ข้ามไปเนื้อหา

มงกุฎพระสันตะปาปา

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
ตราของพระสันตะปาปาที่ใช้สัญลักษณ์มงกุฎพระสันตะปาปา ตราของนครรัฐวาติกันก็เป็นรูปแบบเดียวกันยกเว้นแต่เฉพาะตำแหน่งของกุญแจเงินกับกุญแจทองจะสลับที่กัน

มงกุฎพระสันตะปาปา หรือ มงกุฎสามชั้น (อังกฤษ: Papal Tiara หรือ Triple Tiara, ละติน: Triregnum, อิตาลี: Trirègne, ฝรั่งเศส: Trirègne) เป็นมงกุฎที่มีอัญมณีตกแต่งสามชั้นที่เป็นมงกุฎประจำตำแหน่งพระสันตะปาปา ที่ว่ากันว่ามีรากฐานมาจากสมัยไบแซนไทน์และเปอร์เซีย ตราอาร์มของพระสันตะปาปามีรูปมงกุฎมาตั้งแต่สมัยโบราณ พร้อมด้วยกุญแจนักบุญซีโมนเปโตร

ประวัติ

[แก้]

พระสันตะปาปาแห่งโรมและอาวีญงสวมมงกุฎมาตั้งแต่สมัยสมเด็จพระสันตะปาปาเคลเมนต์ที่ 5 (สิ้นพระชนม์ ค.ศ. 1314) มาจนถึงสมเด็จพระสันตะปาปาปอลที่ 6 ผู้ทรงทำพิธีราชาภิเษกเป็นสมเด็จพระสันตะปาในปี ค.ศ. 1963 พระองค์ทรงเลิกใช้มงกุฎพระสันตะปาปาหลังจากสังคายนาวาติกันครั้งที่สอง โดยทรงทำการวางมงกุฎลงบนแท่นบูชาในมหาวิหารนักบุญเปโตรอย่างเป็นทางการ และทรงอุทิศเงินเท่ากับมูลค่าของมงกุฎให้แก่คนยากจน แต่ใน “ธรรมนูญการเลือกตั้งพระสันตะปาปาต่อจากพระสันตะปาปาปอลที่ 6” (Romano Pontifici Eligendo) ของธรรมนูญพระสันตะปาปาของปี ค.ศ. 1975 ก็ยังกล่าวถึงผู้ดำรงตำแหน่งต่อจากสมเด็จพระสันตะปาปาปอลที่ 6 ว่าจะได้รับการสวมมงกุฎ

แต่สมเด็จพระสันตะปาปายอห์น ปอลที่ 1 ผู้ดำรงตำแหน่งต่อมาทรงตัดสินพระทัยที่จะไม่ทรงทำการราชาภิเษก และทรงทำพิธีที่เรียกว่า “พิธีรับตำแหน่งพระสันตะปาปา” (Papal Inauguration) แทนที่ หลังจากที่พระองค์สิ้นพระชนม์อย่างกะทันหันแล้วสมเด็จพระสันตะปาปายอห์น ปอลที่ 2 ก็ทรงประกาศต่อผู้เข้าร่วมพิธีรับตำแหน่งของพระองค์ว่า:[1]

พระสันตะปาปาพระองค์สุดท้ายที่ได้รับการสวมมงกุฎคือสมเด็จพระสันตะปาปาปอลที่ 6 ในปี ค.ศ. 1963 แต่หลังจากที่ได้ทรงทำพิธีแล้วพระองค์ก็ไม่ทรงได้ใช้มงกุฎอีกเลย และทรงเปิดโอกาสให้ผู้ครองตำแหน่งต่อจากพระองค์ตัดสินใจในกรณีนี้ด้วยตนเอง สมเด็จพระสันตะปาปายอห์น ปอลที่ 1 ผู้ที่เรายังคงระลึกถึงในหัวใจของเรา ไม่มีพระประสงค์ที่จะมีมงกุฎ และผู้สืบตำแหน่งต่อจากพระองค์ในวันนี้ก็เช่นเดียวกัน ในเวลานี้มิใช่เป็นเวลาที่ควรจะหวนกลับไปหาพิธี และ วัตถุที่ถือว่ากันอย่างผิดผิดว่าเป็นสัญลักษณ์ของอำนาจของพระสันตะปาปา ในเวลานี้เป็นเวลาที่เราควรจะหันไปเข้าหาพระเป็นเจ้าและปวารณาตนเอง และ อุทิศตนเองให้แก่การใคร่ครวญถึงความอำนาจอันยิ่งใหญ่เหนือสิ่งอื่นใดของพระเยซูคริสต์เอง

แม้ว่าพระสันตะปาปาจะเลิกสวมมงกุฎประจำตำแหน่งไปแล้ว แต่มงกุฎพระสันตะปาปาก็ยังคงใช้เป็นสัญลักษณ์ของตำแหน่งบนธงและตราอาร์มของสันตะสำนักและนครรัฐวาติกัน จนกระทั่งเมื่อมาถึงสมัยของสมเด็จพระสันตะปาปาเบเนดิกต์ที่ 16 มงกุฎพระสันตะปาปาก็ยังคงใช้เป็นสิ่งตกแต่งส่วนหนึ่งของตราประจำพระองค์ของพระสันตะปาปา (กฎของสันตะสำนักของปี ค.ศ. 1969 ระบุห้ามใช้หมวกสูงในตราอาร์ม)[2] แต่สมเด็จพระสันตะปาปาเบเนดิกต์ทรงละเมิดธรรมเนียมดังกล่าวโดยทรงใช้ หมวกสูงบนตราอาร์มส่วนพระองค์แทนที่มงกุฎพระสันตะปาปา หมวกสูงที่ทรงใช้มีสามชั้นตามแบบมงกุฎพระสันตะปาปาสามชั้นที่ใช้กันมาแต่ก่อน[3] แต่บนตราอาร์มของสันตะสำนักและของนครรัฐวาติกันสมเด็จพระสันตะปาปาเบเนดิกต์ทรงตัดสินพระทัยใช้มงกุฎพระสันตะปาปาสามชั้นตามธรรมเนียมที่เป็นมา

ที่มา

[แก้]
สมเด็จพระสันตะปาปาอินโนเซนต์ที่ 3 (ค.ศ. 1198-ค.ศ. 1216) ทรงมงกุฎพระสันตะปาปา จากจิตรกรรมฝาผนังที่สำนักสงฆ์ซาโครสเปโคราว ค.ศ. 1219

จากหนังสือของเจมส์-ชาร์ลส์ นูนัน[4] และ บรูโน ไฮม์[5] ระดับล่างสุดของมงกุฎของหมวกพระสันตะปาปาที่ตามธรรมเนียมแล้วเป็นสีขาวเริ่มใช้เป็นครั้งแรกในคริสต์ศตวรรษที่ 9 เมื่อพระสันตะปาปาทรงรับตำแหน่งเป็นผู้นำของรัฐพระสันตะปาปา ฐานมงกุฎก็ได้รับการตกแต่งด้วยอัญมณีให้คล้ายกับมงกุฎของเจ้า และสันนิษฐานต่อไปว่าระดับสองได้รับการเพิ่มเติมโดยสมเด็จพระสันตะปาปาโบนิเฟสที่ 8 ในปี ค.ศ. 1298 เพื่อเป็นสัญลักษณ์ของอาณาจักรศาสนา หลังจากนั้นไม่นานนักก็ได้มีการเพิ่มระดับที่สามและแถบผ้าสองชาย (lappet) ในปี ค.ศ. 1314 โดยสมเด็จพระสันตะปาปาเคลเมนต์ที่ 5 ผู้เป็นพระสันตะปาปาพระองค์แรกที่ทรงสวมมงกุฎสามชั้น

