ข้ามไปเนื้อหา

ทุเรียน

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
(เปลี่ยนทางจาก Durio)

ทุเรียน
กองผลทุเรียน
การจำแนกชั้นทางวิทยาศาสตร์ แก้ไขการจำแนกนี้
โดเมน: ยูแคริโอต
Eukaryota
อาณาจักร: พืช
Plantae
เคลด: พืชมีท่อลำเลียง
Tracheophytes
เคลด: พืชดอก
Angiosperms
เคลด: พืชใบเลี้ยงคู่แท้
Eudicots
เคลด: โรสิด
Rosids
อันดับ: ชบา
Malvales
วงศ์: ชบา
Malvaceae
วงศ์ย่อย: Helicteroideae
Helicteroideae
เผ่า: Durioneae
Durioneae
สกุล: Durio
Durio
L.
ชนิดต้นแบบ
Durio zibethinus
L.
Species

จัดจำแนกแล้ว 30 สปีชีส์

ชื่อพ้อง

Lahia Hassk[โปรดขยายความ][1]

ทุเรียน เป็นไม้ผลในวงศ์ฝ้าย (Malvaceae) ในสกุลทุเรียน (Durio)[2][1] (ถึงแม้ว่านักอนุกรมวิธานบางคนจัดให้อยู่ในวงศ์ทุเรียน (Bombacaceae)[3] ก็ตาม[1]) เป็นผลไม้ซึ่งได้ชื่อว่าเป็นราชาของผลไม้[4][5][6] ผลทุเรียนมีขนาดใหญ่และมีหนามแข็งปกคลุมทั่วเปลือก อาจมีขนาดยาวถึง 30 ซม. และอาจมีเส้นผ่าศูนย์กลางยาวถึง 15 ซม. โดยทั่วไปมีน้ำหนัก 1-3 กิโลกรัม ผลมีรูปรีถึงกลม เปลือกมีสีเขียวถึงน้ำตาล เนื้อในมีสีเหลืองซีดถึงแดง แตกต่างกันไปตามสปีชีส์

ทุเรียนเป็นผลไม้ที่มีกลิ่นเฉพาะตัว ซึ่งเป็นส่วนผสมของสารระเหยที่ประกอบไปด้วยเอสเทอร์ คีโตน และสารประกอบกำมะถัน บางคนบอกว่าทุเรียนมีกลิ่นหอม ในขณะที่บางคนบอกว่ามีกลิ่นเหม็นรุนแรงจนถึงขั้นสะอิดสะเอียน ทำให้มีการห้ามนำทุเรียนเข้ามาในโรงแรมและการขนส่งสาธารณะในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ทุเรียนเป็นผลไม้ที่มีน้ำตาลสูง ทั้งยังอุดมไปด้วยกำมะถันและไขมัน จึงไม่เหมาะสำหรับผู้ป่วยเป็นเบาหวาน

ทุเรียนเป็นพืชพื้นเมืองของบรูไน อินโดนีเซีย และมาเลเซีย และเป็นที่รู้จักในโลกตะวันตกมาประมาณ 600 ปีมาแล้ว ในคริสต์ศตวรรษที่ 19 นักธรรมชาติวิทยาชาวอังกฤษ อัลเฟรด รัสเซล วอลเลซ ได้พรรณนาถึงทุเรียนว่า "เนื้อในมันเหมือนคัสตาร์ดอย่างมาก รสชาติคล้ายอาลมอนด์" เนื้อในของทุเรียนกินได้หลากหลายไม่ว่าจะห่าม หรือสุกงอม ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้มีการนำทุเรียนมาทำอาหารได้หลายอย่าง ทั้งเป็นอาหารคาวและอาหารหวาน แม้แต่เมล็ดก็ยังรับประทานได้เมื่อทำให้สุก

ทุเรียนมีมากกว่า 30 ชนิด มีอย่างน้อย 9 ชนิดที่รับประทานได้ แต่มีเพียง Durio zibethinus เพียงชนิดเดียวเท่านั้น ที่ได้รับความนิยมทั่วโลก จนมีตลาดเป็นสากล ในขณะทุเรียนชนิดที่เหลือมีขายแค่ในท้องถิ่นเท่านั้น ทุเรียนมีสายพันธุ์ประมาณ 100 สายพันธุ์ให้ผู้บริโภคเลือกรับประทาน นอกจากนี้ยังมีราคาสูงอีกด้วย ส่วนในประเทศไทยพบทุเรียนอยู่ 5 ชนิด

ศัพทมูลวิทยา

[แก้]

คำว่า ทุเรียน (durian) มาคำจากภาษามลายู คือคำว่า duri (หนาม) มารวมกับคำต่อท้าย -an (เพื่อสร้างเป็นคำนามในภาษามลายู)[7][8] D. zibethinus เป็นเพียงชนิดเดียวที่มีการปลูกเลี้ยงในเชิงการค้าเป็นพื้นที่ขนาดใหญ่และนอกถิ่นกำเนิด ในทุเรียนชนิด zibethinus ได้ชื่อมาจากชะมดแผงหางปล้อง (Viverra zibetha) มีความเชื่อแต่ไม่มีหลักฐานยืนยัน ว่าชื่อนี้ตั้งโดยลินเนียสซึ่งมาจากชะมดชอบทุเรียนมากจนมีการนำไปเป็นเหยื่อล่อในการดักจับชะมด หรืออาจเป็นเพราะทุเรียนมีกลิ่นคล้ายชะมด[9]

ประวัติ

[แก้]
Colóquios dos Simples e Drogas da India (1563)

ทุเรียนเป็นที่รู้จักและบริโภคในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ตั้งแต่ยุคก่อนประวัติศาสตร์ แต่ในโลกตะวันตกทุเรียนกลับเป็นที่รู้จักมาเพียง 600 ปี แรกสุดชาวยุโรปรู้จักทุเรียนจากบันทึกของนิกโกเลาะ ดา กอนตี (Niccolò Da Conti) ผู้ที่เข้าไปท่องเที่ยวในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ในช่วงคริสต์ศตวรรษที่ 15[10] การ์ซีอา ดือ ออร์ตา (Garcia de Orta) แพทย์ชาวโปรตุเกสได้บรรยายถึงทุเรียนใน Colóquios dos Simples e Drogas da India (การสนทนาเกี่ยวกับเรื่องทั่วไปและยาจากอินเดีย) ที่ตีพิมพ์ในปี พ.ศ. 2106 ใน Herbarium Amboinense (พรรณไม้จากอัมบน) ซึ่งเขียนขึ้นโดยนักพฤกษศาสตร์ชาวเยอรมัน เกออร์ค เอเบอร์ฮาร์ท รุมฟียุส (Georg Eberhard Rumphius) ซึ่งตีพิมพ์ในปี พ.ศ. 2284 มีหัวข้อเกี่ยวกับทุเรียนที่มีรายละเอียดมาก สกุลทุเรียน (Durio) มีอนุกรมวิธานที่ซับซ้อน เห็นได้จากการลบและการเพิ่มพืชหลาย ๆ ชนิดลงไปในสกุลนี้ตั้งแต่รุมฟียุสตั้งสกุลทุเรียนขึ้นมา[11] ช่วงแรกของการศึกษาอนุกรมวิธานของทุเรียนนั้น มีความสับสนระหว่างทุเรียนกับทุเรียนเทศเป็นอย่างมากเพราะผลของทั้งสองชนิดนี้เป็นผลไม้สีเขียวมีหนามเหมือนกัน[10] มีบันทึกที่น่าสนใจที่ว่าชื่อภาษามลายูของทุเรียนเทศคือ durian Belanda (ดูเรียนเบอลันดา) ซึ่งแปลว่า ทุเรียนดัตช์[12] ในคริสต์ศตวรรษที่ 18 โยฮันน์ อันโทน ไวน์มันน์ (Johann Anton Weinmann) ได้พิจารณาทุเรียนไปเป็นสมาชิกของวงศ์ Castaneae ซึ่งมีรูปร่างคล้ายกับกระจับม้า

Durio zibethinus โดยโฮลา ฟัน โนเติน (Hoola Van Nooten), ราวปี พ.ศ. 2406

ในคริสต์ศตวรรษที่ 16 ชาวโปรตุเกสได้นำทุเรียนชนิด D. zibethinus เข้ามาสู่ซิลอนและนำเข้ามาอีกหลายครั้งในภายหลัง ในทวีปอเมริกามีการปลูกทุเรียนเช่นกัน แต่จำกัดอยู่แค่ในสวนพฤกษศาสตร์เท่านั้น ต้นกล้าต้นแรกถูกส่งจากสวนพฤกษศาสตร์หลวงเมืองคิวมาสู่โอกุสต์ แซ็งต์-อารอม็อง (Auguste Saint-Arroman) แห่งดอมินีกาในปี พ.ศ. 2427[13]

ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ มีการเพาะปลูกทุเรียนในท้องถิ่นมามากกว่าศตวรรษ ตั้งแต่ช่วงหลังของคริสต์ศตวรรษที่ 18 และปลูกในเชิงพาณิชย์ในกลางคริสต์ศตวรรษที่ 20[10] ใน My Tropic Isle (เกาะเมืองร้อนของฉัน) ของเอ็ดมันด์ เจมส์ แบนฟีลด์ (Edmund James Banfield) นักประพันธ์และนักธรรมชาติวิทยาชาวออสเตรเลีย กล่าวว่า ในตอนต้นคริสต์ศตวรรษที่ 20 เพื่อนของเขาจากประเทศสิงคโปร์ส่งเมล็ดทุเรียนมาให้ เขาปลูกและดูแลบนเกาะเขตร้อนของเขานอกชายฝั่งตอนเหนือของรัฐควีนส์แลนด์[14]

ในปี พ.ศ. 2492 อี.เจ.เอช. คอร์เนอร์ (E. J. H. Corner) นักพฤกษศาสตร์ชาวอังกฤษ ได้ตีพิมพ์ The Durian Theory, or the Origin of the Modern Tree (ทฤษฎีทุเรียนหรือต้นกำเนิดของต้นไม้ยุคใหม่) ทฤษฎีของเขากล่าวถึงการแพร่กระจายเมล็ดพันธุ์โดยสัตว์ (เป็นการล่อให้สัตว์เข้ามากินผลและลำเลียงเมล็ดไปในกระเพาะของสัตว์) เกิดขึ้นก่อนวิธีอื่นในการแพร่กระจายเมล็ดพันธุ์ และบรรพบุรุษดั้งเดิมของสกุลทุเรียนได้ใช้วิธีนี้ในการแพร่กระจายเมล็ดพันธุ์เป็นวิธีแรกสุด โดยเฉพาะในทุเรียนแดงที่เป็นตัวอย่างผลไม้โบราณของพืชดอก[15]

ตั้งแต่ช่วงต้นของช่วงปี พ.ศ. 2533 ความต้องการทุเรียนภายในประเทศและในระดับสากลในพื้นที่ของสมาคมประชาชาติแห่งเอเชียตะวันออกเฉียงใต้เพิ่มขึ้นอย่างมาก บางส่วนนั้นเกิดจากความมั่งคั่งที่เพิ่มขึ้นในเอเชีย[10]

