คณะทันตแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
Faculty of Dentistry, Thammasat University | |
สถาปนา | 21 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2539[1] |
---|---|
คณบดี | ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร. ทันตแพทย์ สุธี สุขสุเดช |
ที่อยู่ | มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ศูนย์รังสิต 99 หมู่ 18 ถนนพหลโยธิน ตำบลคลองหนึ่ง อำเภอคลองหลวง จังหวัดปทุมธานี 12120 |
วารสาร | วารสารทันตยูงทอง |
สี | สีม่วงขลิบทอง |
เว็บไซต์ | www.dentistry.tu.ac.th |
คณะทันตแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เป็นส่วนราชการไทยระดับคณะวิชา สังกัดมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ กระทรวงศึกษาธิการ โดยจัดตั้งขึ้นตามกฎหมายว่าด้วยมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์[2] [3] โดยปัจจุบันมีศูนย์ดำเนินการหลักอยู่ ณ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ศูนย์รังสิต และมีหน่วยบริหารทันตกรรมอยู่ ณ โรงพยาบาลธรรมศาสตร์เฉลิมพระเกียรติ
ประวัติ
[แก้]มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ได้พิจารณาเห็นว่าประเทศไทยประสบปัญหาการขาดแคลนบุคลากรทางด้านสาขาทันตแพทยศาสตร์ จึงได้เสนอโครงการจัดตั้งคณะทันตแพทยศาสตร์ขึ้น [4] ทั้งนี้ มีวัตถุประสงค์เพื่อผลิตบัณฑิตทันตแพทย์ให้สอดคล้องกับความต้องการของสังคมในปัจจุบัน รวมทั้งเป็นแหล่งศึกษา ค้นคว้าวิจัย และให้บริการทางวิชาการด้านทันตแพทยศาสตร์ ด้านวิทยาศาสตร์การแพทย์ และด้านสาธารณสุข ซึ่งจะเป็นประโยชน์ต่อการพัฒนาประเทศโดยรวม
โดยจัดการศึกษาที่มีพื้นฐานบนหลักการ Community Oriented ให้นักศึกษาได้รับรู้ปัญหาสุขภาพรวมทั้งสุขภาพช่องปากของชุมชน ตั้งแต่เริ่มศึกษาในหลักสูตร ทั้งนี้ เพื่อให้ได้บัณฑิตที่เข้าใจกับความต้องการของประชาชนส่วนใหญ่ของประเทศ และการจัดการเรียนการสอนเป็นหน่วยการเรียน (Block Or Module) ลักษณะวิชาที่จัดสอนมีลักษณะบูรณาการของเนื้อหาวิชาหลายๆ วิชารวมกัน โดยเป็นการศึกษาที่ใช้ปัญหาทางทันตแพทยศาสตร์และทันตสาธารณสุขเป็นหลัก (Problem Based Learning) เน้นการศึกษาภาคสนามและการฝึกปฏิบัติในชุมชน (Community Based Learning)
การเรียนการสอน
[แก้]ทันตแพทยศาสตรบัณฑิต
[แก้]- ทันตแพทยศาสตรบัณฑิต (ท.บ.) Doctor of Dental Surgery Programme (D.D.S.)
