เซ็นทรัล วิลเลจ

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
เซ็นทรัล วิลเลจ
แผนที่
ที่ตั้ง98, 98/1 ทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 370 (ถนนสุวรรณภูมิ 3) ตำบลบางโฉลง อำเภอบางพลี จังหวัดสมุทรปราการ
เปิดให้บริการ31 สิงหาคม 2562 (2562-08-31)
ผู้บริหารงานบริษัท ซีพีเอ็น วิลเลจ จำกัด โดย
พื้นที่ชั้นขายปลีก40,000 ตารางเมตร
จำนวนชั้น1 ชั้น
ที่จอดรถ2,700 คัน
เว็บไซต์www.centralvillagebangkok.com

เซ็นทรัล วิลเลจ (อังกฤษ: Central Village) เป็นโครงการพัฒนาพื้นที่เชิงพาณิชยกรรมแบบผสม โดย บริษัท ซีพีเอ็น วิลเลจ จำกัด ภายใต้การร่วมลงทุนระหว่าง เซ็นทรัลพัฒนา และ มิตซูบิชิ เอสเตท เอเชีย บนเนื้อที่ 100 ไร่ บนถนนสุวรรณภูมิ 3 ในพื้นที่ตำบลบางโฉลง อำเภอบางพลี จังหวัดสมุทรปราการ ประกอบด้วยศูนย์การค้าและโรงแรม ภายใต้คอนเซ็ปต์ "Bangkok Luxury Outlet" เป็นสวรรค์ของการช้อปปิ้งสินค้าแบรนด์เนมที่คุ้มค่า ในราคาเอ้าท์เล็ตที่ลด 35-70% ทุกวัน ตั้งเป้าจับกลุ่มนักท่องเที่ยวทั้งชาวไทยและชาวต่างประเทศกว่า 2 ล้านคนต่อปี ด้วยจุดเด่นด้านทำเลที่ใช้เวลาเดินทางเพียง 5 นาทีจากท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ และ 45 นาทีจากใจกลางกรุงเทพมหานคร

ภาพรวม[แก้]

เซ็นทรัล วิลเลจ เป็นโครงการพัฒนาศูนย์การค้ารูปแบบเปิดในลักษณะของ Outdoor Luxury Outlet ตัวอาคารได้รับการออกแบบต่อยอดจากศูนย์การค้าเซ็นทรัลเฟสติวัล อีสต์วิลล์ ที่ผสมผสานการออกแบบทั้งรูปแบบศูนย์การค้าแบบเปิด (Outdoor) และศูนย์การค้าแบบปิด (Indoor) ออกแบบโดยใช้สถาปัตยกรรมแบบไทยร่วมสมัย[1][2]

การจัดสรรพื้นที่[แก้]

เซ็นทรัล วิลเลจ มีพื้นที่โครงการ 40,000 ตารางเมตร บนเนื้อที่ 100 ไร่ ประกอบด้วยพื้นที่สำคัญดังนี้

  • ร้านค้าเอาท์เลทกว่า 135 ร้านค้า โดยมีร้านอาดิดาส, อันเดอร์อาร์เมอร์, โค้ช, โปโล ราลฟ์ ลอเรน, เอาท์เลท บาย คลับ 21 และไมเคิลคอส์ เป็นร้านขนาดใหญ่ในพื้นที่
  • ห้างสรรพสินค้าเซ็นทรัล ในรูปแบบเอาท์เลทสโตร์ (ลักซ์ แกลอรี แอนด์ ศิวิลัย และลักชูรี ลิฟวิง)
  • เพาเวอร์บาย เอาท์เลท
  • ซูเปอร์สปอตส์ แฟกตอรี เอาท์เลท
  • บีทูเอส เอาท์เลท
  • ไทย พาวิลเลี่ยน ร้านค้าสินค้าในโครงการหนึ่งตำบล หนึ่งผลิตภัณฑ์ ภายใต้ความร่วมมือกับ กรมการค้าภายใน กระทรวงพาณิชย์
  • ท็อปส์
  • จุดบริการนักท่องเที่ยวและประชาชน
  • ศูนย์อาหารฟู้ด วิลเลจ

พื้นที่จัดสรรในอนาคต[แก้]

  • โรงแรม 200 ห้อง

การคมนาคม[แก้]