แต่จิตรกรรมฝาผนังในชาเปลเซนต์ซิลเวสเตอร์ (เสก ค.ศ. 1247) ภายในโบสถ์ซันตีกวัตโตร โกโรนาตี (Santi Quattro Coronati) ในกรุงโรมมีภาพพระสันตะปาปาทรงมงกุฎสองชั้นที่มีแถบผ้าสองชาย

อีกทฤษฎีหนึ่งกล่าวว่ามงกุฎเริ่มมาจาก “หมวกทอร์ค” (Toque) เมื่อมาถึงปี ค.ศ. 1130 ก็ได้มีการเพิ่มมงกุฎเข้าไป เพื่อเป็นสัญลักษณ์ของการเป็นประมุขของรัฐพระสันตะปาปา ในปี ค.ศ. 1301 สมเด็จพระสันตะปาปาโบนิเฟสที่ 8 ก็ทรงเพิ่มมงกุฎที่สองในช่วงที่ต้องทรงมีความขัดแย้งกับพระเจ้าฟิลิปที่ 4 แห่งฝรั่งเศส เพื่อทรงแสดงถึงความมีอำนาจทางศาสนาที่ถือว่าเหนืออำนาจทางอาณาจักร ในปี ค.ศ. 1342 สมเด็จพระสันตะปาปาเบเนดิกต์ที่ 12 ทรงเพิ่มมงกุฎที่สามขึ้นเพื่อเป็นสัญลักษณ์ของอำนาจทางจริยธรรมเหนืออำนาจของพระมหากษัตริย์ของอาณาจักรทั้งปวง และเป็นกันยืนยันรับรองความเป็นเจ้าของอาวีญง

พระสันตะปาปาองค์สุดท้ายผู้ทรงมงกุฎ

[แก้]
มงกุฎของสมเด็จพระสันตะปาปาปอลที่ 6

สมเด็จพระสันตะปาปาปอลที่ 6 ทรงเข้าพิธีราชาภิเษกสวมมงกุฎเป็นพระสันตะปาปาเช่นเดียวกับพระสันตะปาปาองค์ก่อนหน้านั้นทั้งหมด มงกุฎของพระองค์เป็นมงกุฎที่สร้างถวายโดยเมืองมิลานซึ่งเป็นเมืองที่พระองค์เคยทรงดำรงตำแหน่งเป็นพระคาร์ดินัล และต่อมาเป็นบิชอปก่อนที่จะทรงได้รับเลือกให้เป็นสมเด็จพระสันตะปาปา มงกุฎที่ว่านี้แตกต่างจากมงกุฎอื่นๆ ก่อนหน้านั้นตรงที่ไม่ได้ตกแต่งเต็มที่ด้วยอัญมณีอันมีค่า และเป็นทรงกรวยแหลม และมีน้ำหนักเบากว่ามงกุฎที่ใช้กันมาก่อนหน้านั้น

ในตอนปลายของช่วงที่สองของสังคายนาวาติกันครั้งที่สอง ในปี ค.ศ. 1963 สมเด็จพระสันตะปาปาปอลทรงดำเนินลงจากบัลลังก์ในมหาวิหารนักบุญเปโตร และทรงวางมงกุฎลงบนแท่นบูชาในท่าที่ทรงแสดงความถ่อมพระองค์ และการสละอำนาจและความรุ่งโรจน์ทางโลกเพื่อให้เหมาะสมกับบรรยากาศของความเปลี่ยนแปลงทางจิตวิญญาณ/ปรัชญาของสภาที่ประชุม หลังจากนั้นก็ไม่มีพระสันตะปาปาองค์ใดที่ทำการสวมมงกุฎอีก

มงกุฎของสมเด็จพระสันตะปาปาปอลที่ 6 ได้รับการมอบให้แก่มหาวิหารสักการสถานแห่งชาติการปฏิสนธินิรมล (Basilica of the National Shrine of the Immaculate Conception) ในวอชิงตัน ดี.ซี. โดยผู้แทนของสมเด็จพระสันตะปาปาแห่งสหรัฐอเมริกาเมื่อวันที่ 6 กุมภาพันธ์ ค.ศ. 1968 เพื่อเป็นเครื่องแสดงถึงมิตรภาพของพระองค์ที่มีต่อคริสตจักรโรมันคาทอลิกในสหรัฐอเมริกา มงกุฎตั้งแสดงอย่างถาวรอยู่ที่หออนุสรณ์ (Memorial Hall) พร้อมด้วยแถบผ้าคล้องคอ (Stole) ที่สมเด็จพระสันตะปาปายอห์นที่ 23 ทรงใช้เมื่อทรงทำการเปิดสังคายนาวาติกันครั้งที่สอง

การตัดสินใจเลิกใช้มงกุฎซึ่งเป็นสัญลักษณ์อันสูงสุดของสถาบันพระสันตะปาปาของสมเด็จพระสันตะปาปาปอลเป็นเหตุการณ์ที่สร้างความขัดแย้งเป็นอันมากในกลุ่มอนุรักษนิยมโรมันคาทอลิกบางกลุ่ม ที่ดำเนินการเรียกร้องให้นำกลับมาใช้อีก[6] บางคนถึงกับกล่าวหาพระองค์ว่าเป็นพระสันตะปาปาเท็จ โดยกล่าวว่าไม่มีพระสันตะปาปาที่ถูกต้องพระองค์ใดที่จะยอมสละการใช้มงกุฎพระสันตะปาปา

ในบรรดาพระสันตะปาปาเท็จของลัทธิเซเดวาคันท์ (Sedevacantism) ก็มีเคลเมนเต โดมิงเกซ อี โกเมซที่ทำพิธีราชาภิเษกโดยการสวมมงกุฎ ซึ่งเป็นการแสดงการใช้มงกุฎในการแสดงอำนาจ ขณะที่อีกผู้หนึ่งลูเซียน พุลเวอร์มาร์เคอร์ผู้ได้รับเลือกให้เป็นพระสันตะปาปาไพอัสที่ 13 ในปี ค.ศ. 1998 ใช้มงกุฎในตราอาร์ม

การยุติการใช้มงกุฎพระสันตะปาปาอย่างเป็นการถาวรจริงหรือไม่?

