ข้ามไปเนื้อหา

การปฏิวัติฝรั่งเศส

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
การปฏิวัติฝรั่งเศส
Révolution française
การประหารพระเจ้าหลุยส์ที่ 16 แห่งฝรั่งเศส เมื่อวันที่ 21 มกราคม ค.ศ. 1793
วันที่5 พฤษภาคม 1789 – 9 พฤศจิกายน 1799
(10 ปี 6 เดือน 4 วัน)
ผล

การปฏิวัติฝรั่งเศส (ฝรั่งเศส: Révolution française เรวอลูว์ซียง ฟร็องเซ) เริ่มต้นขึ้นในเดือนพฤษภาคม ค.ศ. 1789 เมื่อกองกำลังร่วมกันล้มล้างระบอบเก่าเพื่อสถาปนาระบอบใหม่ นำไปสู่ระบอบราชาธิปไตยภายใต้รัฐธรรมนูญเป็นระยะเวลาชั่วคราว และแล้วสถาบันกษัตริย์ก็ถูกล้มล้างโดยสมบูรณ์ในเดือนกันยายน ค.ศ. 1792 ราชอาณาจักรฝรั่งเศสแปรสภาพเป็นสาธารณรัฐฝรั่งเศสที่หนึ่ง ตามด้วยการประหารชีวิตพระเจ้าหลุยส์ที่ 16 ในเดือนมกราคม ค.ศ. 1793 และความวุ่นวายทางการเมืองที่ยาวนานหลายปี ความวุ่นวายเหล่านี้สิ้นสุดลงเมื่อนายพลนโปเลียนได้ก่อรัฐประหาร 18 บรูว์แมร์ และตั้งตนเองเป็นกงสุลเอกเมื่อพฤศจิกายน ค.ศ. 1799 หลักการหลายประการในปัจจุบันได้ถือว่าเป็นพื้นฐานสำคัญของระบอบประชาธิปไตยเสรีนิยมสมัยใหม่

ในช่วงระหว่างปี ค.ศ. 1700 และ ค.ศ. 1789 ประชาชนชาวฝรั่งเศสได้ขยายตัวจาก 18 ล้านคนเป็น 26 ล้านคน นำไปสู่คนว่างงานจำนวนมาก พร้อมกับการเพิ่มขึ้นราคาสินค้าอย่างรวดเร็ว ซึ่งเกิดมาจากการเก็บเกี่ยวที่แย่มาหลายปี ความทุกข์ยากทางสังคมได้กว้างขวางอย่างมาก ซึ่งนำไปสู่การเรียกประชุมสภาฐานันดรในเดือนพฤษภาคม ค.ศ. 1789 ครั้งแรกนับตั้งแต่ปี ค.ศ. 1614 ในเดือนมิถุนายน สภาฐานันดรถูกแปรสภาพเป็นสมัชชาแห่งชาติ ซึ่งทำการขจัดจารีตและระบอบที่มีอยู่เดิมด้วยมาตรการที่รุนแรง ไม่ว่าการยกเลิกระบอบศักดินาสวามิภักดิ์, การยกเลิกสิทธิ์พิเศษของนักบวช, การยึดศาสนสถานคาทอลิกเป็นของรัฐ, การบังคับให้นักบวชคือผู้ที่รับเงินเดือนจากรัฐ, การให้สิทธิ์เลือกตั้งแก่ผู้ชายฝรั่งเศสถ้วนหน้า เป็นต้น

ประเทศมหาอำนาจอย่างเช่น ออสเตรีย, บริเตนใหญ่ และปรัสเซีย มองว่าการปฏิวัติในฝรั่งเศสเป็นภัยคุกคามต่อราชบัลลังก์ของตนเอง จึงรวมหัวกันกดดันคณะปฏิวัติฝรั่งเศสให้ทำการปล่อยตัวพระเจ้าหลุยส์ แต่ก็ไม่เป็นผล คณะปฏิวัติฝรั่งเศสประหารพระเจ้าหลุยส์ ก่อตั้งสาธารณรัฐที่หนึ่ง และประกาศสงครามกับต่างประเทศ

ในช่วงต้นของการปฏิวัติ อำนาจนิติบัญญัติ-บริหาร-ตุลาการ รวมอยู่ในองค์กรเดียวที่ชื่อว่าสภาร่างรัฐธรรมนูญแห่งชาติ ซึ่งอยู่ภายใต้อิทธิพลของกลุ่มฌีรงแด็ง อย่างไรก็ตาม กลุ่มฌีรงแด็งดำเนินนโยบายหลายประการซึ่งสร้างความไม่พอใจให้แก่ประชาชน ท้ายที่สุด กลุ่มฌีรงแด็งก็ไม่เหลือพันธมิตร กองกำลังประชาชนร่วมกับนักการเมืองกลุ่มลามงตาญ จึงร่วมมือกันโค่นล้มกลุ่มฌีรงแด็งในเดือนมิถุนายน ค.ศ. 1793 เมื่อกลุ่มลามงตาญครองอำนาจก็เข้าสู่สมัยแห่งความน่าสะพรึงกลัวภายใต้การนำของมักซีมีเลียง รอแบ็สปีแยร์ รัฐธรรมนูญถูกระงับใช้ คณะกรรมาธิการความปลอดภัยส่วนรวมกลายเป็นองค์กรที่มีอำนาจเบ็ดเสร็จ ซึ่งในสมัยดังกล่าว ผู้ถูกกล่าวหาหรือต้องสงสัยว่า "ต่อต้านการปฏิวัติ" จะถูกจับกุมขึ้นศาลอาญาปฏิวัติ และถูกจำคุกหรือถูกตัดสินประหารชีวิตด้วยเครื่องกิโยติน

ตลอดระยะเวลาหนึ่งปีเศษที่รอแบ็สปีแยร์ครองอำนาจ มีผู้ถูกประหารชีวิตกว่า 16,000 รายในกรุงปารีสและต่างจังหวัด จนกระทั่งเกิดเหตุการณ์ที่เรียกว่า "ปฏิกิริยาเดือนแตร์มีดอร์" ที่นักการเมืองรวมหัวกันออกมติปลดรอแบ็สปีแยร์กลางสภา และออกมติให้จับกุมรอแบ็สปีแยร์และพวก ถือเป็นสิ้นจุดสมัยแห่งความน่าสะพรึงกลัว หลังจากนั้น สภาก็ร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ ค.ศ. 1795 ซึ่งแบ่งแยกอำนาจนิติบัญญัติ-บริหาร-ตุลาการ ออกจากกัน ฝ่ายบริหารมีชื่อว่าคณะดีแร็กตัวร์ แม้ว่าคณะดีแร็กตัวร์ประสบความสำเร็จทางทหาร แต่ต้นทุนสงครามก็ได้นำไปสู่ความซบเซาทางเศรษฐกิจและความแตกแยกภายในประเทศ และแล้วคณะดีแร็กตัวร์ก็ถูกรัฐประหารโดยนายพลนโปเลียน ซึ่งได้รับการยอมรับว่าเป็นสุดสิ้นสุดของการปฏิวัติฝรั่งเศส

สัญลักษณ์ของการปฏิวัติมากมาย เช่นเพลง ลามาร์แซแยซ และวลี "เสรีภาพ เสมอภาค ภราดรภาพ" (Liberté, égalité, fraternité) ได้ปรากฏขึ้นอีกครั้งในการปฏิวัติอื่น ๆ เช่น การปฏิวัติรัสเซีย ค.ศ. 1917 ในอีกสองศตวรรษข้างหน้า หลักการสำคัญ เช่น ความเท่าเทียม จะกลายเป็นแรงบันดาลใจให้มีการรณรงค์เพื่อการเลิกทาสและสิทธิออกเสียงเลือกตั้งทั่วไป ค่านิยมและสถาบันนั้นมีอิทธิพลต่อการเมืองฝรั่งเศสจนถึงทุกวันนี้ และนักประวัติศาสตร์หลายคนได้ถือว่า การปฏิวัติเป็นเหตุการณ์ที่สำคัญที่สุดครั้งหนึ่งในประวัติศาสตร์มวลมนุษย์

