รัฐประหารในประเทศไทย พ.ศ. 2557
รัฐประหารในประเทศไทย พ.ศ. 2557 | |||||||
---|---|---|---|---|---|---|---|
ส่วนหนึ่งของ วิกฤตการณ์การเมืองไทย พ.ศ. 2556–2557 | |||||||
ทหารเข้าแถวประจำการกองทัพในวันรัฐประหาร | |||||||
| |||||||
คู่สงคราม | |||||||
กองทัพไทย สำนักงานตำรวจแห่งชาติ ในนาม คณะรักษาความสงบแห่งชาติ (เดิม:กองอำนวยการรักษาความสงบเรียบร้อย) | รัฐบาลยิ่งลักษณ์ | ||||||
ผู้บังคับบัญชาและผู้นำ | |||||||
พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา | นิวัฒน์ธำรง บุญทรงไพศาล |
รัฐประหารในประเทศไทย พ.ศ. 2557 เหตุการณ์เมื่อวันที่ 22 พฤษภาคม 2557 เวลา 16:30 น. โดยกองทัพไทยและสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ซึ่งภายหลังได้จัดตั้งเป็นคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) อันมี พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา เป็นหัวหน้าคณะรัฐประหารโค่น นิวัฒน์ธำรง บุญทรงไพศาล นายกรัฐมนตรีรักษาการ นับเป็นรัฐประหารครั้งที่ 13 ในประวัติศาสตร์ไทย นิวัฒน์ธำรง บุญทรงไพศาล เข้ารักษาการนายกรัฐมนตรีโดยมาจากการคัดเลือกลงมติจากคณะรัฐมนตรีที่เหลือรอดจากคดีโยกย้ายนายถวิล เปลี่ยนศรี เข้ารักษาการวันที่ 7 พฤษภาคม 2557 ส่วน นางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ถูกศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยชี้ขาดให้พ้นสภาพการเป็นนายกรักษาการสิ้นสุดลงวันที่ 7 พฤษภาคม 2557 วันเดียวกัน
รัฐประหารดังกล่าวเกิดขึ้นหลังวิกฤตการณ์การเมืองซึ่งเริ่มเมื่อเดือนตุลาคม 2556 เพื่อคัดค้านร่างพระราชบัญญัตินิรโทษกรรมฯ และอิทธิพลของทักษิณ ชินวัตร ในการเมืองไทย หลังรัฐประหาร พ.ศ. 2549 มีประกาศให้รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2550 สิ้นสุดลงยกเว้นหมวด 2 คณะรัฐมนตรีรักษาการหมดอำนาจ ตลอดจนให้ยุบวุฒิสภา จนเมื่อวันที่ 22 กรกฎาคม 2557 มีการประกาศใช้รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) พุทธศักราช 2557 ซึ่งให้มีสภานิติบัญญัติแห่งชาติทำหน้าที่แทนรัฐสภา วันที่ 21 สิงหาคม 2557 สภาฯ มีมติเลือกพลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา เป็นนายกรัฐมนตรี หลายประเทศประณามรัฐประหารครั้งนี้ ส่วนในประเทศไทยมีการตอบสนองทั้งยินดีและต่อต้าน
ผลของรัฐประหารทำให้สิทธิพลเมืองและสิทธิการเมืองถูกระงับ กองทัพมีอำนาจในการเมืองไทยมากขึ้น ความเหลื่อมล้ำและการผูกขาดเศรษฐกิจโดยกลุ่มธุรกิจใหญ่ รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560 ซึ่งกำเนิดขึ้นในช่วงนี้ ซึ่งมีการวางระบบอย่างจงใจทำให้พรรคการเมืองครองเสียงข้างมากได้ยาก และมีการวางแผนยุทธศาสตร์ 20 ปีซึ่งเท่ากับทำให้ประเทศเข้าสู่ยุคที่กองทัพชี้นำประชาธิปไตย[1]
เบื้องหลัง
[แก้]ในการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรไทยเป็นการทั่วไป พ.ศ. 2554 ยิ่งลักษณ์ ชินวัตรและพรรคเพื่อไทยชนะเลือกตั้ง และตั้งรัฐบาลใหม่โดยมียิ่งลักษณ์เป็นนายกรัฐมนตรี มีการประท้วงต่อต้านการเสนอกฎหมายร่างพระราชบัญญัตินิรโทษกรรมฯ นำโดย สุเทพ เทือกสุบรรณ อดีตรองนายกรัฐมนตรีเริ่มตั้งแต่เดือนพฤศจิกายน 2556 ภายหลัง สุเทพตั้งคณะกรรมการประชาชนเพื่อการเปลี่ยนแปลงประเทศไทยให้เป็นประชาธิปไตยที่สมบูรณ์อันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข (กปปส.) โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อตั้ง "สภาประชาชน" ที่ไม่ได้มาจากการเลือกตั้งเพื่อดูแลการปฏิรูปการเมือง กลุ่มนิยมรัฐบาล รวมทั้ง แนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ (นปช.) จัดชุมนุมเช่นกัน มีความรุนแรงเกิดขึ้นเป็นครั้งคราว เป็นเหตุให้มีผู้เสียชีวิตและบาดเจ็บจำนวนมาก[3][4]
ในเดือนธันวาคม 2556 ยิ่งลักษณ์ยุบสภาผู้แทนราษฎรและกำหนดการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรไทยเป็นการทั่วไปในวันที่ 2 กุมภาพันธ์ 2557 การเลือกตั้งไม่เสร็จสมบูรณ์ในวันนั้นเพราะถูกผู้ประท้วงต่อต้านรัฐบาลขัดขวาง ศาลรัฐธรรมนูญเพิกถอนการเลือกตั้ง[5] ในวันที่ 7 พฤษภาคม 2557 ศาลรัฐธรรมนูญมีคำวินิจฉัยเป็นเอกฉันท์ให้ยิ่งลักษณ์และรัฐมนตรีที่มีมติย้ายข้าราชการระดับสูงซึ่งเป็นที่โต้เถียงในปี 2554 พ้นจากตำแหน่ง[6][7] รัฐมนตรีที่เหลืออยู่เลือกนิวัฒน์ธำรง บุญทรงไพศาล รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ เป็นผู้ปฏิบัติราชการนายกรัฐมนตรีแทนยิ่งลักษณ์[8]
พลเอกประยุทธ์ ให้สัมภาษณ์นิตยสารไทม์ ว่า "การตัดสินใจยึดอำนาจเป็นการตัดสินใจที่ยากที่สุดในชีวิต ตนใช้เวลามากกว่า 6 เดือนเพื่อตัดสินใจ ไม่ได้ตั้งใจไว้ล่วงหน้าว่าจะทำการรัฐประหาร เพียงแต่ตนไม่สามารถปล่อยให้ประเทศชาติเสียหายไปมากกว่านี้"[9][10] วันมูหะมัดนอร์ มะทา อดีตประธานรัฐสภา อ้างว่าพลเอกประยุทธ์เคยกล่าวว่า "อย่าใครคิดสู้นะ ถึงสู้ก็สู้ไม่ได้ ผมเตรียมการเรื่องนี้มา 3 ปีกว่า"[11]
สุเทพ เทือกสุบรรณ เลขาธิการ กปปส. เปิดเผยว่า ตนพูดคุยกับพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชาให้ถอนรากถอนโคนอิทธิพลของทักษิณและพันธมิตรนับแต่การชุมนุมทางการเมืองในปี 2553 เขากล่าวว่า ได้ติดต่อเป็นประจำผ่านแอพไลน์ ก่อนรัฐประหาร พลเอกประยุทธ์ติดต่อเขาว่า "คุณสุเทพ คุณกับมวลมหาประชาชน กปปส.เหนื่อยเกินไปแล้ว ต่อไป ขอเป็นหน้าที่กองทัพบกที่จะทำภารกิจนี้แทน" และกองทัพได้รับข้อเสนอของ กปปส. หลายอย่าง เช่น มาตรการช่วยเหลือเกษตรกร[2] ด้านโฆษก คสช. ออกมาปฏิเสธข่าวดังกล่าว แหล่งข่าวว่า พลเอกประยุทธ์ "อารมณ์เสียมาก"[12]
อย่างไรก็ตามการรัฐประหารในประเทศไทย พ.ศ. 2557 สัณนิษฐานได้ว่ามีการเตรียมการมานานพอสมควรเนื่องจากได้มีการออกคำสั่งให้รายงานตัวแม้กระทั่งคนทำงานรับเหมาก่อสร้างคนหนึ่งที่ทหารสืบทราบมานานแล้วว่าเป็นผู้หมิ่นสถาบันพระมหากษัตริย์[13]สิรภพ กรณ์อุรุษ ถูกจับขณะเดินทางด้วยรถตู้โดยสารอยู่บนถนนกำลังจะเข้าเมืองกาฬสินธุ์มีรถฟอร์จูนเนอร์ปาดหน้าและมีทหารไม่แต่งเครื่องแบบอย่างน้อย 5 พร้อมอาวุธครบมือลงมาจากรถ[14] เขากล่าวตอนหนึ่งว่าเขาไม่ทราบว่าทหารทราบได้อย่างไรว่าเขาคือคนเขียนที่ใช้นามปากกาว่ารุ่งศิลา แต่เขารับสารภาพในทึ่สุดว่าเป็นผู้เขียนนามปากการุ่งศิลาตัวจริง
ชนวนเหตุ
[แก้]ภายหลังการเลือกตั้งในประเทศไทย พ.ศ. 2554 พรรคเพื่อไทยได้รับการเลือกตั้งและได้มีการแต่งตั้งบุคคลที่เกี่ยวกับแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติในตำแหน่งต่าง ๆ[15]อาทิ มานิตย์ จิตต์จันทร์กลับ จรัล ดิษฐาอภิชัย อารี ไกรนรา รังษี เสรีชัย เพชรวรรต วัฒนพงศศิริกุล วิสา คัญทัพ ยศวริศ ชูกล่อม ประแสง มงคลศิริ เสกสกล อัตถาวงศ์ วิบูลย์ แช่มชื่น ระพิพรรณ พงศ์เรืองรอง ไวพจน์ อาภรณ์รัตน์ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรที่สังกัดพรรคเพื่อไทยบางรายเช่นวิเชียร ขาวขำ ดวงแข อรรณนพพร[16][17]เป็นแกนนำการชุมนุมหรือฝ่าฝืนกฎหมายอาทิโดยมีสาเหตุหนึ่งที่ได้รับการเลือกตั้งคือความโกรธของประชาชนที่มีต่อทหารและการแสดงออกทางความเห็นในโทรทัศน์[18]
ซึ่งต่อมานำมาสู่ความโกรธแค้นในหมู่คนชนชั้นนำและชนชั้นกลางในกรุงเทพมหานคร รัฐประหารในประเทศไทย พ.ศ. 2557 ถูกเปรียบเทียบว่าทำได้ง่ายดายกว่ารัฐประหารในประเทศไทย พ.ศ. 2549 เสียอีกหากรัฐประหารในประเทศไทย พ.ศ. 2549 เกิดจากสงครามน้ำลาย[19]ความไม่พอใจกันในคำพูดที่เสียดสีใส่กัน รัฐประหารในประเทศไทย พ.ศ. 2557 ก็มีสาเหตุมาจากโทสะ[20][21]ของคนต่างจังหวัดที่โกรธแค้นการบาดเจ็บล้มตายจากการสลายการชุมนุมและบุคคลที่อาศัยในกรุงเทพและปริมณฑลที่โกรธแค้นการแต่งตั้งแกนนำนปช.และผลการเลือกตั้งในประเทศไทย พ.ศ. 2554
ลำดับเหตุการณ์
[แก้]วันที่ 20 พฤษภาคม 2557 เวลา 03:30 น. กำลังทหารพร้อมอาวุธเข้าควบคุมสถานีโทรทัศน์ต่าง ๆ ตามคำสั่งพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา ผู้บัญชาการทหารบก[22] เวลา 06:30 น. พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา ผู้บัญชาการทหารบก ประกาศใช้กฎอัยการศึกทั่วราชอาณาจักร จัดตั้งกองอำนวยการรักษาความสงบเรียบร้อย หรือ กอ.รส. และออกคำสั่ง 12 ฉบับ[22][23] วันที่ 21 พฤษภาคม 2557 มีประกาศ กอ.รส. เรียกตัวแทนจาก 7 ฝ่ายเข้าร่วมประชุมที่สโมสรกองทัพบก ถนนวิภาวดีรังสิต[24]
วันที่ 22 พฤษภาคม 2557 ในประชุมร่วม 7 ฝ่าย ประยุทธ์สอบถามชัยเกษม นิติสิริ ในฐานะหัวหน้าตัวแทนฝ่ายรัฐบาลว่ารัฐบาลยืนยันไม่ลาออกใช่หรือไม่ ชัยเกษมตอบว่า ต้องการดำเนินการต่อจนกว่าจะครบวาระตามกฎหมาย [25] พลเอกประยุทธ์จึงตอบกลับว่าจะยึดอำนาจการปกครองด้วยประโยคที่ว่า "หากเป็นแบบนี้ ผมขอโทษด้วยนะที่ต้องยึดอำนาจ"[26] และสั่งจับกุมสมาชิกคณะรัฐมนตรี ตลอดจนแกนนำ กปปส., นปช. และพรรคการเมืองที่เข้าร่วมเจรจา ทั้งหมดถูกนำไปกักขัง[27] ที่กรมทหารราบที่ 1 มหาดเล็กรักษาพระองค์[28] ต่อมา เวลา 16:30 น. พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา ประกาศตั้ง "คณะรักษาความสงบแห่งชาติ" (คสช.) ยึดอำนาจรัฐบาลรักษาการทันที[29]
คสช. ออกคำสั่งให้รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2550 สิ้นสุดลง เว้นหมวด 2 พระมหากษัตริย์ นอกเหนือจากนี้ ยังสั่งยุบคณะรัฐมนตรีรักษาการ แต่ยังให้ศาลและองค์กรอิสระตามรัฐธรรมนูญยังทำหน้าที่ต่อ[30] คสช. ออกประกาศให้หัวหน้าคณะใช้อำนาจหน้าของนายกรัฐมนตรีตามกฎหมาย[31] และวางตัวสมาชิกสั่งการกระทรวงและส่วนราชการที่เทียบเท่า[32][33] วันที่ 24 พฤษภาคม คสช. ยุบวุฒิสภาและให้หัวหน้าคณะมีอำนาจนิติบัญญัติ[34] คสช. ยังสั่งให้อำนาจตุลาการดำเนินการภายใต้คำสั่ง[35]
รักษาการนายกรัฐมนตรี นิวัฒน์ธำรง บุญทรงไพศาล ซึ่งไม่ได้เข้าร่วมการเจรจา 7 ฝ่าย เดินทางออกจากสำนักงานที่กระทรวงการคลังทันทีเพื่อหลีกเลี่ยงการจับกุม[36] คสช. สั่งให้เขาและคณะรัฐมนตรีที่ไม่ถูกจับกุมมารายงานตัวภายในวันเดียวกัน[37] มีรายงานว่านิวัฒน์ธำรงพยายามตั้งรัฐบาลพลัดถิ่นที่สถานเอกอัครราชทูตสหรัฐในกรุงเทพมหานคร แต่สถานทูตปฏิเสธ[38] นิวัฒน์ธำรงและยิ่งลักษณ์มารายงานตัวต่อ คสช. ในเช้าวันที่ 23 พฤษภาคม 2557[39]
วันที่ 25 พฤษภาคม คสช. ให้ศาลทหารมีอำนาจไต่สวนคดีเกี่ยวกับความผิดต่อองค์พระมหากษัตริย์ ความมั่นคงของชาติหรือละเมิดคำสั่งของ คสช.[40]
วันที่ 26 พฤษภาคม มีพิธีสนองพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ แต่งตั้ง พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา เป็นหัวหน้า คสช. พระบรมราชโองการดังกล่าวถูกมองว่าเป็นหัวใจสร้างความชอบธรรมแก่รัฐประหาร[41] และถูกมองว่าเป็นการรับรองของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ซึ่งเป็นการสนับสนุนการทำงานของ คสช.[42]
- 22 กรกฎาคม 2557 – รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) พุทธศักราช 2557 มีผลใช้บังคับ
- 31 กรกฎาคม 2557 – คสช. แต่งตั้งสมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ชุดแรก และมีพิธีเปิดในวันที่ 7 สิงหาคม
- 21 สิงหาคม 2557 – สนช. ลงมติเลือกพลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา เป็นนายกรัฐมนตรี (พระบรมราชโองการแต่งตั้งในวันที่ 25 สิงหาคม)[43]
- 6 ตุลาคม 2557 – คสช. แต่งตั้งสมาชิกสภาปฏิรูปแห่งชาติ 250 คน โดยมีอำนาจเสนอข้อเสนอปฏิรูปและรับรองรัฐธรรมนูญใหม่
- 4 พฤศจิกายน 2557 – มีการแต่งตั้งคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญจำนวน 36 คน
- 6 กันยายน 2558 – สภานิติบัญญัติแห่งชาติลงมติไม่รับร่างรัฐธรรมนูญ มีการยุบสภาปฏิรูปแห่งชาติและคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ
- 5 ตุลาคม 2558 – คสช. เลือกสมาชิกคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ 21 คนและพลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชาแต่งตั้งสมาชิกสภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ 200 คนเพื่อควบคุมดูแลแผนการปฏิรูปของ คสช.
- 29 มีนาคม 2559 – มีชัย ฤชุพันธุ์ ประธานคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) เปิดร่างรัฐธรรมนูญฉบับสุดท้ายแก่สาธารณะ
- 23 เมษายน 2559 – พระราชบัญญัติว่าด้วยการออกเสียงประชามติร่างรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2559 มีผลใช้บังคับ
- 14 กรกฎาคม 2559 – คสช. ออกคำสั่งที่ 41/2559 ให้ กสทช. มีอำนาจปิดสถานีวิทยุโทรทัศน์ได้
- 7 สิงหาคม 2559 – มีการออกเสียงประชามติร่างรัฐธรรมนูญไทย พ.ศ. 2559 ซึ่งร้อยละ 61.35 เห็นชอบร่างรัฐธรรมนูญ และร้อยละ 58.07 เห็นชอบบทเฉพาะกาลให้สมาชิกวุฒิสภาชุดแรกตามรัฐธรรมนูญนี้มีอำนาจร่วมลงมติเลือกนายกรัฐมนตรี
- 6 เมษายน 2560 – ประกาศใช้รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560
- 24 มีนาคม 2562 – การเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรไทยเป็นการทั่วไป พ.ศ. 2562
- 16 กรกฎาคม 2562 – คณะรัฐมนตรีไทย คณะที่ 62 (นำโดยพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา) เข้าปฏิบัติหน้าที่ คสช. สิ้นสุดลงโดยโอนหน้าที่ให้กองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร (กอ.รมน.)
