เหตุการณ์ นปช. ปะทะกับกลุ่มพันธมิตรฯ 2 กันยายน พ.ศ. 2551

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
ภาพสรุปเหตุการณ์วิกฤตการณ์การเมืองในประเทศไทย
ภาพสรุปเหตุการณ์วิกฤตการณ์การเมืองในประเทศไทย

บทความนี้เป็นส่วนหนึ่งหรือเกี่ยวข้องกับ
วิกฤตการณ์การเมืองไทย พ.ศ. 2548–2553

การเมืองไทยประวัติศาสตร์ไทย

เหตุการณ์ นปช. ปะทะกับกลุ่มพันธมิตรฯ 2 กันยายน พ.ศ. 2551 เป็นเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในวันที่ 2 กันยายน พ.ศ. 2551 เป็นการปะทะกันระหว่างแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ (นปช.) และกลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย บริเวณแยก จปร. เป็นเหตุให้มีผู้บาดเจ็บ 45 คน ในจำนวนนี้บาดเจ็บสาหัส 12 ราย[1]นอนโรงพยาบาลวชิระ 6 ราย โรงพยาบาลรามาธิบดี 2 ราย โรงพยาบาลหัวเฉียว 2 ราย โรงพยาบาลราชวิถี 1 ราย โรงพยาบาลศิริราช 1 ราย และเสียชีวิต 1 คน[2] ได้แก่ นายณรงค์ศักดิ์ กรอบไธสง[3] ทำให้ นายสมัคร สุนทรเวช นายกรัฐมนตรี ประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินในเขตท้องที่กรุงเทพมหานคร แต่งตั้ง พลเอก อนุพงษ์ เผ่าจินดา เป็นหัวหน้าผู้รับผิดชอบในการแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉิน[4]พลตำรวจเอก พัชรวาท วงษ์สุวรรณ และ พลโท ประยุทธ์ จันทร์โอชา แม่ทัพภาคที่ 1 เป็นรองหัวหน้าผู้รับผิดชอบในการแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉิน

ส่งผลให้ห้ามมีการชุมนุมเกิน 5 คน ห้ามสื่อมวลชนนำเสนอข่าวที่กระทบต่อความมั่นคง หรือทำให้ประชาชนหวาดกลัว[5][6] และในวันที่ 14 กันยายน นายสมชาย วงศ์สวัสดิ์ รักษาการนายกรัฐมนตรี ประกาศยกเลิกสถานการณ์ฉุกเฉินรวมแล้วประกาศสถานการณ์ฉุกเฉิน 12 วัน[7]รวมตลอดวันที่ 25 สิงหาคม ถึง 14 กันยายน บาดเจ็บรวม 106 ราย บาดเจ็บสาหัส 12 ราย เสียชีวิต 1 ราย ต่อมา นายประสิทธิ์ จันทร์เต็มดวง ผู้ทุพพลภาพเสียชีวิตลงในวันที่ 18 กุมภาพันธ์ 2558[8]ที่อำเภอลานสกา

ลำดับเหตุการณ์[แก้]

25 สิงหาคม[แก้]

เวลา 19.45 น. นายสุริยะใส กตะศิลา ผู้ประสานงานกลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตยแถลงข่าวว่า ทันทีที่ประกาศสงครามครั้งสุดท้าย ภายใต้"แผนปฏิบัติการไทยคู่ฟ้า" ซึ่งจะเริ่มตั้งแต่เช้ามืด ในเวลา 07.00 น. วันที่ 26 สิงหาคม โดยจะขึ้นเวทีประกาศเจตนารมณ์บนเวที และแถลงมาตรการว่าจะเคลื่อนไปที่ไหนอย่างไร รวมทั้งแผนปฏิบัติการองค์กรแนวร่วมต่างๆ เสริมในหลายจังหวัด จะมีผู้ชุมนุมมามากกว่า 3 แสนคน คาดว่าจะจบในวันเดียว ถ้านายกรัฐมนตรียุติบทบาทโดยการลาออกทุกอย่างก็คงจบ แต่ถ้าแผนไทยคู่ฟ้าไม่สำเร็จ ยุทธการดาวกระจายก็จะเป็นแผนเสริม ที่นำมาปฏิบัติการในแบบวันต่อวัน โดยจะใช้บริเวณสะพานมัฆวานฯ เป็นศูนย์บัญชาการใหญ่ ประสานงานเครือข่ายพันธมิตรฯ

