ข้ามไปเนื้อหา

ซุน หลู่-ยฺวี่

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
ซุน หลู่-ยฺวี่
孫魯育
จูกงจู่ / เจ้าหญิงจู (朱公主)
ประสูติไม่ทราบ[a]
สวรรคตสิงหาคมหรือกันยายน ค.ศ. 255[1]
นครหนานจิง มณฑลเจียงซู
คู่อภิเษก
พระราชบุตรจักรพรรดินีจู
พระนามเต็ม
ชื่อสกุล: ซุน (孫)
ชื่อตัว: หลู่-ยฺวี่ (魯育)
ชื่อรอง: เสียวหู่ (小虎)
ราชวงศ์ราชวงศ์ซุน
พระราชบิดาซุนกวน
พระราชมารดาปู้ เลี่ยนชือ

ซุน หลู่-ยฺวี่ (จีน: 孫魯育; พินอิน: Sūn Lǔyù; สิ้นพระชนม์สิงหาคมหรือกันยายน ค.ศ. 255)[1] ชื่อรอง เสียวหู่ (จีน: 小虎; พินอิน: Xiǎohǔ​) เป็นเจ้าหญิงแห่งรัฐง่อก๊กในยุคสามก๊กของจีน เป็นพระธิดาองค์เล็กของซุนกวน จักรพรรดิผู้ก่อตั้งง่อก๊กและพนะสนมปู้ เลี่ยนชือ พระองค์ยังทรงได้รับการเรียกว่า เจ้าหญิงจู หรือ จูกงจู่ (朱公主) / จูจู่ (朱主)[1] เพราะสมรสกับจู จฺวี้ (朱據)

ประวัติ

[แก้]

ซุน หลู่-ยฺวี่เป็นพระธิดาองค์เล็กของซุนกวน จักรพรรดิผู้ก่อตั้งรัฐง่อก๊กกับพระสนมปู้ เลี่ยนชือ ซุน หลู่-ยฺวี่มีพระเชษฐภคนีคือกิมก๋งจู๋ (全公主 เฉฺวียนกงจู่) หรือซุน หลู่ปาน (孫魯班) ชื่อรองของซุน หลู่ปานและซุน หลู่-ยฺวี่คือต้าหู่ (大虎) และเสียวหู่ (小虎) มีความหมาย "เสือใหญ่" และ "เสือเล็ก" ตามลำดับ ซุน หลู่-ยฺวี่สมรสครั้งแรกกับจู จฺวี้ (朱據) ขุนพลผู้ดำรงตำแหน่งอัครมหาเสนาบดีลำดับที่ 5 ของง่อก๊กเป็นเวลาสั้น ๆ[2] ซุน หลู่-ยฺวี่และจู จฺวี้มีบุตรสาวที่สมรสกับซุนฮิวพระโอรสองค์ที่ 6 ของซุนกวน ซุนฮิวยังเป็นพระอนุชาต่างมารดาของซุน หลู่-ยฺวี่[3][4]

ในช่วงทศวรรษ 240 เกิดการต่อสู้แย่งชิงอำนาจระหว่างพระโอรส 2 องค์ของซุนกวนคือซุนโฮ (孫和 ซุน เหอ) ผู้เป็นรัชทายาทและซุน ป้า (孫霸) ที่เป็นอ๋องแห่งหลู่ (魯王 หลู่หวาง) ทั้งคู่ต่อสู้เพื่อชิงตำแหน่งรัชทายาท การต่อสู้แย่งชิงอำนาจส่งให้เกิดการแบ่งเป็นฝักเป็นฝ่ายในหมู่ข้าราชบริพารของซุนกวน สองฝ่ายที่เป็นปฏิปักษ์ต่อกัน ฝ่ายหนึ่งสนับสนุนซุนโฮ อีกฝ่ายหนึ่งสนับสนุนซุน ป้า ในช่วงเวลานี้จู จฺวี้ที่เป็นพระสวามีของซุน หลู่-ยฺวี่สนับสนุนซุนโฮ[5] ส่วนกิมก๋งจู๋ (ซุน หลู่ปาน) พระเชษฐภคินีของซุน หลู่-ยฺวี่ และจวนจ๋องพระสวามีของกิมก๋งจู๋สนับสนุนซุน ป้า กิมก๋งจู๋พยายามเกลี้ยกล่อมให้งซุน หลู่-ยฺวี่สนับสนุนซุนป้า แต่งซุน หลู่-ยฺวี่ปฏิเสธ ทำให้ซุน หลู่-ยฺวี่เริ่มเหินห่างจากพระเชษฐภคินี[6][7]

