ตราตั้งห้าง

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
ตราพระครุฑพ่าห์ แบบที่ใช้ตราตั้งห้าง
ตราตั้งห้าง ซึ่งตั้งอยู่ด้านหน้าอาคารสำนักงานใหญ่ของธนาคารกรุงเทพ

ตราตั้ง หรือ ตราตั้งห้าง คือ หนังสือรับรองการพระราชทานพระบรมราชานุญาตที่ออกให้แก่บุคคลหรือห้างร้านบริษัท เพื่อแสดงว่าบุคคลหรือห้างร้านบริษัทตามที่ระบุชื่อเป็นผู้ได้รับพระราชทานพระบรมราชานุญาตให้ใช้เครื่องหมายครุฑพ่าห์ในกิจการที่ระบุได้[1] ทั้งนี้ เครื่องหมายตราตั้ง คือ เครื่องหมายครุฑพ่าห์ที่มีข้อความประกอบเบื้องล่างว่า "โดยได้รับพระบรมราชานุญาต" หรือข้อความเป็นอักษรต่างประเทศตามที่สำนักพระราชวังกำหนด ที่บุคคลหรือห้างร้านบริษัทมีสิทธิที่จะใช้เมื่อได้รับตราตั้งแล้ว

การพระราชทานตราตั้งเริ่มมีมาแต่สมัยรัชกาลที่ 5 ซึ่งเดิมเป็นตราอาร์มมีข้อความประกอบว่า "โดยได้รับพระบรมราชานุญาต" ต่อมาในสมัยรัชกาลที่ 6 ได้เปลี่ยนตราแผ่นดินเป็นตราพระครุฑพ่าห์

ปัจจุบัน ต้องยื่นคำขอพระราชทานตราต่อสำนักพระราชวัง เพื่อที่จะได้นำความขึ้นกราบบังคมทูลขอพระราชทานพระบรมราชานุญาต ภายหลังตรวจสอบและพิจารณาเห็นว่าห้างร้านหรือบริษัทใดที่ขอพระราชทานตราตั้งสมควรได้รับพระราชทานตราตั้ง ทั้งนี้ เมื่อได้รับพระราชทานพระบรมราชานุญาตแล้วให้เลขาธิการพระราชวังออกตราตั้งให้ และประกาศในราชกิจจานุเบกษา

ตราตั้งนี้ถือเป็นของพระราชทานเฉพาะบุคคล สิทธิรับพระราชทานและการใช้เครื่องหมายนี้จะสิ้นสุดเมื่อสำนักพระราชวังเรียกคืน เนื่องจากบุคคล ห้างร้าน บริษัทที่ได้รับพระราชทาน ตายหรือเลิกประกอบกิจการ หรือโอนกิจการให้ผู้อื่น หรือสำนักพระราชวังเห็นสมควรเพิกถอนสิทธิ

อ้างอิง[แก้]

  1. พระราชบัญญัติเครื่องหมายครุฑพ่าห์ (ฉบับที่ ๒) พ.ศ. ๒๕๓๕, ราชกิจจานุเบกษา เล่ม ๑๐๙ ตอนที่ ๑๐ หน้า ๕ ๑๔ กุมภาพันธ์ ๒๕๓๕