กลีบเลี้ยง

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
กลีบดอก (petal) และกลีบเลี้ยง (sepal) ของดอกหญ้ารักนา (Ludwigia octovalvis)

กลีบเลี้ยง (อังกฤษ: sepal) เป็นส่วนหนึ่งของดอก กลีบเลี้ยงทำหน้าที่ปกป้องดอกขณะที่ยังตูม และประคองกลีบดอกเมื่อดอกบาน[1] คำว่า sepal ใช้ครั้งแรกโดยนอแอล มาร์แต็ง โฌแซ็ฟ เดอ เน็กเกอร์ แพทย์และนักพฤกษศาสตร์ชาวเบลเยียมในปี ค.ศ. 1790 โดยมาจากคำภาษากรีก σκέπη (skepē) แปลว่า ห่อหุ้ม[2] เมื่อกลีบเลี้ยงอยู่รวมกันจะเรียกว่า วงกลีบเลี้ยง (calyx)[3]

ในทางสัณฐานวิทยา กลีบเลี้ยงเจริญมาจากใบที่เปลี่ยนรูป กลีบเลี้ยงเป็นส่วนที่อยู่นอกสุดของวงดอก ส่วนใหญ่มีสีเขียว มีส่วนช่วยในการสังเคราะห์ด้วยแสง[4] หลังออกดอกกลีบเลี้ยงมักโรยหรือแห้ง แต่พืชบางชนิด เช่น สกุล Acaena, โทมาทิลโล (Physalis philadelphica) และกระจับเขาควาย (Trapa natans) มีกลีบเลี้ยงเป็นหนามไว้ปกป้องผล โทงเทงฝรั่ง (Physalis peruviana) และ Hibiscus trionum พัฒนากลีบเลี้ยงเป็นถุงครอบป้องกันผลจากแมลงและนก ขณะที่กลีบเลี้ยงของกระเจี๊ยบเปรี้ยว (Hibiscus sabdariffa) เจริญไปเป็นผลวิสามัญหลังออกดอก

กลีบเลี้ยงมีหลายรูปแบบ กลีบเลี้ยงทั่วไปมีลักษณะแยก พืชใบเลี้ยงคู่แท้จะมีกลีบเลี้ยง 4–5 กลีบ ส่วนพืชใบเลี้ยงเดี่ยวมีกลีบเลี้ยง 3 กลีบ พืชวงศ์ตะแบกและวงศ์ถั่วมีกลีบเลี้ยงที่โคนติดกันเป็นหลอด[5][6] ขณะที่พืชในอันดับกุหลาบและอันดับชมพู่ ฐานวงกลีบเลี้ยง วงกลีบดอกและเกสรตัวผู้จะก่อตัวร่วมกันเป็นฐานดอกรูปถ้วย[7][8]

ในบางกรณี มีการใช้คำว่ากลีบรวม (tepal) เพื่ออธิบายดอกที่ยากต่อการจำแนกส่วน[9] เช่น กลีบเลี้ยงและกลีบดอกมีสีเดียวกัน หรือไม่มีกลีบดอกแต่กลีบเลี้ยงมีสีสัน เมื่อกลีบรวมอยู่รวมกันจะเรียกว่า วงกลีบรวม (perianth)[10]

อ้างอิง[แก้]

  1. Beentje, Henk (2010). The Kew Plant Glossary. Richmond, Surrey: Royal Botanic Gardens, Kew. ISBN 978-1-84246-422-9., p. 106
  2. Stearn, William T. (2000). Botanical Latin, 4th ed.: 38-39. ISBN 0-88192-321-4
  3. Shorter Oxford English dictionary, 6th ed. United Kingdom: Oxford University Press. 2007. p. 3804. ISBN 978-0199206872.
  4. "โครงสร้างของดอกไม้ อวัยวะสำคัญในการสืบพันธุ์ของพืชดอก". NGThai.com. November 21, 2018. สืบค้นเมื่อ January 20, 2021.
  5. "Lythraceae - Plants of the World Online". Kew Science. สืบค้นเมื่อ January 20, 2021.
  6. "Fabaceae - Plants of the World Online". Kew Science. สืบค้นเมื่อ January 20, 2021.
  7. "Myrtales". Britannica. สืบค้นเมื่อ January 20, 2021.
  8. "Rosales". Britannica. สืบค้นเมื่อ January 20, 2021.
  9. Beentje 2010, p. 119
  10. Davis, P.H.; Cullen, J. (1979). The identification of flowering plant families, including a key to those native and cultivated in north temperate regions. Cambridge: Cambridge University Press. p. 106. ISBN 0-521-29359-6.