ในปี ค.ศ. 250 การต่อสู้แย่งชิงอำนาจยุติลงเมื่อซุนกวนทรงบังคับซุน ป้าให้กระทำอัตวินิบาตกรรมและปลดซุนโฮจากตำแหน่งรัชทายาท ขุนนางหลายคนที่มีส่วนเกี่ยวกับการต่อสู้แย่งชิงอำนาจถูกประหารชีวิต ถูกเนรเทศ หรือถูกปลดจากราชการ[8] จู จฺวี้ที่เป็นพระสวามีของซุน หลู่-ยฺวี่ถูกลดขั้นลงไปรับตำแหน่งใหม่ในเมืองซินตู (新都郡 ซินตูจฺวิ้น; อยู่บริเวณอำเภอฉุนอาน มณฑลเจ้อเจียงในปัจจุบัน) ระหว่างที่จู จฺวี้เดินทางไปเมืองซินตู ซุน หง (孫弘) หนึ่งในผู้สนับสุนของซุน ป้า ใช้ประโยชน์จากการที่ซุนกวนทรงพระประชวรเพื่อออกราชโองการปลอมสั่งให้จู จฺวี้ฆ่าตัวตาย จู จฺวี้เชื่อว่าพระราชโองการเป็นของจริงจึงฆ่าตัวตายตามรับสั่ง[9] ขุนพลหลิว จฺว่าน (劉纂) ก่อนหน้านี้สมรสกับพระธิดาองค์รองของซุนกวน (พระเชษฐภคินีต่างมารดาของซุน หลู่-ยฺวี่และพระขนิษฐาต่างมารดาของกิมก๋งจู๋) แต่พระธิดาสิ้นพระชนม์ก่อนเวลาอันควร ซุนกวนจึงให้หลิว จฺว่านได้สมรสใหม่กับซุน หลู่-ยฺวี่ที่ทรงเป็๋นม่าย[10][11]

ในเดือนสิงหาคมและกันยายน ค.ศ. 255 ในรัชสมัยของซุนเหลียง ซุน อี๋ (孫儀) วางแผนโค่นล้มซุนจุ๋นผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ แต่แผนการรั่วไหล ซุน อี๋และคนอื่น ๆ จึงถูกประหารชีวิตก่อนที่จะได้ดำเนินแผนการ กิมก๋งจู๋นั้นลอบมีความสัมพันธ์กับซุนจุ๋นหลังจวนจ๋องพระสวามีเสียชีวิตในปี ค.ศ. 249 พระองค์ฉวยโอกาสนี้กล่าวหาเท็จว่าซุน หลู่-ยฺวี่พระขนิษฐาที่เหินห่างไปเข้าร่วมสมคบคิดในแผนการ ซุนจุ๋นเชื่อกิมก๋งจู๋จึงออกคำสั่งให้จัมกุมซุน หลู่-ยฺวี่มาสำเร็จโทษ[12][1] พระศพได้รับการฝังที่ฉือจื๋อก่าง (石子崗; แปลว่า "เนินศิลา")[13] เนินเขาซึ่งอยู่ในเขตยฺหวี่ฮฺวาไถ นครหนานจิง มณฑลเจียงซูในปัจจุบัน

เหตุการณ์หลังมรณกรรม

[แก้]