รถยนต์ส่วนบุคคล
  • ถนนบางนา-ตราด เลี้ยวเข้าถนนหมายเลข 370
  • ถนนมอเตอร์เวย์ (หมายเลข 7) โดยใช้ถนนสุวรรณภูมิ 3 เป็นถนนเชื่อมต่อเข้าสู่ถนนหมายเลข 370
  • ถนนลาดกระบัง โดยใช้ถนนสุวรรณภูมิ 3 เป็นถนนเชื่อมต่อเข้าสู่ถนนหมายเลข 370
  • ทางด่วนบูรพาวิถี ใช้ทางออกสนามบินสุวรรณภูมิ ลงสู่ถนนหมายเลข 370
รถโดยสารประจำทางและรถตู้ร่วมให้บริการ
  • สาย 552 ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ (Bus Terminal)-สถานีรถไฟฟ้าบีทีเอส อ่อนนุช (เฉพาะขาไปบีทีเอส อ่อนนุช)
รถโดยสารร่วมให้บริการ (Shuttle Bus)
ระบบขนส่งมวลชน
  • รถไฟฟ้าเชื่อมท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ
    • สถานีลาดกระบัง (ใช้ทางออกถนนร่มเกล้าเพื่อเข้าลานจอดรถของการทางพิเศษแห่งประเทศไทย เพื่อต่อรถโดยสารร่วมให้บริการไปเซ็นทรัล วิลเลจ)
    • สถานีสุวรรณภูมิ (ใช้ทางออกท่าอากาศยานสุวรรณภูมิแล้วใช้รถเวียนภายในไป Bus Terminal เพื่อต่อรถตู้สาย 552 หรือใช้ทางออกโรงแรมโนโวเทลกรุงเทพสุวรรณภูมิ ต่อรถโดยสารร่วมให้บริการไปเซ็นทรัล วิลเลจ)
  • รถไฟฟ้าสายสีเงิน (ช่วงธนาซิตี้ - ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ) สถานีเกริกวิทยาลัย (โครงการในอนาคต)

กรณีพิพาทกับ บริษัท ท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน)[แก้]

เมื่อวันที่ 21 สิงหาคม พ.ศ. 2562 บริษัท ท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน) ได้เข้าแจ้งความต่อ บริษัท เซ็นทรัลพัฒนา จำกัด (มหาชน) และบริษัท ซีพีเอ็น วิลเลจ จำกัด ว่า "ฐานก่อสร้างโครงการศูนย์การค้าเซ็นทรัล วิลเลจ รุกล้ำเข้ามาในเขตพื้นที่ของราชพัสดุ ซึ่งอยู่ในความครอบครองของกรมท่าอากาศยานไทย และเป็นพื้นที่ซึ่งอยู่ในความดูแล ของท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ" พร้อมทั้งนำกำลังพลเจ้าหน้าที่ทั้งภายในท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ และเจ้าหน้าที่ตำรวจจากสถานีตำรวจภูธรบางพลีกว่า 20 นาย แท่งแบริเออร์ และเต็นท์ผ้าใบขนาดใหญ่ เข้าปิดพื้นที่ศูนย์การค้าเซ็นทรัล วิลเลจ ทุกทางเข้าพื้นที่ พร้อมทั้งขึงเส้นแดงไม่ให้บุคคลภายนอกเข้าออกพื้นที่เป็นระยะทางกว่า 1 กิโลเมตร และตั้งป้ายประกาศขนาดใหญ่โดยฝ่ายบริหารทรัพย์สิน ทอท. ว่า "พื้นที่ในความครอบครองของ ทอท. ห้ามผู้ใดบุกรุก มิฉะนั้นจะดำเนินการตามกฎหมายโดยเด็ดขาด" ตั้งแต่เย็นของวันที่ 22 สิงหาคม พ.ศ. 2562 ส่งผลให้ บริษัท สยามมัลติคอน จำกัด ผู้รับเหมาก่อสร้างศูนย์การค้าฯ ไม่สามารถนำรถบรรทุกเข้าพื้นที่เพื่อดำเนินการก่อสร้างให้แล้วเสร็จได้ตามสัญญา และผู้รับเหมาต้องนำอุปกรณ์และวัสดุก่อสร้างใส่รถเข็นเข็นเข้าพื้นที่แทน

หลังจากเหตุการณ์ดังกล่าว บริษัท ซีพีเอ็น วิลเลจ จำกัด ผู้พัฒนาและบริหารศูนย์การค้า ได้ตั้งป้ายข้อความคัดค้านทันทีว่า "โครงการนี้ตั้งอยู่ติดทางหลวงแผ่นดิน มิได้มีการรุกล้ำพื้นที่ใคร" พร้อมขึ้นป้ายประกาศความหมายของคำว่า "ทางหลวงแผ่นดิน" และ "ไหล่ทาง" ตามความหมายที่บัญญัติโดยราชบัณฑิตยสถาน ก่อนเชิญสื่อมวลชนร่วมชมพื้นที่พร้อมชี้แจงปัญหาออกเป็น 3 ประเด็นดังนี้

