ตระกูลจิราธิวัฒน์
จิราธิวัฒน์ | |
---|---|
ตระกูลบรรพบุรุษ | แซ่เจ็ง |
ประเทศ | ประเทศไทย |
ถิ่นพำนักปัจจุบัน | กรุงเทพมหานคร |
นิรุกติศาสตร์ | จิ–รา–ทิ–วัด ภาษาบาลี: जीरा (จิร)+अधि (อธิ)+वट्टना (วฑฺฒน) "ความเจริญที่ยิ่งใหญ่มาช้านาน" |
ถิ่นกำเนิด | หมู่บ้านไหเค้า มณฑลไหหลำ ประเทศจีน |
ต้นตระกูล | เตียง แซ่เจ็ง |
ผู้นำคนปัจจุบัน | สุทธิชัย จิราธิวัฒน์ |
ตระกูลที่เกี่ยวข้อง | ราชสกุลกิติยากร |
ทรัพย์สิน | กลุ่มเซ็นทรัล |
ตระกูลจิราธิวัฒน์ เป็นตระกูลนักธุรกิจชาวไทยเชื้อสายจีน เป็นเจ้าของกลุ่มเซ็นทรัล ในปี พ.ศ. 2562 นิตยสาร ฟอบส์ จัดอันดับให้เป็นตระกูลที่มีความมั่งคั่งเป็นอันดับ 2 ของไทย มีมูลค่าทรัพย์สิน 6.7 แสนล้านบาท[1] ประกอบธุรกิจทั้งในประเทศและต่างประเทศ ครอบคลุม 9 หน่วยธุรกิจ รวมแล้วหลายสิบแบรนด์ จากข้อมูลวันที่ 20 กันยายน พ.ศ. 2562 มีจำนวนสมาชิกทั้งสิ้น 232 คน จาก 5 รุ่น[2] รุ่น 1 มี 1 คน รุ่นที่ 2 มี 38 คน แบ่งเป็นจิราธิวัฒน์ 23 คน คู่สมรส 15 คน รุ่นที่ 3 มี 90 คน แบ่งเป็นจิราธิวัฒน์ 57 คน คู่สมรส 33 คน รุ่นที่ 4 มี 86 คน แบ่งเป็นจิราธิวัฒน์ 76 คน คู่สมรส 10 คน และรุ่นที่ 5 มี 17 คน แบ่งเป็นจิราธิวัฒน์ 17 คน ในจำนวนนี้ มีคนที่ทำงานให้กับธุรกิจครอบครัวทั้งสิ้น 57 คน[3]
ประวัติ
[แก้]ต้นตระกูล
[แก้]ต้นตระกูลจิราธิวัฒน์ คือ เตียง แซ่เจ็ง ชาวจีนจากหมู่บ้านไหเค้า มณฑลไหหลำ ประเทศจีน อพยพมาประเทศไทยชั่วคราวครั้งหนึ่งเป็นเวลาสั้น ๆ เนื่องจากลี้ภัยโจรสลัดที่เข้าปล้นหมู่บ้าน ก่อนจะกลับประเทศจีนหลังเหตุการณ์นั้นสงบลง กระทั่งอพยพเข้ามาประเทศไทยอย่างถาวรพร้อมภรรยาที่ชื่อ หวาน เมื่อประมาณ พ.ศ. 2470 โดยมีบุตรชายคนโตที่เกิดในประเทศจีนคือ สัมฤทธิ์ จิราธิวัฒน์ (เกิด พ.ศ. 2468 เมื่อแรกเกิดชื่อ ฮกเส่ง ฮกแปลว่าลาภ เส่งแปลว่าสำเร็จ) ที่อพยพมาอยู่ในประเทศไทยเพราะเห็นว่าเมืองไทยนั้นมีความอุดมสมบูรณ์และมีชาวจีนอพยพมาอาศัยอยู่เป็นจำนวนมาก โดยมาอาศัยอยู่กับพ่อตาคือนายตงฮั้วและนางด่านตี๋ แซ่หง่าน ที่เดินทางล่วงหน้ามาก่อนแล้ว 2–3 ปี โดยมาช่วยกิจการร้านขายข้าวสารของพ่อตาที่ชื่อ อั้นฟงเหลา ต้้งอยู่ท่าช้าง วังหน้า
