พระครูประสาธน์ขันธคุณ (มุม อินทปญโญ)
พระครูประสาธน์ขันธคุณ (มุม อินทปญโญ) | |
---|---|
ชื่ออื่น | หลวงปู่มุม, หลวงพ่อมุม |
ส่วนบุคคล | |
เกิด | 30 พฤศจิกายน พ.ศ. 2429 (93 ปี) |
มรณภาพ | 9 กันยายน พ.ศ. 2522 |
ตำแหน่งชั้นสูง | |
ที่อยู่ | วัดปราสาทเยอเหนือ ศรีสะเกษ |
บรรพชา | 9 พฤษภาคม พ.ศ. 2441 |
อุปสมบท | 16 กรกฎาคม พ.ศ. 2449 |
พรรษา | 73 |
ตำแหน่ง | อดีตเจ้าอาวาส วัดปราสาทเยอเหนือ, อดีตเจ้าคณะตำบลปราสาทเยอ |
พระครูประสาธน์ขันธคุณ หรือที่พุทธศานิกชนชาวศรีสะเกษและชาวไทยรู้จักโดยทั่วไปในนาม หลวงปู่มุม หรือ หลวงพ่อมุม เป็นอดีตเจ้าอาวาสวัดปราสาทเยอเหนือ อำเภอไพรบึง จังหวัดศรีสะเกษ บรรพชาเป็นสามเณรตั้งแต่ยังเด็กและอุปสมบทเป็นพระภิกษุเมื่ออายุ 20 ปี แล้วดำรงอยู่ในสมณเพศตลอดชีวิตจนมรณภาพ เป็นพระภิกษุผู้ถือเคร่งทางธรรมปฏิบัติธรรมกัมมัฏฐาน ได้ฝึกเดินธุดงค์ไปตามป่าเขาในบริเวณเทือกเขา พนมดงเร็ก เขตจังหวัดทางภาคอีสานตอนล่าง ของประเทศไทย และเดินธุดงค์เข้าไปในประเทศกัมพูชาจำพรรษาอยู่ในประเทศกัมพูชาหลายปี หลังจากนั้นจึงได้กลับมาจำพรรษาอยู่ที่วัดปราสาทเยอเหนือ บ้านเกิด ซึ่งเป็นหมู่บ้านที่มีกลุ่มชาติพันธุ์เยอ ตั้งถิ่นฐานอยู่ จากความสมถะ มักน้อย สันโดษและเคร่งครัดในวัตรปฏิบัติของสงฆ์ ทำให้เป็นที่เลื่อมใสศรัทธาของพุทธศานิกชนทั่วไป และที่โด่งดังเป็นที่รู้จักของประชาชนทั่วประเทศก็คือความศรัทธาในวัตถุมงคลกลุ่มที่ชื่อ พระหลวงพ่อมุม ซึ่งท่านได้เคยสร้างและทำพิธีปลุกเสกด้วยตัวเอง โดยพิธีพุทธาภิเษกแบบเขมรโบราณ ทั้งยังเป็นผู้มีส่วนร่วมบำเพ็ญสาธารณประโยชน์ในบวรพระพุทธศาสนาและเพื่อสังคมไว้มหาศาล ถือป็น ปูชนียบุคคล ที่ควรกราบไหว้บูชาสักการะของปวงชนทั่วๆ ไป
หลวงปู่มุม ยังเป็นหนึ่งในพระเถระผู้ร่วมประกอบพิธีพุทธาภิเษก พระกริ่งมหาราช ระหว่างวันที่ 3 ธันวาคม - 4 ธันวาคม พ.ศ. 2512 ซึ่งวัดพระเชตุพนวิมลมังคลาราม หรือวัดโพธิ์ จัดสร้างขึ้นเพื่อเป็นการเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ภูมิพลอดุลยเดชมหาราช เนื่องในวโรกาสมหามงคลที่ทรงได้รับการเทิดทูนอย่างสูงสุดจากปวงชนชาวไทย โดยการถวายพระบรมราชสมัญญานาม มหาราช ต่อท้ายพระปรมาภิไธย [1]
อนึ่ง วัดปราสาทเยอเหนือ เป็นวัดโบราณมีอายุเก่าแก่ที่สุดวัดหนึ่งของจังหวัดศรีสะเกษหรือจังหวัดขุขันธ์ ในอดีต วัดแห่งนี้ได้รับการก่อตั้งขึ้นใน พ.ศ. 1313[2] หรือราวต้นพุทธศตวรรษที่ 14 ตั้งแต่สมัยทวารวดีและสมัยขอม อันเป็นช่วงเวลาก่อนการตั้งเมืองศรีนครลำดวน (ต้นเค้าเมืองขุขันธ์ที่พัฒนามาเป็นจังหวัดขุขันธ์และจังหวัดศรีสะเกษ) ใน พ.ศ. 2302 [3] ถึง 989 ปี ปัจจุบัน ภายในวัดยังคงปรากฏซากปราสาทหินสมัยขอมซึ่งมีสภาพชำรุดมากแล้วคือ ปราสาทเยอ[3]
วัดปราสาทเยอเหนือ ยังเป็นวัดแห่งแรกที่พระบาทสมเด็จพระมหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร และสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง เสด็จพระราชดำเนินเพื่อนมัสการพระครูประสาธน์ขันธคุณ และทรงทอดพระกฐินเป็นการส่วนพระองค์หรือกฐินต้นถวาย เมื่อวันที่ 25 ตุลาคม พ.ศ. 2514 ทั้งยังทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานพระราชทรัพย์ให้กับทางราชการ เพื่อสร้าง ศาลา ภ.ป.ร. ถวาย ทดแทนศาลาวัดหลังเดิมที่มีสภาพชำรุดทรุดโทรม เหล่าพสกนิกรชาวจังหวัดศรีสะเกษและจังหวัดใกล้เคียง มีโอกาสเฝ้ารับเสด็จ ทั้งสองพระองค์ อย่างล้นหลามเป็นประวัติการณ์ ท่ามกลางสายฝนที่โปรยลงมาอย่างหนัก พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ และสมเด็จพระบรมราชินีนาถ ก็ได้เสด็จพระราชดำเนินเยี่ยมราษฎรท่ามกลางสายฝนเช่นเดียวกัน ยังความปลาบปลื้มยินดีแก่พสกนิกรอย่างล้นพ้น [3]