หลังซุนจุ๋นเสียชีวิตในปี ค.ศ. 256 ซุนหลิมลูกพี่ลูกน้องสืบทอดตำแหน่งในฐานะผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ของซุนเหลียงจักรพรรดิง่อก๊ก ในช่วงระหว่าง ค.ศ. 256 และ ค.ศ. 258 ซุนเหลียงทรงสงสัยว่ากิมก๋งจู๋มีส่วนเกี่ยวข้องกับการสิ้นพระชนม์ของซุน หลู่-ยฺวี่ ซุนเหลียงจึงทรงเรียกกิมก๋งจู๋ที่เป็นพระเชษฐภคินีต่างมารดามาตรัสถาม กิมก๋งจู๋ทรงรู้สึกหวาดกลัวจึงทูลปดไปว่า "หม่อมฉันไม่ทราบจริง ๆ หม่อมฉันได้ยินจากบุตรชายของจู จฺวี้ (朱據) คือจู สฺยง (朱熊) และจู สุ่น (朱損)[b]" ซุนเหลียงทรงเห็นว่าจู สฺยงและจู สุ่นทรยศซุน หลู่-ยฺวี่ไปเข้าด้วยซุนจุ๋น โดยเฉพาะจู สุ่นได้สมรสกับน้องสาวของซุนจุ๋น ซุนเหลียงจึงทรงมีรับสั่งถึงเตงฮองให้ประหารชีวิตจู สฺยงและจู สุ่น[15][16]

ในปี ค.ศ. 258 ซุนหลิมปลดซุนเหลียงจากการเป็นจักรพรรดิและตั้งซุนฮิวขึ้นเสวยราชย์เป็นจักรพรรดิแห่งง่อก๊กลำดับที่ 3 จูหฺวางโฮ่ว (朱皇后) พระมเหสีของซุนฮิวเป็นบุตรสาวของจู จฺวี้และซุน หลู่-ยฺวี่[3] ในวันที่ 18 มกราคม ค.ศ. 259 ซุนฮิวทรงก่อการรัฐประหารโค่นล้มซุนหลิมผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ ถอดซุนหลิมจากอำนาจและมีรับสั่งให้ประหารชีวิตซุนหลิมและครอบครัวทั้งหมด ซุนฮิวยังทรงให้ขุดนำศพซุนจุ๋นขึ้นมาและถอดอิสริยาภรณ์ทั้งหมดที่ซุนจุ๋นเคยได้รับ และฟื้นฟูเกียรติให้บุคคลที่ถูกประหารชีวิตในช่วงที่ซุนจุ๋นและซุนหลิมเป็นผู้สำเร็จราชการ ซึ่งซุน หลู่-ยฺวี่ก็เป็นหนึ่งในบุคคลเหล่านั้น[17]

ในช่วงระหว่างวันที่ 6 พฤศจิยายนถึง 5 ธันวาคม ค.ศ. 264 ซุนโฮ[c] (孫皓 ซุน เฮ่า) จักรพรรดิแห่งง่อก๊กลำดับที่ 4 มีรับสั่งให้ขุดพระศพของซุน หลู่-ยฺวี่ขึ้นมาและฝังใหม่ด้วยเกียรติยศสมฐานะเจ้าหญิง[18] โซวเฉินจี้ (搜神记) บันทึกเรื่องราวไว้ดังนี้:

[ซุนโฮ]ทรงมีพระประสงค์จะขุดพระศพ[ของซุน หลู่-ยฺวี่]ขึ้นมาและฝังใหม่อย่างสมพระเกียรติ แต่หลุมศพล้วนดูเหมือนกันหมดจึงไม่สามารถบอกได้ว่าพระศพอยู่ที่หลุมศพใด ข้าราชบริพารบางคนอ้างว่าพวกตนจำฉลองพระองค์ที่พระนางทรงขณะสิ้นพระชนม์ได้ [ซุนโฮ]จึงทรงมีรับสั่งให้หมอผีสองคนแยกวิญญาณของพระนางออกมาและสังเกตอย่างถี่ถ้วน หลังจากนั้นไม่นาน หมอผีเห็นสตรีนางหนึ่งในวัยประมาณสามสิบปี แต่งกายด้วยเสื้อสีม่วงและขาว สวมเครื่องประดับศีรษะที่มีลวดลายสีน้ำเงินและรองเท้าผ้าไหมสีแดง นางเดินขึ้นเนินไปอยู่ตรงกลาง วางมือบนเข่าและถอนหายใจ หยุดอยู่ที่นั่นครู่หนึ่งก่อนจะเดินกลับลงมาที่หลุมศพ นางเดินรอบ ๆ หลุมศพและหายตัวไปทันที คำอธิบายที่หมอดูทั้งสองต่างให้มานั้นคล้ายคลึงกันมาก เมื่อเปิดฝาโลงศพออก ก็เห็นว่าลักษณะของนางนั้นเป็นไปตามที่อธิบายไว้ทุกประการ[19]

ดูเพิ่ม

[แก้]

หมายเหตุ

[แก้]
  1. ปีที่ซุน หลู่-ยฺวี่เกิดไม่มีการบันทึกไว้ ส่วนมารดาของซุน หลู่-ยฺวี่มาเป็นอนุภรรยาของซุนกวนหลังปี ค.ศ. 199 (การบุกโลกั๋งของซุนเซ็ก) นอกจากนั้นซุน หลู่-ยฺวี่เข้าสู่วัยที่เหมาะแก่การสมรสในปี ค.ศ. 229 ปีเกิดของซุน หลู่-ยฺวี่จึงควรอยู่ระหว่างปี ค.ศ. 199 และ ค.ศ. 220
  2. แม้ว่าจู สฺยง (朱熊) และจู สุ่น (朱損) เป็นบุตรชายของจู จฺวี้[14] แต่ไม่ทราบแน่ชัดมารดาของทั้งสองคนคือใคร เป็นไปได้ว่าทั้งสองคนเป็นบุตรที่เกิดจากอนุภรรยาของจู จฺวี้ ดังนั้นซุน หลู่-ยฺวี่ที่เป็นภรรยาของจู จฺวี้จึงอาจเป็นแม่เลี้ยงของทั้งคู่
  3. สามก๊ก ฉบับเจ้าพระยาพระคลัง (หน) เรียกชื่อซุน เฮ่าที่เป็นจักรพรรดิแห่งง่อก๊กและเป็นบุตรชายของซุนโฮ (ซุน เหอ) ด้วยชื่อว่า "ซุนโฮ" เช่นเดียวกับบิดา