เตียงเริ่มประกอบธุรกิจของตัวเอง เปิดร้านกาแฟและขายของเบ็ดเตล็ดที่บางมด โดยยืมเงินพ่อตาจำนวน 300 บาท ต่อมาย้ายไปอยู่บริเวณที่ว่าการอำเภอบางขุนเทียน ตรงข้ามสถานีรถไฟวัดจอมทอง (วัดราชโอรส) ส่วนภรรยารับจ้างตัดเย็บเสื้อผ้า เขาตั้งชื่อร้านว่า "เข่งเส่งหลี" พอในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 ต้องเผชิญกับความยากลำบาก หวานผู้เป็นภรรยาเสียชีวิต สัมฤทธิ์ บุตรชายคนโตจึงมาช่วยดูแลธุรกิจ จนในปี พ.ศ. 2493 ครอบครัวของเตียงได้ขอให้ผู้ใหญ่ที่ครอบครัวเคารพนับถือตั้งชื่อนามสกุลให้ว่า "จิราธิวัฒน์" คำว่า จิระ หมายถึง ยืนนาน อธิ หมายถึง ความยิ่งใหญ่ และ วัฒน์ คือ วัฒนา เมื่อรวมแล้วหมายถึง ตระกูลที่มีความยิ่งใหญ่วัฒนาอย่างยาวนาน[4] ต่อมาครอบครัวเริ่มขยายใหญ่ขึ้นจนถึงเกือบ 30 ชีวิต จึงได้ตัดสินใจซื้อที่ดินเพื่อสร้างบ้านพักอย่างถาวรที่ศาลาแดง พื้นที่ 3 ไร่ ใน เมื่อปี พ.ศ. 2499 เตียงเสียชีวิตเมื่อปี พ.ศ. 2511 สัมฤทธิ์ในฐานะบุตรชายคนโตจึงรับหน้าที่ดูแลทรัพย์สินและมรดก
รุ่นที่ 2
[แก้]รุ่นที่ 2 ที่มี สัมฤทธิ์เป็นพี่ใหญ่ ประกอบด้วยน้องอีก 25 คน คือ สัมฤทธิ์มีน้องที่เกิดจากมารดาเดียวกัน 7 คน ส่วนน้องที่เกิดกับภรรยาคนที่สอง ที่ชื่อ บุญศรี มี 13 คน และน้องที่เกิดจาก วิภา ภรรยาคนที่สาม 5 คน
สัมฤทธิ์ที่เคยทำหน้าที่เป็นพนักงานขาย นำหนังสือไปขายยังร้านใหญ่ ๆ ในกรุงเทพฯ ที่ร้านของเพื่อน ภายหลังเพื่อนเลิกกิจการ สัมฤทธิ์เห็นว่าธุรกิจนี้มีกำไรมากจึงได้ดำเนินธุรกิจนี้ โดยยืมเงินบิดา 2,000 บาท สร้อยคอทองคำของภรรยา (ของขวัญงานแต่ง) และเงินออมส่วนตัวจำนวนหนึ่งนำมาลงทุนธุรกิจนี้ เป็นธุรกิจนำเข้านิตยสารจากสหรัฐมาขาย ธุรกิจประสบความสำเร็จดี เพราะต้นทุนต่ำและได้เปรียบเรื่องอัตราแลกเปลี่ยนเงินตราและยังไม่เสียภาษีนำเข้าอีกด้วย สัมฤทธิ์นำผลกำไรมาเสนอแก่บิดาและชักชวนให้มาร่วมทุนด้วย ในปี พ.ศ. 2490 ได้เซ้งห้องแถวที่ถนนเจริญกรุง ปากตรอกกัปตันบุช สี่พระยา เปิดเป็นร้านขายหนังสือ ใช้ชื่อร้านว่า "ห้างเซ็นทรัลเทรดดิ้ง" เป็นอาคาร 1 คูหา จำนวน 2 ชั้น ช่วงแรกเน้นขายหนังสือนำเข้าจากต่างประเทศและสินค้าจากสำเพ็ง สัมฤทธิ์ไม่จ้างลูกจ้างมาช่วยงาน และยังดำเนินการเสียภาษีด้วยตัวเอง จากนั้นได้รับน้องชายสองคน คือ วันชัย และสุทธิพร มาช่วยงานหลังโรงเรียนเลิก ต่อมาสัมฤทธิ์นำสินค้าที่ลงโฆษณาในนิตยสารมาขาย อาทิ ถุงเท้า เน็คไท เสื้อกล้าม กระโปรงพลีท และชุดชั้นในสตรี เป็นต้น ขยับขยายสินค้าประเภทใหม่ ๆ และใช้วิธีเป็นตัวแทนจำหน่ายจากสินค้ามีแบรนด์ เช่น เครื่องสำอางเฮเลน่า รูบินสไตน์ (Helena Rubinsteim) น้ำมันใส่ผมแคร้ปเดอชีน (Crepe de Chine) และเสื้อเชิ้ตแมนฮัตตัน (Manhattan) เป็นต้น
