ข้ามไปเนื้อหา

จูกัดเจ้ง

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
จูกัดเจ้ง (จูเก่อ จิ้ง)
諸葛靚
เสนาบดีกลาโหม (大司馬 ต้าซือหม่า)
ดำรงตำแหน่ง
ค.ศ. ? (?) – ค.ศ. 280 (280)
กษัตริย์ซุนโฮ
ขุนพลขวา (右將軍 โย่วเจียงจฺวิน)
ดำรงตำแหน่ง
ค.ศ. ? (?) – ค.ศ. ? (?)
กษัตริย์ซุนฮิว/ซุนโฮ
ข้อมูลส่วนบุคคล
เกิดก่อนปี ค.ศ. 257
อำเภออี๋หนาน มณฑลชานตง
เสียชีวิตหลังปี ค.ศ. 284[a]
บุตร
  • จูเก่อ อี๋
  • จูเก่อ ฮุย
บุพการี
ญาติ
อาชีพขุนพล, ขุนนาง
ชื่อรองจ้งซือ (仲思)

จูกัดเจ้ง[b] หรือ จูกัดเจง[c] (มีบทบาทในช่วงปี ค.ศ. 257-284) มีชื่อในภาษาจีนกลางว่า จูเก่อ จิ้ง (จีน: 諸葛靚; พินอิน: Zhūgě Jìng) ชื่อรอง จ้งซือ (จีน: 仲思; พินอิน: Zhòngsī) เป็นขุนพลและขุนนางของรัฐง่อก๊กในยุคสามก๊กของจีน แม้ว่าจูกัดเจ้งมีพื้นเพจากรัฐวุยก๊กแต่ถูกส่งตัวไปง่อก๊กในฐานะตัวประกันในระหว่างที่จูกัดเอี๋ยนผู้บิดาก่อกบฏต่อวุยก๊กในปี ค.ศ. 257 หลังการเสียชีวิตของบิดาในปี ค.ศ. 258 จูกัดเจ้งยังคงอยู่ในง่อก๊กต่อไปโดยได้ทำหน้าที่เป็นขุนพลจนกระทั่งรัฐล่มสลายในปี ค.ศ. 280 ซึ่งเป็นจุดสิ้นสุดของยุคสามก๊ก

กบฏจูกัดเอี๋ยน

[แก้]

ไม่มีข้อมูลประวัติในช่วงต้นของจูกัดเจ้งมากนักนอกเหนือจากว่าครอบครัวของจูกัดเจ้งเป็นชาวอำเภอหยางตู (陽都縣 หยางตูเซี่ยน) เมืองลองเอี๋ยหรือลงเสีย (琅邪郡 หลางหยาจฺวิ้น) ซึ่งปัจจุบันคืออำเภออี๋หนานหรืออำเภออี๋ฉุ่ย มณฑลชานตง บิดาของจูกัดเจ้งคือจูกัดเอี๋ยน ดำรงตำแหน่งสำคัญในราชสำนักวุยก๊กและเข้าร่วมในการปราบกบฏครั้งใหญ่ต่อวุยก๊กในปี ค.ศ. 251และค.ศ. 255 อย่างไรก็ตาม ด้วยเหตุที่เหล่าผู้ที่ส่วนเกี่ยวข้องอย่างใกล้ชิดกับจูกัดเอี๋ยนถูกกวาดล้างโดยตระกูลสุมาที่กำลังผูกขาดอำนาจรัฐ จูกัดเอี๋ยนกลัวว่าตนจะพบจุดจบแบบเดียวกันจึงตัดสินใจก่อกบฏที่อำเภอฉิวฉุน (壽春 โช่วชุน; อยู่บริเวณอำเภอโช่ว นครลู่อาน มณฑลอานฮุยในปัจจุบัน) ในปี ค.ศ. 257 โดยร้องขอให้ง่อก๊กที่เป็นรัฐอริของวุยก๊กมาช่วยสนับสนุน และเพื่อเป็นการรับประกันการเป็นพันธมิตรกับง่อก๊ก จูกัดเอี๋ยนจึงส่งจูกัดเจ้งไปเกี๋ยนเงียบนครหลวงของง่อก๊กในฐานะตัวประกัน[5]

