อมรัตน์ โชคปมิตต์กุล

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
อมรัตน์ โชคปมิตต์กุล
สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร
แบบบัญชีรายชื่อ
ดำรงตำแหน่ง
24 มีนาคม พ.ศ. 2562 – 20 มีนาคม พ.ศ. 2566
(3 ปี 361 วัน)
ข้อมูลส่วนบุคคล
เกิด24 พฤษภาคม พ.ศ. 2507 (59 ปี)
จังหวัดนครปฐม ประเทศไทย
พรรคการเมืองอนาคตใหม่ (2561–2563)
ก้าวไกล (2563–ปัจจุบัน)
ศิษย์เก่าโรงเรียนสาธิตมหาวิทยาลัยศิลปากร
โรงเรียนเตรียมอุดมศึกษา
มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
อาชีพนักการเมือง
ทรัพย์สินสุทธิ71 ล้านบาท[1]

อมรัตน์ โชคปมิตต์กุล (ชื่อเล่น: เจี๊ยบ) เป็นนักการเมืองหญิงชาวไทย ที่ปรึกษารองประธานสภาผู้แทนราษฎร (ปดิพัทธ์ สันติภาดา), เลขานุการคณะกรรมาธิการการพัฒนาการเมือง การสื่อสารมวลชน และการมีส่วนร่วมของประชาชน สภาผู้แทนราษฎร, กรรมาธิการวิสามัญ พิจารณาศึกษาและแก้ไขปัญหาการละเมิดสิทธิมนุษยชน และการลอบประทุษร้ายประชาชน สภาผู้แทนราษฎร และอดีตสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแบบบัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล [2]

ประวัติ[แก้]

อมรัตน์ โชคปมิตต์กุล มีชื่อเล่นว่า เจี๊ยบ เกิดเมื่อวันที่ 24 พฤษภาคม พ.ศ. 2507 เป็นบุตรคนโตในจำนวน 3 คน มีบิดาเป็นกำนันและทำธุรกิจรถเมล์ และเคยเป็นนายกสมาคมรถร่วม บขส. 2 สมัย การทำธุรกิจทำให้ครอบครัวของเธอต้องฝ่าฟันปัญหามากมาย ทำให้อมรัตน์เติบโตมาแบบโลดโผน และร่วมทุกข์ร่วมสุขกับพ่อแม่มาตลอด ซึ่งทำให้เธอได้พบเจอกับคนมากมาย และเริ่มตั้งคำถามกับความไม่เท่าเทียมตั้งแต่เวลานั้น[3]

เธอสำเร็จการศึกษามัธยมศึกษาตอนต้นจาก โรงเรียนสาธิตมหาวิทยาลัยศิลปากร มัธยมปลายจากโรงเรียนเตรียมอุดมศึกษาและจบปริญญาตรี คณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชี มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เธอเคยกล่าวว่าในช่วงศึกษาปริญญาตรี เธอไม่เคยใส่ชุดนักศึกษา ไม่เคยเข้าเรียน แต่เข้าไปสอบอย่างเดียว และทำกิจกรรมมากมาย

การทำงาน[แก้]

อมรัตน์มีความชื่นชอบการเมืองตั้งแต่เด็ก บิดาเคยพาไปดูสถานที่ใน จังหวัดนครปฐม ซึ่งเป็นจุดเริ่มต้นของเหตุการณ์ 6 ตุลาคม 2519 เธอเคยเข้าร่วมชุมนุม นปช. ในช่วงปี 2552 - 2553 การเรียกร้องของคนเสื้อแดงให้อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรีในขณะนั้นยุบสภา แล้วจัดการเลือกตั้งใหม่ แต่อภิสิทธิ์ไม่ยอมยุบ อมรัตน์จึงเริ่มเคลื่อนไหวทางการเมือง เดินทางไปร่วมชุมนุมบ้าง แต่ไม่ได้นิยามตัวเองว่าเป็น “ขี้ข้าทักษิณ”