เหตุผล
[แก้]วันที่ 2 มิถุนายน พ.ศ. 2557 ทหารแจกใบปลิวให้ประชาชนที่สัญจรย่านอนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิ เนื้อหาระบุเหตุผลที่ คสช. ยึดอำนาจ ดังนี้
- มีความขัดแย้งทางความคิดการเมืองอย่างรุนแรงจนถึงระดับครอบครัวคนไทย
- การใช้อำนาจการปกครองแบบเดิมไม่สามารถแก้ไขปัญหาความขัดแย้งและการกระทำผิด
- แนวทางการเลือกตั้งในรูปแบบเดิมมีการต่อต้านอย่างกว้างขวาง ถ้าปล่อยไว้อาจเกิดปัญหาวุ่นวายไม่รู้จบ
- การชุมนุมทางการเมืองส่งผลกระทบต่อการใช้ชีวิตของประชาชนทุกหมู่เหล่า ทำให้ประชาชนแตกความสามัคคี
- ปัญหาทุจริต
- การบังคับใช้กฎหมายต่อปัญหาข้างต้น บังคับใช้ไม่ได้ทุกกลุ่ม ทำให้เกิดความหวาดระแวง เกลียดชังกันในหมู่ประชาชนเป็นวงกว้าง มีการยุยงปลุกปั่นให้ใช้ความรุนแรง
- การบริหารราชการแผ่นดินไม่สามารถกระทำได้อย่างเด็ดขาด ส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจของชาติ และความทุกข์ของประชาชน
- ความผิดต่อองค์พระมหากษัตริย์ไทย
- การปลุกระดมมวลชนโดยไม่คำนึงถึงผลประโยชน์ของคนส่วนใหญ่
- มีการจัดตั้งและใช้กองกำลังติดอาวุธ[44]
คณะรัฐประหารให้คำมั่นว่าจะกวาดล้างการฉ้อราษฎร์บังหลวง ลดความตึงเครียดทางการเมือง เปลี่ยนสภาพเศรษฐกิจไทย แก้ไขปัญหาระบบการศึกษาและโครงสร้างพื้นฐานของไทย และการจัดสรรงบประมาณของรัฐอย่าเสมอภาคตามภูมิภาคต่าง ๆ [45]
กองทัพสถาปนาตนเป็นผู้ปกครองโดยส่งเสริมสถานภาพ ขอบเขตอำนาจ งบประมาณและกำลังคน นอกจากนี้ยังเพิ่มภาวะครอบงำตามกลไกรัฐธรรมนูญโดยลดอิทธิพลของพรรคการเมืองและประชาสังคม[46]: 279–280 วิสัยทัศน์ของผู้นำคณะรัฐประหารนั้นมองว่ารัฐประหารเป็นไปเพื่อพิทักษ์อำนาจและผลประโยชน์ที่สั่นคลอนเนื่องจากสามปัจจัย ได้แก่ ปัจจัยการสืบราชสันตติวงศ์ ปัจจัยพรรคการเมืองฝ่ายทักษิณที่ชนะการเลือกตั้งทุกครั้งนับแต่ปี 2544 และการถือกำเนิดของการเมืองมวลชน[46]: 281 ผู้นำคณะรัฐประหารยังมุ่งจัดอำนาจกองทัพตั้งมั่นในระบบการเมืองไทยระยะยาวโดยรวบโครงสร้างของรัฐเข้าสู่ศูนย์กลาง นับว่าแตกต่างจากรูปแบบการแบ่งปันอำนาจระหว่างกองทัพกับนักธุรกิจในสมัยพลเอก เปรม ติณสูลานนท์ ที่เรียก "ประชาธิปไตยครึ่งใบ"[46]: 282
นักวิชาการอเมริกัน ดับเบิลยู. สก็อต ทอมป์สัน ให้ความเห็นว่าการสนับสนุนกองทัพรัฐประหารในครั้งนี้อาจเป็นทางรอดของประชาธิปไตยไทย โดยอ้างว่าทักษิณ ชินวัตรจะทำให้ประชาธิปไตยไทยตายลง และอย่างน้อยกองทัพยังรักษาความสงบในช่วงเปลี่ยนผ่านเป็นประชาธิปไตย[47]
ระบอบเผด็จการ
[แก้]ประยุทธ์ จันทร์โอชา หัวหน้าคณะรัฐประหาร | |||||||||||||||||||||||||||||||||||||
คณะรักษาความสงบแห่งชาติ | คณะรัฐมนตรี | สภานิติบัญญัติแห่งชาติ | สภาปฏิรูปแห่งชาติ | คณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ | |||||||||||||||||||||||||||||||||
- คณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) เป็นองค์การทรงอำนาจที่สุดหลังรัฐประหาร ซึ่งคณะรัฐประหารควบคุมอย่างเบ็ดเสร็จ มีการกำหนดให้หัวหน้าคณะ (พลเอกประยุทธ์) ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีในช่วงที่ยังไม่มีนายกรัฐมนตรี และกำหนดตัวสมาชิกดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีกระทรวงต่าง ๆ พลเอกประยุทธ์ตั้งต้นเป็นนายกรัฐมนตรีแทนการมอบอำนาจให้ผู้อื่นเช่นในรัฐประหารปี 2549 จนถึงวันที่ 22 พฤษภาคม 2562 คสช. ออกประกาศ 132 ฉบับ คำสั่ง 214 ฉบับ และคำสั่งหัวหน้า คสช. อีก 207 ฉบับ[48]
- คณะรัฐมนตรีประยุทธ์ ประกอบด้วยนายทหารเป็นส่วนใหญ่ โดยมีทหารควบคุมกระทรวงสำคัญ ๆ นอกเหนือจากกระทรวงด้านความมั่นคงอย่างเดียว จนสุดท้ายเกิดความไร้สามารถและความผิดพลาดร้ายแรงจนต้องเปลี่ยนตัวรัฐมนตรีเป็นพลเรือนที่มีความสามารถมากกว่าแทน[46]: 284
- สภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) เป็นสภาตรายางของคณะรัฐประหาร ในบรรดาสมาชิกจากการแต่งตั้ง 250 คน เป็นทหาร 145 คน (58%) ซึ่งมีผู้บัญชาการเหล่าทัพทุกเหล่าทัพทุกนายตั้งแต่ปี 2550 เป็นต้นมาด้วย นอกจากนี้ยังมีคติเห็นแก่ญาติ คือมีการแต่งตั้งอดีตผู้ใต้บังคับบัญชา เพื่อนร่วมรุ่น จปร. และน้องชายของประยุทธ์ด้วย นับเป็นการตั้งตระกูลการเมืองในระบอบทหาร[46]: 285 สภานี้คล้ายกับข้อเรียกร้องสภาประชาชนเพื่อปฏิรูปประเทศของ กปปส.[49] มีการยุบสภาดังกล่าวในปี 2558 หลัง สนช. ลงมติคัดค้านร่างรัฐธรรมนูญ
- สภาปฏิรูปแห่งชาติมีสมาชิกจากการแต่งตั้ง 250 คนเพื่อประมวลข้อเสนอการปฏิรูปประเทศ เป็นสภาที่ไม่มีอำนาจ แต่เป็นวิธีของ คสช. ในการตอบแทนขบวนการต่อต้านทักษิณในประชาสังคมและสังคมการเมืองซึ่งเปิดทางให้รัฐประหารครั้งนี้[46]: 286 เพื่อให้คนเหล่านี้มีพื้นที่สาธารณะในการแสดงข้อเรียกร้องของพวกตน สมาชิกสภาฯ นี้มองเห็นโอกาสในการผลักดันวาระของพวกตน และช่วยค้ำจุนระบอบรัฐประหารโดยการประสานงานกับคนหลายกลุ่ม และสร้างฐานสนับสนุนในสังคม[46]: 286
ก่อนการเลือกตั้งครั้งถัดไป คสช. มีการวางโรดแมปออกเป็น 3 ระยะ ระยะที่ 1 คือ การร่างรัฐธรรมนูญซึ่งต้องใช้คณะในการร่างรัฐธรรมนูญ 2 ชุด ใช้เวลา 2 ปีจนแล้วเสร็จในเดือนเมษายน 2560 ระยะที่ 2 เป็นการร่างกฎหมายลูกจำนวน 10 ฉบับ ซึ่งมีฉบับที่สำคัญ คือ พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการได้มาซึ่งสมาชิกวุฒิสภา พ.ศ. 2561 และ พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร พ.ศ. 2561 ซึ่งจัดทำแล้วเสร็จในปลายปี 2560 และระยะที่ 3 คือการรอให้จัดการเลือกตั้งในเวลา 150 วันตามกฎหมาย[50]
ผลลัพธ์
[แก้]ผลทางการเมือง
[แก้]ในห้วงการสืบราชสันตติวงศ์ในเดือนตุลาคม 2559 กองทัพอยู่ในฐานะที่กำลังสร้างความสัมพันธ์กับนายทุนที่มีอิทธิพลคล้ายกับสมัยจอมพล สฤษดิ์ ธนะรัชต์ (พ.ศ. 2501–06) กลายเป็นผู้ปกครองที่ควบคุม ชี้นำและตัดสินใจการกระจายอำนาจและผลประโยชน์ในรัชกาลใหม่นี้[46]: 286–7 กองทัพยังกีดกันการเข้าถึงอำนาจและการตั้งกลุ่มอภิชนใหม่ด้วย มีการเพิ่มเอกสิทธิ์ เงินเดือนและกำลังพล ขยายอำนาจของกองทัพ ส่งนายทหารเข้าควบคุมรัฐวิสาหกิจ นอกจากนี้ วุฒิสภาจากการแต่งตั้งตามรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ยังทำให้กองทัพกลายเป็นพรรคการเมืองใหญ่ที่สุดที่มีอำนาจลงมติเลือกนายกรัฐมนตรี[46]: 287
คณะรัฐประหารยังควบคุมประชาธิปไตยแบบฝ่ายข้างมากด้วย รัฐธรรมนูญฉบับใหม่ออกแบบมาให้กองทัพ ฝ่ายตุลาการและองค์กรอิสระ ซึ่งล้วนไม่ได้มาจากการเลือกตั้ง มีอำนาจมากขึ้น[46]: 283 มีการสร้างระบบการเลือกตั้งใหม่ เรียก ระบบจัดสรรปันส่วนผสม ทำให้พรรคการเมืองครองฝ่ายข้างมากได้ยาก พรรคการเมืองขนาดใหญ่และเล็กจะได้รับผลเสียจากระบบดังกล่าว[46]: 282–3 รัฐบาลถูกตัดสิทธิ์ได้ง่าย การนำนโยบายไปปฏิบัติอยู่ภายใต้ข้อจำกัดต่าง ๆ รวมทั้งรัฐบาลจะต้องปฏิบัติตามแผนยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปีที่ คสช. วางไว้ด้วย[46]: 283 ในปี 2559 คสช. สั่งเลื่อนการเลือกตั้งการเมืองท้องถิ่น และสรรหาบุคคลลงตำแหน่งว่างแทน[51]
คสช. พยายามแก้ไขปัญหาการไม่ปฏิบัติตามคำสั่งของข้าราชการด้วยการใช้มาตรา 44 ของรัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราว[46]: 290 มีคำสั่งถอดถอนหรือโยกย้ายข้าราชการโดยมีเป้าหมายหลักไปยังผู้ที่ภักดีต่อรัฐบาลทักษิณหรือยิ่งลักษณ์ มีการถอดถอนข้าราชการระดับปลัดกระทรวงหรืออธิบดีกรมรวม 69 คนซึ่งไม่เคยปรากฏในรัฐบาลใดมาก่อน[46]: 291 ผลทำให้สถาบันข้าราชการประจำเสียขวัญกำลังใจและอ่อนแอลง[46]: 292
ผลทางเศรษฐกิจ
[แก้]หนังสือพิมพ์ไทยรัฐตั้งข้อสังเกตว่า การบริหารประเทศหลังรัฐประหารครั้งนี้เน้นการแก้ไขปัญหาทางเศรษฐกิจเป็นวัตถุประสงค์หลัก คสช. เริ่มให้ ธ.ก.ส. นำเงินสภาพคล่อง 40,000 ล้านบาทมาจ่ายหนี้โครงการรับจำนำข้าว 92,000 ล้านบาท เริ่มตั้งแต่วันที่ 26 พฤษภาคม 2557[52] เดือนมิถุนายน 2557 ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร เปิดเผยว่า ยุทธศาสตร์การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานมีระยะเวลาดำเนินการในปี 2558–2565 กรอบเงินลงทุน 3 ล้านล้านบาท โดยเพิ่มแผนแม่บทโครงการทางอากาศจากแผนแม่บท 2 ล้านล้านบาทของรัฐบาลยิ่งลักษณ์ รัฐวิสาหกิจส่วนใหญ่สามารถใช้เงินลงทุนของตัวเอง[53] วันที่ 1 สิงหาคม คสช. อนุมัติโครงการขนส่งทางรางมูลค่า 741,000 ล้านบาทเพื่อเชื่อมกับประเทศจีนโดยตรงภายในปี 2564[54] และจนถึงวันเดียวกัน คสช. อนุมัติงบประมาณรายจ่ายไปแล้ว 304,969 ล้านบาท[55]
หลัง คสช. ประกาศเมื่อวันที่ 11 มิถุนายนว่าจะจัดการกับแรงงานต่างด้าวผิดกฎหมายในประเทศไทย[56] ผู้อพยพต่างด้าวจำนวนมากออกนอกประเทศทันทีในวันเดียวกัน[57] วันที่ 16 มิถุนายน ชาวกัมพูชากว่า 180,000 คนหนีออกนอกประเทศไทย[58] ฝ่ายแรงงานพม่าไม่ออกจากประเทศไทย เพราะตลาดแรงงานของพม่ามีทางเลือกน้อยกว่าตลาดแรงงานของกัมพูชา[59]
เดือนตุลาคม 2557 ที่ประชุมคณะกรรมการนโยบายและบริหารจัดการข้าว (นบข.) ที่มีพลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา เป็นประธาน เห็นชอบโครงการสินเชื่อชะลอการขายข้าวเปลือกนาปี ปีการผลิต 2557/2558 จากเดิมธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตรจะจ่ายเป็น 80% ของราคาตลาด เพิ่มเป็น 90% ของราคาตลาด นโยบายดังกล่าวถูกเรียกว่า "จำนำยุ้งฉาง" และไทยรัฐ ยังว่าเป็น "ประยุทธ์นิยม"[60]
เดือนพฤศจิกายน 2557 รองประธานกรรมการหอการค้าไทย เปิดเผยว่า ปัจจุบันมีการทุจริต 30–50% เป็นมูลค่า 2-3 แสนล้านบาท[61]
รัฐบาลทหารริเริ่มโครงการ "ประชารัฐ" ในเดือนกันยายน 2558 มีบริษัทใหญ่ที่ประกอบธุรกิจหลายประเภท 24 บริษัทลงสนามสนับสนุนโครงการในเดือนธันวาคม 2558 ซึ่งเป็นข้อตกลงต่างตอบแทนกับรัฐบาลให้ได้เอกสิทธิ์บางอย่าง[46]: 293–4 ปลายปีนั้น รัฐบาลออกงบประมาณกระตุ้นเศรษฐกิจ 136,000 ล้านบาท โดยมีการให้กองทุนหมู่บ้านกู้เงิน 59,000 หมู่บ้าน และการจัดสรรงบตำบล 36,725 ล้านบาท และในปีงบประมาณ 2559 รัฐบาลจัดสรรงบโครงการประชารัฐ 250,000 ล้านบาท[46]: 295 มีการริเริ่ม "ประชารัฐรักสามัคคี" ซึ่งเป็นการสนับสนุนวิสาหกิจชุมชนคล้ายกับการริเริ่มหนึ่งตำบลหนึ่งผลิตภัณฑ์สมัยทักษิณ โดยในปี 2560 มีการอ้างว่าช่วยเพิ่มรายได้แก่ครอบครัวที่เข้าร่วมเดือนละ 358 ล้านบาท[46]: 296 แนวนโยบายนี้ก่อให้เกิดทุนนิยมแบบมีลำดับชั้น ซึ่งธุรกิจขนาดใหญ่คอยชี้นำธุรกิจขนาดย่อมในท้องถิ่น[46]: 299
ผลต่อความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ
[แก้]สหภาพยุโรปจะชะลอการลงนามความตกลงความเป็นหุ้นส่วนและความร่วมมือ (Partnership and Cooperation Agreement) และเรียกร้องให้กองทัพไทยฟื้นฟูระบอบประชาธิปไตยผ่านการเลือกตั้ง และยังเรียกร้องให้ปล่อยตัวผู้ถูกกักขังการเมืองและยุติการตรวจพิจารณา[62]
วันที่ 20 มิถุนายน 2557 กระทรวงการต่างประเทศสหรัฐอเมริกาออกแถลงรายงานสถานการณ์การค้ามนุษย์ (TIP) ประจำปี 2557 ซึ่งประเทศไทยถูกปรับลดระดับลงไปอยู่ระดับ 3 (Tier 3) ซึ่งเป็นระดับต่ำสุด โดยให้เหตุผลว่า ประเทศไทยไม่ยอมปฏิบัติตามมาตรฐานการจัดการกับปัญหาการค้ามนุษย์ตลอด 4 ปีที่ผ่านมา[63] วันที่ 27 มิถุนายน 2557 กระทรวงการต่างประเทศสหรัฐระงับความร่วมมือชั่วคราวกับไทย ทำให้ยกเว้นไทยในการฝึกแผนซ้อมรบทางทะเล ชื่อ "แปซิฟิกริม"[64]
การจำกัดสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง
[แก้]ในรายงานเสรีภาพสื่อมวลชนโลกของ องค์กรนักข่าวไร้พรมแดน ได้จัดอันดับเสรีภาพสื่อมวลชนในประเทศไทยในปี 2558 ไว้ที่อันดับที่ 136 จากอันดับ 134 เมื่อปีก่อน[65]
ในเดือนมีนาคม 2559 คสช. ให้ทหารตั้งแต่ยศร้อยตรีขึ้นไปมีอำนาจป้องกันและปราบปรามความผิด 27 อย่าง มีอำนาจตรวจค้นทรัพย์สินได้โดยไม่ต้องมีหมายศาล มีอำนาจยึดทรัพย์ ระงับธุรกรรมทางการเงินและห้ามผู้ต้องสงสัยเดินทาง[66]
การจับกุมและเรียกตัวบุคคล
[แก้]คืนวันที่ 22 พฤษภาคม 2557 ทหารจับกุมนักการเมืองเพิ่มเติม รวมทั้ง ร้อยตำรวจเอก เฉลิม อยู่บำรุง[67] วันรุ่งขึ้น คสช. เรียกสมาชิกพรรคเพื่อไทยและตระกูลชินวัตร รวมทั้ง ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร[68][69]
ต่อมา คสช. เรียกบุคคลที่โดดเด่นอีก 114 คนจากทั้งสองฝ่าย[70] และแถลงว่าผู้ที่ไม่มารายงานตัวจะถูกจับกุมและดำเนินคดี[71] นักเคลื่อนไหว สมบัติ บุญงามอนงค์ เป็นบุคคลแรกที่ปฏิเสธไม่ไปรายงานตัว โดยกล่าวว่า "โคตรขำ ไม่ไปรายงานตัวถือเป็นความผิดอาญา" เขาท้าทายการเรียกโดยโพสต์ลงเฟซบุ๊กว่า "Catch me if you can" (จับฉันเลยถ้าจับได้) [72][73] คสช. สนองโดยแถลงในเช้าวันที่ 24 พฤษภาคมว่า จะส่งทหารไปจับตัวผู้ไม่มารายงานตัว [74]
จาตุรนต์ ฉายแสง อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ เป็นบุคคลแรกที่ถูกไต่สวนในศาลทหารเนื่องจากไม่ไปรายงานตัวตามคำสั่ง คสช. โฆษก คสช. ยังกล่าวว่า การจัดการแถลงข่าวต่อสื่อต่างประเทศถือว่าไม่เหมาะสมและขัดต่อนโยบาย คสช.[75][76][77] เขาถูกตั้ง 3 ข้อหา คือ ขัดคำสั่ง คสช., ยุยงให้เกิดความกระด้างกระเดื่องและให้ทำผิดกฎหมาย (ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 116) และความผิดต่อความมั่นคงหรือก่อการร้ายตามพระราชบัญญัติคอมพิวเตอร์ รวมมีโทษระวาง 14 ปี[78]
วันที่ 5 มิถุนายน สมบัติถูกจับกุมที่จังหวัดชลบุรี ทหารตามรอยเขาผ่านอินเทอร์เน็ตโดยใช้เลขที่อยู่ไอพี[79] กองทัพแถลงว่า สมบัติจะได้รับโทษจำคุกเจ็ดปีฐานชักชวนให้ประชาชนละเมิดคำสั่ง คสช. ซึ่งเป็น "กฎหมายของแผ่นดิน" นอกเหนือไปจากโทษจำคุกสองปีฐานขัดคำสั่ง คสช. กองทัพยังกล่าวว่าผู้ให้ที่พักพิงสมบัติจะได้รับโทษจำคุกสองปี[80]
กองทัพยังสั่งให้นักการทูตไทยดำเนินมาตรการเพื่อบังคับให้นักวิชาการนอกประเทศที่ถูกเรียกให้รายงานตัวกลับประเทศ[81] เป้าหมายหนึ่ง คือ รศ.ปวิน ชัชวาลพงศ์พันธ์ ที่มหาวิทยาลัยเกียวโต กองทัพสั่งทั้งเอกอัครราชทูตไทยในกรุงโตเกียวและกงสุลใหญ่ในโอซะกะว่า หากทั้งสองไม่สามารถบังคับให้ปวิน ชัชวาลพงศ์พันธ์ กลับมาได้ จะถูกย้ายหรือให้พ้นจากราชการ[81]ต่อมามีมติคณะรัฐมนตรีในวันที่ 9 ธันวาคม 2557 ให้ นาย สีหศักดิ์ พวงเกตุแก้ว ดำรงตำแหน่ง เอกอัครราชทูตไทยในกรุงโตเกียว และย้าย ธนาธิป อุปัติศฤงค์ พ้นตำแหน่งดังกล่าว[82]และคณะรัฐมนตรีมีมติ ย้าย วิชิต ชิตวิมาน และ แต่งตั้ง ดุสิต เมนะพันธุ์ เป็น กงสุลใหญ่ในโอซะกะ[83]มีผลวันที่ 3 เมษายน พ.ศ. 2558
