เซ็นทรัล เอ็มบาสซี

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
เซ็นทรัล เอ็มบาสซี
เซ็นทรัล เอ็มบาสซี logo
แผนที่
ที่ตั้ง1031 ถนนเพลินจิต (ศูนย์การค้าและห้างสรรพสินค้า)
88 ถนนวิทยุ (โรงแรม)[1]
แขวงลุมพินี เขตปทุมวัน กรุงเทพมหานคร
เปิดให้บริการ9 พฤษภาคม พ.ศ. 2557 (ศูนย์การค้าและห้างสรรพสินค้า)
7 มิถุนายน พ.ศ. 2557 (โรงภาพยนตร์)
12 พฤษภาคม พ.ศ. 2560 (โรงแรม)[1]
ผู้บริหารงาน
  • บริษัท เซ็นทรัลแอมบาสซีพลาซา จำกัด
  • บริษัท เซ็นทรัลแอมบาสซีโฮเต็ล จำกัด
เจ้าของ
  • บริษัท เตียง จิราธิวัฒน์ จำกัด
  • บริษัท ซีพีเอ็น แอนด์ เอชเคแอล จำกัด
พื้นที่ชั้นขายปลีก144,000 ตารางเมตร
จำนวนชั้น41 ชั้น (อาคารเอ็มบาสซีปาร์ค)
44 ชั้น (อาคารเอ็มบาสซี เฟส 2)
ที่จอดรถ1,100 คัน
ขนส่งมวลชน เพลินจิต
รถโดยสารประจำทาง สาย 2, 13, 25, 40, 501, 508, 511, 3-1, 3-11, 3-53, 3-54, 4-3
เว็บไซต์www.centralembassy.com

เซ็นทรัล เอ็มบาสซี (อังกฤษ: Central Embassy) เป็นโครงการพัฒนาพื้นที่พาณิชยกรรมแบบประสมแห่งหนึ่งในกรุงเทพมหานคร อันประกอบไปด้วยศูนย์การค้าระดับบน ห้างสรรพสินค้า โรงแรม และอาคารสำนักงาน บริหารงานโดย กลุ่มธุรกิจบริหารสรรพสินค้า บริษัท กลุ่มเซ็นทรัล จำกัด และบริษัท สรรพสินค้าเซ็นทรัล จำกัด ตั้งอยู่หัวมุมทิศตะวันตกเฉียงเหนือของแยกเพลินจิต (จุดตัดถนนเพลินจิตและถนนวิทยุ) บนพื้นที่ 35 ไร่ อันเป็นที่ตั้งเดิมของสถานเอกอัครราชทูตสหราชอาณาจักรประจำประเทศไทย ที่กลุ่มเซ็นทรัลชนะการประมูล โครงการดังกล่าวเป็นส่วนหนึ่งของโครงการเพลินจิตซิตี้ ที่นำโครงการโดย บริษัท ยูนิเวนเจอร์ จำกัด เจ้าของอาคารปาร์คเวนเจอร์ รวมทั้งโรงแรมโอคุระเพรสทีจ กรุงเทพฯ และโครงการเซ็นทรัลแบงค็อก ของกลุ่มเซ็นทรัล ที่เชื่อมต่อศูนย์การค้าเซ็นทรัล เอ็มบาสซี ห้างสรรพสินค้าเซ็นทรัล ชิดลม และศูนย์การค้าเซ็นทรัลเวิลด์ เข้าเป็นพื้นที่เดียวกัน

ประวัติ[แก้]

