ข้ามไปเนื้อหา

กุลศักดิ์ เรืองคงเกียรติ

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
(เปลี่ยนทางจาก จิ้น กรรมาชน)
จิ้น กรรมาชน
ข้อมูลพื้นฐาน
ชื่อเกิดกุลศักดิ์ เรืองคงเกียรติ
รู้จักในชื่อจิ้น
เกิด16 มกราคม พ.ศ. 2495
แนวเพลงเพื่อชีวิต
อาชีพนักร้อง, เภสัชกร
ช่วงปี2517 - ปัจจุบัน
ค่ายเพลงอิสระ
ครีเอเทีย

เภสัชกรกุลศักดิ์ เรืองคงเกียรติ หรือ จิ้น กรรมาชน หัวหน้าวง “กรรมาชน” ซึ่งเป็นวงดนตรีเพื่อชีวิต ที่ก่อเกิดจากนักศึกษา มหาวิทยาลัยมหิดล ในช่วง เหตุการณ์ 14 ตุลา

จิ้น เกิดที่กรุงเทพ เรียนชั้นมัธยมศีกษาที่โรงเรียนเตรียมอุดมศึกษา เริ่มเล่นดนตรีครั้งแรกในวงดุริยางค์ของโรงเรียน ต่อมาได้เข้าเรียนในระดับอุดมศึกษาที่คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล ในปี 2516 และได้เข้าร่วมในวงดนตรี “ลูกทุ่งวิดยา-มหิดล” จนกระทั่งในช่วงปิดเทอมเดือนมีนาคมปี 2517 ได้มีโอกาสไปออกค่ายในโครงการเผยแพร่ประชาธิปไตย ที่ อำเภอท่าตะโก นครสวรรค์ จึงเกิดแรงบันดาลใจที่จะทำงานที่เป็นประโยชน์ต่อสังคม หลังจากกลับมาจึงรวมวงในรูปแบบใหม่ โดยมี องค์การนักศึกษามหาวิทยาลัยมหิดลสนับสนุน และได้เล่นเปิดวงครั้งแรกในงาน 14 ตุลาคม 2517 ที่หอประชุมใหญ่ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ โดยใช้ชื่อวงว่า “กรรมาชน” อันนำมาจากชื่อหนังสือที่แจกหน้าหอใหญ่ในงานนั่นเอง

วงกรรมาชนมีการบันทึกเทปครั้งแรก ประมาณปี พ.ศ. 2517 มีเพลง กรรมาชน, คนกับควาย, ข้าวคอยฝน, เปิบข้าว, เพื่อมวลชน, กูจะปฏิวัติ, ชาวนารำพึง, แสง, เจ้าพระยาฮาเฮ, สู้ไม่ถอย, มาร์ชประชาชนเดิน

วงกรรมาชนมีการบันทึกเทปครั้งที่ 2 ประมาณปี พ.ศ. 2518 มีเพลง อินโดจีน, รักชาติ, ใช้ของไทย, โปสเตอร์, เสียงเพรียกจากมาตุภูมิ, รำวงเมย์เดย์, บ้านเกิดเมืองนอน, ศักดิ์ศรีแรงงาน

ในเวลาไล่เลี่ยกัน วงกรรมาชน มีการบันทึกเทปชุดที่ 3 ชุดนี้ส่วนใหญ่เป็นเพลงมาร์ช ซึ่งเป็นผลงานของ จิตร ภูมิศักดิ์

วงกรรมาชน ได้มีบทบาทต่อการเคลื่อนไหวทางการเมืองในขณะนั้นเป็นอย่างมาก จิ้นได้เข้าร่วมในการประท้วงหลายครั้ง และมีการแต่งเพลงเพื่อนำมาเล่นในวง เช่น เพลงแสง อันเกิดจากกรณีลอบสังหาร “แสง รุ่งนิรันดร์กุล” ผู้นำนักศึกษาคนหนึ่งในสมัยนั้น กรรมาชนได้มีบทบาทเรื่อยมาจนกระทั่งถึงเหตุการณ์ 6 ตุลาคม 2519 ก็ต้องกระจัดกระจายกันออกไป จิ้นจำเป็นต้องหลบหนีเข้าเขตป่าเขา และได้มีโอกาสศึกษาดนตรีชั้นสูงร่วมกับศิลปินปัญญาชนคนอื่นๆ ที่ประเทศจีน จนกระทั่งเหตุการณ์คลี่คลายลงได้เดินทางกลับประเทศไทย

ภายหลังที่จิ้นเข้าเมืองแล้วก็ได้รวมเพื่อนเก่าจากมหาวิทยาลัยต่างๆ ร่วมกันทำผลงานเพลงขึ้นมาอีก ในราวปี 2532 โดยใช้ชื่อว่า “วงพันดาว” มีเทปออกมา 1 ชุด โดย จิ้นได้แต่งเพลงในชุดนี้ด้วยคือ เก็บข้าวโพด, มาตุภูมิ, ฮุยเลฮุย

ภายหลัง จิ้น กรรมาชน ออกผลงานเดี่ยวชุด เพื่อมาตุภูมิ ในปี 2532 กับค่ายครีเอเทีย อาร์ติสต์ โดยมี จิรพรรณ อังศวานนท์ เป็นโปรดิวเซอร์ และทีมงานกลุ่ม บัตเตอร์ฟลาย มีส่วนในการทำงานดนตรีของอัลบั้มนี้อีกด้วย

หลังการรัฐประหาร พ.ศ. 2549 จิ้นได้ร่วมเคลื่อนไหวต่อต้านการรัฐประหารกับแนวร่วมประชาธิปไตยขับไล่เผด็จการ (นปก.) จนกระทั่งหลังการเลือกตั้ง พ.ศ. 2550 พรรคพลังประชาชนได้เป็นแกนนำจัดตั้งรัฐบาล นปก. ซึ่งเปลี่ยนชื่อเป็น แนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ (นปช.) จึงยุติบทบาทไประยะหนึ่ง จนกระทั่งเกิดการสลับขั้วทางการเมือง พรรคประชาธิปัตย์ได้เป็นแกนนำจัดตั้งรัฐบาล นปช. จึงกลับมารวมตัวกันอีกครั้ง และเคลื่อนไหวต่อต้านพลเอกเปรม ติณสูลานนท์ และรัฐบาลนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ทั้งในช่วงการชุมนุมใหญ่ เมื่อเดือนมีนาคม-เมษายน พ.ศ. 2552 และเดือนมีนาคม-เมษายน พ.ศ. 2553 จิ้นได้แต่งเพลงให้ นปช. หลายเพลงด้วยกัน เช่น มาร์ชแดงทั้งแผ่นดิน, นักสู้ธุลีดิน, เดิมพัน, ปณิธานแห่งเสรีชน, เอาคืน, สีแดง, วันของเรา และอีกหลายๆ เพลง

ปัจจุบันจิ้นประกอบอาชีพเภสัชกร

ผลงานเพลง

[แก้]
  • เพื่อมาตุภูมิ (2532)

ผลงานร่วมกับศิลปินอื่น

[แก้]

อ้างอิง

[แก้]