ประวัติ
[แก้]ชาติกำเนิด
[แก้]หลวงปู่มุม หรือ พระครูประสาธน์ขันธคุณ มีนามเดิมว่า มุม นามสกุล บุญโญ ชาตะ ในต้นรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เมื่อวันที่ 30 พฤศจิกายน พ.ศ. 2429 ตรงกับวันพฤหัสบดี ขึ้น 15 ค่ำ เดือน 12 ปีกุน ณ บ้านปราสาทเยอ ตำบลปราสาทเยอ อำเภอไพรบึง (เดิมคือท้องที่อำเภอขุขันธ์) จังหวัดศรีสะเกษ (เดิมคือจังหวัดขุขันธ์) ซึ่งเป็นชุมชนที่มีกลุ่มชาติพันธุ์ดั้งเดิมเป็นชาวเยอตั้งถิ่นฐานอยู่ หลวงปู่มุมจึงเป็นชาวเยอ มีโยมมารดาชื่อนางอิ่ม บุญโญ โยมบิดาชื่อนายมาก บุญโญ มีพี่น้องร่วมมารดาและบิดาเดียวกันจำนวน 5 คน เป็นชายจำนวน 3 คน หญิงจำนวน 2 คน พื้นฐานครอบครัวเป็นชาวนาชาวไร่ มรณภาพเมื่อวันที่ 9 กันยายน พ.ศ. 2522 ในรัชกาลปัจจุบัน จึงเป็นพระสมณเจ้าที่มีชีวิตอยู่เป็นเวลายาวนานถึง 5 รัชกาลหรือ 5 แผ่นดิน (ตั้งแต่รัชกาลที่ 5 ถึงรัชกาลที่ 9) ศิริอายุรวม 93 ปี โดยอยู่ในเพศบรรพชิต 73 พรรษา
ชีวิตวัยเด็ก
[แก้]ด้วยความที่ถือกำเนิดในครอบครัวเกษตรกรที่มีฐานะลำบาก เมื่อเจริญวัยถึงระยะที่สามารถช่วยแบ่งเบาภาระของครอบครัวได้แล้ว ตั้งแต่อายุ 5-6 ขวบ เด็กชายมุม ได้ช่วยเหลือบิดามาดาทำไร่ทำนา แต่เมื่อว่างเว้นจากภารกิจดังกล่าว ก็มักจะคลุกคลีอยู่กับวัดเป็นส่วนใหญ่ โดยเจริญรอยตามบิดามารดาซึ่งเลื่อมใสและเคร่งครัดในพระพุทธศาสนา เด็กชายมุมจึงใช้เวลาว่างส่วนมากในการสนทนากับพระภิกษุ สามเณร รวมทั้งเข้าโบสถ์เพื่อไหว้พระสวดสวดมนต์ ตลอดจนฟังพระสวดมนต์ ทำวัตรเย็น อยู่เป็นนิจ
ครั้นเมื่อเข้าสู่วัยเรียน พระอาจารย์พิมพ์ เจ้าอาวาสวัดปราสาทเยอเหนือ ในขณะนั้น เห็นว่าเด็กชายมุมมีอุปนิสัยศรัทธาในพระศาสนา จึงได้ปรารภกับนายมาก ผู้เป็นบิดา เพื่อให้เด็กชายมุมมาอยู่ที่วัดเป็นการถาวร บิดาเห็นพ้องกับพระอาจารย์พิมพ์ จึงได้นำบุตรชายมาฝาหให้อยู่ในความอุปการะของวัดตั้งแต่นั้นมา เพื่อศึกษาเล่าเรียนขั้นมูลฐานตามแบบโบราณ (ในขณะนั้นยังไม่มีโรงเรียน) เจ้าอาวาสได้ให้ความเอ็นดูเด็กชายมุม ด้วยความชื่นชมในปฏิภาณ ไหวพริบและสติปัญญาที่เฉลียวฉลาด เด็กชายจึงได้รับการถ่ายทอดความรู้ต่างๆ จากเจ้าอาวาส ทั้งการเขียน-อ่านภาษาไทย ภาษาขอม ภาษาบาลี ควบคู่ไปกับความรู้ทางพระธรรม โดยการเรียนร่วมกับพระภิกษุและสามเณรในวัดด้วยความตั้งใจเอาใจใส่ ทำให้มีความแตกฉาน ชำนาญในอักขรวิธีทางภาษาต่างๆและพระธรรม โดยเฉพาะภาษาขอมและภาษาบาลีเป็นอย่างดี จนกระทั่งบรรพชาเป็นสามเณรเมื่ออายุ 12 ปี
ชีวิตในสมณเพศ
[แก้]- สามเณร : บรรพชาเป็นสามเณร เมื่อวันที่ 9 พฤษภาคม พ.ศ. 2441 ขณะอายุ 12 ปี ณ วัดปราสาทเยอเหนือ โดยมีอาจารย์พิมพ์ เจ้าอาวาส เป็นพระอุปัชฌาย์