ประวัติทุเรียนในประเทศไทย

[แก้]

ในหนังสือเกี่ยวกับประเทศไทยสมัยอยุธยา ที่เขียนขึ้นโดยซีมง เดอ ลา ลูแบร์ (Simon de la Loubère) หัวหน้าคณะราชทูตจากประเทศฝรั่งเศสในสมัยนั้น ตีพิมพ์เมื่อ พ.ศ. 2336 ตอนหนึ่งได้ระบุเรื่องเกี่ยวกับทุเรียนไว้ว่า "ดูเรียน (Durion) หรือที่ชาวสยามเรียกว่า “ทูลเรียน” (Tourrion) เป็นผลไม้ที่นิยมกันมากในแถบนี้..."[16]

จากหลักฐานดังกล่าว แสดงให้เห็นว่า มีการปลูกทุเรียนในภาคกลางของประเทศไทยตั้งแต่สมัยอยุธยา ส่วนจะเข้ามาจากที่ไหน และโดยวิธีใด ไม่ปรากฏหลักฐาน แต่น่าเชื่อถือได้ว่า เป็นการนำมาจากภาคใต้ของประเทศไทยนั่นเอง[16]

ในสมัยรัตนโกสินทร์ พระยาแพทย์พงศาวิสุทธาธิบดี (สุ่น สุนทรเวช) ได้กล่าวถึงการแพร่กระจายพันธุ์ของทุเรียนจากจังหวัดนครศรีธรรมราชมายังกรุงเทพมหานคร ตั้งแต่ประมาณ พ.ศ. 2318 ในระยะต้นเป็นการขยายพันธุ์ด้วยเมล็ดและพัฒนามาเป็นการปลูกด้วยกิ่งตอน จากพันธุ์ดี 3 พันธุ์ คือ อีบาตร ทองสุก และการะเกด สำหรับผู้ที่หากิ่งตอนจากพันธุ์ดีทั้ง 3 พันธุ์ไม่ได้ จึงใช้เมล็ดจากทั้ง 3 พันธุ์นั้นปลูก ทำให้เกิดทุเรียนลูกผสมขึ้นมากมาย ซึ่งรายชื่อพันธุ์ทุเรียนเท่าที่รวบรวมได้จากเอกสารได้ มีถึง 227 พันธุ์[16]

ลักษณะทางพฤกษศาสตร์

[แก้]
ต้นทุเรียน เมื่อเทียบความสูงกับมนุษย์

ทุเรียนเป็นไม้ผลยืนต้นไม่ผลัดใบ ลำต้นตรง สูง 25-50 เมตรขึ้นกับชนิด[10] แตกกิ่งเป็นมุมแหลม ปลายกิ่งตั้งกระจายกิ่งกลางลำต้นขึ้นไป เปลือกชั้นนอกของลำต้นสีเทาแก่ ผิวขรุขระหลุดลอกออกเป็นสะเก็ด ไม่มียาง ใบเป็นใบเดี่ยว เกิดกระจายทั่วกิ่ง เกิดเป็นคู่อยู่ตรงกันข้ามระนาบเดียวกัน ก้านใบกลมยาว 2–4 ซม. แผ่นใบรูปไข่แกมขอบขนานปลายใบใบเรียวแหลม ยาว 10-18 ซม. ผิวใบเรียบลื่น มีไขนวล ใบด้านบนมีสีเขียว ท้องใบมีสีน้ำตาลเส้นใบด้านล่างนูนเด่น ขอบใบเรียบ ดอกเป็นดอกช่อ มี 3-30 ช่อบนกิ่งเดียวกัน เกิดตามลำต้น และกิ่งก้านยาว 1–2 ซม. ลักษณะดอกสมบูรณ์เพศ มีกลีบเลี้ยงและมีกลีบดอก 5 กลีบ (บางครั้งอาจมี 4 หรือ 6 กลีบ) มีสีขาวหอม ลักษณะดอกคล้ายระฆัง มีช่วงเวลาออกดอก 1-2 ครั้งต่อปี ช่วงเวลาออกดอกขึ้นกับชนิด สายพันธุ์ และสถานที่ปลูกเลี้ยง โดยทั่วไปทุเรียนจะให้ผลเมื่อมีอายุ 4-5 ปี โดยจะออกตามกิ่งและสุกหลังจากผสมเกสรไปแล้ว 3 เดือน ผลเป็นผลสดชนิดผลเดี่ยว อาจยาวมากกว่า 30 ซม. เส้นผ่าศูนย์กลางอาจยาวกว่า 15 ซม. มีน้ำหนัก 1-3 กก.[10] เป็นรูปรีถึงกลม เปลือกทุเรียนมีหนามแหลม ผลอ่อนมีสีเขียว เมื่อสุกมีสีน้ำตาลอ่อน แตกตามแต่ละส่วนของผลเรียกเป็นพู เนื้อในมีตั้งแต่สีเหลืองอ่อนถึงแดง ขึ้นกับชนิด[10] เนื้อในจะนิ่ม กึ่งอ่อนกึ่งแข็ง มีรสหวาน เมล็ดมีเยื่อหุ้ม กลมรี เปลือกหุ้มสีน้ำตาลผิวเรียบ เนื้อในเมล็ดสีขาว รสชาติฝาด

การขยายพันธุ์

[แก้]
ดอกของทุเรียนปกติจะหุบในช่วงกลางวัน

ดอกทุเรียนมีขนาดใหญ่ อ่อนนุ่ม และมีน้ำต้อยมาก มีกลิ่นแรง เปรี้ยวเหมือนเนย โดยทั่วไปเกสรจะผสมโดยค้างคาวบางชนิดที่กินน้ำต้อยและเรณู[17] จากการศึกษาในประเทศมาเลเซียในช่วงปี พ.ศ. 2513 การผสมเกสรของทุเรียนเกือบทั้งหมดเกิดจากค้างคาวผลไม้ถ้ำ (Eonycteris spelaea)[10] แต่การศึกษาในปี พ.ศ. 2539 ในทุเรียน 2 ชนิดคือ D. grandiflorus และ D. oblongus เกสรผสมโดยนกกินปลี ส่วน D. kutejensis ผสมโดยผึ้งหลวง, นก และ ค้างคาว[18] ในการปลูกเลี้ยงเพื่อการค้านิยมขยายพันธุ์ด้วยการเสียบยอด[19]

สปีชีส์

[แก้]

ทุเรียนมีมากกว่า 30 ชนิด มีอย่างน้อย 9 ชนิดที่ผลสามารถทานได้ ซึ่งมีดังนี้: D. zibethinus, D. dulcis, D. grandiflorus, D. graveolens, D. kutejensis, D. lowianus, D. macrantha, D. oxleyanus และ D. testudinarum[11] แต่อย่างไรก็ดีอาจจะยังมีอีกหลายชนิดที่สามารถรับประทานได้เช่นกัน เพียงแต่ยังไม่มีการทดสอบ[10] และมีเพียง Durio zibethinus ชนิดเดียวเท่านั้น ที่ได้รับความนิยมทั่วโลก มีตลาดเป็นสากล ทุเรียนชนิดที่เหลือมีขายแค่ในพื้นที่เท่านั้น

ในประเทศไทยพบทุเรียนอยู่ 5 ชนิดคือ ทุเรียนรากขา (D. graveolens), ทุเรียนนก (D. griffithii), ชาเรียน (D. lowianus), ทุเรียนป่า (D. mansoni) และ ทุเรียน (D. zibethinus) ซึ่ง D. zibethinus มีชื่อท้องถิ่นอื่น ๆ อีกคือ "ดือแย" (มลายู ใต้), "เรียน" (ใต้), "มะทุเรียน" (เหนือ)[20]

สายพันธุ์

[แก้]
ทุเรียนต่างพันธุ์กันบ่อยครั้งจะมีสีต่างกัน D101 (ขวา) มีสีเหลืองเข้มทำให้สามารถแยกออกจากอีกพันธุ์ (ซ้าย) ได้อย่างชัดเจน

เป็นเวลาหลายศตวรรษมาแล้วทุเรียนที่เพาะปลูกมากมายหลายชนิดในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ใช้การขยายพันธุ์แบบไม่อาศัยเพศ โดยใช้ทุเรียนต้นที่ให้ผลดีมีรสอร่อยมาขยายพันธุ์โดยการเสียบยอด ทาบกิ่ง ติดตา และตอนกิ่ง[16][21] แต่ละพันธุ์ก็จะมีความเด่นที่ต่างกัน อย่างความต่างของรูปทรงผล เช่น หนาม เป็นต้น[10] ทำให้ผู้บริโภคสามารถเลือกรับประทานได้ตามความพึงพอใจถึงแม้ว่าจะมีราคาสูงกว่าอีกพันธุ์หนึ่งในตลาดก็ตาม[22]

ประเทศมาเลเซีย ได้ให้รหัสเป็นตัวเลขกำหนดสายพันธุ์ของทุเรียน (Durian: D) เนื่องจากมีซื่อเรียกกันหลากหลายในแต่ละพื้นที่ เพื่อให้เข้าใจตรงกันแต่ในประะเทศไทยกรมวิชาการเกษตรยังไม่ได้กำหนดรหัสสายพันธุ์ ยังคงเรียกสายพันธุ์ดั้งเดิม กบพิกุล หมอนทอง ก้านยาว ชะนี พวงมณี เป็นต้น ดังนั้นหากนำมากำหนดรหัสคู่กับการสายพันธู์ของไทยก็จะทราบว่าทางมาเลเซียหมายถึงพันธุ์อะไรในประเทศไทย เช่น กบ (D99), ชะนี (D123), ทุเรียนเขียว (D145), ก้านยาว (D158), หมอนทอง (D159), กระดุมทอง และที่ไม่มีชื่อเรียก ได้แก่ D24 และ D169 แต่ละสายพันธุ์มีรสชาติและกลิ่นต่างกันไป มี D. zibethinus มากกว่า 200 สายพันธุ์ในไทย ชาวสวนนิยมนำพันธุ์ชะนีมาทำเป็นต้นตอเพราะเป็นพันธุ์ที่ทนทานต่อเชื้อรา Phytophthora palmivora ในจำนวนสายพันธุ์ทั้งหมดในประเทศไทยมีเพียง 4 พันธุ์เท่านั้นที่นิยมปลูกเชิงพานิชย์ คือ ชะนี, กระดุมทอง, หมอนทอง และก้านยาว[10] ส่วนในมาเลเซียมีมากกว่า 100 สายพันธุ์[23]

