อำเภอไพรบึง

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
อำเภอไพรบึง
การถอดเสียงอักษรโรมัน
 • อักษรโรมันAmphoe Phrai Bueng
ปราสาทเยอ
ปราสาทเยอ
คำขวัญ: 
เมืองล้านเป็ด เพชรพระธาตุ
ปราสาทใหญ่ ไทยสี่เผ่า
แผนที่จังหวัดศรีสะเกษ เน้นอำเภอไพรบึง
แผนที่จังหวัดศรีสะเกษ เน้นอำเภอไพรบึง
พิกัด: 14°44′54″N 104°21′42″E / 14.74833°N 104.36167°E / 14.74833; 104.36167
ประเทศ ไทย
จังหวัดศรีสะเกษ
พื้นที่
 • ทั้งหมด266.8 ตร.กม. (103.0 ตร.ไมล์)
ประชากร
 (2564)
 • ทั้งหมด47,368 คน
 • ความหนาแน่น177.54 คน/ตร.กม. (459.8 คน/ตร.ไมล์)
รหัสไปรษณีย์ 33180
รหัสภูมิศาสตร์3306
ที่ตั้งที่ว่าการที่ว่าการอำเภอไพรบึง หมู่ที่ 20 ถนนพยุห์-ขุนหาญ ตำบลไพรบึง อำเภอไพรบึง จังหวัดศรีสะเกษ 33180
สารานุกรมประเทศไทย ส่วนหนึ่งของสารานุกรมประเทศไทย

ไพรบึง เป็นอำเภอหนึ่งของจังหวัดศรีสะเกษ ตั้งอยู่ทางตอนกลางของจังหวัด เดิมเป็นส่วนหนึ่งของอำเภอขุขันธ์ ต่อมาได้แยกออกมาจัดตั้งเป็นกิ่งอำเภอ ในปี พ.ศ. 2511 และได้รับการยกฐานะเป็นอำเภอไพรบึง ในปี พ.ศ. 2518

ที่ตั้งและอาณาเขต[แก้]

อำเภอไพรบึงตั้งอยู่ทางตอนกลางของจังหวัด ห่างจากตัวจังหวัดประมาณ 42 กิโลเมตร มีอาณาเขตติดต่อกับเขตการปกครองข้างเคียงดังนี้

ประวัติศาสตร์และพัฒนาการ[แก้]

หลักฐานทางโบราณคดีและประวัติศาสตร์ในเขตอำเภอไพรบึง แสดงให้เห็นพัฒนาการการตั้งถิ่นฐานของมนุษย์ในอำเภอแห่งนี้ตั้งแต่ประมาณ 1,000 ปีเป็นต้นมา โดยเฉพาะในวัฒนธรรมสมัยอาณาจักรขอมโบราณ ดังปรากฏพบชุมชนโบราณและโบราณสถาน-โบราณวัตถุในยุคสมัยและรูปแบบศิลปะขอมหลายแห่ง เช่น ปราสาทเยอ และแหล่งโบราณคดีบ้านปราสาทเยอ ตำบลปราสาทเยอ, แหล่งโบราณคดีบ้านหัวช้าง ตำบลสำโรงพลัน [1]

ส่วนมุขและปราสาทประธาน ปราสาทเยอ

ส่วนในยุคปัจจุบันหรือช่วงเวลาระยะเวลาร่วมสมัยนั้น เดิมอำเภอไพรบึงเป็นท้องที่อยู่ในปกครองของอำเภอขุขันธ์ จังหวัดศรีสะเกษ ครั้นในปี พ.ศ. 2506 ประชากรในตำบลไพรบึง สำโรงพลัน ดินแดง และ ตำบลปราสาทเยอ ซึ่งอยู่ทางทิศตะวันออกได้เรียกร้องขอให้แยกและยกฐานะขึ้นเป็นกิ่งอำเภอ นายยอด อ่อนโอภาส นายอำเภอขุขันธ์ในขณะนั้น จึงได้จัดประชุมประชาชนใน 4 ตำบล ดังกล่าว ที่ประชุมมีมติให้จัดตั้งกิ่งอำเภอที่ บ้านไพรบึง ตำบลไพรบึง และให้เรียกชื่อว่ากิ่งอำเภอไพรบึง และได้ขออนุมัติจากกระทรวงมหาดไทย ให้จัดตั้งเป็นกิ่งอำเภอและได้รับงบประมาณ ในปี พ.ศ. 2511 และเปิดที่ว่าการกิ่งอำเภอเมื่อวันที่ 1 ตุลาคม พ.ศ. 2512 โดยมีนายยศ ทองสุทธิ์ ดำรงตำแหน่งปลัดอำเภอผู้เป็นหัวหน้าประจำกิ่งอำเภอ เป็นคนแรก และได้ยกฐานะเป็นอำเภอเมื่อวันที่ 22 สิงหาคม พ.ศ. 2518 โดยมีนายมั่น พรหมบุตร ดำรงตำแหน่ง นายอำเภอเป็นคนแรก