สาเหตุ

[แก้]
พระเจ้าหลุยส์ที่ 16

มูลเหตุของการปฏิวัติฝรั่งเศสมีความซับซ้อนและยังเป็นที่ถกเถียงกันในหมู่นักประวัติศาสตร์ นักประวัติศาสตร์ชี้ไปที่เหตุการณ์ และปัจจัยภายในต่าง ๆ ของระบอบเก่า (Ancien Régime) จำนวนหนึ่งว่าเป็นปัจจัยที่นำไปสู่การปฏิวัติ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ปัจจัยทางเศรษฐกิจรวมถึงความหิวโหยและทุพโภชนาการในประชากรกลุ่มที่ยากแค้นที่สุด อันเนื่องมาจากราคาขนมปังที่สูงขึ้น หลังจากการเก็บเกี่ยวธัญพืชที่ให้ผลไม่ดีหลายปีติดต่อกัน ซึ่งบางส่วนเกิดจากสภาพอากาศผิดปกติจากสภาพความหนาวเย็นผิดฤดู ซึ่งเป็นผลสืบเนื่องมาจากกิจกรรมของภูเขาไฟที่ลากีและกริมสวอทน์ใน 1783-1784 ประกอบกับราคาอาหารที่สูงขึ้น และระบบการขนส่งที่ไม่เพียงพอซึ่งขัดขวางการส่งสินค้าอาหารปริมาณมากจากพื้นที่ชนบทไปยังศูนย์กลางประชากรขนาดใหญ่ ปัจจัยเหล่านี้มีส่วนทำให้สังคมฝรั่งเศสขาดเสถียรภาพในช่วงก่อนการปฏิวัติอย่างยิ่ง[1][2]

สาเหตุอีกประการหนึ่งคือ ภาวะใกล้จะล้มละลายของรัฐบาลจากค่าใช้จ่ายในสงครามที่ฝรั่งเศสเข้าร่วมรบจำนวนมหาศาล โดยเฉพาะอย่างยิ่งสงครามเจ็ดปีและสงครามปฏิวัติอเมริกา สงครามใหญ่เหล่านี้ก่อหนี้จำนวนมหาศาลให้แก่รัฐบาลฝรั่งเศส ซึ่งสถานการณ์ยิ่งเลวร้ายลงจากการสูญเสียการครอบครองพื้นที่อาณานิคมของฝรั่งเศสในทวีปอเมริกาเหนือ และการครอบงำทางพาณิชย์ของบริเตนใหญ่ที่เพิ่มขึ้น ทั้งระบบการเงินที่ไม่มีประสิทธิภาพและล้าสมัยของฝรั่งเศสก็ไม่สามารถจัดการกับหนี้สาธารณะได้ ทางรัฐบาลพยายามจะแก้ไขสถานการณ์ทางการเงินด้วยการเก็บภาษีเพิ่ม แต่ลักษณะการเก็บภาษีเป็นแบบถดถอย (regressive) กล่าวคือยิ่งมีรายได้มากภาระการจ่ายภาษียิ่งลดลง วิธีการเก็บภาษีดังกล่าวนอกจากจะล้าสมัยแล้ว ยังทวีความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจและสังคมเพิ่มขึ้นไปอีก[3][4] เมื่อต้องเผชิญหน้ากับวิกฤติการคลังเช่นนี้ กษัตริย์ฝรั่งเศสจึงทรงเรียกประชุมสภาฐานันดรขึ้นตามคำแนะนำของสภาอภิชนในปี 1787

สำหรับปัจจัยทางการเมือง เยือร์เกิน ฮาเบอร์มาส นักปรัชญาชาวเยอรมันอธิบายว่าเป็นเพราะการเปลี่ยนแปลงของ "พื้นที่สาธารณะ" ที่กำลังเกิดขึ้นในฝรั่งเศสและยุโรปในช่วง ศ.ที่หนึ่ง8[5] โดยก่อนหน้านี้ (ศตวรรษที่หนึ่ง7) ฝรั่งเศสมีจารีตประเพณีการปกครองที่แยกชนชั้นปกครองออกจากชนชั้นที่ถูกปกครองอย่างชัดเจน ฝ่ายชนชั้นปกครองของฝรั่งเศสเป็นผู้ยึดกุมพื้นที่สาธารณะอย่างสิ้นเชิง และมุ่งจะแสดงออกถึงอำนาจทางการเมืองผ่านทางวัตถุ โดยการสร้างสิ่งก่อสร้างสาธารณะที่ใหญ่โต หรูหรา และมีราคาแพง[6] เช่น พระราชวังแวร์ซาย ซึ่งถูกสร้างให้อาคันตุกะต้องมนต์ของความงดงามอลังการ และเพื่อเป็นการแสดงออกซึ่งอำนาจที่เกรียงไกรของราชอาณาจักรฝรั่งเศสในรัชสมัยของพระเจ้าหลุยส์ที่ 14 แต่พอถึงศตวรรษที่ 18 ประชาชนเริ่มมีความตื่นตัวทางการเมืองมากขึ้น การรู้หนังสือในหมู่ราษฎรมีเพิ่มสูงขึ้น ทำให้ธุรกิจเอกสารสิ่งพิมพ์มีความคึกคัก มีการพบปะพูดคุยและเปลี่ยนความคิดเห็นและข่าวสารตามร้านกาแฟ ร้านหนังสือพิมพ์ และโรงช่างฝีมือในกรุงปารีส จนเกิดเป็นพื้นที่สาธารณะนอกการควบคุมของรัฐ และมีศูนย์กลางอยู่ที่ปารีสแทนที่จะเป็นแวร์ซาย[7] กรณีพิพาทบูฟง (Querelle des Bouffons) ในปี 1750 เป็นเหตุการณ์แรก ๆ ที่แสดงให้เห็นว่าความเห็นของสาธารณะมีความสำคัญ แม้แต่ในเรื่องรสนิยมทางดนตรีซึ่งเคยเป็นพื้นที่ทางวัฒนธรรมของชนชั้นสูง หลังจากนั้นความเชื่อว่าทัศนะของสาธารณชน (แทนที่จะเป็นราชสำนัก) มีสิทธิที่จะตัดสินปัญหาทางวัฒนธรรมก็พัฒนาไปสู่ความต้องการของสาธารณะที่จะชี้ขาดปัญหาทางการเมืองในเวลาต่อมา

เหตุการณ์ก่อนการปฏิวัติ

[แก้]

วิกฤติการคลัง

[แก้]
ภาพล้อเลียน: ฐานันดรที่สาม (สามัญชน) กำลังแบกฐานันดรที่หนึ่ง (พระ) และฐานันดรที่สอง (ขุนนาง)

ปี 1774 พระเจ้าหลุยส์ที่ 16 ขึ้นครองราชบัลลังก์ท่ามกลางวิกฤติการคลัง ฝรั่งเศสประสบภาวะขาดดุลงบประมาณติดต่อกันจนรัฐบาลเกือบล้มละลาย[8] ซึ่งมีสาเหตุมาจากการมีส่วนในสงครามเจ็ดปีและสงครามปฏิวัติอเมริกา[9] ขุนคลังเอก ฌัก ตูร์โก (Jacques Turgot) พยายามแก้ปัญหาได้บ้าง แต่เนื่องจากไปแตะเรื่องเอกสิทธิ์มากเกินไปจึงถูกพวกในราชสำนักรวมหัวบีบให้เขาลาออกเมื่อพฤษภาคม 1776 จนกระทั่งในปีต่อมา ฌัก แนแกร์ (Jacques Necker) นายธนาคารชาวสวิสได้รับแต่งตั้งเป็นผู้อำนวยการพระคลังหลวง เนื่องจากแนแกร์นับถือโปรเตสแตนท์ ขณะที่ราชสำนักฝรั่งเศสนับถือโรมันคาทอลิก แนแกร์จึงดำรงตำแหน่งขุนคลังเอกเต็มตัวไม่ได้[10]

แนแกร์ตระหนักดีว่าระบบอัตราภาษีแบบถดถอยสร้างภาระหนักหนาต่อชนชั้นล่างเกินไป[10] ขุนนางและพระได้รับการยกเว้นภาษีมากมายไปหมด[11] แนแกร์เห็นว่าประเทศไม่สามารถเก็บเพิ่มอัตราภาษีสูงกว่านี้แล้ว ควรลดรายการภาษีที่ได้รับการยกเว้นของขุนนางและพระ และยังเสนอให้ราชสำนักทำการกู้เงินเพื่อผ่านวิกฤติการคลังครั้งนี้ เขาตีพิมพ์รายงานฉบับหนึ่งเพื่อสนับสนุนความคิดนี้ และเสนอให้ลดอำนาจของกลุ่มสภาอำมาตย์ที่เรียกว่า ปาร์เลอมง (Parlements)[10] สภาอำมาตย์เหล่านี้มีทั้งส่วนกลางและส่วนภูมิภาค มีอำนาจวินิจฉัยตัดสินคดีความต่างๆ และยังมีอำนาจรับรองนโยบายของรัฐบาลให้เป็นกฎหมาย