เมื่อเร็ว ๆ นี้ ดร.ทรงพล สมศรี นักวิชาการเกษตร 8 จากสถาบันวิจัยพืชสวน กรมวิชาการเกษตร ได้ผสมพันธุ์ทุเรียนกว่า 90 พันธุ์จนได้พันธุ์ จันทบุรี 1 ซึ่งเป็นทุเรียนลูกผสมระหว่างพันธุ์ชะนีกับพันธุ์หมอนทอง เป็นพันธุ์ที่ไม่มีกลิ่นรุนแรง[24] ส่วนลูกผสมอื่นๆ เช่น จันทบุรี 3 ซึ่งเป็นทุเรียนลูกผสมระหว่างพันธุ์ชะนีกับพันธุ์ก้านยาว จะมีกลิ่นแรงและจะมีกลิ่นต่อไปอีก 3 วันหลังเก็บผลแล้ว ซึ่งสามารถทำการขนส่งได้ง่ายขึ้น[24][25]

พันธุ์ทุเรียนในประเทศไทย

[แก้]

พันธุ์ทุเรียนในประเทศไทยสามารถจำแนกออกได้เป็น 6 กลุ่ม[16] ตามลักษณะรูปร่างใบ ปลายใบ ฐานใบ ทรงผล และรูปร่างของหนาม คือ

  1. กลุ่มกบ มีลักษณะใบรูปไข่ขอบขนาน ปลายใบแหลมโค้ง ฐานใบกลมมน ทรงผลมี 3 ลักษณะคือ กลม กลมรี และกลมแป้น หนามผลมีลักษณะโค้งงอ จำแนกพันธุ์ได้ 46 พันธุ์ เช่น กบตาดำ กบทองคำ กบวัดเพลง กบก้านยาว
  2. กลุ่มลวง มีลักษณะใบแบบป้อมกลางใบ ปลายใบเรียวแหลม ฐานใบแหลมและมน ทรงผลมี 2 ลักษณะ คือ ทรงกระบอก และรูปรี หนามผลมีลักษณะเว้า จำแนกพันธุ์ได้ 12 พันธุ์ เช่น ลวงทอง ชะนี สายหยุด ชะนีก้านยาว
  3. กลุ่มก้านยาว มีลักษณะใบแบบป้อมปลายใบ ปลายใบเรียวแหลม ฐานใบเรียว ทรงผลเป็นรูปไข่กลับและกลม หนามผลมีลักษณะนูน จำแนกพันธุ์ได้ 8 พันธุ์ เช่น ก้านยาว ก้านยาววัดสัก ก้านยาวพวง
  4. กลุ่มกำปั่น มีลักษณะใบยาวเรียว ปลายใบเรียวแหลม ฐานใบแหลม ทรงผลเป็นทรงขอบขนาน หนามผลมีลักษณะแหลมตรง จำแนกพันธุ์ได้ 13 พันธุ์ เช่น กำปั่นเหลือง กำปั่นแดง ปิ่นทอง หมอนทอง
  5. กลุ่มทองย้อย มีลักษณะใบแบบป้อมปลายใบ ปลายใบเรียวแหลม ฐานใบมน ทรงผลเป็นรูปไข่ หนามผลมีลักษณะนูนปลายแหลม จำแนกพันธุ์ได้ 14 พันธุ์ เช่น ทองย้อยเดิม ทองย้อยฉัตร ทองใหม่
  6. กลุ่มเบ็ดเตล็ด เป็นทุเรียนที่จำแนกลักษณะพันธุ์ได้ไม่แน่ชัด มีอยู่ถึง 83 พันธุ์ เช่น กะเทยเนื้อขาว กะเทยเนื้อแดง กะเทยเนื้อเหลือง
  7. กลุ่มลา เป็นทุเรียนไร้หนาม พันธุ์หายากจากอเมริกา

พันธุ์ที่นิยมปลูกกันมากมี 4 พันธุ์ คือ หมอนทอง (D159), ชะนี (D123), ก้านยาว (D158) และกระดุม ซึ่งมีลักษณะดังนี้

  • พันธุ์กระดุม ผลจะมีขนาดค่อนข้างเล็ก น้ำหนักประมาณ 1 กิโลกรัม ผลมีลักษณะค่อนข้างกลมด้านหัวและด้านท้ายผลค่อนข้างป้าน ก้นผลบุ๋มเล็กน้อย หนามเล็กสั้นและถี่ ขั้วค่อนข้างเล็กและสั้น ลักษณะของพูเต็มสมบูรณ์ ร่องพูค่อนข้างลึก เนื้อละเอียดอ่อนนุ่มสีเหลืองอ่อน เนื้อค่อนข้างบาง รสชาติหวานไม่ค่อยมัน เละง่ายเมื่อสุกจัด เมล็ดมีขนาดใหญ่
  • พันธุ์ชะนี (D123) ผลมีขนาดปานกลางถึงใหญ่ น้ำหนักประมาณ 2.5-3 กิโลกรัม ผลมีรูปทรงหวด กล่าวคือ กลางผลป่อง หัวเรียว ก้นตัด ร่องพูค่อนข้างลึกเห็นได้ชัด ขั้วผลใหญ่และสั้น เนื้อละเอียด สีเหลืองจัดเกือบเป็นสีจำปา ปริมาณมาก รสชาติหวานมัน เมล็ดค่อนข้างเล็กและมีจำนวนเมล็ดน้อย
  • พันธุ์หมอนทอง (D159) ผลมีขนาดใหญ่ น้ำหนักประมาณ 3-4 กิโลกรัม ทรงผลค่อนข้างยาวมีบ่าผล ปลายผลแหลม พูมักไม่ค่อยเต็มทุกพู หนามแหลมสูง ฐานหนามเป็นเหลี่ยม ระหว่างหนามใหญ่จะมีหนามเล็กวางแซมอยู่ทั่วไป ซึ่งเรียกหนามชนิดนี้ว่า เขี้ยวงู ก้านผลใหญ่แข็งแรง ช่วงกลางก้านผลจนถึงปากปลิงจะอ้วนใหญ่เป็นทรงกระบอก เนื้อหนาสีเหลืองอ่อนละเอียด เนื้อค่อนข้างแห้งไม่แฉะติดมือ รสชาติหวานมัน เมล็ดน้อยและลีบเป็นส่วนใหญ่
  • พันธุ์ก้านยาว (D158) ผลมีขนาดปานกลาง น้ำหนักประมาณ 3 กิโลกรัม ทรงผลกลมเห็นพูไม่ชัดเจน พูเต็มทุกพู หนามเล็กถี่สั้นสม่ำเสมอทั้งผล ก้านผลใหญ่และยาวกว่าพันธุ์อื่นๆ เนื้อละเอียดสีเหลืองหนาปานกลาง รสชาติหวานมัน เมล็ดมากค่อนข้างใหญ่

การเพาะปลูกและการค้า

[แก้]
แผงขายทุเรียนในสิงคโปร์

ทุเรียนเป็นพืชพื้นเมืองของอินโดนีเซีย, มาเลเซีย และบรูไน แต่สำหรับแนวคิดที่ว่า ทุเรียนเป็นพืชพื้นเมืองของฟิลิปปินส์ด้วยหรือไม่นั้นยังคงเป็นที่โต้แย้งกันอยู่[10] ทุเรียนนั้นขึ้นได้ดีในดินร่วนซุยหรือดินร่วนปนทราย ชอบแสงแดด ชอบน้ำปานกลาง สามารถเจริญเติบโตในพื้นที่ๆมีภูมิอากาศแบบร้อนชื้น และจะชะงักหยุดเจริญเติบโตเมื่ออุณหภูมิเฉลี่ยต่ำกว่า 22 °C (72 °F)[11] ทุเรียนจะให้ผลผลิตหลังการปลูก 5-6 ปี ช่วงอายุที่ให้ผลผลิตสูงประมาณ 10 ปีขึ้นไป

ศูนย์กลางความหลากหลายทางระบบนิเวศของทุเรียนนั้นอยู่ที่เกาะบอร์เนียว ซึ่งมีทุเรียนรับประทานได้อย่าง D. zibethinus, D. dulcis, D. graveolens, D. kutejensis, D. oxleyanus และ D. testudinarum ซึ่งมีขายเฉพาะในตลาดท้องถิ่นเท่านั้น ในบรูไน ทุเรียนชนิด D. zibethinus ไม่มีการปลูกเชิงการค้า เพราะผู้บริโภคนิยมรับประทานทุเรียนชนิดอื่นมากกว่า อย่างชนิด D. graveolens, D. kutejensis และ D. oxleyanus ชนิดเหล่านี้มีการกระจายพันธุ์ทั่วบรูไนร่วมกับชนิดอื่น ๆ อย่าง D. testudinarum และ D. dulcis ซึ่งแสดงให้เห็นถึงความหลากหลายทางระบบนิเวศที่สูงมาก[26]

ทุเรียนในถุงตาข่ายโดยไม่แช่เย็น ซึ่งขายอยู่ที่ตลาดในรัฐแคลิฟอร์เนีย

ถึงแม้ว่าทุเรียนจะไม่มีถิ่นกำเนิดในไทยแต่ก็สามารถปลูกได้ในทุกพื้นที่ของประเทศ ประเทศไทยเป็นหนึ่งในผู้ส่งออกหลักในการส่งออกทุเรียน จากผลผลิต 781,000 ตันที่ผลิตได้ในประเทศไทย จากผลผลิตรวมทั่วโลก 1,400,000 ตัน และในปี พ.ศ. 2542 มีการส่งออกถึง 111,000 ตัน[27] ประเทศมาเลเซียและประเทศอินโดนีเซียเป็นอันดับรองลงมา แต่ละประเทศมีผลผลิตประมาณ 265,000 ตัน ซึ่งในจำนวนนี้ มาเลเซียส่งออกผลผลิต 35,000 ตัน[27] ในประเทศไทย จังหวัดจันทบุรีมีการจัดงานมหกรรมทุเรียนโลกในต้นเดือนพฤษภาคมทุกปี แค่เพียงจันทบุรีจังหวัดเดียวก็มีผลผลิตถึงครึ่งหนึ่งของผลผลิตรวมในประเทศไทย[28][29] ในประเทศฟิลิปปินส์ ศูนย์กลางการปลูกทุเรียนอยู่ที่จังหวัดดาเวา เทศกาลคาดายาวัน (Kadayawan) เป็นการเฉลิมฉลองประจำปีในเมืองดาเวาที่มีสิ่งที่เป็นลักษณะเด่นของเมืองอย่างทุเรียนรวมอยู่ด้วย สถานที่อื่นที่มีการปลูกทุเรียนก็มี กัมพูชา, ลาว, เวียดนาม, พม่า, อินเดีย, ศรีลังกา, แคริบเบียน, รัฐฟลอริดา, รัฐฮาวาย, ปาปัวนิวกินี, โพลินีเซีย, มาดากัสการ์, ตอนใต้ของจีน (เกาะไหหลำ), ตอนเหนือของออสเตรเลีย, และสิงคโปร์

