ซุนเหลียง

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
ซุนเหลียง (ซุน เลี่ยง)
孫亮
จักรพรรดิแห่งง่อก๊ก
ครองราชย์21 พฤษภาคม ค.ศ. 252 – 9 พฤศจิกายน ค.ศ. 258
ก่อนหน้าซุนกวน
ถัดไปซุนฮิว
รัชทายาทแห่งง่อก๊ก
ดำรงตำแหน่งธันวาคม ค.ศ. 250 หรือมกราคม ค.ศ. 251 – 21 พฤษภาคม ค.ศ. 252
ก่อนหน้าซุนโฮ
ถัดไปซุนเปียน
อ๋องแห่งห้อยเข (會稽王 ไคว่จีหวาง)
ดำรงตำแหน่ง9 พฤศจิกายน ค.ศ. 258 – ค.ศ. 260
โฮ่วกวานโหว (候官侯)
ดำรงตำแหน่งค.ศ. 260
ประสูติค.ศ. 243
สวรรคตค.ศ. 260 (17 พรรษา)
พระมเหสีเฉฺวียน ฮุ่ยเจี่ย
พระนามเต็ม
ชื่อสกุล: ซุน (孫)
ชื่อตัว: เหลียง (亮 เลี่ยง)
ชื่อรอง: จื่อหมิง (子明)
รัชศก
ราชวงศ์ราชวงศ์ซุน
พระราชบิดาซุนกวน
พระราชมารดาพัวฮูหยิน

ซุนเหลียง (ค.ศ. 243[a] – 260) มีชื่อในภาษาจีนกลางว่า ซุน เลี่ยง (จีนตัวย่อ: 孙亮; จีนตัวเต็ม: 孫亮; พินอิน: Sūn Liàng) ชื่อรอง จื่อหมิง (จีน: 子明; พินอิน: Zǐmíng) เป็นจักรพรรดิลำดับที่ 2 ของรัฐง่อก๊กในยุคสามก๊กของจีน พระองค์เป็นพระโอรสองค์สุดท้องและรัชทายาทของซุนกวนจักรพรรดิผู้ก่อตั้งรัฐง่อก๊ก พระองค์ยังเป็นที่รู้จักในฐานันดรศักดิ์ว่าอ๋องแห่งห้อยเข (會稽王 ไคว่จีหวาง) หรือโฮ่วกวานโหว (候官侯) ซึ่งเป็นฐานันดรศักดิ์ที่พระองค์ได้รับภายหลังจากที่พระองค์ถูกปลดจากตำแหน่งจักรพรรดิในเดือนพฤศจิกายน ค.ศ. 258 โดยซุนหลิมผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ ซุนฮิวพระเชษฐาของซุนเหลียงขึ้นสืบราชบัลลังก์ แล้วทรงโค่นล้มซุนหลิมจากอำนาจและสังหารซุนหลิม สองปีหลังจากซุนเหลียงถูกปลดจากราชบัลลังก์ พระองค์ทรงถูกกล่าวหาเท็จว่าทรงคิดก่อกบฏ ซุนเหลียงจึงถูกลดฐานันดรศักด์จากอ๋องเป็นโหว ภายหลังพระองค์ทรงกระทำอัตวินิบาตกรรม

พระประวัติช่วงต้น[แก้]

