มัสยิด

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
มัสยิดแบดชาฮิในละฮอร์ ประเทศปากีสถาน เป็นหนึ่งในมัสยิดต้นแบบสถาปัตยกรรมมัสยิด

มัสยิด (อาหรับ: مسجد มัสญิด) หรือ สุเหร่า (มลายู: Surau) เป็นศาสนสถานของชาวมุสลิม คำว่า มัสยิด เป็นคำภาษาอาหรับแปลว่า สถานที่กราบ ชาวมุสลิมในแต่ละชุมชนจะสร้างมัสยิดขึ้นเพื่อเป็นสถานที่ปฏิบัติพิธีกรรมทางศาสนา อันได้แก่การนมาซ และการวิงวอน การปลีกตนเพื่อบำเพ็ญตบะ หาความสันโดษ (อิอการติกาฟ และ คอลวะหฺ)

นอกจากนี้มัสยิดยังเป็นโรงเรียนสอนอัลกุรอาน และศาสนา สถานที่ชุมนุมพบปะ ประชุม เฉลิมฉลอง ทำบุญเลี้ยง สถานที่ทำพิธีสมรส และสถานที่พักพิงของผู้สัญจรผู้ไร้ที่พำนัก โดยที่จะต้องรักษามารยาทของมัสยิด เช่นการไม่คละเคล้าระหว่างเพศชายและหญิง การกระทำที่ขัดกับบทบัญญัติห้ามของอิสลาม (ฮะรอม) ทั้งมวล

ชื่อ[แก้]

ในไทยมีการเรียกมัสยิดหลายอย่าง เช่น[1][2]

  • มัสยิด มาจากคำว่า มัสญิด (อาหรับ: مسجد masjid) เป็นคำที่ยืมมาจากภาษาอาหรับ แปลว่า "สถานที่กราบ" ราชบัณฑิตยสถานให้ความหมายว่า "สถานที่ซึ่งอิสลามิกชนใช้เป็นที่ประกอบพิธีกรรมทางศาสนาอิสลาม"[3] ในไทยใช้เรียกโรงสวดประจำเมืองใหญ่
  • สุเหร่า (มลายู: Surau) เป็นคำที่ยืมมาจากภาษามลายู แปลว่า "โรงสวด" ราชบัณฑิตยสถานให้ความหมายว่า "ที่ประชุมทำศาสนกิจของมุสลิม"[3] ในไทยใช้เรียกโรงสวดขนาดย่อมประจำตำบลหรือหมู่บ้าน ชาวบ้านไม่นิยมใช้ทำละหมาดวันศุกร์[4]
  • กะดี[5] หรือ กุฎี[6] บ้างว่ามาจากคำว่า กะดีร์คุม ในภาษาเปอร์เซียและอาหรับ แปลว่า "ตำบลศักดิ์สิทธิ์ซึ่งตั้งอยู่ระหว่างนครมักกะฮ์กับมะดีนะฮ์"[6] บ้างว่ามาจากคำว่า กะเต ในภาษามลายูที่ยืมมาจากภาษาเปอร์เซียอีกที แปลว่า "พระแท่นที่ประทับ"[6] ใช้เรียกศาสนสถานของทั้งชีอะฮ์และซุนนีย์ในภาคกลางของไทยและพบเพียงไม่กี่แห่งเท่านั้น เช่น กุฎีใหญ่, กุฎีเจริญพาศน์, กุฎีหลวง และกุฎีขาว[7] เป็นต้น
  • อิหม่ามบารา หรือ อิมามบาระฮ์ มาจากคำว่า อิมาม ในภาษาอาหรับ หมายถึง "ผู้นำทางศาสนา"[6] กับคำว่า บารา ในภาษาอูรดู แปลว่า "บ้าน"[6] รวมกันมีความหมายว่า "เคหาสน์ของอิหม่าม" เป็นศัพท์ทางการใช้เรียกศาสนสถานของชีอะฮ์ในไทย[6] สถานที่ที่เป็นอิหม่ามบารา เช่น กุฎีเจริญพาศน์, กุฎีบน และกุฎีใหญ่เติกกี้[8] เป็นต้น

