เบย์วอเตอร์

พิกัด: 13°49′18″N 100°33′50″E / 13.821608°N 100.564016°E / 13.821608; 100.564016
จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
เบย์วอเตอร์ (ชื่อชั่วคราว)
แผนที่
ที่ตั้งถนนพหลโยธิน แขวงจตุจักร เขตจตุจักร กรุงเทพมหานคร
พิกัด13°49′18″N 100°33′50″E / 13.821608°N 100.564016°E / 13.821608; 100.564016
เปิดให้บริการพ.ศ. 2571
ผู้บริหารงานบริษัท เบย์วอเตอร์ จำกัด โดย
เจ้าของบริษัท ซีพีเอ็น พัทยา จำกัด
พื้นที่ชั้นขายปลีก350,000 ตารางเมตร

เบย์วอเตอร์ (อังกฤษ: Baywater; เดิม: บางกอกโดม พลาซ่า; Bangkok Dome Plaza) เป็นโครงการพัฒนาพื้นที่เชิงพาณิชยกรรมแบบผสมจำนวน 48 ไร่บริเวณซอยพหลโยธิน 19 ในพื้นที่แขวงจตุจักร เขตจตุจักร กรุงเทพมหานคร บริหารงานโดย บริษัท เบย์วอเตอร์ จำกัด ซึ่งเป็นการร่วมทุนระหว่าง บริษัท เซ็นทรัลพัฒนา จำกัด (มหาชน) ร่วมกับ บริษัท แกรนด์ คาแนล แลนด์ จำกัด (มหาชน) โครงการประกอบไปด้วยศูนย์การค้าขนาดใหญ่ สำนักงาน โรงแรม และอาคารที่พักอาศัย

ประวัติ[แก้]

เบย์วอเตอร์ หรือในชื่อเดิม บางกอกโดม พลาซ่า เป็นโครงการพัฒนาศูนย์การค้าและอสังหาริมทรัพย์ขนาดใหญ่ของ บริษัท ยูนิเวสต์ แลนด์ จำกัด โดย ชาตรี บุญดีเจริญ โดยโครงการวางแผนพัฒนาเป็นอาคารประสมสูง 45 ชั้น ประกอบไปด้วยห้างสรรพสินค้า โรงแรมหรู สำนักงาน คอนโดมิเนียม 2 อาคาร สวนสนุก ด้วยแนวคิด โลกใต้น้ำ (Underwater World) ภายใต้งบลงทุนกว่า 10,000 ล้านบาท ซึ่งนับเป็นการลงทุนครั้งใหญ่ครั้งหนึ่งในสมัยนั้น โดยในช่วงแรกทางกลุ่มได้เปิดจองส่วนคอนโดมิเนียมตั้งแต่ พ.ศ. 2537 และมียอดจองกว่า 70% ของยอดทั้งหมด สร้างรายได้กว่า 5,000 ล้านบาท แต่แล้วโครงการทั้งหมดก็ล่มลงเนื่องจากประเทศไทยประสบภาวะเศรษฐกิจถดถอยจากวิกฤตต้มยำกุ้ง ทำให้ ยูนิเวสต์ แลนด์ ถูกฟ้องร้องจากธนาคารจนในที่สุดกรมบังคับคดีได้ยึดที่ดินผืนดังกล่าวเพื่อนำมาขายทอดตลาด และบริษัท ยูนิเวสต์ แลนด์ จำกัด รวมถึงตัว ชาตรี บุญดีเจริญ ถูกฟ้องล้มละลายจนต้องปิดตัวบริษัทในที่สุด