ซุนเหลียงประสูติใน ค.ศ. 243 เป็นพระโอรสของซุนกวนและพัวฮูหยินพระสนมคนโปรดคนหนึ่งของซุนกวน ซุนเหลียงในฐานะพระโอรสองค์สุดท้องของซุนกวนได้รับการดูแลเป็นอย่างดีจากพระบิดาผู้ทรงมีความสุขอย่างมากที่มีพระโอรสในวัยชรา (ทรงมีพระชนมายุ 60 พรรษาในขณะที่ซุนเหลียงประสูติ) ซุนเหลียงยังประสูติในท่ามกลางบรรยากาศภายในพระราชวังซึ่งเหล่าขุนนางต่างแบ่งเป็นฝักเป็นฝ่ายเพื่อเข้าสนับสนุนพระเชษฐา 2 พระองค์ของซุนเหลียงซึ่งกำลังต่อสู้แย่งชิงอำนาจกัน ได้แก่ ซุนโฮผู้เป็นรัชทายาทและซุน ป้า (孫霸) ผู้เป็นอ๋องแห่งหลู่ (魯王 หลู่หวาง) ในเดือนกันยายนหรือตุลาคม ค.ศ. 250 ซุนกวนทรงเบื่อหน่ายต่อการต่อสู้แย่งชิงอำนาจระหว่างซุนโฮและซุน ป้า ซุนกวนจึงมีรับสั่งให้ซุน ป้ากระทำอัตวินิบาตกรรม และปลดซุนโฮจากตำแหน่งรัชทายาท ตามคำทูลโน้มน้าวของเจ้าหญิงกิมก๋งจู๋[b] พระธิดาองค์โตของพระองค์ผู้ทรงกล่าวหาเท็จต่อซุนโฮและฮองฮูหยินพระมารดาหวังจะให้ซุนโฮถูกปลดจากตำแหน่งรัชทายาท ซุนกวนทรงแต่งตั้งซุนเหลียงเป็นรัชทายาทองค์ใหม่ในเดือนธันวาคม ค.ศ. 250 หรือมกราคม ค.ศ. 251[c] จากนั้นกิมก๋งจู๋จึงจัดให้ซุนเหลียงสมรสกับเฉวียน ฮุ่ยเจี่ย หลานสาวของจวนจ๋องพระสวามีของกิมก๋งจู๋ ในปี ค.ศ. 251 ซุนกวนทรงแต่งตั้งพัวฮูหยินพระมารดาของซุนเหลียงขึ้นเป็นจักรพรรดินี

ในปี ค.ศ. 252 ซุนเหลียงทรงสูญเสียทั้งพระมารดาและพระบิดาต่อเนื่องกันอย่างรวดเร็ว ช่วงต้นปีนั้น พัวฮูหยินถูกลอบปลงพระชนม์ แต่วิธีการที่พระองค์ถูกปลงพระชนม์ยังเป็นปริศนา ขุนนางง่อก๊กอ้างว่าข้ารับใช้ของพัวฮูหยินทนต่ออารมณ์รุนแรงของพัวฮูหยินไม่ได้ จึงรัดพระศอของพระองค์ขณะที่พระองค์บรรทม ในขณะที่นักประวัติศาสตร์จำนวนหนึ่งรวมถึงหู ซานสิ่ง (胡三省) ผู้เขียนอรรถาธิบายในจือจื้อทงเจี้ยนของซือหม่า กวางเชื่อว่าขุนนางระดับสูงของง่อก๊กสมคบคิดกันเพราะพวกเขากลัวว่าพัวฮูหยินจะเข้ายึดอำนาจในฐานะจักรพรรดินีพันปีหลวงหลังการสวรรคตของซุนกวน ต่อมาในปีเดียวกันซุนกวนสวรรคต ซุนเหลียงจึงขึ้นครองราชย์เป็นจักรพรรดิพระองค์ใหม่

รัชสมัย[แก้]

ในสมัยที่จูกัดเก๊กเป็นผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์[แก้]

ก่อนที่ซุนกวนจะสวรรคต พระองค์ทรงเลือกจูกัดเก๊กให้เป็นผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ของซุนเหลียง โดยได้รับการสนับสนุนโดยซุนจุ๋นผู้ช่วยของพระองค์ที่ทรงไว้วางพระทัย ประชาชนในจักรวรรดิต่างชื่นชมจูกัดเก๊กอย่างมาก เนื่องจากจูกัดเก๊กมีชื่อเสียงจากความสำเร็จทางการทหารและการทูตที่เกี่ยวข้องกับชนเผ่าพื้นเมืองไป่เยฺว่ (百越) และชื่อเสียงจากสติปัญญาของตัวจูกัดเก๊กเอง อย่างไรก็ตาม ข้อกังขาเพียงประการเดียวของซุนกวนคือจูกัดเก๊กนั้นหยิ่งยโสและมองความสามารถของตัวเองสูงกว่าความเป็นจริง ซึ่งจะกลับกลายเป็นลางร้าย