การแบ่งเขตการปกครอง[แก้]

การปกครองส่วนภูมิภาค[แก้]

อำเภอไพรบึงแบ่งเขตการปกครองย่อยออกเป็น 6 ตำบล 80 หมู่บ้าน ได้แก่

1. ไพรบึง (Phrai Bueng) 21 หมู่บ้าน
2. ดินแดง (Din Daeng) 9 หมู่บ้าน
3. ปราสาทเยอ (Prasat Yoe) 11 หมู่บ้าน
4. สำโรงพลัน (Samrong Phlan) 17 หมู่บ้าน
5. สุขสวัสดิ์ (Suk Sawat) 12 หมู่บ้าน
6. โนนปูน (Non Pun) 10 หมู่บ้าน

การปกครองส่วนท้องถิ่น[แก้]

ท้องที่อำเภอไพรบึงประกอบด้วยองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น 7 แห่ง ได้แก่

  • เทศบาลตำบลไพรบึง ครอบคลุมพื้นที่บางส่วนของตำบลไพรบึงและตำบลสำโรงพลัน
  • เทศบาลตำบลสำโรงพลัน ครอบคลุมพื้นที่ตำบลสำโรงพลัน (นอกเขตเทศบาลตำบลไพรบึง)
  • องค์การบริหารส่วนตำบลไพรบึง ครอบคลุมพื้นที่ตำบลไพรบึง (นอกเขตเทศบาลตำบลไพรบึง)
  • องค์การบริหารส่วนตำบลดินแดง ครอบคลุมพื้นที่ตำบลดินแดงทั้งตำบล
  • องค์การบริหารส่วนตำบลปราสาทเยอ ครอบคลุมพื้นที่ตำบลปราสาทเยอทั้งตำบล
  • องค์การบริหารส่วนตำบลสุขสวัสดิ์ ครอบคลุมพื้นที่ตำบลสุขสวัสดิ์ทั้งตำบล
  • องค์การบริหารส่วนตำบลโนนปูน ครอบคลุมพื้นที่ตำบลโนนปูนทั้งตำบล

ทรัพยากรธรรมชาติที่สำคัญ[แก้]

  • หนองใหญ่หรือบึงนกเป็ดน้ำไพรบึง ตั้งอยู่เขตเทศบาลตำบลไพรบึง เป็นแหล่งดูนกเป็ดน้ำ แหล่งเลี้ยงปลาในกระชัง
  • ห้วยแฮด ในเขตตำบลดินแดง
  • ห้วยชลัง และ หนองกันแจม ในเขตตำบลไพรบึง

สภาพทางสังคมและวัฒนธรรม[แก้]

ประชากรและกลุ่มชาติพันธุ์[แก้]

ประชากรในอำเภอไพรบึง เป็นกลุ่มชาติพันธุ์ที่หลากหลาย มีความคล้ายคลึงและใกล้เคียงกันทั้งลักษณะทางกายภาพและวัฒนธรรม แต่มีภาษาพูดที่แตกต่างกัน ซึ่งประกอบไปด้วย 4 กลุ่มชาติพันธุ์ คือ เขมร กูย(หรือกวยหรือส่วย) เยอ ลาว ดังปรากฏตามคำขวัญของอำเภอว่า "ไทยสี่เผ่า" ชาวเขมรส่วนใหญ่อาศัยอยู่ที่ตำบลไพรบึง ตำบลสำโรงพลัน ตำบลดินแดง ชาวกูยและชาวเยอ อาศัยอยู่ที่ตำบลปราสาทเยอ ตำบลโนนปูน และชาวลาวอาศัยอยู่ที่ตำบลสุขสวัสดิ์ กลุ่มชาติพันธุ์เหล่านี้ประกอบอาชีพหลักทางการเกษตรและส่วนใหญ่นับถือพุทธศาสนา มีประเพณีพิธีกรรมที่เกี่ยวเนื่องกับพุทธศาสนาและวงจรชีวิตความเป็นอยู่ตั้งแต่เกิดจนตายในแต่ละเดือนของแต่ละรอบปี [2]