- ภิกษุ : อุปสมบทเป็นพระ เมื่อวันที่ 16 กรกฎาคม พ.ศ. 2449 ขณะอายุ 20 ปี ณ วัดปราสาทเยอเหนือ โดยมีเจ้าอธิการปริม เจ้าอาวาส (ถัดจากพระอาจารย์พิมพ์) วัดปราสาทเยอเหนือ เป็นพระอุปัชฌาย์, พระอธิการพรหมมา วัดสำโรงระวี [4] เป็นกรรมวาจาจารย์, พระอธิการทอง วัดไพรบึง (วัดจำปาสุรภีย์) อำเภอไพรบึง เป็นอนุสาวนาจารย์
- การศึกษา : เมื่ออุปสมบทเป็นพระภิกษุแล้ว ได้เพียรศึกษาพระปริยัติธรรมกับไวยากรณ์ภาษาบาลีและพระธรรมบทให้สูงขึ้นจนจบหลักสูตรและยังได้ศึกษามูลกัจจายนะ คัมภีร์พระไตรปิฎก จนจบ 5 สูตร มีความรู้แตกฉานหาใครเปรียบได้ยากในสมัยนั้น อีกทั้งพระอาจารย์ปริมยังได้ถ่ายทอดพระคัมภีร์ทางด้านกรรมฐานและคาถาอาคมขลังทางลงเลขยันต์ ต่างๆ ให้กับพระภิกษุมุมด้วย
นอกจากนั้น ด้วยอุปนิสัยที่รักทางขอมอักขระ อาคม ซึ่งแถบอีสานใต้นั้นศิลปวัฒนธรรมขอมหรือเขมรโบราณได้มีอิทธิพลเจริญรุงเรืองมาเป็นเวลาช้านาน พระภิกษุมุมจึงเข้ารับการถ่ายทอดจากพระอาจารย์ชาวเขมรบ้าง ชาวลาวบ้าง โดยได้เอาใจใส่ฝึกฝนกับพระอาจารย์ชื่อดังในยุคนั้นจนเจนจัดเชี่ยวชาญทางด้านวิปัสนากรรมฐานฝึกจิตให้กล้าแข็งมีสมาธิแน่วแน่ และได้นำมาสั่งสอนศิษยานุศิษย์และพุทธศาสนิกชนผู้ที่ศรัทธา
- การเดินทางธุดงค์ กรรมฐานและจำพรรษาในต่างถิ่น
- การธุดงค์ครั้งแรก
- เมื่อเจริญพรรษามากขึ้นตามลำดับแล้ว ท่านได้ออกธุดงค์ตามแบบรุกขมูลกับเพื่อนภิกษุจำนวน 6 รูป ค่ำที่ไหนปักกลดจำวัดที่นั่น จากเมืองขุขันธ์ผ่านไปตามเส้นทางและพื้นที่ต่างๆ จนถึงวัดโคกมอญ เมืองกบินทร์บุรี[5] จึงได้จำพรรษาที่วัดนี้เป็นเวลา 3 พรรษา ได้พัฒนาความเจริญปลูกสร้างปฏิสังขรณ์ไว้กับวัดแห่งนี้หลายประการ เช่น สร้างโบสถ์ จากสำนักสงฆ์เล็กกลายเป็นวัดที่เจริญ ขณะนั้นมีพระอุปัชฌาย์โทเป็นเจ้าอาวาสที่วัดโคกมอญ
- การธุดงค์ครั้งที่สอง
- หลังจากออกพรรษาแล้วท่านจึงธุดงค์จากวัดโคกมอญกลับบ้านเกิดและจำพรรษาอยู่ที่วัดปราสาทเยอใต้หลายปีจึงเริ่มออกธุดงค์เป็นครั้งที่สอง โดยผ่านทางเมืองขุขันธ์ข้ามภูเขาพนมดงรัก มุ่งไปยังเมืองสาเก ในเขตจังหวัดพระตะบอง[6] และได้พบกับอาจารย์บุญมี ผู้เรืองวิชา พระอาจารย์บุญมี ได้นำท่านเดินธุดงค์ไปในที่ต่างๆ จนทั่วประเทศเขมร โดยใช้เวลาในการธุดงค์นานแรมปี จึงได้แยกกันออกเดินธุดงค์ไปคนละเส้นทาง พระมุมได้ผ่านมาทางกบินทร์บุรีข้ามภูเขาสองพี่น้อง อันเป็นทิวเขาดงพญาไฟ (ปัจจุบันคือดงพญาเย็น) จนกระทั่งมาถึงบ้านหวายได้ศึกษาวิชาอาคมกับหลวงพ่อโฮม ซึ่งเก่งทางว่านสมุนไพร แก้อาถรรพ์และแก้คุณไสยต่างๆ
เมื่อศึกษากับหลวงพ่อโฮมจนแตกฉานแล้วจึงออกออกธุดงค์ต่อไปอีก ผ่านป่าดงดิบไปสู่เขตจังหวัดสระบุรี เพื่อกราบสักการะรอยพระพุทธบาท พระพุทธฉาย ที่วัดพระพุทธบาท แล้วล่องต่อมาจนถึงจังหวัดพระนครศรีอยุธยา เข้าจำพรรษาอยู่หลายวัด ก่อนจะต่อไปยังจังหวัดสุพรรณบุรี เข้าสู่เขตอำเภอชัยบาดาล จังหวัดลพบุรี ต่อเนื่องไปยังพื้นที่จังหวัดเพชรบูรณ์ จังหวัดเลย อาณาจักรล้านช้าง เมืองเวียงจันทน์ ท่าแขก และสุวรรณเขต ตลอดระยะเวลาและเส้นทางในช่วงที่ท่านธุดงค์มานั้นก็ได้พบกับพระอาจารย์ที่มีวิชาอาคมเก่งกล้าหลายๆท่าน พระมุมได้ปวารณาตนเป็นศิษย์ ขอศึกษาเล่าเรียนและแลกเปลี่ยนความรู้วิชาต่างๆมากมาย จนได้รับคำแนะนำจากพระอาจารย์เหล่านั้น ให้ไปหาสมเด็จลุน เกจิอาจารย์แห่งนครจำปาศักดิ์ ประเทศลาว ท่านจึงธุดงค์ต่อไปเพื่อไปหาสมเด็จลุน