นโยบายการปฏิรูปของแนแกร์ถูกต่อต้านและขัดขวางโดยราชสำนักของพระเจ้าหลุยส์ แนแกร์ต้องการตำแหน่งนี้สูงกว่านี้ และร้องขอให้ทรงแต่งตั้งเขาเป็นขุนคลังเอกเต็มตัว พระเจ้าหลุยส์ทรงปฏิเสธ ท้ายที่สุด แนแกร์จึงลาออกในเดือนพฤษภาคม 1781 จนกระทั่งราชสำนักได้มือดีอย่างอาแล็กซ็องดร์ เดอ กาลอน (Calonne) มาในปี 1783[10] ในช่วงแรกกาลอนมีท่าทีใจกว้างต่อราชสำนัก แต่ไม่นานเขาก็ตระหนักถึงสถานการณ์ความเลวร้ายทางด้านการคลัง และเสนอประมวลกฎหมายภาษีฉบับใหม่[12] เนื่องจากร่างกฎหมายภาษีฉบับใหม่จะทำให้ขุนนางและพระเสียภาษีที่ดิน จึงตกเป็นที่ต่อต้านโดยสภาอำมาตย์ กาลอนนำเรื่องเข้าสภาอภิชนแต่ถูกต่อต้านและทำให้ตัวกาลอนตกอยู่ในสถานะลำบากเสียเอง เหล่าขุนนางเสนอว่าการเปลี่ยนแปลงเช่นนี้จะต้องได้รับความเห็นชอบจากประชาชนด้วย ดังนั้นสภาที่ควรจะตัดสินเรื่องนี้จึงควรเป็นสภาฐานันดร (États généraux)

กาลอนตัดสินใจลาออกในเดือนพฤษภาคม 1787 และผู้มาแทนที่คือบรีแยน (Brienne) ร่างกฎหมายที่บรีแยนเสนอต่อสภาอภิชน (Assemblée des notables) นั้นแทบไม่แตกต่างจากของกาลอนเลย ต่างแต่มีการยกเว้นภาษีเหนือที่ดินโบสถ์เท่านั้น แน่นอนว่าร่างกฎหมายฉบับนี้ถูกตีตกโดยสภาอภิชน บรีแยนพยายามอุทธรณ์ร่างกฎหมายนี้ไปยังสภาอำมาตย์ปารีส แม้ว่าสภาอำมาตย์ปารีสเห็นชอบในหลักการ แต่ก็พูดเหมือนสภาอภิชนว่ามีเพียงสภาฐานันดรเท่านั้นที่มีอำนาจผ่านร่างกฎหมายที่ส่งผลเปลี่ยนแปลงสังคมขนาดนี้

ในเดือนสิงหาคม 1788 พระเจ้าหลุยส์ทรงเรียกแนแกร์มารับตำแหน่งในราชสำนัก เชื่อกันว่าพระนางมารีอ็องตัวแน็ตมีส่วนช่วยให้แนแกร์กลับมามีอำนาจ[13] แนแกร์ยืนกรานขอตำแหน่งขุนคลังเอก (Contrôleur général des finances) พระเจ้าหลุยส์ทรงยอมตาม และยังตั้งแนแกร์เป็นมุขมนตรีแห่งรัฐ (เทียบเท่านายกรัฐมนตรี)

การประชุมสภาฐานันดร

[แก้]

สภาฐานันดรประกอบด้วยผู้แทนจากสามชนชั้นได้แก่ พระสงฆ์, ขุนนาง และไพร่ ในวันที่ 24 มกราคม 1789 พระเจ้าหลุยส์ที่ 16 ทรงตราพระราชกฤษฎีกาเรียกประชุมสภาฐานันดรอย่างเป็นทางการ (การประชุมครั้งล่าสุดเกิดขึ้นในปี 1614) จากนั้นก็มีการจัดการเลือกตั้งผู้แทนชนชั้นไพร่ในฤดูใบไม้ผลิปีเดียวกัน ผู้มีสิทธิ์ออกเสียงลงคะแนนคือชายชาวฝรั่งเศสโดยกำเนิดที่มีอายุไม่ต่ำกว่า 25 ปีบริบูรณ์ ต้องเป็นผู้พำนักในท้องที่ในวันเวลาเลือกตั้งและต้องเป็นผู้มีประวัติการเสียภาษี

พิธีเปิดประชุมสภาฐานันดร ค.ศ. 1789

สภาฐานันดรประกอบด้วยสมาชิก 1,201 คน มาจากชนชั้นพระสงฆ์ 303 คน, ชนชั้นขุนนาง 291 คน, และชนชั้นไพร่ 610 คน ฐานันดรที่หนึ่งเป็นผู้แทนของพระสงฆ์และนักบวชราวหนึ่งแสนคนทั่วฝรั่งเศส ศาสนจักรถือกรรมสิทธิ์เหนือที่ดินราว 10% ของประเทศ และยังได้สิทธิ์จัดเก็บภาษีจากชาวไร่ที่ใช้ประโยชน์เหนือที่ดิน ที่ดินเหล่านี้ถูกควบคุมโดยเหล่ามุขนายกและอธิการอาราม[14] ฐานันดรที่สองเป็นผู้แทนของขุนนางซึ่งมีจำนวนราวสี่แสนคน ชนชั้นขุนนางถือกรรมสิทธิ์ที่ดินราว 25% ของประเทศ และได้รับสิ่งบรรณาการและค่าเช่าจากชาวไร่เป็นการตอบแทน ฐานันดรที่สามเป็นผู้แทนของไพร่ซึ่งมีจำนวนราว 28 ล้านคน กว่าครึ่งของผู้แทนฐานันดรที่สามเป็นข้าราชการท้องถิ่นหรือนักกฎหมายผู้มีการศึกษา[15][16]

พิธีเปิดประชุมจัดขึ้นที่พระราชวังแวร์ซายในวันที่ 5 พฤษภาคม 1789 ที่ประชุมเสนอให้ใช้ระบบลงคะแนนทั้งสภามีเพียงสามเสียง แต่ละฐานันดรมีเพียงหนึ่งเสียง นั่นทำให้ฐานันดรที่สามที่แม้จะมีจำนวนสมาชิกมากสุด แต่กลับมีสิทธิ์ออกเสียงเพียงหนึ่งในสามของสภา วิธีการลงคะแนนนี้ทำให้ฐานันดรที่สามไม่มีทางชนะสองฐานันดรแรก ผู้แทนฐานันดรที่สามชี้ให้เห็นถึงความไม่เป็นธรรมดังกล่าวและเสนอให้ลงคะแนนแบบหนึ่งคนหนึ่งเสียงแทน แต่ได้รับการปฏิเสธ ผู้แทนฐานันดรที่สามไม่พอใจอย่างมากจึงถอนตัวจากการประชุมและไปตั้งสภาของตนเองแยกต่างหาก

ชนชั้นไพร่จัดตั้งสมัชชาแห่งชาติ

[แก้]
คำปฏิญาณสนามเทนนิส

กลุ่มผู้แทนฐานันดรที่สามรวมตัวกันที่โถงเดตาต์ในพระราชวังแวร์ซายเพื่อจัดตั้งสภาใหม่ที่เรียกว่า สมัชชาแห่งชาติ (Assemblée nationale) พวกเขาร่วมกันประกาศคำยืนยันอำนาจที่เป็นอิสระจากองค์กรอื่น และประกาศว่าสภาของตนเท่านั้นที่มีอำนาจตราหรือแก้ไขกฎหมายภาษี เนื่องจากไม่ไว้วางใจการทำงานของราชสำนักที่สนับสนุนแต่นักบวชและขุนนาง สมัชชาแห่งชาติประกาศยกเว้นการเก็บภาษีเป็นการชั่วคราว เหล่านายทุนเกิดความเชื่อมั่นและให้การสนับสนุนสมัชชาแห่งชาติ