[แก้]
ตราอาร์มของสันตะสำนักที่มีมงกุฎพระสันตะปาปา

สมเด็จพระสันตะปาปายอห์น ปอลที่ 1 ทรงเป็นผู้ยุติประเพณีการราชาภิเษกและการสวมมงกุฎพระสันตะปาปาที่ทำกันมานานถึง 1000 ปี พระองค์ทรงตัดสินพระทัยที่จะไม่ทรงเอาผลประโยชน์จาก “ธรรมนูญการเลือกตั้งพระสันตะปาปาต่อจากพระสันตะปาปาปอลที่ 6” (Romano Pontifici Eligendo) ของธรรมนูญพระสันตะปาปาของปี ค.ศ. 1975 ที่ระบุเกี่ยวกับผู้ดำรงตำแหน่งต่อจากสมเด็จพระสันตะปาปาปอลที่ 6 ว่า: “ขั้นตอนสุดท้าย, พระสันตะปาปาก็จะได้รับการสวมมงกุฎโดยพระคาร์ดินัลโปรโตดีกัน และในเวลาอันเหมาะสม ก็จะทรงได้รับอำนาจในการเป็นเจ้าของมหาวิหารนักบุญยอห์น ลาเตรันตามประเพณีที่ได้ปฏิบัติกันมา”[7] ต่อข้อความเกี่ยวกับพิธีราชาภิเษกดังกล่าวสมเด็จพระสันตะปาปายอห์น ปอลที่ 2 ทรงกล่าวว่าทั้งพระองค์เองและพระสันตะปาปาองค์ก่อนหน้านั้นต่างก็ไม่มีความประสงค์ที่จะเข้าพิธีราชาภิเษกหรือสวมมงกุฎ

ใน “ธรรมนูญการเลือกตั้งพระสันตะปาปาโดยพระสันตะปาปายอห์น ปอลที่ 2” (Universi Dominici Gregis) ของปี ค.ศ. 1996 ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของธรรมนูญพระสันตะปาปา พระสันตะปาปายอห์น ปอลที่ 2 ทรงปรับปรุงแก้ไขกฎที่เกี่ยวกับการเลือกตั้งพระสันตะปาปา และทรงถอดข้อความที่เกี่ยวกับพิธีราชาภิเษกพระสันตะปาปา (coronation) ออกทั้งหมด และแทนที่ด้วย “พิธีรับตำแหน่ง” (inauguration) เป็น: “หลังจากพิธีรับตำแหน่งของพระสันตะปาปา และในเวลาอันเหมาะสม พระสันตะปาปาก็จะทรงได้รับอำนาจในการเป็นเจ้าของมหาวิหารนักบุญยอห์นลาเตรัน ตามประเพณีที่ได้ปฏิบัติกันมา”[8]

ตราอาร์มของสมเด็จพระสันตะปาปาเบเนดิกต์ที่ 16 ที่ไม่มีมงกุฎพระสันตะปาปา

คำบรรยายนี้ก็เช่นเดียวกับเอกสารของสมเด็จพระสันตะปาปาปอลที่ 6 ถ้อยคำที่ใช้เป็นคำบรรยายที่ไม่ใช่คำกำหนด นอกจากนั้นแล้วก็ยังมิได้ทรงวางกฎเกณฑ์เกี่ยวกับลักษณะของ “พิธีรับตำแหน่งของพระสันตะปาปา” ที่อาจจะยังคงเป็นไปในรูปของพิธีราชาภิเษกก็ได้ แต่จะอย่างไรก็ตามพระสันตะปาปาองค์ใหม่ก็ไม่จำเป็นที่จะต้องปฏิบัติตามเงื่อนไขที่วางไว้พระสันตะปาปาองค์ก่อนหน้านั้น และทรงมีเสรีภาพที่เปลี่ยนแปลงได้ตามพระประสงค์ของพระองค์

ของสมเด็จพระสันตะปาปาเบเนดิกต์ที่ 16 ทรงดำเนินตามนโยบายในการใช้สัญลักษณ์ของมงกุฎในตราทางการของสถาบันพระสันตะปาปา มงกุฎพระสันตะปาปายังคงใช้บนตราอาร์มของพระสันตะปาปายอห์น ปอลที่ 1 และ พระสันตะปาปายอห์น ปอลที่ 2 ผู้ไม่ได้ทรงเคยใช้มงกุฎจริง แต่พระสันตะปาปายอห์น ปอลที่ 2 ทรงอนุมัติให้ใช้ตราอาร์มของพระองค์ที่ไม่มีมงกุฎในตอนปลายสมัยการเป็นพระสันตะปาปาของพระองค์ เช่นเดียวกับพื้นโมเสกตรงทางเข้ามหาวิหารนักบุญเปโตรได้รับการเปลี่ยนจากภาพมงกุฎพระสันตะปาปามาเป็นหมวกสูง และตราอาร์มของสมเด็จพระสันตะปาปาเบเนดิกต์ที่ 16 ก็ทรงใช้ภาพหมวกสูงแทนมงกุฎพระสันตะปาปา: “สมเด็จพระสันตะปาปาเบเนดิกต์ที่ 16 ทรงตัดสินพระทัยไม่ใช้มงกุฎบนตราอาร์มส่วนพระองค์ พระองค์ทรงใช้หมวกสูงแทนที่ซึ่งไม่มียอดเป็นลูกโลกประดับกางเขน เช่น มงกุฎ”[9]

แต่ละปีก็จะมีการนำมงกุฎพระสันตะปาปาไปวางบนพระเศียรของรูปปั้นสัมริดของนักบุญเปโตรในมหาวิหารนักบุญเปโตรตั้งแต่ธรรมาสน์นักบุญเปโตร (Chair of Saint Peter) ที่ตรงกับวันที่ 22 กุมภาพันธ์จนกระทั่งถึงวันฉลองนักบุญเปโตรและนักบุญเปาโลในวันที่ 29 มิถุนายน แม้ว่าประเพณีจะไม่ได้ทำกันใน ค.ศ. 2006 แต่ก็ได้รับการรื้อฟื้นขึ้นอีกครั้งในปี ค.ศ. 2007

ลักษณะของมงกุฎ

[แก้]

มงกุฎพระสันตะปาปาหลายมงกุฎ

[แก้]