แต่ต้องผิดหวังเพราะสมเด็จลุนเดินทางไปยังจังหวัดอุบลราชธานี พระมุมจึงได้ตามไปที่จังหวัดอุบลราชธานี จนพบกับสมเด็จลุนและฝากตัวเป็นศิษย์ติดตามกลับเข้าไปนครจำปาศักดิ์อีกครั้ง ได้ศึกษาความรู้ทางอาคมขลัง เลขยันต์ต่างๆ สมเด็จลุนยังได้มอบตำราวิทยาคมไสยเวทย์ให้กับท่านเพื่อนำมาศึกษาเพิ่มเติม จากนั้น พระมุมได้ลาสมเด็จลุนออกจากจำปาศักดิ์เดินทางกลับมาทางจังหวัดอุบลราชธานี ระหว่างนั้นได้พบพระอาจารย์ดีๆในตัวเมืองอุบลราชธานีระยะหนึ่ง แล้วจึงเดินทางต่อไปยังเมืองขุขันธ์ จนกลับถึงบ้านเกิดอีกครั้ง
การจาริกธุดงค์ของท่านแต่ละครั้งได้เดินทางเข้าป่าหาวิเวกแสวงธรรมไปตามป่าเขา ตามถ้ำ จนทั่วประเทศไทย และประเทศใกล้เคียง ทั้งลาว พม่า เขมร และมาเลเซีย ใช้เวลาธุดงควัตรอยู่ 10 พรรษา หลายครั้งของการออกเดินทางธุดงค์ต้องประสบกับความยากลำบากและอันตรายจึงเกือบถึงแก่ชีวิต เพราะต้องเดินด้วยเท้าเปล่า บางครั้งต้องเดินผ่านป่าดงดิบนับสิบๆวัน โดยมิได้พบหมู่บ้านเลย สาเหตุที่หลวงพ่อมีความอดทนอดกลั้นได้นั้น เนื่องจากท่านมีสมาธิจิตที่แข็งกล้าและอาศัยอำนาจของ พระพุทธคุณ พระธรรมคุณ และพระสังฆคุณ อันยึดมั่นอย่างแน่วแน่อยู่เสมอนั่นเอง จึงทำให้ท่านอยู่ได้โดยปราศจากความหิว ปลอดภัยจากภยันตรายทั้งปวง
- หน้าที่เจ้าอาวาส : พระมุมได้เดินทางกลับถึงบ้านปราสาทเยอและเข้าจำพรรษาอยู่ที่วัดปราสาทเยอใต้ ซึ่งเป็นวัดอีกแห่งหนึ่งในหมู่บ้าน เป็นช่วงเวลาหลังจากหลวงพ่อปริม เจ้าอาวาสวัดปราสาทเยอเหนือ รูปเดิมได้มรณภาพ ส่งผลให้วัดปราสาทเยอเหนือว่างเว้นจากการมีเจ้าอาวาสลงเป็นเวลานานถึง 5 ปี เมื่อประชาชนในหมู่บ้านทราบข่าวการกลับจากเดินทางธุดงควัตรของท่าน จึงได้พร้อมใจกันไปอาราธนานิมนต์ท่านให้ย้ายไปอยู่ประจำ ณ วัดปราสาทเยอเหนือ หลวงพ่อก็ได้สนองศรัทธาของสาธุชน โดยการรับไปจำพรรษาถาวรอยู่ที่วัดปราสาทเยอเหนือ เป็นเจ้าอาวาสวัดตั้งแต่นั้นมา ระหว่างอยู่วัดนั้น สิ่งที่ปฏิบัติอยู่เป็นนิจคือ การเดินจงกรม ทำกรรมฐานและทบทวนวิชาต่างๆในยามว่างจากผู้คนหรือกิจนิมนต์ นอกจากนั้น พระยาขุขันธ์ภักดีฯ เจ้าเมืองขุขันธ์ ยังได้นำเอาคัมภีร์สมุดข่อยไปถวายและตำราต่างๆไว้อย่างครบถ้วน ให้แก่หลวงพ่อมุมอีกด้วย บรรดาคัมภีร์และตำราดังกล่าวบรรจุศาสตร์ความรู้นานาประการ ทั้งวิชาอาคม และโหราศาสตร์
สมณศักดิ์
[แก้]- รับพระราชทานสมณศักดิ์เป็นพระครูสัญญาบัตร ตำแหน่งเจ้าคณะตำบล ชั้นตรี ในราชทินนามที่ พระครูประสาธน์ขันธคุณ เมื่อวันที่ 5 ธันวาคม พ.ศ. 2499
- รับพระราชทานเลื่อนสมณศักดิ์ ขึ้นชั้นพระสังฆาธิการ เป็นพระครูสัญญาบัตร เจ้าอาวาสชั้นโท ในราชทินนามเดิม เมื่อวันที่ 5 ธันวาคม พ.ศ. 2510
- รับพระราชทานเลื่อนสมณศักดิ์ ขึ้นชั้นพระสังฆาธิการ เป็นพระครูสัญญาบัตร เจ้าอาวาสชั้นเอก ในราชทินนามเดิม
งานปกครองคณะสงฆ์
[แก้]- เจ้าอาวาสวัดปราสาทเยอเหนือ (พ.ศ. 2464 - พ.ศ. 2522)
- เจ้าคณะตำบลปราสาทเยอ (พ.ศ. 2465 - พ.ศ. 2509) (เป็นเจ้าคณะตำบลกิตติมศักดิ์ใน พ.ศ. 2510)
- พระอุปัชฌาย์ในเขตตำบลปราสาทเยอ (พ.ศ. 2466 - พ.ศ. 2522)
งานเผยแผ่พระพุทธศาสนา
[แก้]- ท่านได้เอาใจใส่เป็นพิเศษในการอบรมศีลธรรมให้แก่ พระภิกษุสามเณร ตลอดทั้งญาติโยมทั่วไป โดยการสอนที่เน้นหนักไปทางปฏิบัติธรรม เนื่องจากท่านได้เคยปฏิบัติอบรมมาก่อนแล้วเห็นว่าการประพฤติปฏิบัติธรรมนี้เป็นการยังประโยชน์ตนและประโยชน์ผู้อื่นให้สำเร็จได้ จึงมีพระภิกษุ สามเณร ตลอดประชาชนในยุคก่อนๆจำนวนมากสนใจไปถวายตัวเป็นศิษย์