นอกจากนี้ยังปรากฏในเอกสารและบันทึกโบราณอีกหลายฉบับเรียกศาสนสถานในศาสนาอิสลามไว้หลากหลาย อาทิ เสร่า, บาแล และโรงสวดแขก เป็นต้น[9]

ประวัติ[แก้]

องค์ประกอบของมัสยิด[แก้]

ในคัมภีร์อัลกุรอานและบันทึกอัลฮะดีษมิได้มีการระบุกฎเกณฑ์อันตายตัวที่เกี่ยวข้องกับมัสยิดไว้ การจัดองค์ประกอบต่าง ๆ ล้วนแต่เกิดจากความจำเป็นด้านประโยชน์ใช้สอยและความเรียบร้อยสวยงาม โดยใช้มัสยิดของพระศาสดาเป็นต้นแบบ[10] บ้างก็พัฒนาให้สอดคล้องกับยุคสมัยจนเป็นรูปแบบสถาปัตยกรรมที่มีลักษณะเฉพาะ ซึ่งมีองค์ประกอบดังต่อไปนี้

  1. โถงละหมาด เป็นพื้นที่สำหรับประกอบพิธีกรรมทางศาสนา เช่น การละหมาด, การศึกษาพระคัมภีร์, การรำลึกถึงพระเจ้า และการขอพร อาจมีการเปลี่ยนเพื่อรองรับกิจกรรมต่าง ๆ ของชุมชน เช่น การเลี้ยงอาหาร และการประชุมหมู่บ้าน[10] โถงละหมาดมักเป็นที่โล่งที่ได้รับการดูแลจนสะอาด สงบ เป็นสัดส่วน และไร้สิ่งรบกวนต่าง ๆ เมื่อปฏิบัติศาสนกิจ ผู้ที่มาละหมาดสองแถวแรกจะประเสริฐกว่าแถวหลัง[11] และไม่มีการแบ่งแยกตามตำแหน่งหรือฐานะ แต่จะแบ่งพื้นที่สำหรับหญิงและชายอย่างเป็นสัดส่วน[11]
  2. มิห์รอบ หรือ ชุมทิศ[12] ในการละหมาดมุสลิมจะต้องหันหน้าไปยังทิศกิบละฮ์ซึ่งมีศูนย์กลางอยู่ที่มัสยิดอัลฮะรอมในมักกะฮ์[11] ดังนั้นภายในมัสยิดจึงมักมีซุ้มมิห์รอบสำหรับระบุทิศกิบละฮ์ด้านหน้าโถงละหมาด โดยทั่วไปมักเป็นซุ้มโค้งเว้าเข้าไปในผนังหรือเป็นผนังต่างระนาบที่ประดับลวดลายเป็นที่สังเกต[11] ในประเทศไทยมิห์รอบหลายแห่งเป็นลักษณะศาลาหรือซุ้มที่ได้รับอิทธิพลแบบไทยจะเรียกว่า ซุ้มชุมทิศ[12] เช่น มิห์รอบของมัสยิดต้นสนหลังเดิม[12] และมิห์รอบของมัสยิดบางหลวง[11]
  3. มิมบัร หรือ แท่นแสดงธรรม[12] เป็นที่ให้อิหม่ามหรือคอเต็บ (ผู้แสดงธรรม) ขึ้นกล่าวคุตบะฮ์ (แสดงธรรม) แจ้งข่าว หรือปราศรัยในโอกาสที่มีการละหมาดในวันศุกร์ มักเป็นแท่นยืนที่มีที่นั่งพักและบันไดขึ้น มีความสูงเพียงพอที่ให้คนอยู่ไกลมองเห็นและได้ยินทั่วถึง[11] มิมบัรในไทยบางแห่งอาจมีซุ้มเน้นทางขึ้นและมีหลังคาที่ได้รับอิทธิพลศิลปะของไทย เช่น มิมบัรของมัสยิดต้นสนเดิม[12] โดยมากมิมบัรจะวางไว้ด้านขวาของมิห์รอบหรือกึ่งกลางโถงละหมาด เมื่อเสร็จจากการคุตบะฮ์อิหม่ามหรือคอเต็บจะลงมาละหมาดร่วมกับทุกคนโดยเท่าเทียม
  4. โถงอเนกประสงค์ มักเชื่อมต่อกับโถงละหมาด ทำหน้าที่รองรับผู้คนเข้าออกจากโถงละหมาด และรองรับการขยายตัวของกิจกรรมในโถงละหมาดในวันสำคัญเพราะจะมีศาสนิกมากเป็นพิเศษ รวมถึงใช้จัดกิจกรรมทางสังคมที่ไม่ขัดกับหลักศาสนา[13] ในไทยโถงอเนกประสงค์บางแห่งอาจเป็นใต้ถุนหรือพื้นที่ชั้นล่างของอาคาร บางครั้งชุมชนโดยรอบอาจใช้พื้นที่นี้ในการละหมาดจึงต้องรักษาความสะอาดและไม่ควรสวมรองเท้าเข้ามาในพื้นที่ดังกล่าว[13]
  5. ที่อาบน้ำละหมาด ข้อบัญญัติของศาสนาอิสลามกำหนดให้มีการอาบน้ำละหมาด ซึ่งเป็นการทำความสะอาดร่างกาย เช่น มือ, ใบหน้า, แขน, เท้า เป็นต้น[13] ดังนั้นก่อนการละหมาดต้องมาอาบน้ำที่มัสยิดหรืออาจจะอาบน้ำมาจากที่อื่นก็ได้[14] ที่อาบน้ำมักอยู่ในพื้นที่อเนกประสงค์ ในอดีตมัสยิดหลายแห่งใช้ศาลาริมน้ำเป็นพื้นที่อาบน้ำละหมาด[14]
  6. หออะซาน เป็นสถานที่ให้มุอัซซิน (ผู้ประกาศเวลาละหมาด) ขึ้นไปอะซาน (ประกาศ) ให้ได้ยินไปไกลที่สุดเพื่อเรียกให้ผู้คนทำละหมาดมารวมตัวกันที่มัสยิด[14] ท่านศาสดาได้กำหนดให้ผู้ได้ยินเสียงอะซานมาละหมาดรวมกันที่มัสยิด พื้นที่ในรัศมีเสียงอะซานจึงเป็นตัวกำหนดขอบเขตพื้นที่ของชุมชน[14] ในอดีตจะให้การตีกลองบอกเวลาละหมาดเนื่องจากสามารถได้ยินในระยะไกล แม้หออะซานจะลดความสำคัญลงเนื่องจากมีการใช้เครื่องกระจายเสียงแทน[14] แต่กระนั้นหออะซานก็ยังคงอยู่เป็นสัญลักษณ์ของมัสยิด ด้วยความสูงโดดเด่นเป็นภูมิสัญลักษณ์ที่สื่อถึงการดำรงอยู่ของชุมชนมุสลิม[14]
  7. ซุ้มประตู มัสยิดโดยทั่วไปจะมีการกำหนดขอบเขตหรือแยกพื้นที่สงบออกจากสิ่งรบกวน โดยอาจเป็นกำแพงหรือคูคลองโดยมีประตูเป็นตัวเชื่อมต่อที่บ่งบอกถึงการเข้าถึงมัสยิด[15] ซุ้มประตูมักมีลักษณะเด่นมีการประดับประดาเช่นเดียวกับ โดม หรือหออะซาน[15]