การก่อกบฏของจูกัดเอี๋ยนสิ้นสุดในปี ค.ศ. 258 เมื่อจูกัดเอี๋ยนถูกขุนพลเฮาหุนสังหาร ครอบครัวของจูกัดเจ้งที่อยู่ด้วยกันกับจูกัดเอี๋ยนถูกกวาดล้างเพื่อเป็นการลงโทษจากการก่อกบฏของจูกัดเอี๋ยน แม้ว่าพี่สาวคนหนึ่งจะได้รับการไว้ชีวิตเพราะสมรสกับสุมาเตี้ยมที่เป็นสมาชิกของตระกูลสุมาคนหนึ่ง จูกัดเจ้งไม่ได้กลับไปวุยก๊กและยังคงอยู่ในง่อก๊กที่ซึ่งจูกัดเจ้งได้รับราชการในฐานะนายทหาร ในง่อก๊กจูกัดเจ้งได้รับการแต่งตั้งเป็นขุนพลขวา (右將軍 โย่วเจียงจฺวิน) และเสนาบดีกลาโหม (大司馬 ต้าซือหม่า)

กบฏชือ ต้าน

[แก้]

ในปี ค.ศ. 264 ซุนโฮขึ้นครองราชย์เป็นจักรพรรดิแห่งง่อก๊ก ก่อนหน้าปี ค.ศ. 266 ที่วุยก๊กจะล่มสลายแล้วถูกแทนที่ด้วยราชวงศ์จิ้น ส่วนจ๊กก๊กถูกวุยก๊กพิชิตไปแล้วตั้งแต่ปี ค.ศ. 263

ในปี ค.ศ. 265 ซุนโฮย้ายนครหลวงจากเกี๋ยนเงียบไปยังบู๊เฉียง (武昌; ปัจจุบันคือนครเอ้อโจว มณฑลหูเป่ย์) โดยมอบหมายให้จูกัดเจ้งและขุนพลติง กู้ (丁固) อยู่ป้องกันเกี๋ยนเงียบ

ในเดือนพฤศจิกายน ค.ศ. 266 ผู้นำกลุ่มโจรชื่อชือ ต้าน (施但) เห็นว่าซุนโฮไม่ได้ประทับอยู่ในเกี๋ยนเงียบ จึงใช้โอกาสนี้ลักพาตัวซุน เชียน (孫謙) พระอนุชาของซุนโฮ โดยหวังจะตั้งซุน เชียนขึ้นเป็นจักรพรรดิองค์ใหม่ จากนั้นชือ ต้านจึงก่อกบฏและรวบรวมคนได้ 10,000 คนมาอยู่ใต้บังคับบัญชาของตนก่อนจะมุ่งไปเกี๋ยนเงียบ เมื่อชือ ต้านมาถึงเกี๋ยนเงียบที่เป็นนครหลวงเดิม ได้ส่งทูตมาพบจูกัดเจ้งเพื่อเชิญมาร่วมการก่อกบฏ แต่จูกัดเจ้งตัดศีรษะทูต และร่วมกับติง กู้ยกออกไปทำศึกกับชือ ต้านที่หนิวถุน (牛屯; อยู่ทางตะวันออกเฉียงใต้ของนครหนานจิง มณฑลเจียงซูในปัจจุบัน) ทัพของชือ ต้านสวมเกราะด้อยคุณภาพจึงถูกตีแตกพ่ายกระจัดกระจายไป เหล่าขุนพลช่วยซุน เชียนกลับมาได้ แต่ซุนโฮทรงมีรับสั่งให้สำเร็จโทษซุน เชียนเพราะพระองค์ทรงเข้าพระทัยว่าซุน เชียนเป็นผู้สมรู้ร่วมคิดในการก่อกบฏอย่างเต็มพระทัย[6]

ยุทธการที่หับป๋า (ค.ศ. 268)

[แก้]