มีการนำทุเรียนเข้าสู่ออสเตรเลียในตอนต้นของช่วงปี พ.ศ. 2503 และมีการนำเข้าต้นพันธุ์ (ขยายพันธุ์แบบไม่อาศัยเพศ) ครั้งแรกในปี พ.ศ. 2518 มีการนำทุเรียนชนิด D. zibethinus มากกว่า 30 พันธุ์และทุเรียน 6 ชนิดเข้ามาในประเทศออสเตรเลียหลังจากนั้น[30] ประเทศจีนเป็นประเทศผู้นำเข้าหลัก มีการซื้อถึง 65,000 ตันในปี พ.ศ. 2542 ตามมาด้วยประเทศสิงคโปร์ 40,000 ตัน และประเทศไต้หวัน 5,000 ตันในปีเดียวกัน สหรัฐอเมริกามีการนำเข้าทุเรียน 2,000 ตัน ส่วนมากอยู่ในรูปแบบแช่เย็น และประชาคมยุโรปมีการนำเข้า 500 ตัน[27]

เนื้อทุเรียนบรรจุห่อสำหรับขาย

ทุเรียนเป็นผลไม้ที่มีผลผลิตเป็นฤดูกาล ไม่เหมือนผลไม้เมืองร้อนอื่น ๆ อย่างเช่น มะละกอ ซึ่งหาทานได้ตลอดปี ในมาเลเซียตะวันตกและสิงคโปร์ ปกติแล้วฤดูกาลของทุเรียนจะอยู่เดือนมิถุนายนถึงสิงหาคม ซึ่งตรงกับมังคุด[10] ในไทยฤดูกาลของทุเรียนในภาคตะวันออก คือ เดือนเมษายนถึงมิถุนายน และภาคใต้คือเดือนมิถุนายนถึงสิงหาคม ทุเรียนจะมีราคาสูงกว่าเมื่อเทียบกับผลไม้ชนิดอื่น เช่น ในสิงคโปร์ ซึ่งมีความต้องการในทุเรียนสายพันธุ์ที่มีคุณภาพสูง เช่น D24 เป็นต้น มีผลให้ราคาทั่วไปอยู่ที่ S$8 ถึง S$15 (192-360 ฿) ต่อกิโลกรัม เมื่อชั่งทั้งผล[22] หรือเมื่อเฉลี่ยน้ำหนักประมาณ 1.5 กก. ผลทุเรียนหนึ่งผลจะมีราคา S$12 ถึง S$22 (288-528฿)[22] ส่วนที่รับประทานได้ของทุเรียนนั้นคือเยื่อหุ้มเมล็ดหรือที่เรียกกันว่า "เนื้อ" หรือ "พู" ซึ่งมีน้ำหนักเพียง 15-30% ของน้ำหนักรวมของผล[10] แต่ถึงกระนั้น ผู้บริโภคจำนวนมากในสิงคโปร์ก็ยังเต็มใจที่จะจ่ายเงินราว ๆ S$75 (1,800฿) ในการซื้อทุเรียนหนึ่งครั้งจำนวนครึ่งโหลเพื่อไปแบ่งกันทานในครอบครัว[22]

ในฤดูกาลของทุเรียนนั้นสามารถพบทุเรียนได้ในซูเปอร์มาร์เก็ตของชาวญี่ปุ่นเป็นหลัก ขณะที่ทางตะวันตกส่วนมากจะขายในตลาดของชาวเอเชีย

พืชสงวน

[แก้]

ทุเรียนเป็นหนึ่งในพืชสงวน 11 ชนิดตามพระราชบัญญัติพันธุ์พืช พ.ศ. 2518 และฉบับแก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2535 ในมาตรา 30 กำหนดไว้ว่าห้ามมิให้ผู้ใดส่งออกซึ่งพืชสงวน เว้นแต่ได้รับอนุญาตเป็นหนังสือจากรัฐมนตรี และเฉพาะเพื่อประโยชน์ในการทดลอง หรือวิจัยในทางวิชาการเท่านั้น ผู้ใดฝ่าฝืนต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินสามปี หรือปรับไม่เกินสี่พันบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ[31] ทั้งนี้เนื่องมาจากเกรงว่าหากพันธุ์พืชที่ดีเหล่านี้ถูกนำไปปลูกในต่างประเทศแล้ว ก็จะกลับมาเป็นคู่แข่งทางการค้าได้[32]

รสชาติและกลิ่น

[แก้]
ป้ายห้ามนำทุเรียนขึ้นรถบนรถไฟฟ้าของสิงคโปร์

รสชาติและกลิ่นที่ไม่ธรรมดาของทุเรียนทำให้หลาย ๆ คนแสดงปฏิกิริยาที่ต่างกัน จากชอบมากจนถึงรังเกียจอย่างรุนแรง ในปี พ.ศ. 2399 นักธรรมชาติวิทยาชาวอังกฤษที่ชื่ออัลเฟรด รัสเซล วอลเลซได้เขียนพรรณนาถึงรสชาติของทุเรียนไว้ดังนี้

มี 5 โพรงสีขาวอยู่ภายใน แต่ละโพรงบรรจุไปด้วยเนื้อผลไม้สีครีมที่มีเมล็ดประมาณ 3 เมล็ดในแต่ละชิ้น เนื้อในสามารถรับประทานได้และมีรสชาติเหนือจะบรรยาย เนื้อที่เหมือนคัสตาร์ดมันย่อง มีรสชาติกลมกล่อมคล้ายอาลมอนด์ให้ความรู้สึกดี แต่บางทีรสชาตินี้ทำให้นึกถึงครีมชีส, ซอสหัวหอม, ไวน์เชร์รี และอาหารอื่น ๆ ที่ไม่เข้ากันเลย แล้วยังมีความเรียบเหนียวในเนื้อที่ไม่มีใครเทียบแต่กับเพิ่มความอร่อยให้กับทุเรียน ทุเรียนไม่เปรี้ยว ไม่หวาน ไม่ฉ่ำ ทุเรียนไม่ต้องการสิ่งเหล่านี้มันก็สมบูรณ์แบบด้วยตัวของมันเอง เมื่อรับประทานไม่มีอาการคลื่นไส้หรือผลกระทบที่เลวร้ายอื่น ๆ และเมื่อรับประทานเพิ่มขึ้น ๆ คุณจะรู้สึกว่ายากที่จะหยุดได้ ในข้อเท็จจริง การรับประทานทุเรียนเป็นการเดินทางที่คุ้มค่าให้ความรู้สึกใหม่ ๆ ในประสบการณ์ทางดินแดนตะวันออก...[33]

ขณะเดียวกันวอลเลซก็เตือนว่า "กลิ่นของผลไม้ที่สุกงอมนี้ร้ายกาจเลยทีเดียว" นอกจากวอลเลซแล้วยังมีชาวตะวันตกบรรยายถึงรสชาติและกลิ่นของทุเรียนไว้อีกมากมาย แอนโทนี เบอร์เกสส์ (Anthony Burgess) นักประพันธ์ชาวอังกฤษเขียนไว้ว่า การรับประทานทุเรียน "เหมือนรับประทานขนมหวานเย็นเหมือนเยลลี่ราสเบอร์รีหวานในห้องส้วม"[34] แอนดริว ซิมเมอน์ (Andrew Zimmern) พ่อครัวได้เปรียบรสชาติของทุเรียนเป็น "ของเน่า, หัวหอมใหญ่เหลว"[35] แอนโทนี บอร์เดน (Anthony Bourdain) ผู้รักในทุเรียน บรรยายการเผชิญหน้ากับทุเรียนไว้ดังนี้: "รสชาติของมันพูดได้อย่างเดียวว่า... สุดจะพรรณนา เป็นสิ่งที่คุณจะทั้งรักทั้งชัง... กินเข้าไปแล้วกลิ่นปากเหมือนกับไปจูบศพยายมา"[36] ริชาร์ด สเตอร์ลิง (Richard Sterling) นักเขียนเกี่ยวกับการท่องเที่ยวและอาหารกล่าวว่า:

... สิ่งที่บรรยายได้ดีที่สุดเกี่ยวกับกลิ่นของทุเรียนคือขี้หมู น้ำมันสน และหัวหอมใหญ่ ตกแต่งด้วยถุงเท้าเน่า ๆ มันส่งกลิ่นได้ไกลหลายหลา แม้จะเป็นที่นิยมในหมู่ประชากรในพื้นที่แต่ผลไม้ที่ยังไม่ได้แปรรูปเป็นสิ่งต้องห้ามในบางสถานที่ เช่น โรงแรม รถไฟใต้ดิน และสนามบิน รวมถึงระบบขนส่งมวลชนสาธารณะในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้[37]

ไฮโดรเจนซัลไฟด์ หนึ่งในองค์ประกอบทางเคมีที่เป็นต้นเหตุให้ทุเรียนมีกลิ่นเฉพาะตัว

นอกจากนี้ยังมีการเปรียบเทียบกลิ่นทุเรียนกับชะมด น้ำเน่า อ้วกเก่า กลิ่นสกังก์ และฟองน้ำใช้แล้ว[38] การบรรยายถึงกลิ่นทุเรียนที่หลากหลายนี้บ่งบอกถึงความแปรผันของกลิ่นทุเรียนเองที่มีมากมาย ทุเรียนที่ต่างชนิดหรือต่างสายพันธุ์กันมีกลิ่นเฉพาะตัวที่ต่างกัน เช่น ทุเรียนแดง (D. dulcis) มีรสชาติคล้ายคาราเมลเข้มข้น มีกลิ่นคล้ายน้ำมันสนขณะที่ทุเรียนแดงเลือดนก (D. graveolens) มีกลิ่นหอมเหมือนอาลมอนด์คั่ว[39] ในทุเรียนชนิด D. zibethinus, ทุเรียนจากประเทศไทยมีรสชาติหวานกว่าและมีกลิ่นน้อยกว่าทุเรียนจากประเทศมาเลเซีย[10] อัตราความสุกงอมมีผลต่อรสชาติด้วย[10] การวิเคราะห์กลิ่นของทุเรียนทางวิทยาศาสตร์สามครั้งในปี พ.ศ. 2515, 2523 และ 2538 พบส่วนผสมของสารระเหยที่ประกอบไปด้วย เอสเทอร์, คีโทน และสารประกอบกำมะถันที่ต่างกัน สารเหล่านี้อาจเป็นสาเหตุของกลิ่นเฉพาะตัวของทุเรียน แต่ยังไม่ได้รับการยอมรับ[10]