พระเจ้าหลุยส์ไม่พอใจ จึงบัญชาให้ทหารหลวงปิดโถงเดตาต์ สถานที่ใช้ประชุมของสมัชชาแห่งชาติ และในเช้าวันที่ 20 มิถุนายน 1789 เหล่าสมาชิกสมัชชาแห่งชาติต่างตกตะลึงเมื่อพบว่าห้องโถงถูกลงกลอนและเฝ้ายามโดยทหารหลวง พวกเขาจึงพากันไปรวมตัวที่สนามเฌอเดอโปมและร่วมกันประกาศคำปฏิญาณสนามเทนนิสไว้ว่า "จะไม่มีวันแตกแยก และจะรวมตัวกันไม่ว่าในที่แห่งหนหรือสถานการณ์ใดก็ตาม จนกว่าธรรมนูญแห่งอาณาจักรจะถูกตราขึ้น"[17] ความพยายามของพระเจ้าหลุยส์ที่จะให้สภานี้เป็นโมฆะประสบความล้มเหลว พระองค์เริ่มยอมรับอำนาจของสมัชชาแห่งชาติในวันที่ 27 มิถุนายน[18] สมัชชาแห่งชาติได้รับเสียงสนับสนุนอย่างท่วมท้นจากชาวปารีสและเมืองอื่นๆของฝรั่งเศส[19]

เมื่อพระเจ้าหลุยส์ทรงยอมรับสถานะของสมัชชาแห่งชาติ ทรงขอให้อีกสองฐานันดรเข้าร่วมประชุมกับสมัชชาแห่งชาติ ไม่นานหลังจากนั้น เกินครึ่งของฐานันดรที่หนึ่งก็ยอมเข้าร่วมประชุมกับสมัชชาแห่งชาติ ขณะที่ผู้แทนฐานันดรที่สองยอมเข้าร่วมเพียง 47 คน ในวันที่ 9 กรกฎาคม สมัชชาแห่งชาติถูกเปลี่ยนชื่อเป็นสภาร่างรัฐธรรมนูญแห่งชาติ (Assemblée nationale constituante) ทำหน้าที่เป็นฝ่ายบริหาร ฝ่ายนิติบัญญัติ และผู้ร่างรัฐธรรมนูญ ในองค์กรเดียว[18]

เหตุการณ์ช่วงต้นการปฏิวัติ

[แก้]

การทลายคุกบัสตีย์

[แก้]

พระเจ้าหลุยส์ที่ 16 ได้รับแรงกดดันอีกครั้งจากพระนางมารี อ็องตัวแน็ต ผู้เป็นมเหสี และเคานต์แห่งอาร์ตัว (Comte d'Artois) ผู้เป็นอนุชา (ต่อมาคือพระเจ้าชาร์ลที่ 10) พระเจ้าหลุยส์จ้างกองทหารต่างชาติเข้ามาประจำการในกรุงปารีสและพระราชวังแวร์ซาย นอกจากนี้พระเจ้าหลุยส์ยังทรงปลดฌัก แนแกร์ (ผู้เป็นดั่งสัญลักษณ์ของฐานันดรที่สาม) ลงจากตำแหน่งอีกครั้งในวันที่ 11 กรกฎาคม 1789 กองทัพหลวงฝรั่งเศสมีทหารรับจ้างต่างชาติอย่างสวิสและเยอรมันประจำการอยู่ในสัดส่วนที่ไม่น้อยเลย เนื่องจากราชสำนักมองว่าทหารต่างชาติสามารถควบคุมอารมณ์ได้ดีกว่าทหารฝรั่งเศส ในการลงมือกับคนชาติเดียวกัน[20] ในเดือนกรกฎาคม 1789 คาดว่าทหารต่างชาติที่ตรึงกำลังในปารีสและแวร์ซายนี้มีจำนวนถึง 25,000 นาย[21]

การทลายคุกบัสตีย์

ข่าวการปลดแนแกร์สะพัดทั่วกรุงปารีสในบ่ายวันที่ 12 กรกฎาคม ชาวปารีสรู้สึกเดือดดาล มองว่านี่คือการก่อรัฐประหารเงียบโดยกลุ่มอำนาจเก่า นอกจากนี้ การที่ทหารหลวงตรึงกำลังในหลายจุด ทั้งที่วังแวร์ซาย, ลานช็องเดอมาร์ส และแซ็ง-เดอนี ทำให้ประชาชนมองว่าพระเจ้าหลุยส์คิดจะใช้กำลังทหารล้มล้างสภาร่างรัฐธรรมนูญแห่งชาติ ประชาชนชาวปารีสนับหมื่นออกมาชุมนุมกันที่ลานหน้าพระราชวังหลวง นักสื่อสารมวลชนกามีย์ เดมูแล็ง (Desmoulins) ประกาศว่า: "ราษฎรทั้งหลาย! จะมัวเสียเวลาไม่ได้อีกแล้ว สำหรับผู้รักชาติ การปลดแนแกร์มันก็คือเสียงระฆังลางร้ายของวันเซนต์บาโทโลมิวนี่เอง คืนนี้ ทหารสวิสและเยอรมันทั้งหมดจะเคลื่อนพลออกจากลานช็องเดอมาร์สมาฆ่าพวกเราตายหมด ทางรอดเดียวที่เหลืออยู่ คือจับอาวุธ!"[22]

เช้าวันที่ 14 กรกฎาคม ชาวเมืองปารีสบุกเข้าไปยังออแตลเดแซ็งวาลีด (Hôtel des Invalides) คลังแสงของกองทัพ และยึดปืนยาวราว 30,000 กระบอกแต่ไม่มีกระสุนและดินปืน ผู้ดูแลออแตลเดแซ็งวาลีดสั่งให้ขนดินปืน 250 ถังไปเก็บไว้ที่คุกบัสตีย์ไม่กี่วันก่อนหน้านั้นแล้ว[23] ชาวเมืองจึงพากันไปชุมนุมรอบคุกบัสตีย์ในช่วงสาย พวกเขายื่นคำขาดให้คุกยอมจำนน ให้คุกรื้อถอนปืนใหญ่บนกำแพงและมอบอาวุธและดินปืนทั้งหมดแก่กองกำลังประชาชน[23] เกิดการปะทะกันด้วยอาวุธจนถึงเวลา 17:30 นาฬิกาก็สามารถปลดสะพานข้ามคูลงมาได้[24] ประชาชนจึงกรูเข้าไปในคุกเพื่อเอาอาวุธและดินปืน และพากันกลับไปตั้งมั่นที่ออแตลเดแซ็งวาลีด กองทหารต่างชาติซึ่งตรึงกำลังที่ช็องเดอมาร์สไม่ได้เข้าแทรกแซงแต่ประการใดเลย

ประชาชนตั้งนครบาลปารีส

[แก้]

เช้าวันที่ 15 กรกฎาคม 1789 พระเจ้าหลุยส์ทราบข่าวการทลายคุกจากดยุกเดอลาโรฌฟูโก ทรงถามดยุกว่า "เขาจะกบฏกันเหรอ?" ดยุกตอบว่า "มิใช่พะยะค่ะ มิใช่การกบฏ แต่เป็นการปฏิวัติ"[25] พระเจ้าหลุยส์กลัวความรุนแรงจากฝูงชน จึงทรงแต่งตั้งวีรบุรุษสงครามปฏิวัติอเมริกาอย่างนายพล เดอ ลา ฟาแย็ต เป็นผู้บัญชาการกองอารักษ์ชาติ (Garde Nationale) เพื่อรักษาความเป็นระเบียบภายใต้อำนาจสภา อีกด้านหนึ่ง ผู้แทนชาวปารีส 144 คนนำโดยฌ็อง ซีลแว็ง บายี[26] จัดตั้งคณะปกครองกรุงปารีสที่ชื่อว่านครบาลปารีส (Commune de Paris) โดยยินยอมจะเชื่อฟังสภาร่างรัฐธรรมนูญแห่งชาติ