อมรัตน์ เริ่มเคลื่อนไหวทางการเมืองเต็มตัว เมื่อครั้งรัฐประหาร 2557 มีเตนท์ “แดงนครปฐม” เป็นของตัวเองในการชุมนุมที่ ถนนอักษะ เริ่มทำกิจกรรมทวงคืนสัญญาเลือกตั้ง คัดค้านคำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญ ที่ให้การเลือกตั้งปี 2557 เป็นโมฆะ รวมถึงงานจุดเทียนในนครปฐม จนถูกดำเนินคดีตามมาตรา 44 จำนวน 2 คดี

บทบาทด้านการเมือง[แก้]

อมรัตน์ เข้าสู่วงการการเมืองเต็มตัวสังกัด พรรคอนาคตใหม่ ตามคำเชื้อเชิญของแกนนำพรรค โดยช่วงแรกเธอได้ตั้งศูนย์ประสานงานที่นครปฐม โดยตั้งใจช่วยเหลืออยู่เบื้องหลัง คันหา คัดกรองผู้สมัคร แต่สุดท้าย ปิยบุตร แสงกนกกุล ก็ชวนให้เธอมาลงรับสมัครเลือกตั้งในแบบบัญชีรายชื่อ และได้รับการเลือกตั้งในที่สุด[4]

ในช่วงดำรงตำแหน่งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร อมรัตน์ มักแต่งกายด้วยเสื้อผ้าโทนสีฉูดฉาด สื่อมวลชนและผู้ที่ติดตามการเมืองจะให้ความสนใจ เพราะเธอเป็นผู้ที่อภิปรายเก่ง ดุดัน น่าติดตาม และเป็นคู่ปรับ คนหนึ่งของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีในขณะนั้น เธออภิปรายไม่ไว้วางใจพล.อ. ประยุทธ์ ในประเด็นต่าง ๆ เช่น การทุจริตในกองทัพ, การสร้างอนุสาวรีย์ก่อนเปิดซองประมูล หรือการฮั้วประมูล ไปจนถึงกรณีบ้านหลวงของ พล.อ.ประยุทธ์ อมรัตน์มีหลักฐานที่ชัดเจนในการอภิปรายทุกครั้ง ทั้งยังสามารถตอบโต้ได้ทันที ทำให้เธอเป็นนักการเมืองคนหนึ่งที่ได้รับความนิยมในขณะนั้น[5]

แต่ในการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรไทยเป็นการทั่วไป พ.ศ. 2566 อมรัตน์ประกาศไม่ลงสมัครรับเลือกตั้งเป็น ส.ส. ทั้งแบบบัญชีรายชื่อและเขต โดยให้เหตุผลเพิ่มเติมว่าไม่ชอบงานการเมือง แต่เธอก็ลงพื้นที่ช่วยหาเสียง ติดตาม พิธา ลิ้มเจริญรัตน์ ไปตลอดเช่นกัน ก่อนที่จะได้รับตำแหน่งที่ปรึกษารองประธานสภาผู้แทนราษฎรคนที่ 1 (ปดิพัทธ์ สันติภาดา)[6]

ประวัติการลงสมัครรับเลือกตั้ง ส.ส.[แก้]

  1. การเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรไทยเป็นการทั่วไป พ.ศ. 2562 บัญชีรายชื่อ สังกัดพรรคอนาคตใหม่ --> พรรคก้าวไกล

ข้อวิจารณ์[แก้]

