บุญชู ตรีทอง

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
บุญชู ตรีทอง
รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง
ดำรงตำแหน่ง
29 กันยายน พ.ศ. 2535 – 11 ธันวาคม พ.ศ. 2537
นายกรัฐมนตรีชวน หลีกภัย
รัฐมนตรีว่าการทบวงมหาวิทยาลัย
ดำรงตำแหน่ง
18 กรกฎาคม พ.ศ. 2538 – 24 พฤศจิกายน พ.ศ. 2539
นายกรัฐมนตรีบรรหาร ศิลปอาชา
ข้อมูลส่วนบุคคล
เกิด21 พฤษภาคม พ.ศ. 2488 (78 ปี)
จังหวัดแม่ฮ่องสอน ประเทศไทย
ศาสนาพุทธ
พรรคการเมืองอิสระ
คู่สมรสนางปริศนา ตรีทอง

นายบุญชู ตรีทอง (21 พฤษภาคม พ.ศ. 2488) อดีตรัฐมนตรีว่าการทบวงมหาวิทยาลัย ในรัฐบาลของบรรหาร ศิลปอาชา รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง ในรัฐบาลชวน หลีกภัย และอดีตสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดลำปาง

ประวัติ[แก้]

นายบุญชู ตรีทอง เกิดเมื่อวันที่ 21 พฤษภาคม พ.ศ. 2488 ที่ตำบลจองคำ อำเภอเมืองแม่ฮ่องสอน จังหวัดแม่ฮ่องสอน เป็นบุตรของนายส่วยจิ่ง และนางยุ้น ตรีทอง สมรสกับนางปริศนา ตรีทอง มีบุตรธิดา 2 คน

นายบุญชู ตรีทอง สำเร็จการศึกษาชั้นมัธยมศึกษา จากโรงเรียนบุญวาทย์วิทยาลัย จังหวัดลำปาง ประกาศนียบัตรการศึกษา (ป.กศ.) สาขาการสื่อสารโทรคมนาคม จากวิทยาลัยครูบ้านสมเด็จเจ้าพระยา และระดับปริญญาตรีสาขาฟิสิกส์ จากมหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ ประสานมิตร เมื่อปี พ.ศ. 2511

นิตยสารฟอร์บส์ เอเชีย ฉบับเดือนกรกฎาคม 2557 ประกาศยกย่อง 48 สุดยอดคนใจบุญจาก 12 ประเทศในภูมิภาคเอเชียและแปซิฟิก (Heroes of Philanthropy) โดยเขามีชื่อติด 1 ใน 4 รายชื่อคนไทย หลังจากที่เขาบริจาคทรัพย์สินกว่า 25 % เพื่อการศึกษา โดยบริจาคที่ดิน 365 ไร่ บริเวณอำเภอห้างฉัตร จังหวัดลำปาง เพื่อก่อสร้างมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ศูนย์ลำปาง รวมถึงบริจาคเงินจำนวน 100 ล้านบาทสร้างอาคารเรียนหลังแรก รวมไปถึงการสร้างห้องสมุด และให้ทุนการศึกษาระดับปริญญาเอก ณ ต่างประเทศ และภายในประเทศ เพื่อพัฒนาบุคลากรที่จะมาเป็นอาจารย์ ณ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ศูนย์ลำปาง ในอนาคต[1]

งานการเมือง[แก้]

นายบุญชู ตรีทอง ได้รับการเลือกตั้งเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร จังหวัดลำปาง ในการเลือกตั้งเดือนมีนาคม พ.ศ. 2535 สังกัดพรรคความหวังใหม่ ต่อมาในการเลือกตั้ง ปี พ.ศ. 2538 จึงย้ายมาสังกัดพรรคชาติไทย และปี พ.ศ. 2544 สังกัดพรรคไทยรักไทย