ในปี ค.ศ. 252 เมื่อซุนกวนสวรรคต สุมาสูผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์แห่งรัฐวุยก๊กยกทัพโจมตีง่อก๊กเป็น 3 ทาง แต่ทัพของจูกัดเก๊กสามารถปราบทัพหลักของวุยก๊ก ทำให้เกิดการสูญเสียอย่างหนัก ชื่อเสียงของจูกัดเก๊กทวีมากขึ้น ในปี ค.ศ. 253 จูกัดเก๊กดำเนินแผนการที่มีมาระยะหนึ่งคือการรวบรวมชายฉกรรจ์ที่สามารถรับราชการได้เกือบทั้งหมดในง่อก๊กเพื่อเข้าโจมตีวุยก๊กครั้งใหญ่ แม้จะมีการคัดค้านจากข้าราชการหลายคนก็ตาม จูกัดกิ๋นยังประสานการโจมตีกับเกียงอุยขุนพลจากจ๊กก๊กซึ่งเป็นพันธมิตรของง่อก๊ก อย่างไรก็ตาม กลยุทธ์ของจูกัดเก๊กกลับผิดพลาด ในตอนแรกจูกัดเก๊กมุ่งเป้าเข้าโจมตีอำเภอฉิวฉุน (壽春 โช่วชุน; ปัจจุบันคือนครลู่อาน มณฑลอานฮุย) แต่ระหว่างทางจูกัดเก๊กกลับเปลี่ยนใจและเข้าโจมตีอำเภอหับป๋า (合肥 เหอเฝย์) แทน แม้ว่าการป้องกันของอำเภอหับป๋าจะแข็งแกร่งและมีความพร้อมในการต้านทานการโจมตีครั้งใหญ่ของง่อก๊ก ทัพของจูกัดเก๊กอ่อนแรงลงจากการปิดล้อมที่ยาวนานและประสบกับโรคระบาด ซึ่งจูกัดเก๊กเพิกเฉยต่อเรื่องเหล่านี้ ในที่สุดจูกัดเก๊กจึงตัดสินใจถอนทัพภายหลังกำลังเสริมของวุยก๊กมาถึง แต่แทนที่จะกลับไปยังนครหลวงเกียนเงียบ (建業 เจี้ยนเย่; ปัจจุบันคือนครหนานจิง มณฑลเจียงซู) เพื่อแสดงความรับผิดชอบต่อการดำเนินกลยุทธ์ที่ผิดพลาด จูกัดเก๊กกลับออกจากนครหลวงไประยะหนึ่งและไม่แสดงความรับผิดชอบต่อราษฎรสำหรับการสูญเสียอย่างหนักที่ได้รับ

ในที่สุดเมื่อจูกัดเก๊กกลับมายังเกียนเงียบ ได้พยายามอย่างยิ่งที่จะกำจัดความไม่เห็นพ้องทั้งหมดโดยลงโทษทุกคนที่ไม่เห็นด้วยกับตน จูกัดเก๊กยังวางแผนจะโจมตีวุยก๊กอีกครั้ง โดยไม่คำนึงถึงความสูญเสียหนักหน่วงที่ราษฎรได้รับเมื่อไม่นานมานี้รวมถึงความไม่พอใจของราษฎรเหล่านั้น ซุนจุ๋นตัดสินใจที่จะสังหารจูกัดเก๊กเสีย จึงทูลซุนเหลียงว่าจูกัดเก๊กวางแผนจะก่อการกบฎ ซุนจุ๋นวางกำลังดักซุ่มในงานเลี้ยงที่จัดให้จูกัดเก๊ก (ไม่แน่ชัดว่ายุวจักรพรรดิซุนเหลียงทรงรับรู้แผนการของซุนจุ๋นมากน้อยเพียงใดและพระองค์ทรงเห็นด้วยกับแผนการหรือไม่ นักประวัติศาสตร์ดั้งเดิมต่างบอกเป็นนัยว่าซุนเหลียงทรงรับรู้และเห็นชอบด้วย แต่พระองค์ทรงมีพระชนมายุเพียง 10 พรรษาในเวลานั้น) ในงานเลี้ยง เหล่ามือสังหารที่ซุนจุ๋นเตรียมไว้สังหารจูกัดเก๊กได้สำเร็จ จากนั้นกองกำลังของซุนจุ๋นก็ยกเข้ากวาดล้างตระกูลจูกัด

ในสมัยที่ซุนจุ๋นเป็นผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์[แก้]

