จิวหอง

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
จิวหอง (โจว ฝาง)
周魴
ขุนพลรอง (裨將軍 ผีเจียงจฺวิน)
ดำรงตำแหน่ง
ค.ศ. 228 หรือภายหลัง (228 หรือภายหลัง) – ค.ศ. ? (?)
กษัตริย์ซุนกวน
นายกองผู้กระจ่างเที่ยงธรรม
(昭義校尉 เจาอี้เซี่ยวเว่ย์)
ดำรงตำแหน่ง
ค.ศ. 226 (226) – ค.ศ. ? (?)
กษัตริย์ซุนกวน
เจ้าเมืองกวนหยง (鄱陽太守 ผังหยางไท่โฉ่ว)
ดำรงตำแหน่ง
ค.ศ. 226 (226) – ค.ศ. ? (?)
กษัตริย์ซุนกวน
นายกองเขตตะวันออกของตันเอี๋ยง
(丹楊西部都尉 ตานหยางซีปู้ตูเว่ย์)
ดำรงตำแหน่ง
ค.ศ. ? (?) – ค.ศ. ? (?)
ปลัดอำเภอเจียนต๋อง (錢唐相 เฉียนถางเซียง)
ดำรงตำแหน่ง
ค.ศ. ? (?) – ค.ศ. ? (?)
ข้อมูลส่วนบุคคล
เกิดไม่ทราบ
นครอี๋ซิง มณฑลเจียงซู
เสียชีวิตไม่ทราบ
บุตรโจว ฉู่
บุพการี
  • โจว ปิน (บิดา)
อาชีพขุนพล, ขุนนาง
ชื่อรองจื่อ-ยฺหวี (子魚)
บรรดาศักดิ์กวนไล่เหา (關內侯 กวานเน่ย์โหว)

จิวหอง (มีบทบาทในช่วงทศวรรษ 200 - ค.ศ. 239) มีชื่อในภาษาจีนกลางว่า โจว ฝาง (จีน: 周魴; พินอิน: Zhōu Fáng) ชื่อรอง จื่อ-ยฺหวี (จีน: 子魚; พินอิน: Zǐyú) เป็นขุนพลและขุนนางของรัฐง่อก๊กในยุคสามก๊กของจีน

ประวัติ[แก้]

จิวหองเป็นชาวอำเภอหยางเซี่ยน (陽羨縣 หยางเซี่ยนเซี่ยน) เมืองง่อกุ๋น (吳郡 อู๋จฺวิ้น)[1] ซึ่งปัจจุบันคือนครอี๋ซิง มณฑลเจียงซู จิวหองมีชื่อเสียงว่าเป็นผู้อ่านตำราเก่งและขยันศึกษาเล่าเรียนตั้งแต่วัยเยาว์ เมื่อจิวหองเข้าสู่วัยผู้ใหญ่ก็ได้รับการเสนอชื่อให้เป็นเซี่ยวเหลียน (ผู้ได้รับการเสนอชื่อเข้ารับราชการ) ให้เข้ารับราชการในที่ว่าเมืองง่อกุ๋นอันเป็นเมืองบ้านเกิด เวลานั้นมีคนผู้หนึ่งชื่อเผิง ชื่อ (彭式) รวบรวมผู้ติดตามในอำเภอเจียนต๋อง (錢唐縣 เฉียนถางเซี่ยน) และก่อตั้งเป็นกลุ่มโจรเป็นที่หวาดกลัวของราษฎร ซุนกวนขุนศึกผู้ปกครองดินแดนกังตั๋งในเวลานั้นจึงแต่งตั้งจิวหองเป็นปลัด (相 เซียง) ของอำเภอเจียนต๋องเพื่อจัดการกับเผิง ชื่อ ภายใน 10 วัน จิวหองก็กำจัดเผิง ชื่อและกลุ่มโจรได้สำเร็จ และได้เลื่อนขั้นขึ้นเป็นนายกองเขตตะวันตก (西部都尉 ซีปู้ตูเว่ย์) ในเมืองตันเอี๋ยง (丹楊郡 ตานหยางจฺวิ้น)[2]

ในเดือนมกราคมหรือกุมภาพันธ์ ค.ศ. 226[a] มีคนผู้หนึ่งชื่อเผิง ฉี่ (彭綺) เริ่มก่อกบฏในเมืองกวนหยง (鄱陽郡 ผัวหยางจฺวิ้น) ซุนกวนแต่งตั้งจิวหองเป็นเจ้าเมือง (太守 ไท่โฉ่ว) ของเมืองกวนหยงและมอบหมายให้จิวหองและหู จง (胡綜) ไปปราบปรามกบฏ จิวหองและหู จงปราบกบฏได้สำเร็จและจับเป็นเผิง ฉี่ได่ส่งตัวเป็นนักโทษไปให้ซุนกวน จากความชอบในการปราบกบฏจิวหองจึงได้รับการเลื่อนขั้นเป็นนายกองผู้กระจ่างเที่ยงธรรม (昭義校尉 เจาอี้เซี่ยวเว่ย์)[4]

