เหวง โตจิราการ

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
เหวง โตจิราการ
ข้อมูลส่วนบุคคล
เกิด1 เมษายน พ.ศ. 2494 (73 ปี)
เขตป้อมปราบศัตรูพ่าย จังหวัดกรุงเทพมหานคร ประเทศไทย
ศาสนาพุทธ
พรรคการเมืองไทยรักไทย (2541 - 2550)
พลังประชาชน (2550 - 2551)
เพื่อไทย (2551 - 2561, 2564 - ปัจจุบัน)
ไทยรักษาชาติ (2561 - 2562)
คู่สมรสธิดา ถาวรเศรษฐ์

นายแพทย์ เหวง โตจิราการ (1 เมษายน พ.ศ. 2494 - ) อดีตสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร แบบบัญชีรายชื่อ สังกัดพรรคเพื่อไทย เป็นแกนนำแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ แดงทั้งแผ่นดิน และแกนนำสมาพันธ์ประชาธิปไตย เป็นอดีตนายกองค์การนักศึกษามหาวิทยาลัยมหิดล เคยสังกัดพรรคไทยรักษาชาติ

ประวัติ[แก้]

นายแพทย์ เหวง โตจิราการ สำเร็จการศึกษาจากคณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล ยุค 14 ตุลา พ.ศ. 2516 เคยหนีเข้าป่าในยุค "ขวาพิฆาตซ้าย" 6 ตุลา พ.ศ. 2519 มีชื่อจัดตั้งว่า "สหายเข้ม" และมีสายสัมพันธ์อันดีกับ นายแพทย์ พรหมินทร์ เลิศสุริย์เดช อดีตเลขาธิการนายกรัฐมนตรี ในฐานะเป็นศิษย์ผู้พี่

ชีวิตส่วนตัว สมรสกับ ผู้ช่วยศาสตราจารย์ เภสัชกรหญิง ธิดา ถาวรเศรษฐ์ มีบุตรธิดา 2 คน คือ นางสาวมัชฌิมา โตจิราการ และนายสลักธรรม โตจิราการ

นายแพทย์ เหวง ร่วมเป็นแกนนำแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ (นปช.) แดงทั้งแผ่นดิน ซึ่งมีการปรับโครงการการบริหารใหม่ให้มีความเป็นเอกภาพมากขึ้น และจัดรายการ คุยกับหมอเหวง ทุกวันเสาร์-อาทิตย์ เวลา 21.00 - 22.00 น. ทางสถานีประชาชน พีเพิลแชนแนล ปัจจุบันเป็นวิทยากรประจำรายการ เดินหน้าต่อไป ออกอากาศในวันจันทร์-ศุกร์ ช่วงบ่าย ทางพีซทีวี

การเมือง[แก้]

พฤษภาทมิฬ[แก้]

นายแพทย์ เหวง กลับมามีบทบาทในเวทีการเมืองภาคประชาชนอีกครั้ง ในเหตุการณ์พฤษภาทมิฬ พ.ศ. 2535 จากการเป็นแกนนำสมาพันธ์ประชาธิปไตย ร่วมกับ นายแพทย์ สันต์ หัตถีรัตน์ และนางประทีป อึ้งทรงธรรม ฮาตะ เคยร่วมกับ พล.ต.จำลอง ศรีเมืองในการเคลื่อนไหวต่อต้าน พล.อ.สุจินดา คราประยูร จนเป็นผลสำเร็จ

ร่วมกับกลุ่มพันธมิตรฯ[แก้]

เมื่อ พ.ศ. 2549 เคยขึ้นเวทีปราศรัยต่อต้าน พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร ร่วมกับกลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย เป็นผู้ร่วมคัดค้านรัฐบาลพรรคไทยรักไทย ในการแปรรูปรัฐวิสาหกิจ

ร่วมกับกลุ่ม นปช.[แก้]

ต่อมาหลังรัฐประหารในประเทศไทย พ.ศ. 2549 นายแพทย์ เหวง ได้ทำการประท้วงต่อต้านคณะปฏิรูปการปกครองในระบอบประชาธิปไตย อันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข (คปค.) ซึ่งได้ทำการยกเลิกรัฐธรรมนูญ ฉบับ พ.ศ. 2540 โดยเข้าร่วมกับกลุ่มแนวร่วมประชาธิปไตยขับไล่เผด็จการ (นปก.) ขึ้นเวทีปราศรัยต่อต้าน คปค. ซึ่งแปรสถานะเป็น คณะมนตรีความมั่นคงแห่งชาติ (คมช.)

