พระยาอัชราชทรงสิริ (แม้น อรุณลักษณ์)

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
พระยาอัชราชทรงสิริ
(แม้น อรุณลักษณ์)
รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตราธิการ
ดำรงตำแหน่ง
2 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2489 – 18 มีนาคม พ.ศ. 2489
(0 ปี 44 วัน)
นายกรัฐมนตรีพันตรี ควง อภัยวงศ์
ก่อนหน้าพระยาอรรถการีย์นิพนธ์ (สิทธิ จุณณานนท์)
ถัดไปทวี บุณยเกตุ
ข้อมูลส่วนบุคคล
เกิด12 สิงหาคม พ.ศ. 2423
จังหวัดธนบุรี ประเทศสยาม
เสียชีวิต7 มิถุนายน พ.ศ. 2507 (83 ปี)
คู่สมรสนางสาวยวงวัตุยาฯ (นางพินิจการโกศล)
คุณหญิงทองดี อัชราชทรงศิริ

มหาอำมาตย์ตรี พระยาอัชราชทรงสิริ (แม้น อรุณลักษณ์) (12 สิงหาคม พ.ศ. 2423 - 7 มิถุนายน พ.ศ. 2507) อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตราธิการ อดีตอธิบดีกรมต่างๆ อาทิ เช่น อธิบดีกรมที่ดินและโลหะกิจ เป็นต้น อดีตนายกสภามหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์

ประวัติ[แก้]

พระยาอัชราชทรงสิริ เกิดเมื่อวันที่ 12 สิงหาคม พ.ศ. 2423 เป็นบุตรหลวงเทพภักดี (หรุ่น) และนางเทพภักดี (เชย) เกิดที่บางลำภูล่าง อำเภอคลองสาน จังหวัดธนบุรี[1]

การศึกษา[แก้]

ในด้านการศึกษา สอบไล่ภาษาบาลีได้ชั้นนักเรียนตรีพิเศษของมหามกุฎราชวิทยาลัย สอบไล่ภาษาไทยได้ประโยคหนึ่งจากวัดประยูรวงษ์ สอบไล่ภาษาอังกฤษได้ชั้น 4 จากโรงเรียนอัสสัมชัญและสำเร็จการศึกษาวิชากฎหมายได้เป็นเนติบัณฑิต

การเข้ารับราชการ[แก้]

พระยาอัชราชทรงสิริ เริ่มเข้ารับราชการที่กองหมาย กระทรวงยุติธรรม พ.ศ. 2446 เนื่องจากเป็นผู้มีผลงาน มีความซื่อสัตย์ ขยันหมั่นเพียร จึงได้เลื่อนตำแหน่งในหน้าที่ราชการตามลำดับ คือเป็นผู้พิพากษาศาลต่างประเทศนครเชียงใหม่ (พ.ศ. 2446) ทำการแทนอธิบดีผู้พิพากษาศาลมณฑลพายัพ 6 เดือน (พ.ศ. 2450) ผู้พิพากษาศาลต่างประเทศที่กรุงเทพมหานคร (พ.ศ. 2453) อธิบดีผู้พิพากษาศาลมณฑลชุมพร (พ.ศ. 2454) อธิบดีผู้พิพากษาศาลมณฑลสุราษฎร์ (พ.ศ. 2458) อธิบดีผู้พิพากษาศาลมณฑลภูเก็ต (พ.ศ. 2461) ผู้พิพากษาศาลอุทธรณ์กรุงเทพมหานคร (พ.ศ. 2469) อธิบดีผู้พิพากษาศาลแพ่ง (พ.ศ. 2471) และได้รับโปรดเกล้าฯ ให้เป็นอธิบดีกรมที่ดินและโลหะกิจ (พ.ศ. 2476 - 2479)

ตำแหน่งเป็นพิเศษ[แก้]

พ.ศ. 2481 ได้รับแต่งตั้งเป็นผู้อำนวยการสำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์

พ.ศ. 2482 - 2489 เป็นที่ปรึกษากฎหมายและกรรมการของสำนักงานสลากกินแบ่งรัฐบาล

วันที่ 5 พฤษภาคม พ.ศ. 2493 เป็นผู้ทูลเกล้าฯ ถวายน้ำอภิเษกแด่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช ในพระราชพิธีบรมราชาภิเษก

ตำแหน่งทางการเมือง[แก้]

ในวันที่ 2 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2489 ถึงวันที่ 18 มีนาคม พ.ศ. 2489 ได้รับโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งให้เป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตราธิการ ในคณะรัฐมนตรีชุดที่ 14[2] อันมีนายควง อภัยวงศ์ เป็นนายกรัฐมนตรี โดยตำแหน่งจึงเป็นนายกสภามหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ คนที่ 4

