ข้ามไปเนื้อหา

เบ้งจ๋อง

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
เบ้งจ๋อง (เมิ่ง จง)
孟宗
ประติมากรรมแสดงเรื่องราวที่เบ้งจ๋องร้องไห้ที่ก่อไผ่และได้รับหน่อไม้จากยี่จับสี่เห่า
เสนาบดีโยธาธิการ (司空 ซือคง)
ดำรงตำแหน่ง
ค.ศ. 268 (268) – ค.ศ. 271 (271)
กษัตริย์ซุนโฮ
เสนาบดีที่ปรึกษาฝ่ายขวา
(右御史大夫 โย่ว-ยฺวี่ฉื่อต้าฟู)
ดำรงตำแหน่ง
ค.ศ. 262 (262) – ค.ศ. 268 (268)
กษัตริย์ซุนฮิว
ซุนโฮ
เสนาบดีกรมวัง (光祿勳 กวางลู่ซฺวิน)
ดำรงตำแหน่ง
ค.ศ. ? (?) – ค.ศ. 262 (262)
กษัตริย์ซุนเหลียง
ซุนฮิว
เจ้าเมืองอิเจี๋ยง (豫章太守 ยฺวี่จางไท่โฉ่ว)
ดำรงตำแหน่ง
ค.ศ. ? (?) – ค.ศ. ? (?)
กษัตริย์ซุนเหลียง
ข้อมูลส่วนบุคคล
เกิดไม่ทราบ
อำเภอเซี่ยวชาง มณฑลหูเป่ย์
เสียชีวิตค.ศ. 271
บุตรเมิ่ง จี๋
อาชีพขุนนาง
ชื่อรองกงอู่ (恭武)
ชื่ออื่นเมิ่ง เหริน (孟仁)

เบ้งจ๋อง[1] หรือ เม่งจง[2] (เสียชีวิต ค.ศ. 271) มีชื่อในภาษาจีนกลางว่า เมิ่ง จง (จีน: 孟宗; พินอิน: Mèng Zōng) ชื่อรอง กงอู่ (จีน: 恭武; พินอิน: Gōngwǔ) ภายหลังเบ้งจ๋อง (เมิ่ง จง) เปลี่ยนชื่อเป็น เมิ่ง เหริน (จีน: 孟仁; พินอิน: Mèng Rén) เพื่อหลีกเลี่ยงการมีชื่อพ้องกับชื่อรองของจักรพรรดิซุนโฮ[a] เบ้งจ๋องเป็นขุนนางของรัฐง่อก๊กในยุคสามก๊กของจีน มีตำแหน่งสูงสุดเป็นเสนาบดีโยธาธิการ (司空 ซือคง) เบ้งจ๋องเป็นบุตรกตัญญูที่มีชื่อเสียงในจีนยุคโบราณ เรื่องราว "ร้องไห้ที่กอไผ่ก่อเกิดหน่อไม้" ในยี่จับสี่เห่า (ยี่สิบสี่ยอดกตัญญู) เป็นเรื่องราวเกี่ยวกับตัวเบ้งจ๋อง

ประวัติ

[แก้]

เบ้งจ๋องเป็นชาวอำเภอเหมิง (𫑡縣 เหมิงเซี่ยน) เมืองกังแฮ (江夏 เจียงเซี่ย) ซึ่งปัจจุบันคืออำเภอเซี่ยวฉาง นครเซี่ยวก่าน มณฑลหูเป่ย์[3][4] เมื่อเบ้งจ๋องอยู่ในวัยเยาว์ไปขอเข้าศึกษากับหลี่ ซู่ (李肅) ชาวเมืองลำหยง (南陽郡 หนานหยางจฺวิ้น)[5] เบ้งจ๋องศึกษาเล่าเรียนอย่างหนักทั้งกลางวันและกลางคืน หลี่ ซู่ยกย่องเบ้งจ๋องว่ามีความสามารถระดับอัครมหาเสนาบดี[6]