หลักสูตรมุ่งหมายผลิตบัณฑิตทันตแพทย์ให้มีความรู้ความสามารถมีศักยภาพในการบูรณาการองค์ความรู้และมีทักษะการปฏิบัติงานอย่างรอบด้านที่ได้มาตรฐานสากลและตามหลักจรรยาบรรณแห่งวิชาชีพ มีความสามารถในการติดต่อสื่อสารและปฏิบัติงานร่วมกับบุคลากรอื่นในทีมสุขภาพในการแก้ไขปัญหาและสร้างสรรค์สุขภาพช่องปากที่ดีให้แก่ประชาชน สามารถปฏิบัติงานได้ในโรงพยาบาลทุกระดับและดูแลสุขภาพช่องปากของประชาชนตามขอบเขตที่รับผิดชอบ มีโลกทัศน์ที่กว้างไกลพร้อมต่อการเป็น global citizen ที่พร้อมทำงานในทุกที่ทั่วโลก ในขณะเดียวกัน ก็จะต้องเป็นผู้สนใจใฝ่รู้ ติดตามความก้าวหน้าทางวิชาการอย่างต่อเนื่อง มีความสามารถในการคิดวิเคราะห์และสามารถบูรณาการความรู้ร่วมกับนักวิชาการแขนงต่างๆ ตลอดจนตระหนักรู้ถึงสิทธิหน้าที่และความรับผิดชอบของการเป็นพลเมืองที่ดี และมีความภาคภูมิใจที่เป็นส่วนหนึ่งของสังคมและประชาคมไทย
- ทันตแพทยศาสตรบัณฑิต (ท.บ.) หลักสูตรทวิภาษา Doctor of Dental Surgery Programme (D.D.S.) (Bilingual)
หลักสูตรทันตแพทยศาสตรบัณฑิต (หลักสูตรทวิภาษา) เน้นการพัฒนาและปลูกฝังการเรียนรู้ของนักศึกษาทันตแพทย์ เพื่อให้เท่าทันกับการเปลี่ยนแปลงของระบบสุขภาพและสังคม ตลอดจนการพัฒนาด้านการสื่อสาร ภาษาอังกฤษเพื่อรองรับ AEC อีกทั้งเพื่อผลิตบัณฑิตทันตแพทย์ให้มีความรู้ ความเข้าใจถึง สภาวะที่แท้จริงของสังคมและวัฒนธรรมไทย เพื่อให้บัณฑิตสามารถพัฒนาตนเอง ให้เหมาะสมกับบริบท ของประเทศ เป็นทันตแพทย์ที่มีคุณภาพ มีจิตสาธารณะและหัวใจของความเป็นมนุษย์ มีสมรรถนะที่พึงประสงค์ตรงตามความต้องการของสภาวิชาชีพและสังคม
จัดการศึกษาในหลักสูตรทันตแพทยศาสตรบัณฑิต มี 2 ลักษณะ คือ
- จัดการเรียนการสอนแบบบรรยาย (Lecture type) ในปีการศึกษาที่ 1 ถึงปีการศึกษาที่ 3 ภาคต้น
- จัดการเรียนการสอนแบบการใช้ปัญหาเป็นฐาน (Problem–based learning, PBL) ซึ่งมีลักษณะเป็นการบรรยาย และการบูรณาการเนื้อหาเข้าด้วยกัน เรียกการจัดการเรียนการสอนเป็นหน่วยการเรียน (block or module)
วิทยาศาสตรมหาบัณฑิต
[แก้]- หลักสูตรวิทยาศาสตรมหาบัณฑิต สาขาวิชาทันตกรรมรากเทียม (Master of Science (Dental Implantology)
หลักคิดในการออกแบบหลักสูตร คือ มุ่งเน้นผลิตมหาบัณฑิตที่สามารถบูรณาการความรู้จากศาสตร์ต่างๆ มาใช้ในการให้บริการ ทันตกรรมรากเทียมทั้งระบบรากเทียมที่ผลิตในประเทศไทย และต่างประเทศได้อย่างมีประสิทธิภาพ มีความสามารถในการดูแล ผู้ป่วยสูงอายุแบบองค์รวม และเป็นหลักสูตรนานาชาติที่เปิดการเรียนการสอนเป็นภาษาอังกฤษ รับนักศึกษาจากทุกประเทศทั่ว โลก โดยเน้นให้ความสำคัญกับประเทศในกลุ่มอาเซียนเป็นลำดับแรก เพื่อให้สอดคล้องกับนโยบาย AEC ซึ่งจะผลิตมหาบัณฑิตที่สามารถให้บริการทันตกรรมรากเทียมแบบบูรณาการ
- หลักสูตรวิทยาศาสตรมหาบัณฑิต สาขาวิชาทันตกรรมผู้สูงอายุ Master of Science (Geriatric Dentistry)
หลักสูตรมุ่งหมายผลิตมหาบัณฑิตที่บูรณาการความรู้จากสหวิทยาการ เพื่อให้บริการทางทันตกรรมผู้สูงอายุแบบองค์รวม และสามารถผลิตงานวิจัยไปสู่การพัฒนาเพื่อสุขภาพช่องปากของผู้สูงอายุในประเทศไทย
ปรัชญาดุษฎีบัณฑิต