ตามประวัติที่ดินอันเป็นที่ตั้งของศูนย์การค้าเซ็นทรัล เอ็มบาสซี เดิมเคยเป็นส่วนหนึ่งของ สถานเอกอัครราชทูตสหราชอาณาจักรประจำประเทศไทย โดยสถานกงสุลอังกฤษ (สถานะเดิมของสถานเอกอัครราชทูตในขณะนั้น) ได้ซื้อที่ดินต่อมาจาก พระยาภักดีนรเศรษฐ (เลิศ เศรษฐบุตร) เพื่อสร้างเป็นกงสุลแห่งใหม่ ในอดีตพื้นที่แห่งนี้ก่อนที่พระยาภักดีนรเศรษฐหรือนายเลิศเป็นเจ้าของนั้น พื้นที่เป็นทุ่งนาโล่งกว้างห่างไกลชุมชน การเดินทางทางเรือเป็นหลักโดยใช้ คลองแสนแสบ ซึ่งขณะนั้นยังไม่มีถนนตัดผ่าน นายเลิศได้เล็งการณ์ไกลไว้ว่าถ้ามีสถานกงสุลอังกฤษมาตั้งในย่านนี้ พื้นที่ย่านนี้จะเจริญขึ้นในอนาคตแน่นอน ซึ่งก็เป็นจริงตามที่คาดการณ์ไว้เมื่อทางราชการได้มีการตัด ถนนวิทยุ และ ถนนเพลินจิต ขึ้น

โครงการศูนย์การค้าเซ็นทรัล เอ็มบาสซี มีจุดเริ่มต้นมาจาก เมื่อปี พ.ศ. 2549 ที่กลุ่มเซ็นทรัลได้ชนะการประมูลที่ดินบริเวณด้านหน้าของ สถานเอกอัครราชทูตสหราชอาณาจักรประจำประเทศไทย ติดกับถนนเพลินจิต โดยได้รับการจัดอันดับจากสื่อมวลชนหลายแขนงว่าเป็นที่ดินที่มีราคาสูงที่สุดในประเทศไทยในขณะนั้น ซึ่งทางสถานทูตชี้แจงว่าสาเหตุที่ขายออกเพราะต้องการนำเงินจากการขายที่ดินไปปรับปรุงอาคารสถานทูตเก่าที่อยู่ในสภาพทรุดโทรม หลังจากชนะการประมูลแล้ว กลุ่มเซ็นทรัล ได้มอบหมายให้เซ็นทรัลพัฒนาเป็นผู้รับผิดชอบโครงการนี้ แต่เนื่องจากในขณะนั้นเซ็นทรัลพัฒนาเองมีโครงการที่อยู่ในระหว่างการดำเนินการหลายโครงการ กลุ่มเซ็นทรัลจึงนำโครงการมาบริหารและพัฒนาด้วยตนเอง โดยจัดตั้ง บริษัท เซ็นทรัลแอมบาสซีพลาซา จำกัด สำหรับบริหารศูนย์การค้า และ บริษัท เซ็นทรัลแอมบาสซีโฮเต็ล จำกัด สำหรับบริหารโรงแรม โดยความร่วมมือกับกลุ่มโรงแรมไฮแอท ซึ่งก่อนหน้านี้เคยร่วมกันบริหารพื้นที่โรงแรมในโครงการเซ็นทรัลลาดพร้าว[2] ส่วนเซ็นทรัลพัฒนาซึ่งมีประสบการณ์ในการบริหารศูนย์การค้าจะเป็นผู้ช่วยดูแลโครงการ

ตามแผนแล้วเซ็นทรัล เอ็มบาสซีมีแผนเปิดศูนย์การค้าอย่างเป็นทางการในปลายปี พ.ศ. 2556 แต่เนื่องจากความล่าช้าในการก่อสร้าง ทำให้ต้องเลื่อนการเปิดศูนย์การค้ามาเป็นช่วงเดือนกุมภาพันธ์ พ.ศ. 2557 แต่หลังจากที่กลุ่ม กปปส. ได้เริ่มปักหลักชุมนุมในพื้นที่บริเวณกรุงเทพมหานครชั้นใน ทำให้การก่อสร้างโครงการต้องหยุดชะงักลงตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา และทำให้เซ็นทรัล เอ็มบาสซีต้องเลื่อนเปิดศูนย์การค้าอีกครั้ง เป็นเดือนมีนาคม พ.ศ. 2557 แต่จากสถานการณ์ที่ไม่น่าไว้วางใจ ทำให้กลุ่มเซ็นทรัลต้องเลื่อนการเปิดศูนย์การค้าอีกครั้งนับเป็นครั้งที่ 4 คือภายในเดือนพฤษภาคม พ.ศ. 2557 หลังจากเหตุสงบลง กลุ่มเซ็นทรัลก็ได้ประกาศวันเปิดตัวศูนย์การค้าเซ็นทรัล เอ็มบาสซี ซึ่งก็คือวันที่ 9 พฤษภาคม พ.ศ. 2557 โดยในวันดังกล่าวจะมีร้านค้าบางส่วนเปิดทำการ