หลังจากซุนจุ๋นสังหารจูกัดเก๊ก ซุนจุ๋นก็เข้ารวบอำนาจอย่างรวดเร็ว ในตอนแรกโดยเปลือกนอกซุนจุ๋นกุมอำนาจร่วมกับเตงอิ๋น แต่ด้วยเหตุที่ซุนจุ๋นควบคุมการทหาร ในไม่นานก็กลายเป็นผู้ใช้อำนาจอย่างเผด็จการยิ่งกว่าจูกัดเก๊ก โดยเฉพาะเรื่องที่ซุนจุ๋นกล่าวหาเท็จว่าอดีตรัชทายาทซุนโฮทรงสมคบคิดกับจูกัดเก๊ก แล้วบังคับซุนโฮให้กระทำอัตวินิบาตกรรม การกระทำอย่างเผด็จการของซุนจุ๋นทำให้เกิดการสมคบคิดระหว่างซุนอิง (孫英) ผู้เป็นอู๋โหว (吳侯) และขุนนางฝ่ายทหารชื่อหฺวาน ลฺวี่ (桓慮) ร่วมคิดการจะโค่นล้มซุนจุ๋น แต่ซุนจุ๋นล่วงรู้แผนการในปี ค.ศ. 254 ทั้งซุน อิงและหฺวาน ลฺวี่จึงถูกประหารชีวิต

ในปี ค.ศ. 255 ขณะวุยก๊กต้องรับมือกับกบฏที่ก่อขึ้นโดยบู๊ขิวเขียมและบุนขิม ทัพง่อก๊กนำโดยซุนจุ๋นพยายามโจมตีบริเวณชายแดนของวุยก๊ก แต่จำต้องถอนทัพหลังสุมาสูปราบกบฏได้อย่างรวดเร็ว (บุนขิมนำกองกำลังของตนมาเข้าด้วยซุนจุ๋นหลังพ่ายแพ้ให้สุมาสู) ต่อมาในปีเดียวกัน มีการพบแผนสมคบคิดจะโค่นล้มซุนจุ๋นอีกครั้ง ขุนนางจำนวนมากถูกประหารชีวิต รวมไปถึงซุน หลู่-ยฺวี่พระธิดาองค์เล็กชองซุนกวนซึ่งถูกกิมก๋งจู๋ (ซุน หลู่ปาน) ผู้เป็นพระเชษฐภคินีกล่าวหาเท็จว่ามีส่วนเกี่ยวข้องในแผนสมคบคิด

ในปี ค.ศ. 256 ซุนจุ๋นทำตามแนะนำของบุนขิมวางแผนจะโจมตีวุยก๊ก แต่ซุนจุ๋นล้มป่วยกระทันหัน ซุนจุ๋นจึงมอบหมายให้ซุนหลิมลูกพี่ลูกน้องสืบทอดตำแหน่งผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ หลังจากนั้นไม่นานซุนจุ๋นก็เสียชีวิต

ในสมัยที่ซุนหลิมเป็นผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์[แก้]

การเสียชีวิตของซุนจุ๋นทำให้การปะทะกันครั้งใหญ่ ขุนพลลิกี๋ผู้ได้รับตั้งให้นำทัพหลักในการรบกับวุยก๊กรู้สึกโกรธแค้นที่ซุนจุ๋นผู้ใช้อำนาจเผด็จการแต่งตั้งซุนหลิมซึ่งไม่ได้สร้างผลงานใด ๆ ลิกี๋เรียกร้องอย่างเปิดเผยให้เตงอิ๋นขึ้นเป็นผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์แทน เตงอิ๋นก็ตกลงใจร่วมกับลิกี๋ ซุนหลิมจึงใช้กำลังทหารตอบโต้ปราบเตงอิ๋นและลิกี๋ลงได้ เตงอิ๋นและครอบครัวถูกประหารชีวิต ส่วนลิกี๋ฆ่าตัวตาย จากการที่เอาชนะเตงอิ๋นและลิกี๋ได้ทำให้ซุนหลิมเริ่มหยิ่งผยองอย่างมาก

ในปี ค.ศ. 257 ซุนเหลียงมีพระชนมายุ 14 พรรษา ทรงเริ่มจัดการราชการสำคัญบางอย่างด้วยพระองค์เอง พระองค์ทรงจัดตั้งกองกำลังราชองครักษ์ส่วนพระองค์ซึ่งประกอบด้วยชายหนุ่มและข้าราชการที่มีอายุไล่เลี่ยกับพระองค์ โดยซุนเหลียงตรัสว่าพระองค์จะเติบโตไปพร้อมกับกองกำลังนั้น บางครั้งพระองค์ยังทรงตั้งคำถามเกี่ยวกับการตัดสินใจของซุนหลิม ซุนหลิมเริ่มค่อนข้างหวาดหวั่นต่อยุวจักรพรรดิ