ต่อมาในราว ๆ พ.ศ. 2550 กรมบังคับคดีได้นำที่ดินผืนดังกล่าวออกประมูลทอดตลาด โดยมีผู้สนใจคือ กลุ่มซีพี กลุ่มเซ็นทรัล กลุ่มทีซีซี และธนาคารไทยพาณิชย์ ที่สนใจเข้าประมูลเพื่อนำที่ดินไปขายต่อให้นักลงทุนชาวต่างชาติ แต่หลังจากที่เริ่มมีข่าวคราวการประมูล เจ้าหนี้เก่าของยูนิเวสต์แลนด์หลายรายได้ยื่นฟ้องร้องกรมบังคับคดีต่อศาลแพ่งเพื่อเรียกร้องค่าเสียหาย หนี้เก่าทั้งหมดและสั่งให้กรมบังคับคดีหยุดการประมูลทันทีจนกว่าจะเคลียร์หนี้สินสำเร็จ ทำให้แผนการประมูลที่ดินดังกล่าวล่มลง และบริษัท บริหารสินทรัพย์ กรุงเทพพาณิชย์ จำกัด (มหาชน) หรือ BAM เจ้าหนี้รายใหญ่ได้ตัดสินใจเข้าซื้อและรับโอนหนี้ทั้งหมดของยูนิเวสต์แลนด์จากเจ้าหนี้รายย่อย เพื่อเป็นการเคลียร์ยอดหนี้ให้กรมบังคับคดีสามารถเปิดประมูลที่ดินผืนดังกล่าวได้อีกครั้ง และใน พ.ศ. 2558 กรมบังคับคดีได้นำที่ดินผืนดังกล่าวออกประมูลอีกครั้ง โดยครั้งนี้มี บริษัท แกรนด์ คาแนล แลนด์ จำกัด (มหาชน) ของ โยธิน บุญดีเจริญ ร่วมกับ บริษัท ยูนิคอร์น เอ็นเตอร์ไพรส์ จำกัด ในเครือ บริษัท บีทีเอส กรุ๊ป โฮลดิ้งส์ จำกัด (มหาชน) เข้าร่วมประมูลด้วย จนในที่สุด บริษัท เบย์วอเตอร์ จำกัด ซึ่งเป็นบริษัทร่วมทุนของแกรนด์ คาแนล แลนด์ และยูนิคอร์น เอ็นเตอร์ไพรส์ เป็นผู้ชนะการประมูลที่ดินผืนดังกล่าวในราคา 7,350 ล้านบาท และ BAM ได้รับเงินคืน 5,300 ล้านบาทจากกรมบังคับคดีในการประมูลครั้งนี้[1][2]

ภายหลังการประมูลสิ้นสุดลง ใน พ.ศ. 2559 กลุ่มบีทีเอสได้ตั้งงบประมาณ 200 ล้านบาท เพื่อเฉือนที่ดินบางส่วนของบางกอกโดมจำนวน 10 ไร่ ทำเป็นถนนสาธารณะ 8 เลนเชื่อมต่อระหว่างถนนวิภาวดีรังสิต กับถนนพหลโยธิน และวางแผนสร้างสถานีปลายทางใหม่ของรถไฟฟ้ามหานคร สายสีเหลือง ที่เป็นข้อเสนอเพิ่มเติมของกิจการร่วมค้าบีเอสอาร์ภายในที่ดินผืนนี้ รวมถึงตัดที่ดินบางส่วนเพื่อเตรียมจำหน่ายให้กับบริษัทร่วมทุนกับ บริษัท แสนสิริ จำกัด (มหาชน) เพื่อพัฒนาโครงการคอนโดมิเนียมภายในโครงการ และจะมีการเชิญชวนกลุ่มทุนอื่นๆ รวมถึงกลุ่มเซ็นทรัล เข้าร่วมพัฒนาที่ดินผืนดังกล่าวในจำนวนที่เหลืออีก 38 ไร่[3] แต่แล้วการสร้างสถานีใหม่บนที่ดินบางกอกโดม กลับไม่ได้รับการอนุมัติจากการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย ซึ่งมีผลทำให้สถานีปลายทางใหม่ของรถไฟฟ้าสายสีเหลือง ต้องย้ายไปอยู่ด้านหน้าสถานีตำรวจนครบาลพหลโยธิน ภายในอาณาบริเวณของการรถไฟแห่งประเทศไทยแทน ทำให้แผนพัฒนาโครงการบนที่ดินบางกอกโดมของกลุ่มบีทีเอสถูกหยุดชั่วคราว จนใน พ.ศ. 2561 โยธิน บุญดีเจริญ ได้ขายหุ้นทั้งหมดของแกรนด์ คาแนล แลนด์ ให้ซีพีเอ็น พัทยา เพื่อเป็นการออกจากธุรกิจอสังหาริมทรัพย์[4] ทำให้กลุ่มบีทีเอสตัดสินใจขายหุ้นทั้งหมดของเบย์วอเตอร์ให้กับเซ็นทรัลพัฒนา บริษัทแม่ของแกรนด์ คาแนล แลนด์ ใน พ.ศ. 2562 ซึ่งมีผลให้ที่ดินบางกอกโดมถูกเปลี่ยนเจ้าของอีกครั้งเป็นกลุ่มเซ็นทรัลจนถึงปัจจุบัน[5]