- ได้ให้ความร่วมมือแก่ทางราชการคณะสงฆ์ในด้านการเผยแผ่พระธรรม ด้วยดีโดยตลอด โดยร่วมกับทางการคณะสงฆ์จัดองค์การเผยแผ่ระดับอำเภอ ระดับจังหวัด คณะพระธรรมทูตส่วนกลาง และคณะพระธรรมทูตส่วนท้องถิ่น
งานสาธารณูปการและพัฒนาวัด
[แก้]- วัดปราสาทเยอเหนือ
- การก่อสร้างอุโบสถ 1 หลัง กว้าง 8.00 เมตร ยาว 18.50 เมตร สร้างแบบถาวรคอนกรีตเสริมเหล็ก หลังคามุงด้วยกระเบื้องเคลือบดินเผา
- การก่อสร้างกุฏิครึ่งไม้ครึ่งคอนกรีต 1 หลัง 2 ชั้น 7 ห้อง
- การก่อสร้างกุฏิตึก 2 ชั้น 1 หลัง
- ทางราชการได้สร้างศาลา ภ.ป.ร. ถวาย 1 หลัง ตามพระราชดำริในพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ และสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ
- การก่อสร้างกำแพงล้อมรอบวัด โดยหล่อเสาปูนก่ออิฐ ถือปูน
- การก่อสร้างซุ้มประตูวัด ซึ่งซุ้มประตูวัดนี้จำลองมาจากประเทศกัมพูชา
- การก่อสร้างหอระฆัง 1 หลัง แบบถาวรคอนกรีตเสริมเหล็ก
- วัดอื่นๆ
ให้ความร่วมมือกับวัดต่างๆ ที่ขอความช่วยเหลือ โดยการร่วมระดมปัจจัยเป็นทุนทรัพย์ให้วัดต่างๆหลายแห่ง เพื่อดำเนินการพัฒนาวัดทั้งในเขตจังหวัดศรีสะเกษและจังหวัดอื่นๆ
- มูลนิธิประสาธน์ขันธคุณ โดยการอนุญาตให้มีการก่อตั้งมูลนิธิ ในพ.ศ. 2507 ด้วยการมอบอำนาจให้คุณวรวัฒน์ รุ่งแสง รับดำเนินการแต่งตั้งคณะกรรมการดำเนินงานจัดหาทุนทรัพย์มาก่อตั้งมูลนิธิเพื่อบูรณะปฏิสังขรณ์เสนาสนะทั้งในวัดปราสาทเยอเหนือและวัดต่างๆ
งานด้านการศึกษา
[แก้]ในอดีต ระหว่างที่ยังเป็นจังหวัดขุขันธ์นั้น หม่อมหลวงช่วง ข้าราชการกระทรวงธรรมการ ได้รับหน้าที่ช่วยราชการที่เมืองขุขันธ์ เห็นว่าการศึกษาในหลายพื้นที่ของเมืองขุขันธ์รวมทั้งพื้นที่ตำบลปราสาทเยอนั้นยังด้อยอยู่มาก ประชาชนส่วนใหญ่ยังขาดการศึกษา จึงได้เดินทางไปนิมนต์หลวงพ่อมุมให้ช่วยสอนหนังสือพระ โดยทางราชการได้รับความเมตตาจากท่านเป็นครูใหญ่ทำหน้าที่สอนหนังสือไทย ณ โรงเรียนวัดบ้านปราสาทเยอเหนือคนแรก โดยสอนอยู่นานถึง 15 ปี
ท่านเป็นผู้ให้ความสำคัญและเห็นคุณค่าของการศึกษา จึงได้ให้การส่งเสริมสนับสนุนงานพัฒนาการศึกษาทั้งหลักสูตรปกติและหลักสูตรพระปริยัติธรรม โดยรับหน้าที่เป็นครูผู้สอน รับตำแหน่งเป็นครูใหญ่โรงเรียนต่างๆ ตลอดจนการริเริ่มจัดตั้งและสร้างโรงเรียนเพื่อเป็นสถานศึกษาแก่เยาวชนในพื้นที่ตำบลปราสาทเยอ ดังนี้
- เป็นผู้ริเริ่มจัดตั้งโรงเรียนประชาบาลวัดบ้านปราสาทเยอใต้ ซึ่งได้พัฒนามาเป็นโรงเรียนบ้านปราสาทเยอ (ประสาธน์คุรุราษฎร์รังสรรค์) และทำหน้าที่เป็นครูผู้สอน ครูใหญ่ในระยะแรก (พ.ศ. 2459 - พ.ศ. 2474)
- เป็นผู้ริเริ่มจัดตั้งโรงเรียนวัดบ้านประอาง (ประสาธน์คุรุราษฎร์พัฒนา) และทำหน้าที่เป็นครูผู้สอน ครูใหญ่ในระยะแรก (พ.ศ. 2459 - พ.ศ. 2474)
- เป็นครูสอนมูลกัจจายนสูตร ประจำสำนักวัดปราสาทเยอเหนือ
- เป็นครูสอนปริยัตธรรมแผนก นักธรรมตรี, นักธรรมโท, และนักธรรมเอก ประจำสำนักวัดปราสาทเยอเหนือ