ความสุกงอมและการเลือกซื้อ

[แก้]
ผู้บริโภคในประเทศมาเลเซียดมทุเรียนก่อนซื้อ

ตามหนังสือ Larousse Gastronomique (สารานุกรมการปรุงอาหาร) ทุเรียนพร้อมรับประทานได้เมื่อเปลือกเริ่มแตก[40] อย่างไรก็ตามระยะความสุกงอมที่เหมาะสมนั้นมีความชอบหลากหลายต่างกันไปตามแต่ละพื้นที่ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้และชนิดของทุเรียน ทุเรียนบางชนิดมีลำต้นที่สูงมากทำให้เราสามารถเก็บผลของมันได้ก็ต่อเมื่อตกลงพื้นแล้ว ส่วนสายพันธุ์ของ D. zibethinus นั้นจะตัดผลจากต้นเมื่อใกล้สุกและปล่อยให้สุกขณะที่รอขาย ประชากรบางส่วนในภาคใต้ของประเทศไทยชอบทุเรียนที่ยังห่ามเนื้อสดกรอบและมีรสที่จืดนุ่ม ในภาคเหนือของประเทศไทยชอบเนื้อนิ่มและมีกลิ่นแรง ในประเทศมาเลเซียและสิงคโปร์ชอบทุเรียนที่ค่อนข้างจะสุกงอมและอาจจะถึงกับให้รอให้สุกมากขึ้นหลังจากเปลือกทุเรียนแตกแล้ว ในกรณีนี้ เนื้อจะกลายเป็นเหลวกลายเป็นครีม มีแอลกอฮอล์เล็กน้อย[38] กลิ่นและรสชาตินั้นเป็นเรื่องที่ซับซ้อนมาก

ความชอบของผู้บริโภคที่แตกต่างกันในความสุกของทุเรียนทำให้ยากที่จะบอกถึงการเลือกทุเรียนที่ดีได้ ทุเรียนที่ตกลงมาจากต้นจะสุกงอมในสองถึงสี่วัน แต่หลังจากห้าถึงหกวันจะสุกมากเกินไปและมีรสปร่า[41] คำแนะนำทั่วไปสำหรับผู้บริโภคทุเรียนในการเลือกผลไม้นี้ในตลาด คือให้พิจารณาก้านทุเรียนที่แห้งตามอายุของมัน มีขนาดใหญ่ ก้านที่แข็งบอกถึงความสดของทุเรียน[42] มีรายงานถึงการคดโกงของผู้ขายด้วยการห่อ ทาสี หรือนำก้านออกไป คำแนะนำที่พบบ่อย ๆ อีกอย่าง คือเขย่าทุเรียนและฟังเสียงเมล็ดที่เคลื่อนไหวอยู่ภายในซึ่งแสดงถึงว่าทุเรียนสุกมากเพราะเนื้อฝ่อลงเล็กน้อย[42]

ในหนังสือสารานุกรมไทย สำหรับเยาวชน เล่ม 28 กล่าวถึงวิธีดูทุเรียนสุกไว้ดังนี้[16]:

  1. สังเกตก้านผล ก้านผลจะแข็งและมีสีเข้มขึ้น เมื่อลูบจะรู้สึกสากมือ เมื่อจับก้านผลแล้วแกว่งผลทุเรียน จะรู้สึกว่าก้านผลทุเรียนยืดหยุ่นมากขึ้น ก้านผลบริเวณปากปลิงจะบวมโต เห็นรอยต่อชัดเจน
  2. สังเกตหนาม ปลายหนามแห้ง มีสีน้ำตาลเข้ม เปราะและหักง่าย ดังนั้น เมื่อมองจากด้านบนของผลจะเห็นหนามเป็นสีเข้ม หนามมีลักษณะกว้างออก ร่องหนามห่าง เวลาบีบปลายหนามเข้าหากันจะรู้สึกว่ายืดหยุ่น
  3. สังเกตรอยแยกระหว่างพู ผลทุเรียนที่แก่จัดจะสังเกตเห็นรอยแยกบนพูได้อย่างชัดเจน ยกเว้นบางพันธุ์ที่ปรากฏไม่เด่นชัด เช่น พันธุ์ก้านยาว
  4. การชิมปลิง ผลทุเรียนที่แก่จัด เมื่อตัดขั้วผลหรือปลิงออก จะพบน้ำใสซึ่งไม่ข้นเหนียวเหมือนในทุเรียนอ่อน และเมื่อใช้ลิ้นแตะชิมดูจะมีรสหวาน
  5. การเคาะเปลือกหรือกรีดหนาม เมื่อเคาะเปลือก ผลทุเรียนที่แก่จัดจะมีเสียงดังหลวม ๆ เนื่องจากมีช่องว่างระหว่างเปลือกและ เนื้อภายในผล เสียงหนักหรือเบาแตกต่าง กันไป ขึ้นอยู่กับพันธุ์และอายุของต้นทุเรียน
  6. การปล่อยให้ทุเรียนร่วง ปกติดอกทุเรียนแต่ละรุ่นในแต่ละต้นจะบานไม่พร้อมกัน และมีช่วงต่างกันไม่เกิน 10 วัน ดังนั้น เมื่อมีผลทุเรียนในต้นเริ่มแก่ สุก และร่วง ก็เป็นสัญญาณเตือนว่า ผลทุเรียนที่เหลือในรุ่นนั้นแก่แล้วสามารถเก็บเกี่ยวได้
  7. การนับอายุ โดยนับอายุผลเป็นจำนวนวันหลังดอกบาน เช่น พันธุ์ชะนี ใช้เวลา 100 - 105 วัน เป็นต้น การนับวันหรืออายุของผลจะแตกต่างกันเล็กน้อยในแต่ละปี และในแต่ละท้องถิ่น ขึ้นอยู่กับสภาพภูมิอากาศ เช่น ถ้าปีใดมีอุณหภูมิเฉลี่ยค่อนข้างสูง ผลทุเรียนจะแก่เร็วกว่าปีที่มีอุณหภูมิเฉลี่ยต่ำกว่า

การใช้ประโยชน์

[แก้]

การประกอบอาหาร

[แก้]
ทุเรียนทอดที่วางขายในประเทศไทย

ผลทุเรียนสามารถทำขนมหวานได้หลากหลาย เช่น ลูกกวาดโบราณของประเทศมาเลเซีย ไอส์ กาจัง (Ais kacang:คล้ายน้ำแข็งใส) โดดล (dodol) ขนมปังสอดไส้ และรวมถึงการดัดแปลงให้ทันสมัยอย่าง, ไอศกรีม, มิลก์เช็ก (milkshake), ขนมไหว้พระจันทร์, เค้กขอนไม้ และ คาปูชิโน นอกจากนี้ยังมี ข้าวเหนียวทุเรียนคือข้าวเหนียวที่นำไปนึ่งกับกะทิเสิร์ฟพร้อมทุเรียนสุก ในรัฐซาบะฮ์ ทุเรียนแดงทอดกับหัวหอมและพริก ใช้เป็นเครื่องเคียงในอาหาร[43] ทุเรียนแดงเลือดนกใส่ลงใน ซายูร์ (sayur) ซุปของประเทศอินโดนีเซียที่ทำมาจากปลาน้ำจืด[6] อีกัน เบร็งเก็ส (Ikan brengkes) เป็นอาหารที่ทำจากปลาในซอสที่ทำจากทุเรียนซึ่งเป็นอาหารดั้งเดิมในสุมาตรา[44] เต็มโพยะก์ (Tempoyak) เป็นทุเรียนดองที่ใช้ทุเรียนคุณภาพต่ำที่ไม่เหมาะกับการบริโภคสด ๆ[45] เต็มโพยะก์สามารถรับประทานได้ไม่ว่าจะปรุงสุกหรือไม่ก็ได้ เช่น นำไปทำเป็นแกงกะหรี่ เป็นต้น ซัมบัล เต็มโพยะก์ คืออาหารของประเทศอินโดนีเซียที่ทำจากทุเรียนดอง กะทิ และรวมเข้ากับส่วนผสมที่เผ็ดที่รู้จักกันในชื่อ ซัมบัล (sambal)

เต็มโพยะก์ เป็นอาหารที่ทำจากทุเรียนดอง

ในประเทศไทย มีทุเรียนกวนบรรจุกล่องวางขายอยู่ตามท้องตลาด ถึงแม้ว่าจะมีฟักทองปะปนอยู่ด้วยก็ตาม[41] ผลทุเรียนอ่อนยังสามารถนำไปปรุงอาหารได้เหมือนกับผัก ยกเว้นในประเทศฟิลิปปินส์ซึ่งมักใช้ทำขนมหวานมากกว่าที่จะไปทำอาหารคาว ชาวมาเลเซียได้นำทุเรียนมาทำทุเรียนดองและทุเรียนแช่อิ่ม เมื่อนำทุเรียนมาบดผสมกับเกลือ หัวหอม และ น้ำส้มสายชู จะเรียกว่า โบเดร์ (boder) เมล็ดของทุเรียนสามารถรับประทานได้เมื่อนำมานึ่ง, คั่ว หรือทอดในน้ำมันมะพร้าว เนื้อในมีลักษณะคล้ายเผือกหรือมันเทศ แต่เหนียวกว่า ในเกาะชวาจะหั่นเมล็ดทุเรียนบาง ๆและปรุงด้วยน้ำตาลเหมือนขนมฉาบน้ำตาล เมล็ดทุเรียนที่ยังไม่ได้ปรุงสุกนั้นมีพิษจากกรดไขมันไซโคลโพรพีน ไม่ควรรับประทาน[46] ใบอ่อนและหน่อของทุเรียนสามารถนำมาทำอาหารบางอย่างคล้ายผักใบเขียวได้เช่นกัน บางเวลาขี้เถ้าจากการเผาเปลือกทุเรียน จะนำไปผสมในเค้กบางชนิด[41] ดอกของทุเรียนมีการนำมารับประทานในจังหวัดบาตะก์ (Batak) ประเทศอินโดนีเซีย ขณะที่ในหมู่เกาะโมลุกกะมีการนำเปลือกทุเรียนมาใช้เป็นเชื้อเพลิงในรวมควันปลา น้ำต้อยและเกสรของดอกทุเรียนเป็นแหล่งน้ำผึ้งที่สำคัญที่ผึ้งมาเก็บน้ำหวาน แต่ลักษณะของน้ำผึ้งที่ได้นั้นไม่มีใครรู้[47]

โภชนาการและสรรพคุณทางยา

[แก้]
ทุเรียน (Durio zibethinus)
คุณค่าทางโภชนาการต่อ 100 กรัม (3.5 ออนซ์)
พลังงาน615 กิโลจูล (147 กิโลแคลอรี)
27.09 g
ใยอาหาร3.8 g
5.33 g
1.47 g
วิตามิน
วิตามินเอ
(0%)
46 μg
ไทอามีน (บี1)
(14%)
0.16 มก.
ไรโบเฟลวิน (บี2)
(19%)
0.23 มก.
ไนอาซิน (บี3)
(17%)
2.5 มก.
วิตามินซี
(24%)
19.7 มก.
แร่ธาตุ
แคลเซียม
(3%)
29 มก.
เหล็ก
(8%)
1.1 มก.
ฟอสฟอรัส
(5%)
34 มก.
โพแทสเซียม
(9%)
436 มก.
องค์ประกอบอื่น
น้ำ65 g

เฉพาะเนื้อทุเรียนเท่านั้น, สดหรือแช่แข็ง
ส่วนรับประทานไม่ได้: 68% (เปลือกและเมล็ด)
แหล่งข้อมูล: USDA Nutrient database[48]
และ คัมภีร์แพทย์สมุนไพร[49]
ประมาณร้อยละคร่าว ๆ โดยใช้การแนะนำของสหรัฐสำหรับผู้ใหญ่