วัดในพุทธศาสนาที่สำคัญ[แก้]

งานประเพณีและเทศกาลสำคัญ[แก้]

ประชาชนทุกภาคส่วน ส่วนราชการ ตลอดจนองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นในอำเภอไพรบึง ร่วมกันจัดงานประเพณีและเทศกาลตามแบบแผนทางวัฒนธรรมและประเพณีดั้งเดิมหลายวาระในแต่ละรอบปี โดยมีงานประเพณีและเทศกาลสำคัญคือ

  • งานประเพณีสักการะพระบรมสารีริกธาตุและพระธาตุวัดไพรบึง ซึ่งจัดขึ้นในเดือนกุมภาพันธ์ของทุกปีในช่วงคาบเกี่ยวกับวันมาฆบูชา
    พระพุทธเจดีย์ไพรบึง
  • ประเพณีเบ็ญ(บุญเดือนสิบ)หรือแซนโดนตาหรือสารทเขมร ตั้งแต่วันขึ้น 15 ค่ำ ถึง แรม 15 ค่ำเดือน 10[4]
  • เทศกาลสงกรานต์
  • เทศกาลเข้าพรรษา
  • เทศกาลออกพรรษา
  • เทศกาลลอยกระทง

การศึกษา[แก้]

โรงเรียนระดับประถมศึกษาที่สำคัญ[แก้]

  1. โรงเรียนอนุบาลไพรบึง โรงเรียนประถมศึกษาประจำอำเภอไพรบึง
  2. โรงเรียนบ้านสวาย-สนวน ตำบลไพรบึง
  3. โรงเรียนบ้านติ้ว ตำบลไพรบึง
  4. โรงเรียนบ้านสำโรงพลัน ตำบลสำโรงพลัน
  5. โรงเรียนบ้านไทร ตำบลสำโรงพลัน
  6. โรงเรียนหนองอารีพิทยา ตำบลดินแดง
  7. โรงเรียนบ้านปราสาทเยอ ตำบลปราสาทเยอ
  8. โรงเรียนบ้านโพนปลัด ตำบลสุขสวัสดิ์
  9. โรงเรียนบ้านตาเจา ตำบลโนนปูน

โรงเรียนระดับมัธยมศึกษา[แก้]

  1. โรงเรียนไพรบึงวิทยาคม โรงเรียนมัธยมศึกษาประจำอำเภอไพรบึง
  2. โรงเรียนกุญชรศิรวิทย์ ตั้งอยู่ที่บ้านหัวช้าง ตำบลสำโรงพลัน
  3. โรงเรียนโนนปูนวิทยาคม ตั้งอยู่ที่ตำบลโนนปูน
  4. โรงเรียนวัดไพรบึงวิทยา ตั้งอยู่ภายในวัดบ้านไพรบึง เขตเทศบาลตำบลไพรบึง
  5. โรงเรียนพระปริยัติธรรมวัดไพรบึง ตั้งอยู่ภายในเขตเทศบาลตำบลไพรบึง

ศูนย์การศึกษานอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัย อำเภอไพรบึง[แก้]

  • ห้องสมุดประชาชนเฉลิมราชกุมารี
  • ศูนย์บริการคอมพิวเตอร์และเครือข่ายอินเทอร์เน็ต

การแพทย์และสาธารณสุข[แก้]