แม้ว่าการกล่าวถึงมงกุฎพระสันตะปาปาจะฟังดูแล้วเหมือนกับกล่าวถึงมงกุฎเดียวโดยเฉพาะ แต่อันที่จริงแล้วมงกุฎพระสันตะปาปามีด้วยกันหลายองค์ ในปัจจุบันมีด้วยกันทั้งสิ้น 22 องค์ มงกุฎพระสันตะปาปารุ่นแรกๆ (โดยเฉพาะมงกุฎของสมเด็จพระสันตะปาปาจูเลียสที่ 2[10] และมงกุฎที่กล่าวกันว่าเป็นของสมเด็จพระสันตะปาปาซิลเวสเตอร์ที่ 1) ถูกทำลายถอดเป็นชิ้นๆ หรือถูกยึดไปโดยผู้รุกราน ที่สำคัญคือโดยกองทัพของ หลุยส์ อเล็กซานเดอร์ แบร์ทิเยร์ (Louis Alexandre Berthier) ในปี ค.ศ. 1798 หรือโดยพระสันตะปาปาเอง เช่นเมื่อสมเด็จพระสันตะปาปาเคลเมนต์ที่ 7 ทรงมีโองการให้นำเอามงกุฎ และเครื่องยศต่างๆ ของพระสันตะปาปาทั้งหมดมาหลอมในปี ค.ศ. 1527 เพื่อที่จะรวบรวมเงิน 400,000 ดูคัตเมื่อจ่ายเป็นค่าไถ่จากกองทัพของจักรพรรดิคาร์ลที่ 5 แห่งโรมันอันศักดิ์สิทธิ์ที่มาล้อม มงกุฎเงินมีด้วยกันกว่ายี่สิบมงกุฎๆ ที่เก่าที่สุดสร้างตั้งแต่ปี ค.ศ. 1798 สำหรับสมเด็จพระสันตะปาปาเกรกอรีที่ 13 ในคริสต์ศตวรรษที่ 16 เมื่อวันที่ 21 มีนาคม ค.ศ. 1800 เมื่อโรมถูกยึดครองโดยฝรั่งเศสสมเด็จพระสันตะปาปาปิอุสที่ 7 ก็ทรงได้รับการสวมมงกุฎนอกอาณาจักรที่เวนิสด้วยมงกุฎที่ทำด้วยกระดาษประดับด้วยอัญมณีที่อุทิศโดยสตรีชาวเวนิส

ธงของ นครวาติกัน ตราบนธงที่มีมงกุฎเป็นตราเดียวกับตราอาร์มของพระสันตะปาปานอกจากตำแหน่งของกุญแจเงินและกุญแจทองที่สลับกัน

มงกุฎหลายมงกุฎเป็นมงกุฎที่ได้รับการอุทิศให้แก่พระสันตะปาปาโดยประมุขหรือผู้นำของอาณาจักร รวมทั้งจากสมเด็จพระราชินีนาถอิซาเบลลาที่ 2 แห่งสเปน สมเด็จพระจักรพรรดิวิลเฮล์มที่ 1 แห่งเยอรมนี จักรพรรดิฟรันซ์ โยเซฟที่ 1 แห่งออสเตรีย และจักรพรรดินโปเลียนที่ 1 มงกุฎหลังสร้างจากวัสดุที่มาจากมงกุฎพระสันตะปาปาเดิมที่ถูกทำหลายหลังจากโรมถูกยึด และมอบให้แก่สมเด็จพระสันตะปาปาปิอุสที่ 7 เนื่องในโอกาสการเสกสมรสของพระองค์กับโฌเซฟีน เดอ โบอาร์เนส์ เมื่อค่ำวันก่อนที่จะทรงทำพระราชพิธีราชาภิเษก มงกุฎอื่นเป็นของขวัญจากมุขมณฑลเดิมก่อนที่จะได้รับเลือกเป็นพระสันตะปาปา

ในบางกรณีก็จะมีการแข่งขันกันในด้านมูลค่าและขนาดของมงกุฎที่ถวายพระสันตะปาปาระหว่างเมืองต่าง ๆ ตัวอย่างเช่นมงกุฎของสมเด็จพระสันตะปาปายอห์นที่ 13 และ ของสมเด็จพระสันตะปาปาปอลที่ 6

พระสันตะปาปาไม่ทรงจำกัดว่าจะต้องทรงมงกุฎใดมงกุฎหนึ่งเช่นในกรณีของสมเด็จพระสันตะปาปายอห์นที่ 13 บางโอกาสพระองค์ก็ทรงมงกุฎที่ทรงได้รับในปี ค.ศ. 1959 หรือบางครั้งก็ทรงมงกุฎที่สร้างสำหรับสมเด็จพระสันตะปาปาปิอุสที่ 9 ในปี ค.ศ. 1877 หรือสำหรับสมเด็จพระสันตะปาปาปิอุสที่ 11 ในปี ค.ศ. 1922

มงกุฎพระสันตะปาปาที่ยังคงมีอยู่ตั้งแสดงอยู่ที่วาติกัน แต่บางมงกุฎก็ถูกขายไปเพื่อหาเงินให้แก่องค์การโรมันคาทอลิก บางมงกุฎก็เป็นที่นิยมหรือมีความสำคัญกว่ามงกุฎอื่น เช่นมงกุฎเบลเยียมที่สร้างในปี ค.ศ. 1871 หรือมงกุฎที่สร้างในปี ค.ศ. 1877 หรือมงกุฎทองที่สร้างในปี ค.ศ. 1903 มงกุฎทั้งสามนี้ถูกส่งไปรอบโลกที่เป็นส่วนหนึ่งของการแสดงประวัติของสิ่งของที่เป็นของวาติกัน หรือมงกุฎของสมเด็จพระสันตะปาปาปอลที่ 6 ได้รับการอุทิศให้แก่มหาวิหารสักการสถานแห่งชาติการปฏิสนธินิรมล ในสหรัฐอเมริกาเป็นต้น

รูปทรงของมงกุฎสามชั้น

[แก้]
มงกุฎพระสันตะปาปา

มงกุฎพระสันตะปาปาที่ยังเหลือให้เห็นอยู่จะเป็นทรงกลมแบบกรวยป้านเหมือนรังผึ้ง ตรงกลางทำด้วยเงิน มงกุฎบางองค์ก็เป็นกรวยค่อนข้างแหลม และมงกุฎบางองค์ก็เป็นทรงสาลี่ มงกุฎส่วนใหญ่แล้วยกเว้นแต่ของสมเด็จพระสันตะปาปาปอลที่ 6 จะตกแต่งเต็มที่ด้วยอัญมณีอันมีค่า และจะมีลักษณะเป็นสามชั้นแต่ละชั้นคาดด้วยทอง บางครั้งก็จะเป็นรูปกางเขน บางครั้งก็จะเป็นใบไม้ แต่ยอดจะเป็นกางเขนบนเหนือลูกโลก (ลูกโลกประดับกางเขน) ซึ่งเป็นสัญลักษณ์ของอำนาจของพระเยซูเหนือโลกทั้งหมด

มงกุฎแต่ละองค์ก็จะมีแถบสองชาย (ชายหมวก (lappet)) ห้อยลงมาทางด้านหลังที่ปักตกแต่งด้วยด้ายทอง เป็นตราประจำพระองค์หรือสัญลักษณ์ของพระสันตะปาปาผู้เป็นเจ้าของมงกุฎ

มงกุฎองค์ที่แปลกที่สุดคือมงกุฎที่ทำด้วยกระดาษ (papier-mâché) แปะเป็นรูปมงกุฎสำหรับสมเด็จพระสันตะปาปาปิอุสที่ 7 เมื่อทรงต้องทำพิธีราชาภิเษกในขณะที่ทรงลี้ภัย และมงกุฎของสมเด็จพระสันตะปาปาปอลที่ 6 ที่เป็นทรงลูกปืนและไม่ตกแต่งด้วยอัญมณีมากเท่าใดนัก และแทนที่จะเป็นมงกุฎสามอันซ้อนกันแต่ละระดับก็คาดเป็นเครื่องหมายแทนที่