ทุเรียนเป็นผลไม้ที่มีน้ำตาลสูง[50] วิตามินซี โพแทสเซียม และกรดอะมิโนซีโรโทเนอร์จิก ทริปโตเฟน[51] และยังเป็นแหล่งของคาร์โบไฮเดรต โปรตีน และไขมัน อย่างดี[6][13] ทุเรียนถือเป็นแหล่งไขมันสดที่ดีในอาหารไม่ผ่านความร้อนหลาย ๆ ชนิด[52][53] นอกจากนี้ทุเรียนยังมีค่าดัชนีน้ำตาลที่สูงหรือเป็นอาหารที่มีไขมันมาก จึงมีการแนะนำให้บริโภคทุเรียนแต่น้อย[54][55] และทุเรียนยังอุดมไปด้วยกำมะถันและไขมัน ไม่เหมาะสำหรับผู้ป่วยเบาหวาน[56] เพราะหากกินเข้าไป นอกจากจะทำให้ระดับน้ำตาลในเลือดสูงขึ้นอย่างรวดเร็วแล้ว ยังทำให้ร้อนในและรู้สึกไม่สบายเนื้อไม่สบายตัวอีกด้วย[57]

ในประเทศมาเลเซียสิ่งที่สกัดจากใบและรากใช้เป็นยาลดไข้ได้ น้ำจากใบใช้วางบนศีรษะของคนป่วยเป็นไข้เพื่อลดไข้[41] รายละเอียดที่สมบูรณ์ที่สุดทางการแพทย์ที่ใช้ทุเรียนในการรักษาไข้อยู่ในตำรับยาของประเทศมาเลเซีย รวบรวมโดยเบอร์คิลล์ (Burkill) และแฮนนิฟฟ์ (Haniff) ในปี พ.ศ. 2473 โดยสอนให้ผู้อ่านต้มรากของชบาฮาวาย (Hibiscus rosa-sinensis) กับรากของทุเรียนชนิด Durio zibethinus ลำไย เงาะขนสั้น (Nephelium mutabile) และขนุน และดื่มน้ำที่สกัดออกมาหรือใช้พอก[58]

ในตำราสมุนไพรไทยได้กล่าวไว้ว่า ส่วนต่าง ๆ ของทุเรียนสามารถนำมาใช้เป็นยาได้ โดยใบมีรสขม เย็นเฝื่อน มีสรรพคุณแก้ไข้ แก้ดีซ่าน ขับพยาธิ และทำให้หนองแห้ง เนื้อทุเรียนมีรสหวาน ร้อน มีสรรพคุณให้ความร้อน แก้โรคผิวหนัง ทำให้ฝีแห้ง และขับพยาธิ เปลือกทุเรียนมีรสฝาดเฝื่อนใช้สมานแผล แก้น้ำเหลืองเสีย พุพอง แก้ฝี ตาน ซาง คุมธาตุ แก้คางทูม และไล่ยุงและแมลง ส่วนรากมีรสฝาดขมใช้แก้ไข้และแก้ท้องร่วง[49]

ในช่วงปี พ.ศ. 2463 มีบริษัทในนครนิวยอร์กได้ทำผลิตภัณฑ์จากผลทุเรียนเรียกว่า "Dur-India (เดอร์ อินเดีย)" เป็นอาหารเสริม ขายอยู่ที่ราคา US$9 ต่อหนึ่งโหล แต่ละขวดบรรจุ 63 เม็ด แต่ละเม็ดประกอบไปด้วยทุเรียน พืชสกุลกระเทียมบางชนิดจากอินเดียและวิตามินอี บริษัทได้โฆษณาอาหารเสริมนี้ว่ามันเปี่ยมไปด้วย"พลังงานที่เป็นประโยชน์ต่อสุขภาพเข้มข้นในรูปแบบอาหารมากกว่าผลิตภัณฑ์อื่น ๆ ในโลกที่สามารถจะมีได้"[41]

ประเพณีความเชื่อ

[แก้]

ประชากรในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้มีความเชื่อตามการแพทย์จีนโบราณว่าทุเรียนมีคุณสมบัติที่ก่อให้เกิดความร้อนในร่างกายซึ่งอาจทำให้เกิดภาวะเหงื่อออกมากกว่าปกติ[59] วิธีโบราณที่จะลดผลกระทบจากความร้อนนี้คือรินน้ำลงในเปลือกทุเรียนหลังจากรับประทานเนื้อแล้วและดื่มน้ำนั้น[38] อีกวิธีหนึ่งคือให้รับประทานทุเรียนพร้อมกับมังคุดเพราะความเชื่อที่ว่ามังคุดมีคุณสมบัติสร้างความเย็น นอกจากนั้นก็ยังมีความเชื่อโบราณที่ห้ามสตรีมีครรภ์ หรือผู้ที่มีความดันเลือดสูงรับประทานทุเรียน[24][60]

ในประเทศไทย บางตำรากล่าวว่าทุเรียนเป็นต้นไม้ตามทิศที่ควรปลูกไว้ในบริเวณบ้าน โดยให้ปลูกทางทิศตะวันออกเฉียงเหนือ เพราะคำว่า "ทุเรียน" มีเสียงพ้องเกี่ยวกับ "การเรียน" จึงหมายถึง "ความเป็นผู้คงแก่วิชาการเรียนรู้หรือเป็นผู้เรียนรู้มาก" [61]

ในภูมิภาคอื่นมีความเชื่อว่าทุเรียนจะเป็นอันตรายเมื่อรับประทานร่วมกับกาแฟ[38] หรือเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์[10] ความเชื่อข้อหลังนั้นสามารถสืบสาวกลับไปได้ถึงคริสต์ศตวรรษที่ 18 เมื่อรัมฟิออซกล่าวไว้ว่าไม่ควรดื่มเหล้าหลังจากรับประทานทุเรียนเพราะจะเป็นเหตุให้มีอาการท้องอืดและมีกลิ่นปาก ในปี พ.ศ. 2472 เจ.ดี. กิมเล็ตต์ (J. D. Gimlette) เขียนไว้ใน Malay Poisons and Charm Cures (พิษแห่งมาเลเซียและมนต์บำบัด) ว่า ผลทุเรียนต้องไม่รับประทานกับบรั่นดี ในปี พ.ศ. 2524 เจ.อาร์. ครอฟต์ (J. R. Croft) เขียนไว้ใน Bombacaceae: In Handbooks of the Flora of Papua New Guinea (วงศ์นุ่น: คู่มือพืชพรรณแห่งปาปัวนิวกินี) ว่ามักจะ "รู้สึกไม่สบาย" เมื่อดื่มเหล้าหลังรับประทานทุเรียนเสร็จใหม่ ๆ แต่จากการสืบสวนทางการแพทย์ของความเท็จจริงของความเชื่อที่ว่านี้ก็ยังไม่สามารถที่จะสรุปได้อย่างเป็นที่แน่นอน[10] แต่การศึกษาของมหาวิทยาลัยซึคุบะในประเทศญี่ปุ่นพบว่าระดับกำมะถันสูงในเนื้อทุเรียนเป็นสาเหตุที่ทำให้ร่างกายยับยั้งการสร้างเอนไซม์อัลเดไฮด์ ดีไฮโดรเจเนส ซึ่งทำให้ร่างกายลดความสามารถในการกำจัดสารพิษออกจากร่างกายลงไปถึง 70%[62]

ชาวชวาเชื่อว่าทุเรียนมีคุณสมบัติกระตุ้นความต้องการทางเพศ และมีการกำหนดกฎข้อบังคับว่าสิ่งใดหรือสิ่งใดไม่ควรบริโภคพร้อมกับ หรือหลังการบริโภคทุเรียนเล็กน้อย[38] ในภาษาอินโดนีเซียมีคำกล่าวว่า durian jatuh sarung naik (ดูรียัน จาอุห์ ซารุง ไนก์) ซึ่งแปลว่า "ทุเรียนตกโสร่งก็ถกขึ้น" ซึ่งเชื่อมโยงกับความเชื่อนี้[63] คำเตือนที่ของคุณสมบัติทางด้านการกระตุ้นความรู้สึกทางเพศของทุเรียนในที่สุดก็แพร่กระจายไปทางตะวันตกอย่างรวดเร็ว — เฮอร์แมน เวตเตอร์ลิง (Herman Vetterling) ปราชญ์สวีเดนบอร์กแสดงความคิดเห็นเกี่ยวกับ "คุณสมบัติกระตุ้นกำหนัด" ของทุเรียนไว้เมื่อต้นคริสต์ศตวรรษที่ 20[64]

ผลทุเรียนมีหนามแหลมที่สามารถเรียกเลือดได้

ถ้าผลทุเรียนตกลงมาโดนศีรษะก็จะสามารถทำให้เกิดอาการบาดเจ็บอย่างหนักได้เพราะเป็นของหนัก มีหนามแหลม และตกจากต้นทุเรียนที่มีความสูงพอสมควร ฉะนั้นจึงมีการแนะนำให้สวมหมวกนิรภัยขณะเก็บผล อัลเฟรด รัสเซล วอลเลซเขียนว่าการตายยากที่จะเกิดขึ้นได้จากบาดแผล เพราะเลือดที่ไหลปริมาณมากที่ไหลออกมาเป็นการป้องกันการอักเสบที่อาจจะเกิดขึ้นได้ไปในตัว[33] โดยทั่วไปมีคำกล่าวกันว่าทุเรียนมีตาเพราะจะไม่ตกยามกลางวันที่อาจจะทำให้มีผู้ได้รับบาดเจ็บได้[65] มีคำกล่าวในประเทศอินโดนีเซียว่า ketibaan durian runtuh (กะติบบาอัน ดูรียัน รุนตุห์) ซึ่งแปลได้ว่า "รับทุเรียนตก" หมายถึงได้รับโชคหรือเคราะห์แบบไม่คาดฝัน[66] แต่กระนั้นป้ายเตือนไม่ให้ยืนอยู่ใต้ต้นทุเรียนนานนักก็พบได้ในประเทศอินโดนีเซีย[67]

ในช่วงปี พ.ศ. 2503 ก็มีการพบทุเรียนแบบไร้หนามที่เกิดขึ้นตามธรรมชาติหลายชนิดในป่าในดาเวา ประเทศฟิลิปปินส์ ผลที่ได้จากการเพาะเมล็ดจากทุเรียนที่ว่านี้ก็ไม่มีหนามด้วยเช่นกัน[10] ด้วยเหตุที่ตามปกติแล้วหนามทุเรียนพัฒนามาจากเกล็ดซึ่งในทุเรียนที่ไม่มีหนามก็จะเป็นเพียงเกล็ด ฉะนั้นจึงสามารถทำให้ผลิตทุเรียนไร้หนามได้โดยการขูดเกล็ดออกก่อนที่ผลจะโตเต็มที่[10]

