ข้ามไปเนื้อหา

คำปฏิญาณสนามเทนนิส

พิกัด: 48°48′3.64″N 02°07′26″E / 48.8010111°N 2.12389°E / 48.8010111; 2.12389
จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
คำปฏิญาณสนามเทนนิส
Serment du Jeu de Paume
จิตรกรรม คำปฏิญาณสนามเทนนิส โดยฌัก-หลุยส์ ดาวีด
วันที่20 มิถุนายน ค.ศ. 1789
ที่ตั้งสนามเฌอเดอโปม เมืองแวร์ซาย

ในวันที่ 20 มิถุนายน ค.ศ. 1789 เหล่าผู้แทนฐานันดรที่สาม (สามัญชน) ซึ่งถูกกีดกันไม่ให้เข้าร่วมประชุมสภา ได้ร่วมกันประกาศ คำปฏิญาณสนามเทนนิส (ฝรั่งเศส: Serment du Jeu de Paume, แซร์ม็งดูเฌอเดอโปม) ว่า "จะไม่มีวันแตกแยก และจะรวมตัวกันไม่ว่าในที่แห่งหนหรือสถานการณ์ใดก็ตาม จนกว่ารัฐธรรมนูญแห่งอาณาจักรจะถูกตราขึ้น" ถือเป็นเหตุการณ์ครั้งสำคัญในช่วงต้นการปฏิวัติฝรั่งเศส

เหตุการณ์

[แก้]

ในวันที่ 17 มิถุนายน ค.ศ. 1789 คณะฐานันดรที่สามซึ่งนำโดยออนอเร มีราโบ เริ่มเรียกคณะของตนว่าสมัชชาแห่งชาติ (Assemblée nationale) [1] และในเช้าของวันที่ 20 มิถุนายน เหล่าสมาชิกสมัชชาแห่งชาติต่างพากันตกตะลึงเมื่อพบว่าห้องโถงเดตาต์ที่ใช้ประชุมสมัชชาแห่งชาติถูกลงกลอนและเฝ้ายามโดยทหารหลวง เหล่าสมาชิกกลัวว่าพระเจ้าหลุยส์ที่ 16 จะมีบัญชาให้ทหารเข้าโจมตีกลุ่มของตน เหล่าสมาชิกจึงพากันไปรวมตัวที่สนามเฌอเดอโปม (Jeu de paume) อันเป็นสนามเทนนิสในร่มซึ่งอยู่ใกล้เคียงกันแทน ฌ็อง ซีลแว็ง บายี ได้นำสมาชิกทั้งหมดร่วมกันกล่าวคำคำปฏิญาณอย่างจริงจังว่า:

เราขอสาบานว่าจะไม่มีวันแตกแยก และจะรวมตัวกันไม่ว่าในที่แห่งหนหรือสถานการณ์ใดก็ตาม จนกว่าธรรมนูญแห่งอาณาจักรจะถูกตราขึ้นและตั้งอยู่บนรากฐานอันมั่นคง[2]

คำปฏิญาณซึ่งนี้ได้รับสัตยาบันโดยสมาชิกฐานันดรที่สาม 576 คนจากทั้งหมด 577 คน สมาชิกเพียงรายเดียวที่ไม่ร่วมสัตยาบันคือฌอแซ็ฟ มาร์แตง-โดช จากเมืองกัสเตลโนดารี ผู้ที่จะไม่ตัดสินใจในกิจอันใดก็ตามที่องค์กษัตริย์ไม่ทรงเห็นชอบ[3] นักประวัติศาตร์บางรายไม่เห็นด้วยกับข้อคิดเห็นที่ว่าความกลัวของฐานันดรที่สามและการเพิ่มความตึงเครียดทางการเมืองของฝรั่งเศสในขณะนั้นสมเหตุสมผลแล้ว อีกทั้งคำปฏิญาณดังกล่าวเกินเลยจากจุดมุ่งหมายในบริบทเดิมไปมาก[4]

สมาชิกฐานันดรที่สามให้สัตยาบันไว้ว่า จะไม่ล้มเลิกการประชุมจนกว่ารัฐธรรมนูญจะถูกร่างขึ้น แม้ว่าไม่ได้รับพระบรมราชานุญาตจากกษัตริย์ก็ตาม คำปฏิญาณดังกล่าวถือว่าเป็นทั้งการปฏิวัติและการยืนยันสิทธิของประชาชนผ่านผู้แทนราษฎร แทนที่จะเป็นการใช้พระราชอำนาจจากพระมหากษัตริย์โดยตรงเหมือนเช่นแต่ก่อน การโดดเดียวจากฐานันดรที่สามดังกล่าวทำให้พระเจ้าหลุยส์ที่ 16 ต้องทรงออกพระบัญชาให้ฐานันดรที่หนึ่ง (นักบวช) และฐานันดรที่สอง (ขุนนาง) เข้าร่วมกับฐานันดรที่สามในสมัชชาแห่งชาติ เพื่อต้องการที่จะฉายภาพว่าพระองค์เป็นผู้มีอำนาจปกครองเหนือสมัชชาแห่งชาติ[1]