มงกุฎที่ถวายแก่สมเด็จพระสันตะปาปาปิอุสที่ 9 ในปี ค.ศ. 1877 โดยทหารรักษาพระองค์ของวาติกัน (Palatine Guard) เนื่องในโอกาสครบรอบจูบิลีมีลักษณะคล้ายคลึงเป็นอันมากกับมงกุฎของสมเด็จพระสันตะปาปาเกรกอรีที่ 16 และเป็นมงกุฎที่เป็นที่นิยมใช้โดยพระสันตะปาปาหลายพระองค์ที่รวมทั้งสมเด็จพระสันตะปาปาปิอุสที่ 11, สมเด็จพระสันตะปาปาปิอุสที่ 12 และ สมเด็จพระสันตะปาปายอห์นที่ 23

น้ำหนัก

[แก้]

นอกไปจากมงกุฎกระดาษแล้วมงกุฎที่เบาที่สุดเป็นมงกุฎที่สร้างสำหรับพระสันตะปาปายอห์นที่ 23 ในปี ค.ศ. 1959 ที่หนัก 910 กรัม เช่นเดียวกับมงกุฎของพระสันตะปาปาปิอุสที่ 11 ที่สร้างในปี ค.ศ. 1922 แต่มงกุฎของสมเด็จพระสันตะปาปาปอลที่ 6 กลับหนักถึง 4.5 กิโลกรัม มงกุฎที่หนักที่สุดเป็นมงกุฎที่สร้างในปี ค.ศ. 1804 ที่ถวายให้แก่พระสันตะปาปาโดยจักรพรรดินโปเลียนในโอกาสการฉลองวันเสกสมรสและวันที่เป็นพระจักรพรรดิ ที่หนักถึง 8.2 กิโลกรัม แต่ก็เป็นมงกุฎที่ไม่ได้ใช้ เพราะขนาดของมงกุฎว่ากันว่าจงใจสร้างให้เล็กกว่าพระเศียรของพระสันตะปาปาปิอุสที่ 7[11]

พระสันตะปาปาหลายพระองค์ทรงสร้างมงกุฎใหม่สำหรับพระองค์เอง อาจจะมาจากสาเหตุหลายอย่างที่รวมทั้งเล็กไป, ใหญ่ไป หรือทั้งสองอย่าง หรือแทนที่จะใช้มงกุฎกระดาษสมเด็จพระสันตะปาปาเกรกอรีที่ 16 ทรงสั่งให้สร้างมงกุฎน้ำหนักเบาขึ้นในคริสต์ทศวรรษ 1840 เมื่อสมเด็จพระสันตะปาปาปิอุสที่ 9 มีอายุได้แปดสิบในคริสต์ทศวรรษ 1870 พระองค์ทรงรู้สึกว่ามงกุฎอื่นๆ ที่ทรงสวมน้ำหนักหนักเกินไป และมงกุฎของสมเด็จพระสันตะปาปาเกรกอรีที่ 16 ก็มีขนาดเล็กไป พระองค์จึงทรงมีโองการให้สร้างมงกุฎใหม่ที่เบากว่า ในปี ค.ศ. 1908 สมเด็จพระสันตะปาปาปิอุสที่ 10 ก็ทรงมีโองการให้สร้างมงกุฎใหม่ที่เบาอีกองค์หนึ่ง

วิธีการสร้างมงกุฎในคริสศตวรรษที่ 20 สามารถทุ่นน้ำหนักของมงกุฎได้มากขึ้นกว่าเดิมเช่นมงกุฎของสมเด็จพระสันตะปาปาปิอุสที่ 11 และ สมเด็จพระสันตะปาปายอห์นที่ 13 ที่มีน้ำหนักเพียง 900 กรัมเท่านั้น

ความหมายของมงกุฎสามชั้น

[แก้]

ความหมายของมงกุฎสามชั้นไม่ทราบอย่างเป็นที่แน่นอน เพราะมีการตีความหมายกันไปหลายแบบ และยังคงมีการเสนอทฤษฎีใหม่ๆ แม้ในปัจจุบัน บางทฤษฎีก็กล่าวว่าหมายถึงอำนาจสามอย่างของพระสันตะปาปา ที่ตอนบนสุดแสดงถึงอำนาจของการเป็นผู้อภิบาลสากล (Universal Pastor) ระดับสองหมายถึงอำนาจสูงสุดของการเป็นประมุขทางศาสนา (Universal Ecclesiastical Jurisdiction) และระดับล่างสุดคืออำนาจสูงสุดในโลกมนุษย์ (Temporal Power)[12] ความหมายอื่นที่มีผู้เสนอคือทรงเป็น ประมุขหรือบิดาเหนือเจ้าและพระมหากษัตริย์ทั้งหลาย ประมุขของโลก และนักบวชผู้แทนของพระมหาไถ่ (พระเยซู)[13] เมื่อพระสันตะปาปาทำพิธีสวมมงกุฎก็จะมีการอ่านบทว่า:

“Accipe tiaram tribus coronis ornatam, et scias te esse Patrem Principum et Regnum, Rectorem Orbis, in terra Vicarium Salvatoris Nostri Jesu Christi, cui est honor et gloria in sæcula sæculorum.”
“รับมงกุฎแต่งเป็นสามชั้นและจงรับรู้ว่าท่านคือบิดาของเจ้าและพระมหากษัตริย์, ประมุขของโลก, และนักบวชผู้แทนของพระเยซูคริสต์บนโลกมนุษย์ ผู้ทรงมีเกียรติคุณและความรุ่งโรจน์ตลอดมาชั่วกาลนาน”

บางทฤษฎีก็ว่าเกี่ยวข้องกับหน้าที่สามอย่างของพระเยซูผู้ทรงเป็นปุโรหิต ผู้เผยพระวจนะ และกษัตริย์[14] ซึ่งเป็นการตีความหมายโดยสมเด็จพระสันตะปาปายอห์น ปอลที่ 2 ในพิธีรับตำแหน่งของพระองค์[15][16] หรือพระเยซูทรงเป็น “อาจารย์ ผู้วางกฎ และผู้พิพากษา”[17] หรือความหมายตามธรรมเนียมของมงกุฎสามชั้นที่ตีกันมาก็จะหมายถึง “ความเด็ดขาดของคริสตจักรในโลก”, “ความทรมานหลังจากการตายก่อนที่จะขึ้นสวรรค์” และ “ชัยชนะของคริสตจักรที่จะได้รับตลอดไป”[18] หรือความหมายของอาร์ชบิชอปคอร์เดโร ลันซา ดี มอนเตเซโมโล ผู้ออกแบบตราอาร์มปราศจากมงกุฎของสมเด็จพระสันตะปาปาเบเนดิกต์ที่ 16 ที่ว่า “ระเบียบแบบแผน, การปกครอง และ การตัดสิน” (order, jurisdiction and magisterum)[19] หรืออีกความหมายหนึ่งก็ว่าเป็นสัญลักษณ์ของโลกสามโลก “สวรรค์, มนุษย์ และ โลกมนุษย์” (celestial, human and terrestrial worlds)[20] ลอร์ดทไวนิงเสนอว่าการมีมงกุฎสามชั้นก็เหมือนกับพิธีราชภิเษกของจักรพรรดิโรมันอันศักดิ์สิทธิ์ที่ต้องทรงทำพิธีราชาภิเษกเป็นพระมหากษัตริย์แห่งเยอรมนี และอิตาลี และจักรพรรดิแห่งชาวโรมัน ฉะนั้นพระสันตะปาปาก็จะต้องเน้นความมีอำนาจทางศาสนาให้เท่าเทียมกับจักรพรรดิโดยการใช้มงกุฎสามชั้น[21]

