ทรงกลด ชื่นชูผล

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
ทรงกลด ชื่นชูผล
เกิด13 กรกฎาคม พ.ศ. 2508 (58 ปี)
จังหวัดพิษณุโลก ประเทศไทย
ชื่ออื่นผู้กองปูเค็ม
อาชีพทหารบก, ธุรกิจส่วนตัว
มีชื่อเสียงจากต่อต้านทักษิณ ชินวัตร

ร้อยเอก ทรงกลด ชื่นชูผล นักเคลื่อนไหวทางการเมืองและอดีตนายทหารบกชาวไทย เป็นที่รู้จักกันดีในชื่อ ผู้กองปูเค็ม ซึ่งเป็นฉายาที่ผู้ติดตามความเคลื่อนไหวทางทวิตเตอร์ส่วนตัวตั้งให้ เนื่องจากมีธุรกิจทำปูเค็มขาย ซึ่งเป็นธุรกิจดั้งเดิมของครอบครัว[1]

ประวัติ[แก้]

ทรงกลด เกิดเมื่อวันที่ 13 กรกฎาคม พ.ศ. 2508 ที่จังหวัดพิษณุโลก มีพี่น้องทั้งหมด 4 คน ทุกคนต่างรับราชการทั้งหมด จบการศึกษาจากโรงเรียนสวนกุหลาบวิทยาลัยรุ่นที่ 102 (ส.ก.23887) , โรงเรียนเตรียมทหารรุ่นที่ 26 (ต.ท.26), โรงเรียนนายร้อยพระจุลจอมเกล้ารุ่นที่ 37 (จ.ป.ร.37) เมื่อสำเร็จการศึกษาแล้ว ได้เข้ารับราชการในกรมสรรพาวุธทหารบก ประจำจังหวัดพิษณุโลก รับหน้าที่ด้านซ่อมบำรุงอาวุธยุทโธปกรณ์ เนื่องจากศึกษามาโดยตรง รวมถึงเคยอยู่กองร้อยเดียวกันกับ ร่มเกล้า ธุวธรรม ด้วย[2]

เมื่อปลายปี พ.ศ. 2540 ขณะที่ชวน หลีกภัย ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ทรงกลด ได้ยื่นเรื่องต่อทางรัฐบาลด้วยการเรียกร้องว่ามีเหตุทุจริตในหน่วยงานที่ตนสังกัดอยู่ จนเริ่มเป็นข่าวจากสื่อมวลชน แต่ทว่าเจ้าตัวกลับถูกคำสั่งจำคุก ฐานเพราะสร้างความเสื่อมเสียแก่ต้นสังกัด หลังพ้นโทษออกมา ได้ไปศึกษาต่อในระดับปริญญาโทด้านคอมพิวเตอร์ ที่จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เมื่อสำเร็จการศึกษา ได้เข้ามาพัฒนาระบบเครือข่ายคอมพิวเตอร์ของกองทัพบก ทรงกลด ได้เสนอให้ต้นสังกัดดำเนินการทุกอย่างอย่างตรงไปตรงมา จึงโดนเพ่งเล็งจากนายทหารระดับผู้บังคับบัญชาอีก

ในปี พ.ศ. 2542 ได้ตัดสินใจลาออกจากราชการ กลับไปประกอบธุรกิจทางด้านการประมงที่จังหวัดพิษณุโลก อันเป็นบ้านเกิด รวมถึงในประเทศพม่า

ในปี 2563 เขาถูกรุมซ้อมโดยตัวเองเชื่อว่าเกี่ยวข้องกับการเปิดโปงเรื่องตู้สลอตในอำเภอพนมสารคาม จังหวัดฉะเชิงเทรา[3] แต่คู่กรณีเข้ามอบตัวในภายหลัง และอ้างว่าเหตุเกิดจากโมโหที่ถูกขับรถปาดหน้า[4]

บทบาทการชุมนุม[แก้]