ในปี ค.ศ. 268 จูกัดเจ้งและเตงฮองผู้เป็นเสนาบดีกลาโหมของง่อก๊กยกทัพจากเนินเชฺว่ (芍陂 เชฺว่เปย์; อยู่ทางใต้ของอำเภอโช่ว มณฑลอานฮุยในปัจจุบัน) และโจมตีหับป๋า (合肥 เหอเฝย์) ซึ่งมีโจเป๋า (石苞 ฉือ เปา) เป็นผู้ป้องกัน แต่จูกัดเจ้งและเตงฮองถูกกองกำลังเสริมของราชวงศ์จิ้นที่นำโดยซือหม่า จฺวิ้น (司馬駿) โจมตีแตกพ่าย เตงฮองเขียนหนังสือติดต่อกับโจเป๋าในเรื่องไม่สำคัญ หลังจากประนีประนามกันแล้ว ทั้งสองฝ่ายก็ล่าถอยกลับไป[7]

การพิชิตง่อก๊ก

[แก้]

ปลายปี ค.ศ. 279 สุมาเอี๋ยน (จักรพรรดิจิ้นอู่ตี้) จักรพรรดิแห่งราชวงศ์จิ้นเปิดฉากการบุกง่อก๊กเต็มรูปแบบ ในขณะที่ทัพของราชวงศ์จิ้นมุ่งไปยังเกี๋ยนเงียบนครหลวงของง่อก๊ก จูกัดเจ้งพร้อมด้วยสิมเอ๋ง (沈瑩 เฉิ่น อิ๋ง) และซุน เจิ้น (孫震) ภายใต้การบังคับบัญชาของเตียวเค้าอัครมหาเสนาบดีแห่งง่อก๊ก ได้ยกพล 30,000 นายเพื่อขับไล่อองหุย (王渾 หวาง หุน) แม่ทัพฝ่ายราชวงศ์จิ้น ทั้งหมดปิดล้อมจางเ ฉียว (張喬) ผู้ใต้บังคับบัญชาของอองหุยที่หยางเหอ (杨荷; ทางเหนือของอำเภอเหอ มณฑลอานฮุยในปัจจุบัน) จาง เฉียวยอมจำนนเพราะมีกำลังทหารด้อยกว่า จูกัดเจ้งแนะนำเตียวเค้าให้ประหารชีวิตจาง เฉียวและเหล่าทหารใต้บังคับบัญชา เพราะจูกัดเจ้งเชื่อว่าจาง เฉียวกำลังรอกำลังเสริมของราชวงศ์จิ้นมาถึง เตียวเค้าเพิกเฉยต่อคำเตือนของจูกัดเจ้งและนำทัพต่อไปทางอองหุย จากนั้นทัพง่อก๊กต่อสู้กับโจว จฺวิ้น (周浚) ข้าหลวงมณฑลของมณฑลยังจิ๋นของฝ่ายราชวงศ์จิ้น แต่คราวนี้ทัพง่อก๊กกลับเป็นฝ่ายถูกตีจนถอยร่น ระหว่างที่ล่าถอย เหล่าขุนพลราชวงศ์จิ้นก็ยกไล่ตามตี แล้วจาง เฉียวก็ก่อกบฏในทัพง่อก๊กตามที่จูกัดเจ้งได้คาดการณ์ไว้ ทัพราชวงศ์จิ้นทำลายล้างทัพง่อก๊กที่ป่านเฉียว (版橋; ทางใต้ของอำเภอเหอ มณฑลอานฮุยในปัจจุบัน)[8]

จูกัดเจ้งตีฝ่าวงล้อมออกไปพร้อมทหารหลายร้อยนายก่อนจะกลับมาตามหาเตียวเค้า เมื่อพบเตียวเค้า จูกัดเจ้งพยายามโน้มน้าวเตียวเค้าให้หนี แต่เตียวเค้าตั้งใจแน่วแน่ที่จะอยู่ต่อและสู้จนตัวตาย จูกัดเจ้งพยายามดึงตียวเค้าออกจากที่รบแต่ไม่สำเร็จ ท้ายที่สุดจูกัดเจ้งก็ร้องไห้และจากไปโดยไม่มีเตียวเค้าไปด้วย กล่าวกันว่าหลังจากไปร้อยกว่าก้าว จูกัดเจ้งหันกลับมาและเห็นทหารทัพราชวงศ์จิ้นสังหารเตียวเค้าไปแล้ว[9] ภายหลังจูกัดเจ้งและซุน อี้ (孫奕) ยอมจำนนต่อสุมาเตี้ยม

ประวัติหลังการล่มสลายของง่อก๊ก

[แก้]