มงกุฎพระสันตะปาปาและข้อขัดแย้ง 666

[แก้]
ลูคัส ครานาคเขียนภาพพระสันตะปาปาเป็นศัตรูของพระคริสต์ในคัมภีร์ไบเบิล ฉบับมาร์ติน ลูเทอร์ (Luther Bible) ของพันธสัญญาใหม่ แต่ประมุขต่างๆ ในเยอรมนีสร้างความกดดันให้นำสองชั้นบนที่เป็นสัญลักษณ์ของประมุขและเจ้านายชั้นสูงออกจากฉบับที่พิมพ์ต่อมา[22]

ความขัดแย้งเกี่ยวกับมงกุฎพระสันตะปาปาเกี่ยวข้องกับคริสตจักรเซเวนเดย์แอดเวนติสต์และนิกายโปรเตสแตนต์อื่น ๆ เกี่ยวกับคำว่า “Vicarius Filii Dei” (ผู้แทนพระบุตรของพระเป็นเจ้า) ที่จารึกบนมงกุฎ วลีนี้สามารถถอดเป็นตัวเลขได้ (หรืออ้างว่าตัวอักษรแต่ละตัวมีค่าเท่ากับเลขโรมัน) ที่เมื่อรวมกันแล้วก็จะเป็น “666” ที่ตามพระธรรมวิวรณ์ คือตัวเลขสัญลักษณ์ของสัตว์เดรัจฉาน (Number of the Beast) ซึ่งทำให้มีการอ้างว่ากันการที่ประมุขของคริสตจักรโรมันคาทอลิกสวมมงกุฎนี้ก็เท่ากับว่าเป็นศัตรูของพระคริสต์ (Antichrist)

แต่อันที่จริงแล้ว “Vicarius Filii Dei” ไม่เคยเป็นหนึ่งในตำแหน่งของพระสันตะปาปา[23] แม้ว่า “พระราชบริจาคของคอนสแตนติน” (Donation of Constantine - เอกสารปลอมจากยุคกลางที่ใช้ชื่อจักรพรรดิในการยอมรับอำนาจในการเป็นประมุขของพระสันตะปาปา) จะใช้วลีนี้ในการกล่าวถึงนักบุญเปโตรโดยตรง [24]

แหล่งข้อมูลสี่แหล่งสนับสนุนข้ออ้างที่ว่านี้ รวมทั้งพยานอีกสองคนที่อ้างว่าได้เห็นสมเด็จพระสันตะปาปาเกรกอรีที่ 16 สวมมงกุฎที่มีคำว่า “Vicarius Filii Dei” อยู่บนมงกุฎในปี ค.ศ. 1832 และ ค.ศ. 1845[25] นอกจากนั้นก็ยังมีรูปจากต้นคริสต์ศตวรรษที่ 20 ของงานพระศพของพระสันตะปาปาที่อ้างว่ามีรูปมงกุฎที่มีคำจารึกดังกล่าว และกล่าวว่ามงกุฎที่ว่านี้ใช้ในการราชาภิเษกยูเจนิโอ พาเชลลิเป็นสมเด็จพระสันตะปาปาปิอุสที่ 12 ในปี ค.ศ. 1939

คำกล่าวอ้างที่คล้ายคลึงกันกล่าวว่าคำว่า “Mysterium” กล่าวว่าปรากฏบนมงกุฎพระสันตะปาปามาจนกระทั่งถึงการปฏิรูปศาสนาฝ่ายโปรเตสแตนต์ กล่าวกันว่าคำว่า “Mysterium” รวมแล้วเป็นเลข “666” ที่หมายถึง “Harlot of Babylon” ที่ตาม “พระธรรมวิวรณ์ 17:5” เป็นคำจารึกบนหน้าผากของฮาร์ลอท[26]

การใช้

[แก้]

พิธีมิสซาที่มหาวิหารนักบุญเปโตรเมื่อคริสต์ทศวรรษ 1960 บนแท่นบูชาจะมีทั้งหมวกสูงและมงกุฎพระสันตะปาปา]] มงกุฎสามชั้นจะเป็นมงกุฎที่ไม่ใช้ในการทำพิธีทางศาสนาเช่นในพิธีศีลมหาสนิท ในโอกาสนั้นพระสันตะปาปาก็เช่นเดียวกับบิชอปองค์อื่นๆ ก็จะใช้หมวกสูงแทนที่ และจะทรงใช้มงกุฎในโอกาสการเดินแห่ และระหว่างพิธีก็อาจจะวางมงกุฎและหมวกบนแท่นบูชาระหว่างพิธีมิสซาใหญ่ของพระสันตะปาปาได้ (Pontifical High Mass)

ฉะนั้นมงกุฎพระสันตะปาปาจึงเป็นสิ่งที่ใช้สวมเฉพาะในโอกาสการแห่ที่เป็นทางการ หรือในโอกาสที่ทรงประทับบน “บัลลังก์พระสันตะปาปา” (Sedia gestatoria) ที่ได้รับการแบบไปในขบวนแห่ ที่มาหยุดใช้ลงในสมัยของสมเด็จพระสันตะปาปายอห์น ปอลที่ 2 ทันที่ที่ทรงได้รับเลือกให้เป็นพระสันตะปาปา พระสันตะปาปาองค์ก่อนหน้านั้นก็ทรงตัดสินพระทัยที่จะไม่ใช้แต่ในที่สุดก็ทรงยอมเพื่อที่จะให้ประชาชนได้มองเห็นพระองค์[27] นอกจากโอกาสดังว่าแล้วก็อาจจะใช้ในโอกาสที่เป็นทางการต่างๆ และเมื่อทรงประทานพรเนื่องในโอกาสวันคริสต์มัสหรืออีสเตอร์จะระเบียงมหาวิหารนักบุญเปโตร ซึ่งเป็นวาระทางศาสนาสองวาระเท่านั้นที่จะทรงมงกุฎพระสันตะปาปา

พิธีราชาภิเษกพระสันตะปาปา

[แก้]
สมเด็จพระสันตะปาปายอห์นที่ 23 ประทานพรแก่ฝูงชนหลังจากพิธีราชาภิเษกในปี ค.ศ. 1958 พระองค์ทรงมงกุฎที่ทำในปี ค.ศ. 1877

โอกาสที่สำคัญที่ในการใช้มงกุฎพระสันตะปาปาคือในพิธีราชาภิเษกที่ใช้เวลาหกชั่วโมง เมื่อสมเด็จพระสันตะปาปาองค์ใหม่จะได้รับการแห่บน “บัลลังก์พระสันตะปาปา” พร้อมด้วยข้าราชบริพารถือ “Flabellum” ที่ทำด้วยขนนกกระจอกเทศไปยังบริเวณที่ประกอบพิธี ที่ตามปกติแล้วจะเกิดขึ้นที่มหาวิหารนักบุญเปโตร[28]