ต่อมาย้ายร้านไปที่ย่านสุริวงศ์ ริมถนนเจริญกรุง มีขนาด 3 คูหา จนได้เปิดสาขาใหม่ที่วังบูรพา เมื่อ พ.ศ. 2499 ในชื่อ "ห้างเซ็นทรัล" เป็นครั้งแรกที่นำระบบติดป้ายราคาและไม่มีการต่อราคามาใช้ ต่อมาเปิดสาขาเยาวราชแต่ไม่ประสบความสำเร็จ และ พ.ศ. 2507 เปิดสาขาใหม่ที่ราชประสงค์ เป็นตึกแถวขนาด 5 คูหา เปิดสาขาต่อมา สาขาสีลม เมื่อปี พ.ศ. 2511 ที่ถือเป็นห้างเซ็นทรัลแห่งแรกที่มีแผนกซูเปอร์มาร์เก็ต ในช่วง 2 ปีแรกที่เปิดขาดทุน แต่ได้ทำการตลาดอย่างหนักจนประสบความสำเร็จ และเปิดสาขาต่อมาที่สาขาชิดลม (2516), ลาดหญ้า (2524), ลาดพร้าว (2526), หัวหมาก (2531)[5]
เดือนสิงหาคม 2532 สัมฤทธิ์ป่วยด้วยโรคมะเร็งปอดจึงแต่งตั้งน้องชายคนรอง วันชัย จิราธิวัฒน์ เป็นประธานคณะกรรมการเครือเซ็นทรัล และจัดองค์กรใหม่โดยแบ่งกลุ่มธุรกิจผู้บริหารรับผิดชอบโดยตรง 5 กลุ่ม ไดแก่ กลุ่มธุรกิจค้าปลีก (CRC) มีสุทธิชาติ จิราธิวัฒน์ เป็นประธาน, กลุ่มพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ (CPN) มีสุทธิธรรม จิราธิวัฒน์ เป็นประธาน, กลุ่มธุรกิจอุตสาหกรรมและค้าส่ง (CMG) มี สุทธิศักดิ์ เป็นประธาน, กลุ่มธุรกิจโรงแรมมีสุทธิเกียรติเป็นประธาน และกลุ่มธุรกิจฟาสต์ฟู้ด มีสุทธิเกียรติเป็นประธานขณะนั้น[6] จนสัมฤทธิ์เสียชีวิตในปี 2535 วันชัยเป็นผู้นำองค์กรคนที่ 3 ในยุคการบริหารของวันชัย ธุรกิจเติบโตไปหลายด้าน เป็นยุคแห่งการขยายกิจการ ทั้งประกอบธุรกิจมอสังหาริมทรัพย์ประเภทต่าง ๆ ทั้งค้าปลีก โรงแรม และผลักดันเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย แตกร้านค้าปลีกขนาดใหญ่ เช่น ซูเปอร์สปอร์ต ไทวัสดุ เป็นต้น[2]
รุ่นที่ 3
[แก้]ทายาทรุ่นที่ 3 ของตระกูลจิราธิวัฒน์ ได้ขยายธุรกิจออกตลาดต่างประเทศ ตามเป้าหมายรับไม้ต่อจากรุ่นที่ 2 ผู้บริหารในรุ่นที่ 3 อาทิ กอบชัย, ทศ, ปริญญ์, เกรียงศักดิ์, พิชัย, ธีรยุทธ, ธีรเดช, ชาติ, อิศเรศ, ธรรม์, วัลยา, ยุวดี ฯลฯ โดยมีทศ จิราธิวัฒน์ เป็นประธานกรรมการบริหาร สุทธิชัย จิราธิวัฒน์ จากรุ่นที่ 2 ประธานกรรมการ บริษัท กลุ่มเซ็นทรัล จำกัด เอ่ยว่า "ทศเป็นตัวเลือกที่ดีที่สุดในการขับเคลื่อนธุรกิจทั้งเครือ เพราะทำงานในตำแหน่งระดับสูงของกลุ่มเซ็นทรัลมานาน มีความรอบรู้ลึกซึ้งในธุรกิจค้าปลีก ซึ่งเป็นหัวใจสำคัญของกลุ่มเซ็นทรัล และเป็นผู้นำที่มีสไตล์การทำงานเชิงรุก"[7] ส่วนชาติ จิราธิวัฒน์ถูกวางตัวให้เป็นอันดับสองของรุ่นที่ 3 ทำหน้าที่บริหารเซ็นทรัล เอ็มบาสซี[8]