หลังจากออกราชการแล้ว อีกหลายปีต่อมาได้รู้จักกับนายวีระ สมความคิด ประธานกลุ่มพิทักษ์สิทธิเสรีภาพของประชาชน และอดีตเลขาธิการเครือข่ายประชาชนต้านคอร์รัปชั่น ซึ่งเป็นแนวร่วมของพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย (พธม.) จึงได้รับการชักชวนให้เข้าร่วมกับกลุ่ม พธม. ซึ่งขณะนั้นกำลังชุมนุม 193 วัน อยู่ในกลางปี พ.ศ. 2551 โดยทำหน้าที่ฝึกฝนการ์ดของ พธม. เพื่อการรักษาความปลอดภัย และตอบโต้ทางวาจากับทาง พล.ต.ขัตติยะ สวัสดิผล หรือ เสธ.แดง ที่อยู่ฝ่ายสนับสนุน พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร ซึ่งก่อนที่ พล.ต.ขัตติยะ จะถูกยิงเสียชีวิตในช่วงการชุมนุมของแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ (นปช.) เมื่อกลางปี พ.ศ. 2553 ร.อ.ทรงกลด เป็นผู้ทำนายว่า พล.ต.ขัตติยะ จะต้องเสียชีวิตไม่นานหลังจากนี้ ซึ่งก็เป็นจริงตามนั้น[5]

ในวันที่ 24 - 25 มิถุนายน พ.ศ. 2556 ทรงกลด ได้สร้างความฮือฮาด้วยการสวมหน้ากากกาย ฟอกส์ ยืนอยู่หน้าทำเนียบรัฐบาลเพียงคนเดียว เพื่อประท้วงรัฐบาลตั้งแต่เช้าจนถึงมืด เป็นเวลาหลายชั่วโมงติดต่อกัน แม้บางช่วงจะมีฝนตก และได้เข้าไปยื่นหนังสือให้นายกรัฐมนตรี น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ตอบปัญหาเกี่ยวกับข้อสงสัยเรื่องการทุจริตในนโยบายรับจำนำข้าว อันเป็นนโยบายของทางรัฐบาลและพรรคเพื่อไทย[1] [6]

จากนั้นในเช้าวันที่ 11 กรกฎาคม ปีเดียวกัน ทรงกลดกับกลุ่มเครือข่ายคนไทยหัวใจรักชาติ รักษาแผ่นดิน ที่นำโดยนายไชยวัฒน์ สินสุวงศ์ ได้ไปชุมนุมที่หน้ากระทรวงกลาโหม เพื่อมิให้ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม เข้าทำงานได้เป็นวันแรกตั้งแต่รับโปรดเกล้า ฯ ซึ่งทางตัว ทรงกลดได้ถูกเจ้าหน้าที่ตำรวจจับกุมตัวและนำไปยังสถานีตำรวจนครบาลพระราชวัง (สน.พระราชวัง) อันเป็นพื้นที่เกิดเหตุ พร้อมกับตั้งข้อหา 2 ข้อหา คือ 1. กีดขวางการจราจร 2. ขัดขืนคำสั่งของเจ้าหน้าที่ แต่ทาง ร.อ.ทรงกลดไม่ยอมรับข้อหา และได้อยู่ที่ สน. ตลอดจนถึงบ่ายวันที่ 14 กรกฎาคม โดยไม่ได้เป็นการควบคุมตัวโดยตำรวจ ซึ่งทาง ทรงกลดได้ให้เหตุผลของการที่อยู่ที่ สน. ว่าต้องการจะพบกับ พล.ต.ท.คำรณวิทย์ ธูปกระจ่าง ผู้บัญชาการตำรวจนครบาล (ผบ.ชน.) ซึ่งเป็นผู้บัญชาการเหตุการณ์[7] [8] [2]

