จวนเสียง
จวนเสียง (เฉฺวียน ช่าง) | |
---|---|
全尚 | |
เสนาบดีพิธีการ (太常 ไท่ฉาง) | |
ดำรงตำแหน่ง ค.ศ. ? – ค.ศ. 258 | |
กษัตริย์ | ซุนเหลียง |
ขุนพลพิทักษ์ (衛將軍 เว่ย์เจียงจฺวิน) | |
ดำรงตำแหน่ง ค.ศ. ? – ค.ศ. 258 | |
กษัตริย์ | ซุนเหลียง |
ผู้จัดการกิจการของสำนักราชเลขาธิการ (錄尚書事 ลู่ช่างชูชื่อ) | |
ดำรงตำแหน่ง ค.ศ. ? – ค.ศ. 258 | |
กษัตริย์ | ซุนเหลียง |
นายกองพันประตูเมือง (城門校尉 เฉิงเหมินเซี่ยวเว่ย์) | |
ดำรงตำแหน่ง ค.ศ. ? – ค.ศ. ? | |
กษัตริย์ | ซุนเหลียง |
ข้อมูลส่วนบุคคล | |
เกิด | ไม่ทราบ นครหางโจว มณฑลเจ้อเจียง |
เสียชีวิต | ค.ศ. 258 |
คู่สมรส | พี่สาวของซุนจุ๋น |
บุตร | |
อาชีพ | ขุนนาง, ขุนพล |
ชื่อรอง | จื่อเจิน (子真) |
บรรดาศักดิ์ | หย่งผิงโหว (永平侯) |
จวนเสียง (เสียชีวิต ค.ศ. 258) มีชื่อในภาษาจีนกลางว่า เฉฺวียน ช่าง (จีน: 全尚; พินอิน: Quán Shàng) ชื่อรอง จื่อเจิน (จีน: 子真; พินอิน: Zǐzhēn) เป็นขุนนางและขุนพลของรัฐง่อก๊กในยุคสามก๊กของจีน บุตรสาวของจวนเสียงคือเฉฺวียน ฮุ่ยเจี่ยเป็นจักรพรรดินีแห่งง่อก๊กและเป็นพระมเหสีของซุนเหลียงจักรพรรดิลำดับที่ 2 แห่งง่อก๊ก
ประวัติ
[แก้]จวนเสียงเป็นชาวอำเภอเจียนต๋อง (錢唐縣 เฉียนถางเซี่ยน) เมืองง่อกุ๋น (吳郡 อู๋จฺวิ้น) ซึ่งปัจจุบันคือนครหางโจว มณฑลเจ้อเจียง เกิดในตระกูลเดียวกันกับจวนจ๋อง
ในช่วงปลายรัชสมัยของซุนกวนจักรพรรดิผู้ก่อตั้งรัฐง่อก๊ก พระองค์โปรดสนมพัวฮูหยินและซุนเหลียงพระโอรสองค์สุดท้อง กิมก๋งจู๋ (ซุน หลู่ปาน) พระธิดาของซุนกวนต้องการเอาใจซุนกวนรวมถึงแม่-ลูกพัวฮูหยินและซุนเหลียง จึงทูลแนะนำพระบิดาหลายครั้งให้จัดงานแต่งงานระหว่างซุนเหลียงและเฉฺวียน ฮุ่ยเจี่ย (全惠解) บุตรสาวของจวนเสียง ในปี ค.ศ. 250 ซุนกวนทรงปลดซุนโฮจากตำแหน่งรัชทายาท และตั้งซุนเหลียงขึ้นเป็นรัชทายาทแทน เฉฺวียน ฮุ่ยเจี่ยจึงได้ขึ้นเป็นพระชายา[1]
หลังจากที่ซุนเหลียงขึ้นครองราชย์เป็นจักรพรรดิในปี ค.ศ. 252 เฉฺวียน ฮุ่ยเจี่ยได้ขึ้นเป็นจักรพรรดินี จวนเสียงได้รับการแต่งตั้งเป็นนายกองพันประตูเมือง (城門校尉 เฉิงเหมินเซี่ยวเว่ย์) และได้รับการตั้งให้มีบรรดาศักดิ์ตูถิงโหว (都亭侯) ต่อมาได้รับการแต่งตั้งแทนที่เตงอิ๋นในตำแหน่งเสนาบดีพิธีการ (太常 ไท่ฉาง) และขุนพลพิทักษ์ (衛將軍 เว่ย์เจียงจฺวิน) ได้เลื่อนบรรดาศักดิ์เป็นหย่งผิงโหว (永平侯) และได้รับการตั้งให้เป็นผู้จัดการกิจการของสำนักราชเลขาธิการ (錄尚書事 ลู่ช่างชูชื่อ) มีหน้าที่ดูแลราชการโดยรวม คนในตระกูลจวน (全 เฉฺวียน) ที่ได้รับบรรดาศักดิ์โหว (侯) มี 5 คน ล้วนเป็นผู้มีความโดดเด่นที่สุดในหมู่พระประยูรญาติฝ่ายมเหสีตั้งแต่เริ่มก่อตั้งรัฐง่อก๊กมา[2]