ปัจจุบันทั้งตัวศูนย์การค้าและโรงแรมปาร์ค ไฮแอท กรุงเทพฯ ได้เปิดบริการครบทุกส่วนแล้ว ซึ่งกลุ่มเซ็นทรัลได้จัดงานเปิดตัวศูนย์การค้าและโรงแรมอย่างเป็นทางการ เมื่อวันที่ 18 พฤษภาคม พ.ศ. 2560 ภายใต้แนวคิด "นี่ คือสิ่งที่พาฉันมา" (This Brings Me Here)[3]

โครงการส่วนขยาย[แก้]

ใน พ.ศ. 2560 กระทรวงการต่างประเทศแห่งประเทศอังกฤษ และรัฐบาลอังกฤษได้ประกาศขายที่ดินอันเป็นที่ตั้งของสถานเอกอัครราชทูตสหราชอาณาจักรประจำประเทศไทยในส่วนที่เหลือทั้งหมดจำนวน 9.2 เอเคอร์ หรือ 23 ไร่ 1 งาน 80 ตารางวา โดยมีผู้เข้าร่วมประมูลคือ กลุ่มไทยเจริญคอร์ปอเรชัน และกลุ่มเซ็นทรัล โดยผู้ชนะการประมูลคือกลุ่มเซ็นทรัลและกลุ่มทุน Hongkong Land จากประเทศฮ่องกง ที่ประมูลไปในราคา 420 ล้านปอนด์ หรือตีเป็นเงินไทยกว่า 19,000 ล้านบาท ซึ่งเป็นราคาที่ดินสูงที่สุดในประเทศไทยที่ตารางวาละ 2.2 ล้านบาท และยังทำลายสถิติเดิมของราคาที่ดินสถานทูตอังกฤษเดิมที่กลุ่มเซ็นทรัลประมูลมาพัฒนาศูนย์การค้าเซ็นทรัล เอ็มบาสซี ที่ราคา 900,000 บาทต่อตารางวา

โดยที่ดินผืนดังกล่าวจะถูกนำไปพัฒนาโครงการอสังหาริมทรัพย์แบบประสมอันประกอบด้วย ศูนย์การค้า ห้างสรรพสินค้า โรงแรม และอาคารชุดพักอาศัย โดยกลุ่มเซ็นทรัลจะเป็นผู้ลงทุนในส่วนโครงการทั้งหมด และกลุ่ม Hongkong Land จะเป็นผู้ลงทุนในโครงการอาคารชุดพักอาศัย หรือคอนโดมิเนียม และเป็นนายหน้าในการขายโครงการให้กับผู้ที่สนใจจากต่างประเทศ

ต่อมาในวันที่ 13 มิถุนายน พ.ศ. 2562 กลุ่มเซ็นทรัลได้มอบหมายให้ เซ็นทรัลพัฒนา เป็นผู้พัฒนาโครงการเฟสที่ 2 นี้ โดยเซ็นทรัลพัฒนาได้ตั้งบริษัทร่วมทุนระหว่างบริษัทฯ และเอชเคแอล ในนาม บริษัท ซีพีเอ็น แอนด์ เอชเคแอล จำกัด เพื่อศึกษารูปแบบและความเหมาะสมในการพัฒนาโครงการต่อไป[4]