พระเจ้าหลุยส์ทรงเรียกแนแกร์มาดำรงตำแหน่งอีกครั้งในวันที่ 16 กรกฎาคม แนแกร์ได้พบกับประชาชนที่ออแตลเดอวีล (l'Hôtel de Ville) ซึ่งถูกประดับไปด้วยธงไตรรงค์ แดง-ขาว-น้ำเงิน วันเดียวกันนั้น เคานต์แห่งอาร์ตัวก็ได้หลบหนีออกนอกประเทศ ถือเป็นพระญาติองค์แรก ๆ ที่หนีออกนอกประเทศในช่วงการปฏิวัติฝรั่งเศส พระเจ้าหลุยส์เสด็จเยือนปารีสพร้อมสมาชิกสภานับร้อยคนในวันที่ 17 กรกฎาคม พระองค์ยอมรับธงไตรรงค์เป็นธงชาติฝรั่งเศส เกิดความสมานฉันท์ขึ้นชั่วคราว พระองค์ได้รับยกย่องเป็น หลุยส์ที่ 16 พระบิดาแห่งฝรั่งเศสและกษัตริย์แห่งเสรีชน[27]

ในเดือนสิงหาคม แอมานุแอล โฌแซ็ฟ ซีเยแย็ส กับออนอเร มีราโบ เป็นบุคคลหลักที่ยกร่างประกาศสิทธิมนุษยชนและพลเมือง ซึ่งปรับเอาจากต้นร่างของนายพล เดอ ลา ฟาแย็ต กับทอมัส เจฟเฟอร์สัน ประกาศฉบับนี้ได้รับความเห็นชอบโดยสภาร่างรัฐธรรมนูญแห่งชาติเมื่อ 26 สิงหาคม 1789 มาตราที่หนึ่งบัญญัติว่า "มนุษย์ทั้งหลายเกิดมาและทรงไว้ซึ่งเสรีภาพและความเสมอภาคเท่าเทียมกันในสิทธิประการต่างๆ ความแตกต่างทางสังคมไม่ว่าจะอยู่ในลักษณะเช่นไรก็ตาม จะมีขึ้นได้ก็แต่เพื่อประโยชน์มหาชนร่วมกันเท่านั้น”[28]

การเดินขบวนของสตรีสู่แวร์ซาย

[แก้]
นายพล เดอ ลา ฟาแย็ต

5 ตุลาคม 1789 ชาวปารีสราว 7,000-9,000 ซึ่งส่วนใหญ่เป็นสตรี เดินขบวนจากปารีสไปยังพระราชวังแวร์ซายเพื่อเรียกร้องขนมปังจากกษัตริย์ พระเจ้าหลุยส์รับปากว่าจะแจกจ่ายอาหารจากหลังหลวงให้ ทำให้ส่วนหนึ่งเดินทางกลับปารีส แต่ส่วนใหญ่ไม่เชื่อคำสัญญาจึงยังคงปักหลักที่พระราชวัง พระองค์จึงทรงประกาศยอมรับกฤษฎีกาสิงหาคม (กฎหมายเลิกระบบศักดินา) และทรงยอมรับประกาศสิทธิมนุษยชนและพลเมืองโดยไม่มีเงื่อนไข อย่างไรก็ตาม วันต่อมาเกิดความรุนแรงขึ้นในพระราชวังและมีการปะทะกันถึงขั้นเสียชีวิต นายพล เดอ ลา ฟาแย็ต ผู้บัญชาการกองอารักษ์ชาติ ทูลเชิญพระเจ้าหลุยส์ย้ายไปประทับถาวรยังพระราชวังตุยเลอรีในปารีส เขาหวังว่าเหตุการณ์จะดีขึ้นหากกษัตริย์อยู่ใกล้ชิดประชาชน ภายหลังเหตุการณ์นี้ พระเจ้าหลุยส์มีอารมณ์เศร้าหมองเหมือนเป็นอัมพาตทางจิตใจ ราชการแผ่นดินจึงตกอยู่ในการตัดสินใจของราชินีมารี อ็องตัวแน็ต

การปฏิรูปครั้งใหญ่

[แก้]

นอกจากประกาศสิทธิมนุษยชนและพลเมือง ซึ่งรับรองความเท่าเทียมของมนุษย์ สภาร่างรัฐธรรมนูญแห่งชาติยังผ่านมติให้ยกเลิกการถวายเงินทศางค์แก่โบสถ์ และบังคับให้ที่ดินและอาคารโบสถ์ทั้งหมดตกเป็นของรัฐ เพื่อที่รัฐจะนำที่ดินและอาคารเหล่านี้ไปค้ำประกันหนี้สาธารณะ นอกจากนี้ สภายังผ่านมติให้ยกเลิกสิทธิพิเศษของขุนนางในวันที่ 19 มิถุนายน 1790 แต่อนุญาตให้ขุนนางแต่ละคนครองบรรดาศักดิ์ตามเดิม ต่อมาในวันที่ 6 กันยายน 1790 สภาผ่านมติยุบเลิกการปกครองโดยสภาอำมาตย์ (parlements) ซึ่งมีอยู่ 13 แห่งทั่วประเทศ และแบ่งการปกครองเป็น 83 จังหวัด

ในวันที่ 24 สิงหาคมปีเดียวกัน ยังมีการตรากฎหมายที่ชื่อว่าธรรมนูญว่าด้วยบรรพชิต (Constitution civile du clergé) ยุบสังฆมณฑลทั่วประเทศจาก 135 แห่งเหลือเพียง 84 แห่ง ยุบสมณศักดิ์ของนักบวชให้เหลือน้อยลง กำหนดให้นักบวชทั้งหมดในประเทศคือผู้รับเงินเดือนจากรัฐ อยู่ในกำกับของเทศบาลแต่ละแห่ง และบีบบังคับให้นักบวชกล่าวสาบานความภักดีต่อประเทศฝรั่งเศส กฎหมายฉบับนี้ทำให้พระสันตะปาปาทรงพิโรธ และบัญญาห้ามนักบวชในฝรั่งเศสปฏิบัติตามกฎหมายฉบับนี้ ทำให้นักบวชในฝรั่งเศสแตกแยกเป็นสองฝ่าย

องค์กษัตริย์เสด็จหนีและถูกจับที่วาแรน

[แก้]
พระเจ้าหลุยส์ที่ 16 และพระนางมานี อ็องตัวแน็ต ถูกจับกุม ณ เมืองวาแรน

มิถุนายน 1791 มีข่าวลือสะพัดหนาหูว่า พระนางมารี อ็องตัวแน็ต แอบติดต่อกับจักรพรรดิเลโอพ็อลท์ที่ 2 แห่งจักรวรรดิโรมันอันศักดิ์สิทธิ์ ผู้เป็นพระเชษฐา เพื่อจะให้ทรงยกทัพมาตีฝรั่งเศสและคืนอำนาจให้ราชวงศ์ พระเจ้าหลุยส์ตัดสินใจจะไม่หนีออกนอกประเทศหรือรับความช่วยเหลือ แต่จะทรงหนีไปตั้งมั่นที่เมืองม็งต์เมดิ (Montmédy) ติดกับชายแดนด้านตะวันออกเฉียงเหนือ ซึ่งที่นั่น นายทหารผู้จงจักภักดีอย่างนายพลบูเย จะให้ความช่วยเหลือแก่พระองค์

องค์กษัตริย์และองค์ราชินีก็เสด็จออกจากพระราชวังตุยเลอรีในคืนวันที่ 20 มิถุนายน 1791 แต่ในในวันต่อมา ก็ทรงถูกจับได้ที่เมืองวาแรน ส่งผลให้ความเชื่อถือของประชาชนที่มีต่อพระองค์นั้นลดลงฮวบฮาบ พระองค์ถูกนำตัวกลับมากักบริเวณในพระราชวังตุยเลอรี

รัฐธรรมนูญบังคับใช้

[แก้]

แม้ว่าสมาชิกส่วนใหญ่ของสภาร่างรัฐธรรมนูญแห่งชาติ ยังคงปรารถนาระบอบราชาธิปไตยภายใต้รัฐธรรมนูญมากกว่าระบอบสาธารณรัฐก็ตาม[ต้องการอ้างอิง] แต่ในขณะนั้น พระเจ้าหลุยส์ก็ไม่ได้มีบทบาทมากไปกว่าหุ่นเชิด พระองค์ถูกบังคับให้ปฏิญาณตนต่อรัฐธรรมนูญ และให้ยอมรับเงื่อนไขที่ว่า หากกระทำการใด ๆ ที่จะชักนำให้กองทัพต่างชาติมาโจมตีฝรั่งเศส หรือกระทำสิ่งที่ขัดต่อรัฐธรรมนูญ ให้ถือว่าพระองค์สละราชสมบัติโดยอัตโนมัติ