นายสนธิ ลิ้มทองกุล แกนนำพันธมิตรฯ ขึ้นปราศรัยด้วยการอ่านแถลงการณ์เคลื่อนทัพขับไล่รัฐบาล โดยบอกด้วยว่า จะมีทัพหลวง ทัพหน้า ทัพน้อย และทัพพิสดาร จะบอกแผนภายใน 1 ชั่วโมงก่อนเคลื่อนพล

26 สิงหาคม[แก้]

ตรงกับวันที่นายสนธิได้ประกาศไว้ก่อนหน้านี้ว่าเป็นวัน "เป่านกหวีด" ในเวลา 05.45 น. ได้มีชายฉกรรจ์ประมาณ 40 คน ใส่เสื้อสีดำ อาศัยความมืดบุกเข้าไปในสถานีโทรทัศน์เอ็นบีที ซึ่งเจ้าหน้าที่ตำรวจได้ควบคุมสถานการณ์ไว้เรียบร้อย ตรวจค้นตามร่างกายกลุ่มดังกล่าว พบอาวุธจำนวนมาก อาทิ ปืนขนาด 11 มม. ปืนไทยประดิษฐ์ ดาบสปาต้า ไม้กอล์ฟ หนังสติ๊ก และลูกเหล็ก นอกจากนี้ยังพบใบกระท่อมประมาณ 300 ใบด้วย

เวลา 05.50 น. บริเวณสะพานมัฆวานรังสรรค์ นายสนธิ ลิ้มทองกุล แกนนำพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย ขึ้นเวทีอ่านแถลงการณ์ ฉบับที่ 12/2551 กำหนดเป้าหมายและวิธีการชุมนุมสร้างประวัติศาสตร์การเมืองไทย ย้ำใช้สิทธิตามมาตรา 63 ยึดมั่นแนวทางสันติวิธี ระบุอาจต้องปิดการจราจรและทำให้สถานที่ราชการบางแห่งไม่สามารถเปิดทำการ เพื่อไม่ให้รัฐบาลที่ขาดความชอบธรรมเข้าทำงานจนสร้างความเสียหายล่มจมต่อประเทศชาติ

กระทั่งเวลา 07.50 น. แกนนำพันธมิตรฯ บนเวทีปราศรัย ได้แจ้งให้ประชาชนเข้าแถวหน้าเวที กลุ่มละ 500 คน เพื่อจัดกลุ่มเตรียมทยอยสมทบกันเดินทางไปยังกระทรวงคมนาคม กระทรวงการคลัง และกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ โดยกลุ่มแรกนำโดยนายสุริยะใส กตะศิลา นายพิภพ ธงไชย นายศิริชัย ไม้งาม ประธานสหภาพแรงงาน การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย นำกลุ่มผู้ชุมนุมรวม 4 ชุด จำนวน 4,000 คน เดินทางไปยังกระทรวงการคลัง ขณะที่นายสมศักดิ์ โกศัยสุข เป็นแกนนำผู้ชุมนุมจำนวน 4 ชุด รวม 20,000 คน เดินทางไปยังกระทรวงคมนาคม