หลังจากเข้ารับราชการในง่อก๊ก เบ้งจ๋องเริ่มจากการเป็นนายทหารในสังกัดของจู จฺวี้ (朱據) ผู้เป็นขุนพลม้าทะยาน (驃騎將軍 เพี่ยวฉีเจียงจวิน) ต่อมาไปเป็นนายกองพันประจำอำเภอเหยียนฉือ (塩池司馬 เหยียนฉือซือหม่า)[7] และนายอำเภอของอำเภออู๋ (吳令 อู๋ลิ่ง) ในช่วงที่เบ้งจ๋องดำรงตำแหน่งนายอำเภอของอำเภออู๋ มารดาของเบ้งจ๋องเสียชีวิต ตามกฎหมายของง่อก๊กในเวลานั้น การรีบกลับบ้านไปร่วมงานศพโดยไม่ได้รับอนุญาตจากทางการท้องถิ่นถือเป็นความผิดร้ายแรงถึงขั้นประหารชีวิต แต่เบ้งจ๋องรีบกลับบ้านไปร่วมงานศพโดยไม่คำนึงถึงความเสี่ยงที่จะถูกประหารชีวิต จากนั้นเบ้งจ๋องก็ไปที่บู๊เฉียง (武昌 อู่ชาง; ปัจจุบันคือนครเอ้อโจว มณฑลหูเป่ย์) เพื่อรับโทษ เบ้งจ้องได้รับการช่วยเหลือจากลกซุนจึงได้รับการละเว้นโทษประหารชีวิต[8] ต่อมาเบ้งจ๋องได้รับการแต่งตั้งเป็นเจ้าเมือง (太守 ไท่โฉ่ว) ของเมืองอิเจี๋ยง (豫章郡 ยฺวี่จางจฺวิ้น) แล้วย้ายมาเป็นเสนาบดีกรมวัง (光祿勳 กวางลู่ซฺวิน) หลังจากที่ซุนหลิมขึ้นมามีอำนาจในราชสำนักง่อก๊กในฐานะผู้สำเร็จราชแทนพระองค์ในรัชสมัยของซุนเหลียง เบ้งจ๋องก็มาอยู่ใต้บังคับบัญชาของซุนหลิม

ในปี ค.ศ. 258 เบ้งจ๋องได้รับคำสั่งจากซุนหลิมให้อ่านออกเสียงประกาศต่อศาลบรรพกษัตริย์เรื่องการปลดซุนเหลียงจากตำแหน่งจักรพรรดิ[9] หลังจากซุนหลิมตั้งให้ซุนฮิวขึ้นครองราชย์เป็นจักรพรรดิแทนที่ซุนเหลียง ซุนหลิมก็มีความคิดจะก่อกบฏ จึงให้เบ้งจ๋องเป็นตัวแทนของตนไปทูลขอซุนฮิวให้อนุญาตให้ซุนหลิมย้ายไปบู๊เฉียง[10] ซุนฮิวทรงอนุญาต แต่หลังจากนั้นไม่นานซุนฮิวก็ทรงวางแผนเชิญซุนหลิมมางานเลี้ยงและสังหารซุนหลิมได้เป็นผลสำเร็จ

ในปี ค.ศ. 262 ซุนฮิวทรงแต่งตั้งให้เบ้งจ๋องเป็นเสนาบดีที่ปรึกษาฝ่ายขวา (右御史大夫 โย่ว-ยฺวี่ฉื่อต้าฟู)[11]

ในปี ค.ศ. 264 ซุนโฮจักรพรรดิลำดับสุดท้ายของง่อก๊กขึ้นครองราชย์ เนื่องจากพระองค์มีชื่อรองว่า "ยฺเหวียนจง" (元宗) เบ้งจ๋อง (เมิ่ง จง) จึงเปลี่ยนชื่อเป็น "เมิ่ง เหริน" (孟仁)

ในปี ค.ศ. 267 ซุนโฮทรงมีรับสั่งให้เบ้งจ๋อง (ในชื่อใหม่ว่า "เมิ่ง เหริน") และเหยา ซิ่น (姚信) ผู้เป็นเสนาบดีพิธีการ (太常 ไท่ฉาง) นำเครื่องบูชาไปยังสุสานหมิงหลิง (明陵) อันเป็นสุสานของซุนโฮ[b] (孫和 ซุน เหอ) พระบิดาของซุนโฮ เพื่อทูลเชิญวิญญาณของซุนโฮ (ซุน เหอ) ที่สุสาน แล้วนำเสด็จไปสถิตยังศาล[12]