  1. ที่ดินของศูนย์การค้า เป็นที่ดินที่ตั้งอยู่ติดทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 370 ซึ่งเซ็นทรัลพัฒนาได้รับใบอนุญาตในการเชื่อมต่อพื้นที่เป็นลายลักษณ์อักษรจากกรมทางหลวง อันเป็นหน่วยงานที่มีอำนาจในการตัดสินใจเชื่อมต่อไหล่ทางแต่เพียงผู้เดียว และด้วยเหตุนี้จึงทำให้ที่ดินของศูนย์การค้าไม่ได้เป็น "ที่ดินตาบอด" ตามที่ ทอท. กล่าวอ้าง
  2. โครงการนี้ได้ปฏิบัติตามกฎหมายผังเมืองและได้รับอนุญาตอย่างถูกต้องในการก่อสร้างในพื้นที่สีเขียว บริเวณ ก1-10 ไม่เกินร้อยละ 10 ของที่ดินพื้นที่สีเขียวบริเวณดังกล่าว โดยโครงการได้รับอนุญาตจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องตามกฎหมายผังเมือง และไม่ได้มีการขอปรับผังเมืองแต่อย่างใด
  3. เซ็นทรัลพัฒนาได้ขออนุญาตก่อสร้างในบริเวณพื้นที่เขตปลอดภัยในการเดินอากาศจากสำนักงานการบินพลเรือนแห่งประเทศไทยอย่างถูกต้องเมื่อวันที่ 30 มกราคม พ.ศ. 2560 และวันที่ 25 กรกฎาคม พ.ศ. 2562 โดยโครงการมีความปลอดภัยต่อการบิน ไม่ได้ละเมิดกฎใด ๆ ทั้งด้านความสูง และไม่มีกิจกรรมใด ๆ ที่จะส่งผลกระทบต่อการดำเนินงานสนามบินหรือรบกวนการบินแต่อย่างใด

หลังจากชี้แจงทั้งสามประเด็น เซ็นทรัลพัฒนาได้ยื่นเข้าฟ้อง ทอท. ต่อศาลปกครองกลาง เมื่อวันที่ 23 สิงหาคม พ.ศ. 2562 ในฐาน "กระทำการไม่ชอบด้วยกฎหมายและกระทำละเมิดกรณีบริษัท เซ็นทรัลพัฒนา จำกัด (มหาชน) กับพวก (บริษัท ซีพีเอ็น วิลเลจ จำกัด) ซึ่งกำลังดำเนินโครงการศูนย์การค้าเซ็นทรัล วิลเลจ ลักชูรี่ เอาท์เล็ต บริเวณใกล้สนามบินสุวรรณภูมิ ได้รับอนุญาตให้ทำทางเชื่อมในเขตทางหลวงได้เป็นการชั่วคราวจากผู้อำนวยการทางหลวงแผ่นดิน แต่เมื่อวันที่ 22 สิงหาคม 2562 ทอท. ตั้งเต็นท์ขวางทางเข้าออกโครงการและไม่อนุญาตให้ผู้ใดใช้ทางดังกล่าว เป็นเหตุให้ บริษัท เซ็นทรัลพัฒนา จำกัด (มหาชน) กับพวก ได้รับความเดือดร้อนและเสียหาย" โดยเรียกค่าเสียหายจาก ทอท. เป็นจำนวนเงิน 150.1 ล้านบาท พร้อมทั้งขออำนาจศาลให้กำหนดมาตรการบรรเทาทุกข์ชั่วคราวก่อนมีคำพิพากษา โดยให้ทอท. รื้อถอนสิ่งกีดขวางใด ๆ ออกไปจากทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 370[3] ซึ่งศาลปกครองกลางมีคำสั่งคุ้มครองชั่วคราวในวันที่ 30 สิงหาคม พ.ศ. 2562[4] ส่งผลให้เซ็นทรัลพัฒนาสามารถเปิดให้บริการศูนย์การค้าเซ็นทรัล วิลเลจ ได้ตามปกติในวันที่ 31 สิงหาคม พ.ศ. 2562[5]

หลังมีคำสั่งคุ้มครองชั่วคราว ศักดิ์สยาม ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม ได้มีการเรียกประชุมหน่วยงานทั้ง กระทรวงคมนาคม (ในฐานะหน่วยงานใหญ่ของ สำนักงานการบินพลเรือนแห่งประเทศไทย กรมท่าอากาศยาน และ ท่าอากาศยานไทย) และกระทรวงมหาดไทย (ในฐานะหน่วยงานใหญ่ของ กรมทางหลวง) เพื่อหาข้อยุติข้อพิพาทระหว่าง ทอท. และเซ็นทรัลพัฒนา โดยที่ประชุมมีการสรุปเบื้องต้นว่า ทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 370 เป็นพื้นที่ในความรับผิดชอบร่วมกันของกรมทางหลวง และกรมท่าอากาศยาน มิใช่พื้นที่ในความรับผิดชอบของ ทอท. เนื่องจากกรมท่าอากาศยานได้จัดซื้อที่ดินส่วนนี้จากประชาชนด้วยงบประมาณในช่วงปี 2511 - 2513 เพื่อใช้ในราชการของกรมท่าอากาศยาน และได้ขึ้นทะเบียนเป็นที่ดินราชพัสดุเป็นจำนวน 26 ทะเบียน รวมเนื้อที่ประมาณ 184-13-26 ไร่ ซึ่งภายหลังกรมท่าอากาศยานได้ใช้ประโยชน์จากที่ดินส่วนนี้เป็นทางเข้าออกท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ ด้านถนนบางนา-บางวัว และทางพิเศษบูรพาวิถี และให้กรมทางหลวงขึ้นทะเบียนเป็นทางหลวงแผ่นดิน จึงถือได้ว่าทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 370 มีสถานะเป็นสาธารณะสมบัติของแผ่นดิน[6]