กรกฎาคม 1791 สภาร่างรัฐธรรมนูญแห่งชาติมีมติว่า พระเจ้าหลุยส์จะได้คืนพระราชอำนาจหากทรงยอมรับรัฐธรรมนูญ มตินี้สร้างความไม่พอใจแก่ชาวปารีส ส่งผลให้นักสื่อสารมวลชนนามว่าฌัก ปีแยร์ บรีโซ ร่างประกาศโจมตีพระเจ้าหลุยส์ ว่าพระองค์ทรงสละราชสมบัติแล้วตั้งแต่เสด็จหนีจากพระราชวังตุยเลอรี ฝูงชนห้าหมื่นคนเข้ามาในลานช็องเดอมาร์สเพื่อพยายามลงนามในใบประกาศดังกล่าว (แต่ทันลงนามเพียงหกพันคน) สภาร้องขอให้นครบาลปารีสช่วยรักษาความสงบ นายกเทศมนตรีฌ็อง ซีลแว็ง บายี ประกาศกฎอัยการศึกแต่ก็ไม่สามารถยุติสถานการณ์ ในที่สุด บายีจึงสั่งให้ใช้กำลังสลายการชุมนุม ทำให้ฝูงชนถูกสังหารหลายสิบคน เรียกเหตุการณ์นี้ว่าการสังหารหมู่ที่ช็องเดอมาร์ส ซึ่งหลังจากการสังหารหมู่ครั้งนี้ ทางการก็ดำเนินการปราบปรามพวกสมาคมสาธารณรัฐนิยมรวมทั้งหนังสือพิมพ์ของพวกนี้ เช่นหนังสือพิมพ์ เพื่อนประชาชน (L'Ami du Peuple) ของฌ็อง-ปอล มารา บุคคลที่มีแนวคิดแบบนี้เช่นมาราและกามีย์ เดมูแล็ง ต่างพากันหลบซ่อนตัว ส่วนทางด้านฌอร์ฌ ด็องตง หลบหนีไปอังกฤษ

รัฐธรรมนูญฝรั่งเศสฉบับแรกบังคับใช้เมื่อวันที่ 1 ตุลาคม 1791 สภาร่างรัฐธรรมนูญแห่งชาติแปรสภาพเป็นสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (Assemblée nationale législative)

สถาปนาสาธารณรัฐที่ 1 และการประหารหลุยส์ที่ 16

[แก้]
พระราชวังตุยเลอรีถูกนครบาลปารีสบุกทำลายในวันที่ 10 สิงหาคม 1792

ขณะที่ภายในฝรั่งเศสกำลังวุ่นวาย เหล่าราชวงศ์ของยุโรปนำโดยพระเจ้าฟรีดริช วิลเฮ็ล์มที่ 2 แห่งปรัสเซีย, จักรพรรดิเลโอพ็อลท์ที่ 2 แห่งโรมันอันศักดิ์สิทธิ์ ตลอดจนพระอนุชาของพระเจ้าหลุยส์ที่ 16 ร่วมมือกันออกคำประกาศของดยุกแห่งเบราน์ชไวค์ โดยมีเป้าหมายคือให้พระเจ้าหลุยส์มีอิสรภาพสมบูรณ์และให้ยุบสภา ถ้าหากสิ่งเหล่านี้ไม่เกิดขึ้นก็จะส่งกองทัพโจมตีฝรั่งเศสเพื่อให้บรรลุเป้าหมาย แต่ชาวฝรั่งเศสไม่สนใจคำประกาศดังกล่าวและเตรียมการต่อต้านอย่างแข็งขัน

คำประกาศของดยุกแห่งเบราน์ชไวค์ยิ่งทำให้สถานการณ์ของฝ่ายเจ้าในฝรั่งเศสเลวร้ายลง นครบาลปารีสไม่เชื่อฟังสภานิติบัญญัติอีกต่อไป และนำกลุ่มฝูงชนบุกเข้าพระราชวังตุยเลอรีในวันที่ 10 สิงหาคม 1792 พระบรมวงศ์ต้องไปหลบภัยที่สภา และในสามวันถัดมา พระองค์ถูกประกาศจับกุมอย่างเป็นทางการและถูกส่งตัวไปจองจำที่หอคอยต็องเปลอ (Square du Temple) ป้อมปราการเก่าในปารีส และในวันที่ 21 กันยายน สภานิติบัญญัติมีมติให้ล้มเลิกระบอบกษัตริย์ และสถาปนาเป็นสาธารณรัฐฝรั่งเศสที่ 1 ในวันที่ 22 กันยนยน 1792 พร้อมกำหนดให้ปีนั้นเป็นปีที่ 1 ของระบบปฏิทินแบบใหม่ที่หนึ่งปีมีสิบเดือน ฐานันดรและพระอิสริยยศถูกถอดถอน พระองค์ได้ชื่อใหม่ว่า นายหลุยส์ กาเป อีกด้านหนึ่ง สภานิติบัญญัติแห่งชาติเปลี่ยนชื่อเป็นที่ประชุมใหญ่แห่งชาติ (Convention nationale)

พฤศจิกายน 1792 เกิดเหตุอื้อฉาวพบตู้นิรภัยในห้องพระบรรทมซึ่งภายในบรรจุเอกสารลับมากมายที่เขียนติดต่อกับต่างชาติ ชื่อเสียงของอดีตกษัตริย์ยิ่งย่ำแย่ลง ที่ประชุมใหญ่แห่งชาติมีมติเอกฉันท์ในวันที่ 15 มกราคม 1793 ว่าอดีตกษัตริย์มีความผิดจริงฐาน "สมคบประทุษร้ายต่อเสรีภาพปวงชนและความมั่นคงแห่งรัฐ" (conspiration contre la liberté publique et la sûreté générale de l'État) วันต่อมา ที่ประชุมชนะโหวตกำหนดบทลงโทษเป็นการประหารชีวิตในทันที อดีตกษัตริย์อุทธรณ์โทษประหารชีวิต แต่แพ้โหวตในสภา อดีตกษัตริย์จึงถูกนำตัวไปประหารชีวิตด้วยกิโยตีนปลัสเดอลาเรวอลูว์ซียง กรุงปารีส ในวันที่ 21 มกราคม 1793

เหตุการณ์ช่วงสงคราม

[แก้]

ประกาศสงคราม

[แก้]

การประหารหลุยส์ที่ 16 ก่อให้เกิดปฏิกิริยาต่อต้านโดยบรรดาเจ้าผู้ครองอาณาจักรในทวีปยุโรป ซึ่งเกรงกลัวว่ากระแสการปฏิวัติจะแพร่ขยายมาสู่ประเทศของตนเอง ประเทศบริเตนใหญ่, ประเทศสเปน, ประเทศเนเธอร์แลนด์, ประเทศนาโปลี และประเทศตอสคานา (ปัจจุบันนี้คือ อิตาลี) ประกาศต่อต้านการปฏิวัติในฝรั่งเศส สภากงว็องซียงแห่งชาติของฝรั่งเศสจึงประกาศสงครามต่อบริเตนใหญ่และเนเธอร์แลนด์ในวันที่ 1 กุมภาพันธ์ 1793 และไม่นานหลังจากนั้นก็ประกาศต่อสเปนเช่นกัน จักรวรรดิโรมันอันศักดิ์สิทธิ์จึงประกาศสงครามต่อฝรั่งเศสในวันที่ 23 มีนาคมของปีเดียวกัน ถือเป็นการเปิดฉากสงครามสหสัมพันธมิตรครั้งที่หนึ่งอย่างเป็นทางการ[29]

นักการเมืองกลุ่มฌีรงแด็ง (Girondin) เชื่อว่าสงครามจะทำให้คนในรัฐบาลฝรั่งเศสเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน พวกเขาพยายามใช้สงครามเป็นข้อแก้ตัวเกี่ยวกับปัญหาสินค้าขาดแคลนและราคาแพง แต่ข้อแก้ตัวดังกล่าวไม่ได้ผลและทำให้พวกเขาตกเป็นเป้าแห่งความโกรธเกรี้ยวของประชาชนเสียเอง เกิดการลุกฮือในกรุงปารีสและหัวเมืองต่างๆในเดือนกุมภาพันธ์ 1793 มิหนำซ้ำ กองทัพฝรั่งเศสยังพ่ายแพ้กองทัพออสเตรียในยุทธการที่เนียร์วินเดิน ในขณะนั้น หลายคนมองว่าระบอบสาธารรัฐของฝรั่งเศสคงจะล่มสลายในไม่ช้า[30]

