นพพร บุณยฤทธิ์

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
นพพร บุณยฤทธิ์
เกิด8 เมษายน พ.ศ. 2469
จังหวัดธนบุรี ประเทศสยาม
เสียชีวิต29 พฤศจิกายน พ.ศ. 2560 (91 ปี) [1]
นามปากกานพพร บุณยฤทธิ์
นิตย์ นราธร
จอเหี่ยว
อาชีพนักหนังสือพิมพ์ นักเขียน

นพพร บุณยฤทธิ์ (8 เมษายน พ.ศ. 2469 - พ.ศ. 2560) เป็นนักเขียน นักหนังสือพิมพ์ อดีตบรรณาธิการนิตยสาร ชาวกรุง และสยามรัฐ เคยได้รับการแต่งตั้งเป็นสมาชิกสมัชชาแห่งชาติ สมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ และสมาชิกวุฒิสภา ได้รับการเชิดชูเกียรติ รางวัลนราธิป ประจำปี พ.ศ. 2550

ประวัติ[แก้]

นพพร บุณยฤทธิ์ เกิดที่ฝั่งธนบุรี เป็นบุตรคนเดียวของนายสวัสดิ์ และนางเจริญ บุณยฤทธิ์ จบการศึกษาจากโรงเรียนบ้านสมเด็จเจ้าพระยา แล้วเริ่มงานหนังสือพิมพ์ตั้งแต่ พ.ศ. 2488 เป็นนักข่าวหนังสือพิมพ์ "ชาติไทยรายวัน" มี เฉนียน บุญยเกียรติ เป็นบรรณาธิการ เริ่มงานเขียนครั้งแรก ตีพิมพ์ในหนังสือพิมพ์ "ประชากร" ชื่อเรื่อง "เทียมแข" เมื่อ พ.ศ. 2491 [2]

การทำงาน[แก้]

นพพร บุณยฤทธิ์ ได้รับการชักชวนจาก หม่อมราชวงศ์คึกฤทธิ์ ปราโมช ให้ร่วมงานกับหนังสือพิมพ์สยามรัฐ ตั้งแต่เริ่มก่อตั้งเมื่อ พ.ศ. 2493 พร้อมกับช่วยงานคณะอัศวินการละคร ของพระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าภาณุพันธุ์ยุคล และรับงานเขียนบทละครให้กับศักดิ์เกษม หุตาคม (อิงอร) และเรื่อง "สุดชีวิต" "สุดสายใจ" และ "สุดฟากฟ้า" โดยเฉพาะในเรื่อง สุดฟากฟ้า ยังรับบท "ร.อ.ฟูเจ็ง" นายทหารเกาหลี ร่วมแสดงกับฉลอง สิมะเสถียร และสุพรรณ บูรณะพิมพ์ [3][4]

นพพร บุณยฤทธิ์ รับตำแหน่งบรรณาธิการนิตยสารชาวกรุงรายเดือน เมื่อปี พ.ศ. 2497 และบรรณาธิการหนังสือพิมพ์สยามรัฐรายวัน ตั้งแต่ พ.ศ. 2514 ถึง พ.ศ. 2522 ขณะดำรงตำแหน่งบรรณาธิการสยามรัฐรายวัน เกิดกรณีพิพาทกับ นายถนัด คอมันตร์ อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศในรัฐบาลจอมพลถนอม กิตติขจร จนถูกฟ้องร้องหมิ่นประมาทพร้อมกับนายกำพล วัชรพล แห่งหนังสือพิมพ์ไทยรัฐ และกรณีนำเสนอข่าวการล่าสัตว์ป่าในเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าทุ่งใหญ่นเรศวร สืบเนื่องจากเหตุการณ์เฮลิคอปเตอร์เบลล์ ตกที่จังหวัดนครปฐม พ.ศ. 2516 จนถูกปองร้ายจากเจ้าหน้าที่รัฐ [3]

นพพร บุณยฤทธิ์ได้รับแต่งตั้งเป็นสมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ ในปี พ.ศ. 2516[5] และเป็นสมาชิกวุฒิสภาไทย ชุดที่ 4ระหว่าง พ.ศ. 2518-2519 [2] นอกจากนี้ยังกรรมการบริหารสมาคมนักข่าวแห่งประเทศไทย สมาคมหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย และสมาคมนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย ได้รับการเชิดชูเกียรติในฐานะที่เป็นนักเขียนอาวุโส รางวัลนราธิป จากสมาคมนักเขียนแห่งประเทศไทย ประจำปี พ.ศ. 2550

อ้างอิง[แก้]

  1. เรียงคนมาเป็นข่าว ประจำวันที่ 8 ธันวาคม 2560 : โดย ชโลทร
  2. 2.0 2.1 ประวัติ นพพร บุณยฤทธิ์ เก็บถาวร 2016-08-04 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน จากสมาคมนักเขียนแห่งประเทศไทย
  3. 3.0 3.1 นพพร บุณยฤทธิ์ เล่า, ประทีป โกมลภิส เขียน. อยู่กับคึกฤทธิ์. กรุงเทพฯ : สำนักพิมพ์น้ำฝน, พิมพ์ครั้งที่ 2 พ.ศ. 2538. 247 หน้า. ISBN 974-7192-29-2
  4. นพพร บุณยฤทธิ์ แสดงเรื่องสุดฟากฟ้า รอบพิเศษรอบแรกเพียงรอบเดียว แล้วแจ้งว่าล้มป่วยไม่สามารถแสดงต่อได้ ทีมงานได้จัดให้เมืองเริง ปัทมินทร์ รับบทแทน
  5. "พระบรมราชโองการ แต่งตั้งสมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ" (PDF). คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิม (PDF)เมื่อ 2015-09-27. สืบค้นเมื่อ 2014-07-08.