นายแพทย์ เหวง ถูกรัฐบาลควบคุมตัววันที่ 14 เมษายน พ.ศ. 2552 ตามประกาศสถานการณ์ฉุกเฉิน ภายหลังเหตุการณ์ความไม่สงบทางการเมืองในประเทศไทย เมษายน พ.ศ. 2552 ก่อนจะได้รับการปล่อยตัวในอีก 1 เดือนถัดมา

ร่วมงานกับพรรคเพื่อไทย[แก้]

ในการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรไทยเป็นการทั่วไป พ.ศ. 2554 นายแพทย์เหวง ได้ลงสมัครรับเลือกตั้งในระบบบัญชีรายชื่อ ลำดับที่ 19 ของพรรคเพื่อไทย[1] และได้รับเลือกตั้งเป็น ส.ส. ในการเลือกตั้งครั้งนี้ด้วย

ในการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรไทยเป็นการทั่วไป พ.ศ. 2557 เขาได้สมัครรับเลือกตั้งในระบบบัญชีรายชื่อ สังกัดพรรคเพื่อไทย ลำดับที่ 35[2]

ร่วมงานกับพรรคไทยรักษาชาติ[แก้]

ในปี พ.ศ. 2561 นายแพทย์เหวง ได้ลาออกจากพรรคเพื่อไทย และไปเข้าร่วมงานกับพรรคไทยรักษาชาติ[3]

คำสแลง[แก้]

คำว่า "เหวง" กลายมาเป็นศัพท์สแลงของหมู่นักนิยมเล่นอินเทอร์เน็ต อันหมายถึง ผู้ที่พูดไม่รู้เรื่อง ซึ่งมาจากการที่ในระหว่างการชุมนุมของแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ แดงทั้งแผ่นดิน พ.ศ. 2553 ซึ่ง นายแพทย์ เหวงเป็นหนึ่งในสามแกนนำของของกลุ่ม นปช. เข้าเจรจาขอให้ นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรียุบสภาภายใน 15 วัน ซึ่งมีผู้ตั้งข้อสงสัยถึงบทบาทของ นายแพทย์ เหวง ถูกมองว่าพูดไม่รู้เรื่องในการเจรจาครั้งนั้น จึงเป็นที่มาของศัพท์สแลงดังกล่าว

นายแพทย์เหวงกล่าวว่าชื่อของตัวนั้นแผลงมาจากภาษาจีน หมายถึง สว่างไสว[4] แม้ศัพท์คำว่า "เหวง" ในพจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถานแปลว่า "มาก" โดยใช้เป็นคำใช้ประกอบคำ เช่น เบา เป็น เบาเหวง หมายความว่าเบามาก และเมื่อขยายความเพิ่มเติมพบว่า ในภาษาเขมรนั้น คำว่า "เหวง" แปลว่า "หลงทาง" เช่น "ขะยมอัมเหวง" แปลว่า "ดิฉันหลงทาง" ก็ตาม[5]พร้อมกับตำหนิผู้ที่ใช้คำนี้ด้วย พร้อมยืนยันว่าตนไม่ได้พูดไม่รู้เรื่อง[6][7] ศาสตราจารย์เกียรติคุณ ดร. กาญจนา นาคสกุล ราชบัณฑิต ระบุว่า คำและความหมายของคำว่า "เหวง" มีสิทธิ์ขึ้นพจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถานเล่มหลักที่กำลังจะตีพิมพ์ใหม่อีกด้วย เนื่องจากความแรงของคำว่า "เหวง" วันนี้เป็นคำที่มีความหมาย ซึ่งคนสังคมส่วนมากเข้าใจได้ว่า หมายถึง อาการพูดจา ไม่รู้เรื่อง ฟังไม่ได้ศัพท์ แตกต่างไปจาก "เหวง" ซึ่งเป็นคำวิเศษณ์ [8]

จากเหตุการณ์นี้ หม่อมหลวงณัฏฐกรณ์ เทวกุล ได้วิจารณ์ไว้ว่า

ใครที่ฟังหมอเหวงไม่รู้เรื่อง แปลว่า บุคคลนั้นมีความรู้น้อยกว่าหมอเหวง ที่ว่ามีความรู้น้อย...คือรู้ในข้อเท็จจริงและประเด็นที่ “หมอเหวง” นำมาพูดว่าต้องการทำเช่นนี้เพื่อหวัง “ผลลัพธ์” ในเรื่องอะไรเขาเหล่านั้นตามไม่ทัน หรือไม่รู้จริงๆ หรือรู้เข้าใจแต่ไม่ยอมรับเพราะเป็นฝ่ายตรงข้าม เพราะประชาชนส่วนใหญ่ต่างรู้ทั้งรู้ว่า “การยุบสภา” มิใช่สิ่งที่สามารถเกิดขึ้นได้ง่าย...หากผู้มีอำนาจเขาไม่ยอมรับ...เขาก็คง “ยึดมั่น” ในคำเดิมแล้วจะทำอย่างไรเพื่อ “เปิดแผล” มิให้ถูกมองว่า “ฝ่ายรัฐบาล” ดูดีเพราะคำพูดเพียงอย่างเดียวกี่ครั้งที่ “อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ” ออกอาการหลุด...จนต้องเข้าไปคลุกวงในกับ “จตุพร พรหมพันธุ์”ถือว่าได้ผลลัพธ์เป็นที่น่าพอใจ “บนโต๊ะเจรจา” กับการขำข้อมูล “เป็นจริง” ซึ่งประชาชนไม่เคยรับรู้มาเผยแพร่ให้เกิดการติดตามประเด็น“อย่ามาเหวง” จึงไม่มีอะไรมากนอกจากเป็นเสียงร้องโหยหวนของบุคคลที่เชียร์รัฐบาล ซึ่งตั้งขึ้นมาเป็น “วาทกรรม” เพื่อดิสเครดิตการต่อสู้ทางการเมืองฝ่ายตรงข้ามแค่นั้นจริงๆ กับการลดความน่าเชื่อถือของ “หมอเหวง”"