จากนั้น เวลา 08.30 น. กลุ่มพันธมิตรฯ 4,000 คน บุกเข้าไปยึดกระทรวงคมนาคมได้อย่างง่ายดาย จากนั้นมีการนำผู้ชุมนุมประมาณ 1,000 คน ข้ามฝั่งไปยึดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ แต่เจ้าหน้าที่กระทรวงเกษตรฯได้ปิดประตูทางเข้าทุกประตู จึงมีการใช้กำลังเข้าพังประตูจนเข้ายึดกระทรวงเกษตรฯ เป็นผลสำเร็จ ในขณะเดียวกันกลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตยจำนวนมาก ซึ่งเคลื่อนไปชุมนุมบริเวณสถานีโทรทัศน์เอ็นบีที และได้ทำลายประตูทางเข้าและบุกวิ่งเข้ามาภายในสถานีโทรทัศน์ ทำให้ต้องทำการตัดสัญญาณโทรทัศน์ทันที [9] ส่วนที่กระทรวงการคลัง กลุ่มพันธมิตรฯ 4,000 คน เดินทางไปถึงเวลา 09.00 น. และกระจายกำลังปิดล้อมตั้งแต่หน้ากระทรวงการคลังถึงกรมประชาสัมพันธ์ แต่ไม่สามารถเข้าได้ เนื่องจากมีการนำโซ่ขนาดใหญ่มาคล้องประตูไว้ ทำให้การจราจรโดยรอบติดขัด เวลา 11.15 น. กลุ่มพันธมิตรฯ ได้นำคีมเหล็กมาตัดประตู 4 สำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน และช่วยกันดึงประตูให้หลุด และกรูกันเข้ามาในกระทรวงการคลังเป็นผลสำเร็จ โดยเจ้าหน้าที่ตำรวจได้ปิดล็อกประตูอาคารและกรมต่างๆ ภายในกระทรวงการคลังอย่างแน่นหนา ส่วนกลุ่มข้าราชการได้ทยอยกลับบ้านตั้งแต่เวลา 11.00 น.[10]

ที่ทำเนียบรัฐบาล เมื่อเวลา 14.00 น. กลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย ที่ชุมนุมหน้าทำเนียบรัฐบาลตั้งแต่ช่วงเช้า ได้พังแผงเหล็กและเคลื่อนพลมาที่หน้าทำเนียบรัฐบาล ขณะที่เจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัยไม่สามารถทำการป้องกันแต่อย่างใด โดยจำนวนของผู้ชุมนุมคาดว่า มีประมาณ 3 หมื่นคน เดินทางมา 2 ด้านคือฝั่งตึกแดง และสะพานชมัยมรุเชษฐ์ มารวมกันที่ด้านหน้าประตู 1 รอที่จะบุกเข้าไปภายในทำเนียบรัฐบาล

เมื่อเวลา 15.00 น. นายสนธิ ลิ้มทองกุล แกนนำพันธมิตรฯ ได้นำกลุ่มผู้ชุมนุมที่อยู่หน้ากระทรวงคมนาคมราวหมื่นคนเดินเท้าไปสมทบที่ทำเนียบรัฐบาล ภายหลังจากมีการประสานมาว่าสามารถยึดภายในทำเนียบรัฐบาลได้แล้ว[11]

29 สิงหาคม[แก้]

ผู้ชุมนุมทำการปิดล้อมท่าอากาศยานหาดใหญ่และท่าอากาศยานภูเก็ต โดย บริษัท ท่าอากาศยานไทย ได้แจ้งปิด ท่าอากาศยานหาดใหญ่โดยขอยกเลิกเที่ยวบิน ตั้งแต่วันที่ 29 สิงหาคม 2551 เวลา 16.40 น. จนถึงวันที่ 30 สิงหาคม 2551 เวลา 09.00 น. หลังจากนั้นได้ ให้บริการตามปกติ ท่าอากาศยานภูเก็ต ได้ปิดการให้บริการ ตั้งแต่วันที่ 29 สิงหาคม 2551 เวลา 16.50 น. ถึงวันที่ 31 สิงหาคม 2551 เวลา 11.00 น. หลังจากนั้นได้เปิดให้บริการตามปกติ [12]

ตำรวจได้มีการปิดล้อมทำเนียบรัฐบาลกดดันให้ผู้ชุมนุมสลายการชุมนุม และพยายามเข้าไปปิดหมายศาล จึงทำให้เกิดการปะทะกันและมีผู้บาดเจ็บ ช่วงกลางคืน กลุ่มผู้ชุมนุมมีการเคลื่อนขบวนไปบริเวณหน้ากองบัญชาการตำรวจนครบาล มีการใช้แก๊สน้ำตาเกิดขึ้น[13] และมีผู้ได้รับผลกระทบจากแก๊สน้ำตาจำนวนมากตลอดทั้งวันมีผู้บาดเจ็บรวม 67 ราย

30 สิงหาคม[แก้]

เมื่อเวลา 17.00 น. แนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ (นปช.) ได้เคลื่อนไหวต่อต้านกลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย โดยเปิดเวทีปราศรัยที่ท้องสนามหลวง บริเวณหน้ามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ มีผู้เข้าร่วมหลายพันคน ส่วนใหญ่ใส่เสื้อสีแดง หรือมีผ้าพันคอสีแดงเป็นสัญลักษณ์