ในปี ค.ศ. 268 เบ้งจ๋องได้เลื่อนตำแหน่งขึ้นเป็นเสนาบดีโยธาธิการ (司空 ซือคง)[13]

เบ้งจ๋องเสียชีวิตในปี ค.ศ. 271[14] ศพได้รับการฝังที่บู๊เฉียง[15]

ดูเพิ่ม

[แก้]

หมายเหตุ

[แก้]
  1. ชื่อรองของซุนโฮคือ "ยฺเหวียนจง" (元宗) หรือ "เฮ่าจง" (皓宗)
  2. สามก๊ก ฉบับเจ้าพระยาพระคลัง (หน) เรียกชื่อซุน เหอที่เป็นพระบิดาของซุนโฮ (ซุน เฮ่า) ด้วยชื่อว่า "ซุนโฮ" เช่นเดียวกัน

อ้างอิง

[แก้]
  1. ("ฝ่ายซุนหลิมก็คิดอ่านตระเตรียมการให้เบ้งจ๋องคุมทหารหมื่นห้าพันพร้อมด้วยเครื่องศัสตราวุธออกไปตั้งอยู่ตำบลบูเฉียงนอกเมืองกังตั๋ง") "สามก๊ก ตอนที่ ๘๓". วัชรญาณ. สืบค้นเมื่อ September 12, 2023.
  2. "ยี่จับสี่เห่า ๑๗. เม่งจง". วัชรญาณ. สืบค้นเมื่อ September 12, 2023.
  3. (仁字恭武,江夏人也,本名宗,避皓字,易焉。) อรรถาธิบายจากอู๋ลู่ในสามก๊กจี่ เล่มที่ 48.
  4. (孟嘉字萬年,江夏鄳人,吳司空宗曾孫也。) จิ้นชู เล่มที่ 98.
  5. [(孟仁)少從南陽李肅學。] อรรถาธิบายจากอู๋ลู่ในสามก๊กจี่ เล่มที่ 48.
  6. (其讀書夙夜不懈,肅奇之,曰:「卿宰相器也。」) อรรถาธิบายจากอู๋ลู่ในสามก๊กจี่ เล่มที่ 48.
  7. [(孟仁)初爲驃騎將軍朱據軍吏,將母在營。旣不得志,又夜雨屋漏,因起涕泣,以謝其母,母曰:「但當勉之,何足泣也?」據亦稍知之,除爲塩池司馬。] อรรถาธิบายจากอู๋ลู่ในสามก๊กจี่ เล่มที่ 48.
  8. (其後吳令孟宗喪母奔赴,已而自拘於武昌以聽刑。陸遜陳其素行,因爲之請,權乃減宗一等,後不得以爲比,因此遂絶。) สามก๊กจี่ เล่มที่ 47.
  9. [(綝)使光祿勳盂宗告廟廢亮] สามก๊กจี่ เล่มที่ 64.
  10. [(綝)因孟宗求出屯武昌] สามก๊กจี่ เล่มที่ 64.
  11. [(永安五年)冬十月,以衞將軍濮陽興爲丞相,廷尉丁密、光祿勳孟宗爲左右御史大夫。] สามก๊กจี่ เล่มที่ 48.
  12. [(宝鼎二年)十二月,遣守丞相孟仁、太常姚信等備官寮中軍步騎二千人,以靈輿法駕,東迎神於明陵。皓引見仁,親拜送於庭。] สามก๊กจี่ เล่มที่ 59.
  13. [(宝鼎)三年春二月,以左右御史大夫丁固、孟仁爲司徒、司空。] สามก๊กจี่ เล่มที่ 48.
  14. [(建衡三年)九月,呉司空孟仁卒。] จือจื้อทงเจี้ยน เล่มที่ 79.
  15. (宗葬武昌,子孫家焉。) เมิ่งเจียลั่วเม่า.

บรรณานุกรม

[แก้]