ต่อมาใน พ.ศ. 2565 เซ็นทรัลพัฒนา และแกรนด์ คาแนล แลนด์ ได้ประกาศตั้งงบสนับสนุนการลงทุนการพัฒนาโครงการให้กับเบย์วอเตอร์ฝ่ายละ 5,000 ล้านบาท รวมเป็นจำนวนเงิน 10,000 ล้านบาท เพื่อให้เบย์วอเตอร์เข้าพัฒนาโครงการบนที่ดินผืนดังกล่าวอันประกอบไปด้วยศูนย์การค้า โรงแรม คอนโดมิเนียม และอาคารสำนักงาน โดยเซ็นทรัลพัฒนาตั้งเป้าให้เบย์วอเตอร์เป็นโครงการทดแทนของ เซ็นทรัล ลาดพร้าว รวมถึงโรงแรมเซ็นทาราแกรนด์ แอท เซ็นทรัลพลาซา ลาดพร้าว เนื่องจากที่ดินผืนเดิมจะสิ้นสุดสัญญาเช่ากับการรถไฟแห่งประเทศไทยใน พ.ศ. 2571[6] ต่อมาเซ็นทรัลพัฒนาประกาศเพิ่มงบลงทุนโครงการเป็น 20,000 ล้านบาท และตั้งเป้าเป็นศูนย์การค้าขนาดใหญ่แห่งหนึ่งในกรุงเทพมหานคร

การจัดสรรพื้นที่[แก้]

การพัฒนาโครงการเบย์วอเตอร์จะแบ่งออกเป็นหลายส่วน ดังนี้

  • โครงการศูนย์การค้า ประกอบไปด้วยห้างสรรพสินค้าและร้านค้าในกลุ่มเซ็นทรัล โรงละคร และโรงภาพยนตร์ ความสูง 7 ชั้น (ชั้นใต้ดิน 3 ชั้น)
  • โรงแรมในเครือเซ็นทรัลพัฒนา
  • คอนโดมิเนียม โดย ซีพีเอ็น เรสซิเดนซ์
  • อาคารสำนักงาน โดย แกรนด์ คาแนล แลนด์

นอกจากนี้ ในโครงการยังมีแผนพัฒนาถนนเชื่อมกับถนนวิภาวดีรังสิตที่กลุ่มบีทีเอสได้พัฒนาค้างไว้เดิมให้แล้วเสร็จ รวมถึงมีแผนพัฒนาทางเชื่อมเข้ากับสถานีพหลโยธิน 24 ของรถไฟฟ้าบีทีเอส สายสุขุมวิท

อ้างอิง[แก้]

  1. คืบหน้า! มหากาพย์ มิกซ์ยูสเยื้องแดนเนรมิต !! ตัดถนน 8 เลน เชื่อมต่อวิภาวดี-พหลฯ เปลี่ยนบริเวณโดยรอบให้เป็นทำเลทองแห่งอนาคต
  2. BAM จ่อปี 61 บุ๊กรายได้ก้อนโต กรมบังคับคดีเคลียร์หนี้ “บางกอกโดม” เสร็จ จับตา CPN พัฒนามิกซ์ยูส
  3. "คีรี กาญจนพาสน์ ทุ่ม 200 ล้านตัดถนน 8 เลน เชื่อมพหลโยธินทะลุวิภาวดี". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2023-02-18. สืบค้นเมื่อ 2023-02-18.
  4. CPN ทุ่มหมื่นล้าน เทคโอเวอร์ GLAND เจ้าของตึกสูงสุดในอาเซียน-อาคารเซ็นทรัลพระราม 9
  5. CPN ทุ่ม 7.7 พันลบ.เข้าซื้อหุ้น “เบย์วอเตอร์” บ.ร่วมทุน BTS เพิ่มฐานเติบโตรายได้
  6. CPN ผุดยักษ์มิกซ์ยูสสร้างอาณาจักร พหลโยธิน