เวลา 19.45 น. แกนนำกลุ่ม นปช.ได้ขออาสาสมัครชายจำนวน 200 คน โดยระบุว่าต้องการนำคนไปเคลื่อนไหวในวันที่ 31 สิงหาคม[14]

2 กันยายน[แก้]

เวลา 00.10 น. กลุ่ม นปช.ที่สวมสวมเสื้อแดงบ้างหรือโพกผ้าแดง ตั้งขบวนโดยให้ชายฉกรรจ์ขับขี่รถจักรยานยนต์นำหน้าบีบสัญญาณแตรตลอดเส้นทาง ตามด้วยกลุ่มชายฉกรรจ์เดินเท้ากลุ่มใหญ่จากนั้น เป็นรถบรรทุก 6 ล้อ ขับตามหลัง 2 คัน บนรถมีนายวิภูแถลงเคลื่อนขบวนจากสนามหลวงไปตามถนนราชดำเนิน ปิดท้ายด้วยกลุ่ม นปช. เดินตามหลัง ซึ่งระหว่างทางกลุ่มชายฉกรรจ์ได้ถอดป้ายหาเสียงของนายอภิรักษ์ โกษะโยธิน ที่ติดอยู่ออกด้วย[15]

เมื่อเวลา 00.40 น. แนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ (นปช.) เคลื่อนพลจากสนามหลวง เพื่อขับไล่ กลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย ที่ชุมนุมยึดทำเนียบรัฐบาล โดยใช้เส้นทางถนนราชดำเนินสู่แยก จปร. เชิงสะพานมัฆวานรังสรรค์ ฝ่าด่านตำรวจที่ตั้งแผงเหล็กมาได้ตลอดเส้นทาง ระหว่างนั้น นายสมศักดิ์ โกศัยสุข แกนนำกลุ่มพันธมิตรฯ ได้ประกาศบนเวที เพื่อขอกำลังการ์ดอาสาเพิ่ม เนื่องจากทางกลุ่ม นปก.ได้เคลื่อนกำลังเข้ามาจำนวนหลายพันคน พร้อมกับเน้นย้ำให้การ์ดทำหน้าที่อยู่ในพื้นที่เท่านั้น

จนเมื่อเวลา 01.10 น. กลุ่ม นปช.เคลื่อนกำลังมาถึงบริเวณร้านลิขิตไก่ย่าง เลยสนามมวยราชดำเนินมาเล็กน้อย ได้เกิดการปะทะกันกับฝ่ายพันธมิตรฯ ที่ปักหลักอยู่ฝั่งตรงข้ามของสะพาน และฝ่าแนวกั้นเข้ามา โดยต่างฝ่ายต่างวิ่งเข้าหากัน พร้อมกับมีการปาขวดน้ำ ขวดโซดา ขว้างก้อนหินใส่กัน พร้อมกับมีการถืออาวุธไม้วิ่งไล่ตีกัน ระหว่างที่เกิดการปะทะกันทั้งสองฝ่ายได้เกิดเสียงปืนดังขึ้น 5-6 นัด และเสียงคล้ายระเบิดควันดังติดต่อกันหลายครั้ง โดยกระสุนปืนได้ถูกกลุ่มผู้ชุมนุม นปก.ล้มลงได้รับบาดเจ็บสาหัส 2 ราย เจ้าหน้าที่รีบนำตัวส่งวชิรพยาบาล

ตั้งแต่เวลา 01.30 น. หลังการปะทะกันบริเวณสะพานมัฆวานฯ หน้าอาคารที่ทำการสหประชาชาติ สำนักงานกรุงเทพฯ ระหว่างกลุ่มพันธมิตรฯ และกลุ่ม นปช. พล.ต.จำลอง ศรีเมือง ได้ขึ้นกล่าวบนเวทีสั่งระดมการ์ดและผู้ชุมนุมให้ไปตั้งขบวนอยู่ที่หน้าเต้นท์กองทัพธรรม ถนนพิษณุโลก เพื่อยกกำลังไปช่วยผู้ชุมนุมที่อยู่บริเวณสะพานมัฆวานฯ จากนั้นกลุ่มผู้ชุมนุมนับร้อยพร้อมด้วยอาวุธครบมือ ได้ไปรวมตัวกันที่บริเวณเต้นท์หน้ากองทัพธรรม โดยพล.ต.จำลอง และนายสมศักดิ์ ได้เดินลงมาสั่งการด้วยตัวเอง