ในการบริหารของทศ ประธานกรรมการบริหาร บริษัท กลุ่มเซ็นทรัล จำกัด กลุ่มธุรกิจแบ่งเป็น 9 กลุ่มหลักคือ กลุ่มธุรกิจห้างสรรพสินค้า (CDG), กลุ่มธุรกิจสินค้าอุปโภคบริโภค (CFG), กลุ่มธุรกิจวัสดุก่อสร้างสินค้าตกแต่งบ้านและเครื่องใช้ไฟฟ้า (CHG), กลุ่มธุรกิจอุปกรณ์เครื่องเขียน หนังสือ และออนไลน์, กลุ่มธุรกิจศูนย์การค้าและอสังหาริมทรัพย์ (CPN), กลุ่มธุรกิจบริหารและการตลาดสินค้าแฟชั่น (CMG), กลุ่มธุรกิจโรงแรมและรีสอร์ท (CHR), กลุ่มธุรกิจร้านอาหาร (CRG) และ กลุ่มเซ็นทรัลเวียดนาม (CGVN)[9] ในปี 2560 เซ็นทรัลได้ก้าวสู่ธุรกิจโลกออนไลน์ มีการลงทุนต่อเนื่องด้านเทคโนโลยีและโลจิสติกส์ เปิดตัวธุรกิจเจดี เซ็นทรัล ร่วมทุนกับ เจดี.คอม และเข้าซื้อหุ้นแกร็บ ประเทศไทย บริการการเดินทาง การส่งอาหาร ส่งสินค้าจากซูเปอร์มาร์เก็ต[10] ในปี พ.ศ. 2562 จะนำเซ็นทรัล รีเทล (CRC) ธุรกิจที่มีอายุยาวนานกว่า 72 ปี เข้าตลาดหลักทรัพย์[11]
รุ่นที่ 4
[แก้]รุ่นที่ 4 ของตระกูลจิราธิวัฒน์ เริ่มเข้ามีบทบาททางธุรกิจ ได้มีการแถลงข่าวกับสื่อมวลชนเปิดตัวทายาทรุ่นที่ 4 จำนวน 9 คน คือ
- ธาพิดา นรพัลลภ กรรมการผู้จัดการกลุ่มบริหารสินค้าออมนิชาแนล กลุ่มห้างสรรพสินค้าเซ็นทรัล ในเครือ เซ็นทรัล รีเทล
- จิระศักดิ์ จิราธิวัฒน์ ผู้อำนวยการฝ่ายลูกค้าสัมพันธ์ เจดีเซ็นทรัล
- โชดก พิจารณ์จิตร กรรมการผู้จัดการใหญ่ฝ่ายบริหารสินค้า เจดีเซ็นทรัล
- รวิศรา จิราธิวัฒน์ ประธานบริหารฝ่ายการตลาด บริษัท สรรพสินค้าเซ็นทรัล จำกัด และ บริษัท โรบินสัน จำกัด (มหาชน)
- อาคาร จิราธิวัฒน์ ผู้จัดการฝ่ายสินค้า เจดีเซ็นทรัล
- ณพัทธ์ จิราธิวัฒน์ ผู้ช่วยผู้จัดการฝ่ายพัฒนาธุรกิจ บริษัท เซ็นทรัลพัฒนา จำกัด (มหาชน)
- อธิวัฒน์ จิราธิวัฒน์ ผู้จัดการโปรเจ็กต์พิเศษ บริษัท สรรพสินค้าเซ็นทรัล จำกัด
- อธิเกียรติ จิราธิวัฒน์ ผู้จัดการฝ่ายการตลาด บริษัท โรบินสัน จำกัด
- ฤทธิ์ จิราธิวัฒน์ ผู้จัดการโปรเจ็กต์ "Central Chat&Shop" ของ CentralGroup Online.