การจัดสรรพื้นที่[แก้]

ปัจจุบัน เซ็นทรัล เอ็มบาสซี แบ่งโครงการออกเป็นสองส่วน ได้แก่ อาคารเอ็มบาสซีปาร์ค เป็นอาคารศูนย์การค้าแบบตอนเดียว ออกแบบอาคารโดยบริษัทสถาปนิก อมานดา เลเวนเต จากประเทศอังกฤษ ตัวอาคารมีรูปทรงคล้ายกับสัญลักษณ์อนันต์เมื่อมองจากมุมมองด้านบน อันแสดงถึงการพัฒนาอย่างไม่สิ้นสุดของกลุ่มเซ็นทรัล ตั้งแต่อดีต จนถึงปัจจุบัน และก้าวไปยังอนาคต และอาคารเอ็มบาสซี เฟส 2 เป็นอาคารศูนย์การค้า,ห้างสรรพสินค้า พร้อมอาคารสำนักงาน ออกแบบอาคารโดย บริษัท แทนเดม อาร์คิเทค (2001) จำกัด ภายใต้การปรึกษาและแนะนำจากกลุ่มสถาปนิก บีอาร์ก อินเกิลส์ จากประเทศเดนมาร์ก ปัจจุบันอยู่ในระหว่างการปรับพื้นที่เตรียมการก่อสร้าง โดยมีพื้นที่สำคัญดังนี้

เอ็มบาสซีปาร์ค[แก้]

  • อีตไทย
  • ยูนิโคล่
  • มูจิ
  • ศิวิลัย สโตร์
  • ศิวิลัย ซิตี้ คลับ
  • โอเพ่น เฮาส์ โค ลิฟวิ่งสเปซ
  • โรงแรมปาร์ค ไฮแอท กรุงเทพฯ โรงแรมระดับสูงสุดของกลุ่มไฮแอท จำนวน 222 ห้อง[1]

นอกจากนี้ยังมีทางเชื่อมไปยังสถานีเพลินจิตของรถไฟฟ้าบีทีเอส สายสุขุมวิทที่ชั้น 1 และทางเชื่อมไปยังเซ็นทรัล ชิดลมที่ชั้น 2

เอ็มบาสซี เฟส 2[แก้]

  • ห้างสรรพสินค้า
  • ศูนย์การค้าและร้านค้าระดับบน
  • อาคารสำนักงานเซ็นทรัล เอ็มบาสซี

การคมนาคม[แก้]

  • รถไฟฟ้าบีทีเอส สายสุขุมวิท: สถานีชิดลม (เชื่อมกับห้างสรรพสินค้าเซ็นทรัล ชิดลม ที่ชั้น 2) และ สถานีเพลินจิต (เชื่อมกับอาคารเอ็มบาสซีปาร์คโดยตรง ที่ชั้น 1)
  • รถโดยสารประจำทาง
    • สาย 511,501,25,508,2,13(ผ่านเฉพาะขาไป ห้วยขวาง),48 / 3-11,40,17 / 4-3(ผ่านเฉพาะขาไป อนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิ),3-53,2 / 3-1 (TSB),3-54 ผ่านหน้าถนนเพลินจิต

อ้างอิง[แก้]

  1. 1.0 1.1 1.2 "Park Hyatt Bangkok". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2017-02-03. สืบค้นเมื่อ 2017-03-10.
  2. ทรัพย์ไพบูลย์, ธนวัฒน์ (2013). กลยุทธ์สู่ความร่ำรวยตระกูล "มหาเศรษฐีอาเซียน". เนชั่นบุ๊คส์. ISBN 6-1675-3641-4.
  3. กลุ่มเซ็นทรัลเผยโฉมโรงแรม พาร์ค ไฮแอท กรุงเทพฯ เก็บถาวร 2017-10-12 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน เว็บไซต์ครอบครัวข่าว
  4. แจ้งการจัดตั้งบริษัทร่วมทุน

แหล่งข้อมูลอื่น[แก้]