ชั่วขณะที่พระสันตะปาปาทรงสวมมงกุฎก็จะการอ่าน

“จงรับมงกุฎสามชั้นนี้และจงรับรู้ว่าท่านคือบิดาของเจ้าและพระมหากษัตริย์ ผู้ปกครองโลก และผู้แทนองค์พระเยซูคริสต์พระผู้ไถ่ ผู้ทรงเกียรติคุณและพระสิริตลอดมาชั่วกาลนาน”

สมเด็จพระสันตะปาปาปอลที่ 6 ทรงเลือกทำพิธีที่สั้นกว่า แต่พิธีก็เป็นเพียงสัญลักษณ์ของการยอมรับหน้าที่อย่างเป็นทางการ แต่อันที่จริงแล้วผู้ได้รับเลือกเป็นพระสันตะปาปาและบิชอปแห่งโรมก็จะถือตำแหน่งตั้งแต่เมื่อได้รับเลือกในการประชุมเลือกตั้งพระสันตะปาปาแล้ว พระสันตะปาปาสองพระองค์ต่อจากนั้น (ยอห์น ปอลที่ 1 และ ยอห์น ปอลที่ 2) ไม่ทรงมีพิธีราชาภิเษกเยี่ยงกษัตริย์ แต่ทรงเลือกพิธีการรับตำแหน่งแทนที่ ในปี ค.ศ. 2005 สมเด็จพระสันตะปาปาเบเนดิกต์ที่ 16 ทรงเลิกใช้มงกุฎพระสันตะปาปาบนตราอาร์มและทรงใช้หมวกสูงแทนที่

มงกุฎอื่น

[แก้]
งานภาพพิมพ์โดยอากอสตีโน เวเนซีอาโนของสุลต่านสุลัยมานผู้เกรียงไกร[29] ดูมงกุฏสี่ชั้นที่ทรงสั่งทำจากเวนิสซึ่งเป็นสัญลักษณ์ของพระราชอำนาจที่เหนือมงกุฏพระสันตะปาปาสามชั้น[30]

มงกุฎอัครบิดร

[แก้]

นักบวชโรมันคาทอลิกอีกเพียงคนเดียวเท่านั้นที่สามารถมีมงกุฎในตราอาร์มได้ คืออัครบิดรแห่งลิสบอน[31] ซึ่งเป็นตำแหน่งที่ตั้งขึ้นเมื่อ ค.ศ. 1716 ที่ถือตำแหน่งโดยอาร์ชบิชอปแห่งลิสบอนตั้งแต่ ค.ศ. 1740 ความแตกต่างระหว่างตราอาร์มสองตรานี้คือ ตราอาร์มของพระสันตะปาปาจะมีมงกุฎและกุญแจนักบุญเปโตร

สุลต่านสุลัยมานผู้เกรียงไกร

[แก้]

ในคริสต์ศตวรรษที่ 16 สุลต่านสุลัยมานแห่งจักรวรรดิออตโตมันทรงว่าจ้างช่างฝีมือที่เวนิสให้ออกแบบมงกุฎสี่ชั้นตามแบบมงกุฏพระสันตะปาปาเพื่อที่จะทรงว่าพระองค์ทรงมีอำนาจเหนือพระสันตะปาปา มงกุฏลักษณะนี้ใช้สำหรับสุลต่านแห่งจักรวรรดิออตโตมัน แต่คงมิได้ทรงใช้สวม แต่ใช้วางไว้ข้างพระที่นั่งขณะที่ทรงรับผู้เข้าเฝ้าโดยเฉพาะราชทูต[32] ยอดมงกุฎเป็นขนนกพู่ใหญ่[33]

ไพ่ทาโรต์

[แก้]

ในสมัยกลางไพ่ทาโรต์จะมีอยู่ใบหนึ่งที่เป็นรูปสตรีสวมมงกุฎพระสันตะปาปาที่เรียกว่า “ลาพาเพสซา” (La Papessa) หรือ พระสันตะปาปาหญิง หรือ นักบวชสตรีสูงศักดิ์ ความหมายหรือสัญลักษณ์ของไพ่ใบนี้ไม่เป็นที่ทราบแน่นอน สตรีที่สวมมงกุฎบ้างก็กล่าวกันว่าเป็นพระสันตะปาปาหญิงโจน ที่ตามตำนานของยุคกลางและต่อมาโปรเตสแตนต์เชื่อกันว่าเป็นสตรีที่ปลอมตัวเป็นชายและได้รับเลือกให้เป็นพระสันตะปาปา ไพ่รูปนี้บางใบก็จะเป็นภาพเด็ก, บางใบเป็นภาพที่แสดงว่าถูกเปิดเผยว่าเป็นสตรีเมื่อให้กำเนิดแก่ทารกระหว่างการแห่, และอื่นๆ ไพ่ใบที่เป็นสตรีสวมมงกุฎพระสันตะปาปาเริ่มขึ้นระหว่างการปฏิรูปศาสนาฝ่ายโปรเตสแตนต์ เป็นภาพพระสันตะปาปาหญิงโจนและบุตร ซึ่งเป็นการพยายามของฝ่ายโปรเตสแตนต์ในการสร้างความเสื่อมเสียให้แก่สถาบันพระสันตะปาปาของโรมันคาทอลิก

แต่มงกุฎพระสันตะปาปาต่อมาหายไป ภาพพระสันตะปาปาหญิงก็สวมแต่เพียงมงกุฎสตรีของสมัยกลาง นอกจากนั้นก็ยังมีไพ่ที่เป็นรูปพระสันตะปาปาที่บางรูปก็สวมมงกุฎพระสันตะปาปา[34]