ตระกูลจิราธิวัฒน์ในธุรกิจอื่น
[แก้]นอกเหนือจากที่ทำธุรกิจในเครือเซ็นทรัลแล้ว ศุภาวิตาและทยาวัต จิราธิวัฒน์ จากรุ่นที่ 4 ได้เริ่มสร้างธุรกิจตามความสนใจของตัวเอง คือ ทำธุรกิจคอนโดมิเนียมแกรนด์ดูเพล็กซ์[12]
ตระกูลจิราธิวัฒน์ยังมีบุคคลในวงการบันเทิง พิชัย จิราธิวัฒน์ ประธานคณะกรรมการพลังงานหอการค้าไทย นอกจากจะกรรมการบริหารผู้แทนบริษัทกลุ่มเซ็นทรัล ยังรับหน้าที่เป็นกรรมการผู้จัดการค่ายเพลงสไปซีดิสก์[13] ส่วนภัสสรกรณ์ จิราธิวัฒน์ รุ่นที่ 3 บุตรชายคนเล็กของสุทธิเกียรติ เป็นนักร้อง นักแสดง ที่สมรสกับนักแสดง ราศรี บาเล็นซิเอก้า เปิดบริษัท ป๊อก 9 เอ็นเทอร์เทนเมนท์ จำกัด รับผลิตงานบันเทิง ทุกรูปแบบ[14] พชร จิราธิวัฒน์ รุ่นที่ 4 เป็นนักแสดง นักดนตรี ทำธุรกิจ ร้านเฟรนช์ฟรายส์ชื่อ Potato Corner มีสาขาในไทยมากกว่า 34 แห่ง พชรยังเป็นเป็นผู้บริหารโปรดักชั่นสตูดิโอสำหรับทำเพลงภาพยนตร์ และเป็นที่ปรึกษาสำหรับ Live Concert ที่ชื่อ Viveka & Vehement Recording and Live Music Production[15] ส่วน พิมพิศา จิราธิวัฒน์ (แพร) พี่สาวของพชร ก็เคยมีผลงานเพลงเช่นกัน[16]ส่วน นาย สรรคนนท์ จิราธิวัฒน์ เป็นประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท เซ็น คอร์ปอเรชั่น กรุ๊ป จำกัด (มหาชน)
สภาครอบครัวและธรรมนูญครอบครัว
[แก้]ภายหลังจากเกิดวิกฤตการณ์การเงินในเอเชีย พ.ศ. 2540 ส่งผลต่อการดำเนินธุรกิจ วันชัย จิราธิวัฒน์ ผู้นำองค์กรคนที่ 3 ปรับโครงสร้างองค์กร เปลี่ยนจากธุรกิจแบบกงสีมาสู่ความเป็นมืออาชีพมากขึ้น โดยให้วิโรจน์ ภู่ตระกูล ซีอีโอคนแรกของลีเวอร์ บราเธอร์ (ประเทศไทย) หรือยูนิลีเวอร์ มาช่วยจัดทำสภาครอบครัวและร่างธรรมนูญครอบครัว ตั้งแต่ปี 2541 ใช้เวลา 4 ปี หรือปี 2545 จึงแล้วเสร็จ ธรรมนูญครอบครัวมีไว้สำหรับ ทายาทและคู่สมรส 5 รุ่น
โครงสร้างการปกครอง
[แก้]สำหรับโครงสร้างการปกครอง แบ่งเป็น 3 ส่วน[3]
- ครอบครัว มีสภาครอบครัว (Family council) มีสุทธิชัย จิราธิวัฒน์เป็นหัวหน้าสภา และมีผู้ใหญ่ในครอบครัว 14 คน มาจากสมาชิกทุกกลุ่มนั่งเป็นบอร์ดในสภา สภาครอบครัวทำหน้าที่ดูแลเรื่องพื้นฐานของสมาชิกครอบครัวจิราธิวัฒน์ อย่าง สวัสดิการ ค่าเล่าเรียน ค่ารักษาพยาบาล การจัดงานแต่งงาน งานศพ ฯลฯ