ต่อมาเมื่อเวลา 02.00 น. พล.ต.อ.พัชรวาท วงษ์สุวรรณ ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ ได้เดินทางไปถึงที่เกิดเหตุ พร้อมกับ พล.ต.อ.จงรัก จุฑานนท์ รองผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ ในฐานะรักษาราชการแทนผู้บัญชาการตำรวจนครบาล และ พล.ต.ต.สุชาติ เหมือนแก้ว รองผู้บัญชาการตำรวจนครบาล ในฐานะที่ได้รับแต่งตั้งเป็นผู้บัญชาการเหตุการณ์ควบคุมความสงบเรียบร้อยในการชุมนุม โดยนายตำรวจระดับสูงทั้งหมด ได้หารือกันกันอย่างเคร่งเครียด และได้สั่งการให้เจ้าหน้าที่ตำรวจส่งกำลังเข้าขัดขวางไม่ให้ผู้ชุมนุมทั้งสองฝ่ายปะทะกันอีกระลอก โดยฝั่งหนึ่งเป็นผู้ชุมนุมกลุ่มพันธมิตรฯ ขณะที่อีกฝั่งหนึ่งเป็นผู้ชุมนุมกลุ่ม นปช. ซึ่งตำรวจที่ตั้งแถวกั้นกลางอยู่มีประมาณ 500 นาย ทั้งหมดมีเพียงโล่พลาสติกเป็นเครื่องป้องกัน ไม่มีกระบองหรืออาวุธอื่นใด

ช่วงเวลาประมาณ 03.00 น. มีการปะทะกันเล็กน้อย ระหว่างทั้ง 2 กลุ่ม โดยมีการจุดพลุไฟใส่กัน แต่ไม่มีเหตุเกิดขึ้นรุนแรง ส่วนทางด้านสนามม้านางเลิ้ง กลุ่มผู้ชุมนุม นปช. ได้ทำการเคลื่อนย้ายเพื่อตั้งเต็นท์ประมาณ 3-4 เต๊นท์ ซึ่งคาดว่า กลุ่ม นปช.จะทำการปักหลักค้างคืน ณ จุดดังกล่าว

เหตุการณ์ล่วงเลยมาจนถึงเวลา 03.40 น. ปรากฏว่าสถานการณ์ยังคงตึงเครียด แม้ว่าผู้ชุมนุมกลุ่ม นปก.จะตั้งเต็นท์ที่หน้ากองบัญชาการกองทัพบก ในลักษณะปักหลักแล้วก็ตาม แต่ก็ยังเผชิญหน้ากับกลุ่มพันธมิตรฯ ที่ระดมคนจำนวนมากมาตรึงที่เวทีเชิงสะพานมัฆวานรังสรรค์ ฝั่งหน้ากระทรวงศึกษาธิการเช่นกัน โดยพื้นที่ตรงกลางระหว่างทั้งสองกลุ่มนั้น มีกำลังตำรวจและทหารชุดปราบจลาจลตั้งแนวกั้นคุมเชิงเอาไว้ นอกจากนี้ยังพบการปะทะกันย่อย ๆ อีกหลายจุด เช่นที่แยกนางเลิ้ง และภายในซอยข้างสนามมวยราชดำเนิน มีการปาระเบิดเพลิงเข้าใส่กัน จนตำรวจต้องเข้าระงับเหตุ แต่ก็ยังไม่สามารถควบคุมสถานการณ์เอาไว้ได้ทั้งหมด

จนกระทั่งเวลา 05.00 น. มีรายงานว่า มีผู้เสียชีวิตจากเหตุการณ์นี้ 1 คน คือ นายณรงศักดิ์ กรอบไธสง ผู้ชุมนุมกลุ่ม นปช. และมีผู้ได้รับบาดเจ็บจำนวน 40 คน ซึ่งทั้งหมดถูกส่งไปรักษาตัวที่โรงพยาบาล