  • โรงพยาบาลชุมชน (รพช.) 1 แห่ง คือ [โรงพยาบาลไพรบึง] (ขนาด 36 เตียง และกำลังอยู่ระหว่างขยายเป็น 66 เตียง)
  • โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพระดับตำบล (รพ.สต.) 6 แห่ง ได้แก่
  1. โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบลทุ่ม ตำบลไพรบึง
  2. โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบลตาโมกข์ ตำบลสำโรงพลัน
  3. โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบลปราสาทเยอ ตำบลปราสาทเยอ
  4. โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบลหนองอารี ตำบลดินแดง
  5. โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบลกันตรวจ ตำบลโนนปูน
  6. โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบลไม้แก่น ตำบลสำโรงพลัน
  • สำนักงานสาธารณสุขอำเภอไพรบึง
  • คลินิกทางการแพทย์ พยาบาลและการผดุงครรภ์
  • ร้านจำหน่ายยาแผนปัจจุบัน

การกีฬาและสันทนาการ[แก้]

  1. สวนสาธารณะเฉลิมพระเกียรติหนองปิด
  2. สวนสาธารณะหนองใหญ่หรือบึงนกเป็ดน้ำไพรบึง
  3. สนามกีฬาเทศบาลตำบลไพรบึง (สนามฟุตบอล, สนามวอลเลย์บอล, สนามแบดมินตัน, สนามบาสเก็ตบอล, สนามเซปักตะกร้อ และลู่วิ่ง)
  4. ศูนย์บริการฟิตเนสเทศบาลตำบลไพรบึง
  5. ลานกีฬาบริการอุปกรณ์บริหารร่างกายเทศบาลตำบลไพรบึง
  6. สนามฟุตบอลหน้าที่ว่าการอำเภอไพรบึง
  7. สนามกีฬาโรงเรียนอนุบาลไพรบึง
  8. สนามกีฬาโรงเรียนไพรบึงวิทยาคม
  9. ลานกีฬาที่ทำการองค์การบริหารส่วนตำบลไพรบึง (สนามบาสเก็ตบอล, สนามวอลเลย์บอล, สนามเซปักตะกร้อ, สนามเปตอง)
  10. สนามกีฬาองค์การบริหารส่วนตำบลปราสาทเยอ
  • การแข่งขันกีฬา "ไพรบึงคัพ" หรือ "เป็ดน้ำเกมส์" ในแต่ละปี เพื่อเชื่อมความสัมพันธ์ระหว่างส่วนราชการต่างๆ ท้องถิ่นและประชาชนในอำเภอ

ความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สิน[แก้]

  • สถานีตำรวจภูธรไพรบึง
  • หน่วยบริการประชาชน สภ.ไพรบึง บริเวณสี่แยกหัวช้าง บนทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 24
  • หน่วยบริการประชาชน สภ.ไพรบึง บริเวณตำบลปราสาทเยอ บนทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 2111
  • หน่วยเฉพาะกิจ กรมทหารราบที่ 16 ค่ายบดินทร์เดชา
  • กองร้อย อาสาสมัครรักษาดินแดนจังหวัดศรีสะเกษที่ 10 (อำเภอไพรบึง)
  • ศูนย์อาสาสมัครป้องกันภัยฝ่ายพลเรือน อำเภอไพรบึง
  • สถานีดับเพลิงและบรรเทาสาธารณภัย เทศบาลตำบลไพรบึง

สภาพเศรษฐกิจ[แก้]

โครงสร้างหลักทางเศรษฐกิจของอำเภอไพรบึงมาจากการเกษตรกรรม ธุรกิจค้าปลีก-ค้าส่ง การบริการและอุตสหกรรมขนาดเล็ก พืชเศรษฐกิจที่สำคัญได้แก่ข้าวหอมมะลิ และพืชสวน ตลอดจนผลิตภัณฑ์แปรรูปทางการเกษตรหลายชนิด เช่น ไข่เค็มพอกดินจอมปลวก ซึ่งเป็นสินค้าหนึ่งตำบลหนึ่งผลิตภัณฑ์(OTOP) ที่ได้รับการส่งเสริมของอำเภอ พื้นที่ทางเศรษฐกิจที่สำคัญได้แก่เขตเทศบาลตำบลไพรบึงและสี่แยกหัวช้าง ซึ่งเป็นชุมทางการเดินทางและการคมนาคมขนส่งที่คึกคัก ชุมทางแห่งนี้มีสิ่งอำนวยความสะดวกเพื่อการพักรถและพักผ่อนสำหรับผู้เดินทาง ซึ่งประกอบด้วยสถานีบริการน้ำมันเชื้อเพลิงขนาดใหญ่จำนวน 3 แห่งและขนาดเล็ก 1 แห่ง, ร้านอาหารและร้านสะดวกซื้อ, รีสอร์ตสำหรับพักค้างคืน 2 แห่ง ตลอดจนป้อมตำรวจหน่วยบริการประชาชนของสถานีตำรวจภูธรไพรบึง สี่แยกหัวช้างจึงเป็นพื้นที่สำคัญทางเศรษฐกิจที่คึกคักที่สุดแห่งหนึ่งของอำเภอ