- ความเป็นเจ้าของ มี CG Board หรือมาจากเซ็นทรัล กรุ๊ป จากครอบครัวดูแล ยังมีคนนอกรวมเป็น 8-19 คน หน้าที่ของบอร์ดคือตัดสินใจเกี่ยวกับการลงทุนมูลค่าเกินกว่า 3,000 ล้านบาท รวมถึงรายงานผลการดำเนินงานของธุรกิจครอบครัว การจ่ายเงินปันผลด้วย
- ธุรกิจ มีทศเป็นหัวหน้า และปริญญ์ จิราธิวัฒน์ คุมการเงิน สำหรับหน้าที่ของกรรมการบริหารนี้คือจะตัดสินใจเกี่ยวกับการลงทุนมูลค่าต่ำกว่า 3,000 ล้านบาท โดยต้องแจ้ง CG Board ด้วย แต่ไม่ต้องตัดสินใจ
ธรรมนูญครอบครัว
[แก้]ตระกูลจิราธิวัฒน์มีการกำหนดรายละเอียด กฎระเบียบ หรือข้อตกลงต่าง ๆ ดังนี้ การแบ่งผู้ถือหุ้น ในส่วนของความเป็นเจ้าของ ผู้ที่มีสิทธิได้รับเงินปันผล คือ รุ่นที่ 2 หรือลูกคุณเตียงโดยตรง ซึ่งมีอยู่ 26 คน (ปัจจุบันเหลือ 23 คน) ทั้งนี้ทายาทในแต่ละสายเป็นผู้ได้รับประโยชน์ต่อ สมาชิกทั้ง 3 สาย ได้รับหุ้นในจำนวนที่เท่ากัน เริ่มมีการจ่ายเงินปันผลผู้ถือหุ้น ในปี พ.ศ. 2543 เป็นปีแรก ตระกูลไม่อนุญาตให้เขยหรือสะใภ้เข้ามาทำงานในเครือ เนื่องจากมองว่าแต่ละบ้านได้รับการเลี้ยงดู หรือเติบโตมาแตกต่างกัน ในด้านสวัสดิการ มีการกำหนดถึงขอบเขตของสิทธิ เช่น ฝั่งจิราธิวัฒน์ที่เป็นผู้หญิงอาจจะมีสิทธิในบางเรื่องบางอย่างน้อยกว่าผู้ชาย โดยเฉพาะในแง่ของการถ่ายทอดสิทธิสวัสดิการไปยังรุ่นถัดไป หรือในแง่ของการถือหุ้นที่อาจจะลดหลั่นลงมา ในการซื้อขายหุ้น ห้ามขายหุ้นให้แก่บุคคลอื่น แต่ขายหุ้นกันภายในครอบครัวได้[17]
ตระกูลมีเว็บไซต์ส่วนตัวเพื่อให้สมาชิกทุกคนในครอบครัวเข้าไปศึกษารายละเอียดของสิทธิ บทบาท และขอบเขตที่สมาชิก จะได้รับ ทั้งเรื่องที่อยู่อาศัย การศึกษา การรักษาพยาบาล การแต่งงาน รวมไปถึงการจัดการงานศพ นอกจากนั้นยังมีกำหนดวาระที่สมาชิกต้องมาพบปะกัน โดยสมาชิกครอบครัวจะมาพบปะกันทุกไตรมาสที่บ้านศาลาแดง โดยจะมาพบกันใน 2 เทศกาลสำคัญ คือ วันตรุษจีน กับวันคริสต์มาส และมีการจัด Chirathivat MIM (Management Information Meeting) อีกปีละ 2 ครั้ง ทั้งใน กรุงเทพและต่างจังหวัด