หลังง่อก๊กยอมจำนนต่อราชวงศ์จิ้นในปี ค.ศ. 280 ซุนโฮและอดีตขุนนางง่อก๊กบางคนรวมถึงจูกัดเจ้งถูกย้ายไปอยู่ที่ลกเอี๋ยง จักรพรรดิสุมาเอี๋ยนเป็นสหายในวัยเด็กกับจูกัดเจ้งและทรงต้องการจะพบกับจูกัดเจ้ง แต่จูกัดเจ้งยังมีความแค้นต่อตระกูลสุมาที่มีส่วนในการตายของสมาชิกในครอบครัวจึงปฏิเสธที่พบพระองค์

เรื่องเล่าในชื่อชัวซิน-ยฺหวี่ระบุว่าจักรพรรดิสุมาเอี๋ยนทรงทราบว่าสุมาเตี้ยมที่เป็นพระปิตุลา (อา) ของพระองค์สมรสกับพี่สาวของจูกัดเจ้ง จึงตัดสินพระทัยเสด็จไปพบจูกัดเจ้งที่บ้าน เมื่อจูกัดเจ้งได้ยินว่าสุมาเอี๋ยนเสด็จมาถึง ก็พยายามจะซ่อนตัวอยู่ในห้องส้วม ในที่สุดก็ถูกสุมาเอี๋ยนพบตัว สุมาเอี๋ยนตรัสกับจูกัดเจ้งว่า "วันนี้ ในที่สุดเราก็ได้พบกันอีกครั้ง" จูกัดเจ้งทูลตอบทั้งน้ำตาว่า "กระหม่อมเสียใจที่ไม่อาจเอาสีทาตัวและลอกผิวหนังออกจากหน้าได้[d] ก่อนที่กระหม่อมจะได้พบกับฝ่าบาทอีกครั้ง!" อ้างอิงถึงเรื่องราวของอิเยียง (豫讓 ยฺวี่ ร่าง) และเนี่ย เจิ้ง (聶政) จักรพรรดิสุมาเอี๋ยนจึงเสด็จกลับวังด้วยความละอายพระทัย[10][e]

จักรพรรดิสุมาเอี๋ยนเสนอให้จูกัดเจ้งได้รับการแต่งตั้งเป็นเสนาบดีกลาโหม (大司馬 ต้าซือหม่า) แต่จูกัดเจ้งปฏิเสธ ภายหลังสุมาเอี๋ยนเสนอให้แต่งตั้งเป็นขุนนางมหาดเล็ก (侍中 ชื่อจง) แต่จูกัดเจ้งก็ปฏิเสธอีก จูกัดเจ้งกลับไปบ้านเกิดและและใช้ชีวิตในฐานะสามัญชนในช่วงชีวิตที่เหลือ กล่าวกันว่าจูกัดเจ้งไม่เคยนั่งหันหน้าไปทางลกเอี๋ยงเลยเพราะความแค้น จนกระทั่งจูกัดเจ้งเสียชีวิต จูกัดเจ้งมีบุตรชายอย่างน้อย 2 คนคือจูเก่อ ฮุย (诸葛恢) และจูเก่อ อี๋ (諸葛頤) ทั้งคู่รับราชการในราชสำนักราชวงศ์จิ้น[11]

เกร็ดประวัติ

[แก้]

บทสนทนากับซุนโฮ

[แก้]

ครั้งหนึ่งซุนโฮตรัสถามจูกัดเจ้งในราชสำนักว่า "ท่านเสนาดีจ้งซือ (ชื่อรองของจูกัดเจ้ง) ท่านกำลังคิดอะไรอยู่หรือ" จูกัดเจ้งทูลตอบว่า "เมื่ออยู่ที่บ้าน กระหม่อมคิดถึงความกตัญญู เมื่อกระหม่อมกำลังทำงานกระหม่อมคิดถึงการอุทิศตน เมื่อกระหม่อมอยู่กับเพื่อน กระหม่อมคิดถึงความไว้วางใจ ล้วนเป็นสิ่งที่ต้องคิดถึง"[12]

ในนิยายสามก๊ก

[แก้]

ดูเพิ่ม

[แก้]