กลุ่มฌีรงแด็งสิ้นอำนาจ กลุ่มลามงตาญครองอำนาจ

[แก้]
มักซีมีเลียง รอแบ็สปีแยร์ ผู้นำกลุ่มลามงตาญ

วิกฤตการณ์ดังกล่าวนำไปสู่การจัดตั้งคณะกรรมาธิการความปลอดภัยส่วนรวม (Comité de salut public) เมื่อวันที่ 6 เมษายน 1793 ซึ่งเป็นคณะบริหารที่ขึ้นตรงต่อสภากงว็องซียงแห่งชาติ[31] กลุ่มฌีรงแด็งทำสิ่งผิดมหันต์โดยการฟ้องร้องศาลอาญาปฏิวัติ ให้ลงโทษนายฌ็อง-ปอล มารา ซึ่งเป็นผู้สั่งการสังหารหมู่เดือนกันยายน 1792 มาราเป็นกระบอกเสียงที่สำคัญของชนชั้นซ็อง-กูว์ล็อต (sans-culottes) แม้ว่าคดีนี้ถูกยกฟ้อง แต่เหตุการณ์นี้ทำให้ชนชั้นซ็อง-กูว์ล็อตไม่สนับสนุนกลุ่มฌีรงแด็งอีกต่อไป ในวันที่ 31 พฤษภาคม กลุ่มลามงตาญร่วมมือกับกองอารักษ์ชาติพยายามจะกำจัดกลุ่มฌีรงแด็ง นอกสภามีการยิงปืนใหญ่จากกองอารักษ์ชาติเพื่อข่มขู่สภา ส่วนในสภามีการอภิปรายโจมตีกลุ่มฌีรงแด็ง แต่ความพยายามในวันนี้ก็ไม่สำเร็จ จึงมีการเกณฑ์กองทัพประชาชนเพื่อสร้างความกดดันต่อสภา ต่อมาในวันที่ 2 มิถุนายน อาคารสภาถูกปิดล้อมโดยฝูงชนแปดหมื่นคนที่มาเรียกร้องขนมปังราคาถูก, เงินสงเคราะห์ว่างงาน, การปฏิรูปการเมือง ตลอดจนสิทธิ์ในการถอดถอนสมาชิกสภา[32] ในที่สุด กรรมการสิบคนของกลุ่มฌีรงแด็ง รวมถึงบรรดาผู้นำกลุ่มฌีรงแด็ง 31 คนก็ทยอยถูกจับกุมโดยทหารอารักษ์ชาติ จนกระทั่งในวันที่ 10 มิถุนายน กลุ่มลามงตาญ (La Montagne) ก็กุมอำนาจเบ็ดเสร็จในคณะกรรมาธิการความปลอดภัยส่วนรวม[33]

มักซีมีเลียง รอแบ็สปีแยร์ ผู้นำกลุ่มลามงตาญ มอบหมายหน้าที่ร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ให้แก่หลุยส์ อ็องตวน เดอ แซ็ง-ฌุสต์ ซึ่งก็ร่างเสร็จในเวลาเพียงแปดวัน และได้รับสัตยาบันโดยสภาในวันที่ 24 มิถุนายน 1793 รัฐธรรมนูญฉบับนี้มีการปฏิรูปแบบสุดโต่ง ทั้งการให้สิทธิ์เลือกตั้งแก่ผู้ชายโดยถ้วนหน้า, ยกเลิกระบบทาสทั้งหมดในอาณานิคมของฝรั่งเศส อย่างไรก็ตาม เมื่อฌ็อง-ปอล มารา ถูกลอบสังหารโดยสมาชิกกลุ่มฌีรงแด็งชื่อว่าชาร์ล็อต กอร์แด ในเดือนกรกฎาคม กลุ่มลามงตาญจึงยกย่องมาราเป็นมรณสักขีแห่งการปฏิวัติ กรรมาธิการความปลอดภัยส่วนรวมจึงใช้เหตุนี้เป็นข้ออ้างในการควบคุมอำนาจรัฐ

สภาอนุญาตให้ปราบปรามศัตรูภายในประเทศได้โดยเด็ดขาดเมื่อวันที่ 5 กันยายน ออกกฎหมายให้อำนาจการจับกุมผู้ต้องสงสัยที่เข้าข่ายเป็น "ผู้ก่ออาชญากรรมต่อเสรีภาพ" เมื่อวันที่ 17 กันยายน ทั้งยังจัดตั้ง "รัฐบาลปฏิวัติ" เมื่อวันที่ 10 ตุลาคม รัฐธรรมนูญฉบับนี้จึงถูกระงับใช้ชั่วคราว[34] ซึ่งในอีกหกวันต่อมา อดีตราชินีมารี อ็องตัวแน็ต ก็ถูกประหารชีวิตตามสวามี

สมัยแห่งความน่าสะพรึงกลัว

[แก้]
ระหว่างกันยายน 1793 – กรกฎาคม 1794 มีผู้ถูกบั่นคอด้วยกิโยตีนกว่าสี่หมื่นคนจากทุกชนชั้น

รอแบ็สปีแยร์ผู้กลายเป็นผู้มีอำนาจที่สุดในฝรั่งเศสโดยพฤตินัย ดำเนินการกวาดล้างฝ่ายตรงข้ามอย่างราบคาบ เรียกช่วงเวลานี้ว่า "สมัยแห่งความน่าสะพรึงกลัว" ประมาณการว่ามีผู้ถูกประหารชีวิตด้วยกิโยตีนถึงสี่หมื่นคน เป็นชนชั้นสูงร้อยละ 8 นักบวชร้อยละ 6, ชนชั้นกลางร้อยละ 14, ชนชั้นล่างร้อยละ 70 นอกจากนี้ พระศาสนาถูกเบียดเบียนในระดับรุนแรง มีการปิดและทำลายศาสนสถาน มีการออกกฎหมายปิดโรงเรียนสอนศาสนาและสั่งห้ามสอนศาสนา มีการเพิกถอนสถานะความเป็นนักบวช มีการประหารมรณสักขีแห่งกงเปียญ

ขณะเดียวกัน ชัยชนะในแนวรบกับออสเตรียก็ทำให้รอแบ็สปีแยร์กลายเป็นเผด็จการมากขึ้น ท้ายที่สุด สมาชิกสภาก็หวาดระแวงว่าตนเองจะตกเป็นเหยื่อของเครื่องกิโยตีน จึงรวมหัวกันอภิปรายโจมตีและลงมติปลดรอแบ็สปีแยร์กลางสภาในวันที่ 27 กรกฎาคม 1794 รอแบ็สปีแยร์กับพวกสามารถหลบหนีจากสภาไปกบดานที่ออแตลเดอวีล (ศาลาว่าการกรุงปารีส) ซึ่งอยู่ภายใต้การคุ้มกันของกองอารักษ์ชาติที่ภักดีต่อเขา กองทหารที่ภักดีต่อสภาจึงบุกโจมตีในคืนนั้น รอแบ็สปีแยร์พยายามยิงตัวตายแต่ไม่สำเร็จ เขาถูกนำตัวไปประหารชีวิตในวันรุ่งขึ้น ถือเป็นจุดจบของสมัยแห่งความน่าสะพรึงกลัว

ผลของการปฏิวัติในช่วงต้น

[แก้]

ประกาศสิทธิมนุษยชนและพลเมือง

[แก้]
ประกาศสิทธิมนุษยชนและพลเมือง

ประกาศสิทธิมนุษยชนและพลเมือง (Déclaration des droits de l'homme et du citoyen) เป็นคำประกาศที่ปูทางไปสู่การร่างรัฐธรรมนูญ ได้รับแรงบันดาลใจมาจากปรัชญาในยุคเรืองปัญญา และคำประกาศนี้ได้แบบอย่างจากรัฐธรรมนูญแห่งสหรัฐอเมริกา คำประกาศนี้ผ่านการพิจารณาของสภาฯ เมื่อวันที่ 26 สิงหาคม 1789 มีเนื้อหาหลักแสดงถึงหลักการพื้นฐานของการปฏิวัติ ภายใต้คำขวัญที่ว่า "เสรีภาพ เสมอภาค ภราดรภาพ"