ในวันที่ 18 พฤศจิกายน พ.ศ. 2490 ถึงวันที่ 29 พฤศจิกายน พ.ศ. 2494 ได้รับแต่งตั้งเป็นสมาชิกวุฒิสภา

วันที่ 15 มิถุนายน พ.ศ. 2492 ถึงวันที่ 29 พฤศจิกายน พ.ศ. 2494 เป็นรองประธานวุฒิสภา

พระยาอัชราชทรงสิริ เป็นผู้ทำคุณประโยชน์ให้แก่บ้านเมืองทั้งกระทรวงยุติธรรมและกระทรวงเกษตราธิการ เป็นผู้มีความรู้ ความสามารถยิ่ง ได้รับความไว้วางใจและรับผิดชอบงานตั้งแต่อายุยังน้อย เป็นผู้ใฝ่รู้ใฝ่ศึกษาด้วยตนเองอยู่เสมอ ดังที่พระยามานวราชเสวี ได้เขียนประวัติพระยาอัชราชทรงสิริไว้ในหนังสืองานพระราชทานเพลิงศพ ความตอนหนึ่งว่า

เจ้าคุณอัชราชทรงสิริ เป็นคนชอบศึกษา ได้ศึกษามาตั้งแต่เด็กจนตลอดชีวิตของท่าน ได้ทำประโยชน์ให้แก่บ้านเมืองโดยเต็มสติปัญญาและความสามารถหลายตำแหน่งต่างๆ กัน เป็นที่รักใคร่ของเพื่อนฝูง ผู้บังคับบัญชาและคนทั้งหลาย ปฏิบัติตนสมแก่ฐานะตลอดมา ทั้งมีหลักธรรมที่ยึดมั่นอยู่เป็นนิจ ได้ให้การศึกษาแก่บุตรธิดาเต็มความสามารถ จนทุกคนสอบไล่ได้ขั้นปริญญาในประเทศไทยแทบทุกคน หลายคนสอบไล่ได้ปริญญาต่างประเทศ เจ้าคุณอัชราชทรงสิริส่งออกไปศึกษาด้วยทุนของตนเองก็มี ที่ได้ทุนหลวงและทุนต่างประเทศก็มี นับว่าท่านได้ฉลองพระคุณบ้านเมืองในการอบรมบุตร เพื่อประโยชน์แก่ราชการและบ้านเมืองได้เป็นอย่างดี มีน้อยคนที่สามารถทำได้เช่นนี้ แสดงว่าท่านได้ยอมเสียสละอย่างมากมาย

ชีวิตส่วนตัว[แก้]

พระยาอัชราชทรงสิริ ได้สมรสกับนางสาวยวงวัตุยาฯ (นางพินิจการโกศล) มีธิดา 1 คน และสมรสกับคุณหญิงทองดี อัชราชทรงศิริ มีบุตร-ธิดา 9 คน มีชาย 3 คน หญิง 6 คน รวม 10 คน

ถึงแก่อนิจกรรม[แก้]

พระยาอัชราชทรงสิริได้ถึงแก่อนิจกรรมเมื่อวันที่ 7 มิถุนายน พ.ศ. 2507 สิริอายุได้ 83 ปี 9 เดือน 25 วัน

เครื่องราชอิสริยาภรณ์[แก้]

อ้างอิง[แก้]

  1. "สำเนาที่เก็บถาวร". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2017-11-27. สืบค้นเมื่อ 2017-05-03.
  2. พระบรมราชโองการ ประกาศ ตั้งและแต่งตั้งรัฐมนตรี (จำนวน ๒๑ ราย)
  3. ราชกิจจานุเบกษา, แจ้งความสำนักนายกรัฐมนตรี เรื่อง พระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์, เล่ม ๖๘ ตอนที่ ๗๔ ง หน้า ๕๖๕๖, ๑๑ ธันวาคม ๒๔๙๔
  4. ราชกิจจานุเบกษา, แจ้งความสำนักนายกรัฐมนตรี เรื่อง พระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์, เล่ม ๗๖ ตอนที่ ๕๓ ง หน้า ๑๔๐๐, ๑๙ พฤษภาคม ๒๕๐๒
  5. ราชกิจจานุเบกษา, ส่งเครื่องราชอิสริยาภรณ์ไปพระราชทาน, เล่ม ๓๗ ตอนที่ ๐ ง หน้า ๔๒๒๗, ๒๐ มีนาคม ๒๔๖๓
  6. ราชกิจจานุเบกษา, พระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์, เล่ม ๔๕ ตอนที่ ๐ ง หน้า ๒๔๑๐, ๑๘ พฤศจิกายน ๒๔๗๑
  7. ราชกิจจานุเบกษา, พระราชทานเหรียญรัตนาภรณ์, เล่ม ๓๒ ตอนที่ ๐ ง หน้า ๑๐๒๑, ๑๕ สิงหาคม ๒๔๕๘