ต่อมาในการประชุมของคณะทำงานแก้ปัญหาข้อพิพาททางหลวงแผ่นดินหมายเลข 370 ถนนเข้าสนามบินสุวรรณภูมิระหว่าง บริษัท ท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน) กับ บริษัท เซ็นทรัลพัฒนา จำกัด (มหาชน) ได้มีข้อสรุปว่าถนนเส้นดังกล่าวเป็นกรรมสิทธิ์ของกรมธนารักษ์ แต่อนุญาตให้กรมทางหลวง และกรมท่าอากาศยานใช้พื้นที่ร่วมกัน คณะทำงานฯ จึงมีมติให้จัดทำหนังสือแจ้งแก่ บริษัท ซีพีเอ็น วิลเลจ จำกัด รวมถึงเจ้าของกรรมสิทธิ์ที่ดินทั้งหมด 37 ราย ให้เข้ามาทำเรื่องขอเชื่อมต่อถนนใหม่กับกรมธนารักษ์ ซึ่งจะมีการคิดค่าเชื่อมต่อถนนตามอัตราของกรมธนารักษ์ จากเดิมที่กรมทางหลวงให้เชื่อมต่อถนนได้ฟรี ในส่วนคดีความ ศาลปกครองสูงสุดพิพากษายืนคำสั่งทางปกครองเดิมของศาลปกครองชั้นต้น ส่งผลให้เซ็นทรัลพัฒนาและพวกเป็นผู้ชนะคดี เนื่องจากศาลปกครองสูงสุดเห็นว่า ซีพีเอ็นและพวกเพียงขอเปิดใช้ทางเชื่อมระหว่างโครงการกับทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 370 เพื่อให้ยานพาหนะสามารถผ่านเข้า - ออก และขอใช้สาธารณูปโภคพื้นฐาน เพื่อประกอบกิจการโครงการเท่านั้น ยังไม่มีลักษณะถึงขั้นเป็นการขัดขวางหรือรบกวนการปฏิบัติงานของ ทอท. ฉะนั้นข้ออ้างของ ทอท. ที่ว่าการเปิดทางเชื่อมจะทำให้การจราจรบริเวณหน้าโครงการหนาแน่นขึ้น กระทบต่อการเดินทางของผู้ที่ต้องการใช้บริการท่าอากาศยาน ส่งผลกระทบต่อมาตรฐานการให้บริการ หรือกระทบต่อแผนพัฒนาท่าอากาศยาน เป็นเพียงการคาดการณ์เท่านั้น ซึ่งไม่แน่นอนว่าจะเกิดขึ้น อีกทั้งยังเป็นเรื่องที่สามารถป้องกันและแก้ไขได้ และตามที่มีข้อโต้แย้งว่าถนนดังกล่าวเป็นที่ราชพัสดุ เป็นเนื้อหาแห่งคดีที่ศาลต้องพิจารณาจากพยานหลักฐานของคู่กรณีต่อไป

อ้างอิง[แก้]

  1. "Central Village - Lifestyle+Travel". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2018-04-28. สืบค้นเมื่อ 2018-04-24.
  2. 7 ประเด็น "เซ็นทรัล วิลเลจ" Luxury Outlet ใกล้สุวรรณภูมิ
  3. เซ็นทรัลวิลเลจ- ทอท. รัวหมัดต่อหมัด รอบ 9 วัน “เจ้าที่ดินปะทะเจ้าถิ่น”
  4. เซ็นทรัล วิลเลจ เฮ! ศาลปกครอง สั่ง ทอท. เปิดทางเข้า-ออก ห้ามขัดขวางโครงการอีก
  5. เปิดวันแรกคึกคัก ‘เซ็นทรัล วิลเลจ’ ลักชูรี่ เอาท์เล็ตแห่งแรกของไทย ลูกค้ารอเปิดประตูแน่นกว่า 2,000 คน
  6. ศึก"เซ็นทรัล วิลเลจ"จบด้วยฝีมือ"ศักดิ์สยาม"