ชาร์ล อาแล็กซ็องดร์ เดอ กาลอน
ชาร์ล อาแล็กซ็องดร์ เดอ กาลอน Charles Alexandre de Calonne | |
---|---|
ขุนคลังเอกฝรั่งเศส | |
ดำรงตำแหน่ง 3 พฤศจิกายน 1783 – 17 พฤษภาคม 1787 | |
กษัตริย์ | พระเจ้าหลุยส์ที่ 16 |
ก่อนหน้า | อ็องรี เลอแฟฟวร์ ดอร์แมซง |
ถัดไป | มีแชล บูวาร์ เดอ ฟูร์เกอ |
ข้อมูลส่วนบุคคล | |
เกิด | 20 มกราคม ค.ศ. 1734 ดูแอ ราชอาณาจักรฝรั่งเศส |
เสียชีวิต | 30 ตุลาคม ค.ศ. 1802 ปารีส สาธารณรัฐฝรั่งเศส | (68 ปี)
ศิษย์เก่า | มหาวิทยาลัยปารีส |
ลายมือชื่อ | |
ชาร์ล อาแล็กซ็องดร์ เดอ กาลอน (ฝรั่งเศส: Charles Alexandre de Calonne) เป็นรัฐบุรุษฝรั่งเศส เป็นบุคคลผู้มีส่วนสำคัญในช่วงก่อนและต้นการปฏิวัติฝรั่งเศส
ประวัติ
[แก้]กาลอนเกิดที่เทศบาลดูแอ ทางตอนเหนือของฝรั่งเศส ในครอบครัวชนชั้นสูง เขาเข้าศึกษาด้านกฎหมายและได้เป็นนักกฎหมายในคณะมนตรีแห่งอาร์ตัว และเป็นพนักงานอัยการประจำสภาอำมาตย์ดูแอ ความสามารถของเขาทำให้ถูกเรียกตัวมารับตำแหน่งขุนคลังเอก (contrôleur général des finances) ในปี 1783[1] เพื่อปฏิรูประบบภาษีฝรั่งเศสท่ามกลางวิกฤติการคลัง กิตติศัพท์ของกาลอนทำให้สภาอำมาตย์ปารีสหมายหัวเขาเป็นศัตรู สภาอำมาตย์เหล่านี้มีทั้งส่วนกลางและระดับภูมิภาค มีอำนาจวินิจฉัยตัดสินคดีความต่าง ๆ และยังมีอำนาจรับรองนโยบายของรัฐบาลให้เป็นกฎหมาย
กาลอนทราบดีว่าตัวเองเป็นที่ต่อต้านจากสภาอำมาตย์ปารีส (Parlement de Paris) เขาจึงตั้งใจเสนอแผนปฏิรูปให้พระเจ้าหลุยส์โดยตรง และหว่านล้อมให้พระองค์ทรงเปิดประชุมสภาชนชั้นสูง (assemblée des notables) โดยหวังว่าการสนับสนุนจากชนชั้นสูงซึ่งประกอบด้วยเชื้อพระวงศ์ พระสงฆ์ และอภิชนที่กษัตริย์เป็นผู้เลือกมาเองจะเป็นแรงกดดันให้สภาอำมาตย์ยอมตามความต้องการของเขา อย่างไรก็ตาม สมาชิกสภาชนชั้นสูงก็มีความหวาดกลัวต่อร่างกฎหมายภาษีใหม่เช่นกัน การตกลงกันไม่ได้ทำให้พระเจ้าหลุยส์ตัดสินพระทัยปิดประชุมสภาชนชั้นสูง ส่งผลให้ความขัดแย้งระหว่างกษัตริย์กับอำมาตย์บานปลายยิ่งขึ้นอีก
นอกจากนี้ กลุ่มชนชั้นสูงยังพยายามหาทางที่จะให้ความรับผิดชอบทางเศรษฐกิจตกอยู่กับกาลอนในฐานะขุนคลังเอก[2] กาลอนโกรธมากและแตกหักกับราชสำนัก พระเจ้าหลุยส์ทรงปลดกาลอนในปี 1787 และเนรเทศเขาไปยังแคว้นลอแรน การพ้นจากตำแหน่งของกาลอนทำให้ชนชั้นสูงในปารีสยินดีกันมาก ไม่นานจากนั้น กาลอนตัดสินใจออกจากประเทศไปยังเกาะอังกฤษ ในระหว่างที่อยู่ในอังกฤษนี้ เขาติดต่อทางจดหมายกับฌัก แนแกร์ เป็นประจำ
อ้างอิง
[แก้]- ↑ ประโยคหรือส่วนของบทความก่อนหน้านี้ ประกอบด้วยข้อความจากสิ่งพิมพ์ซึ่งปัจจุบันเป็นสาธารณสมบัติ: Chisholm, Hugh, บ.ก. (1911). . สารานุกรมบริตานิกา ค.ศ. 1911. Vol. 5 (11 ed.). สำนักพิมพ์มหาวิทยาลัยเคมบริดจ์. p. 60.
- ↑ Doyle, William. (1989) The Oxford History of the French Revolution. OUP: Oxford. p. 71.