[แก้]หลักสูตรปรัชญาดุษฎีบัณฑิต สาขาวิชาวิทยาศาสตร์สุขภาพช่องปาก (หลักสูตรนานาชาติ) Doctor of Philosophy Programme (Oral Health Science), Ph.D. (Oral Health Science)
องค์ความรู้ด้านวิทยาศาสตร์สุขภาพช่องปาก (Oral Health Science) หรือทันตแพทยศาสตร์มีพื้นฐานและความสัมพันธ์กับศาสตร์อื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง อาทิ เช่น วิทยาศาสตร์ วิทยาศาสตร์กายภาพ และแพทยศาสตร์ ดังนั้น ในการดูแลสุขภาพช่องปากของประชาชน ทันตแพทย์จึงควรต้องมีความรู้และความชำนาญไม่เพียงแต่ทางทันตกรรมเฉพาะทางที่เกี่ยวข้องกับการปฏิบัติงานในคลินิก ทันตแพทย์ในปัจจุบันจะต้องเรียนรู้วิทยาศาสตร์พื้นฐานที่เกี่ยวข้องกับปรากฏการณ์ในช่องปาก รวมทั้งการบูรณาการความรู้เรื่องวิทยาศาสตร์สุขภาพช่องปากขั้นสูงและความรู้วิทยาศาสตร์และอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องมาอธิบายสาเหตุของการเกิดโรคในช่องปากหรือพัฒนาแนวทางและวิธีการบำบัดรักษาและป้องกันโรคในช่องปากอย่างมีเหตุมีผลโดยใช้หลักฐานเชิงประจักษ์สนับสนุน ซึ่งจะทำให้ทันตแพทย์มีศักยภาพการบำบัดรักษาและป้องกันโรคในช่องปากได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น ตลอดจนสามารถแสวงหาและสร้างองค์ความรู้ใหม่ให้เหมาะสมกับบริบทประเทศไทย แก้ไขปัญหาของประเทศ ในปัจจุบันประเทศไทยยังไม่มีหลักสูตรทันตแพทยศาสตร์ในระดับบัณฑิตศึกษาที่ผสมผสานการศึกษาทางคลินิก วิทยาการระบาดและวิทยาศาสตร์สุขภาพช่องปากในลักษณะบูรณาการ และก่อให้เกิดงานวิจัยที่ให้ผลลัพธ์ต่อการปฏิบัติงานของทันตแพทย์ในสายงานต่างๆ ซึ่งได้แก่ การดูแลผู้ป่วยในคลินิกทันตกรรมป้องกันระดับปัจเจกบุคคลและระดับชุมชน ตลอดจนการพัฒนาความรู้ความสามารถสาขาวิทยาศาสตร์พื้นฐานที่เกี่ยวข้องกับวิชาอื่น
โครงการนี้เป็นความร่วมมือในด้านการเรียนการสอนและการวิจัยของ คณะทันตแพทยศาสตร์ กับคณะต่างๆ ที่เกี่ยวข้องภายในมหาวิทยาลัย อาทิ เช่น คณะสหเวชศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ และภายนอกมหาวิทยาลัย ได้แก่ มหาวิทยาลัยขอนแก่น มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ และ มหาวิทยาลัยในต่างประเทศ โดยเป็นการศึกษาภาคปกติในระบบทวิภาคและจัดวิชาการเรียนการสอนเป็นภาษาอังกฤษ
ประกาศนียบัตรผู้ช่วยทันตแพทย์
[แก้]เริ่มเปิดการเรียนการสอน เมื่อวันที่ 3 มิถุนายน 2556 ซึ่งประกอบไปด้วยการเรียนภาคทฤษฏี จำนวน 16 หน่วยกิต และภาคปฏิบัติ จำนวน 20 หน่วยกิต ซึ่งเป็นไปตามวัตถุประสงค์ของหลักสูตรที่ต้องการขยายโอกาสทางการศึกษาและขยายโอกาสในการประกอบอาชีพในงานเกี่ยวกับสาธารณสุขให้แก่ประชาชน อีกทั้งยังช่วยลดปัญหาการขาดแคลนบุคลากรทางด้านทันตกรรม นอกจากนักศึกษาได้ฝึกปฏิบัติงานร่วมกับนักศึกษาทันตแพทย์แล้ว นักศึกษายังได้ฝึกประสบการณ์โดยการฝึกปฏิบัติงานในคลินิกพิเศษ
หลักสูตร
[แก้]ระดับปริญญาตรี | ระดับปริญญาโท | ระดับปริญญาเอก |
---|---|---|
ทันตแพทยศาสตรบัณฑิต
|
วิทยาศาสตร์มหาบัณฑิต
|
ปรัชญาดุษฎีบัณฑิต
|
- อีกทั้งยังมีหลักสูตรประกาศนียบัตรผู้ช่วยทันตแพทย์ หลักสูตร 1 ปี
