รถเมล์นายเลิศ

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
รถเมล์นายเลิศคันหนึ่งที่ปัจจุบันเก็บรักษาไว้ที่บ้านปาร์คนายเลิศ

รถเมล์นายเลิศ หรือ รถเมล์ขาว เป็นรถโดยสารประจำทางสายแรกของไทย ผู้ริเริ่มคือพระยาภักดีนรเศรษฐ หรือนายเลิศ เศรษฐบุตร เริ่มจากกิจการบริการรถม้าเช่า ซึ่งนายเลิศเป็นผู้ออกแบบตัวรถเอง โดยคิดค่าโดยสารสำหรับรถม้าเดี่ยวชั่วโมงละ 75 สตางค์ รถม้าคู่ชั่วโมงละ 1 บาท [1] แต่นายเลิศเห็นว่าเป็นการทรมานสัตว์ จึงคิดเปลี่ยนมาใช้รถยนต์ เมื่อประมาณ พ.ศ. 2453

ลักษณะของรถ[แก้]

รถเมล์นายเลิศมีลักษณะเฉพาะคือ ทาสีขาวทั้งคัน มีตราประจำรถเป็นรูปขนมกง นายเลิศเป็นผู้ออกแบบตัวถังรถเมล์ด้วยตัวเอง โดยเขียนแบบด้วยชอล์กบนพื้นปูน ให้ช่างไม้ชาวเซี่ยงไฮ้เป็นผู้ต่อ โดยใช้เครื่องยนต์ที่สั่งซื้อมาจากประเทศอังกฤษ นายเลิศมีนโยบายในการเดินรถว่า "สุภาพ ซื่อสัตย์ ประหยัด ทันใจ เอากำไรแต่น้อย บริการผู้มีรายได้น้อย" [2]

รถเมล์สายแรกของนายเลิศ วิ่งจากประตูน้ำไปสี่พระยา เมื่อกิจการเจริญก้าวหน้าจึงขยายออกไปจนเกือบทั่วกรุงเทพมหานคร คนทั่วไปเรียกรถของท่านว่า "รถเมล์ขาว" ตามสีของรถ ต่อมานายเลิศได้ริเริ่มบริการเรือเมล์ที่ชาวบ้านเรียก "เรือขาว" รับส่งผู้โดยสารตามคลองแสนแสบ ผ่านหนองจอก มีนบุรี แล้วมาสุดทางที่ประตูน้ำ เชื่อมโยงกับเส้นทางของรถเมล์ขาว กิจการนี้เป็นที่ประทับใจของคนทั่วไป และสร้างชื่อเสียงให้ท่านมาก

การสิ้นสุดกิจการ[แก้]

กิจการรถเมล์นายเลิศ ดำเนินการมานานถึง 70 ปี ได้รับสัมปทานเดินรถประจำทางในกรุงเทพฯ ถึง 36 สาย มีรถประมาณ 700 คัน มีพนักงาน 3,500 คน นับเป็นบริษัทรถเมล์ที่ใหญ่ที่สุด แต่ได้เลิกกิจการลงในปี พ.ศ. 2520 [2] เมื่อรัฐบาลมีนโยบายรวมกิจการรถเมล์ทุกสายในกรุงเทพมหานครมาอยู่ในความดูแลของ องค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพ (ขสมก.) ซึ่งเป็นรัฐวิสาหกิจ

อ้างอิง[แก้]

  1. "ประวัตินายเลิศ เศรษฐบุตร". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2007-11-02. สืบค้นเมื่อ 2008-03-03.
  2. 2.0 2.1 "ประวัตินายเลิศ เศรษฐบุตร". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2008-03-07. สืบค้นเมื่อ 2008-03-03.