คสช. ยังสั่งให้นักเคลื่อนไหวที่ถูกกล่าวหาว่ากระทำความผิดต่อองค์พระมหากษัตริย์ไทยและอยู่นอกประเทศมารายงานตัว อาทิ รศ. ใจ อึ๊งภากรณ์ โดยสั่งให้มารายงานตัวภายในวันที่ 9 มิถุนายน 2557[84]
วันที่ 17 มิถุนายน รศ. วรเจตน์ ภาคีรัตน์ คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ประสานงานและเข้ารายงานตัวกับ คสช.[85]
วันที่ 24 มิถุนายน สำนักงานตำรวจแห่งชาติปล่อยตัว กริชสุดา คุณะแสน นักเคลื่อนไหวเสื้อแดง หลังมีข่าวถูกทหารทารุณจนเสียชีวิต[86] เธอถูกตำรวจจับกุมที่จังหวัดชลบุรีตั้งแต่ วันที่ 28 พฤษภาคม[87] ต่อมา วันที่ 1 สิงหาคม 2557 มีข่าวว่า กริชสุดา ขอลี้ภัยทางการเมืองในประเทศยุโรป โดยได้รับการสนับสนุนจากองค์กรเสรีไทยเพื่อสิทธิมนุษยชนและประชาธิปไตย[88] กริชสุดาให้สัมภาษณ์ว่า เธอถูกปิดตาและมัดมือเป็นเวลา 7 วัน ถูกทำร้ายร่างกายโดยโดนตบหน้า ชกที่ใบหน้าและลำตัว รวมทั้งใช้เท้า ตลอดจนใช้ถุงคลุมหัวทำให้ขาดอากาศหายใจ ประเด็นที่ถูกสอบสวน คือ ใครเป็นผู้ช่วยเหลือเยียวยาผู้ต้องโทษในเรือนจำและอาวุธสงคราม ซึ่งกริชสุดาระบุว่า ผู้สอบสวนต้องการให้เธอสารภาพว่า พันตำรวจโท ทักษิณ ชินวัตร เป็นคนดูแลนักโทษและผู้ยุยงส่งเสริมในกระทำผิด ส่วนที่มีข่าวว่าตนขออยู่ในการควบคุมตัวต่อไปนั้นเพื่อเอาตัวรอด[89] ด้านพันเอก วินธัย สุวารี โฆษก คสช. ออกมาปฏิเสธข่าวนี้ พร้อมยืนยันว่าเจ้าหน้าที่ดูแลอย่างดี และเชื่อว่ากริชสุดาต้องการดึงองค์การระหว่างประเทศเพื่อทำลายความน่าเชื่อถือของเจ้าหน้าที่[90] วันที่ 14 กันยายน 2558 พลตำรวจเอก สมยศ พุ่มพันธุ์ม่วง รองผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ ตั้งข้อสังเกตว่า กริชสุดา คุณะเสน เป็นผู้จ้างวาน "ชายชุดดำ" เพราะพบสลิปโอนเงินในบ้านพักของกริชสุดาซึ่งโอนเงินให้ผู้ต้องหาคนหนึ่งซึ่งถูกจับเมื่อวันที่ 11 กันยายน[91]
วันที่ 7 ธันวาคม 2558 มีการจับกุมนักกิจกรรมที่พยายามเดินทางไปอุทยานราชภักดิ์ซึ่งลือชื่อว่ามีการฉ้อราษฎร์บังหลวง รวมทั้งมีการตัดขบวนรถไฟเพื่อจับกุมตัวนักเคลื่อนไหว[92] และมีการปิดอุทยานโดยอ้างว่าเพื่อ "บำรุงรักษา" อุทยานดังกล่าวมีรายงานความไม่ชอบมาพากลทางการเงินมาตั้งแต่เดือน พฤศจิกายน 2558[93]
วันที่ 29 มีนาคม 2559 ศาลสั่งจำคุก นาง ธีรวรรณ เจริญสุข[94] เป็นเวลา 12 วันในความผิดฐานปลุกปั่นให้ขัดขืนอำนาจปกครองหลังเธอโพสต์ภาพถือขันสีแดงซึ่งดูเหมือนเป็นของส่งเสริมอดีตนายกรัฐมนตรี ทักษิณ ชินวัตร อย่างไรก็ตามศาลทหารเชียงใหม่อนุญาตให้ประกันตัวผู้ต้องหา คดี ม.116 พร้อมหลักทรัพย์ 1 แสนบาท พร้อมเงื่อนไขห้ามเคลื่อนไหวทางการเมือง[66]
การควบคุมสิทธิเสรีภาพของประชาชนและสื่อ
[แก้]หลังประกาศรัฐประหารแล้ว คสช. กำหนดห้ามออกนอกเคหสถานเวลาค่ำคืนทั่วราชอาณาจักรระหว่างเวลา 22.00 น. ถึง 5.00 น.[95] และยังห้ามชุมนุมทางการเมืองและสั่งผู้ประท้วงทั้งหมดให้สลายตัว[96] และยังสั่งให้สถานศึกษาทุกแห่งปิดตั้งแต่วันที่ 23 ถึง 25 พฤษภาคม 2557[97]
ยิ่งไปกว่านั้น คสช. สั่งให้สถานีวิทยุโทรทัศน์ทุกแห่งหยุดออกอากาศรายการปกติและให้แพร่สัญญาณรายการของกองทัพบกเท่านั้น[98] คสช. จับกุม วันชัย ตันติวิทยาพิทักษ์ รองผู้อำนวยการองค์การกระจายเสียงและแพร่ภาพสาธารณะแห่งประเทศไทย ซึ่งดำเนินการสถานีไทยพีบีเอส หลังเขาอนุญาตให้แพร่สัญญาณรายการพิเศษเกี่ยวกับรัฐประหารทางยูทูบแทนโทรทัศน์[99][100] ในรายการ มีการสัมภาษณ์นักวิชาการหลายคน และให้ความเห็นเชิงลบเกี่ยวกับรัฐประหาร ไทยพีบีเอสกล่าวว่าวันชัยถูกนำตัวไปยังกองบัญชาการกองทัพภาคที่ 1 เพื่อ "ปรับความเข้าใจระหว่างสื่อและกองทัพ"[101]
วันที่ 23 พฤษภาคม คสช. เรียกตัวหัวหน้าสื่อมายังสโมสรทหารบกและสั่งผู้ให้บริการอินเทอร์เน็ตให้ตรวจพิจารณาข้อมูลข่าวสารใดที่ยั่วยุ ปลุกปั่น อันจะก่อให้เกิดความไม่สงบเรียบร้อย มีความลับของทางราชการ มีผลกระทบต่อความมั่นคงของรัฐ หรือหมิ่นประมาท คสช.[102] นอกจากนี้ ยังขู่ปิดสื่อสังคมหากผู้ให้บริการไม่สามารถสกัดกั้นข้อมูลข่าวสารซึ่งปลุกระดมความไม่สงบหรือปลุกระดม "การคัดค้านการรักษาความสงบ"[103]
บ่ายวันที่ 23 พฤษภาคม สถานีโทรทัศน์ภาคพื้นดิน ระบบแอนะล็อก (ช่องฟรีทีวี) ยกเว้นไทยพีบีเอส ได้รับอนุญาตให้ออกอากาศรายการปกติ[104] หลัง คสช. สั่งผู้ให้บริการสกัดกั้นความพยายามการแบ่งแพร่สัญญาณ (broadcast sharing) บนอินเทอร์เน็ตและสั่งให้คณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) ปิดโทรทัศน์อินเทอร์เน็ต[105]
วันที่ 24 พฤษภาคม องค์การสื่อออกจดหมายเปิดผนึกกระตุ้นให้ คสช. ยุติการจำกัดเสรีภาพสื่อให้เร็วที่สุดเท่าที่เป็นไปได้[106] คสช. สนองโดยเรียกผู้ให้บริการสื่อทั้งหมด โดยบอกว่าพวกเขาจำเป็นต้องเข้าประชุมกับ คสช.[107]
เพื่อสนองต่อกิจกรรมต่อต้านรัฐประหารบนเครือข่ายสังคม คสช. สั่งกระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร (ไอซีที) ให้ปิดกั้นเฟซบุ๊กในประเทศไทยเป็นระยะ มีผลตั้งแต่วันที่ 28 พฤษภาคม เย็นวันนั้นผู้ในประเทศไทยไม่สามารถเข้าถึงเฟซบุ๊กได้เป็นเวลาราวหนึ่งชั่วโมง ต่อมา เมื่อเวลา 17.00 น. รองโฆษก คสช. แถลงว่าเป็นเหตุขัดข้องทางเทคนิค คสช.ไม่มีนโยบายปิดเฟซบุ๊ก และจากการตรวจสอบพบข้อขัดข้องทางเทคนิคที่เกตเวย์ ด้านกระทรวงไอซีทีและ กสทช.ก็ยืนยันทำนองเดียวกัน[108] พลตำรวจตรี พิสิษฐ์ เปาอินทร์ ที่ปรึกษาปลัดกระทรวงไอซีที ชี้แจงว่าเกิดจากปริมาณผู้ใช้ที่คับคั่ง ซึ่งเกิดจุดหน่วงที่ประเทศสิงคโปร์ ส่วนป้ายข้อความคำสั่งของ คสช. ที่เกิดขึ้นนั้น เกิดจากความเข้าใจผิดของผู้ให้บริการอินเทอร์เน็ต[109] ซึ่งขัดกับคำให้สัมภาษณ์ของ สุรชัย ศรีสารคาม ปลัดกระทรวงไอซีที ต่อสำนักข่าวรอยเตอร์สที่ว่ามีการปิดกั้นเฟซบุ๊กจริง[110] ภายหลังการให้ข่าวของ สุรชัย ศรีสารคาม เขาถูกย้ายไปเป็นที่ปรึกษาประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ในวันที่ 27 มิถุนายน 2557
เทเลนอร์ บริษัทแม่ของดีแทค ผู้ให้บริการโทรศัพท์มือถือในประเทศไทย แถลงต่อเว็บไซต์เดอะเน็กซ์เว็บในเวลาต่อมาว่าได้รับคำสั่งจาก กสทช. ให้ระงับการเข้าถึงเฟซบุ๊กเป็นการชั่วคราว[111] ทำให้ พันเอก รศ. เศรษฐพงค์ มะลิสุวรรณ รองประธาน กสทช. และประธาน กทค. ออกมากล่าวตอบโต้ว่า แถลงการณ์ดังกล่าวของดีแทคเป็นเรื่องที่ไม่สมควรและไม่เคารพในกฎกติการมารยาท จึงอาจตัดสิทธิ์ไม่ให้ดีแทคเข้าร่วมประมูลคลื่นความถี่ 4 จี บนย่านความถี่ 1800 เมกะเฮิรตซ์[112][113]
ก่อนหน้านี้ จนถึงวันที่ 24 พฤษภาคม กระทรวงไอซีแถลงว่าได้บล็อกยูอาร์แอลไปกว่า 100 ยูอาร์แอลภายใต้กฎอัยการศึก[114]
วันที่ 27 พฤษภาคม คสช. จะส่งข้าราชการไปยังประเทศสิงคโปร์และญี่ปุ่นเพื่อให้เฟซบุ๊ก กูเกิล และไลน์ตรวจพิจารณาสื่อสังคมเข้มงวดขึ้น[115]
ต่อมา มีประกาศเปลี่ยนเวลาห้ามออกนอกเคหสถานจากเดิมเป็น 0.00 น. ถึง 4.00 น. มีผลตั้งแต่วันที่ 28 พฤษภาคม 2557[116]
วันที่ 28 พฤษภาคม เว็บไซต์มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน ถูกปิดกั้นทางหน้าแรก นับเป็นการถูกปิดกั้นครั้งแรกหลังรัฐประหารเมื่อ พ.ศ. 2549[117]
วันที่ 1 มิถุนายน มีคลิปจากหนังสือพิมพ์บางกอกโพสต์ แสดงภาพหญิงถูกกลุ่มชายนำตัวขึ้นรถแท็กซี่สีชมพูที่แยกอโศก ด้านพลตำรวจเอก สมยศ พุ่มพันธุ์ม่วง รองผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ ชี้แจงว่าจะไม่จับกุมผู้ชุมนุมขณะมีฝูงชนเป็นจำนวนมาก แต่จะรอให้ออกจากที่ชุมนุมก่อน และกล่าวถึงกรณีการนำตัวขึ้นรถแท็กซี่ว่า กลุ่มชายดังกล่าวอาจไม่ใช่ตำรวจ อาจเป็นสามีพาตัวกลับบ้าน เพราะไม่ต้องการให้มาชุมนุม[118] ฝ่ายผู้กำกับการสถานีตำรวจลุมพินีออกมายอมรับว่า ชายกลุ่มดังกล่าวเป็นตำรวจสืบสวนนอกเครื่องแบบ[119]
เมื่อวันที่ 9 มิถุนายน พันเอก วินธัย สุวารี โฆษก คสช. ให้สัมภาษณ์ว่า จะมีการทำความเข้าใจกับผู้สนับสนุน กปปส. และพรรคประชาธิปัตย์ให้หยุดแสดงความคิดเห็นวิพากษ์วิจารณ์ทางการเมือง และเตือนกลุ่มการเมือง พรรคการเมืองและแกนนำคู่ขัดแย้งให้หยุดกล่าวหา คสช.[120] วันเดียวกัน พลตำรวจโท อำนวย นิ่มมะโน รองผู้บัญชาการตำรวจนครบาล กล่าวว่า ผู้ที่โพสต์หรือกดถูกใจ (like) โพสต์ที่ชวนคนมาชุมนุมบนเฟซบุ๊กถือว่ามีความผิด นอกจากนี้ การชุมนุมโดยมีเจตนาแสดงออกถึงการต่อต้าน เช่น ปิดปากกันทุกคน หรือกินแซนด์วิชที่ทราบว่ามีการอ่านแถลงการณ์ด้วย แสดงว่ามีเจตนา และว่า ขณะนี้ การกินแซนด์วิชเริ่มเข้าข่ายมีความผิดเหมือนกับการชู 3 นิ้วแล้ว[121]
วันที่ 13 มิถุนายน คสช. ประกาศยกเลิกห้ามประชาชนออกจากเคหสถานทั่วราชอาณาจักร
วันที่ 22 มิถุนายน ตำรวจจับ อุษณีย์ เศรษฐสุนทรี และทหารรับตัวไปกักขัง เนื่องจากใส่เสื้อ "Respect My Vote" (เคารพเสียงของฉัน)[122]
วันที่ 23 มิถุนายน ตำรวจเตรียมรับมือกิจกรรมรำลึกการปฏิวัติสยาม พ.ศ. 2475 หากมีนัยยะทางการเมืองจะถือว่าผิดกฎหมายและจะถูกจับกุม และประชาสัมพันธ์ให้ผู้ที่บันทึกภาพผู้ออกมาแสดงความไม่เห็นด้วยกับการปกครองประเทศของ คสช. ส่งมายังสำนักงานตำรวจแห่งชาติ หากนำไปสู่การจับกุมและดำเนินคดี จะมีรางวัลให้ภาพละ 500 บาท[123]
วันที่ 24 มิถุนายน มานพ ทิพย์โอสถ อุปนายกฝ่ายสิทธิเสรีภาพและการปฏิรูปสื่อ สมาคมนักข่าว นักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย ยืนยันว่า ทหารสั่งหนังสือพิมพ์ห้ามไม่ให้ตีพิมพ์เรื่องกลุ่มต่อต้านรัฐประหาร[124] วันเดียวกัน มีรายงานว่า กองบังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับอาชญากรรมทางเทคโนโลยี (ปอท.) ใช้โปรแกรมประยุกต์เพื่อเก็บข้อมูลที่อยู่อีเมล แอปพลิเคชันดังกล่าวถูกเฟซบุ๊กระงับไปแล้วสองครั้ง ต่อมา ปอท.ชี้แจงบนอินเทอร์เน็ตให้เหตุผลถึงการใช้โปรแกรมประยุกต์ดังกล่าวว่า การเก็บรวบรวมพยานหรือข้อมูลผู้ใช้ดังกล่าวทำให้ ปอท.สามารถจัดการกับพยานได้มากขึ้น ซึ่งนำไปสู่การดำเนินคดีมากขึ้นและจะทำให้สังคมออนไลน์สะอาดขึ้น หน้าสถิติโปรแกรมประยุกต์ออนไลน์ของเฟซบุ๊กแสดงว่า โปรแกรมประยุกต์ทั้งสองได้ที่อยู่อีเมลไปหลายร้อยที่อยู่ก่อนถูกปิด[125]
วันที่ 25 มิถุนายน พลตำรวจเอก อดุลย์ แสงสิงแก้ว รองหัวหน้า คสช. ตั้งคณะทำงานเพื่อระงับการเผยแพร่ข้อมูลข่าวสารที่สร้างความเกลียดชังต่อสถาบันพระมหากษัตริย์ และข้อมูลที่เป็นเท็จกระทบกับการทำงานของ คสช.[126]
พลเมืองปัจเจกที่แสดงเชิงสัญลักษณ์อื่นถูกจับกุมและกักขังเช่นกัน ซึ่งรวมถึงหญิงคนหนึ่งสวมหน้ากากที่มีคำว่า "People" (ประชาชน)[127] ชายคนหนึ่งตะโกนว่า "ผมเป็นพลเมืองธรรมดาที่รู้สึกอับอายเพราะมีรัฐประหารเกิดขึ้นในประเทศของผมอีกครั้ง"[128] พ่อค้าหมึกทอดที่สวมเสื้อแดง[129] กลุ่มคนที่ปิดตา หูและปากของตน[130] กลุ่มนักวิจารณ์ภาพยนตร์และนักเคลื่อนไหวทางศิลปะที่ตั้งใจจัดแสดงภาพยนตร์ Nineteen Eighty-Four[131] กลุ่มบุคคลจัดกิจกรรมหน้าวัดพระศรีมหาธาตุเพื่อเฉลิมฉลองการเปลี่ยนผ่านจากสมบูรณาญาสิทธิราชเป็นราชาธิปไตยภายใต้รัฐธรรมนูญเมื่อวันที่ 24 มิถุนายน พ.ศ. 2475[132] นักศึกษาที่เปิดเพลงชาติฝรั่งเศสในที่สาธารณะ[133] กลุ่มบุคคลถือกระดาษเขียนว่า "ประชาชนอยู่ที่ไหน"[134] และชายที่ถือกระดาษเขียนว่า "ถือกระดาษไม่ใช่อาชญากรรม"[135] ทั้งหมดจะถูกไต่สวนในศาลทหารฐานปลุกปั่นให้ขัดขืนอำนาจปกครอง[134]
วันที่ 26 กรกฎาคม 2557 คสช. มีคำสั่งฉบับที่ 108 ตักเตือนหนังสือพิมพ์ผู้จัดการ สุดสัปดาห์ ว่าตีพิมพ์ข้อความด้วยข้อมูลอันเป็นเท็จ ทำลายความน่าเชื่อถือของ คสช. หากฝ่าฝืนอีกจะดำเนินการตามกฎอัยการศึก และต่อมา คสช. ส่งหนังสือมายังสภาการหนังสือพิมพ์แห่งชาติ รายละเอียดระบุว่า ในหนังสือพิมพ์ผู้จัดการ สุดสัปดาห์ ฉบับที่ 251 มีข้อความว่า (1) "ธรรมนูญ "บิ๊กตู่" คสช.พ่อทุกสถาบัน" ซึ่งเป็นการเสียดสี และอาจทำให้เข้าใจผิดว่า พลเอก ประยุทธ์อยู่เหนือสถาบันพระมหากษัตริย์ (2) ""น้องตาล" กลับเป็นชื่อทายาทของ “บิ๊ก คสช.” ผู้ที่ยังมากบารมี แต่ขอลดบทบาท เพื่อแต่งตัวรอบางสิ่งบางอย่างที่กำลังจะเกิดขึ้นหรือไม่ เพราะอย่าลืมว่า การให้ “ลูกตาล” ซึ่งถือเป็นคนรู้ใจมาเลือกสิ่งอำนายความสะดวกใน “ทำเนียบรัฐบาล-ตึกไทยคู่ฟ้า” อาจจะส่งสัญญาณบางอย่างออกมาให้เห็น “บิ๊ก คสช.” ที่จะมาเป็นนายกรัฐมนตรี อาจจะไม่ใช่ “บิ๊กตู่” อย่างที่คาดเดากัน แต่มี “ตาอยู่” ที่ “บิ๊กตู่” วางใจให้มาสานงานต่อก็เป็นได้ ซึ่งก็ไม่ใช่ใครที่ไหน ก็คนกันเองใน คสช.นั่นแล" และ (3) "การคัดสรรสมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ ว่ามีลักษณะเป็นการต่างตอบแทน เอาโควตามาแบ่งเค้ก" ซึ่งจักร์กฤษ เพิ่มพูล ประธานสภาการหนังสือพิมพ์แห่งชาติ ระบุว่า "หากทางหนังสือพิมพ์เอเอสทีวีผู้จัดการสุดสัปดาห์พิจารณาแก้ไขและขอโทษผู้ร้องเรียน หากผู้ร้องเรียนพอใจ ถือว่าเรื่องเป็นที่ยุติ"[136]
วันที่ 2 สิงหาคม พลเอก ธีรชัย นาควานิช แม่ทัพภาคที่ 1 และผู้บัญชาการกองกำลังรักษาความสงบเรียบร้อย เป็นประธานเปิดการอบรมให้กับเจ้าหน้าที่ปฏิบัติงานมวลชน กองกำลังรักษาความสงบเรียบร้อย ประกอบด้วย ชุดปฏิบัติงานด้านพลเรือน 738 ชุด โดยหวังชี้แจงทำความเข้าใจกับชาวบ้านในเรื่องแนวทางการปฏิบัติงานของ คสช. และสร้างทัศนคติที่ดีของประชาชนต่อ คสช. และกองทัพ รวมถึงปลูกฝังค่านิยม 12 ประเทศ ตลอดจนปลูกฝังความจงรักภักดีต่อสถาบันชาติ ศาสนา และพระมหากษัตริย์[137]
วันที่ 4 สิงหาคม นงลักษณ์ สหวัฒนพงศ์ ผู้จัดการการตลาดนิว อีร่า ไทยแลนด์ กล่าวว่า กรมส่งเสริมวัฒนธรรม กระทรวงวัฒนธรรมห้ามการขายและการเข้าถึงเกม ทรอปิโก 5 ออนไลน์เพราะเกรงว่า "เนื้อหาบางส่วนอาจกระทบต่อสันติและความสงบเรียบร้อยในประเทศ" เธอกล่าวว่า "บางส่วน [ของเนื้อหา] อาจไม่เหมาะกับสถานการณ์ปัจจุบัน" และว่าบริษัทฯ จะไม่อุทธรณ์คำวินิจฉัย[138]
วันที่ 8 สิงหาคม มีการจัดเสวนา "ห้องเรียนประชาธิปไตย : บทที่ 1 รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) พุทธศักราช 2557" ที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์ โดยก่อนจัดงานมีทหารประสานไปยังมหาวิทยาลัยให้ยกเลิกเสวนาดังกล่าว[139] ปิยบุตร แสงกนกกุล วิทยากรคนหนึ่งแสดงความเห็นบนเฟซบุ๊กว่า "ทำไมหน่วยงานอื่น ๆ สามารถจัดอภิปรายพูดถึงรัฐธรรมนูญชั่วคราว ๒๕๕๗ ได้ เช่น สถาบันพระปกเกล้า จัดงานเกี่ยวกับการปฏิรูปที่กระทรวงกลาโหม โดยเลขาธิการสถาบันพระปกเกล้าอภิปรายเรื่องรัฐธรรมนูญชั่วคราว ๒๕๕๗ มีข่าวลงรายละเอียดมากมาย แล้วทำไมนักศึกษาถึงจัดงานในลักษณะเดียวกันไม่ได้? เจ้าหน้าที่ตำรวจรู้ได้อย่างไรว่าในงาน วิทยากรแต่ละท่านจะอภิปรายอย่างไร? หรือท่านดูแค่ชื่อผู้จัด ดูแค่ชื่อวิทยากร?"[140]
