มรณสักขีแห่งกงเปียญ

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
บุญราศีแห่งกงเปียญ
มรณสักขี
เสียชีวิต17 กรกฎาคม ค.ศ. 1794
ปลัสเดอลาเรวอลูว์ซียง กรุงปารีส
นิกายโรมันคาทอลิก
เป็นบุญราศี27 พฤษภาคม ค.ศ. 1906
โดยปิอุสที่ 10
วันฉลอง17 กรกฎาคม

มรณสักขีแห่งกงเปียญ (อังกฤษ: Martyrs of Compiègne) คือสมาชิกอารามคาร์เมล 16 คน ที่ถูกประหารชีวิตด้วยกิโยตินกลางกรุงปารีสเมื่อวันที่ 17 กรกฎาคม ค.ศ. 1794 ในช่วงใกล้สิ้นสุดสมัยแห่งความน่าสะพรึงกลัวในการปฏิวัติฝรั่งเศส พวกเขาถือเป็นบุคคลกลุ่มแรกที่ได้รับยกย่องเป็นมรณสักขีซึ่งถูกฆ่าในช่วงการปฏิวัติฝรั่งเศสที่ได้รับการประกาศเป็นบุญราศี

เดิมที โบสถ์คาทอลิกทั้งหมดในฝรั่งเศสถือเป็นทรัพย์สินของอัครมุขมณฑลฝรั่งเศส แต่ในวันที่ 12 กรกฎาคม ค.ศ. 1790 ในช่วงการปฏิวัติฝรั่งเศส สภาร่างรัฐธรรมนูญแห่งชาติ ผ่านกฎหมายที่ชื่อว่า "ธรรมนูญว่าด้วยบรรพชิต" (Constitution civile du clergé) ซึ่งบังคับให้ผู้ถือเพศบรรพชิตปฏิญาณความภักดีต่อประเทศฝรั่งเศส, ให้โบสถ์คาทอลิกทั้งหมดในฝรั่งเศสถือเป็นทรัพย์สินของรัฐบาลฝรั่งเศส[1] และอนุญาตให้ทิ้งคำปฏิญาณต่อพระเจ้าและออกมาใช้ชีวิตเป็นฆราวาส

สิงหาคม ค.ศ. 1790 เจ้าหน้าที่เมืองกงเปียญเดินสายสอบถามบรรดาบรรพชิตในเมือง ว่าจะปฏิญาณความภักดีต่อประเทศฝรั่งเศสหรือลาออกมาเป็นฆราวาส ซึ่งมีบรรพชิตบางกลุ่มไม่ยินยอมเลือกทั้งสองอย่าง ต่อมาในวันที่ 10 มีนาคม ค.ศ.1791 สมเด็จพระสันตะปาปาปิอุสที่ 6 ทรงประกาศห้ามบรรพชิตปฏิบัติตามธรรมนูญว่าด้วยบรรพชิต บรรพชิตจึงแตกแยกเป็นกลุ่มยอมปฏิญาณและกลุ่มไม่ยอมปฏิญาณ

18 สิงหาคม ค.ศ. 1792 รัฐบาลปฏิวัติฝรั่งเศสขีดเส้นตายให้ทุกคณะสงฆ์ย้ายออกจากโบสถ์ภายในวันที่ 14 กันยายน แม้อารามคาร์เมลจะถูกปิดไปแล้ว แต่บรรดาสมาชิกก็ยังคงปฏิบัติศาสนกิจต่อไป และมักจะทำพิธีมิสซากันอย่างลับ ๆ ระหว่างนั้น การเบียดเบียนศาสนาในฝรั่งเศสทวีความเลวร้ายขึ้นเรื่อย ๆ จนกระทั่งในวันที่ 10 มิถุนายน ค.ศ. 1794 คณะกรรมาธิการความปลอดภัยส่วนรวมออกกฎหมายปราบปรามฉบับใหม่ขึ้น ส่งผลให้เจ้าหน้าที่เมืองกงเปียญดำเนินมาตรการกวาดล้างฝ่ายที่ขัดขืนและต่อต้านการปฏิวัติ พวกเขาจับตาดูคณะแห่งภูเขาคาร์เมลมาระยะแล้ว เมื่อได้หมายค้น คณะเจ้าหน้าที่จึงบุกค้นอารามคาร์เมลในวันที่ 21-22 มิถุนายน และพบรูปภาพของอดีตพระเจ้าหลุยส์ที่ 16, จดหมายจากนักบวชที่ถูกเนรเทศออกจากฝรั่งเศส และนักบวชคณะพระหฤทัย ซึ่งถูกมองว่าเป็นพวกต่อต้านสาธารณรัฐ ทั้งหมดจึงถูกจับกุมและถูกนำตัวไปยังกรุงปารีส ศาลอาญาปฏิวัติพิพากษาให้ประหารชีวิตพวกเขาด้วยกิโยตีน

สมเด็จพระสันตะปาปาปิอุสที่ 10 ประกาศให้สมาชิกอารามดังกล่าวเป็นบุญราศีแห่งกงเปียญ เมื่อวันที่ 27 พฤษภาคม ค.ศ. 1906 ประกอบด้วยนักพรตหญิง 11 คน, ภคินีฆราวาส 3 คน, ฆราวาสคณะขั้นสาม 2 คน

อ้างอิง[แก้]

  1. D., Popkin, Jeremy (2010-01-01). A short history of the French Revolution. Pearson Education. ISBN 978-0205693573. OCLC 780111354.