การพลังงาน การประปาและการชลประทาน[แก้]

  • สำนักงานการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค อำเภอไพรบึง
  • สถานีบริการน้ำมันเชื้อเพลิงขนาดใหญ่และแก๊สธรรมชาติ จำนวน 3 แห่ง บริเวณสี่แยกหัวช้าง บนทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 24 และสถานีบริการน้ำมันเชื้อเพลิงขนาดกลางและขนาดเล็กหลายแห่งในเขตเทศบาลตำบลไพรบึงและตำบลอื่นๆ
  • สำนักงานการประปาเทศบาลตำบลไพรบึง (สถานีสูบน้ำ, โรงกรองน้ำ, ระบบจ่ายน้ำ)
  • อ่างเก็บน้ำและฝายทดน้ำในระบบชลประทานเพื่อการเกษตรหลายแห่ง เช่น อ่างเก็บน้ำห้วยชลัง อ่างเก็บน้ำบ้านคอก (หนองไฮ)

การสื่อสารและโทรคมนาคม[แก้]

  • ที่ทำการไปรษณีย์ไพรบึง (บริษัท ไปรษณีย์ไทย จำกัด)
  • ชุมสายโทรศัพท์และโทรคมนาคมไพรบึง (บริษัท โทรคมนาคมแห่งชาติ จำกัด มหาชน)
  • เสาส่งสัญญาณโทรศัพท์เคลื่อนที่ (AIS, DTAC, NT, True)

การเดินทางและการคมนาคมขนส่ง[แก้]

จากตัวจังหวัดศรีสะเกษ มายังอำเภอไพรบึง[แก้]

  • โดยรถยนต์ส่วนตัว ใช้ทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 221 (ศรีสะเกษ-กันทรลักษ์) ผ่านอำเภอพยุห์ จนถึงสี่แยกพยุห์ จากนั้นเลี้ยวขวาเข้าสู่ทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 2111 (พยุห์-ไพรบึง-ขุนหาญ) ไปจนถึงตัวอำเภอไพรบึง
  • โดยรถประจำทางสาย 4189 เส้นทางศรีสะเกษ-พยุห์-ไพรบึง-ขุนหาญ ซึ่งเป็นบริการเดินรถของบริษัท ขุนหาญพัฒนา จำกัด ให้บริการเดินรถในเส้นทางทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 221 และ 2111
  • โดยรถประจำทางสาย 4313 เส้นทางศรีสะเกษ-ไพรบึง (สิ้นสุดที่ตำบลดินแดง)

ระยะทางจากตัวจังหวัดศรีสะเกษถึงอำเภอไพรบึง ประมาณ 42 กิโลเมตร

จากกรุงเทพมหานคร มายังอำเภอไพรบึง[แก้]