อิทธิพลต่อศิลปวัฒนธรรม

[แก้]
โรงละครริมอ่าวในประเทศสิงคโปร์, ชื่อเล่น "ทุเรียน"

ทุเรียนเป็นที่รู้จักกันว่าเป็น "ราชาแห่งผลไม้"[4][5][6] ฉายานี้คาดว่าน่าจะมาจากรูปร่างที่น่ากลัวและกลิ่นที่รุนแรงของทุเรียน หรืออาจเป็นเพราะลักษณะภายนอกของผลที่เป็นหนามคล้ายมงกุฎของพระราชา และเนื้อในที่มีรสชาติอร่อยที่ยากจะหาผลไม้อื่นมาเทียบ[4] ในประเทศในแถบเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ทุเรียนเป็นอาหารในชีวิตประจำวันและได้รับแสดงในสื่อที่สอดคล้องกับแนวคิดตามวัฒนธรรมที่มีในท้องถิ่น ทุเรียนเป็นสัญลักษณ์นามธรรมตามธรรมชาติของความน่าเกลียดและความสวยงาม ในฮ่องกง ภาพยนตร์ที่ฉายในปี พ.ศ. 2543 ของผู้กำกับฟรุท ชาน (Fruit Chan) ชื่อ "Durian Durian (ทุเรียน ทุเรียน)" (榴槤飄飄, lau lin piu piu) และชื่อเล่นสำหรับความสะเพร่าแต่น่ารักที่ตั้งให้ตัวเอกภาพยนตร์โทรทัศน์แนวตลกของสิงคโปร์ชื่อ "Durian King (ราชาทุเรียน)" แสดงโดยอาร์เดรียน แปง (Adrian Pang)[68] นอกจากนั้น รูปทรงประหลาดของโรงละครริมอ่าวในประเทศสิงคโปร์บ่อยครั้งที่คนท้องถิ่นเรียกว่า "ทุเรียน"[68] และ "The Big Durian (ทุเรียนใหญ่)" เป็นชื่อเล่นของกรุงจาการ์ตา อินโดนีเซีย[69]

หนึ่งในรายชื่อพายุที่ถูกตั้งเป็นชื่อภาษาไทยที่ตั้งให้พายุหมุนเขตร้อนจากตะวันตกเฉียงเหนือของมหาสมุทรแปซิฟิกคือ "ทุเรียน"[70] ซึ่งถอดชื่อออกหลังจากพายุลูกที่สองที่ใช้ชื่อนี้ในปี พ.ศ. 2549 ทุเรียนเป็นผลไม้ที่สัตว์ป่าหลายชนิดชื่นชอบ บางเวลาทุเรียนยังแสดงถึงสัตว์ลึกลับในมุมมองของมนุษย์อย่างในตำนานของโอรัง มาวัส (Orang Mawas) ไอ้ตีนโตฉบับมาเลเซีย และฉบับสุมาตรา โอรัง เป็นเดาะก์ (Orang Pendek) ซึ่งทั้งคู่ถูกอ้างว่าชอบกินทุเรียน[71][72]