ในขณะนั้นมีข่าวลือในหมู่ประชาชนว่าจะมีการยึดอำนาจคืนของฝ่ายนิยมระบอบเก่าเมื่อชาวปารีสรู้ข่าวก็มีการตื่นตัวกันขนานใหญ่ ดังนั้นประชาชนชาวปารีสซึ่งส่วนมากเป็นผู้หญิงได้เดินขบวนไปยังพระราชวังแวร์ซาย และเชิญพระเจ้าหลุยส์พร้อมทั้งราชวงศ์มาประทับในกรุงปารีส ในวันที่ 5-6 ตุลาคม ปีเดียวกัน โดยมีสมาชิกสภาร่างธรรมนูญที่อนุรักษนิยมตามเสด็จกลับกรุงปารีสด้วย สำหรับสภาร่างรัฐธรรมนูญแห่งชาติในขณะนั้นประกอบด้วยสมาชิกที่หัวก้าวหน้าเป็นส่วนมาก แต่มีภารกิจสำคัญอันดับแรกของสภาคือการดำรงสถาบันกษัตริย์ไว้ ดังนั้นจึงยังไม่มีการโค่นล้มสถาบันกษัตริย์ในขณะนั้น

การเลิกระบบเจ้าขุนมูลนาย

[แก้]

ปลายเดือนกรกฎาคม 1789 มีรายงานว่าชาวไร่ผู้ก่อจลาจลกำลังมุ่งหน้าเข้ากรุงปารีสจากทั่วทุกทิศของประเทศ สภาจึงตัดสินใจที่จะปฏิรูปโครงสร้างทางสังคมเสียใหม่เพื่อหวังลดอุณหภูมิทางการเมืองและจะนำไปสู่การปรองดอง ในคืนวันที่ 11 สิงหาคม 1789 สภาร่างรัฐธรรมนูญแห่งชาติได้มีมติล้มเลิกระบบเจ้าขุนมูลนายทั้งปวง ประชาชนทุกคนมีสิทธิเท่าเทียมกัน และยกเลิกเอกสิทธิได้รับการงดเว้นภาษีของนักบวช รวมทั้งให้ทุกคนมีโอกาสเท่าเทียมในการประกอบอาชีพ นักประวัติศาสตร์ ฟร็องซัว ฟูเร (François Furet) ระบุต่อเหตุการณ์นี้ไว้ว่า: "สังคมแบบเจ้าขุนมูลนายตั้งแต่บนสุดจนถึงล่างสุด ถูกพวกเขาทำลายไปพร้อมอภิสิทธิ์และโครงสร้างที่ว่าคนต้องมีสังกัด พวกเขาแทนที่โครงสร้างเหล่านี้ด้วยสิ่งที่ใหม่กว่า นั่นคือความเป็นปัจเจกบุคคล มีเสรีที่จะทำอะไรก็ได้ที่ไม่ขัดต่อกฎหมาย...ดังนั้นสิ่งที่ขับเคลื่อนการปฏิวัติในช่วงแรก คือความเชื่อแบบปัจเจกนิยมจากระดับรากฐาน"[35]

เขตการปกครองของสภาอำมาตย์ (parlements) ทั้ง 13 แห่งทั่วประเทศถูกระงับในเดือนพฤศจิกายน 1789 และล้มเลิกอย่างเป็นทางการในเดือนกันยายน 1790 สถาบันเสาหลักแบบเก่าถูกโค่นล้มลงทั้งหมด

การปฏิรูปที่สำคัญ

[แก้]

รัฐธรรมนูญฉบับใหม่ของฝรั่งเศสมีผลบังคับใช้เมื่อปลายปี 1789 ส่งผลให้เกิดการเปลี่ยนแปลงดังต่อไปนี้

  • ตำแหน่งต่าง ๆ ในราชการไม่สามารถตกทอดไปยังลูกหลาน
  • ยุบมณฑลต่าง ๆ แบ่งประเทศออกเป็น 83 จังหวัด (départements)
  • ก่อตั้งศาลประชาชน
  • ปฏิรูปกฎหมายฝรั่งเศส
  • การเวนคืนที่ธรณีสงฆ์ แล้วนำมาค้ำประกันพันธบัตร ที่ออกเพื่อระดมทุนจากประชาชน มาแก้ไขปัญหาหนี้ของประเทศ

การปฏิรูปสถานะของนักบวช

[แก้]

นอกจากที่ธรณีสงฆ์จะถูกเวนคืนแล้ว การปกครองคริสตจักรในประเทศฝรั่งเศสก็ยังถูกเปลี่ยนแปลง ตามกฎหมายการปกครองคริสตจักรฉบับใหม่ที่ออกเมื่อวันที่ 12 กรกฎาคม 1790 โดยใช้การปกครองประเทศเป็นแม่แบบ คือกำหนดจำนวนมุขนายก (évêque) ไว้มุขมณฑลละ 1 ท่าน และให้เมืองใหญ่แต่ละเมืองมีอัครมุขนายก (archévêque) 1 ท่าน โดยมุขนายกและอัครมุขนายกแต่ละท่านจะถูกเลือกโดยสมัชชาแห่งชาติ และได้รับเงินเดือนจากรัฐบาล นอกจากนี้ ผู้ที่จะมาเป็นนักบวชในทุกระดับจะต้องสาบานตนว่าจะจงรักภักดีต่อประเทศอีกด้วย

อ้างอิง

[แก้]
  1. Tilly, Louise A. "Food entitlement, famine, and conflict". Journal of Interdisciplinary History (1983): 333–49.
  2. Hufton, Olwen. "Social conflict and the grain supply in eighteenth-century France". Journal of interdisciplinary history (1983): 303–31.
  3. Marshall, Thomas H. Citizenship and social class. Vol. 11. Cambridge, 1950.
  4. Lichbach, Mark Irving. "An evaluation of 'does economic inequality breed political conflict?' studies". World Politics 41.04 (1989): 431–70.
  5. Blanning, T.C.W. (1998). The French Revolution: Class War or Culture Clash?. London: Macmillan. p. 26.
  6. Blanning 1998, p. 26.
  7. Blanning 1998, p. 27.
  8. Frey, p. 3
  9. "France's Financial Crisis: 1783–1788". สืบค้นเมื่อ 26 October 2008.
  10. 10.0 10.1 10.2 10.3 Hibbert, pp. 35, 36
  11. Frey, p. 2
  12. Doyle, The French Revolution: A very short introduction, p. 34
  13. John Hardman (2016) The life of Louis XVI
  14. William Doyle, The Oxford History of the French Revolution (1989) p. 59
  15. Doyle, The Oxford History of the French Revolution (1989) pp. 99–101
  16. Albert Soboul, The French Revolution 1787–1799 (1975) pp. 127–29.
  17. Thompson, Marshall Putnam (1914). "The Fifth Musketeer: The Marquis de la Fayette". Proceedings of the Bunker Hill Monument Association at the annual meeting. p. 50. สืบค้นเมื่อ 10 February 2011.{{cite book}}: CS1 maint: postscript (ลิงก์)
  18. 18.0 18.1 Paul R. Hanson (23 February 2007). The A to Z of the French Revolution. Scarecrow Press. p. 14. ISBN 978-1-4617-1606-8.
  19. Schama 2004, p. 312
  20. Munro Price, p. 76 The Fall of the French Monarchy, ISBN 0-330-48827-9
  21. Jaques Godechot. "The Taking of the Bastille July 14th, 1789", p. 258. Faber and Faber Ltd 1970.
  22. Mignet 1824, §Chapter I
  23. 23.0 23.1 Simon Schama, p. 399 Citizens: A Chronicle of the French Revolution, ISBN 0-670-81012-6
  24. Schama (1989), p. 403
  25. Guy Chaussinand-Nogaret, La Bastille est prise, Paris, Éditions Complexe, 1988, p. 102.
  26. François Furet and Mona Ozouf, eds. A Critical Dictionary of the French Revolution (1989), pp. 519–28.
  27. Schama 1989, pp. 423–424.
  28. ปิยบุตร แสงกนกกุล. ประวัติศาสตร์ภูมิปัญญาปฏิวัติฝรั่งเศส (20) มติชนสุดสัปดาห์ ฉบับวันที่ 11 - 17 สิงหาคม 2560
  29. Holland 1911, Battle of Valmy.
  30. Shusterman 2013, pp. 143–173.
  31. Shusterman 2013, pp. 271–312.
  32. Schama 1989, p. 724.
  33. Schama 1989, pp. 725–726.
  34. Kennedy 2000, p. 53.
  35. Furet, Critical Dictionary of the French Revolution, p. 112