ศาสนสถานของศาสนาอิสลามที่สำคัญ[แก้]

มัสยิดอัลฮะรอมและหินกะอ์บะฮ์ ในพิธีฮัจญ์ ค.ศ. 2008
  • อัลมัสญิด อัลฮะรอม (มัสญิดต้องห้าม) ในนครมักกะหฺ อันเป็นที่ตั้งของกะอฺบะหฺ, มะกอมอิบรออีม (รอยเท้าของศาสดาอิบรอฮีม) ข้าง ๆ นั้นเป็น เนินเขา อัศศอฟา และ อัลมัรวะหฺ อ้ลมัสญิด อัลฮะรอม เป็นสถานที่นมาซประจำวัน และสถานที่บำเพ็ญฮัจญ์ เพราะยามที่มุสลิมประกอบพิธีฮัจญ์ต้องฏอวาฟรอบกะอฺบะหฺ นมาซหลังมะกอมอิบรอฮีม และเดิน(สะอฺยุ)ระหว่างอัศศอฟา และ อัลมัรวะหฺ
  • รองลงมาคือ อัลมัสญิด อัลนะบะวีย์ คือมัสญิดของศาสนทูตมุฮัมมัด ซึ่งมีร่างของท่านฝังอยู่
  • อัลมัสญิด อัลอักศอ เป็นมัสญิดที่มีความสำคัญทางประวัติศาตร์อิสลาม เพราะศาสนทูตมุฮัมมัดได้ขึ้นสู่ฟากฟ้า (มิอฺรอจญ์) จากที่นั่น

