ข้ามไปเนื้อหา

ฟุตบอลทีมชาติซูรินาม

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
ซูรินาม
Shirt badge/Association crest
ฉายาNatio (ทีมแห่งชาติ)
A-Selektie (ผู้ถูกเลือก)
สมาคมสมาคมฟุตบอลซูรินาม
สมาพันธ์ย่อยสหภาพฟุตบอลแคริบเบียน
สมาพันธ์คอนคาแคฟ (อเมริกาเหนือ)
หัวหน้าผู้ฝึกสอนDean Gorré
ติดทีมชาติสูงสุดMarlon Felter (48)
ทำประตูสูงสุดStefano Rijssel (14)
สนามเหย้าAndré Kamperveen Stadion
รหัสฟีฟ่าSUR
อันดับฟีฟ่า
อันดับปัจจุบัน 141 เพิ่มขึ้น 3 (20 มิถุนายน 2024)[1]
อันดับสูงสุด84 (สิงหาคม 2008)
อันดับต่ำสุด191 (ธันวาคม 2015)
เกมระดับนานาชาติครั้งแรก
เนเธอร์แลนด์ ซูรินาม 0–5 กายอานาของอังกฤษ ธงชาติกายอานาของอังกฤษ
(ซูรินาม; 17 สิงหาคม 1915)[2]
ชนะสูงสุด
เนเธอร์แลนด์ ซูรินาม 9–0 เฟรนช์เกียนา ฝรั่งเศส
(ซูรินาม; 2 มีนาคม 1947)
เนเธอร์แลนด์ ซูรินาม 9–0 กายอานาของอังกฤษ ธงชาติกายอานาของอังกฤษ
(เนเธอร์แลนด์แอนทิลลีส; 17 กุมภาพันธ์ 1952)
เนเธอร์แลนด์ ซูรินาม 9–0 กายอานาของอังกฤษ ธงชาติกายอานาของอังกฤษ
(อารูบา; 9 กุมภาพันธ์ 1953)
แพ้สูงสุด
เนเธอร์แลนด์ ซูรินาม 2–9 เนเธอร์แลนด์ ธงชาติเนเธอร์แลนด์
(ปารามารีโบ ซูรินาม; 30 กรกฎาคม 1958)
เนเธอร์แลนด์ ซูรินาม 1–8 อารูบา เนเธอร์แลนด์
(ซูรินาม; 6 มิถุนายน 1946)
เม็กซิโก เม็กซิโก 8–1 ซูรินาม ธงชาติซูรินาม
(มอนเตร์เรย์ เม็กซิโก; 15 ตุลาคม 1977)
ธงชาติคอสตาริกา คอสตาริกา 7–0 ซูรินาม ธงชาติซูรินาม
(ซันโฮเซ คอสตาริกา; 6 กันยายน 2008)
โกลด์คัพ
เข้าร่วม3 (ครั้งแรกใน 1977)
ผลงานดีที่สุดอันดับที่ 6 (1977)
เกียรติยศ
แคริบเบียนคัพ
เหรียญทอง - ชนะเลิศ ตรินิแดดและโตเบโก 1978 ทีม
เหรียญทองแดง - อันดับที่ 3 ซูรินาม 1979 ทีม

ฟุตบอลทีมชาติซูรินาม (ดัตช์: Surinaams voetbalelftal; Sranan Tongo: Sranankondre fubal pluga) เป็นทีมฟุตบอลตัวแทนของประเทศซูรินาม อยู่ภายใต้การดูแลของสมาคมฟุตบอลซูรินาม หนึ่งในสมาชิกของคอนคาแคฟ

ประวัติ

[แก้]

แม้ว่าอดีตอาณานิคมดัตช์แห่งนี้จะตั้งอยู่ในทวีปอเมริกาใต้ แต่ทีมชาติซูรินามกลับเป็นสมาชิกของคอนคาแคฟ เช่นเดียวกันกับกายอานาและเฟรนช์เกียนา ซูรินามเป็นหนึ่งในสมาชิกผู้ร่วมก่อตั้งคอนคาแคฟในปี 1961 พวกเขาชนะเลิศฟุตบอลแคริบเบียนในปี 1978 และเป็นรองแชมป์ในปี 1979 นอกจากนี้ พวกเขายังจบอันดับที่สี่ในรายการนี้อีกสามครั้ง เนื่องจากซูรินามไม่รับรองการถือสองสัญชาติ ทำให้ผู้เล่นชาวซูรินามเชื้อสายดัตช์ที่ถือหนังสือเดินทางเนเธอร์แลนด์ไม่สามารถถูกเรียกติดทีมชาติได้[3] ผู้เล่นที่เกิดในซูรินามและผู้เล่นชาวดัตช์ที่มีเชื้อสายซูรินามหลายคน อาทิ เจอรัลด์ ฟาเนนเบิร์ก, รืด คึลลิต, ฟรังก์ ไรการ์ด, เอ็ดการ์ ดาวิดส์, คลาเรนซ์ ซีดอร์ฟ, แพทริค ไคลเวิร์ต, อารอน วินเทอร์, จอร์จีนีโย ไวนัลดึม, เฟอร์จิล ฟัน ไดก์ และจิมมี โฟลยด์ ฮัสเซิลบังก์ จึงเลือกเล่นให้กับทีมชาติเนเธอร์แลนด์ ใน ค.ศ. 1999 ฮัมฟรีย์ ไมนัลส์ซึ่งเคยเล่นให้กับทั้งซูรินามและเนเธอร์แลนด์ ถูกเลือกให้เป็นนักฟุตบอลยอดเยี่ยมแห่งศตวรรษของซูรินาม[4] อันเดร คามเปอร์วีน ผู้ทำหน้าที่เป็นกัปตันทีมชาติซูรินามในทศวรรษ 1940 เป็นชาวซูรินามคนแรกที่ลงเล่นฟุตบอลระดับอาชีพในเนเธอร์แลนด์