  • โดยรถโดยสาร
  1. เส้นทางกรุงเทพฯ - ไพรบึง ซึ่งเป็นบริการรถปรับอากาศชั้น 1 ของ บริษัท เชิดชัย จำกัด ไป-กลับ วันละ 1 เที่ยว โดยออกจากไพรบึง ในเวลา 20.45 น. และ ออกจากกรุงเทพฯ ในเวลา 20.45 น.
  2. เส้นทางกรุงเทพฯ - กันทรลักษ์(อุทยานแห่งชาติเขาพระวิหาร) บริการเดินรถโดยบริษัท ขนส่ง จำกัด และบริษัทเดินรถเอกชน (ปรับอากาศชั้น 1 และ 2)
  3. เส้นทางกรุงเทพฯ - อุบลราชธานี บริการเดินรถโดยบริษัท ขนส่ง จำกัด (ปรับอากาศชั้น 1 และ 2) และบริษัท นครชัยแอร์ จำกัด (รถปรับอากาศ V.I.P)
  4. เส้นทางกรุงเทพฯ - เดชอุดม บริการเดินรถโดยบริษัท ขนส่ง จำกัด (ปรับอากาศชั้น 1 และ 2)
  5. เส้นทางกรุงเทพฯ - บุญฑริก บริการเดินรถโดยบริษัท ขนส่ง จำกัด (ปรับอากาศชั้น 1 และ 2)

ในเส้นทางลำดับที่ 2-5 มีบริการวันละหลายเที่ยว ทั้งช่วงเวลากลางวันและกลางคืน จากต้นทาง-ปลายทาง ผ่านแยกหัวช้างในเส้นทางทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 24 ผู้โดยสารที่ประสงค์จะเดินทางมายังอำเภอไพรบึง สามารถใช้บริการเดินรถดังกล่าวเพื่อมาลงที่แยกหัวช้าง แล้วต่อมายังอำเภอไพรบึง ด้วยบริการรถโดยสารสาย ศรีสะเกษ-ขุนหาญ ตามทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 2111 หรืออาจใช้บริการรถจักรยานยนต์รับจ้างจากสี่แยกหัวช้างมายังตัวอำเภอไพรบึง ระยะทางประมาณ 4 กิโลเมตร การเดินทางจากกรุงเทพมหานครมายังตัวอำเภอไพรบึงใช้เวลาเฉลี่ยประมาณ 8-9 ชั่วโมง เป็นระยะทางราว 500 กิโลเมตร เศษ

ทางแยกหัวช้าง ชุมทางการเดินทาง[แก้]

ทางแยกหัวช้างในเขตบ้านหัวช้าง ตำบลสำโรงพลัน ซึ่งอยู่ห่างจากเขตเทศบาลตำบลไพรบึง (ตัวอำเภอ) ไปทางทิศใต้ประมาณ 4 กิโลเมตร ตามทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 2111 (ช่วงไพรบึง-ขุนหาญ) ถือเป็นชุมทางการคมนาคมและการขนส่งขนาดใหญ่จุดหนึ่ง เนื่องจากเป็นจุดตัดกับทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 24 (ถนนโชคชัย-เดชอุดม) ชุมทางแห่งนี้มีสิ่งอำนวยความสะดวกเพื่อการพักรถและพักผ่อนสำหรับผู้เดินทาง ซึ่งประกอบด้วยสถานีบริการน้ำมันเชื้อเพลิงขนาดใหญ่จำนวน 3 แห่ง และสถานีบริการน้ำมันเชื้อเพลิงขนาดเล็ก 1 แห่ง ร้านอาหาร ร้านสะดวกซื้อ ร้านจำหน่ายของฝาก ร้านเครื่องดื่ม สถานพักตากอากาศสำหรับค้างคืน 2 แห่ง ตลอดจนป้อมตำรวจหน่วยบริการประชาชนของสถานีตำรวจภูธรไพรบึง ทางแยกหัวช้างจึงเป็นพื้นที่สำคัญทางเศรษฐกิจที่คึกคักที่สุดแห่งหนึ่งของอำเภอไพรบึง

จากชุมทางดังกล่าวด้านตะวันออกเป็นเส้นทางเชื่อมโยงไปยังอำเภอกันทรลักษ์และจังหวัดอุบลราชธานี ด้านทิศใต้ไปยังอำเภอขุนหาญ ด้านทิศตะวันตกไปยังอำเภอขุขันธ์และอำเภอภูสิงห์ ตลอดจนอำเภอต่าง ๆ ของจังหวัดสุรินทร์ (อำเภอสังขะ อำเภอปราสาท) จังหวัดบุรีรัมย์ (อำเภอเฉลิมพระเกียรติ อำเภอประโคนชัย อำเภอนางรอง อำเภอหนองกี่) และจังหวัดนครราชสีมา (อำเภอหนองบุญมาก อำเภอโชคชัย อำเภอปักธงชัย อำเภอสีคิ้ว) แล้วบรรจบกับถนนมิตรภาพ