อ้างอิง[แก้]

  1. "มัสยิดในประเทศไทย". สารานุกรมไทยฉบับเยาวชน โดยพระราชประสงค์ในพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2015-09-23. สืบค้นเมื่อ 19 May 2558. {{cite web}}: ตรวจสอบค่าวันที่ใน: |accessdate= (help)
  2. อาดิศร์ อิดรีส รักษมณี. "มัสยิดในแผ่นดินไทย", หน้า 121
  3. 3.0 3.1 "พจนานุกรม ฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ. ๒๕๔๒ ฉบับสืบค้นออนไลน์". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2009-03-02. สืบค้นเมื่อ 2013-01-27.
  4. แพร ศิริศักดิ์ดำเกิง (2552). ทักษะวัฒนธรรม (PDF). กรุงเทพฯ: ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร. p. 39. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิม (PDF)เมื่อ 2012-08-31. สืบค้นเมื่อ 2015-05-17.
  5. "ตามรอยมุสลิมฝั่งธน มองผ่านสถาปัตยกรรมและชุมชน 3 กะดี". กรุงเทพธุรกิจ. 17 กุมภาพันธ์ 2555. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2012-05-14. สืบค้นเมื่อ 20 January 2556. {{cite web}}: ตรวจสอบค่าวันที่ใน: |accessdate= (help)
  6. 6.0 6.1 6.2 6.3 6.4 6.5 จุฬิศพงศ์ จุฬารัตน์. “กะฎีเจ้าเซ็น” ในสยามประเทศ[ลิงก์เสีย]. เรียกดูเมื่อวันที่ 20 มกราคม 2556
  7. มัจญฺมะอ์ญะฮอนียฺตักรีบมะซอฮิบอิสลาม. มุสลิมในธนบุรี เก็บถาวร 2013-01-25 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน. เรียกดูเมื่อวันที่ 20 มกราคม 2556
  8. อาลีเสือสมิง. ศาสนสถานนาม “กุฎี” ในฝั่งธนบุรีและกรุงเก่า[ลิงก์เสีย]. เรียกดูเมื่อ 27 มกราคม 2556
  9. "มัสยิด-สุเหร่า" (Press release). ข่าวสด. 22 พฤศจิกายน พ.ศ. 2555. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2013-03-10. สืบค้นเมื่อ 20 January 2556. {{cite press release}}: ตรวจสอบค่าวันที่ใน: |accessdate= และ |date= (help)
  10. 10.0 10.1 อาดิศร์ อิดรีส รักษมณี. "มัสยิดในแผ่นดินไทย", หน้า 115
  11. 11.0 11.1 11.2 11.3 11.4 11.5 อาดิศร์ อิดรีส รักษมณี. "มัสยิดในแผ่นดินไทย", หน้า 116
  12. 12.0 12.1 12.2 12.3 12.4 มัสยิดต้นสน. ชุมชนมัสยิดต้นสน เก็บถาวร 2013-03-10 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน. เรียกดูเมื่อ 21 ธันวาคม 2555
  13. 13.0 13.1 13.2 อาดิศร์ อิดรีส รักษมณี. "มัสยิดในแผ่นดินไทย", หน้า 117
  14. 14.0 14.1 14.2 14.3 14.4 14.5 อาดิศร์ อิดรีส รักษมณี. "มัสยิดในแผ่นดินไทย", หน้า 118
  15. 15.0 15.1 อาดิศร์ อิดรีส รักษมณี. "มัสยิดในแผ่นดินไทย", หน้า 119

บรรณานุกรม[แก้]

  • อาดิศร์ อิดรีส รักษมณี. "มัสยิดในแผ่นดินไทย" ในศิลปวัฒนธรรม ปีที่ 32 ฉบับที่ 10 สิงหาคม 2554

แหล่งข้อมูลอื่น[แก้]