ซูรินามแข่งขันในรอบคัดเลือกของฟุตบอลโลกทุกครั้งมาตั้งแต่ปี 1962 แต่ก็ยังไม่เคยผ่านเข้าไปเล่นในรอบสุดท้ายเลยสักครั้ง ผลงานที่ดีที่สุดในรอบคัดเลือกเกิดขึ้นในรอบคัดเลือกฟุตบอลโลก 1978 ที่พวกเขาเข้าถึงรอบแบ่งกลุ่มรอบสุดท้ายได้

ซูรินามจบอันดับที่สองในรอบคัดเลือกโซนคอนคาแคฟที่คัดเลือกทีมไปแข่งขันโอลิมปิกฤดูร้อน 1964 รองจากเม็กซิโก ต่อมาพวกเขาจบอันดับที่สามในรอบคัดเลือกสำหรับโอลิมปิกฤดูร้อน 1980 รองจากคอสตาริกาและสหรัฐ อย่างไรก็ตาม สหรัฐคว่ำบาตรไม่เข้าร่วมแข่งขันโอลิมปิกที่มอสโก ทำให้คิวบาได้สิทธิ์เข้าร่วมแข่งขันแทนเพราะซูรินามก็คว่ำบาตรด้วยเช่นกัน

ในปี 2008 ซูรินามสามารถเข้าถึงรอบแบ่งกลุ่มในรอบคัดเลือกฟุตบอลโลก 2010 โซนคอนคาแคฟแม้ว่าทีมจะใช้แต่ผู้เล่นท้องถิ่นเป็นหลัก ชัยชนะทั้งสองเลกเหนือทีมเพื่อนบ้านอย่างกายอานา ทำให้พวกเขาผ่านเข้าสู่รอบคัดเลือกรอบที่สาม โดยไปพบกับเฮติ, คอสตาริกา และเอลซัลวาดอร์

แรงบันดาลใจจากทีมชาติที่ประสบความสำเร็จด้วยผู้เล่นที่ถือสองสัญชาติอย่างแอลจีเรีย ทำให้ประธานสมาคมฟุตบอลซูรินาม จอห์น กริซนาดาธ ยอมรับข้อเสนอที่อนุญาตให้ผู้เล่นถือสองสัญชาติเพื่อเพิ่มโอกาสในการเข้ารอบสุดท้ายของฟุตบอลโลก 2018[5] เพื่อเป็นการสนับสนุนโครงการนี้ ทีมที่มีผู้เล่นระดับอาชีพที่เกิดในซูรินามจะถูกเรียกเพื่อรวมตัวและแข่งขันในนัดกระชับมิตรเมื่อวันที่ 26 ธันวาคม ค.ศ. 2014 ที่สนามกีฬาอันเดร คามเปอร์วีน โครงการนี้ดำเนินการโดยนอร์ดิน วอเทอร์และเดวิด เอนดท์ พวกเขาส่งจดหมายเชิญผู้เล่นที่เกิดในซูรินามทั้งหมด 100 คน โดยมีผู้เล่นที่ตอบรับทั้งสิ้น 85 คน และดีน คอร์เรจะทำหน้าที่เป็นผู้ฝึกสอนให้กับทีมชุดพิเศษนี้ ฟีฟ่าให้การสนับสนุนโครงการนี้แม้ว่าการแข่งขันนัดนี้จะไม่ได้รับรองอย่างเป็นทางการก็ตาม[6]

เดือนพฤษภาคม ค.ศ. 2015 คอร์เรรับหน้าที่เป็นผู้ฝึกสอนของทั้งทีมชุดทางการและไม่เป็นทางการ โดยทีมประกอบไปด้วยผู้เล่นที่เต็มใจจะเล่นให้กับซูรินามถ้าการถือสองสัญชาติได้รับการอนุมัติ ต่อมาใน ค.ศ. 2016 โรแบร์โต เกอเดเคิน กลับเข้ามาเป็นหัวหน้าผู้ฝึกสอนอีกครั้ง ต่อมาในรอบคัดเลือกของแคริบเบียนคัพ 2017 (ซึ่งถือเป็นรอบคัดเลือกของคอนคาแคฟโกลด์คัพ 2017 ไปในตัว) ซูรินามจบอันดับที่สองของกลุ่มรองจากจาเมกา แต่เป็นหนึ่งในสามทีมที่เป็นอันดับสองที่ดีที่สุด ซูรินามต้องไปเพลย์ออฟชิงอันดับที่ห้ากับตรินิแดดและโตเบโกและเฮติ พวกเขาเอาชนะตรินิแดดและโตเบโก แต่แพ้ให้กับเฮติ จึงไม่สามารถผ่านเข้าไปเล่นในรอบสุดท้ายของคอนคาแคฟโกลด์คัพได้