นับตั้งแต่ปี พ.ศ. 2492 ท่านได้ยุติการสอนหนังสือ เพราะมีภาระทางศาสนามากขึ้น และเป็นช่วงที่พระสงฆ์มีความรู้หลายรูปสามารถเป็นครูสอนแทนได้ ท่านจึงได้ถ่ายโอนภารกิจการสอนหนังสือให้กับพระสงฆ์รูปอื่นๆ จำนวนหลายรูปเพื่อทำหน้าที่สอนหนังสือแทน
งานสาธารณสงเคราะห์
[แก้]การริเริ่มหล่อเหรียญรูปจำลองของท่านเอง ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2507 ซึ่งถือเป็นรุ่นแรก เพื่อแจกจ่ายให้กับญาติโยมผู้มีจิตศรัทธา โดยมีวัตถุประสงค์หลักเพื่อการระดมปัจจัยเป็นทุนทรัพย์ช่วยสมทบทุนก่อสร้างถาวรวัตถุและเสนาสนะ เพื่อเป็นการทำนุบำรุงพระพุทธศาสนาและพัฒนาวัดต่างๆแล้ว รายได้อีกส่วนหนึ่งจากโครงการสร้างเหรียญจำลองยังนำไปใช้ประโยชน์หลักเพื่อกิจการสาธารณกุศลต่างๆ อาทิ
- รับเป็นเจ้าภาพบรรพชา อุปสมบท ให้แก่กุลบุตร ผู้มีศรัทธาแต่ยากจน โดยรับเป็นเจ้าภาพอัฏฐบริขาร ปีละหลายสิบรูป
- รับเป็นเจ้าภาพฌาปนกิจศพยากจน ไร้ญาติ ปีละไม่ต่ำกว่า 4 - 5 ราย
- ระดมทุนก่อสร้างงซุ้มประตูคอนกรีต รั้วลวดหนาม และบริจาคอุปกรณ์การเรียนการสอนแก่โรงเรียนบ้านปราสาทเยอ และโรงเรียนอีกหลายแห่ง
- บริจาคทุนทรัพย์เพื่อการก่อสร้างตึกสงฆ์อาพาธ 1 ห้องในตึกสงฆ์เนรมิตร โรงพยาบาลศรีสะเกษ
- นอกจากการอนุญาตให้วัดต่างๆ จัดสร้างวัตถุมงคลของท่านแล้ว ท่านยังได้ให้ความกรุณาเดินทางไปร่วมประกอบพิธีพุทธาภิเษก ปลุกเสก สมโภช พระประธาน วัตถุมงคลของวัดต่างๆ ทั่วทุกภาคของประเทศไทย เพื่อสนับสนุนวัดหล่านั้นระดมทุนทรัพย์ดำเนินการด้านสาธารณกุศลต่างๆ
การอาพาธและมรณภาพ
[แก้]นับตั้งแต่ปี พ.ศ. 2519 สุขภาพของท่านเริ่มทรุดโทรมลงด้วยความชราภาพ โดยมีการอาพาธจนต้องเข้ารับการรักษาในโรงพยาบาลบ่อยครั้ง กระทั่งในช่วงต้นเดือนกรกฎาคม พ.ศ. 2522 หลวงพ่อได้อาพาธ ศิษยานุศิษย์จึงได้นำท่านส่งโรงพยาบาลศรีสะเกษ เพื่อพักรักษาอีกครั้ง คณะแพทย์ได้เอาใจใส่เป็นพิเศษในการเยียวยารักษา แต่ด้วยชีวิตร่างกายของมนุษย์ซึ่งไม่เที่ยง ย่อมตกอยู่ในสภาวะ 3 ประการคือ อนิจจัง ทุกขัง อนัตตา หลวงพ่อได้มีอาการทรุดหนักจนเกินความสามารถที่คณะแพทย์จะทำการรักษาได้ และได้สิ้นลมปราณโดยสงบ เมื่อเวลา 05:20 น. ของวันที่ 9 กันยายน พ.ศ. 2522 ณ โรงพยาบาลศรีสะเกษ ยังความสลดใจให้แก่ศิษยานุศิษย์ตลอดจนพุทธศาสนิกชนทั่วไป สิริอายุ 93 ปี 73 พรรษา
หลังพิธีพระราชทานเพลิงศพ อัฐิของท่านได้รับการบรรจุไว้ในพระธาตุ ภายในวัดปราสาทเยอเหนือ ตำบลปราสาทเยอ อำเภอไพรบึง จังหวัดศรีสะเกษ ทุกๆ ปีในช่วงวันสงกรานต์ จะมีการจัดงานไหว้พระธาตุหลวงพ่อมุมขึ้น ในวันดังกล่าวบรรดาคณะศิษยานุศิษย์ ผู้คนที่นับถือท่านจากทั่วทุกสารทิศ ต่างพร้อมใจกันเดินทางมากราบไหว้ทำบุญและร่วมบำเพ็ญกุศลกันเป็นจำนวนมาก
วัตถุมงคล
[แก้]พระครูประสาธน์ขันธคุณ เป็นผู้มีความรู้ทางการศึกษาและสรรพวิชาต่างๆ ท่านได้สร้างเหรียญวัตถุมงคลมากมาย เพื่อแจกญาติโยมให้ช่วยสมทบทุนก่อสร้างถาวรวัตถุในพระพุทธศาสนา การสาธารณกุศล และเพื่อเป็นที่ยึดเหนี่ยวจิตใจแก่บรรดาคณะศิษยานุศิษย์ พุทศาสนิกชนผู้ศรัทธาทั้งหลาย วัตถุมงคลและเครื่องรางของขลัง ของหลวงพ่อมุม อินทฺปญฺโญ ที่ได้จัดสร้างขึ้นนั้นมีหลายรุ่นด้วยกัน ท่านปลุกเสกตามพิธีกรรมแบบโบราณ มีการลงเหล็กจารอักขระยันต์ คาถาต่างๆ บนวัตถุมงคลและเครื่องรางของขลังแต่ละรุ่นแทบจะทุกชิ้น ก่อนจะนำเข้าพิธีพุทธาภิเษก รวมทั้งรับการนิมนต์ไปร่วมพิธีพุทธาภิเษก ปลุกเสกวัตถุมงคลของวัดต่างๆ ทั่วทุกภาคของประเทศไทย