ในปี ค.ศ. 228 จิวหองกลายเป็นบุคคลสำคัญในยุทธการที่เซ็กเต๋งระหว่างง่อก๊กและวุยก๊กที่เป็นรัฐอริ จิวหองแสร้งทำเป็นยอมสวามิภักดิ์และแปรพักตร์ไปเข้าด้วยโจฮิวแม่ทัพของวุยก๊ก โจฮิวหลงกลจิวหองและนำกองกำลัง 100,000 นายเข้าโจมตีอำเภออ้วนเสีย (皖縣 หว่านเซี่ยน; ปัจจุบันคืออำเภอเฉียนชาน มณฑลอานฮุย) ระหว่างทางทัพง่อก๊กที่นำโดยลกซุนและจิวหองได้ซุ่มกำลังเข้าโจมตีทัพโจฮิวจนแตกพ่ายยับเยิน ทัพโจฮิวเสียทหารไปหลายพันนาย จากความชอบของจิวหองในยุทธการ ซุนกวนจึงเลื่อนขั้นให้จิวหองเป็นขุนพลรอง (裨將軍 ผีเจียงจฺวิน) และพระราชทานบรรดาศักดิ์ระดับกวนไล่เหา (關內侯 กวานเน่ย์โหว) ให้จิวหอง

เมื่อกลุ่มโจรที่นำโดยต่ง ซื่อ (董嗣) บุกโจมตีเมืองอิเจี๋ยง (豫章 ยฺวี่จาง) และหลินชฺวาน (臨川) งอซัน (吾粲 อู๋ ช่าน) และต๋องจู (唐咨 ถาง จือ) นำกองกำลัง 3,000 นายเข้าโจมตีแต่ไม่สามารถตีฐานที่มั่นของกลุ่มโจรให้แตกได้ จิวหองจึงวางแผนส่งสายลับไปลอบสังหารต่ง ซื่อ หลังจากนั้นน้องชายของต่ง ชื่อก็นำโจรคนอื่นมายอมจำนนต่อทัพง่อก๊กอย่างเต็มใจ

จิวหองรับราชการเป็นเจ้าเมืองกวนหยงเป็นเวลาประมาณ 13 ปีจนกระทั่งเสียชีวิต (อาจเป็นต้นปี ค.ศ. 239[b]) ตลอดเวลาที่ดำรงตำแหน่งเจ้าเมืองกวนหยง จิวหองปกครองอย่างซื่อสัตย์ยุติธรรม โจว ชู่ (周處) บุตรชายของจิวหองกลายเป็นขุนพลที่มีชื่อเสียงในยุคราชวงศ์จิ้น

ดูเพิ่ม[แก้]

หมายเหตุ[แก้]

  1. ในชีวประวัติซุนกวนในจดหมายเหตุสามก๊ก กบฏของเผิง ฉี่เริ่มต้นในเดือน 12 ของศักราชหฺวางอู่ (ค.ศ. 222–229) ปีที่ 4 ในรัชสมัยของซุนกวน เดือนนี้เทียบได้กับช่วงเวลาระหว่างวันที่ 16 มกราคมถึง 13 กุมภาพันธ์ ค.ศ. 226 ในปฏิทินจูเลียน[3]
  2. เนื่องจากกบฏเผิง ฉี่เกิดขึ้นเมื่อต้นปี ค.ศ. 226 จิวหองจึงได้รับการแต่งตั้งเป็นเจ้าเมืองกวนหยงในช่วงเวลาเดียวกันนั้น เมื่อคำนวณแล้ววันที่จิวหองเสียชีวิตควรเป็นช่วงต้นปี ค.ศ. 239

อ้างอิง[แก้]

  1. (周魴字子魚,吳郡陽羨人也。) จดหมายเหตุสามก๊ก เล่มที่ 60.
  2. (錢唐大帥彭式等蟻聚為寇,以魴為錢唐侯相,旬月之間,斬式首及其支黨,遷丹楊西部都尉。) จดหมายเหตุสามก๊ก เล่มที่ 60.
  3. ([黄武四年]冬十二月,鄱阳贼彭绮自称将军,...) จดหมายเหตุสามก๊ก เล่มที่ 47
  4. (黃武中。鄱陽大帥彭綺作亂,攻沒屬城,乃以魴為鄱陽太守,與胡綜戮力攻討,遂生禽綺,送詣武昌,加昭義校尉。) จดหมายเหตุสามก๊ก เล่มที่ 60.

บรรณานุกรม[แก้]