ใน ค.ศ. 2018 ดีน คอร์เรเซ็นสัญญาสองปีกับสมาคมเพื่อคุมทีมชาติอีกครั้ง เขาคุมซูรินามนัดแรกด้วยการเสมอกับโดมินิกาในรอบคัดเลือกเนชันส์ลีก คอร์เรไม่เพียงแค่เป็นหัวหน้าผู้ฝึกสอนของทีมชุดใหญ่เท่านั้น แต่ยังทำหน้าที่ดูแลทีมชาติชุดเยาวชนและให้ความช่วยเหลือเกี่ยวกับลีกอาชีพในประเทศ คอร์เรยังจัดการพาทีมชาติไปฝึกซ้อมที่เนเธอร์แลนด์เพื่อทดสอบความแข็งแกร่งกับสโมสรฟุตบอลอาชีพและสมัครเล่น

ซูรินามผ่านเข้าไปเล่นในคอนคาแคฟเนชันส์ลีก ลีกบี หลังจากที่เอาชนะเซนต์คิตส์และเนวิสและหมู่เกาะบริติชเวอร์จิน เสมอกับโดมินิกา และแพ้ให้กับจาเมกา ซูรินามแข่งขันในเนชันส์ลีกโดยอยู่กลุ่มเดียวกันกับนิการากัว, เซนต์วินเซนต์และเกรนาดีนส์ และโดมินิกา พวกเขาเริ่มต้นด้วยการบุกชนะโดมินิกา ก่อนที่จะเปิดบ้านถล่มนิการากัว 6–0

เดือนพฤศจิกายน ค.ศ. 2019 หนังสือเดินทางกีฬาได้อนุญาตให้นักฟุตบอลอาชีพชาวดัตช์ที่เป็นชาวซูรินามพลัดถิ่นสามารถเลือกเล่นให้กับทีมชาติซูรินามได้[7] วันที่ 19 พฤศจิกายน ซูรินามผ่านเข้าไปเล่นในคอนคาแคฟโกลด์คัพ 2021 รอบสุดท้ายหลังจากที่เอาชนะนิการากัว 2–1[8] นี่เป็นการปรากฏตัวครั้งแรกของซูรินามในคอนคาแคฟโกลด์คัพนับตั้งแต่เปลี่ยนชื่อการแข่งขันใน ค.ศ. 1985

ในคอนคาแคฟโกลด์คัพ 2021 ซูรินามอยู่กลุ่มซีร่วมกับคอสตาริกา, จาเมกา และกัวเดอลุปซึ่งเป็นทีมชนะในรอบคัดเลือกนัดที่ 8 ซูรินามแพ้สองนัดแรกต่อจาเมกาและคอสตาริกา แม้ว่าจะเอาชนะกัวเดอลุปในนัดสุดท้ายของกลุ่ม แต่พวกเขาจบอันดับที่สามของกลุ่ม ไม่สามารถผ่านเข้าสู่รอบแพ้คัดออกได้

อ้างอิง

[แก้]
  1. "The FIFA/Coca-Cola World Ranking". FIFA. 20 มิถุนายน 2024. สืบค้นเมื่อ 20 มิถุนายน 2024.
  2. https://www.11v11.com/teams/suriname/tab/opposingTeams/opposition/Curacao/
  3. Boehm, Charles (29 January 2014). "Stefano Rijssel, Seattle Sounders and the strange case of Surinamese soccer". Soccerwire. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2019-07-10. สืบค้นเมื่อ 26 August 2016.
  4. "Het debuut van Humphrey Mijnals". Olympisch Stadion. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2013-09-21.
  5. "Suriprofs geïnformeerd over WK 2018-project". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2021-07-30. สืบค้นเมื่อ 2021-07-30.
  6. "FIFA bereidt om Suriprofs te verzekeren". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2018-07-09. สืบค้นเมื่อ 2021-07-30.
  7. Kok, Nik. "Nigel Hasselbaink wil debuteren voor Suriname". ad.nl (ภาษาดัตช์). Algemeen Dagblad. สืบค้นเมื่อ 19 November 2019.
  8. Oosterwolde, Terence. "'Natio' kwalificeert zich voor Gold Cup". dwtonline.com (ภาษาดัตช์). de Ware Tijd. สืบค้นเมื่อ 19 November 2019.

แหล่งข้อมูลอื่น

[แก้]

แม่แบบ:ฟุตบอลในประเทศซูรินาม