อ้างอิง

[แก้]
  1. 1.0 1.1 1.2 1.3 ([高貴鄉公正元二年(乙亥、二五五年)]秋,七月,吳將軍孫儀、張怡、林恂謀殺孫峻,不克,死者數十人。全公主譖朱公主於峻,曰「與儀同謀」。峻遂殺朱公主。) จือจื้อทงเจี้ยน เล่มที่ 76. บันทึกนี้ระบุวันที่ซุน หลู่-ยฺวี่สิ้นพระชนม์ว่าเป็นเดือน 7 ของปีนั้น เทียบได้กับช่วงเวลาระหว่างวันที่ 20 สิงหาคมถึง 18 กันยายน ค.ศ. 255 ในปฏิทินจูเลียน
  2. (魯育公主字小虎,大帝次女,步後所生,適朱據。) เจี้ยนคางฉือลู่ เล่มที่ 4.
  3. 3.0 3.1 (孫休朱夫人,朱據女,休姊公主所生也。) สามก๊กจี่ เล่มที่ 50.
  4. (吳主權步夫人, ... 生二女,長曰魯班,字大虎,前配周瑜子循,後配全琮;少曰魯育,字小虎,前配朱據, ...) สามก๊กจี่ เล่มที่ 50.
  5. (殷基通語曰:初權旣立和為太子,而封霸為魯王,初拜猶同宮室,禮秩未分。 ... 自侍御賔客造為二端,仇黨疑貳,滋延大臣。丞相陸遜、大將軍諸葛恪、太常顧譚、驃騎將軍朱據、會稽太守滕胤、大都督施績、尚書丁密等奉禮而行,宗事太子,驃騎將軍步隲、鎮南將軍呂岱、大司馬全琮、左將軍呂據、中書令孫弘等附魯王,中外官僚將軍大臣舉國中分。) อรรถาธิบายขากทง-ยฺหวี่ในสามก๊กจี่ เล่มที่ 59.
  6. (初,孫和為太子時,全主譖害王夫人,欲廢太子,立魯王,朱主不聽,由是有隙。) สามก๊กจี่ เล่มที่ 50.
  7. (初,全主譖王夫人並廢太子和,欲立魯肅王霸為嗣。朱主不聽,全主恨之。) เจี้ยนคางฉือลู่ เล่มที่ 4.
  8. (時全寄、吳安、孫奇、楊笁等陰共附霸,圖危太子。譖毀旣行,太子以敗,霸亦賜死。) สามก๊กจี่ เล่มที่ 59.
  9. (... 遂左遷新都郡丞。未到,中書令孫弘譖潤據,因權寢疾,弘為昭書追賜死,時年五十七。) สามก๊กจี่ เล่มที่ 57.
  10. (... 後配劉纂。) สามก๊กจี่ เล่มที่ 50.
  11. (吳歷曰:纂先尚權中女,早卒,故又以小虎為繼室。) อรรถาธิบายจากอู๋ลี่ในสามก๊กจี่ เล่มที่ 50.
  12. (五鳳中,孫儀謀殺峻,事覺被誅。全主因言朱主與儀同謀,峻枉殺朱主。) สามก๊กจี่ เล่มที่ 50.
  13. (及少帝即位,孫儀謀殺孫峻事覺,伏誅。全主因譖朱主,埋於石子崗。) เจี้ยนคางฉือลู่ เล่มที่ 4.
  14. (孫亮時,二子熊、損各復領兵,為全公主所譖,皆死。) สามก๊กจี่ เล่มที่ 57.
  15. (太平中,孫亮知朱主為全主所害,問朱主死意?全主懼曰:「我實不知,皆據二子熊、損所白。」亮殺熊、損。損妻是峻妹也,) สามก๊กจี่ เล่มที่ 50.
  16. (亮內嫌綝,乃推魯育見殺本末,責怒虎林督朱熊、熊弟外部督朱損不匡正孫峻,乃令丁奉殺熊於虎林,殺損於建業。) สามก๊กจี่ เล่มที่ 64.
  17. (永安元年十二月丁卯, ... 闓乘船欲北降,追殺之。夷三族。發孫峻棺,取其印綬,斲其木而埋之,以殺魯育等故也。綝死時年二十八。休恥與峻、綝同族。特除其屬籍,稱之曰故峻、故綝云。休又下詔曰:「諸葛恪、滕胤、呂據蓋以無罪為峻、綝兄弟所見殘害,可為痛心,促皆改葬,各為祭奠。其罹恪等事見遠徙者,一切召還。」) สามก๊กจี่ เล่มที่ 64.
  18. ([元興元年]冬十月, ... 以禮葬魯育公主。) เจี้ยนคางฉือลู่ เล่มที่ 4.
  19. (案,《搜神記》:後主欲改葬主,塚瘞相亞,不可識別,而宮人頗有識主亡時衣服,乃使兩巫各住一處以伺其靈,使察戰監之,不得相近。久之,二巫各見一女,年三十餘,上著青錦束頭,紫白夾裳,丹綈絲屨,從石子崗上半崗,而以手抑膝長息,小住須臾,進一塚上便止,徘徊,奄然不見。二巫不謀而言同,遂開棺,衣服與所言同爾。) เจี้ยนคางฉือลู่ เล่มที่ 4.

บรรณานุกรม

[แก้]