อ้างอิง

[แก้]
  1. 1.0 1.1 1.2 "Durio L." Germplasm Resources Information Network. United States Department of Agriculture. 12 March 2007. เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 30 May 2010. สืบค้นเมื่อ 16 February 2010.
  2. "Angiosperm Phylogeny Website - Malvales". สวนพฤกษศาสตร์รัฐมิสซูรี.
  3. พเยาว์ อินทสุวรรณ. อนุกรมวิธานพืช. พิมพ์ครั้งที่ 2. มหาวิทยาลัยทักษิณ. 2552
  4. 4.0 4.1 4.2 วันดี กฤษณพันธ์, สมุนไพรน่ารู้, สำนักพิมพ์แห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, พิมพ์ครั้งที่ 3 พ.ศ. 2541
  5. 5.0 5.1 สุขภาพดีด้วยสมุนไพรใกล้ตัว, โครงการสมุนไพรเพื่อการพึ่งตนเอง, สำนักพิมพ์ ประพันธ์สาส์น กรกฎาคม พ.ศ. 2541
  6. 6.0 6.1 6.2 6.3 Heaton, Donald D. (2006). A Consumers Guide on World Fruit. BookSurge Publishing. pp. หน้า 54–6. ISBN 1419639552.
  7. พจนานุกรมภาษาอังกฤษ ฉบับออกซฟอร์ด. โรงพิมพ์มหาวิทยาลัยออกซฟอร์ด. 1897. durion, ชื่อในภาษามลายูของพืช
  8. Huxley, A. (Ed.) (1992). New RHS Dictionary of Gardening. Macmillan. ISBN 1-56159-001-0.
  9. Brown, Michael J. (1997). Durio — A Bibliographic Review (PDF). สถาบันทรัพยากรพันธุกรรมพืชนานาชาติ (IPGRI). pp. หน้า 2 และ 5–6 ในเรื่องลินเนียสหรือเมอร์เรย์เป็นผู้มีอำนาจที่ถูกต้องในระบบการเรียกชื่อสิ่งมีชีวิตแบบทวินาม. ISBN 92-9043-318-3. สืบค้นเมื่อ 20 พฤศจิกายน พ.ศ. 2551. {{cite book}}: ตรวจสอบค่าวันที่ใน: |accessdate= (help)
  10. 10.00 10.01 10.02 10.03 10.04 10.05 10.06 10.07 10.08 10.09 10.10 10.11 10.12 10.13 10.14 10.15 10.16 10.17 10.18 10.19 10.20 Brown, Michael J. (1997). Durio – A Bibliographic Review. สถาบันทรัพยากรพันธุกรรมพืชนานาชาติ (IPGRI). ISBN 978-92-9043-318-7. เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 30 October 2020. สืบค้นเมื่อ 20 November 2008.
  11. 11.0 11.1 11.2 O'Gara, E., Guest, D. I. and Hassan, N. M. (2004). "Botany and Production of Durian (Durio zibethinus) in Southeast Asia" (PDF). ศูนย์วิจัยการเกษตรนานาชาติแห่งออสเตรเลีย (ACIAR). สืบค้นเมื่อ 20 พฤศจิกายน พ.ศ. 2551. {{cite web}}: ตรวจสอบค่าวันที่ใน: |accessdate= (help)CS1 maint: multiple names: authors list (ลิงก์)
  12. Davidson, Alan (1999). The Oxford Companion to Food. โรงพิมพ์มหาวิทยาลัยออกซฟอร์ด. pp. หน้า 737. ISBN 0-19-211579-0.
  13. 13.0 13.1 "Agroforestry Tree Database - Durio zibethinus". ศูนย์วิจัยวนเกษตรนานาชาติ. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2011-09-27. สืบค้นเมื่อ 20 พฤศจิกายน พ.ศ. 2551. {{cite web}}: ตรวจสอบค่าวันที่ใน: |accessdate= (help)
  14. Banfield, E. J., (1911). My Tropic Isle. T. Fisher Unwin. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2008-10-07. สืบค้นเมื่อ 20 พฤศจิกายน พ.ศ. 2551. {{cite book}}: ตรวจสอบค่าวันที่ใน: |accessdate= (help)CS1 maint: extra punctuation (ลิงก์) CS1 maint: multiple names: authors list (ลิงก์)
  15. The durian theory or the origin of the modern tree. Ann. Bot. Lond. ns 13: 367-414. Corner, EJH 1953
  16. 16.0 16.1 16.2 16.3 16.4 16.5 ทุเรียน เก็บถาวร 2009-08-28 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน สารานุกรมไทยสำหรับเยาวชน เล่ม 28
  17. Whitten, Tony (2001). The Ecology of Sumatra. Periplus. pp. หน้า 329. ISBN 962-593-074-4.
  18. Yumoto, Takakazu (2000). "Bird-pollination of Three Durio Species (Bombacaceae) in a Tropical Rainforest in Sarawak, Malaysia". American Journal of Botany. 87 (8): หน้า 1181–1188. doi:10.2307/2656655.
  19. ทุเรียน เก็บถาวร 2008-12-07 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน ระบบการเรียนการสอนออนไลน์ โรงเรียนปรินส์รอแยลส์วิทยาลัย
  20. เต็ม สมิตินันทน์ ชื่อพรรณไม้แห่งประเทศไทย เก็บถาวร 2010-05-01 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน สำนักงานหอพรรณไม้ กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช, พ.ศ. 2549
  21. ทุเรียน เก็บถาวร 2009-06-24 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน, การผลิตไม้ผลเมืองร้อน, ศูนย์วิจัยพืชยืนต้นและไม้ผลเมืองร้อน โครงการสถานีวิจัยและศูนย์วิจัย ฝ่ายวิจัยและบริการ คณะทรัพยากรธรรมชาติ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์
  22. 22.0 22.1 22.2 22.3 "ST Foodies Club - Durian King". The Straits Times. 2006. เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2007-12-15. สืบค้นเมื่อ 15 ธันวาคม พ.ศ. 2550. {{cite web}}: ตรวจสอบค่าวันที่ใน: |accessdate= (help)
  23. "Comprehensive List of Durian Clones Registered by the Agriculture Department (of Malaysia)". Durian OnLine. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2007-04-07. สืบค้นเมื่อ 20 พฤศจิกายน พ.ศ. 2551. {{cite web}}: ตรวจสอบค่าวันที่ใน: |accessdate= (help)
  24. 24.0 24.1 24.2 Fuller, Thomas (8 เมษายน พ.ศ. 2550). "Fans Sour on Sweeter Version of Asia's Smelliest Fruit". New York Times. สืบค้นเมื่อ 20 พฤศจิกายน พ.ศ. 2551. {{cite web}}: ตรวจสอบค่าวันที่ใน: |accessdate= และ |date= (help)
  25. ข่าวเกษตรประจำวัน[ลิงก์เสีย] ศูนย์นวัตกรรมเทคโนโลยีหลังการเก็บเกี่ยว
  26. M.B. Osman, Z.A. Mohamed, S. Idris and R. Aman (1995). "Tropical fruit production and genetic resources in Southeast Asia: Identifying the priority fruit species". สถาบันทรัพยากรพันธุกรรมพืชนานาชาติ (IPGRI). ISBN 92-9043-249-7. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2008-09-30. สืบค้นเมื่อ 20 พฤศจิกายน พ.ศ. 2551. {{cite web}}: ตรวจสอบค่าวันที่ใน: |accessdate= (help)CS1 maint: multiple names: authors list (ลิงก์)
  27. 27.0 27.1 27.2 "Committee on Commodity Problems — VI. Overview of Minor Tropical Fruits". FAO. December 2001. สืบค้นเมื่อ 20 พฤศจิกายน พ.ศ. 2551. {{cite web}}: ตรวจสอบค่าวันที่ใน: |accessdate= (help)
  28. "งานมหกรรมทุเรียนโลก 2548". ข่าว -- ข่าวและข้อมูลจากส่วนราชการ. กรมประชาสัมพันธ์, กระทรวงการต่างประเทศ. 5 มิถุนายน พ.ศ. 2548. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2009-01-07. สืบค้นเมื่อ 20 พฤศจิกายน พ.ศ. 2551. {{cite web}}: ตรวจสอบค่าวันที่ใน: |accessdate= และ |date= (help)
  29. "Thailand's Durian growing areas". Food Market Exchange. 2003. สืบค้นเมื่อ 20 พฤศจิกายน พ.ศ. 2551. {{cite web}}: ตรวจสอบค่าวันที่ใน: |accessdate= (help)
  30. Watson, B. J (1983). "Durian". Fact Sheet No. 6.: Rare Fruits Council of Australia.
  31. พระราชบัญญัติพันธุ์พืช พ.ศ. 2518 เครือข่ายกฎหมายมหาชนไทย
  32. พระราชบัญญัติพันธุ์พืช พ.ศ. 2518[ลิงก์เสีย] ฝ่ายพันธุ์พืช สำนักควบคุมพืชและวัสดุการเกษตร สำนักวิจัยและพัฒนาการเกษตรเขตที่ 1 จังหวัดเชียงใหม่
  33. 33.0 33.1 Wallace, Alfred Russel (1856). "On the Bamboo and Durian of Borneo". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2008-10-06. สืบค้นเมื่อ 20 พฤศจิกายน พ.ศ. 2551. {{cite web}}: ตรวจสอบค่าวันที่ใน: |accessdate= (help)
  34. Burgess, Anthony (1993) [1956]. The Long Day Wanes: A Malayan Trilogy. W. W. Norton & Company. p. 68. ISBN 978-0-393-30943-0. เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 20 October 2021. สืบค้นเมื่อ 6 October 2020.
  35. "Bizarre Foods: Asia". Bizarre Foods with Andrew Zimmern. ฤดูกาล 1. ตอน 0 (Pilot). 1 พฤศจิกายน พ.ศ. 2549. Travel Channel. {{cite episode}}: ตรวจสอบค่าวันที่ใน: |airdate= (help) วิดีโอจาก YouTube สืบค้นวันที่ 22 มีนาคม พ.ศ. 2551
  36. "Anthony Bourdain tries out durian in Indonesia". Anthony Bourdain: No Reservations. ฤดูกาล 2. ตอน 12. 19 มิถุนายน พ.ศ. 2549. Travel Channel. {{cite episode}}: ตรวจสอบค่าวันที่ใน: |airdate= (help) วิดีโอจาก YouTube สืบค้นวันที่ 29 มิถุนายน พ.ศ. 2551
  37. Winokur, Jon (Ed.) (2003). The Traveling Curmudgeon: Irreverent Notes, Quotes, and Anecdotes on Dismal Destinations, Excess Baggage, the Full Upright Position, and Other Reasons Not to Go There. Sasquatch Books. pp. หน้า 102. ISBN 1-57061-389-3.
  38. 38.0 38.1 38.2 38.3 38.4 Davidson, Alan (1999). The Oxford Companion to Food. โรงพิมพ์มหาวิทยาลัยออกซฟอร์ด. pp. หน้า 263. ISBN 0-19-211579-0.
  39. O'Gara, E., Guest, D. I. and Hassan, N. M. (2004). "Occurrence, Distribution and Utilisation of Durian Germplasm" (PDF). ศูนย์วิจัยการเกษตรนานาชาติแห่งออสเตรเลีย (ACIAR). สืบค้นเมื่อ 20 พฤศจิกายน พ.ศ. 2551. {{cite web}}: ตรวจสอบค่าวันที่ใน: |accessdate= (help)CS1 maint: multiple names: authors list (ลิงก์)
  40. Montagne, Prosper (Ed.) (2001). Larousse Gastronomique. Clarkson Potter. pp. หน้า 439. ISBN 0609609718.
  41. 41.0 41.1 41.2 41.3 41.4 Morton, J. F. (1987). Fruits of Warm Climates. Florida Flair Books. ISBN 0-9610184-1-0.
  42. 42.0 42.1 "Durian & Mangosteens". Prositech.com. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2009-10-13. สืบค้นเมื่อ 20 พฤศจิกายน พ.ศ. 2551. {{cite web}}: ตรวจสอบค่าวันที่ใน: |accessdate= (help)
  43. "Traditional Cuisine". Sabah Tourism Promotion Corporation. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2008-09-29. สืบค้นเมื่อ 20 พฤศจิกายน พ.ศ. 2551. {{cite web}}: ตรวจสอบค่าวันที่ใน: |accessdate= (help)
  44. Vaisutis, Justine; Neal Bedford; Mark Elliott; Nick Ray; Ryan Ver Berkmoes (2007). Indonesia (Lonely Planet Travel Guides). Lonely Planet Publications. p. 83. ISBN 978-1-74104-435-5.
  45. "Durian Recipe Gallery". Durian Online. เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2007-08-22. สืบค้นเมื่อ 20 พฤศจิกายน พ.ศ. 2551. {{cite web}}: ตรวจสอบค่าวันที่ใน: |accessdate= (help)
  46. "Question No. 18085: Is it true that durian seeds are poisonous?". ศูนย์วิทยาศาสตร์สิงคโปร์. 2006. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2009-02-20. สืบค้นเมื่อ 20 พฤศจิกายน พ.ศ. 2551. {{cite web}}: ตรวจสอบค่าวันที่ใน: |accessdate= (help)
  47. Crane, E. (Ed.) (1976). Honey: A Comprehensive Survey. Bee Research Association.
  48. "USDA National Nutrient Database". กรมวิชาการเกษตรสหรัฐอเมริกา. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2015-03-03. สืบค้นเมื่อ 20 พฤศจิกายน พ.ศ. 2551. {{cite web}}: ตรวจสอบค่าวันที่ใน: |accessdate= (help)
  49. 49.0 49.1 ปรียา ไตรรัตน์ณรงค์, ทุเรียน, คัมภีร์แพทย์สมุนไพร: ผลไม้ สมุนไพรและพืชผักสวนครัว
  50. McGee, Harold (2004). On Food and Cooking (Revised Edition). Scribner. pp. หน้า 379. ISBN 0-684-80001-2.
  51. Wolfe, David (2002). Eating For Beauty. Maul Brothers Publishing. ISBN 0965353370.
  52. Boutenko, Victoria (2001). 12 Steps to Raw Foods: How to End Your Addiction to Cooked Food. Raw Family. pp. หน้า 6. ISBN 0970481934.
  53. Mars, Brigitte (2004). Rawsome!: Maximizing Health, Energy, and Culinary Delight With the Raw Foods Diet. Basic Health Publications. pp. หน้า 103. ISBN 1591200601.
  54. Cousens, Gabriel (2003). Rainbow Green Live-Food Cuisine. North Atlantic Books. pp. หน้า 34. ISBN 1556434650.
  55. Klein, David (2005). "Vegan Healing Diet Guidelines". Self Healing Colitis & Crohn's. Living Nutrition Publications. ISBN 0971752613.
  56. อาหารสำหรับผู้ป่วยเบาหวาน เก็บถาวร 2009-03-23 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน โรงพยาบาลลานนา
  57. มหัศจรรย์ผลไม้ไทย เก็บถาวร 2008-09-15 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน กระทรวงเกษตรและสหกรณ์
  58. Burkill, I.H. and Haniff, M. (1930). "Malay village medicine, prescriptions collected". Gardens Bulletin Straits Settlements (6): หน้า 176–7.{{cite journal}}: CS1 maint: multiple names: authors list (ลิงก์)
  59. Huang, Kee C. (1998). The Pharmacology of Chinese Herbs (Second Edition). CRC Press. pp. หน้า 2. ISBN 0849316650.
  60. McElroy, Anne and Townsend, Patricia K. (2003). Medical Anthropology in Ecological Perspective. Westview Press. pp. หน้า 253. ISBN 0813338212.{{cite book}}: CS1 maint: multiple names: authors list (ลิงก์)
  61. กินทุเรียนเป็นยา[ลิงก์เสีย] kullastree.com
  62. "Durians and booze: worse than a stinking hangover". New Scientist. 2009-09-16. สืบค้นเมื่อ 2009-10-15.
  63. Stevens, Alan M. (2000). A. Schmidgall-Tellings (บ.ก.). A Comprehensive Indonesian-English Dictionary. โรงพิมพ์มหาวิทยาลัยโอไฮโอ้. pp. หน้า 255. ISBN 0821415840.
  64. Vetterling, Herman (2003) [1923]. Illuminate of Gorlitz or Jakob Bohme's Life and Philosophy, Part 3. Kessinger Publishing. p. 1380. ISBN 978-0-7661-4788-1.
  65. Solomon, Charmaine (1998). "Encyclopedia of Asian Food". Periplus. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2001-04-09. สืบค้นเมื่อ 20 พฤศจิกายน พ.ศ. 2551. {{cite web}}: ตรวจสอบค่าวันที่ใน: |accessdate= (help)
  66. Echols, John M.; Hassan Shadily (1989). An Indonesian-English Dictionary. โรงพิมพ์มหาวิทยาลัยคอร์เนลล์. p. 292. ISBN 0801421276.
  67. Vaisutis, Justine; Neal Bedford; Mark Elliott; Nick Ray; Ryan Ver Berkmoes (2007). Indonesia (Lonely Planet Travel Guides). Lonely Planet Publications. p. 83. ISBN 978-1-74104-435-5.
  68. 68.0 68.1 "Uniquely Singapore - July 2006 Issue". Singapore Tourism Board. 2006. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2007-08-23. สืบค้นเมื่อ 23 สิงหาคม พ.ศ. 2550. {{cite web}}: ตรวจสอบค่าวันที่ใน: |accessdate= (help)
  69. Suryodiningrat, Meidyatama (22 มิถุนายน พ.ศ. 2550). "Jakarta: A city we learn to love but never to like". The Jakarta Post. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2008-02-21. สืบค้นเมื่อ 2009-06-23. {{cite web}}: ตรวจสอบค่าวันที่ใน: |date= (help)
  70. "Tropical Cyclone Names". กรมอุตุนิยมวิทยาญี่ปุ่น. สืบค้นเมื่อ 10 มีนาคม พ.ศ. 2550. {{cite web}}: ตรวจสอบค่าวันที่ใน: |accessdate= (help)
  71. Lian, Hah Foong (2 มกราคม พ.ศ. 2543). "Village abuzz over sighting of 'mawas'". Star Publications, Malaysia. สืบค้นเมื่อ 20 พฤศจิกายน พ.ศ. 2551. {{cite web}}: ตรวจสอบค่าวันที่ใน: |accessdate= และ |date= (help)
  72. "Do 'orang pendek' really exist?". Jambiexplorer.com. เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2008-01-16. สืบค้นเมื่อ 22 มกราคม พ.ศ. 2551. {{cite web}}: ตรวจสอบค่าวันที่ใน: |accessdate= (help)

แหล่งข้อมูลอื่น

[แก้]