วันที่ 10 สิงหาคม กองทัพสั่งองค์การนิรโทษกรรมสากล ประเทศไทย ให้ยุติกิจกรรมรณรงค์ในกรุงเทพมหานครซึ่งเรียกร้องสันติภาพในฉนวนกาซา โดยอ้างการห้ามการชุมนุมในที่สาธารณะเกินห้าคนและการชุมนุมทางการเมืองของคณะผู้ยึดอำนาจการปกครอง[141]
วันที่ 20 สิงหาคม ทหารเชิญคณะ "เดินรณรงค์ปฏิรูปพลังงานไทย" ไปที่มณฑลทหารบกที่ 42 ค่ายเสนาณรงค์ หาดใหญ่ โดยอ้างว่ากลุ่มดังกล่าวฝ่าฝืนประกาศกฎอัยการศึกของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ[142]
วันที่ 2 กันยายน คสช. สั่งให้ยกเลิกการอภิปรายชื่อ "Access to Justice in Thailand: Currently Unavailable" (การเข้าถึงความยุติธรรมในประเทศไทย: ขณะนี้เข้าไม่ได้) ที่สโมสรผู้สื่อข่าวต่างประเทศแห่งประเทศไทย[141]
วันที่ 18 กันยายน ตำรวจยุติสัมมนา ""ห้องเรียนประชาธิปไตย : บทที่ 2 การล่มสลายของเผด็จการในต่างประเทศ" ซึ่งจัดที่ใต้ถุนอาคาร บร.1 มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ศูนย์รังสิต วิทยากรรวม เชาวฤทธิ์ เชาว์แสงรัตน์ จันจิรา สมบัติพูนศิริ ภาณุ ตรัยเวช ประจักษ์ ก้องกีรติ ศ. นิธิ เอียวศรีวงศ์ ก่อนหน้านี้มีทหารส่งจดหมายขอให้งดจัดกิจกรรม โดยว่ายังอยู่ภายใต้กฎอัยการศึก และ คสช. ต้องการให้ประเทศสงบเรียบร้อย แต่ผู้จัดยังยืนยันเจตนาเดิม ฝ่ายมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ล็อกห้องที่จะใช้จัดเสวนาครั้งแรก ด้านพลตำรวจตรี สมิทธิ มุกดาสนิท ผู้บังคับการตำรวจภูธรจังหวัดปทุมธานี กล่าวว่า "เรียกว่าพาตัวมาพูดคุยทำความเข้าใจ แต่ยังไม่แจ้งข้อหาฝ่าฝืนคำสั่ง ต้องดูที่ผลพูดคุยกันก่อนว่าจะรู้เรื่องหรือไม่"[143] ตำรวจคุมตัววิทยากรและนักศึกษา 3 คนไปยังสถานีตำรวจภูธรคลองหลวง เพื่อสอบถามข้อมูลว่าเข้าข่ายการชักชวน ซ่องสุมให้มีการรวมกลุ่มก่อการอันเกิดการต่อต้านเจ้าหน้าที่และบุคคลที่เกี่ยวข้องกับคณะรักษาความสงบแห่งชาติหรือไม่ ต่อมา มีทนายความจากศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชนเดินทางเข้าขอพบผู้ถูกคุมตัว แต่ทหารปิดประตูกั้นไว้ไม่ให้เข้าพบ[144] สุดท้ายเจ้าหน้าที่ปล่อยตัวทั้งหมด ประจักษ์เปิดเผยว่า เจ้าหน้าที่ไม่ได้ตั้งข้อหากับพวกตน เพียงแต่ทำข้อตกลงว่าหากมีการจัดเสวนาวิชาการต้องส่งหัวข้อให้ทหารอนุมัติก่อน[145]
วันที่ 19 กันยายน ช่วงบ่าย วิกิพีเดียภาษาไทยถูกกระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสารบล็อก โดยระบุว่า "มีเนื้อหาและข้อมูลที่ไม่เหมาะสม"[146] วันเดียวกัน กิจกรรม "ครบรอบ 8 ปี รัฐประหาร 19 ก.ย.49" ที่อนุสาวรีย์ประชาธิปไตยถูกยกเลิก เนื่องจากมีเจ้าหน้าที่กระจายตัวอยู่รอบบริเวณ[147]
ตั้งแต่วันที่ 14 มิถุนายน คสช. ออกคำสั่งที่ 64/2557 เพื่อดำเนินนโยบายคืนพื้นที่ป่า แม้ คสช. ประกาศว่าผู้ที่อาศัยอยู่ในพื้นที่ก่อนหน้านี้จะไม่ได้รับผลกระทบ แต่ข้อเท็จจริงกลับแตกต่างโดยสิ้นเชิง ผลจากนโยบายนี้ทำให้นิคมเกษตรกรยากจนถูกรื้อถอน ดำรงค์ พิเดช อดีตกรรมการผู้ช่วยรัฐมนตรี ประจำกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม กล่าวถึงชนกลุ่มน้อยที่พึ่งพาอาศัยป่าว่า "ชาวกะเหรี่ยงผู้อาศัยอยู่ในป่าไม่สามารถดำเนินวิถีชีวิตดั้งเดิมของเขาได้ตลอดไป เนื่องจากส่วนมากเลือกเป็นพลเมืองไทย เขาควรคิดถึงประโยชน์ของป่าที่มีต่อคนส่วนใหญ่" ฝ่ายนักเคลื่อนไหวท้องถิ่นในจังหวัดสุราษฎร์ธานีว่า กรมป่าไม้และกองทัพร่วมมือกับนายทุนพยายามฟ้องขับไล่ชุมชนของเรา ผู้ใหญ่บ้านกะเหรี่ยงปกาเกอะญอแห่งหนึ่งในจังหวัดแม่ฮ่องสอนว่า แม้ คสช. มีคำสั่งที่ 66/2557 ไม่ฟ้องขับไล่คนจนออกจากป่า แต่เมื่อเรียกร้องคืนจะใช้เฉพาะคำสั่งที่ 64/2557 เท่านั้น[148]
เมื่อวันที่ 13 ตุลาคม กองทัพหยุดคาราวานชาวบ้านละหู่ซึ่งได้รับผลกระทบจากคำสั่งที่ 64/2557 มิให้เดินทางไปกรุงเทพมหานครเพื่อร้องทุกข์ต่อหัวหน้า คสช. ก่อนหน้านี้ วันที่ 16 สิงหาคม นายทหาร 50 นายและสมาชิกมาเฟียท้องถิ่น 2 คนข่มขู่ชาวบ้านชุมชนคลองไทรพัฒนา ค้นบ้านนักเคลื่อนไหว และออกคำสั่งให้ชาวบ้านออกจากพื้นที่ในเจ็ดวัน[148]
วันที่ 22 ตุลาคม ณัฐนันท์ วรินทรเวช นักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 5 และเลขาธิการกลุ่มการศึกษาเพื่อความเป็นไท ให้สัมภาษณ์ว่า มีทหารโทรศัพท์ถึงผู้อำนวยการโรงเรียนและถามหาเธอ ทั้งนี้ เธอเคลื่อนไหวเรียกร้องยกเลิกค่านิยม 12 ประการ เพราะเป็นการล้างสมอง และทำให้การศึกษาไทยถอยหลังลงคลอง ก่อนหน้านี้ กลุ่มฯ ชุมนุมหน้ากระทรวงศึกษาธิการแสดงจุดยืนคัดค้านค่านิยมดังกล่าว[149]
วันที่ 23 ตุลาคม พลตำรวจตรี อภิชาติ บุญศรีโรจน์ ผู้บังคับการตำรวจภูธรจังหวัดสุราษฎร์ธานี กล่าวหลังเกิดคดีฆ่าสองนักท่องเที่ยวชาวอังกฤษที่เกาะเต่า จังหวัดสุราษฎร์ธานี ว่า ห้ามแรงงานต่างชาติดื่มกินปนกับนักท่องเที่ยว หวังลดอาชญากรรม และเตรียมหามาตรการควบคุมแรงงานต่างชาติให้อยู่ในกรอบกฎหมาย[150]
วันที่ 7 พฤศจิกายน มติชนออนไลน์ รายงานอ้าง วาสนา นาน่วม ว่า กองกำลังรักษาความสงบมีคำสั่งให้ผู้บังคับบัญชาหน่วยทหารติดต่อกับแกนนำต่าง ๆ เพื่อขอให้งดเคลื่อนไหวทางการเมือง บุคคลเหล่านี้เป็นบุคคลที่เคยถูกออกคำสั่งเรียกตัวตั้งแต่หลังรัฐประหารแล้ว ทางทหารต้องการตอกย้ำข้อตกลง หากไม่ยอมร่วมมือจะมีมาตรการตั้งแต่กฎหมายปกติ ไปจนกฎอัยการศึกและรัฐธรรมนูญมาตรา 44[151]
วันที่ 14 พฤศจิกายน ไทยพีบีเอสถอดรายการ "เสียงประชาชนต้องฟังก่อนปฏิรูป" หลังมีนายทหารที่มีพันเอกเป็นผู้นำพบผู้บริหาร เพราะไม่พอใจการทำหน้าที่พิธีกรของ ณาตยา แวววีรคุปต์ ในเทป ""ฟังเสียงคนใต้ก่อนการปฏิรูป" ที่ออกอากาศเมื่อวันที่ 8 พฤศจิกายน[152]
วันที่ 15 พฤศจิกายน มีนายทหารกระชากตัวผู้สื่อข่าวหญิงซึ่งบันทึกภาพวิดีทัศน์เพื่อทำข่าวตามปกติที่ค่ายสุรนารี และยังมีนักข่าวอีกสองคนที่ถูกกระชากเสื้อและไล่ออกจากห้องเช่นกัน[153]
วันที่ 19 พฤศจิกายน โรงภาพยนตร์เครือเอเป๊ก สยามสแควร์ซึ่งประกอบด้วยลิโด้และสกล่ายกเลิกการฉายภาพนตร์ เกมล่าเกม 3 ม็อกกิ้งเจย์ ภาค 1 ที่จะฉายในวันรุ่งขึ้นเป็นวันแรก เจ้าหน้าที่ของโรงภาพยนตร์ดังกล่าวคนหนึ่งว่า ไม่ทราบสาเหตุ แต่อาจเกิดจากผู้นำเข้าภาพนตร์มาฉายตกลงกันไม่ได้ ก่อนหน้านี้ กลุ่มธรรมศาสตร์เสรีเพื่อประชาธิปไตยเชิญชวนให้ผู้ชมชูสัญลักษณ์สามนิ้วเข้าโรง นักศึกษาคนหนึ่งว่า ตำรวจโทรศัพท์ไปที่โรงภาพยนตร์ขอให้งดฉาย โดยจะคืนเงินที่จ่ายเหมาโรงให้[154] วันที่ 20 พฤศจิกายน ทางกลุ่มยังยืนยันจัดกิจกรรม ให้มารับตัวชมภาพยนตร์ได้ที่หน้าโรงภาพยนตร์สกาล่า สยามสแควร์ซอย 1 ตัวแทนกลุ่มให้สัมภาษณ์สื่อมวลชนว่า เป็นกิจกรรมที่ไม่เกี่ยวข้องกับการเมือง ไม่เชื่อมโยงกับกลุ่มดาวดิน รับรองว่าจะไม่ชูสามนิ้ว และยังว่า ปฏิบัติต่อกลุ่มดาวดินอย่างนี้แล้วจะสร้างประชาธิปไตยได้อย่างไร ฝ่ายนายตำรวจที่เข้าควบคุมสถานการณ์บอกว่า เรามีสามัญสำนึกถึงสิ่งที่ควรทำ ไปปลูกต้นไม้ กิจกรรมจิตอาสาดีกว่าทำแบบนี้ และฝากถึงอาจารย์รวมทั้งผู้ปกครองด้วย ขอให้ไปแสดงความเห็นทางการเมืองในเวทีปฏิรูป ที่เขาเปิดให้ ยืนยันว่าไม่จับแต่ต้องคุยกันปรับทัศนคติ นอกจากนี้ ยังมีการจับกุมนักศึกษาที่ขอค่าตั๋วภาพยนตร์คืน ซึ่งเขาเป็นนักศึกษาที่เคยอ่านหนังสือ หนึ่ง-เก้า-แปด-สี่ ในที่สาธารณะ และมีการจับกุมนักศึกษาที่ชูสามนิ้วที่พารากอน ซีนีเพล็กซ์ ต่อมา ตำรวจปล่อยตัวทั้งหมดโดยไม่แจ้งข้อหา[155]
วันที่ 30 มกราคม 2558 คสช. สั่งห้ามงานประชุมเรื่องการจำกัดสื่อของมูลนิธิฟรีดริช-เอแบร์ท-ชติฟทุงของเยอรมนี ซึ่งเป็นองค์การส่งเสริมประชาธิปไตยสังคมทั่วโลก ฝ่ายพันเอก วินธัย สุวารี โฆษก คสช. ว่า ผู้จัดงานควรให้สารสนเทศเกี่ยวกับงานล่วงหน้าแก่เจ้าหน้าที่ และถูกขอให้เลื่อนเพราะ "เราอยู่ในช่วงละเอียดอ่อน" ด้าน มานพ ทิพย์โอสถ โฆษกสมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย เปิดเผยว่า เจ้าหน้าที่ทหารกล่าวว่างานนี้อาจก่อความเสียหายและละเอียดอ่อนมาก[156]
วันที่ 6 กุมภาพันธ์ 2558 สำนักข่าวอิศรารายงานอ้างพันเอก วินธัย สุวารี โฆษกกองทัพบก กรณีมีกระแสข่าว คสช. ขอความร่วมมืองดล้อการเมืองในฟุตบอลประเพณีจุฬาฯ-ธรรมศาสตร์ครั้งที่ 70 ว่า คสช. ขอความร่วมมือ เนื่องจากการล้อเลียนกันไปมาอาจสร้างความขัดแย้งขึ้นอีกได้[157] ฝ่ายประชาไท รายงานเมื่อวันที่ 7 กุมภาพันธ์ (วันงาน) ว่า พลตำรวจตรี ชยพล ฉัตรชัยเดช ผู้บังคับการตำรวจนครบาล 6 รศ. ธนิต ธงทอง รองอธิการบดีจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และ ผศ. ปริญญา เทวานฤมิตรกุล รองอธิการบดีมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เข้าตรวจสอบขบวนล้อการเมือง ทั้งให้นักศึกษาอธิบายถึงแนวคิดของหุ่นล้อการเมืองแต่ละตัวอย่างละเอียด และเจ้าหน้าที่ได้กำชับไม่ให้กระทบแนวทางปรองดองและปฏิรูปของ คสช. ต่อมา เจ้าหน้าที่ความมั่นคงปิดประตูสนามกีฬาห้ามขบวนของมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์เข้า และขอให้นักศึกษาเก็บป้ายผ้าข้อความเสียดสีการเมืองทั้งหมด เหลือเพียงแต่หุ่นต่าง ๆ หลังการเจรจาสักพัก นักศึกษายินยอมเก็บป้ายผ้า เจ้าหน้าที่จึงเปิดประตูให้[158]
วันที่ 8 กุมภาพันธ์ 2558 พลตรี สรรเสริญ แก้วกำเนิด โฆษกรัฐบาลแถลงว่า รัฐบาลห้าม ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร เดินทางออกนอกประเทศเพื่อรับประกันให้เธออยู่ในประเทศเพื่อเผชิญข้อกล่าวหาอาญา[159]
วันที่ 16 มีนาคม 2558 สำนักข่าวต่างประเทศรายงานว่า นักเคลื่อนไหวสี่คนจากกลุ่มพลเมืองโต้กลับ (Resistant Citizen) เตรียมขึ้นศาลทหารในข้อหาละเมิดคำสั่งห้ามชุมนุมสาธารณะของ คสช. ฝ่าย สุนัย ผาสุก ที่ปรึกษาฮิวแมนไรท์ วอช ประเทศไทย เรียกคดีนี้ว่าเป็น "คดีหลักหมุด" (landmark case)[160]
วันที่ 17 เมษายน 2558 พลตรี สรรเสริญ แก้วกำเนิด กล่าวหา สมบัติ บุญงามอนงค์ ว่า การขายข้าวบรรจุถุงของสมบัติเป็นอีเวนต์ทางการเมือง พลตรีสรรเสริญยังว่า หากทำได้ อยากให้ช่วยรับซื้อข้าวในโครงการรับจำนำข้าวของรัฐบาลยิ่งลักษณ์เพื่อนำเงินมาชดเชยความเสียหายต่อประเทศนับแสนล้านบาท พร้อมเตือนสมบัติว่ายังอยู่ในรายชื่อผู้เคลื่อนไหวทางการเมืองที่เคยถูกเรียกปรับทัศนคติ อาจพิจารณามาตรการต่อไป[161]
วันที่ 22 พฤษภาคม 2558 อันเป็นวันครบรอบหนึ่งปีรัฐประหาร มีการจับนักศึกษา 7 คนที่จังหวัดขอนแก่น ซึ่งถือป้ายต้านรัฐประหาร และจับนักศึกษาศูนย์ประสานงานเยาวชนเพื่อสังคมนิยมประชาธิปไตย 13 คน ซึ่งต่อมาได้รับปล่อยตัว และต่อมา ตำรวจกักตัวอีกประมาณ 30 คนที่ชุมนุมนอกศูนย์ศิลปวัฒนธรรมกรุงเทพมหานครเมื่อเวลา 18.00 น.[162] วันที่ 23 พฤษภาคม หลังจากมีข่าวลือว่านักศึกษาผู้หนึ่งถูกไฟฟ้าช็อต มีเจ้าหน้าที่โครงการอินเทอร์เน็ตเพื่อกฎหมายประชาชน (ไอลอว์) ไปเยี่ยม และโพสต์ผ่านเฟซบุ๊กว่า นักศึกษาผู้นี้ถูกทำร้ายจริง แต่ไม่ถูกไฟฟ้าช็อต[163]
วันที่ 12 กุมภาพันธ์ 2559 พลตรี เฉลิมพล ศรีสวัสดิ์ ผู้บัญชาการกองพลทหารม้าที่ 2 รักษาพระองค์ กล่าวว่ามีการจัดกำลังทหารและตำรวจในงานฟุตบอลประเพณีจุฬาฯ-ธรรมศาสตร์ ครั้งที่ 71 โดยหากมีการแสดงสัญลักษณ์ที่เป็นปัญหาจะให้หยุดการแสดง และขู่ว่าหากมีการแสดงออกที่ทำให้เกิดความเสียหาย คราวหลังอาจไม่มีขบวนพาเหรด และการแปรอักษร[164]
แม้ว่าคสช.จะไม่สั่งปิดสื่อโดยตรง แต่กสทช. สั่งปิดสื่อหลายครั้ง โดยสั่งปิดครั้งละ 30 วัน กสทช. ยังได้รับการเพิ่มอำนาจในการปิดสื่อโดยไม่ต้องขอหมายศาลจากคณะรักษาความสงบแห่งชาติ[165]โดยมากสั่งปิด พีซทีวี (ประเทศไทย) วอยซ์ทีวี
"คืนความสุขให้คนในชาติ"
[แก้]คสช.จัดรณรงค์ "คืนความสุขให้คนในชาติ" โดยจัดการเฉลิมฉลองรับรัฐประหารซึ่งกองทัพจัดแสดงป๊อป โดยละเว้นการห้ามชุมนุมเกินห้าคน สำนักข่าวกรมประชาสัมพันธ์ประกาศว่าจะจัดเทศกาลดนตรีในสวนทุกวันพฤหัสบดี เริ่มตั้งแต่วันที่ 5 มิถุนายน ฝ่ายประยุทธ์จะจัดรายการรายสัปดาห์เพื่อสรุปงานของ คสช. ซึ่งจะไม่มีการตอบคำถามของสาธารณะ และสถานีวิทยุโทรทัศน์ทุกแห่งถูกบังคับให้แพร่สัญญาณ[166]
วันที่ 11 มิถุนายน ฐากร ตัณฑสิทธิ์ เลขาธิการ กสทช. กล่าวว่า คสช. ประสานงานให้ กสทช. จัดการถ่ายทอดสดการแข่งขันฟุตบอลโลก 2014 ทุกนัดผ่านโทรทัศน์ภาคพื้นดิน คือ สถานีวิทยุโทรทัศน์กองทัพบก, สถานีโทรทัศน์สีกองทัพบกช่อง 7 และช่อง 8 หลังศาลปกครองสูงสุดพิจารณาถึงที่สุดแล้ว พร้อมเชิญผู้แทนบริษัท อาร์เอส อินเตอร์เนชันแนล บรอดคาสติง แอนด์ สปอร์ต แมเนจเมนต์ จำกัด (อาร์เอสบีเอส) หารือแนวทางในการชดเชย[167] โดยฝ่ายอาร์เอส เสนอให้มีค่าชดเชยเป็นเงิน 766.515 ล้านบาท ต่อมาวันที่ 12 มิถุนายน คณะกรรมการกองทุนวิจัยและพัฒนากิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคม เพื่อประโยชน์สาธารณะ (กทปส.) และคณะกรรมการ กสทช. ประชุมพิจารณาการชดเชยดังกล่าว โดยออกมติให้ใช้กองทุน กทปส.ชดเชยให้อาร์เอสบีเอส เป็นเงินไม่เกิน 427.015 ล้านบาท[168] ด้านสมเกียรติ อ่อนวิมล นักวิชาการอิสระด้านสื่อสารมวลชน โพสต์เฟซบุ๊กว่า การใช้เงินดังกล่าวไม่สมควร ไม่เกิดประโยชน์ต่อชาติ ไร้สาระ และสูญเปล่า แนะนำว่า กสทช. ควรปฏิเสธ คสช. ไป เขาเสนอว่าเงินจำนวนดังกล่าวสามารถสร้างห้องสมุดประชาชนได้ทุกจังหวัด[169]
ด้าน พันเอก วินธัย สุวารี รองโฆษกกองทัพบกแถลงว่า คสช.ร่วมกับบริษัท สหมงคลฟิล์ม อินเตอร์เนชันแนล จำกัด, บริษัท พร้อมมิตร โปรดักชัน จำกัด และโรงภาพยนตร์จำนวน 160 แห่งทั่วประเทศ จัดกิจกรรมฉายภาพยนตร์ไทยเรื่อง “ตำนานสมเด็จพระนเรศวรมหาราช ภาค ๕ ยุทธหัตถี ” ให้ประชาชนทั่วไปเข้าชม ในวันที่ 15 มิถุนายน พ.ศ. 2557 รอบฉายเวลา 11:00 น. โดยไม่เสียค่าใช้จ่าย[170]
วันที่ 6 สิงหาคม 2557 มีผู้แทน คสช. รับมอบตั๋วภาพยนตร์ในโอกาสวันแม่แห่งชาติจำนวน 20,000 ใบจากบริษัท เมเจอร์ ซีนีเพล็กซ์ กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) เพื่อนำไปแจกจ่ายให้แม่ลูกมีกิจกรรมร่วมกัน[171]
ปฏิกิริยา
[แก้]ในประเทศ
[แก้]สนับสนุน
[แก้]หลังการประกาศกฎอัยการศึกเมื่อวันที่ 20 พฤษภาคม 2557 มีการเว็บเปิดหน้าเฟซบุ๊กชื่อ "กองอำนวยการรักษาความสงบเรียบร้อย"[172] ต่อมาหลังเกิดรัฐประหาร ก็ใช้หน้าเฟซบุ๊กเดียวกันนี้เผยแพร่ข้อมูลข่าวสารของ คสช.