ความสำคัญ

[แก้]
ฌ็อง ซีลแว็ง บายี ผู้นำกล่าวคำปฏิญาณ

คำปฏิญาณสนามเทนนิสคือเครื่องหมายในเชิงสัญลักษณ์ชิ้นแรกที่แสดงให้เห็นว่าประชาชนชาวฝรั่งเศสลุกขึ้นมาเผชิญหน้ากับพระเจ้าหลุยส์ที่ 16 อย่างเป็นทางการ และท่าทีของสมัชชาแห่งชาติที่ไม่ยอมกลับไปสู่ระบอบเดิม ทำให้พระเจ้าหลุยส์ทรงต้องยอมโอนอ่อนตามฝ่ายประชาชน คำปฏิญาณนี้ยังได้รับแรงบันดาลใจมาจากคำประกาศอิสรภาพสหรัฐอเมริกาในปีค.ศ. 1776 โดยเฉพาะจากอารัมภกถาช่วงต้นของคำประกาศอิสรภาพ ฯ ดังกล่าว นอกจากนี้ คำปฏิญาณยังเป็นแรงบันดาลใจ ผลักดันกิจกรรมการปฏิวัติหลากหลายประการในเดือนต่อ ๆ มา ตั้งแต่การจลาจลไปทั่วชนบทของฝรั่งเศส เรีกร้องให้มีการร่างรัฐธรรมนูญขึ้นมาอย่างถาวร ทั้งยังเป็นแรงสนับสนุนให้แก่สมัชชาแห่งชาติในการต่อกรให้กษัตริย์ทรงยอมรับรูปแบบการลงคะแนนเสียงตามจำนวนบุคคล แทนที่การลงคะแนนเสียงตามฐานันดรศักดิ์แบบเดิม[ต้องการอ้างอิง]

คำปฏิญาณสนามเทนนิสซึ่งเริ่มต้นขึ้นในเดือนมิถุนายน ค.ศ. 1789 เรื่อยไปจนถึงวันที่ 4 สิงหาคม ปีเดียวกัน ยังเป็นสัญลักษณ์ที่แสดงให้เห็นถึงการล้มล้างระบบเจ้าขุนมูลนาย (เหตุการณ์ซึ่งเกิดขึ้นในอังกฤษก่อนหน้าฝรั่งเศส 129 ปี เมื่อมีการฟื้นฟูให้พระเจ้าชาลส์ที่ 2 เสด็จ ฯ ขึ้นครองราชย์เป็นพระมหากษัตริย์อีกครั้ง) และก่อให้เกิดคำประกาศว่าด้วยสิทธิมนุษยชนและสิทธิพลเมือง ในวันที่ 26 สิงหาคม ค.ศ. 1789

จิตรกรรม

[แก้]

ภาพวาดด้านบนแสดงให้เห็นว่ากรีสตอฟ อองตวน แฌร์เลอ คือหนึ่งในบุรุษตรงกลางสามคน เป็นการแสดงเชิงสัญลักษณ์ถึงดุลยภาพระหว่างรัฐกับศาสนา นอกจากนี้ภาพยังแสดงให้เห็นว่าฌอแซฟ มาร์แตง-โดช ปรากฏตัวอยู่ทางด้านขวาของภาพ นั่งก้มหัวพร้อมกับเอามือไขว้หน้าอกของตน[ต้องการอ้างอิง] ซึ่งเดิมทีดาวีดตั้งใจที่จะใช้ภาพนี้เป็นภาพร่างสำหรับการวาดและลงสีอย่างสมบูรณ์ แต่ภาพไม่เคยเสร็จสมบูรณ์[5]

อ้างอิง

[แก้]
  1. 1.0 1.1 Doyle, William (1990). The Oxford History of the French Revolution. Oxford University Press. p. 105. ISBN 978-0192852212.
  2. Thompson, Marshall Putnam (1914). "The Fifth Musketeer: The Marquis de la Fayette". Proceedings of the Bunker Hill Monument Association at the annual meeting. p. 50. สืบค้นเมื่อ 10 February 2011.{{cite book}}: CS1 maint: postscript (ลิงก์)
  3. Hanson, Paul R. (2004). Historical Dictionary of the French Revolution. Lanham, MD: Scarecrow Press. ISBN 9780810850521.
  4. Osen, James L. (1995). Royalist Political Thought during the French Revolution. Westport, CT: Greenwood Publishing Group. ISBN 9780313294419.
  5. Jonsson, Stefan (2008). A brief history of the masses: three revolutions. New York: Columbia University Press. pp. 27–29. ISBN 978-0-23114526-8.

48°48′3.64″N 02°07′26″E / 48.8010111°N 2.12389°E / 48.8010111; 2.12389