ต่อไปในปีเดียวกัน จูกัดเอี๋ยนขุนพลวุยก๊กเชื่อว่าผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์สุมาเจียว (น้องชายของสุมาสู) คิดการจะชิงราชบัลลังก์ จูกัดเอี๋ยนจะประกาศก่อกบฏและขอความช่วยเหลือจากง่อก๊ก กองกำลังกลุ่มเล็กของง่อก๊กนำโดยบุนขิมยกมาถึงอย่างรวดเร็วเพื่อช่วยเหลือจูกัดเอี๋ยน แต่ซุนหลิมนำทัพหลักและเลือกตั้งค่ายในระยะห่างจากฉิวฉุนที่จูกัดเอี๋ยนถูกสุมาเจียวปิดล้อม โดยซุนหลิมไม่ได้ทำการใด ๆ ซุนหลิมสั่งให้ขุนพลจูอี้พยายามช่วยฉิวฉุนโดยใช้ทหารที่อ่อนล้าและหิวโหย จูอี้ปฏิเสธที่จะทำตามคำสั่ง ซุนหลิมจึงสั่งประหารชีวิตจูอี้ ทำให้ผู้คนที่ชื่นชมทักษะการทหารและความซื่อสัตย์ของจูอี้รู้สึกโกรธแค้นอย่างมาก ด้วยการที่ซุนหลิมไม่สามารถทำอะไรได้เลย กบฏจูกัดเอี๋ยนจึงล้มเหลวใน ค.ศ. 258 และกองกำลังของบุนขิมกลายเป็นเชลยของวุยก๊ก

ถูกปลดจากราชบังลังก์[แก้]

ซุนหลิมรู้ว่าราษฎรและยุวจักรพรรดิซุนเหลียงต่างโกรธแค้นตน จึงเลือกที่จะไม่กลับไปที่เกียนเงียบ แต่ส่งคนสนิทไปดูแลการป้องกันนครหลวงแทน ซุนเหลียงกริ้วมากขึ้น ทรงวางแผนร่วมกับกิมก๋งจู๋ (ซุน หลู่ปาน) พระเชษฐภคินี, ขุนพลเล่าเสง (劉丞 หลิว เฉิง), จวนเสียง (全尚 เฉฺวียน ช่าง) พระสัสสุระ (พ่อตา) และจวนกี๋ (全紀 เฉวียน จี้) พระเทวัน (พี่เขยหรือน้องเขย) เพื่อโค่นล้มอำนาจของซุนหลิม อย่างไรก็ตาม จวนเสียงไม่ได้เก็บเรื่องไว้เป็นความลับจากภรรยาของตนซึ่งเป็นลูกพี่ลูกน้องของซุนหลิม ภรรยาของจวนเสียงจึงนำความไปบอกซุนหลิม ในวันที่ 9 พฤศจิกายน ค.ศ. 258[d] ซุนหลิมมีคำสั่งให้จับกุมจวนเสียงและสังหารเล่าเสง จากนั้นนำกองกำลังเข้าปิดล้อมพระราชวังและบังคับให้ขุนนางคนอื่น ๆ เห็นด้วยที่จะปลดซุนเหลียงออกจากราชบังลังก์ โดยประกาศเท็จต่อราษฎรว่าซุนเหลียงทรงมีพระโรคทางจิตจึงไร้ความสามารถ ซุนเหลียงจึงถูกลดฐานันดรศักดิ์ลงเป็น "อ๋องแห่งห้อยเข" (會稽王 ไค่วจีหวาง)

ภายหลังจากถูกปลดราชบังลังก์[แก้]

ซุนหลิมตั้งให้พระเชษฐาของซุนเหลียงคือซุนฮิวผู้เป็นอ๋องแห่งลองเอี๋ย (琅邪王 หลางหยาหวาง) ขึ้นเป็นจักรพรรดิองค์ใหม่ หลายเดือนต่อมา ซุนฮิววางแผนโค่นอำนาจซุนหลิม จับตัวซุนหลิมมาประหารชีวิต แต่ฐานะของซุนเหลียงที่ขณะนั้นถูกเนรเทศก็ไม่ได้ปลอดภัยขึ้นแต่อย่างใด เนื่องจากซุนฮิวทรงหวั่นเกรงเป็นอย่างยิ่งว่าจะมีแผนเชิญซุนเหลียงกลับมาขึ้นครองราชย์ ในเดือนกรกฎาคมถึงพฤศจิกายน ค.ศ. 260[e] มีข่าวลือว่าซุนเหลียงจะได้ขึ้นเป็นจักรพรรดิอีกครั้ง และข้ารับใช้ของซุนเหลียงยังอ้างว่าพระองค์ทรงทำคุณไสย ซุนฮิวทรงลดฐานันดรศักดิ์ของซุนเหลียงลงเป็น "โฮ่วกวานโหว" (候官侯) และส่งซุนเหลียงไปยังเขตศักดินาที่โฮ่วกวาน (ปัจจุบันคือนครฝูโจว มณฑลฝูเจี้ยน) ซุนเหลียงสิ้นพระชนม์ระหว่างเดินทาง นักประวัติศาสตร์ส่วนใหญ่เชื่อว่าพระองค์ทรงกระทำอัตวินิบาตกรรม แต่มีอีกทฤษฎีหนึ่งว่าซุนฮิวทรงใช้ยาพิษปลงพระชนม์ซุนเหลียง