ส่วน ดร.อนันต์ เหล่าเลิศวรกุล อาจารย์คณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่า

การเจราระหว่างแกนนำคนเสื้อแดงกับรัฐบาล จะเห็นว่าหมอเหวงไม่ปรับเปลี่ยนท่าทีการพูด สังคมจึงจับได้ว่าตรงนี้เป็นคุณสมบัติเฉพาะส่วนตัว จึงไม่แปลกที่สังคมจะนำชื่อ “เหวง” มาใช้เรียกคนที่พูดจาสับสน ซึ่งอยากให้มองประเด็นที่ว่าหากพฤติกรรมของหมอเหวงที่นำมาเป็นศัพท์คำว่า เหวง นั้นไม่มีผู้คนในสังคมสนับสนุนก็คงไม่มีการนำมาใช้อย่างแพร่หลาย แต่การที่คำว่า เหวง ถูกนำมาใช้ก็หมายถึงผู้คนตอบรับและเห็นด้วย ดังนั้น คนคนหนึ่งไม่สามารถบัญญัติศัพท์ใดศัพท์หนึ่งขึ้นมาได้ แต่ต้องเป็นข้อตกลงของทุกคนในสังคม

เครื่องราชอิสริยาภรณ์[แก้]

อ้างอิง[แก้]

  1. ประกาศคณะกรรมการการเลือกตั้ง เรื่อง รายชื่อผู้สมัครรับเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแบบบัญชีรายชื่อ (พรรคเพื่อไทย)
  2. ประกาศคณะกรรมการการเลือกตั้ง เรื่อง รายชื่อผู้สมัครรับเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแบบบัญชีรายชื่อ (พรรคเพื่อไทย)
  3. ""น.พ.เหวง" ประกาศลาออกจากพรรคเพื่อไทย ซบ ไทยรักษาชาติ". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2019-11-20. สืบค้นเมื่อ 2018-11-18.
  4. รายการเก็บตกจากเนชั่น ทางเนชั่น แชนแนล : วันพฤหัสบดีที่ 1 เมษายน พ.ศ. 2553
  5. เหวง โตจิราการจากไทยรัฐ
  6. แจ้งเกิด “เหวง” ศัพท์ใหม่คนออนไลน์ เก็บถาวร 2011-12-24 ที่ เวย์แบ็กแมชชีนจากเอเอสทีวีผู้จัดการออนไลน์
  7. เหวงโวย “ผมไม่เหวง” เหวงต่อสื่ออำมาตย์ป้ายสี เก็บถาวร 2012-11-01 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน จากเอเอสทีวีผู้จัดการออนไลน์
  8. 'เหวง' ฮิตขึ้นหิ้งราชบัณฑิตจ่อนำความหมายกัดเจ็บๆ ขึ้นพจนานุกรมเล่มหลัก
  9. ปลื้มค้าน! อย่ามา'เหวง'! จากบางกอกทูเดย์
  10. ศัพท์ใหม่ “เหวง” แปลเชิงลบ นักวิชาการชี้สังคมตื่น ชัง “ไพร่แดง”
  11. ราชกิจจานุเบกษา, ประกาศสำนักนายกรัฐมนตรี เรื่อง พระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์อันเป็นที่เชิดชูยิ่งช้างเผือกและเครื่องราชอิสริยาภรณ์อันมีเกียรติยศยิ่งมงกุฎไทย ประจำปี ๒๕๕๕, เล่ม ๑๒๙, ตอน ๓๕ ข , ๓ ธันวาคม พ.ศ. ๒๕๕๕ เก็บถาวร 2013-10-29 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน
  12. ราชกิจจานุเบกษา, ประกาศสำนักนายกรัฐมนตรี เรื่อง พระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์อันเป็นที่เชิดชูยิ่งช้างเผือกและเครื่องราชอิสริยาภรณ์อันมีเกียรติยศยิ่งมงกุฎไทย ประจำปี ๒๕๕๔ เก็บถาวร 2012-11-19 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน, เล่ม ๑๒๘, ตอน ๒๔ ข, ๒ ธันวาคม พ.ศ. ๒๕๕๔