วัตถุมงคลและเครื่องรางของขลัง มีการจัดสร้างขึ้นดังนี้
- รุ่นปี พ.ศ. 2507 ทางคณะกรรมการวัดโดยคุณวรวัฒน์ รุ่งแสงและศิษยานุศิษย์ได้จัดสร้างเหรียญรุ่นแรกของหลวงพ่อมุมขึ้น โดยมีเหรียญที่เรียกกันว่า ส.หางสั้น และส.หางยาว
- รุ่นปี พ.ศ. 2508 ทางวัดได้จัดสร้างเหรียญกลม ถือว่าเป็นเหรียญรุ่นที่ 2 ออกมาเพื่อแจกจ่ายให้กับญาติโยม และชาวบ้านทั่วไป
- รุ่นปี พ.ศ. 2509 ทางวัดและลูกศิษย์ได้ขออนุญาต หลวงพ่อมุมจัดสร้างวัตถุมงคลขึ้นเป็นรุ่นที่ 3 โดยจัดพิธีขึ้นในโบสถ์ไม้หลังเก่าในวัดปราสาทเยอเหนือ มีทั้งเหรียญหลายแบบด้วยกัน พระกริ่งศก. รุ่นแรก , แหวนรุ่นแรก , ภาพถ่าย , รูปหล่อโบราณ , รวมทั้งตะกรุดรุ่นแรก ซึ่งได้มีเกจิอาจารย์ในยุคนั้นมาร่วมกันปลุกเสกหลายรูป อีกทั้งในปีนั้นยังได้จัดสร้างเหรียญหลวงพ่อบุญมา วัดปราสาทเยอใต้ ซึ่งเป็นอาจารย์ของหลวงพ่อมุมอีกองค์หนึ่งด้วย
- รุ่นปี พ.ศ. 2510 ได้มีการจัดสร้างเหรียญ สองอาจารย์ ด้านหน้าเป็นรูปครึ่งองค์ของหลวงพ่อบุญมาและหลวงพ่อมุม , ผ้ายันต์ ฯลฯ
- รุ่นปี พ.ศ. 2512 ได้มีการจัดสร้างพระชัยวัฒน์หลวงพ่อมุม แท้จริงแล้วถือเป็นพระกริ่งรุ่น 2 ภายหลังจากที่ออกพระกริ่งศ.ก. ได้ 3 ปี , เหรียญรูปอาร์ม , แหวนรุ่น3
- รุ่นปี พ.ศ. 2514 - 2515 ได้มีการจัดสร้างเหรียญเตารีด , เหรียญโลห์ ภปร. , สมเด็จลายเสือ , เหรียญเปิดที่ทำการ สภอ.เมือง ศรีสะเกษ , เหรียญอาร์มหลัง ภ.ป.ร.
เหรียญศาลาการเปรียญหรือเหรียญหน้าบัน , เหรียญกลมรุ่นพิเศษ , ล็อกเก็ต ,รวมทั้งแหวน ภปร. และอีกหลายๆแบบด้วยกัน
- รุ่นปี พ.ศ. 2516 ได้มีการจัดสร้างพระผงมีทั้งออกวัดปราสาทเยอเหนือและออกที่วัดมหาพุทธาราม วัดพระโต เช่น หลวงพ่อมุม พิมพ์สมเด็จ หลังรูปเหมือน , พิมพ์สมเด็จ หลังหันข้าง , พิมพ์สมเด็จจัมโบ้ , พิมพ์สมเด็จประทานพร , รูปเหมือนเนื้อว่าน ก็จะมีหลายๆ พิมพ์อีกเหมือนกัน , พระผงรูปเหมือน, รูปหล่อ และในปีนี้ได้มี ทหารนาวิกโยธินสหรัฐอมเริกา (GI.) มาตั้งฐานทัพต่อสู้สงครามเวียดนาม อยู่ที่จังหวัดอุบลราชธานีขอจัดสร้าง เนื่องจากได้นำวัตถุมงคลที่หลวงพ่อมุม ปลุกเสกไปทดลองยิง แต่ปรากฏว่ายิงไม่ออกจึงเกิดความศรัทธาในตัวหลวงพ่อมุม จึงได้ขอจัดสร้างรุ่นนี้ขึ้น มีทั้งเหรียญภาษาอังกฤษ PAPAMUM , สมเด็จภาษาอังกฤษ และเนื้อผงพิมพ์จันทร์ลอยภาษาอังกฤษ
- รุ่นปี พ.ศ. 2517 ในปีนี้ถือว่ามีพิธีการจัดสร้างยิ่งใหญ่พอสมควร จัดสร้างโดยพระอาจารย์ฟื้น ธมฺมวโร (สุพัฒนิยกุล) วัดอินทรวิหาร กรุงเทพมหานคร ร่วมกับมูลนิธิประสาธน์ขันธคุณ วัตถุประสงค์เพื่อบูรณะวัดปราสาทเยอเหนือและจัดสร้างหอระฆัง อีกส่วนหนึ่งจะจัดสร้างกำแพงรอบอุโบสถที่วัดสามัคคีพัฒนาราม ตำบลวังชมพู อำเภอเมืองเพชรบูรณ์ จังหวัดเพชรบูรณ์ โดยหลวงพ่อได้อธิษฐานจิตแล้วนำไปให้บูชาที่วัดอินทรวิหาร บางขุนพรหม กทม. ซึ่งวัตถุมงคลที่จัดสร้างขึ้นนั้น มีทั้งเหรียญพิมพ์นักกล้าม ( มีบล็อกวัดอินทรวิหารและวัดปราสาทเยอเหนือ ) เหรียญช้างสามเศียร, พระผงรูปเหมือน , เนื้อผงผสมเส้นเกศาหลวงพ่อมุม, พระปิดตาเนื้อว่าน 108 , รูปหล่อ ,รูปเหมือน, ล็อกเก็ต , ผ้ายันต์ , แหวน , ตะกรุดโทนเนื้อเงิน, สีผึ้ง,ลูกอม เป็นต้น