ต่อมาเมื่อเวลา 07.00 น. สถานีโทรทัศน์เอ็นบีที ได้เผยแพร่การประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินในเขตท้องที่กรุงเทพมหานคร ที่ลงนามโดย นายสมัคร สุนทรเวช นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม เนื่องจากเหตุการณ์เกิดการปะทะกันระหว่าง กลุ่ม นปก. กับกลุ่มพันธมิตรฯ จนเป็นเหตุให้มีผู้เสียชีวิตและบาดเจ็บเป็นจำนวนมาก พร้อมกันนี้ในประกาศดังกล่าวได้มีการแต่งตั้ง พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา ผู้บัญชาการทหารบก รองผู้อำนวยการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร เป็นหัวหน้าผู้รับผิดชอบ ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติและแม่ทัพภาคที่ 1 เป็นรองหัวหน้า นอกจากนี้ยังออกคำสั่งนายกรัฐมนตรี ห้ามชุมนุมเกินกว่า 5 คนในเขตกรุงเทพมหานคร รวมทั้งห้ามการเสนอข่าวที่อาจกระทบต่อความมั่นคงทั่วราชอาณาจักร

หลังจากนั้น กลุ่ม นปช.ได้ถอนการชุมนุมกลับไปที่ท้องสนามหลวง ก่อนจะนัดรวมตัวที่หน้าศาลากลางจังหวัดสมุทรปราการ และยุติการชุมนุมอย่างรวดเร็ว เพื่อปฏิบัติตามประกาศสถานการณ์ฉุกเฉิน แต่ขณะเดียวกัน ผู้ชุมนุมแนวร่วมกลุ่มพันธมิตรฯ ยังคงปักหลักชุมนุมต่อไป และมิได้ตื่นตระหนกกับการประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินแต่อย่างใด

เมื่อเวลา 10.00 น. ที่กองบัญชาการองทัพบก พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา ผู้บัญชาการทหารบก ในฐานะหัวหน้าผู้รับผิดชอบในการแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉิน ตาม พ.ร.ก.บริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ. 2548 ได้เรียกหน่วยงานด้านความมั่นคงและหัวหน้าส่วนราชการต่างๆ รวม 20 องค์กร ร่วมหารือเพื่อแก้ไขสถานการณ์การชุมนุมที่มีการปะทะกันระหว่างกลุ่มพันธมิตรฯ และกลุ่ม นปก. เช่น พล.ต.อ.พัชรวาท วงษ์สุวรรณ ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ พล.ท.ประยุทธ์ จันทร์โอชา แม่ทัพภาคที่ 1 ในฐานะรองหัวหน้าผู้รับผิดชอบในการแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉิน พล.ท.สุรพล เผื่อนอัยการ เลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติ (สมช.) พล.ต.อ.จงรัก จุฑานนท์ รองผบ.ตร. ในฐานะรักษาการ ผบช.น. โดยใช้เวลาในการประชุมเกือบ 4 ชั่วโมง

ต่อมา เวลา 13.45 น. พล.อ.อนุพงษ์แถลงผลการหารือว่า จะแก้ปัญหาความไม่สงบเรียบร้อยในเขตกรุงเทพฯ โดยยึดถือระบอบประชาธิปไตยเป็นหลัก เป็นกรอบในการดำเนินการตามกฎหมาย นอกจากนั้น จะทำภารกิจ เพื่อไม่ให้ประชาชนได้ปะทะกัน หรือเกิดความสูญเสียเกิดขึ้น โดยคณะกรรมการเห็นร่วมกันว่าจะใช้มาตรการพูดคุยสร้างความเข้าใจในทุกสื่อ โดยจะไม่ใช้กำลังเข้าปฏิบัติต่อกันในขั้นนี้ ถ้าทหารต้องออกปฏิบัติการ ทหารจะอยู่ข้างประชาชน และไม่ใช่ความรุนแรงกับประชาชน ทหารและตำรวจจะอยู่กลางและพยายามไม่ให้คนปะทะกัน อยากให้คนหันไปปะทะกันทางความคิด ด้วยเหตุผล ด้วยหลักกฎหมาย[16]