ผู้ประท้วง กปปส. จำนวนมากยินดีกับประกาศรัฐประหาร ณ ที่ชุมนุม[173] พระสุวิทย์ ธีรธมฺโม ประกาศชัยชนะของผู้ประท้วงต่อต้านรัฐบาลบนเวทีก่อนขอให้ผู้ติตดามสลายตัวและกลับบ้าน[174] ทหารยิงปืนขึ้นฟ้าเพื่อสลายผู้ประท้วงสนับสนุนรัฐบาล แม้ยังมีผู้ปฏิเสธไม่ยอมกลับในทีแรก[173][175] ผู้ประท้วงกลุ่มสุดท้ายออกจากกรุงเทพมหานครในเย็นวันที่ 23 พฤษภาคม[176] คสช. จัดรถทหารเจ็ดสิบคันเพื่อส่งผู้ประท้วงทั้งสองฝ่ายกลับภูมิลำเนา[177]
มีรายงานประชาชนสนใจถ่ายรูปกับทหารและยานพาหนะของทหาร ทั้งมีการนำดอกไม้ อาหารและเครื่องดื่มมามอบให้ทหารในหลายพื้นที่ เช่น จังหวัดขอนแก่น[178] จังหวัดสุโขทัย[179] จังหวัดกาฬสินธุ์[180]
วันที่ 23 พฤษภาคม หนังสือพิมพ์ เดอะเนชั่น ออกบทบรรณาธิการว่า "เรามาถึงจุดนี้ได้เพราะนักการเมืองของเราไม่สามารถระงับความขัดแย้งของพวกเขาได้ด้วยวิธีปกติ และทหารใช้ความล้มเหลวซ้ำแล้วซ้ำเล่าของพวกเขาเป็นข้ออ้างลงมือ ตั้งแต่กำหนดกฎอัยการศึกและรัฐประหารในที่สุด ทุกกลุ่มซึ่งเกี่ยวข้องกับความขัดแย้งทางการเมืองเรื้อรังนี้ควรรับผิดชอบต่อผลลัพธ์แห่งความดื้อรั้นของตน พวกเขาควรเสียสละประโยชน์ส่วนตนแก่ผลประโยชน์ของชาติ"[181] นักวิชาการบางคนแย้งว่า ปัญหาของไทยไม่มีทางออกอื่นแล้ว[182]
มาร์ค วิลเลียมส์ (Mark Williams) แห่งบริษัทปรึกษาวิจัยเศรษฐกิจแคปิตอลอีโคโนมิกส์ (Capital Economics) กล่าวว่า "ตลาดหลักทรัพย์อาจต้อนรับรัฐประหาร" เพราะลดความไม่แน่นอนและความเป็นไปได้ของการเผชิญหน้าทางการเมืองซึ่งอาจทวีความรุนแรงขึ้นได้" แต่คาดว่าผลทางบวกจะเกิดขึ้นระยะสั้น ๆ[183]
วันที่ 25 พฤษภาคม พีระศักดิ์ พอจิต อดีตสมาชิกวุฒิสภาจังหวัดอุตรดิตถ์ ให้สัมภาษณ์ว่า คสช. ทำถูกแล้วที่ตัดสินใจยุบวุฒิสภา เพราะจะทำให้ คสช. ดำเนินการล่าช้า การให้ คสช. กุมอำนาจทั้งหมดเป็นการดี เนื่องจากทำให้ คสช. ดำเนินการได้รวดเร็ว และเชื่อว่าเหตุการณ์หลังจากนี้น่าจะสงบขึ้นตามลำดับ[184]
วันเดียวกัน มีการจัดการชุมนุมต่อต้านผู้ประท้วงรัฐประหารที่อนุสาวรีย์ประชาธิปไตย เรียกร้องให้ คสช. ปฏิรูปก่อนเลือกตั้ง วันที่ 26 พฤษภาคม กลุ่มข้าราชการกระทรวงการต่างประเทศจัดการชุมนุมคล้ายกัน[185]
ด้าน อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ มีท่าทีผสมกัน แม้เขาโพสต์ลงเฟซบุ๊กขออภัยที่ไม่สามารถผลักดันแผนปฏิรูปประเทศและปกป้องประชาธิปไตยได้[186] และพร้อมร่วมคัดค้านรัฐประหาร หาก คสช. ไม่มีคำตอบชัดเจนว่าจะปฏิรูปอะไรและประชาชนจะมีส่วนร่วมอย่างไร และมีผู้รักประชาธิปไตยที่แท้จริงเสนอประชาธิปไตยที่ดีกว่า[187] แต่เขาก็โพสต์สนับสนุนให้ คสช. ใช้มาตรการเข้มข้นขึ้นเพื่อรับมือกับการต่อต้านรัฐประหาร[188]
หนังสือพิมพ์เดอะนิวยอร์กไทมส์ รายงานหลังกองทัพจ่ายเงินในโครงการรับจำนำข้าวว่า กองทัพไทยเริ่มเครื่องจักรโฆษณาชวนเชื่อ และได้รับการช่วยเหลือจากสื่อไทยที่ส่วนใหญ่ "ยอมรับใช้" นับแต่รัฐประหาร หนังสือพิมพ์บ้านเมือง พาดหัวข่าวว่า "ชาวนารับเงินยิ้มทั้งน้ำตา" รายงานอื่นแสดงชาวนาเดินขบวนไปยังฐานทัพเพื่อมอบดอกกุหลาบและถือป้ายประกาศความปิติต่อผู้นำรัฐประหาร การเดินขบวนของชาวนาในจังหวัดภูเก็ต ลพบุรีและอุบลราชธานียังมีป้ายเดียวกันด้วย ชาวนาคนหนึ่งในอำเภอเชียงยืนให้สัมภาษณ์ว่า "ชาวนาจริงไม่ออกมาทำอย่างนั้นหรอก ชาวนาจริงวุ่นวายทำงานเกินไป"[189]
ชาวกรุงเทพมหานครจำนวนมากยินดีกับรัฐประหารหลังความขัดแย้งทางการเมืองนานเจ็ดเดือน กลุ่มผู้สนับสนุนสถาบันมองว่า ทหารเป็นผู้พิทักษ์ความเป็นหนึ่งเดียวของชาติ ผู้ชุมนุมนิยมกองทัพกล่าวว่า พวกตนยินดีกับรัฐประหารหากหมายถึงการขจัดอิทธิพลของทักษิณ ก่อนหน้ารัฐประหาร การนำเสนอข่าวท้องถิ่นจำนวนมากพรรณนาว่าทหารเป็นวีรบุรุษมาสู้กับนักการเมืองและตำรวจที่เป็นผู้ร้ายที่กินเงินใต้โต๊ะ รัฐประหารครั้งนี้ยิ่งตอกย้ำความแตกแยกของประเทศ[190] มีการตั้งกลุ่มสนับสนุนรัฐประหารอย่าง "สนับสนุน คสช."ฯ หรือ "สนับสนุนกองทัพไทย" ผู้ใช้เฟซบุ๊กคนหนึ่งว่า ผู้ประท้วงต่อต้านรัฐประหารพยายามทำลายความน่าเชื่อถือของกองทัพ และอีกจำนวนหนึ่งปัดคำวิจารณ์ของต่างชาติ และว่า คนต่างชาติไม่เข้าใจวิกฤตการณ์ของไทย ไม่เข้าใจว่าการฉ้อราษฎร์บังหลวงในประเทศไทยเลวร้ายเพียงใด[190]
นิพิฏฐ์ อินทรสมบัติ รองหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ เห็นว่าพลเอก ประยุทธ์ควรใช้อำนาจเด็ดขาด อย่าเป็นนักประชาธิปไตยเช่นที่ พลเอก สุรยุทธ์ จุลานนท์ ทำสมัยดำรงตำแหน่ง อย่าสนใจคำครหานินทาว่ามาจากรัฐประหาร หากทำดี แก้ปัญหาได้ ทำประเทศปรองดองได้ ทุกคนจะสรรเสริญ[191]
ศ.สมคิด เลิศไพฑูรย์ อธิการบดีมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ กล่าวว่า ตนไม่เคยสนับสนุนหรือส่งเสริมรัฐประหาร แต่ควรมองต่อไปว่าเมื่อเกิดรัฐประหารขึ้นแล้วจะทำอย่างไรให้ประเทศก้าวต่อไปข้างหน้า ดีกว่ามาคิดว่ารัฐประหารนี้ควรหรือไม่ "โจทย์ใหญ่วันนี้คือเราจะทำอย่างไรให้รัฐประหารซึ่งมีทั้งคนชอบและไม่ชอบจะไม่สูญเปล่า" และกล่าวว่า ไม่มีทางที่รัฐประหารจะอยู่ค้ำฟ้า อีกไม่นานก็จะกลับสู่วิถีประชาธิปไตย เขายังเชื่อว่า หากรัฐบาลยอมลาออกจากตำแหน่งจะไม่เกิดรัฐประหาร[192]
วันที่ 15 มิถุนายน สวนดุสิตโพล เผยผลสำรวจความสุขที่ประชาชนได้รับจาก คสช. ตั้งแต่วันที่ 22 พฤษภาคม ซึ่งถามความคิดเห็นของประชาชน 1,634 คนทั่วประเทศ ระหว่างวันที่ 10 ถึง 14 มิถุนายน โดยอันดับแรก คือ การชุมนุมทางการเมืองยุติ ทำให้บ้านเมืองสงบสุข[193]
สันติ วิริยะรังสฤษฎ์ ประธานกรรมการบริหาร และผู้ก่อตั้งวารสารการเงินธนาคาร เจ้าของนามปากกา ลม เปลี่ยนทิศ ผู้เขียนคอลัมน์ หมายเหตุประเทศไทย ในหนังสือพิมพ์ไทยรัฐ เขียนว่ารัฐประหารของ คสช. ครั้งนี้ประสบความสำเร็จและ คสช. ได้รับความชื่นชมจากประชาชนและนักธุรกิจทุกภาคส่วนมากขึ้น ควรที่ผู้นำชาติตะวันตกจะมาศึกษา ประชาชนรู้สึกดีต่อผู้นำที่มาจากรัฐประหาร เพราะไม่อยู่ภายใต้รัฐบาลจากการเลือกตั้งซึ่งมีการฉ้อราษฎร์บังหลวงและเรียกสินบนจากเอกชน รัฐประหารครั้งนี้เป็นการเรียกศรัทธาและความสุขให้คนไทย เขาหวังให้ประยุทธ์ปฏิรูปประเทศไทยด้วยระบบคุณธรรมและยุติธรรม อย่าปล่อยทิ้งไว้เหมือนรัฐประหารครั้งก่อน[194]
วันที่ 29 กันยายน พ.ศ. 2557 ศ.พิเศษ วิชา มหาคุณ กรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ กล่าวตอนหนึ่งว่า "หากวันนี้ไม่มีการยึดอำนาจ ประเทศคงจะพินาศไปแล้ว เพราะมีการข่าวชัดเจนว่ามีกองกำลังต่างชาติเข้ามา อีกทั้งหลากหลายภาคส่วนก็สามารถซื้อได้ด้วยเงิน"[195]
คัดค้าน
[แก้]ชาวไทยต่อต้านรัฐประหารอย่างจำกัด นักศึกษามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์จำนวนหนึ่งจัดกิจกรรมเดินขบวนไปยังอนุสาวรีย์ประชาธิปไตยเพื่อแสดงความไม่พอใจ[196] นักวิชาการชาวไทยมีปฏิกิริยารุนแรงต่อรัฐประหาร โดยส่วนใหญ่แสดงความกังวลอย่างจริงจังต่อผลกระทบเชิงลบต่อประชาธิปไตยและสิทธิมนุษยชนของไทย[182] กลุ่มอาจารย์มหาวิทยาลัยที่เรียกตนว่า สมัชชาปกป้องประชาธิปไตย (สปป.) ออกแถลงการณ์ในวันที่ 23 พฤษภาคม 2557 โดยเน้นสิทธิของบุคคล ในการคัดค้านรัฐบาล ที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย และขอให้ทหารปล่อยตัวผู้ถูกจับกุมทันที ในแถลงการณ์ สปป. กล่าวว่า
"การปกครองที่ดีนั้นไม่ใช่การปกครองด้วยการใช้กำลังบังคับข่มเหงเพียงอย่างเดียว แต่จะต้องทำให้ประชาชนยอมรับ ทำให้ประชาชนให้ความยินยอม เป็นผู้มีวาจาสัตย์ และเป็นที่ไว้เนื้อเชื่อใจของประชาชนทุกฝ่าย หากคณะรักษาความสงบแห่งชาติเห็นประชาชนเป็นศัตรูและมุ่งใช้กำลังข่มเหงเพียงอย่างเดียวเช่นนี้แล้ว ท่านก็จะต้องเผชิญกับการต่อต้านอย่างไม่รู้จบ และท่านก็จะปราบปรามประชาชนไปนับไม่ถ้วน จนกระทั่งท่านก็จะไม่เหลือประชาชนให้ปกครองอีกเลย"[197]
นอกจากนี้ สมาชิก สปป. ยังชุมนุมกันหน้าอาคารโดม มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ในวันเดียวกัน เพื่อแสดงท่าทีต่อต้านรัฐประหาร[198] นักวิชาการมหาวิทยาลัยเที่ยงคืนยังออกแถลงการณ์ประณามรัฐประหารและเรียกร้องให้คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติลาออก[199]
เวลา 14:45 น. บริเวณทางเข้าหอประชุมกองทัพบก เทเวศร์ เพชรรัตน์ วงศ์วิเศษ ชาวกรุงเทพมหานคร แสดงตัวขึ้นพร้อมป้ายที่แขวนคอไว้ มีข้อความว่า "ช่วยด้วย ฉันถูกปล้น" ซึ่งสื่อให้เห็นว่าเธอไม่เห็นด้วยกับรัฐประหารในครั้งนี้ และรู้สึกไม่พอใจที่ถูกทหารปล้นประชาธิปไตยและสิทธิเสรีภาพ รวมทั้งไม่พอใจที่คนไทยส่วนใหญ่เพิกเฉยต่อการกระทำดังกล่าว โดยสื่อต่างชาติให้ความสนใจเป็นอย่างมาก แต่ไม่นานก็เดินทางกลับ[200] และเวลา 16:55 น. มีกลุ่มประชาชนผู้ไม่เห็นด้วยกับรัฐประหารเริ่มตั้งกลุ่มชุมนุมบริเวณด้านหน้าหอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร แยกปทุมวัน[201]
เวลา 18:00 น. ประชาชนจังหวัดเชียงใหม่ได้ออกมารวมตัวกัน ณ ประตูช้างเผือก อำเภอเมืองเชียงใหม่ เพื่อต่อต้านการแทรกแทรงทางการเมืองของกองทัพ ตลอดจนการประกาศใช้กฎอัยการศึกเมื่อวันที่ 20 พฤษภาคม และรัฐประหาร[202] และเริ่มเคลื่อนขบวนออกจากประตูช้างเผือกไปตามถนนมณีนพรัตน์ฝั่งคูเมืองเชียงใหม่ด้านนอก มุ่งไปทางแจ่งศรีภูมิทางทิศตะวันออกของคูเมืองเมื่อเวลา 19.00 น.[202] เวลา 19:47 น. กลุ่มประชาคมจุฬาลงกรณ์เพื่อประชาชน ออกแถลงการณ์คัดค้านการทำรัฐประหารของ คสช. โดยขอให้ คสช. ประกาศยุบตัวเอง และให้คณะรัฐมนตรีรักษาการมาดำเนินการจัดการเลือกตั้งในทันที เพื่อเป็นการยืนยันว่า อำนาจทางอธิปไตยยังคงเป็นของประชาชน[203]
ในวันที่ 24 พฤษภาคม มีกลุ่มบุคคลจัดการประท้วงต่อต้านรัฐประหาร หน้าโรงภาพยนตร์เมเจอร์ซีนีเพล็กซ์ สาขารัชโยธินในกรุงเทพมหานคร ซึ่งมีทหารพร้อมโล่ปราบจลาจลประจำอยู่[204] ผู้ประท้วงอีกกลุ่มหนึ่ง มีความตั้งใจว่าจะเดินขบวน ไปยังอนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิ แต่ถูกกำลังทหารสกัดไว้[205] วันเดียวกัน คสช. เรียกนักวิชาการนิยมประชาธิปไตย แต่ผู้ถูกเรียกตัวกล่าวว่าจะไม่ยอมมอบตัวกับทหาร แม้ คสช. ขู่ว่าผู้ที่ไม่มารายงานตัวจะได้รับโทษอาญา[206][207] ในจังหวัดขอนแก่น นักศึกษาจัดพิธีลาประชาธิปไตยหน้าศูนย์การค้าเซ็นทรัลพลาซา ขอนแก่น ซึ่งมีเจ้าหน้าที่ทหารประจำอยู่[208] ในจังหวัดมหาสารคาม นักศึกษาจัดประท้วงต่อต้านรัฐประหารกลางนคร แต่ทหารมายึดอุปกรณ์ประท้วง รวมทั้งป้ายผ้า[209]
วันที่ 25 พฤษภาคม มีผู้ประท้วงต่อต้านรัฐประหารชุมนุมหน้าร้านอาหารแมคโดนัลด์ที่แยกราชประสงค์ ใจกลางกรุงเทพมหานคร แต่ทหารเข้ามายึดพื้นที่[210][211] ผู้ประท้วงอีกกลุ่มหนึ่งพยายามเดินขบวนจากอนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิไปยังแยกปทุมวัน แต่ทหารสกัดไว้[212]
วันที่ 1 มิถุนายน มีการนัดหมายชุมนุมต้านรัฐประหารโดยไม่แจ้งสถานที่ล่วงหน้า จึงมีการจัดเจ้าหน้าที่ทหารและตำรวจ 38 กองร้อยประจำอยู่ตามสถานที่สำคัญในกรุงเทพมหานคร หรือตามสถานที่ที่เคยมีการชุมนุม แต่วันนี้ไม่มีรายงานนัดชุมนุมในพื้นที่ซึ่งมีทหารและตำรวจประจำอยู่ ที่ลานหน้าห้างเทอร์มินัล 21 มีผู้ชุมนุมหลายสิบคนชูสัญลักษณ์สามนิ้วแบบภาพยนตร์เรื่องเกมล่าชีวิต ต่อมา เจ้าหน้าที่พยายามเข้าจับกุมและปิดห้างเทอร์มินัล 21 มีรายงานผู้ถูกจับกุม 4 คน[213] สัญลักษณ์สามนิ้วเป็นตัวแทนของความเสมอภาค เสรีภาพและภราดรภาพ[214] กองทัพประกาศว่าจะจับทุกคนที่ใช้สัญลักษณ์ดังกล่าว[215]
วันที่ 10 มิถุนายน เรืออากาศตรี ฉลาด วรฉัตร ฟ้อง คสช. ปลัดกระทรวง และเจ้ากรมพระธรรมนูญ รวม 28 คน ในความผิดต่อองค์พระมหากษัตริย์ไทยและความผิดฐานกบฏ จากการประกาศใช้กฎอัยการศึกและยึดอำนาจการปกครองประเทศ[216]
ต่อมา แซนด์วิชกลายเป็นสัญลักษณ์ต่อต้านรัฐประหารใหม่ โดยมีการจัดกิจกรรมแจกแซนด์วิชให้แก่ผู้ที่ต้องการ และตะโกนว่า "แซนด์วิชเพื่อประชาธิปไตย!"[217] วันที่ 22 มิถุนายน นักศึกษาคนหนึ่งที่กำลังทานแซนด์วิช และอ่านหนังสือหนึ่ง-เก้า-แปด-สี่ ของจอร์จ ออร์เวลล์ อยู่หน้าสยามพารากอน และกลุ่มนักเคลื่อนไหว ศูนย์นิสิตนักศึกษาเพื่อประชาธิปไตยแห่งประเทศไทย ที่จะจัดกิจกรรมแซนด์วิชในที่เดียวกันถูกควบคุมตัวและถูกกักขังในภายหลัง[218]
วันที่ 24 มิถุนายน 2557 มีการเผยแพร่คลิป จารุพงศ์ เรืองสุวรรณ อดีตหัวหน้าพรรคเพื่อไทย อ่านแถลงการณ์ก่อตั้งองค์กรเสรีไทยเพื่อสิทธิมนุษยชนและประชาธิปไตย ในเพจ "องค์กรเสรีไทย" นอกจากนี้ ยังมีคลิปแถลงการณ์ภาษาอังกฤษของจักรภพ เพ็ญแข ในเพจเดียวกัน ก่อนหน้านี้ เว็บไซต์พรรคเพื่อไทยรายงานว่า จารุพงศ์ยื่นหนังสือลาออก จากการเป็นหัวหน้าพรรคเพื่อไทย โดยให้มีผลตั้งแต่วันที่ 16 มิถุนายน[219]
วันที่ 19 พฤศจิกายน 2557 นักศึกษาห้าคนถูกควบคุมตัวจากการชูสัญลักษณ์สามนิ้วจากภาพยนตร์ เกมล่าเกม ในงานที่พลเอกประยุทธ์กำลังกล่าวที่จังหวัดขอนแก่น สื่อท้องถิ่นรายงานว่า เขาไม่รู้สึกถูกกวนใจและถามว่า "มีใครอยากประท้วงอีกไหม"[220] ประชาไท เผยแพร่บทสัมภาษณ์นักศึกษาทั้งห้าดังกล่าวว่า มีทหารมาสอบสวน ให้ยืนติดกำแพง ให้ยอมรับว่าพวกเขาผิด แต่พวกเขาไม่ยอมรับ ต่อมาทหารนายนั้นแข็งขึ้น ให้เลือกสองข้อว่าจะยอมรับผิดและได้ปล่อยตัว หรือไม่ยอมรับและสิ้นสภาพนักศึกษา ทั้งห้าคนเลือกข้อหลัง มีการบังคับถอดเสื้อ ซึ่งนักศึกษาก็ไม่ยอมถอด จนมีการสั่งให้สารวัตรทหารเข้ามาถอด เมื่อยังดึงดันไม่ยอมรับ ทหารจะเอาครอบครัวมากดดัน[221] ต่อมา ทั้งห้าได้รับการปล่อยตัว โดยไม่มีการตั้งข้อหา ทั้งนี้ มีสามคนลงลายมือชื่อรับเงื่อนไขไม่เคลื่อนไหวอีก นักศึกษาคนหนึ่งว่า งงเหมือนกันที่ได้ปล่อยตัว แต่จากกรณีนี้ทำให้เห็นว่ากฎอัยการศึกใช้กับพวกเขาไม่ได้ เพราะไม่ว่าจะยอมหรือไม่ยอมเซ็น ก็ได้ปล่อยตัว และไม่มีโทษทางกฎหมาย[222]
เครือข่ายนักวิชาการเพื่อสิทธิพลเมือง
[แก้]เครือข่ายนักวิชาการเพื่อสิทธิพลเมือง หรือ คนส.[223] เป็นกลุ่มของอาจารย์มหาวิทยาลัยและนักวิชาการที่รวมตัวกันทำกิจกรรมด้านสิทธิมนุษยชนและสิทธิพลเมืองหลังรัฐประหารในประเทศไทย พ.ศ. 2557 กิจกรรมของกลุ่มที่ผ่านมามีทั้งการสัมมนาทางวิชาการ การออกแถลงการณ์ต่อสถานการณ์ และกิจกรรมเชิงวัฒนธรรม
ประเด็นที่คนสนใจมักเป็นประเด็นที่เกี่ยวข้องกับสิทธิทางการเมือง[224][225][226] สิทธิในกระบวนการยุติธรรม[227][228] เสรีภาพการแสดงออก[229] เสรีภาพทางวิชาการ[230] สิทธิเสรีภาพของนักศึกษา[231][232][233] การทำกิจกรรมของเครือข่ายนักวิชาการเพื่อสิทธิพลเมืองมักถูกจับตาจากเจ้าหน้าที่รัฐ[234]การพยายามสืบทอดอำนาจของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ[235] และในหลายครั้งผู้ร่วมกิจกรรมถูกดำเนินคดี โดยเฉพาะข้อกล่าวหาฝ่าฝืนคำสั่งหัวหน้าคสช.ที่ 3/2558 ที่ห้ามการชุมนุมตั้งแต่ห้าคนขึ้นไป[236][237]สมาชิกส่วนหนึ่งของเครือข่ายนักวิชาการเพื่อสิทธิพลเมือง เช่น พิชิต ลิขิตกิจสมบูรณ์ รองศาสตราจารย์ประจำคณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์, พิชญ์ พงษ์สวัสดิ์ อาจารย์ประจำคณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, ยุกติ มุกดาวิจิตร อาจารย์ประจำคณะสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เป็นสมาชิกของสมัชชาปกป้องประชาธิปไตย (สปป.) ซึ่งเป็นเครือข่ายนักวิชาการที่ทำกิจกรรมรณรงค์ในช่วงก่อนรัฐประหาร 2557