ธรรมนูญครอบครัวมีการกำหนดกฎและบทลงโทษ ทั้งมีการตักเตือน ทำทัณฑ์บน มีการตัดเงินสวัสดิการ และหากยังไม่มีการปรับปรุง หรือยังคงทำผิดมากเกินกว่า 3 ครั้งขึ้นไป ก็จะมีการใช้มาตรการสูงสุด เช่น ตัดเงินสวัสดิการที่เคยช่วยเหลือทั้งหมด นอกจากนั้นยังมีข้อคิดจากผู้ใหญ่ในตระกูล เช่น ให้อยู่ร่วมกันเป็นครอบครัว, ประหยัด, ขยัน มานะบากบั่น และซื่อสัตย์, มีความยุติธรรม, รับผิดชอบต่อหน้าที่, มีความต่อเนื่องของผู้บริหารทั้งคนในและคนนอก รวมทั้งการคิดค้นและสร้างนวัตกรรมใหม่ ข้อควรหลีกเลี่ยง เช่น การสูบบุหรี่, พูดมากไร้สาระ,ไม่ตรงต่อเวลา, โลภ เอาแต่ได้, อวดเก่งแต่ไม่เก่งจริง, เอาเปรียบผู้อื่น, เกียจคร้าน, โกง ปากกับใจไม่ตรงกัน, ไม่ฟังความเห็นผู้อื่น, ดื้อรั้น สติปัญญาน้อย[2]
อ้างอิง
[แก้]- ↑ "Thailand's 50 Richest". Forbes. สืบค้นเมื่อ 30 กันยายน 2562.
{{cite web}}
: ตรวจสอบค่าวันที่ใน:|access-date=
(help) - ↑ 2.0 2.1 2.2 "เปิด 'ธรรมนูญเซ็นทรัล' ย้อนรอย 7 ทศวรรษ เส้นทางบริหารกงสี 4 แสนล้าน และวิธีปกครอง 'ตระกูลจิราธิวัฒน์'". brandbuffet. 27 กันยายน 2562. สืบค้นเมื่อ 30 กันยายน 2562.
{{cite news}}
: ตรวจสอบค่าวันที่ใน:|access-date=
(help) - ↑ 3.0 3.1 สาวิตรี รินวงษ์ (29 กันยายน 2562). "เจาะ! ธรรมนูญครอบครัว 'จิราธิวัฒน์' เคลื่อนธุรกิจแสนล้าน". กรุงเทพธุรกิจ. สืบค้นเมื่อ 30 กันยายน 2562.
{{cite news}}
: ตรวจสอบค่าวันที่ใน:|access-date=
(help) - ↑ "เปิดบ้าน ประจำตระกูล 'จิราธิวัฒน์'". Truststore. 24 สิงหาคม 2562. สืบค้นเมื่อ 30 กันยายน 2562.
{{cite news}}
: ตรวจสอบค่าวันที่ใน:|access-date=
(help)[ลิงก์เสีย] - ↑ "กว่าจะเป็น "จิราธิวัฒน์" เจ้าของห้างสรรพสินค้าชื่อดัง ทำไมต้องใช้ชื่อ "เซ็นทรัล" ?". ศิลปวัฒนธรรม. 20 สิงหาคม 2562. สืบค้นเมื่อ 30 กันยายน 2562.
{{cite news}}
: ตรวจสอบค่าวันที่ใน:|access-date=
(help) - ↑ "เซ็นทรัลกรุ๊ปยุคที่ 3 ถึงเวลาไม้ต้องผลัดใบ". ผู้จัดการ. มีนาคม 2546. สืบค้นเมื่อ 30 กันยายน 2562.
{{cite news}}
: ตรวจสอบค่าวันที่ใน:|access-date=
(help) - ↑ "ทศ จิราธิวัฒน์ สร้าง 'เซ็นทรัล' จาก "good" to "great"". wealthythai. 12 สิงหาคม 2562. สืบค้นเมื่อ 2 ตุลาคม 2562.