ชาวไพรบึงที่มีชื่อเสียง[แก้]

แหล่งท่องเที่ยวและสถานที่สำคัญ[แก้]

อำเภอไพรบึง เป็นอำเภอที่มีแหล่งท่องเที่ยวทั้งทางวัฒนธรรม และทางธรรมชาติ อาทิ

  1. วัดไพรบึง(วัดจำปาสุรภีย์) เป็นที่ตั้ง พระพุทธเจดีย์ไพรบึง หรือที่เรียกกันทั่วไปว่า พระธาตุไพรบึง ศิลปะแบบเจดีย์พุทธคยา สูงประมาณ 60 เมตร ส่วนยอดของพระเจดีย์ บรรจุพระบรมสารีริกธาตุ
  2. วัดปราสาทเยอเหนือ บ้านปราสาทเยอ มีปราสาทโบราณ ศิลปะขอม สร้างราวพุทธศตวรรษที่ 16-17 ปัจจุบันชำรุดหักพัง และวัดแห่งนี้ยังเป็นวัดแห่งแรกที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ และสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ เสด็จพระราชดำเนินทอดพระกฐินเป็นการส่วนพระองค์ เมื่อวันที่ 25 ตุลาคม พ.ศ. 2514[5]
  3. บึงนกเป็ดน้ำไพรบึง (หนองใหญ่) เป็นบึงธรรมชาติขนาดใหญ่ มีฝูงนกเป็ดอาศัยอยู่น้ำหนาแน่นโดยเฉพาะในฤดูหนาว จึงเป็นแหล่งดูนกเป็ดน้ำที่สำคัญ

อ้างอิง[แก้]

  1. กรมศิลปากร. วัฒนธรรม พัฒนาการทางประวัติศาสตร์ เอกลักษณ์และภูมิปัญญา จังหวัดศรีสะเกษ.คณะกรรมการฝ่ายประมวลเอกสารและจดหมายเหตุ ในคณะกรรมการอำนวยการจัดงานเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว; [บรรณาธิการ : ปรุงศรี วัลลิโภดม],กรุงเทพฯ : โรงพิมพ์คุรุสภาลาดพร้าว, 2544.
  2. กรมศิลปากร. วัฒนธรรม พัฒนาการทางประวัติศาสตร์ เอกลักษณ์และภูมิปัญญา จังหวัดศรีสะเกษ.คณะกรรมการฝ่ายประมวลเอกสารและจดหมายเหตุ ในคณะกรรมการอำนวยการจัดงานเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว; [บรรณาธิการ : ปรุงศรี วัลลิโภดม],กรุงเทพฯ : โรงพิมพ์คุรุสภาลาดพร้าว, 2544.
  3. ข่าวประชาสัมพันธ์[ลิงก์เสีย]อบต.ปราสาทเยอ สืบค้นวันที่ 28 กันยายน 2554
  4. สำนักงานการท่องเที่ยวและกีฬาจังหวัดศรีสะเกษ. ประเพณีแซนโดนตาประเพณีแซนโดนตา
  5. ข่าวประชาสัมพันธ์[ลิงก์เสีย]อบต.ปราสาทเยอ สืบค้นวันที่ 28 กันยายน 2554
  • กรมศิลปากร. วัฒนธรรม พัฒนาการทางประวัติศาสตร์ เอกลักษณ์และภูมิปัญญา จังหวัดศรีสะเกษ.คณะกรรมการฝ่ายประมวลเอกสารและจดหมายเหตุ ในคณะกรรมการอำนวยการจัดงานเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว; [บรรณาธิการ : ปรุงศรี วัลลิโภดม],กรุงเทพฯ : โรงพิมพ์คุรุสภาลาดพร้าว, 2544.
  • เทศบาลตำบลไพรบึง.รายงานสรุป ประจำปีงบประมาณ 2553.จัดทำโดยเทศบาลตำบลไพรบึง
  • สำนักงานการท่องเที่ยวและกีฬาจังหวัดศรีสะเกษ. ประเพณีแซนโดนตาประเพณีแซนโดนตา