เดือนพฤษภาคม 2558 กลุ่มพลเมืองฟ้องกลับ ฟ้องคดีต่อประยุทธ์ จันทร์โอชาในข้อหากบฏ อันเป็นความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 113 อย่างไรก็ตามศาลยติธรรมทั้งสามชั้นไม่รับไต่สวนมูลฟ้อง[238]
ต่างประเทศ
[แก้]กฎอัยการศึก
[แก้]โฆษกกระทรวงการต่างประเทศสหรัฐอเมริกา แถลงว่ารับทราบการประกาศกฎอัยการศึกในไทยแล้ว พร้อมทั้งกำลังติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิด แต่ยังมีความกังวลอย่างยิ่ง ต่อวิกฤตการเมืองไทยซึ่งถลำลึกยิ่งขึ้น และเรียกร้องทุกฝ่าย เคารพหลักการประชาธิปไตย รวมถึงเคารพเสรีภาพในการสื่อสาร สหรัฐอเมริกามีความเข้าใจว่า กองทัพบกประกาศว่าไม่ใช่รัฐประหาร และตั้งความหวังว่ากองทัพบกจะยึดมั่นว่าเป็นเรื่องชั่วคราว เพื่อป้องกันเหตุรุนแรง และไม่บ่อนทำลายสถาบันประชาธิปไตย โดยทุกฝ่ายต้องร่วมกัน แก้ไขความขัดแย้งด้วยการเจรจา เพื่อแสวงหนทางเดินหน้าต่อไป และตอกย้ำให้เห็นความจำเป็นของการเลือกตั้ง ซึ่งจะชี้วัดความปรารถนาของประชาชนไทย[239]
ขณะที่รัฐบาลญี่ปุ่น แสดงความวิตกกังวลอย่างมาก และเรียกร้องให้ทุกฝ่ายอดกลั้น ไม่ใช้ความรุนแรง เช่นเดียวกับนักลงทุนญี่ปุ่นในไทย ที่แสดงความวิตกกังวลอย่างมาก โดยเฉพาะบริษัทผลิตรถยนต์ ทั้งฮอนดา, โตโยตา และนิสสัน[240] สหภาพยุโรปเรียกร้องให้เกิดการเลือกตั้งในประเทศไทย เพื่อให้มีรัฐบาลที่ชอบด้วยกฎหมาย ขอให้ทุกฝ่ายร่วมมือกัน เพื่อผลประโยชน์ของไทยเอง รวมทั้งขอให้กองทัพ เคารพสิทธิมนุษยชนและเสรีภาพสื่อมวลชน[241]
รัฐประหาร
[แก้]จนถึงวันที่ 3 มิถุนายน 2557 มี 19 ประเทศเตือนให้พลเมืองเลี่ยงการเดินทางเข้าประเทศไทยหากไม่จำเป็น และ 43 ประเทศเตือนให้พลเมืองระมัดระวังหากเดินทางเข้าประเทศไทย ตลอดจนควรติดตามสถานการณ์และเลี่ยงสถานที่ชุมนุม[242]
- องค์การเหนือรัฐ
- สหภาพยุโรป – โฆษกสหภาพยุโรปออกแถลงการณ์ “เราเฝ้าติดตามการพัฒนาในประเทศไทยด้วยความวิตกอย่างยิ่ง กองทัพต้องยอมรับและเคารพอำนาจของประชาชนตามรัฐธรรมนูญ อันเป็นหลักการพื้นฐานของการปกครองระบอบประชาธิปไตย...เราเรียกร้องให้ทุกฝ่ายยับยั้งชั่งใจ และทำงานร่วมกันเพื่อประโยชน์ของประเทศ”[243]
- สหประชาชาติ –
- พัน กี-มุน เลขาธิการสหประชาชาติ ออกแถลงผ่านโฆษกแสดงความกังวลเกี่ยวกับรัฐประหารดังกล่าว โดยเรียกร้องให้ "กลับคืนสู่การปกครองตามรัฐธรรมนูญ โดยพลเรือน เป็นประชาธิปไตยโดยเร็ว" และความเคลื่อนไหวสู่ความร่วมมือระหว่างทุกฝ่าย[244]
- เนวี พิลเลย์ ข้าหลวงใหญ่สิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติ ประณามรัฐประหาร เธอกล่าวว่าสำนักงานของเธอเฝ้าติดตามสถานการณ์ในห้าเดือนที่ผ่านมา และเธอ "กังวลอย่างยิ่งเกี่ยวกับการแทนที่รัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้ง การกำหนดกฎอัยการศึก การระงับรัฐธรรมนูญและมาตรการฉุกเฉินซึ่งจำกัดความสำราญแห่งสิทธิมนุษยชนด้วยกำลัง" เธอยังกระตุ้นให้ฟื้นฟูหลักนิติธรรมในประเทศไทยโดยเร็ว[245]
- วันที่ 5 กุมภาพันธ์ 2558 สำนักข้าหลวงใหญ่สิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติส่งหนังสือถึงผู้บังคับการจังหวัดทหารบกสุราษฎร์ธานี แสดงความเป็นห่วงกรณีการละเมิดสิทธิชุมชน กรณีการเรียกตัวแกนนำชาวบ้านชุมชนเพิ่มทรัพย์เข้าปรับทัศนคติ และกรณีทหารสั่งให้ชาวบ้านออกนอกพื้นที่[246]
- ภาครัฐ
- อาร์เจนตินา - อาร์เจนตินา กล่าวว่า "ต่อไปด้วยความกังวลเหตุการณ์ในประเทศไทยและทำให้" อุทธรณ์ไปยังการฟื้นฟูอย่างเต็มรูปแบบของคำสั่งรัฐธรรมนูญและการถือครองของ เลือกตั้งตามระบอบประชาธิปไตย "ในขณะที่เรียกร้องให้" ให้แน่ใจว่าการเคารพสิทธิมนุษยชน. "[247]
- ออสเตรเลีย – รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ จูลี บิชอป แสดงออกว่าเธอ "กังวลอย่างยิ่ง" ต่อรัฐประหาร และอธิบายสถานการณ์ว่า "ไม่แน่นอน" เธอยังกระตุ้นให้นักท่องเที่ยวชาวออสเตรเลียใช้ความระมัดระวังและให้ความสนใจต่อความปลอดภัยของตนอย่างใกล้ชิด[248] ออสเตรเลียยังลดความสัมพันธ์กับไทย ห้ามผู้นำรัฐประหารเข้าประเทศ และเลื่อนกิจกรรมทางทหารกับกองทัพไทย[249]
- กัมพูชา – ข้าราชการกัมพูชาแสดงความกังวลว่าอาจเกิดความตึงเครียดขึ้นที่ชายแดนกัมพูชา–ไทย โฆษกคณะรัฐมนตรี ปาย สิฟาน (Phay Siphan) กล่าวว่า "เราปรารถนาเห็น[รัฐประหาร]นี้ไม่เป็นอันตรายต่อการเปลี่ยนผ่านประชาธิปไตย การรักษาสันติภาพและเสถียรภาพ และยังเคารพ[และคุ้มครอง]เจตจำนงและผลประโยชน์ของชาวไทย" และเสริมว่าไม่คาดว่าจะมีความเปลี่ยนแปลงที่ชายแดนกัมพูชา–ไทย สิฟานยังกล่าวว่า รัฐบาลกัมพูชาจะเคารพผลประโยชน์ร่วมกันระหว่างสองประเทศเสมอ[250]
- ชิลี - ชิลีประณามการทำรัฐประหารและเรียกร้องในการแถลงข่าว "การยกเว้นจากรูปแบบของความรุนแรงหรือการปราบปรามใด ๆ และการเคารพสิทธิและเสรีภาพ" [251]
- จีน – กระทรวงการต่างประเทศออกแถลงการณ์สั้น ๆ แสดงความกังวลต่อสถานการณ์และหวังให้ความสงบเรียบร้อยกลับคืนสู่ประเทศไทย[252]
- โคลอมเบีย - กระทรวงการต่างประเทศโคลัมเบียได้กล่าวย้ำถึงความกังวลเกี่ยวกับสถานการณ์ในประเทศไทยและแสดงความไม่พอใจต่อการฝ่าฝืนคำสั่งสถาบันโดยกองกำลังสาธารณะของประเทศนั้น โคลัมเบียเรียกร้องให้มีการเจรจาระหว่าง "ประเทศที่เป็นมิตร" ของราชอาณาจักรไทยและกองกำลังสาธารณะในระบอบประชาธิปไตยเพื่อฟื้นฟูความสงบเรียบร้อย ประเทศอเมริกาใต้แห่งนี้ได้ยุติคำแถลงที่อ้างถึง "การเคารพและปฏิบัติตามสิทธิมนุษยชนและการประกันรัฐธรรมนูญเพื่อประชาชนไทยทุกคน"[253]
- ฝรั่งเศส – ฟร็องซัว ออล็องด์ ประธานาธิบดีฝรั่งเศส ประณามรัฐประหารของไทย โดยสำนักเลขาธิการของออล็องด์ระบุว่า “ฝรั่งเศสเรียกร้องให้นำเอารัฐธรรมนูญกลับคืนมาเพื่อจัดการเลือกตั้ง และให้เคารพสิทธิขั้นพื้นฐานของประชาชนด้วย”[254]
- เยอรมนี – รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศของเยอรมนี ฟรังค์-วัลเทอร์ ชไตน์ไมเออร์ ออกแถลงการณ์ประณามรัฐประหาร เรียกร้องให้จัดการเลือกตั้งและฟื้นฟูการคุ้มครองตามรัฐธรรมนูญโดยเร็ว[255]
- ญี่ปุ่น – ฟูมิโอะ คิชิดะ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศญี่ปุ่น ออกแถลงการณ์เรียกร้องให้ฟื้นฟูประชาธิปไตยในประเทศไทยโดยเร็ว[256]
- มาเลเซีย – กระทรวงการต่างประเทศแนะนำให้พลเมืองมาเลเซียหลีกเลี่ยงการเดินทางมาประเทศไทยในขณะนี้และเลื่อนการเยือนประเทศไทยที่ไม่จำเป็น ทั้งแนะนำให้พลเมืองมาเลเซียในประเทศไทยปฏิบัติตามการห้ามออกจากเคหสถานเวลาค่ำคืนเพื่อความปลอดภัยส่วนบุคคลและเหตุผลด้านความมั่นคง[257] ขณะเดียวกัน อดีตนายกรัฐมนตรี มหาเธร์ โมฮัมหมัด ออกความเห็นว่า รัฐประหารในประเทศไทยจะไม่กระทบต่อประเทศมาเลเซียในด้านการเมืองหรือเศรษฐกิจ[258]
- พม่า – ผู้บัญชาการทหารสูงสุดของพม่า พลเอก มิน อ่อง หล่าย (Min Aung Hlaing) แสดงการสนับสนุนรัฐประหารดังกล่าว โดยกล่าวว่า "ผมมั่นใจว่าสิ่งที่กองทัพไทยกำลังทำอยู่นี้เป็นแนวทางปฏิบัติที่เหมาะสมที่สุด เพราะกองทัพมีบทบาทสำคัญในการรักษาความมั่นคงของประเทศและดูแลความปลอดภัยของประชาชน" โดยเปรียบกับการก่อการกำเริบ 8888 ในประเทศพม่า ซึ่งมีผู้เสียชีวิตหลายพันคน[259]
- รัสเซีย – กระทรวงการต่างประเทศรัสเซียเรียกร้องให้หวนคืนสู่กระบวนการการเมืองและการคุ้มครองตามรัฐธรรมนูญโดยเร็ว [260]
- สิงคโปร์ – โฆษกกระทรวงต่างประเทศของสิงคโปร์แถลงด้วยความหวังว่าทุกฝ่ายจะอดกลั้นและร่วมมือกันเพื่อผลลัพธ์ที่เป็นบวก ความไม่แน่นอนทางการเมืองที่ยืดเยื้อจะฉุดให้ไทยและชาติอาเซียนโดยรวมก้าวถอยหลัง และหวังว่าสถานการณ์จะกลับคืนสู่ปกติโดยเร็ว[261]
- สหราชอาณาจักร – รัฐมนตรีกระทรวงการต่างประเทศ วิลเลียม เฮก ออกแถลงการณ์กระตุ้นให้ "ฟื้นฟูรัฐบาลพลเรือนที่มาจากการเลือกตั้งตามระบอบประชาธิปไตย เพื่อบริการประชาชนและบรรลุพันธกรณีสิทธิมนุษยชน"[262]
- สหรัฐ – กระทรวงกลาโหมสหรัฐ กล่าวว่า กำลังทบทวนความช่วยเหลือแบบกองทัพต่อกองทัพ และการเกี่ยวพันกับประเทศไทย โดยอาจจะรวมถึงการซ้อมรบร่วมที่กำลังดำเนินอยู่ในประเทศไทย ซึ่งกองทัพสหรัฐส่งนาวิกโยธินและทหารเรือเข้าร่วมประมาณ 700 นาย[263] สหรัฐอเมริการะงับเงินช่วยเหลือทางทหารแก่ประเทศไทยมูลค่า 3.5 ล้านดอลล่าร์สหรัฐจากเงินช่วยเหลือรวม 10.5 ล้านดอลล่าร์สหรัฐ[264] และยกเลิกข้อผูกพันทางทหาร รวมทั้งการเยือนและการฝึกทหาร[265] นอกจากนี้ ยังกระตุ้นให้นักท่องเที่ยวยกเลิกการเดินทางและชะลอการเยือนของข้าราชการที่ไม่จำเป็น[266]
วันที่ 6 กุมภาพันธ์ 2558 สำนักข่าวเอเอฟพีรายงานว่า ทูตสหรัฐคนหนึ่งเตือนเมื่อวาน (5 กุมภาพันธ์) ว่า สหรัฐจะไม่ฟื้นพันธมิตรทางทหารกับไทยอย่างสมบูรณ์ตราบเท่าที่รัฐบาลปฏิเสธฟื้นฟูประชาธิปไตย "ต้องมีการฟื้นฟูทั้งสถาบันวิธีการปกครองและความยุติธรรมตลอดจนการฟื้นฟูอย่างสมบูรณ์ซึ่งรัฐบาลพลเรือนจากการเลือกตั้งตามระบอบประชาธิปไตยอย่างถูกต้อง"[267]
ในถ้อยแถลงอีเมล เมลิสซา สวีนีย์ (Melissa Sweeney) โฆษกสถานเอกอัครราชทูต กล่าวว่า ทางการสหรัฐ "ตัดสินใจปีนี้ว่าจะดำเนินการด้วยการฝึกคอบร้าโกลด์ 2015 ที่มุ่งความสนใจใหม่และปรับลดขนาดอย่างสำคัญ เมื่อพิจารณาการโค่นรัฐบาลพลเรือนของกองทัพไทย" คือ จะเน้นการช่วยเหลือทางมนุษยธรรมและการบรรเทาภัยพิบัติ แม้ยังมีการฝึกยิงกระสุนจริงบ้าง ขนาดทหารสหรัฐลดลงเหลือ 3,600 นายจาก 4,300 นายเมื่อปีที่แล้ว[268] วันที่ 9 กุมภาพันธ์ ดับเบิลยู. แพทริก เมอร์ฟี อุปทูตสหรัฐประจำประเทศไทย กล่าวในพิธีเปิดคอบร้าโกลด์ตอนหนึ่งว่า "เราปฏิเสธไม่ได้ว่าช่วงนี้เป็นช่วงท้าทายและจำเป็นต้องมีคอบร้าโกลด์ดัดแปลงระหว่างที่ประเทศไทยจัดการหวนคืนสู่ประชาธิปไตย" ฝ่ายเอียน สโตรีย์ (Ian Storey) วุฒิบัณฑิตสถาบันเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ศึกษาในสิงคโปร์ กล่าวว่า การยกเลิกคอบร้าโกลด์จะสร้างโอกาสให้รัฐบาลจีนเสริมความสัมพันธ์ยุทธศาสตร์กับรัฐบาลไทย ซึ่งชัดเจนว่าไม่อยู่ในผลประโยชน์ของรัฐบาลสหรัฐในบริบทการแข่งขันสหรัฐ-จีนในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้[269]
- นอกภาครัฐ
- มีกลุ่มนักวิชาการไทยศึกษาจำนวน 26 คน จาก 7 ประเทศ ลงนามยื่นจดหมายเปิดผนึกแก่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา โดยแสดงความไม่เห็นด้วยต่อรัฐประหารครั้งนี้ รวมถึงท้วงติงข้อความบางจุดในประกาศ คสช. ฉบับที่ 1/2557 ลงวันที่ 22 พฤษภาคม พ.ศ. 2557 จากประโยคที่ว่า "ขอให้ประชาชนอยู่ภายใต้ความสงบเรียบร้อย และดำเนินชีวิตต่อไปตามปกติ" ว่าดูขัดแย้งกับความจริงว่าการดำรงชีวิตตามปกติภายใต้ประกาศนี้ไม่สามารถทำได้ เนื่องจาก "การประหาร" รัฐนั้นคือความรุนแรงอย่างชัดแจ้ง และกองทัพต้องคืนอำนาจทั้งหมดให้แก่ประชาชนโดยเร็ว[270]
- องค์การนิรโทษกรรมสากลออกแถลงการณ์ว่า การจับกุมนักเคลื่อนไหวต่อต้านรัฐประหารอย่างสันติเป็น "บรรทัดฐานอันตราย" และ "การรักษาความสงบเรียบร้อยไม่อาจเป็นข้ออ้างละเมิดสิทธิมนุษยชนได้" นอกจากนี้ ยังกระตุ้นให้ คสช. เปิดเผยที่อยู่ของผู้ที่ถูกจับกุมและกักขัง[271]
- คณะกรรมาธิการสิทธิมนุษยชนแห่งเอเชียประณาม คสช. ที่คุกคามนักวิชาการและนักเคลื่อนไหว โดยเรียกร้องให้ปล่อยตัวผู้ถูกกักขังทันที และแสดงความกังวลอย่างยิ่งต่อการเสื่อมถอยของการคุ้มครองสิทธิมนุษยชนอย่างรวดเร็วในประเทศไทย[272]
- ฮิวแมนไรท์วอทช์:
- อธิบายการกระทำของ คสช. ว่าเป็นการใช้ "อำนาจกฎอัยการศึกโหด" และเรียกร้องให้เลิกใช้ทันที ผู้อำนวยการเอเชีย แบรด อดัมส์ (Brad Adams) ระบุว่า "กองทัพไทยต้องรับรองว่ารัฐบาลควรกำหนดโดยบัตรเลือกตั้ง ไม่ใช่ลูกปืน"[273]
- วันที่ 20 กันยายน 2557 ฮิวแมนไรท์วอทช์เรียกร้องให้รัฐบาลไทยและกองทัพยกเลิกการปราบปรามสัมมนาวิชาการและเคารพเสรีภาพในการแสดงออก[141]
- วันที่ 6 กุมภาพันธ์ 2558 ฮิวแมนไรท์วอทช์เรียกร้องอีกให้ชินโซ อะเบะ นายกรัฐมนตรีญี่ปุ่น กดดันให้ประยุทธ์พัฒนาสิทธิมนุษยชนและฟื้นฟูการปกครองโดยพลเรือนตามระบอบประชาธิปไตย[274]
- สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศพม่า แถลง แสดงความเป็นห่วงเสรีภาพสื่อไทยที่ถูกรัฐบาลทหารปิดกั้น นอกจากนี้ยังเรียกร้อง คสช. ให้ยกเลิกคำสั่งที่กระทบต่อเสรีภาพของสื่อมวลชน และปล่อยตัวผู้สื่อข่าวที่ถูกควบคุมตัว หากจริงใจต่อการปรองดองและปกป้องประชาธิปไตยจริง[275]
- กลุ่มนักศึกษาชาวไทยและต่างประเทศในประเทศญี่ปุ่น 20 คน ชุมนุมเชิงสัญลักษณ์ต่อต้านรัฐประหาร โดยสวมหน้ากากบุคคลต่าง ๆ[276]
- นักแสดง เกมล่าชีวิต แสดงการสนับสนุนผู้ประท้วงต่อต้านรัฐประหารที่ใช้สัญลักษณ์สามนิ้วของภาพยนตร์เป็นวิธีแสดงการคัดค้าน นาตาลี ดอร์เมอร์ (Natalie Dormer) อธิบายการใช้สัญลักษณ์ดังกล่าวว่า "เหลือเชื่อ" และว่า "สิ่งใดซึ่งกระตุ้นผู้คนในทางบวกที่จะต่อสู้กับการกดขี่ไม่อาจถูกวิจารณ์ได้ในทุกสภาพหรือรูปแบบ"[215]
- โนม ชัมสกี กล่าวว่า เขารู้สึก "รบกวนจิตใจอย่างยิ่งเมื่อทราบเกี่ยวกับคำขู่ต่อรองศาสตราจารย์ ปวิน ชัชวาลพงศ์พันธ์" และหวังว่าคำขู่เหล่านั้นจะถูกถอนไปโดยเร็วและปวินสามารถ "ใช้ชีวิตได้ตามปกติโดยปราศจากการบังคับของรัฐบาล"[277]
- วันที่ 4 กุมภาพันธ์ 2558 กลุ่มสมาชิกรัฐสภาอาเซียนเพื่อสิทธิมนุษยชน กล่าวว่า สถาบันที่ทหารแต่งตั้งของไทยไม่มีความชอบธรรมตามระบอบประชาธิปไตยใด ๆ และควรเลิกผ่านกฎหมายใหม่ทันที นอกจากนี้ ยังกังวลต่อแผนรวมคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติกับสำนักงานอัยการสูงสุด[278]
- วันที่ 8 กุมภาพันธ์ ไฟแนนเชียลไทมส์ รายงานว่า ขณะนี้ประเทศไทยเหมาะกับคำว่า "มาตรฐานเผด็จการด้อยกว่า" กว่าประเทศพม่า และผู้นำรัฐประหารเป็นส่วนหนึ่งของปัญหาการเมืองไทย ไม่ใช่ทางแก้ มีข้อสงสัยว่า คณะผู้ยึดอำนาจการปกครองต้องการอยู่ในอำนาจให้นานพอจัดการธุระการสืบราชสันตติวงศ์เมื่อพระมหากษัตริย์เสด็จสวรรคต นอกจากนี้ ยังเปลี่ยนกฎให้นักการเมืองซึ่งคณะฯ ถือว่าเป็นนักอิงสามัญชนไร้ความรับผิดชอบไม่ได้รับเลือกตั้งอีก อันเป็นวิสัยทัศน์ "ประชาธิปไตยแบบถูกจัดการ" หนังสือพิมพ์สรุปว่า รัฐประหารครั้งนี้เป็นการแก้แค้น มิใช่นิติธรรม[279]
- วันที่ 9 กุมภาพันธ์ นิวยอร์กไทมส์ รายงานว่า ผู้นำทหารพยายามใช้ "กระสุนกระดาษ" หมายถึง เอกสารคดีจำนวนมากเพื่อควบคุมฝ่ายตรงข้าม เช่น เอกสารยินยอมให้ คสช. ยึดทรัพย์หากมีส่วนร่วมทางการเมือง นอกจากนี้ยังอาศัยการดำเนินคดีรวมถึงวิธีการตีความกฎหมายแบบลื่นไหลของศาลไทยและรัฐบาลจากรัฐประหารเพื่อกำจัดฝ่ายตรงข้ามทางการเมือง ก่อนการคืนสู่การปกครองระบอบประชาธิปไตยใด ๆ บรรดาแม่ทัพและพันธมิตรในหมู่อภิชนไทยกำลังมุ่งรื้อขบวนการทางการเมืองซึ่งเป็นที่นิยมที่สุดในประวัติศาสตร์ไทยสมัยใหม่ คือ พรรคการเมืองของทักษิณ ชินวัตร ตามกฎหมาย[280]
ดูเพิ่ม
[แก้]อ้างอิง
[แก้]- ↑ 1.0 1.1 Montesano, Michael J. (2019). "The Place of the Provinces in Thailand's Twenty-Year National Strategy: Toward Community Democracy in a Commercial Nation?" (PDF). ISEAS Perspective. 2019 (60): 1–11. เก็บ (PDF)จากแหล่งเดิมเมื่อ 13 September 2020. สืบค้นเมื่อ 23 August 2020.