หมายเหตุ

[แก้]
  1. บุตรชายคนเล็กของจูกัดเจ้งคือจูเก่อ ฮุยเกิดในปี ค.ศ. 284 และไม่มีบันทึกว่าเป็นบุตรที่เกิดหลังจูกัดเจ้งเสียชีวิต
  2. ชื่อที่ปรากฏในสามก๊ก ฉบับเจ้าพระยาพระคลัง (หน) ตอนที่ 82[1][2]
  3. ชื่อที่ปรากฏในสามก๊ก ฉบับเจ้าพระยาพระคลัง (หน) ตอนที่ 87[3][4]
  4. จูกัดเจ้งกำลังทูลบอกความรู้สึกอับอายของตนเองขณะได้พบกับจักรพรรดิสุมาเอี๋ยน "เอาสีทาตัว" อ้างอิงจากเรื่องราวของอิเยียง (豫讓 ยฺวี่ ร่าง) ส่วน "ลอกผิวหนังออกจากหน้า" อ้างอิงจากเรื่องราวของเนี่ย เจิ้ง (聶政) ทั้งคู่เป็นมือสังหารที่มีชื่อเสียงในยุควสันตสารท
  5. เรื่องราวที่คล้ายกันนี้ก็มีบันทึกในชีวประวัติของจูเก่อ ฮุย (諸葛恢) บุตรชายของจูกัดเจ้งในจิ้นชู