ที่ท่าอากาศยานหาดใหญ่ ผู้ชุมนุมกลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย ปิดท่าอากาศยานหาดใหญ่ในวันที่ 2 กันยายน 2551 และ วันที่ 3 กันยายน 2551[17]มีการชุมนุมที่ศาลากลางจังหวัดชุมพร ศาลากลางจังหวัดสุราษฎร์ธานี ศาลากลางจังหวัดตรัง และ ศาลากลางจังหวัดภูเก็ต[18]

4 กันยายน[แก้]

9 กันยายน[แก้]

กลุ่มแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ จัดชุมนุมต่อต้านกลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตยโดยนำ ชบา สิงหกลางพล พี่สาวของ นายณรงค์ศักดิ์ กรอบไธสง ผู้เสียชีวิตจากการปะทะของผู้ชุมนุมกลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย และ กลุ่มแนวร่วมประชาธิปไตยขับไล่เผด็จการแห่งชาติ เมื่อคืนวันที่ 2 ก.ย.2551 ขึ้นปราศัย [24]

14 กันยายน[แก้]

เมื่อเวลา 09.30 น. ที่กองบัญชาการกองทัพไทย นายสมชาย วงศ์สวัสดิ์ รักษาการนายกรัฐมนตรี ประชุมร่วมกับ พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา ผู้บัญชาการทหารบก พล.ต.อ.พัชรวาท วงษ์สุวรรณ ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ นายสุรชัย ภู่ประเสริฐ เลขาธิการคณะรัฐมนตรี พล.อ.สุรพล เผื่อนอัยกา เลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติ นางโฉมศรี อารยะศิริ รองเลขาธิการคณะรัฐมนตรี และนายอัชพร จารุจินดา รองเลขาธิการคณะกรรมการกฤษฎีกา เพื่อยกเลิกการประกาศสถานการณ์ฉุกเฉิน

ต่อมาเวลา 11.25 น. นายสมชาย วงศ์สวัสดิ์ รักษาการนายกรัฐมนตรี พร้อมด้วย พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา ผู้บัญชาการทหารบก และ พล.ต.อ.พัชรวาท วงษ์สุวรรณ ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ ร่วมกันแถลงข่าวยกเลิกการประกาศสถานการณ์ฉุกเฉิน เพราะความรุนแรงของสถานการณ์ได้บรรเทาลง จึงไม่จำเป็นที่จะต้องใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน อีกต่อไป

รายชื่อผู้บาดเจ็บสาหัส[แก้]

ผู้บาดเจ็บสาหัสเป็นกลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย 1 ราย ได้แก่ ร้อยตรี เอกชัย อาจสาคร[25]

  1. นาย จารึก คำน้อย อายุ 38 ปี มีแผลที่แขน
  2. ร้อยตรี เอกชัย อาจสาคร อายุ 57 ปี ถูกยิงที่หน้าอกขวา
  3. นาย ลออ เปียทอง อายุ 52 ปี แขนหักทั้ง 2 ข้าง
  4. นาย ณรงค์ ปาพันธ์ อายุ 44 ปี ศีรษะแตก แพทย์ผ่าตัดกะโหลกศีรษะ
  5. นาย จงดี คงทน อายุ 28 ปี มีแผลที่หน้าและศีรษะ
  6. นาย สุรเดช นวลลออ อายุ 46 ปี มีแผลที่ศีรษะ
  7. นาย วิโรจน์ อินทร์กล่ำ อายุ 52 มีบาดแผลที่ศีรษะ มีเลือดออกในสมอง
  8. นาย บุญส่ง ทึกขุนทด อายุ 33 ปี มีบาดแผลถูกยิงเข้าที่ ขาขวา
  9. นาย สุรเดช นวลละออ อายุ 46 ปี มีบาดแผลที่ศีรษะแถบขวาและไหล่ขวาหัก
  10. นาย สราวุฒิ แก้วโสม อายุ 26 ปี กระดูกขาขวาหัก
  11. นาย เสนาะ นิ่มแสง โดนยิงด้านหลัง 1 นัด (ส่งโรงพยาบาลหัวเฉียว)
  12. นาย บุญนต ดูวิเศษ อาการซี่โครงหัก ศีรษะและข้อศอกแตก
  13. นาย ประสิทธิ์ จันทร์เต็มดวง ทุพพลภาพจากเหตุการณ์นี้ โดยถูกตีกะโหลกยุบโหนกหน้าและกรามซีกซ้ายแตกหมด[26]เสียชีวิต 18 กุมภาพันธ์ 2558[27]