ในรัฐบาลของนายชวน หลีกภัย (สมัยแรก) บุญชู ตรีทอง ได้รับแต่งตั้งให้เป็นรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง[2] ซึ่งเป็นการดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีครั้งแรกของนายบุญชู ต่อมาในรัฐบาลของพรรคชาติไทย นำโดยนายบรรหาร ศิลปอาชา นายกรัฐมนตรี จึงได้รับตำแหน่งรัฐมนตรีอีกครั้ง ในตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการทบวงมหาวิทยาลัย ซึ่งในระหว่างดำรงตำแหน่งดังกล่าว เขามีส่วนในการผลักดันให้มีการจัดตั้งมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ศูนย์ลำปาง

ต่อมาในปี พ.ศ. 2550 ได้ถูกตัดสิทธิทางการเมืองเป็นเวลา 5 ปี เนื่องจากเป็นกรรมการบริหารพรรคไทยรักไทยซึ่งถูกยุบในคดียุบพรรคการเมือง พ.ศ. 2549[3]

ในปี 2557 เขาได้ลงสมัครรับเลือกตั้งสมาชิกวุฒิสภาจังหวัดลำปาง แต่ไม่ได้รับเลือกตั้ง

บทบาทด้านการศึกษา[แก้]

นายบุญชู ตรีทอง เป็นผู้หนึ่งที่มีบทบาทสำคัญในการผลักดันการศึกษาในระดับมัธยมศึกษาและอุดมศึกษาในจังหวัดลำปาง โดยการบริจาคที่ดิน จำนวน 365 ไร่ บริเวณอำเภอห้างฉัตร จังหวัดลำปาง เพื่อก่อสร้างมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ศูนย์ลำปาง [4] ซึ่งในปัจจุบันมหาวิทยาลัยดังกล่าวเป็นสถานที่จัดการเรียนการสอนที่รองรับนักเรียน นักศึกษาในจังหวัดลำปางจำนวนมาก รวมทั้งการบริจาคเงินสร้างอาคารหอประชุมใหญ่โรงเรียนบุญวาทย์วิทยาลัย โดยใช้ชื่อ อาคารบุญชู ตรีทอง โดยในปัจจุบันเป็นที่ทำการของสมาคมนักเรียนเก่าบุญวาทย์วิทยาลัย และเป็นสถานที่สำหรับจัดการเรียนการสอนของโรงเรียนบุญวาทย์วิทยาลัย ทั้งยังเป็นสถานสำหรับจัดงานสำคัญต่างๆของภาครัฐและเอกชนในจังหวัดลำปาง

เครื่องราชอิสริยาภรณ์[แก้]

อ้างอิง[แก้]

  1. ‘เมื่อถึงจุดหนึ่งผมก็หยุด’ บุญชู ตรีทอง เปิดใจเหตุใดหันมาปลูกปัญญา ทุ่มให้การศึกษา
  2. พระบรมราชโองการ ประกาศ แต่งตั้งรัฐมนตรี (จำนวน ๔๘ ราย)
  3. "เปิดรายชื่อ ทั้ง 111 กรรมการบริหารพรรคไทยรักไทยที่ถูกตัดสิทธิ์ทางการเมืองเป็นระยะเวลา 5 ปี !!!". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2011-11-08. สืบค้นเมื่อ 2011-06-02.
  4. "สำเนาที่เก็บถาวร". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2005-09-29. สืบค้นเมื่อ 2009-12-19.
  5. ราชกิจจานุเบกษา, ประกาศสำนักนายกรัฐมนตรี เรื่อง พระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์ เก็บถาวร 2010-02-02 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน, เล่ม ๑๑๒ ตอนที่ ๑๗ ข หน้า ๑, ๔ ธันวาคม ๒๕๓๘
  6. ราชกิจจานุเบกษา, ประกาศสำนักนายกรัฐมนตรี เรื่อง พระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์ เก็บถาวร 2007-01-08 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน, เล่ม ๑๑๑ ตอนที่ ๒๑ ข หน้า ๕, ๓ ธันวาคม ๒๕๓๗
  7. ราชกิจจานุเบกษา, ประกาศสำนักนายกรัฐมนตรี เรื่อง พระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์อันเป็นที่สรรเสริญยิ่งดิเรกคุณาภรณ์ เก็บถาวร 2017-10-25 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน, เล่ม ๑๑๙ ตอนที่ ๒๒ ข หน้า ๒, ๔ ธันวาคม ๒๕๔๕