{{cite news}}
: ตรวจสอบค่าวันที่ใน:|access-date=
(help)[ลิงก์เสีย] - ↑ ""เซ็นทรัล เอ็มบาสซี่" บทพิสูจน์ฝีมือทายาทรุ่นที่ 3 "ชาติ จิราธิวัฒน์"". ผู้จัดการออนไลน์. 4 พฤษภาคม 2557. สืบค้นเมื่อ 2 ตุลาคม 2562.
{{cite news}}
: ตรวจสอบค่าวันที่ใน:|access-date=
(help) - ↑ "เปิดตัวทายาทรุ่นที่ 4 ตระกูลจิราธิวัฒน์ ผู้สืบทอดธุรกิจ 6.6 แสนล้าน". แบรนด์เอจ. 25 กันยายน 2561. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2019-09-30. สืบค้นเมื่อ 30 กันยายน 2562.
{{cite news}}
: ตรวจสอบค่าวันที่ใน:|access-date=
(help) - ↑ "ทศ จิราธิวัฒน์ ลูกคนเล็ก แม่ทัพใหญ่ "เซ็นทรัล" ปั้นโร้ดแมพสู่เบอร์หนึ่งค้าปลีกโลกดิจิทัล". เดอะพีเพิล. 4 กุมภาพันธ์ 2562. สืบค้นเมื่อ 2 ตุลาคม 2562.
{{cite news}}
: ตรวจสอบค่าวันที่ใน:|access-date=
(help) - ↑ "ทำไม เซ็นทรัล รีเทล ถึงอยากเปลี่ยนนามสกุล จากจิราธิวัฒน์ สู่ มหาชน". MARKETEER ONLINE. 31 กรกฎาคม 2562. สืบค้นเมื่อ 2 ตุลาคม 2562.
{{cite news}}
: ตรวจสอบค่าวันที่ใน:|access-date=
(help) - ↑ "ทยาวัต จิราธิวัฒน์". เฮลโล. สืบค้นเมื่อ 30 กันยายน 2562.
{{cite news}}
: ตรวจสอบค่าวันที่ใน:|access-date=
(help) - ↑ จิรเดช โอภาสพันธ์วงศ์ (7 มีนาคม 2561). "พิชัย จิราธิวัฒน์ นักธุรกิจเลือดศิลปินที่เป็นหัวเรือใหญ่ของเซ็นทรัลกรุ๊ปและค่ายเพลงอินดี้อย่าง SPICYDISC". เดอะคลาวด์. สืบค้นเมื่อ 2 ตุลาคม 2562.
{{cite news}}
: ตรวจสอบค่าวันที่ใน:|access-date=
(help) - ↑ "'ป๊อก' เปิดบริษัทธุรกิจเอ็นเตอร์เทนเมนต์ สร้างฐานครอบครัวเพื่อลูก". ข่าวสด. 26 มิถุนายน 2561. สืบค้นเมื่อ 30 กันยายน 2562.
{{cite news}}
: ตรวจสอบค่าวันที่ใน:|access-date=
(help) - ↑ "พชร จิราธิวัฒน์". เฮลโล. สืบค้นเมื่อ 30 กันยายน 2562.
{{cite web}}
: ตรวจสอบค่าวันที่ใน:|access-date=
(help) - ↑ "สาวน้อยพันล้าน! แพร พิมพิศา จิราธิวัฒน์". ผู้จัดการออนไลน์. 26 มีนาคม 2553. สืบค้นเมื่อ 2 ตุลาคม 2562.
{{cite news}}
: ตรวจสอบค่าวันที่ใน:|access-date=
(help) - ↑ "เปิดกงสี 'จิราธิวัฒน์' สมบัติแสนล้าน พี่น้องรักใคร่ ไม่ฆ่าฟัน จัดการอย่างไร?". ไทยรัฐออนไลน์. 18 กันยายน 2561. สืบค้นเมื่อ 30 กันยายน 2562.
{{cite news}}
: ตรวจสอบค่าวันที่ใน:|access-date=
(help)