- ↑ 2.0 2.1 "Suthep in talks with Prayuth 'since 2010'". Bangkok Post. 2014-06-23. สืบค้นเมื่อ 2014-06-23.
- ↑ "Why is Thailand under military rule?". BBC. 2014-05-22. สืบค้นเมื่อ 2014-05-23.
- ↑ "Death toll in Thai anti-gov't protests reaches four, dozens injured". The Voice of Russia. 2014-02-18. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2014-05-23. สืบค้นเมื่อ 2014-05-23.
- ↑ "Constitutional Court nullifies Feb 2 election". The Nation. 2014-03-21. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2014-03-24. สืบค้นเมื่อ 2014-05-22.
- ↑ "Yingluck, 9 ministers removed from office". Bangkokpost. 7 May 2014. สืบค้นเมื่อ 22 May 2014.
- ↑ "อวสาน "ยิ่งลักษณ์"พ่วง รมต. ! "ศาล รธน.ฟันสิ้นสุดความเป็นรมต.ย้าย "ถวิล" มิชอบใช้อำนาจเอื้อ "เพรียวพันธ์"". Manager. 2014-05-07. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2014-05-08. สืบค้นเมื่อ 2014-05-07.
- ↑ "Yingluck removed, Niwatthamrong acting PM". Bangkok Post. 2014-05-07. สืบค้นเมื่อ 2014-05-07.
- ↑ ถอดบทสัมภาษณ์เจาะลึก "พลเอกประยุทธ์" กับ "ไทม์"
- ↑ Exclusive: Thailand PM Prayuth Chan-ocha on Turning to China Over the U.S.
- ↑ พลเอกประยุทธ์ หงุดหงิดลุกแจงหลังฝ่ายค้านซักนโยบาย แต่ไม่ตอบวันนอร์เรื่องเตรียมทำ รปห. มา 3 ปี ประชาไท. 25 กรกฎาคม 2562.
- ↑ "Prayuth denies Suthep's coup plotting claim". Bangkok Post. 2014-06-23. สืบค้นเมื่อ 2014-06-23.
- ↑ สิรภพบทกวีที่ถูกตามล่า
- ↑ "คดีสิรภพพฤการณ์จับกุม". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2023-05-01. สืบค้นเมื่อ 2023-05-01.
- ↑ เช็กชื่อ“นปช.”นั่งเก้าอี้การเมือง-บอร์ดรัฐวิสาหกิจ ลุ้น“ตู่”รัฐมนตรี
- ↑ เบื้องหลังปล่อยขบวนรถไฟ
- ↑ ตำรวจไม่เอาผิดเสื้อแดงขอนแก่นกักตัวทหาร
- ↑ หมายเหตุพฤษภา : .ฟ้าร่ำไห้ แผ่นดินสิ้นแสง!? ของสมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าจุฬาภรณวลัยลักษณ์ อัครราชกุมารี ในรายการ "วู้ดดี้ เกิดมาคุย"
- ↑ วาทกรรม : กำมะลอ
- ↑ ดุลยอำนาจทางการเมืองการปกครองไทย สถาบันพระปกเกล้า หน้า87 รัฐประหาร2557 ชนชั้นกลางผู้ฉุนเฉียว
- ↑ โทสะชนชั้นกลางคุกคามประชาธิปไตย หน้า 162-172
- ↑ 22.0 22.1 ลำดับเหตุการณ์ ประมวลสถานการณ์ นาทีต่อนาทีก่อนประกาศกฎอัยการศึก เก็บถาวร 2014-05-23 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน กรุงเทพธุรกิจออนไลน์ 20 พ.ค. 2557
- ↑ กองทัพบกประกาศใช้พระราชบัญญัติกฎอัยการศึก ฉบับที่ 2/2557[ลิงก์เสีย], สำนักข่าวแห่งชาติ, 15 มิถุนายน 2557
- ↑ ประกาศ กอ.รส. ฉบับที่ 6 เชิญบุคคลสำคัญร่วมประชุม
- ↑ ""ประยุทธ์ " ถาม " ชัยเกษม " รบ.ยอมลาออกหรือไม่ ก่อนประกาศ ยึดอำนาจ". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2014-05-26. สืบค้นเมื่อ 2021-09-28.
- ↑ "10ข่าวเด่น'บิ๊กตู่'ทุบโต๊ะรัฐประหาร". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2014-12-30. สืบค้นเมื่อ 2014-12-31.
- ↑ "'ประยุทธ์-เหล่าทัพ'แถลง'ควบคุมอำนาจรัฐ'". Komchadluek. 2014-05-22. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2014-05-22. สืบค้นเมื่อ 2014-05-22.
- ↑ "ผบ.ทบ. แถลงยึดอำนาจ". Post Today. 2014-05-22. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2019-01-16. สืบค้นเมื่อ 2014-05-22.
- ↑ รวมประกาศ-คำสั่ง คณะรักษาความสงบแห่งชาติ
- ↑ "คสช. ประกาศสิ้นสุด รธน. คงอำนาจ สว". Post Today. 2014-05-22. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2014-10-24. สืบค้นเมื่อ 2014-05-22.
- ↑ "Coup leader to act as PM pending new premier appointment". The Nation. 2014-05-22. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2014-05-22. สืบค้นเมื่อ 2014-05-23.
- ↑ "'คสช.' ประกาศ ฉ. 22 จัดส่วนงาน-กำหนดหน้าที่ความรับผิดชอบ". Thairath. 2014-05-23. สืบค้นเมื่อ 2014-05-23.
- ↑ "Prayuth divides administration responsibilities". The Nation. 2014-05-23. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2014-05-23. สืบค้นเมื่อ 2014-05-23.
- ↑ "Senate dissolved, police chief sacked". Bangkok Post. 2014-05-24. สืบค้นเมื่อ 2014-05-22.
- ↑ "รวมประกาศ-คำสั่งคณะรักษาความสงบแห่งชาติ". Manager. 2014-05-22. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2014-05-22. สืบค้นเมื่อ 2014-05-24.
- ↑ "นิวัฒน์ธำรงล่องหนหลัง คสช. ประกาศยึดอำนาจ". Dailynews. 2014-05-22. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2014-05-23. สืบค้นเมื่อ 2014-05-23.
- ↑ "คสช. สั่ง 18 อดีต รมต. รักษาการรายงานตัว". Manager. 2014-05-22. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2014-05-22. สืบค้นเมื่อ 2014-05-22.
- ↑ "ทูตสหรัฐฯ ยันข่าวลือนิวัฒน์ธำรงตั้งรัฐบาลพลัดถิ่น". Manager. 2014-05-22. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2014-05-22. สืบค้นเมื่อ 2014-05-22.
- ↑ "'นิวัฒน์ธำรง-สมชาย-ปู' เข้ารายงานตัวแล้ว". Komchadluek. 2014-05-23. สืบค้นเมื่อ 2014-05-23.
- ↑ "All crimes involved lese majeste, sedition subjected to Military Court: Thai Coup makers". Prachatai. 2014-05-25. สืบค้นเมื่อ 2014-05-25.
- ↑ "Thai coup: Leader Gen Prayuth receives royal endorsement". BBC. 2014-05-26. สืบค้นเมื่อ 2014-05-26.
- ↑ "Thailand coup gets King Adulyadej approval as junta dissolves senate". the Guardian (ภาษาอังกฤษ). 25 May 2014.The Guardian ใช้คำว่า 'approval' รับรอง และ 'royal backing' ในความหมายถึงการสนับสนุน
- ↑ "โปรดเกล้าฯแต่งตั้ง ประยุทธ์ เป็นนายกรัฐมนตรีแล้ว". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2014-10-06. สืบค้นเมื่อ 2021-09-28.
- ↑ "คสช.แจกใบปลิว 10 เหตุผลทำรัฐประหารที่อนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิ". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2014-08-07. สืบค้นเมื่อ 2019-09-23.
- ↑ Kurlantzick, Joshua. "Review— Khaki Capital: The Political Economy of the Military in Southeast Asia". Kyoto Review of Southeast Asia (23). สืบค้นเมื่อ 1 September 2018.
- ↑ 46.00 46.01 46.02 46.03 46.04 46.05 46.06 46.07 46.08 46.09 46.10 46.11 46.12 46.13 46.14 46.15 46.16 46.17 46.18 Kongkirati, P., & Kanchoochat, V. (2018). The Prayuth Regime: Embedded Military and Hierarchical Capitalism in Thailand. TRaNS: Trans -Regional and -National Studies of Southeast Asia, 6(2), 279-305. doi:10.1017/trn.2018.4
- ↑ "Op-Ed: Thai coup holds promise of democracy". Los Angeles Times. 28 May 2014. สืบค้นเมื่อ 22 May 2022.
- ↑ 5 ปี คสช. พอได้หรือยัง?: ข้อเสนอว่าด้วยการจัดการผลพวงรัฐประหาร
- ↑ Anuchit Nguyen and Suttinee Yuvejwattana (2014-07-23). "Thai junta retains sweeping power under interim constitution". Bloomberg News. สืบค้นเมื่อ 2014-07-27.
- ↑ "โรดแมป คสช. อีกไกลแค่ไหนกว่าจะได้เลือกตั้ง?". workpointTODAY. สืบค้นเมื่อ 22 May 2022.
- ↑ "Regime halts local polls". Bangkok Post. 2014-07-17. สืบค้นเมื่อ 2014-07-18.[ลิงก์เสีย]
- ↑ ไขรหัส! แผนอุ้มเศรษฐกิจหลังรัฐประหาร 49 VS 57 ยุคไหนรุกฆาตกว่ากัน?. ไทยรัฐออนไลน์. 27 พ.ค. 2557. สืบค้นเมื่อ 29 พ.ค. 2557.
- ↑ คมนาคมทำแผน 5 ยุทธศาสตร์โครงสร้างพื้นฐานวงเงิน 3ล้านล.ชง คสช. ไทยรัฐออนไลน์. 12 มิ.ย. 2557. สืบค้นเมื่อ 13 มิ.ย. 2557.
- ↑ Thailand's ruling junta approves China rail links worth $23bn The Guardian. 1 ส.ค. 2557. สืบค้นเมื่อ 3 ส.ค. 2557.
- ↑ แกะรอยงบประมาณ. ThaiPublica. 2 ส.ค. 2557. สืบค้นเมื่อ 26 ส.ค. 2557.
- ↑ Agence France-Presse (2014-06-12). "Thailand's military junta vows to arrest undocumented immigrant workers". Rawstory.com. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2014-06-12. สืบค้นเมื่อ 2014-06-14.
- ↑ "Thousands of Cambodian Migrants Leave Thailand: IOM Concern". International Organization for Migration. 2014-06-11. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2014-06-18. สืบค้นเมื่อ 2014-06-14.
- ↑ "Cambodia ramps up criticism of Thailand's junta". BCC. 2014-06-16. สืบค้นเมื่อ 2014-06-19.
- ↑ "Migrant exodus puts strain on economy". Bangkok Post. 2014-06-20. สืบค้นเมื่อ 2014-06-20.
- ↑ "เคาะราคาจำนำยุ้งฉาง 90%". ไทยรัฐ. 2014-10-25. สืบค้นเมื่อ 2014-10-26.
- ↑ "เอกชนเผยหลังปฏิวัติใต้โต๊ะยังกระฉูด50%". โพสต์ทูเดย์. 2014-11-12. สืบค้นเมื่อ 2014-11-14.[ลิงก์เสีย]
- ↑ "EU to delay signing Thai cooperation pact after coup: draft". Reuters. 2014-06-18. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2014-06-19. สืบค้นเมื่อ 2014-06-19.
- ↑ "ลดชั้นต่ำสุด ไทยค้ามนุษย์". ไทยรัฐ. 2014-06-21. สืบค้นเมื่อ 2014-06-27.
- ↑ "ยูเครนยิ้มร่าเซ็นจูบอียู-จีนซ้อมรบมะกันเว้นไทย". ไทยรัฐ. 2014-06-28. สืบค้นเมื่อ 2014-06-30.
- ↑ ผู้สื่อข่าวไร้พรมแดนเผย “เสรีภาพสื่อ” ลดลงทั่วโลก ส่วนไทยลดลง 2 อันดับ
- ↑ 66.0 66.1 Thai junta criticised as army given sweeping powers of arrest The Guardian.
- ↑ "Chalerm arrested, report". The Nation. 2014-05-22. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2014-05-22. สืบค้นเมื่อ 2014-05-22.
- ↑ "คสช. สั่งสาวกแม้วรายงานตัวเพิ่ม ปู - เจ๊แดง - สมชาย โดนด้วย". Manager. 2014-05-23. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2014-05-23. สืบค้นเมื่อ 2014-05-23.
- ↑ "Shinawatras, Chalerm summoned by junta". Bangkok Post. 2014-05-23. สืบค้นเมื่อ 2014-05-23.
- ↑ "NPOMC summons over 100 prominent figures of rival sides". The Nation. 2014-05-23. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2014-05-24. สืบค้นเมื่อ 2014-05-23.
- ↑ "Yingluck reports to the generals". Bangkok Post. 2014-05-23. สืบค้นเมื่อ 2014-05-23.
- ↑ Aekarach Sattaburuth (2014-05-23). "Sombat: Catch me if you can". Bangkok Post. สืบค้นเมื่อ 2014-05-23.
- ↑ "'Catch me if you can, ' Sombat tells coup makers". The Nation. 2014-05-23. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2014-05-24. สืบค้นเมื่อ 2014-05-23.
- ↑ "คุมยิ่งลักษณ์ไปค่ายอดิศร สระบุรี". Manager. 2014-05-23. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2014-05-24. สืบค้นเมื่อ 2014-05-23.
- ↑ "Chaturon arrested at FCCT". Bangkok Post. 2014-05-27. สืบค้นเมื่อ 2014-05-27.
- ↑ "Chaturon to be tried in military court". Bangkok Post. 2014-05-27. สืบค้นเมื่อ 2014-05-27.
- ↑ "Chaturon to be tried in Court Martial: Winthai". Bangkok Post. 2014-05-27. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2014-05-28. สืบค้นเมื่อ 2014-05-27.
- ↑ "ศาลทหารให้ประกัน 'จาตุรนต์' เจอแจ้งผิดพ.ร.บ.คอมพ์เพิ่มรวม 3 ข้อหา โทษ 14 ปี". มติชน. 2014-06-20. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2016-03-04. สืบค้นเมื่อ 2014-06-27.
- ↑ "Thai police arrest 'taunting' anti-coup activist". BBC. 2014-06-06. สืบค้นเมื่อ 2014-06-07.
- ↑ "บก. ลายจุดเจอคดีหนักโทษสูงถึง 7 ปี คาดโทษให้ที่พักพิง บก. ลายจุดมีโทษ 2 ปี". Chao Praya News. 2014-06-08. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2014-06-12. สืบค้นเมื่อ 2014-06-10.
- ↑ 81.0 81.1 "Thai Generals Go After Exiles and Academics". Asia Sentinel. 2014-06-09. สืบค้นเมื่อ 2014-06-10.
- ↑ ครม.โยก ปลัดสีหศักดิ์ เป็นทูตญี่ปุ่น-ทูตแสบ นั่งผู้แทนถาวรสหรัฐฯ ไทยรัฐ สืบค้นเมื่อ 9 ธันวาคม 2557
- ↑ มีผลแล้ว! ย้าย “มาริษ เสงี่ยมพงษ์” อดีตเด็กแม้ว พ้นทูตวานูอาตูไปนั่งซามัวควบนิวซีแลนด์[ลิงก์เสีย]
- ↑ "Junta summons activists-lèse majesté suspects in exile". Prachatai. 2014-06-05. สืบค้นเมื่อ 2014-06-07.
- ↑ "ธีระ-นิติราษฎร์" เผยเบื้องหลัง "วรเจตน์" ประสาน คสช. ย้ำเป็นการรายงานตัว ไม่ใช่รวบตัว, มติชนออนไลน์, 18 มิถุนายน 2557.
- ↑ คสช.ปล่อยตัว "กริชสุดา" เก็บถาวร 2014-07-05 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน, โพสต์ทูเดย์, 24 มิถุนายน 2557. สืบค้นเมื่อ 24 มิถุนายน 2557.
- ↑ 'คสช.' แจงเรียก'กริชสุดา'แค่ปรับทัศนคติ, ไทยรัฐ, 22 มิถุนายน 2557. สืบค้นเมื่อ 24 มิถุนายน 2557.
- ↑ ""เปิ้ล สหายสุดซอย" นักกิจกรรมสาวเสื้อแดง บินขอลี้ภัยการเมืองในยุโรป". ข่าวสด. 2014-08-01. สืบค้นเมื่อ 2014-08-03.
- ↑ ""เปิ้ล กริชสุดา" เผยเบื้องหลังวาทะ "มีความสุขจนไม่รู้จะพูดยังไง"". ประชาไท. 2014-08-03. สืบค้นเมื่อ 2014-08-03.
- ↑ ""เปิ้ล กริชสุดา" เผยเบื้องหลังวาทะ "มีความสุขจนไม่รู้จะพูดยังไง"". โพสต์ทูเดย์. 2014-08-03. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2019-01-16. สืบค้นเมื่อ 2014-08-03.
- ↑ "'สมยศ'ยันมีหลักฐาน'กริชสุดา'โอนเงิน". คม ชัด ลึก. 2014-09-14. สืบค้นเมื่อ 2014-09-19.
- ↑ มีการจับกุมนักกิจกรรมที่พยายามเดินทางไปอุทยานราชภักดิ์ซึ่งลือชื่อว่ามีการฉ้อราษฎร์บังหลวง
- ↑ "Rajabhakti Scandal: Military Closes Park 'For Maintenance,' Detains Dozens of Activists". Khaosod English. 2015-12-07. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2016-01-19. สืบค้นเมื่อ 2015-12-14.
- ↑ ศาลสั่งจำคุก นาง ธีรวรรณ เจริญสุข
- ↑ "คสช. ประกาศกฎอัยการศึกทั่วราชอาณาจักร-เคอร์ฟิวห้ามออกนอกบ้าน 4 ทุ่มถึงตี 5". Manager. 2014-05-22. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2014-05-22. สืบค้นเมื่อ 2014-05-22.
- ↑ "คสช. ตั้งบิ๊กตู่หัวหน้าคณะ ให้ รธน. สิ้นสุดชั่วคราว ครม. หมดอายุ วุฒิฯ-องค์กรอิสระยังอยู่". Manager. 2014-05-22. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2014-05-22. สืบค้นเมื่อ 2014-05-22.
- ↑ "Schools out Friday to Sunday". Bangkok Post. 2014-05-22. สืบค้นเมื่อ 2014-05-22.
- ↑ "แถลงฉบับ 4 ให้สถานีวิทยุ-โทรทัศน์ถ่ายทอดรายการจากโทรทัศน์กองทัพบก". Thai Rath. 2014-05-22. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2014-05-22. สืบค้นเมื่อ 2014-05-23.
- ↑ ""ไทยพีบีเอส" ยุติออกอากาศออนไลน์ - ทหารคุมตัว "วันชัย ตัน" รอง ผอ. ออกจากห้องออกอากาศ". Khao Sod. 2014-05-22. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2014-05-22. สืบค้นเมื่อ 2014-05-22.
- ↑ "ไทยพีบีเอสออกอากาศผ่านยูทูบ". Prachatai. 2014-05-22. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2018-12-14. สืบค้นเมื่อ 2014-05-23.
- ↑ "TBPS News programme director taken away by military after airing news on Youtube". Prachatai. 2014-05-22. สืบค้นเมื่อ 2014-05-24.
- ↑ "คสช. ประกาศให้ปลัดกระทรวงทำหน้าที่แทน รมต. - เรียกสื่อ หัวหน้าส่วนราชการเข้ารายงานตัว". Manager. 2014-05-23. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2014-05-23. สืบค้นเมื่อ 2014-05-23.
- ↑ "NPOMC threatens to shut down social media if used to incite unrest". The Nation. 2014-05-23. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2014-05-23. สืบค้นเมื่อ 2014-05-23.
- ↑ "Coup makers to allow Channels 3, 5, 7, 9 and NBT to resume broadcast Friday afternoon". The Nation. 2014-05-23. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2014-05-23. สืบค้นเมื่อ 2014-05-23.
- ↑ "Five TV stations to resume broadcasts". Bangkok Post. 2014-05-23. สืบค้นเมื่อ 2014-05-23.
- ↑ "Media organisations urge junta to lift coup orders that restrict press freedom". The Nation. 2014-05-24. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2014-05-25. สืบค้นเมื่อ 2014-05-24.
- ↑ "Junta summons TV operators, TV network operators". The Nation. 2014-05-24.
{{cite web}}
:|access-date=
ต้องการ|url=
(help);|url=
ไม่มีหรือว่างเปล่า (help) - ↑ เปล่าปิดเฟซบุ๊ก คสช.ปัดพัลวัน!. ไทยรัฐ. 29 พฤษภาคม 2557. สืบค้นเมื่อ 29 พฤษภาคม 2557.
- ↑ "ICT ยันเหตุเฟซบุ๊กล่ม เกิดจากผู้ใช้คับคั่งเหมือนทั่วโลก". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2014-07-19. สืบค้นเมื่อ 2014-05-29.