- รุ่นปี พ.ศ. 2519 ในปีนี้ถือว่าหลวงพ่อมุมอายุครบ 90 ปี ทางลูกศิษย์จึงได้จัดสร้างเหรียญฉีดซุ้มกนก โดยมีแบบมีหูและไม่มีหู , รูปหล่อ , แหวน ทปค. ฯลฯ
- รุ่นปี พ.ศ. 2520 ธนาคารกรุงเทพ ได้ขออนุญาตจัดสร้างเหรียญดอกบัวพิมพ์หนาและพิมพ์บาง ซึ่งเป็นสัญลักษณ์ของธนาคารกรุงเทพ และทางวัดปราสาทเยอเหนือยังได้จัดสร้างพระผงนาคปรก ,รูปเหมือนขนาดบูชา , ผ้ายันต์ฯลฯ
ส่วนเครื่องรางของขลังของหลวงพ่อมุมนั้นลักษณะการสร้างจะแตกต่างกัน เช่น ผ้ายันต์ , รูปถ่าย , เหรียญร.5 , กะลาตาเดียว , หวายลูกนิมิตร , ไม้ไผ่ตัน , มีดหมอลงเหล็กจาร , งาแกะหลายพิมพ์หลายแบบ , ตะกรุดหลายรูปแบบ ฯลฯ ส่วนใหญ่แล้วเครื่องรางของขลังของท่านจะไม่มีแบบเฉพาะ เนื่องจากลูกศิษย์และชาวบ้านจะนำวัสดุต่างๆหรือวัตถุมงคลอื่นๆ มาให้หลวงพ่อลงเหล็กจารคาถาอาคมแล้วปลุกเสก โดยท่านจะให้มารับตามกำหนดการที่ท่านปลุกเสกเสร็จ บางครั้งอาจต้องรอนานหลายเดือน เพราะท่านปลุกเสกตามพิธีตำราโบราณ ลายมือที่ท่านลงเหล็กจารในวัตถุมงคลหรือเครื่องรางของขลังนั้น ถือว่าเป็นเอกลักษณ์เฉพาะของหลวงพ่อมุม
ตำนานความศักดิ์สิทธิ์ของเหรียญและเครื่องรางหลวงพ่อมุม
[แก้]ความศักดิ์สิทธิ์ของเหรียญรูปหล่อ แหวน และเครื่องรางของหลวงพ่อมุม ได้รับการกล่าวถึงอย่างกว้างขวาง โดยเฉพาะที่กล่าวถึงกันมากที่สุดคือในช่วงสงครามอินโดจีนหรือสงครามเวียดนาม ซึ่งทหารนาวิกโยธิน ประจำกองทัพสหรัฐอมเมริกา ได้มาตั้งฐานทัพอยู่ที่จังหวัดอุบลราชธานี เพื่อเป็นฐานกำลังในการสู้รบระหว่างสงครามดังกล่าว และเนื่องจากมีทหารบางนายได้นำวัตถุมงคลที่หลวงพ่อมุม ปลุกเสกไปทดลองยิง แต่ปรากฏว่ายิงไม่ออกจึงเกิดความศรัทธาในตัวหลวงพ่อมุม จนนำไปสู่การขอจัดสร้างเหรียญหลวงพ่อมุมขึ้นในรุ่น พ.ศ. 2516 มีทั้งเหรียญภาษาอังกฤษ PAPAMUM , สมเด็จภาษาอังกฤษ และเนื้อผงพิมพ์จันทร์ลอยภาษาอังกฤษ รุ่นนี้ได้รับการเรียกกันโดยทั่วไปว่ารุ่น PAPAMUM
อ้างอิง
[แก้]- ↑ อนุชา ทรงศิริ (2554), พระกริ่งมหาราช วัดโพธิ์ , มติชน สุดสัปดาห์ ปีที่ 32 ฉบับ 1635, ประจำวันที่ 16-22 ธันวาคม 2554
- ↑ กรมการศาสนา.ฐานข้อมูลวัดทั่วประเทศ. จัดทำโดยฝ่ายศาสนสถานและควบคุมทะเบียนวัด กองพุทธศาสนสถาน สำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ , ข้อมูล ณ 9 มีนาคม พ.ศ. 2554
- ↑ 3.0 3.1 3.2 กรมศิลปากร. วัฒนธรรม พัฒนาการทางประวัติศาสตร์ เอกลักษณ์และภูมิปัญญา จังหวัดศรีสะเกษ.คณะกรรมการฝ่ายประมวลเอกสารและจดหมายเหตุ ในคณะกรรมการอำนวยการจัดงานเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว; [บรรณาธิการ : ปรุงศรี วัลลิโภดม],กรุงเทพฯ : โรงพิมพ์คุรุสภาลาดพร้าว, 2544.
- ↑ ตำบลศรีแก้ว อำเภอศรีรัตนะ ในปัจจุบัน หรือ อำเภอกันทรลักษ์ ในอดีต
- ↑ ปัจจุบันขึ้นกับอำเภอประจันตคาม จังหวัดปราจีนบุรี
- ↑ ขณะนั้น จังหวัดพระตะบอง ยังอยู่ในเขตราชอาณาจักรสยาม
- หอการค้าจังหวัดศรีสะเกษ.พระเครื่องเมืองอีสาน ชุด อีสานใต้.กรุงเทพฯ : หอการค้าจังหวัดศรีสะเกษ, 2552.
แหล่งข้อมูลอื่น
[แก้]- เว็บไซต์องค์การบริหารส่วนตำบลปราสาทเยอ[ลิงก์เสีย]
- หนังสือรำลึก 40 ปี กฐินพระราชทาน (พ.ศ. 2514-พ.ศ. 2554) โดย ธันย์ธำรง วงษ์สวัสดิ์ (เต๋ง ปราสาทเยอ) งานกฐินสามัคคี 25 ตุลาคม 2554 วัดปราสาทเยอเหนือ จ.ศรีสะเกษ