ต่อมาในวันที่ 7 สิงหาคม ปีเดียวกัน ทรงกลดได้พยายามที่จะบุกฝ่าแนวกั้นของตำรวจที่บริเวณหน้าอาคารรัฐสภา เข้ายังไปพื้นที่ตัวอาคารรัฐสภา เพื่อคัดค้านการพิจารณาพระราชบัญญัตินิรโทษกรรม (พ.ร.บ.นิรโทษกรรม) และเรียกร้องให้มีการถ่ายทอดการประชุมผ่านทางโทรทัศน์ ซึ่งตรงกับวันเดียวกันกับที่ ส.ส. พรรคประชาธิปัตย์ เดินเท้าจากแยกอุรุพงษ์ไปยังรัฐสภาด้วย[9] ซึ่งก็ได้ถูกจับเนื่องจากฝ่าฝืนพระราชบัญญัติความมั่นคงในสถานการณ์ฉุกเฉิน (พ.ร.บ.ความมั่นคงฯ) แต่ต่อมา ก็ได้รับการปล่อยตัวเนื่องจากศาลแขวงดุสิตอนุญาตให้ประกันตัว ในวงเงิน 20,000 บาท พร้อมกำหนดเงื่อนไขห้ามก่อการชุมนุมวุ่นวายใด ๆ อีก[10]

ซึ่งในช่วงเวลาเดียวกันได้ร่วมกับ กิตติศักดิ์ รัฐประเสริฐ ก่อตั้งกองทัพนิรนามขึ้น[11] โดยเป็นกลุ่มเคลื่อนที่เร็วในการปฏิบัติการแก้ไขปัญหาหรืออุปสรรคต่าง ๆ ในระหว่างการชุมนุมของกปปส. (คณะกรรมการประชาชนเพื่อการเปลี่ยนแปลงการปกครองประเทศไทยให้เป็นประชาธิปไตยโดยสมบูรณ์อันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข) ในช่วงปี พ.ศ. 2556–2557[12]

อ้างอิง[แก้]

  1. 1.0 1.1 คำให้สัมภาษณ์ผ่านทางรายการร้อยข่าวยามเช้า, "ร้อยข่าวยามเช้า" โดย อัญชะลี ไพรีรัก และสันติสุข มะโรงศรี ทางบลูสกายแชนแนล: พุธที่ 26 มิถุนายน 2556
  2. 2.0 2.1 คำให้สัมภาษณ์ผ่านทางรายการร้อยข่าวสุดสัปดาห์, "ร้อยข่าวสุดสัปดาห์" โดย อัญชะลี ไพรีรัก และสกลธี ภัททิยกุล ทางบลูสกายแชนแนล: เสาร์ที่ 13 กรกฎาคม 2556
  3. "เปิดใจ "ผู้กองปูเค็ม" โดนซ้อมปางตาย เชื่อเจ้าของตู้สล็อตส่งซิกให้รุมยำ (คลิป)". ไทยรัฐ. 17 September 2020. สืบค้นเมื่อ 17 September 2020.
  4. "คดีพลิก แก๊งกระทืบผู้กองปูเค็ม อ้างโมโหขับปาดหน้า ไม่เกี่ยวตู้สล็อต". ไทยรัฐ. 17 September 2020. สืบค้นเมื่อ 17 September 2020.
  5. 'เสธ.แดง' ไม่รอด..!! ทำนายแม่นจาก 'ร.อ.ทรงกลด' ยังเติร์ก จปร.37 ในกระแสใครยิง? จากโอเคเนชั่น
  6. ผู้กองปูเค็ม โดยอัญชะลี ไพรีรัก จากแนวหน้า
  7. ตำรวจ สน.พระราชวัง ยัน ไม่ได้คุมตัว 'ผู้กองปูเค็ม' จากสนุกดอตคอม
  8. ผู้กองปูเค็มค้างโรงพักยันรอพบคำรณวิทย์ จากสนุกดอตคอม
  9. "ผู้กองปูเค็มบุกแยกขัตติยานีร้องถ่ายทอดสด". สนุกดอตคอม. 7 August 2014. สืบค้นเมื่อ 27 April 2015.
  10. "'ผู้กองปูเค็ม'รอดคุก ศาลอนุญาตประกันตัว". ไทยรัฐออนไลน์. 16 August 2014. สืบค้นเมื่อ 27 April 2015.
  11. "'ผู้กองปูเค็ม'ประกาศจัดตั้ง'กองพันนิรนาม'ทั่วประเทศ". แนวหน้า. 2 August 2014. สืบค้นเมื่อ 26 April 2015.
  12. "ผู้กองปูเค็ม". เฟซบุก. 23 November 2013. สืบค้นเมื่อ 26 April 2015.