อ้างอิง

[แก้]
  1. ("จูกัดเอี๋ยนจึงมีหนังสือกล่าวโทษสุมาเจียว ไปทูลแก่พระเจ้าโจมอณเมืองลกเอี๋ยง แล้วก็ให้เกณฑ์ทหารเมืองห้วยหลำเมืองห้วยเขได้สิบหมื่นเศษ ในเมืองเกงจิ๋วได้สิบหมื่นเศษ แล้วจึงสั่งให้เตรียมม้าแลเครื่องศัสตราวุธแลสเบียงอาหารไว้ให้พร้อม แล้วจึงให้งอก๋งคนผู้ใหญ่เปนที่ปรึกษา พาตัวจูกัดเจ้งผู้บุตรไปณเมืองกังตั๋ง ให้ไปมอบไว้เปนจำนำหวังจะขอกองทัพไปช่วยกำจัด สุมาเจียวซึ่งเปนศัตรูแผ่นดิน") "สามก๊ก ตอนที่ ๘๒". วัชรญาณ. สืบค้นเมื่อ August 2, 2024.
  2. ("งอก๋งจึงว่าจูกัดเอี๋ยนเปนพี่น้องของขงเบ้งทำราชการอยู่เมืองวุยก๊ก เห็นพวกสุมาเจียวยกเจ้าแผ่นดินออกเสีย จะคิดอ่านเอาราชสมบัติเอง จูกัดเอี๋ยนจะคิดอ่านกำจัดศัตรูแผ่นดิน เห็นกำลังทหารของตัวน้อยนักจึงให้ข้าพเจ้ามาหาท่านขอกองทัพไปช่วย เกรงว่าท่านจะมิเชื่อ จึงให้ข้าพเจ้าเอาจูกัดเจ้งผู้บุตรมามอบให้ท่านไว้เปนคนจำนำ ขอให้ท่านยกทหารไปช่วย") "สามก๊ก ตอนที่ ๘๒". วัชรญาณ. สืบค้นเมื่อ August 2, 2024.
  3. ("เตี๋ยวเค้าจึงทูลว่า ถ้าฉนั้นขอให้พระองค์แต่งกองทัพไปตั้งรับอยู่ณเมืองกังเหลงทางหนึ่ง ให้ซุนหลิมยกทหารกองหนึ่งไปตั้งรับทางเมืองแฮเค้า ตัวข้าพเจ้ากับสิมเอ๋งแลจูกัดเจงจะคุมทหารสิบหมื่น เปนแม่ทัพใหญ่ยกไปตั้งอยู่ตำบลเอียวจู๊คอยรับกองทัพเมืองไต้จิ๋น") "สามก๊ก ตอนที่ ๘๗". วัชรญาณ. สืบค้นเมื่อ August 2, 2024.
  4. ("ทหารเมืองกังตั๋งซึ่งรักษาหน้าที่นั้นก็แตกตื่นหนีไปสิ้น ทหารเมืองไต้จิ๋นได้ทีก็ไล่ฟันเปนอลหม่าน สิมเอ๋งจูกัดเจงเตียวเข้าก็ถึงแก่ความตายสิ้นทั้งสามคน เตาอี้แลองโยยได้ทีก็ให้ยกทหารเข้าล้อมเมืองกังตั๋งไว้") "สามก๊ก ตอนที่ ๘๗". วัชรญาณ. สืบค้นเมื่อ August 2, 2024.
  5. (遣長史吴綱將小子靚至吴請救。) สามก๊กจี่ เล่มที่ 28.
  6. [(泰始二年十月)永安山贼施但,因民劳怨,聚众数千人,劫吴主庶弟永安侯谦作乱,北至建业,众万馀人,未至三十里住,择吉日入城。遣使以谦命召丁固、诸葛靓,固、靓斩其使,发兵逆战于牛屯。但兵皆无甲胄,即时败散。谦独坐车中,生获之。固不敢杀,以状白吴主,吴主并其母及弟俊皆杀之。初,望气者云:“荆州有王气,当破扬州。”故吴主徙都武昌。及但反,自以为得计,遣数百人鼓噪入建业,杀但妻子,云“天子使荆州兵来破扬州贼。” ] จือจื้อทงเจี้ยน เล่มที่ 79
  7. (寶鼎三年,皓命奉與諸葛靚攻合肥。奉與晉大將石苞書,搆而間之,苞以徵還。) สามก๊กจี่ เล่มที่ 55.
  8. (三月,悌等濟江,圍渾部將城陽都尉張喬於楊荷;喬衆纔七千,閉栅請降。諸葛靚欲屠之,悌曰:「強敵在前,不宜先事其小;且殺降不祥。」靚曰:「此屬以救兵未至,力少不敵,故且僞降以緩我,非眞伏也。若捨之而前,必爲後患。」悌不從,撫之而進。悌與揚州刺史汝南周浚,結陳相對,沈瑩帥丹陽銳卒、刀楯五千,三衝晉兵,不動。瑩引退,其衆亂,將軍薛勝、蔣班因其亂而乘之,吳兵以次奔潰,將帥不能止,張喬自後擊之,大敗吳兵于版橋。) จือจื้อทงเจี้ยน เล่มที่ 80.
  9. (諸葛靚帥數百人遁去,使過迎張悌,悌不肯去,靚自往牽之曰:「存亡自有大數,非卿一人所支,柰何故自取死!」悌垂涕曰:「仲思,今日是我死日也!且我爲兒童時,便爲卿家丞相所識拔,常恐不得其死,負名賢知顧。今以身徇社稷,復何道邪!」靚再三牽之,不動,乃流淚放去,行百餘步,顧之,已爲晉兵所殺,幷斬孫震、沈瑩等七千八百級,吳人大震。) จือจื้อทงเจี้ยน เล่มที่ 80.
  10. (諸葛靚後入晉,除大司馬,召不起。以與晉室有仇,常背洛水而坐。與武帝有舊,帝欲見之而無由,乃請諸葛妃呼靚。既來,帝就太妃間相見。禮畢,酒酣,帝曰:“卿故复憶竹馬之好不?”靚曰:“臣不能吞炭漆身,今日復睹聖顏。”因涕泗百行。帝於是慚悔而出。) ชื่อชัวซิน-ยฺหวี่ เล่มที่ 5.10
  11. (諸葛恢,字道明,琅邪陽都人也。祖誕,魏司空,為文帝所誅。父靚,奔吳,為大司馬。吳平,逃竄不出。武帝與靚有舊,靚姊又為琅邪王妃,帝知靚在姊間,因就見焉。靚逃於廁,帝又逼見之,謂曰:「不謂今日復得相見。」靚流涕曰:「不能漆身皮面,復睹聖顏!」詔以為侍中,固辭不拜,歸於鄉里,終身不向朝廷而坐。) จิ้นชู เล่มที่ 77.
  12. (諸葛靚在吳,於朝堂大會。孫皓問:「卿字仲思,為何所思?」對曰:「在家思孝,事君思忠,朋友思信,如斯而已。」) ชื่อชัวซิน-ยฺหวี่ เล่มที่ 2.21

บรรณานุกรม

[แก้]