อ้างอิง

[แก้]
ตราอาร์มของพระสันตะปาปายอห์น ปอลที่ 1: มงกุฎพระสันตะปาปายังคงปรากฏบนตรา แต่ไม่ทรงได้สวมจริง
  1. Papal Inauguration Homily of Pope John Paul II, L'Osservatore Romano (Text of the Homily)
  2. Secretariat of State, instruction "Ut sive sollicite", 28, in Acta Apostolicae Sedis 61 (1969) 334-340 (English translation in L'Osservatore Romano, April 17, 1969): "The use of the crozier and mitre in the coat-of-arms is suppressed."
  3. https://web.archive.org/web/20041108203222/http://www.home.earthlink.net/~herald97/guyselvester/ (archived)
  4. James-Charles Noonan, The Church Visible, (ISBN 0-670-86745-4)
  5. Bruno Heim, Heraldry in the Catholic Church, Humanities: 1978, (ISBN 0-391-00873-0), p.50
  6. "Traditionalist Catholic website criticising Benedict XVI's non-use of the papal tiara". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2007-04-08. สืบค้นเมื่อ 2009-12-04.
  7. Romano Pontifici Eligendo (1975), 92.
  8. Universi Dominici Gregis (1996), No. 92.
  9. Although some depictions of the Papal Insignia of Benedict XVI have included the papal tiera, including in the embrodery of the Vestments he wore during the Mass in the Cathedral of Sydney during World Youth Day 2008. Also some documents bearing the Pope's signature have also included the tiara in his Crest. The Coat of Arms of His Holiness Benedict XVI
  10. Designed by Ambrogio Foppa with a massive cost of 200,000 ducats, one third of the papacy's annual income, at a time when a parish priest was paid 25 ducats a year.
  11. To give a comparison in weights, St. Edward's Crown, with which British monarchs are crowned, weighs only 4 lb 12 oz (2.15 kg). Yet Queen Elizabeth II after her coronation commented how the crown "does get rather heavy". Similarly King George V said after the Delhi Durbar in 1911 how the Imperial Crown of India "hurt my head as it is rather heavy". Yet both these crowns are lighter than most มงกุฎพระสันตะปาปา, and less than a third of the weight of the 1804 tiara given to Pius VII by Napoleon. Gyles Brandreth, Philip & Elizabeth (Century, 2004) p.311. and "The Crown Jewels" published by the Tower of London.
  12. "Tu Es Petrus". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2013-12-26. สืบค้นเมื่อ 2009-12-04.
  13. http://www.vatican.va/news_services/press/documentazione/documents/sp_ss_scv/insigne/triregno_en.html
  14. "The Holy See". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2009-07-25. สืบค้นเมื่อ 2009-12-04.
  15. Papal Inauguration Homily of Pope John Paul II, L'Osservatore Romano [1]
  16. "National Post article, October 16, 2004". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2006-05-21. สืบค้นเมื่อ 2009-12-04.
  17. Website on pre-Vatican II liturgical and ecclesiastical vestments and symbols
  18. ElectAPope.Com - The Coronation
  19. "CNS STORY: Pope drops papal crown from coat of arms, adds miter, pallium". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2005-05-02. สืบค้นเมื่อ 2009-12-04.
  20. "Vatican flag: redirect to the right page". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2011-06-04. สืบค้นเมื่อ 2009-12-04.
  21. Twining, Lord Edward Francis (1960). A History of the Crown Jewels of Europe, B.T. Batsford Ltd., London, England.
  22. Propaganda and Persuasion by Garth Jowett and Victoria and O'Donnell.
  23. Patrick Madrid, Pope Fiction: Answers to Five Myths and Misconceptions About the Papacy เก็บถาวร 2009-09-28 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน
  24. Christopher B. Coleman's The Treatise of Lorenzo Valla on the Donation of Constantine, pp. 12,13 Copyright 1922 by Yale University Press, New Haven, Conn. (Latin on pg. 12, English on pg. 13.)
  25. Uriah Smith, Thoughts, Critical and Practical on the Book of Revelation (published in 1865, Smith was an early Seventh-day Adventist)
  26. Betty Kirkpatrick (ed.) Brewer's Concise Dictionary of Phrase and Fable, Cassell, London, 1992, p 702.
  27. Like the papal tiera, the sedia gestatoria could be restored to use at any time. However, when Pope John Paul II's mobility became impaired, he opted not to be carried on men's shoulders, but instead to use a wheeled dias. This was criticized, because he could not easily be seen when sitting on it.
  28. John Cornwell, Hitler's Pope: The Secret History of Pius XII (Viking, 1999) pp. 211-212.
  29. Agostino never saw the Sultan, but probably did see และsketch the helmet in Venice
  30. The Metropolitan Museum of Art. 1968. “Turquerie” The Metropolitan Museum of Art Bulletin, New Series 26 (5): 229
  31. Bruno Heim, Heraldry in the Catholic Church, Humanities: 1978, (ISBN 0-391-00873-0), p.52, 94.
  32. Levey, 65
  33. Levey, Michael; The World of Ottoman Art, p.65, 1975, Thames & Hudson, ISBN 0500270651
  34. Dr. Robert O'Neill, Iconography of the early papess cards, Iconography of the pope cards

บรรณานุกรม

[แก้]
  • Bernstein, Carl; Politi, Marco (1996). His Holiness: John Paul II and the Hidden History of our Time. New York: Doubleday. ISBN 0-385-40538-3.{{cite book}}: CS1 maint: multiple names: authors list (ลิงก์)
  • Cornwell, John (1999). Hitler's Pope: The Secret History of Pius XII. New York: Viking. ISBN 0-670-87620-8.
  • Cornwell, John (1989). A Thief in the Night: The Death of Pope John Paul I. London: Viking. ISBN 0-670-82387-2.
  • de Cesare, Raffaele (1909). The Last Days of Papal Rome 1850-1870. London: A. Constable.
  • Davis, Raymond (ed.) (2000). The Book of Pontiffs (Liber Pontificalis). Liverpool: Liverpool University Press. ISBN 0-85323-545-7. {{cite book}}: |author= มีชื่อเรียกทั่วไป (help)
  • Duffy, Eamon (1997). Saint & Sinners: A History of the Popes. New Haven, Conn.: Yale University Press. ISBN 0-300-07332-1.
  • Hales, E.E.Y. (Edward Elton Young) (1954). Pio Nono: A Study in European Politics and Religion in the Nineteenth Century. London: Eyre & Spottiswoode.
  • Hebblethwaite, Peter (1978). The Year of Three Popes. London: Collins. ISBN 0-00-215047-6.
  • Hebblethwaite, Peter (1993). Paul VI : The First Modern Pope. New York: Paulist Press. ISBN 0-8091-0461-X.
  • Hebblethwaite, Peter (2000). John XXIII: Pope of the Century. London: Continuum. ISBN 0-8264-4995-6.
  • Heim, Bruno (1978). Heraldry in the Catholic Church: Its Origins, Customs and Laws. Gerrards Cross, Eng.: Van Duren. ISBN 0-905715-05-5.
  • Hobsworth, Dean (1884). From True Cross to True Crown: Papalism and Its Evils.
  • Levillain, Philippe (ed.) (2002). The Papacy: An Encyclopedia. New York: Routledge. ISBN 0-415-92228-3. {{cite book}}: |author= มีชื่อเรียกทั่วไป (help)
  • Nielsen, Fredrik Kristian (1906). The History of the Papacy in the XIXth Century. London: J. Murray.
  • Noonan, James-Charles. (1996). The Church Visible: The Ceremonial Life and Protocol of the Roman Catholic Church. New York: Viking. ISBN 0-670-86745-4.
  • Rudé, George F. E. (2000). Revolutionary Europe, 1783-1815. Oxford: Blackwell. ISBN 0-631-22189-1.
  • Smith, Uriah (1881). Thoughts, Critical and Practical on the Book of Revelation. Battle Creek, Mich.: Seventh-day Adventist Publ. Assoc. ISBN 0-8370-5309-9.
  • Smithe, Jefferson (1902). Roman Catholic Ritual. London.
  • Willey, David (1992). God's Politician: John Paul at the Vatican. London: Faber and Faber. ISBN 0-571-16180-4.
  • Yallop, David A. (1984). In God's Name: An Investigation into the Murder of Pope John Paul I. Toronto: Bantam Books. ISBN 0-553-05073-7.

ดูเพิ่ม

[แก้]

แหล่งข้อมูลอื่น

[แก้]