อมรัตน์เคยถูกร้องเรียนจากผู้สนับสนุนพรรคเพื่อไทยรายหนึ่งว่าถูกอมรัตน์คุกคามในลักษณะการล่าแม่มด มีการเปิดเผยข้อมูลส่วนตัวของเธอลงโซเชียลมีเดีย และมีการไปเยี่ยมบริษัทที่เธอทำงาน พร้อมกับเล่าถึงการกระทำของผู้กล่าวหา จนทำให้เธอถูกบริษัทตักเตือนและคุมประพฤติ ขณะที่ทางอมรัตน์กล่าวว่าที่ทำไปเพื่อปกป้องตัวเองที่เป็นเหยื่อจากผู้ร้องเรียนดังกล่าว เนื่องจากผู้กล่าวหาเคยโพสต์โซเชียลมีเดียคุกคามเธอมาเป็นเวลานาน เมื่อยื่นพิจารณาให้ศาล กลับถูกตีตก เนื่องจากว่าอมรัตน์ในขณะนั้นดำรงตำแหน่ง สส. ย่อมเป็นบุคคลสาธารณะที่จะถูกวิจารณ์ได้ และเมื่อถึงจุดที่เธอรับไม่ไหว คือ ผู้กล่าวหาได้โพสต์ภาพตัดต่อของเธอกับประวีณ จันทร์คล้าย (กำนันนก) ซึ่งกำลังเป็นข่าวจากคดีจ้างวานฆ่าศิวกร สายบัว (สารวัตรศิว)ในขณะนั้น และมีการกล่าวหาทำนองให้เข้าใจว่ามีความเกี่ยวพันกับมาเฟีย และอื่น ๆ จึงจำเป็นต้องดำเนินการดังกล่าว[7]

โดยอมรัตน์ได้กล่าวว่า ยินดีที่จะแสดงความรับผิดชอบต่อกรณีที่เกิดขึ้น ด้วยการให้ทางพรรคตัดสิทธิการถูกเสนอชื่อเข้าดำรงตำแหน่งบริหารใดๆ ในพรรคก้าวไกล[8] และยินดีให้ปดิพัทธ์ สันติภาดา พิจารณาเธอในการต่อไป

อ้างอิง[แก้]

  1. "เปิดกรุ ส.ส.ตัวจี๊ด "เจี๊ยบ อมรัตน์" สวยและรวยมาก 71 ล้าน มีหนี้สินเฉพาะสามี". mgronline.com. 2023-07-17.
  2. "รู้จักตัวตน 'เจี๊ยบ อมรัตน์' จาก ลูกสาวกำนัน สู่ ตัวตึง ก้าวไกล". คมชัดลึกออนไลน์. 2023-09-20.
  3. "ประวัติ เจี๊ยบ อมรัตน์ โชคปมิตต์กุล จากนักสู้เสื้อแดง สู่นักการเมืองตัวตึงแห่งก้าวไกล". www.sanook.com/news. 2023-09-21.
  4. "ชมคลิป: รู้จักตัวตน 'เจี๊ยบ อมรัตน์' เมื่อการปกป้องตัวเอง ก้าวสู่การล่าแม่มด". THE STANDARD. 2023-09-21.
  5. "ประวัติ เจี๊ยบ อมรัตน์ โชคปมิตต์กุล จากนักสู้เสื้อแดง สู่นักการเมืองตัวตึงแห่งก้าวไกล". www.sanook.com/news. 2023-09-21.
  6. มาตาพิทักษ์, ภัคจิรา (2023-02-23). "จากสู้บนถนน สู่คนในสภา: 4 ปีชีวิตนักการเมืองของอมรัตน์ โชคปมิตต์กุล". The 101 World (ภาษาอังกฤษแบบอเมริกัน).
  7. "สรุปปม 'ปีใหม่-อมรัตน์' ไล่ล่าแม่มด หรือ สู้กลับสายปั่นโซเชียล". workpointTODAY.
  8. "อมรัตน์ แจ้งก้าวไกลให้ตัดสิทธิบริหารทุกตำแหน่ง ขอโทษที่อดทนไม่พอ ทำให้ผิดหวัง". www.sanook.com/news. 2023-09-20.

แหล่งข้อมูลอื่น[แก้]