- หลักสูตรทันตแพทยศาสตร์ สาขาวิชาทันตแพยศาสตร์ (หลักสูตรทวิภาษา) รับสมัครนักศึกษาผ่านวิทยาลัยแพทยศาสตร์นานาชาติจุฬาภรณ์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
บริการ
[แก้]คณะทันตแพทยศาสตร์มีหน่วยบริการทันตกรรมเปิดให้บริการ ณ โรงพยาบาลธรรมศาสตร์เฉลิมพระเกียรติ โดยสามารถติดต่อได้ที่ อาคาร ม.ร.ว.สุวพรรณ สนิทวงศ์ เพื่อทำการนัดหมายหรือตรวจร่างก่ายเบื้องต้นเพื่อเตรียมตัวสำหรับการรักษา หน่วยทันตกรรมมีที่ตั้งอยู่ที่ อาคาราชสุดา ชั้น 2 (ระบบบริการ) และ 3–4 (ระบบนักศึกษา) และอีกทั้งยังมีหน่วยทันตกรรมเคลื่อนที่ออกให้บริการแก่ประชาชนในวาระพิเศษต่างๆอีกด้วย [5]
- หน่วยทันตกรรมโรงพยาบาลธรรมศาสตร์ฯ
การเปิดให้บริการคลินิกทันตกรรม โรงพยาบาลธรรมศาสตร์เฉลิมพระเกียรติ วันจันทร์, อังคาร, พฤหัส, ศุกร์ เวลา 09.00 น. – 16.00 น. (พักกลางวัน 12.00 น. – 13.00น.) วันพุธ เวลา 09.00 น. – 12.00น. แจกบัตรคิวเวลา 7.00 น. รับจำนวนเพียง 70 คิวต่อวันเท่านั้น
- หน่วยทันตกรรมนอกเวลาราชการ
การเปิดให้บริการคลินิกทันตกรรมนอกเวลาราชการ วันจันทร์ – วันศุกร์ เวลา 17.00 น. – 20.00 น. วันเสาร์ – วันอาทิตย์ เวลา 9.00 น. – 16.00 น. หยุดตามวันหยุดนักขัตฤกษ์
- หน่วยทันตกรรมนักศึกษา
การเปิดให้บริการคลินิกทันตกรรมนักศึกษา วันจันทร์ – วันศุกร์ เวลา 8.00 น. – 16.00 น.
- หน่วยทันตกรรมเคลื่อนที่
คณะทันตแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เปิดให้บริการการรักษาครอบคลุมทุกสาขาวิชาของทันตแพทยศาสตร์และเวชศาสตร์ช่องปาก อาทิ ทันตกรรมทั่วไป ทันตกรรมสำหรับเด็ก ศัลยศาสตร์ช่องปากรักษารากฟัน ทันตกรรมประดิษฐ์ ทันตกรรมจัดฟัน ทันตกรรมปริทันต์ ฯลฯ
อ้างอิง
[แก้]- ↑ มารุต บุนนาค, และคนอื่นๆ. ธรรมศาสตร์ประกาศนาม. พิมพ์ครั้งที่ 3. กรุงเทพฯ : มติชน,2548.
- ↑ สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา. (2549, 1 มิถุนายน). พระราชกฤษฎีกาจัดตั้งส่วนราชการในมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ กระทรวงศึกษาธิการ พ.ศ. 2549. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก: http://www.krisdika.go.th/lawPDF.jsp?LType=2A&formatFile=pdf&vID=1[ลิงก์เสีย]. (เข้าถึงเมื่อ: 15 สิงหาคม 2551).
- ↑ สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา. (2549, 25 สิงหาคม). พระราชบัญญํติมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ พ.ศ. 2531. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก: http://www.krisdika.go.th/lawHeadPDF.jsp?formatFile=pdf&hID=0[ลิงก์เสีย]. (เข้าถึงเมื่อ: 15 สิงหาคม 2551).
- ↑ สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา. (2539, 21 กุมภาพันธ์). พระราชกฤษฎีกาจัดตั้งส่วนราชการในมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ทบวงมหาวิทยาลัย พ.ศ. 2539 [จัดตั้งคณะทันตแพทยศาสตร์ และคณะสหเวชศาสตร์]. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก: [1]. (เข้าถึงเมื่อ: 8 กรกฎาคม 2553).
- ↑ "สำเนาที่เก็บถาวร". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2018-10-30. สืบค้นเมื่อ 2018-11-14.