ในปี ค.ศ. 258 จักรพรรดิซุนเหลียงทรงไม่พอพระทัยที่ผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ซุนหลิมผูกขาดอำนาจ จึงทรงวางแผนร่วมกับกิมก๋งจู๋พระเชษฐภคินีและขุนพลเล่าเสง (劉丞 หลิว เฉิง) คิดการจะโค่นอำนาจของซุนหลิม พระองค์ยังทรงมีรับสั่งให้จวนกี๋บุตรชายของจวนเสียงให้ไปแจ้งกับจวนเสียงให้เข้าร่วมก่อการ แต่จวนเสียงเผลอเปิดเผยแผนการให้ภรรยา ภรรยาของจวนเสียงเป็นลูกพี่ลูกน้องของซุนหลิม จึงส่งคนไปแจ้งซุนหลิมทำให้แผนการรั่วไหล ซุนหลิมจึงนำทหารของตนเข้าจู่โจมและจับกุมจวนเสียงในเวลากลางคืน และส่งซุน เอิน (孫恩) น้องชายไปสังหารเล่าเสงนอกประตูชางหลง (蒼龍門 ชางหลงเหมิน) จากนั้นจึงนำทหารเข้าล้อมพระราชวัง ปลดซุนเหลียงจากตำแหน่งจักรพรรดิลงเป็นอ๋องแห่งห้อยเข (會稽王 ไคว่จีหวาง) และตั้งซุนฮิวผู้เป็นอ๋องแห่งลองเอี๋ย (琅邪王 หลางหยาหวาง) ขึ้นครองราชย์ จวนเสียงถูกเนรเทศไปยังเมืองเลงเหลง (零陵郡 หลิงหลิงจฺวิ้น) และถูกคนที่ซุนหลิมส่งมาลอบสังหารระหว่างทาง[3]
ดูเพิ่ม
[แก้]อ้างอิง
[แก้]- ↑ (因倚權意,欲豫自結,數稱述全尚女,勸為亮納。赤烏十三年,和廢,權遂立亮為太子,以全氏為妃。) สามก๊กจี่ เล่มที่ 48.
- ↑ (夫人立為皇后,以尚為城門校尉,封都亭侯,代滕胤為太常、衛將軍,進封永平侯,錄尚書事。時全氏侯有五人,並典兵馬。其餘為侍郎、騎都尉,宿衛左右,自吳興,外戚貴盛莫及。) สามก๊กจี่ เล่มที่ 50.
- ↑ (吳主陰與全公主及將軍劉丞謀誅綝。全后父尚為太常、衛將軍,吳主謂尚子黃門侍郎紀曰:「孫綝專勢,輕小於孤。孤前敕之使速上岸,為唐咨等作援,而留湖中不上岸一步;又委罪於朱異,擅殺功臣,不先表聞;築第橋南,不復朝見。此為自在,無復所畏,不可久忍,今規取之。卿父作中軍都督,使密嚴整士馬,孤當自出臨橋,率宿衛虎騎、左右無難一時圍之,作版詔敕絲林所領皆解散,不得舉手。正爾,自當得之;卿去,但當使密耳!卿宣詔卿父,勿令卿母知之;女人既不曉大事,且綝同堂姊,邂逅漏洩,誤孤非小也!」紀承詔以告尚。尚無遠慮,以語紀母,母使人密語綝。 九月,戊午,綝夜以兵襲尚,執之,遣弟恩殺劉承於蒼龍門外,比明,遂圍宮。吳主大怒,上馬帶□建執弓欲出,曰:「孤大皇帝適子,在位已五年,誰敢不從者!」侍中近臣及乳母共牽攀止之,不得出,歎吒不食,罵全后曰:「爾父憒憒,敗我大事!」又遣呼紀,紀曰:「臣父奉詔不謹,負上,無面目復見。」因自殺。綝使光祿勳孟宗告太廟,廢吳主為會稽王。召群臣議曰:「少帝荒病昏亂,不可以處大位,承宗廟,已告先帝廢之。諸君若有不同者,下異議。」皆震怖,曰:「唯將軍令!」綝遣中書郎李崇奪吳主璽綬,以吳主罪班告遠近。尚書桓彝不肯署名,綝怒,殺之。典國施正勸絲林迎立琅邪王休,綝從之。己未,綝使宗正楷與中書郎董朝迎琅邪王於會稽。遣將軍孫耽送會稽王亮之國,亮時年十六。徙全尚於零陵,尋追殺之,遷全公主於豫章。) จือจื้อทงเจี้ยน เล่มที่ 77.
บรรณานุกรม
[แก้]- ตันซิ่ว (ศตวรรษที่ 3). สามก๊กจี่ (ซานกั๋วจื้อ).
- ซือหม่า กวาง (1084). จือจื้อทงเจี้ยน.