ดูเพิ่ม[แก้]

หมายเหตุ[แก้]

  1. พระราชประวัติซุนเหลียงในจดหมายเหตุสามก๊กระบุว่าซุนเหลียงมีพระชนมายุ 16 พรรษา (ตามการนับอายุแบบเอเชียตะวันออก) ขณะเมื่อพระองค์ทรงถูกปลดจากตำแหน่งจักรพรรดิลงมาเป็นอ๋องแห่งห้อยเขในเดือนพฤศจิกายน ค.ศ. 258 เมื่อคำนวณแล้วปีประสูติของพระองค์จึงควรเป็นปี ค.ศ. 243 เจี้ยนคางฉือลู่ (建康實錄) เล่มที่ 3 ระบุว่าซุนเหลียงประสูติในศักราชชื่ออูปีที่ 7 ซึ่งเทียบได้กับปี ค.ศ. 244 ในปฏิทินจูเลียน
  2. "กิมก๋งจู๋" หรือ "เฉฺวียนกงจู่" (全公主; แปลว่า "เจ้าหญิงเฉฺวียน") เป็นอีกพระนามหนึ่งของซุน หลู่ปาน (孫魯班) เพราะสมรสกับจวนจ๋องหรือเฉฺวียน ฉง (全琮)
  3. พระราชประวัติซุนกวนในจดหมายเหตุสามก๊กระบุว่าซุนเหลียงได้รับการแต่งตั้งเป็นรัชทายาทในเดือน 11 ของศักราชชื่ออูปีที่ 13 ในรัชสมัยของซุนกวน เทียบได้กับช่วงเวลาระหว่างวันที่ 11 ธันวาคม ค.ศ. 250 ถึง 9 มกราคม ค.ศ. 251 ในปฏิทินจูเลียน[1]
  4. จือจื้อทงเจี้ยนเล่มที่ 77 บันทึกว่าซุนหลิมสังหารเล่าเสงเมื่อวันอู้อู่ (戊午) ในเดือน 9 ของศักราชกำลอ (甘露 กานลู่) ปีที่ 3 ในรัชสมัยของโจมอแห่งวุยก๊ก เทียบได้กับวันที่ 9 พฤศจิกายน ค.ศ. 258 ในปฏิทินจูเลียน[2]
  5. จือจื้อทงเจี้ยนเล่มที่ 77 ระบุว่าเหตุการณ์ในช่วงที่ซุนเหลียงสิ้นพระชนม์อยู่ในช่วงระหว่างวันกุ่ยไฮ่ (癸亥) ของเดือน 6 และของเดือน 10 ในศักราชจิ่ง-ยฺเหวียนปีที่ 1 ในรัชสมัยของโจฮวนแห่งง่อก๊ก เทียบได้กับช่วงเวลาระหว่างวันที่ 6 กรกฎาคมและ 19 พฤศจิกายน ค.ศ. 260 ในปฏิทินจูเลียน

อ้างอิง[แก้]

  1. ([赤烏十三年]十一月,立子亮為太子。) จดหมายเหตุสามก๊ก เล่มที่ 47
  2. [(甘露三年)九月,戊午,𬘭夜以兵袭尚,执之,遣弟恩杀刘承于苍龙门外...] จือจื้อทงเจี้ยน เล่มที่ 77

บรรณานุกรม[แก้]

ก่อนหน้า ซุนเหลียง ถัดไป
ซุนกวน จักรพรรดิจีน
ง่อก๊ก

(ค.ศ. 252 – 258)
ซุนฮิว