อ้างอิง[แก้]

  1. รายงานฉบับสมบูรณ์[ลิงก์เสีย]
  2. รมช.สธ. รุดเยี่ยมผู้บาดเจ็บเหตุปะทะของกลุ่มผู้ชุมนุมที่รพ.วชิระ ทุกรายอาการปลอดภัย[ลิงก์เสีย]
  3. นปช.ปะทะพธม เจ็บ 40 สมัครฯ ประกาศภาวะฉุกเฉิน[ลิงก์เสีย]
  4. ประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินในเขตท้องที่ กรุงเทพมหานคร
  5. ผู้รับผิดชอบในการแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉิน
  6. นำเสนอข่าวที่กระทบต่อความมั่นคง
  7. รักษาการนายกรัฐมนตรี ประกาศยกเลิกสถานการณ์ฉุกเฉิน
  8. มูลนิธิประชาร่วมใจพบศพคนจมน้ำเสียชีวิต
  9. "พันธมิตรล้มประตูบุกNBT แถมยึด ทำเนียบ". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2008-09-12. สืบค้นเมื่อ 2009-07-14.
  10. "เหตุการณ์พันธมิตรยึด 6 หน่วยงานรัฐ - ระทึก! นาทีต่อนาที พันธมิตรยึดเอ็นบีที". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2009-07-27. สืบค้นเมื่อ 2009-07-14.
  11. พันธมิตรยึดทำเนียบ ครม.ย้ายที่ประชุม ด้านสมัครเตรียมแถลงข่าว
  12. เรื่อง แจ้งข่าวกลุ่มผู้ชุมนุมปิดล้อมสนามบิน
  13. บชน.ส่งผลกลุ่มพันธมิตรฯ แตกฮือ
  14. ประกาศศึก! เนวิน ฟื้น นปช. ยึดสนามหลวงประจัญหน้า พันธมิตร หนุน หมัก หนึบเก้าอี้นายกฯ
  15. ลำดับฉาก เหตุปะทะเดือด "พันธมิตร-นปช." ต้นตอรบ.คลอด "พ.ร.ก.ฉุกเฉิน"
  16. ผบ.ทบ.เผยยึดถือปชต.-กม.เน้นเจรจาไม่ใช้อาวุธ ไม่มีหน้าที่เคลียร์ทำเนียบฯ จากสำนักข่าวอินโฟเควสท์ ในเว็บไซต์ อาร์วายทีไนน์
  17. พันธมิตรสงขลาเริ่มล้า อาจสลายชุมนุมวันนี้[ลิงก์เสีย]
  18. พันธมิตรตจว.ร่วมชุมนุมบีบรบ.-ขนคนสมทบทำเนียบฯ รถไฟอีสานเริ่มเข้าภาวะปกติ
  19. ประกาศให้จัดตั้ง กองอำนวยการแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉิน
  20. อนุพงษ์ เผ่าจินดา เป็นผู้อำนวยการกองอำนวยการแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉิน
  21. ประยุทธ์จันทร์โอชา แม่ทัพภาคที่ 1 เป็นรองผู้อำนวยการกองอำนวยการแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉิน
  22. ผู้ช่วยเสนาธิการทหารบกฝ่ายยุทธการ
  23. เสนาธิการกองทัพภาคที่ 1 เป็นกรรมการ
  24. ข่าวมอนิเตอร์ประจำวันที่ 10 กันยายน 2551
  25. เปิดใจร้อยตรี เอกชัย ผู้มีธรรมะ ถูกแดง นปก.ยิงทะลวงปอดเฉียดตาย ยังไม่โกรธ-กับ 2 สหายพันธมิตรฯ[ลิงก์เสีย]
  26. เปิดรายชื่อผู้เสียชีวิต-ทุพพลภาพ-บาดเจ็บ มีสิทธิรับเงินเยียวยาจาก รบ.1-4 แสน[ลิงก์เสีย]
  27. ประสิทธิ์ จันทร์เต็มดวง