- ↑ "RPT-Thai ministry says blocks Facebook to stem anti-coup criticism". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2014-05-29. สืบค้นเมื่อ 2014-05-29.
- ↑ Vals, Mia (9 June 2014). "OTelenor says Thailand's recent Facebook outage was ordered by the government". The Next Web. สืบค้นเมื่อ 10 June 2014.
- ↑ "กทค. เตรียมตัดสิทธิ์ไม่ให้ DTAC เข้าร่วมประมูล 4G เหตุออกมาเปิดโปงเรื่องการบล็อก Facebook ตามคำสั่ง คสช". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2014-06-13. สืบค้นเมื่อ 2014-06-11.
- ↑ กทค.ฉุนจวกเทเลนอร์ไร้มารยาทเล็งตัดสิทธิ์"ดีแทค"ประมูล4จี
- ↑ "Over 100 URLs blocked under Martial law". Prachatai. 2014-05-24. สืบค้นเมื่อ 2014-05-26.
- ↑ "Thai military seeks Facebook, Google cooperation with censorship". Reuters. 2014-05-29. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2014-05-30. สืบค้นเมื่อ 2014-05-31.
- ↑ "Junta changes curfew time to midnight - 4 am". The Nation. 2014-05-27. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2014-05-28. สืบค้นเมื่อ 2014-05-27.
- ↑ เว็บไซต์มหาวิทยาลัยเที่ยงคืนถูกปิดกั้นแล้ว
- ↑ "รอง ผบ.ตร.ชี้แจงเหตุอุ้มผู้ชุมนุมขึ้นแท็กซี่ไม่ใช่ตำรวจแต่เป็นสามีพาภรรยากลับบ้าน". ประชาไท. 2014-06-02. สืบค้นเมื่อ 2014-06-02.
- ↑ "Police admit woman in vdo clip taken away by plainclothes officers". Prachathai. 2014-06-02. สืบค้นเมื่อ 2014-06-04.
- ↑ "'ประยุทธ์'ปรามปชป.-กปปส. เตือนระวังปาก". ไทยรัฐ. 2014-06-10. สืบค้นเมื่อ 2014-06-10.
- ↑ "เตือนอีก กินแซนดวิชก็ผิด กกต.เฮ-คสช.ให้ทำงานต่อ บุกจับ"สิงห์ทอง-ทอมดันดี"". ข่าวสด. 2014-06-10. สืบค้นเมื่อ 2014-06-10.
- ↑ ตร.รวบหญิงใส่เสื้อRespect my vote
- ↑ "ตร.ตั้งรางวัลนำจับผู้แสดงสัญลักษณ์ต้าน คสช. รวมภาพในเฟซบุ๊กด้วย ควักจ่าย 500 บาท/ภาพ". มติชน. 2014-06-23. สืบค้นเมื่อ 2014-06-23.
- ↑ "Military orders newsroom not to report anti-coup movement". Prachatai. 2014-06-26. สืบค้นเมื่อ 2014-06-27.
- ↑ "Thai Junta Used Facebook App to Harvest Email Addresses". Electronic Frontier Foundation. 2014-06-24. สืบค้นเมื่อ 2014-06-26.
- ↑ ""อดุลย์"ตั้ง5คณะคุมสื่อทุกชนิด ห้ามเสนอข่าวกระทบการทำงานคสช". ไทยโพสต์. 2014-06-25. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2014-07-05. สืบค้นเมื่อ 2014-06-27.
- ↑ "หญิงสูงวัยลุยเดี่ยวสวมหน้ากาก "People" ถูกจับกุมหน้าแยกราชประสงค์". Prachatai. 2014-06-01. สืบค้นเมื่อ 2014-07-02.
- ↑ "กลุ่มต้านรัฐประหารนัดกินแม็คโดนัลด์ราชประสงค์". Patrol News. 2014-06-29. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2014-07-10. สืบค้นเมื่อ 2014-05-25.
- ↑ "ทหารขับฮัมวี่จับพ่อค้าปลาหมึกทอดถอดเสื้อแดง". PrachataiThai. 2014-06-29. สืบค้นเมื่อ 2014-07-02.
- ↑ "ควบคุมตัวประชาชนแสดงออกต้านรัฐประหารที่พารากอนรวม 7 ราย". PrachataiThai. 2014-06-09. สืบค้นเมื่อ 2014-07-02.
- ↑ "ทหารเรียกนักวิจารณ์หนัง-นักกิจกรรมศิลปะเชียงใหม่เข้าพบเหตุคิดจัดฉายหนัง 1984". PrachataiThai. 2014-06-25. สืบค้นเมื่อ 2014-07-02.
- ↑ "คสช. ชี้จัดรำลึก 24 มิ.ย. ได้ ห้ามนัยยะการเมือง". PrachataiThai. 2014-06-23. สืบค้นเมื่อ 2014-07-02.
- ↑ "รวมเสรีภาพที่ถูกคสช. นำไปปรับทัศนคติ". Prachatai. 2014-07-02. สืบค้นเมื่อ 2014-07-02.
- ↑ 134.0 134.1 "ประมวลภาพ ปชช. นับพันต้านรัฐประหาร ขอเลือกตั้งอนุสาวรีย์ฯ". PrachataiThai. 2014-05-25. สืบค้นเมื่อ 2014-07-02.
- ↑ "ดำเนินคดีเพิ่ม 1 รายชูป้ายต้าน รปห". Prachatai. 2014-06-11. สืบค้นเมื่อ 2014-07-02.
- ↑ "องค์กรสื่อสอบ'ผู้จัดการ' แนะขอโทษคสช.จบเรื่อง". ไทยโพสต์. 2014-07-30. สืบค้นเมื่อ 2014-07-30.[ลิงก์เสีย]
- ↑ "ส่งทหารปรับทัศนคติทั่วไทย". ไทยโพสต์. 2014-03-08. สืบค้นเมื่อ 2014-10-06.[ลิงก์เสีย]
- ↑ "Tropico 5 computer game banned in Thailand" [เกมทรอปิโก 5 ถูกแบนในประเทศไทย]. Bangkok Post. 2014-08-05. สืบค้นเมื่อ 2014-08-05.
- ↑ "กลุ่มนศ.มธ.ยืนยัน เสวนา "ห้องเรียนปชต." เรื่องรธน.ชั่วคราวเดินหน้าต่อ ผู้จัดงานพร้อมรับผิดชอบ". มติชน. 2014-08-08. สืบค้นเมื่อ 2014-09-20.
- ↑ "ด่วน! สั่งห้ามจัด เสวนา"ห้องเรียนประชาธิปไตย" ที่ มธ.ท่าพระจันทร์ในวันนี้". มติชน. 2014-08-08. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2014-08-08. สืบค้นเมื่อ 2014-09-20.
- ↑ 141.0 141.1 141.2 "Thailand: End Crackdown on Academic Freedom". Human Rights Watch. 2014-09-20. สืบค้นเมื่อ 2015-02-09.
- ↑ "คุมตัวเครือข่ายเดินรณรงค์ปฏิรูปพลังงาน ชี้ผิดกฎอัยการศึก". ไทยรัฐ. 2014-08-20. สืบค้นเมื่อ 2014-08-22.
- ↑ "คุมตัว"นิธิ"ส่งสภ.คลองหลวงเหตุฝ่าฝืนจัดกิจกรรม". โพสต์ทูเดย์. 2014-09-18. สืบค้นเมื่อ 2014-09-19.[ลิงก์เสีย]
- ↑ "ตร.บุกคุมตัว ศ.นิธิ และพวกหลังจัดเสวนาที่ มธ.รังสิต". ไทยรัฐ. 2014-09-18. สืบค้นเมื่อ 2014-09-19.
- ↑ "ลำดับเวลาการระงับกิจกรรมห้องเรียนปชต.ที่มธ.รังสิต - จนท.เชิญอาจารย์ นศ. พูดคุยที่สภ.คลองหลวง". มติชน. 2014-09-18. สืบค้นเมื่อ 2014-09-19.
- ↑ ICT บล็อกเว็บสารานุกรมเสรี 'วิกิพีเดียภาษาไทย' ระบุ “เนื้อหาไม่เหมาะสม"
- ↑ "กิจกรรม '8 ปี รัฐประหาร 19 ก.ย.' ไม่เกิด เหตุ จนท.คุมเข้มเต็มพื้นที่". ประชาไท. 2014-09-19. สืบค้นเมื่อ 2014-09-20.
- ↑ 148.0 148.1 "Junta's attempt to 'return forest' hurts the poor". Prachatai. 2014-10-24. สืบค้นเมื่อ 2014-10-26.
- ↑ "กิจกรรม '8 ปี รัฐประหาร 19 ก.ย.' ไม่เกิด เหตุ จนท.คุมเข้มเต็มพื้นที่". ประชาไท. 2014-10-22. สืบค้นเมื่อ 2014-10-26.
- ↑ "เสนอตั้งสภ.เกาะเต่า ห้ามแรงงานต่าวด้าวดื่มปนนทท". กรุงเทพธุรกิจ. 2014-10-23. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2014-10-27. สืบค้นเมื่อ 2014-10-26.
- ↑ "คสช.จ่อ"เรียกเงียบ"ให้บุคคลมารายงานตัว อีกระลอก สยบคลื่นใต้น้ำ". มติชน. 2014-11-07. สืบค้นเมื่อ 2014-11-07.
- ↑ ""พันเอก"อ้างคำสั่ง"นาย"ตบเท้าบีบThaiPBSถอด "ณาตยา-รายการเสียงปชช."". สำนักข่าวอิศรา. 2014-11-14. สืบค้นเมื่อ 2014-11-14.
- ↑ "นายทหารกร่าง! กระชากลากนักข่าวหญิงออกห้องประชุม โชว์เถื่อนต่อหน้า "บิ๊กโด่ง"". ASTVผู้จัดการออนไลน์. 2014-11-15. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2014-11-19. สืบค้นเมื่อ 2014-11-17.
- ↑ "ลิโด้-สกาล่า เลิกฉาย Hunger Games 3 คาดตำรวจกดดัน". ประชาไท. 2014-11-19. สืบค้นเมื่อ 2014-11-20.
- ↑ "ปล่อยแล้ว! น.ศ.ฉาย Hunger Games-ตำรวจแนะปลูกต้นไม้ดีกว่า อีก 1 ไปต่อค่ายทหาร". ประชาไท. 2014-11-20. สืบค้นเมื่อ 2014-11-20.
- ↑ "Thailand's military junta forces cancellation of press freedom conference". The Guardian. 2015-01-30. สืบค้นเมื่อ 2015-02-07.
- ↑ "ฟุตบอลประเพณีจุฬาฯ-มธ.งานเข้า! ทหารขอร่วมมืองดล้อเลียนการเมือง". สำนักข่าวอิศรา. 2015-02-06. สืบค้นเมื่อ 2015-02-08.
- ↑ "เอาจนได้! พาเหรดล้อการเมืองในงานบอลประเพณี". ประชาไท. 2015-02-07. สืบค้นเมื่อ 2015-02-08.
- ↑ "Thailand junta denies former PM Yingluck permission to travel, so she can face charges". The Straits Times. 2015-02-08. สืบค้นเมื่อ 2015-02-09.
- ↑ "Four Thai activists to face military court in 'landmark case'". Reuters. 2015-03-16. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2015-03-17. สืบค้นเมื่อ 2015-03-18.
- ↑ "เตือน "บก.ลายจุด" ขายข้าวเชิงสัญลักษณ์อย่าล้ำเส้น". กรุงเทพธุรกิจ. 2015-04-17. สืบค้นเมื่อ 2015-04-19.
- ↑ "Thai junta detains opposition activists on coup anniversary". The Tribune. 2015-05-23. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2015-07-29. สืบค้นเมื่อ 2015-05-24.
- ↑ "นศ. ยันถูกทำร้ายร่างกายจริง แต่ไม่โดนช็อตไฟฟ้าตามข่าวลือ". ประชาไท. 2015-05-23. สืบค้นเมื่อ 2015-05-24.
- ↑ ผบ.พล.ม.2 ส่งกำลังดูแลบอลจุฬาฯ-มธ. เผยล้อการเมืองเกินเลยผู้จัดสั่งหยุดเอง
- ↑ ติดดาบกสทช.
- ↑ Thailand's Coup Leaders Want Everyone To Cheer Up Already 06/04/2014. Retrieved 06/06/2014
- ↑ คนไทยเฮ ! คสช.จัดให้ดูบอลโลกครบทุกแมตช์ สั่งกสทช.ถกอาร์เอส เก็บถาวร 2014-06-18 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน. ไทยรัฐออนไลน์. 11 มิ.ย. 2557. สืบค้นเมื่อ 13 มิ.ย. 2557.
- ↑ มติ กสทช.ควัก 427 ล้าน ให้อาร์เอสถ่ายบอลโลกออกฟรีทีวี เก็บถาวร 2014-06-19 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน. ไทยรัฐออนไลน์. 12 มิ.ย. 2557. สืบค้นเมื่อ 13 มิ.ย. 2557.
- ↑ "สมเกียรติ"ประณามกสทช.ใช้เงินชาติที่ไม่สมควร[ลิงก์เสีย]. โพสต์ทูเดย์. 13 มิ.ย. 2557. สืบค้นเมื่อ 14 มิ.ย. 2557.
- ↑ คืนความสุข! คสช.ใจดี 15 มิ.ย. ดูพระนเรศวรฯ ฟรีทั่วไทย. ไทยรัฐออนไลน์. 11 มิ.ย. 2557. สืบค้นเมื่อ 13 มิ.ย. 2557.
- ↑ คสช.เตรียมแจกตั๋วหนัง 2 หมื่นใบ"วันแม่". เดลินิวส์. 7 ส.ค. 2557. สืบค้นเมื่อ 9 ส.ค. 2557.
- ↑ การเว็บเปิดหน้าเฟซบุ๊กชื่อ "กองอำนวยการรักษาความสงบเรียบร้อย"
- ↑ 173.0 173.1 "กปปส. เฮเสียงนกหวีดลั่น-แกนนำอุบเงียบรอ "สุเทพ"-ทหารคุมตัว "เหวง" ให้ม็อบ นปช. กลับบ้าน". Manager. 2014-05-22. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2014-05-22. สืบค้นเมื่อ 2014-05-22.
- ↑ "All protesters dispersed by soldiers; PDRC jubilant". The Nation. 2014-05-22. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2014-05-23. สืบค้นเมื่อ 2014-05-23.
- ↑ Campbell, Charlie. "Thai Army Declares Military Coup". Time. สืบค้นเมื่อ 23 May 2014.
- ↑ "Last groups of protesters get marching". The Nation. 2014-05-23. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2014-05-24. สืบค้นเมื่อ 2014-05-23.
- ↑ "คสช. จัดรถส่งผู้ชุมนุมทุกกลุ่มกลับภูมิลำเนา". Manager. 2014-05-22. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2014-05-23. สืบค้นเมื่อ 2014-05-23.
- ↑ ชาวขอนแก่นขอถ่ายรูป-ซื้ออาหาร-เครื่องดื่มให้กำลังใจทหาร เก็บถาวร 2016-03-05 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน. ASTVผู้จัดการออนไลน์. 23 พฤษภาคม 2557. สืบค้นเมื่อ 25 พฤษภาคม 2557.
- ↑ คนสุโขทัยหอบดอกไม้-ของกิน ให้ทหารประจำการทั่วเมือง[ลิงก์เสีย] ASTVผู้จัดการออนไลน์. 23 พฤษภาคม 2557. สืบค้นเมื่อ 25 พฤษภาคม 2557.
- ↑ ชาวกาฬสินธุ์มอบน้ำดื่ม-ดอกไม้ ให้กำลังใจทหารดูแลความสงบ เก็บถาวร 2016-03-05 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน ASTVผู้จัดการออนไลน์. 24 พฤษภาคม 2557. สืบค้นเมื่อ 25 พฤษภาคม 2557.
- ↑ Let us not waste this opportunity for lasting change เก็บถาวร 2014-05-23 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน. The Nation. 23 พฤษภาคม 2557. สืบค้นเมื่อ 23 พฤษภาคม 2557.
- ↑ 182.0 182.1 Chetchotiros, Nattaya. "Academics lambast military putsch". Bangkok Post. สืบค้นเมื่อ 23 May 2014.
- ↑ ANALYST: The Markets Might Actually Welcome The Thai Coup. Business Insider. 22 May 2014. Retrieved 24 May 2014.
- ↑ ส.ว.เชื่อยุบ 'วุฒิสภา' เหตุ คสช. ต้องการทำงานรวดเร็วขึ้น[ลิงก์เสีย]
- ↑ "Pro-coup group holds counter-rally". Bangkok Post. 2014-05-26. สืบค้นเมื่อ 2014-05-26.
- ↑ อภิสิทธิ์ขออภัยไม่สามารถปกป้องประชาธิปไตย-ม.ล.ณัฏฐกรณ์ท้าให้มาต้าน รปห. ประชาไท. 25 พฤษภาคม 2557. สืบค้นเมื่อ 27 พฤษภาคม 2557.
- ↑ 'อภิสิทธิ์'ลั่นไร้คำตอบคสช.ปฏิรูปต้านรัฐประหาร เก็บถาวร 2014-08-24 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน. กรุงเทพธุรกิจ. 25 พฤษภาคม 2557. สืบค้นเมื่อ 27 พฤษภาคม 2557.
- ↑ 'อภิสิทธิ์' ชี้ คสช.ต้องใช้มาตรการเข้มขึ้น หลังมีกลุ่มก่อหวอดต้านอำนาจ ไทยรัฐ. 26 พฤษภาคม 2557. สืบค้นเมื่อ 27 พฤษภาคม 2557.
- ↑ "Anger Over Coup Trumps Payouts to Thai Farmers". The New York Times. 2014-05-27. สืบค้นเมื่อ 2014-05-31.
- ↑ 190.0 190.1 "In divided Thailand, some welcome coup as necessary medicine". Reuters. 2014-05-28. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2014-05-31. สืบค้นเมื่อ 2014-05-31.
- ↑ ""นิพิฏฐ์" เชียร์ "ประยุทธ์" นั่งนายกฯ ใช้อำนาจเด็ดขาด แก้ปัญหาตรงใจประชาชน". ASTVผู้จัดการ. 2014-06-07. สืบค้นเมื่อ 2014-06-11.[ลิงก์เสีย]
- ↑ ""อย่าให้รัฐประหารสูญเปล่า"สมคิด เลิศไพฑูรย์". โพสต์ทูเดย์. 2014-06-10. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2014-10-20. สืบค้นเมื่อ 2014-06-11.
- ↑ "ชี้ 10 ความสุขจาก คสช. อันดับ 1 ทุกม็อบยุติ-ประเทศสงบ". ไทยรัฐ. 2014-06-15. สืบค้นเมื่อ 2014-06-17.
- ↑ "ความสุขจาก คสช". ไทยรัฐ. 2014-06-17. สืบค้นเมื่อ 2014-06-17.
- ↑ ""วิชา"ลั่นถ้าไม่มียึดอำนาจปท.พินาศไปแล้ว ยันปชช.ต้องร่วมกันต้านโกง". สำนักข่าวอิศรา. 2014-09-29. สืบค้นเมื่อ 2014-10-01.
- ↑ Ashayagachat, Achara. "Anti-coup rally on streets, social media". Bangkok Post. สืบค้นเมื่อ 23 May 2014.
- ↑ "สปป. จี้ คสช. ปล่อยคนที่ถูกจับหน้าหอศิลป์ทันที". 2014-05-23. สืบค้นเมื่อ 2014-05-24.
- ↑ "People will soon rise up against the military, coup lead to deeper conflict and violence: academic". Prachatai. 2014-05-23. สืบค้นเมื่อ 2014-05-24.
- ↑ "มหาวิทยาลัยเที่ยงคืนเรียกร้องกรรมการสิทธิลาออก". Prachatai. 2014-05-24. สืบค้นเมื่อ 2014-05-24.
- ↑ สาวใหญ่บุกเดี่ยวต้านทหารยึดอำนาจ
- ↑ "กลุ่มประชาชนรวมตัวหน้าหอศิลป์กรุงเทพฯ". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2014-05-26. สืบค้นเมื่อ 2014-05-23.
- ↑ 202.0 202.1 เชียงใหม่รวมตัวเป็นวันที่ 4 ชูป้าย "ขี้จุ๊เบ่เบ๊" ให้กองทัพ
- ↑ ประชาคมจุฬาฯ เพื่อประชาชนค้าน รปห.เรียกร้องจัดเลือกตั้งทันที
- ↑ "Thailand military: Former Prime Minister Yingluck Shinawatra, others held 'to think'". Fox News. 2014-05-24. สืบค้นเมื่อ 2014-05-24.
- ↑ "Police, troops block road to stop procession of anti-coup protesters". The Nation. 2014-05-24. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2014-05-25. สืบค้นเมื่อ 2014-05-24.
- ↑ "Coup makers summons critical academics, activists to report". Prachatai. 2014-05-24. สืบค้นเมื่อ 2014-05-24.
- ↑ "35 politicians, scholars summoned". Bangkok Post. 2014-05-24. สืบค้นเมื่อ 2014-05-24.
- ↑ "ขอนแก่นพิงรถถังอ่านหนังสือต้านรัฐประหาร". Prachatai. 2014-05-24.
{{cite web}}
:|access-date=
ต้องการ|url=
(help);|url=
ไม่มีหรือว่างเปล่า (help) - ↑ "ทหารไล่เก็บป้ายผ้าต้านรัฐประหารกลางเมืองสารคาม". Prachatai. 2014-05-24. สืบค้นเมื่อ 2014-05-26.
- ↑ "Anti-coup protesters, soldiers clash at McDonalds Ratchaprasong". Prachatai. 2014-05-25. สืบค้นเมื่อ 2014-05-25.
- ↑ "Protesters rally against coup at Ratchaprasong". The Nation. 2014-05-25. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2014-05-25. สืบค้นเมื่อ 2014-05-25.
- ↑ "Troops block protesters from heading to Pathumvan Intersection". The Nation. 2014-05-25. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2016-03-03. สืบค้นเมื่อ 2015-05-25.
- ↑ "ตรึงกำลังทั่วกรุง-สกัดผู้ชุมนุมนัดเทอร์มินัล 21 ชู 3 นิ้ว-ต้านรัฐประหาร". ประชาไท. 2014-06-01. สืบค้นเมื่อ 2015-06-02.
- ↑ Zayda Rivera (2014-06-02). "Thai protesters adopt 'Hunger Games' three-fingered salute amid military coup". NYDailyNews. สืบค้นเมื่อ 2014-06-06.
- ↑ 215.0 215.1 "Hunger Games Stars Back Thai Salute Protesters". Sky News. 2014-06-03. สืบค้นเมื่อ 2014-06-06.
- ