่อง พระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์อันเป็นที่เชิดชูยิ่งช้างเผือกและเครื่องราชอิสริยาภรณ์อันมีเกียรติยศยิ่งมงกุฎไทย เก็บถาวร 2017-12-01 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน, เล่ม ๑๑๘ ตอนที่ ๒๒ ข หน้า ๑, ๔ ธันวาคม ๒๕๔๔
  8. ราชกิจจานุเบกษา, ประกาศสำนักนายกรัฐมนตรี เรื่อง พระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์ เก็บถาวร 2014-04-13 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน, เล่ม ๑๑๓ ตอนที่ ๒๒ ข หน้า ๘, ๔ ธันวาคม ๒๕๓๙
  9. ราชกิจจานุเบกษา, แจ้งความสำนักนายกรัฐมนตรี เรื่อง พระราชทานเหรียญพิทักษ์เสรีชน, เล่ม ๙๘ ตอนที่ ๑๖๑ ง ฉบับพิเศษ หน้า ๗๒, ๓๐ กันยายน ๒๕๒๔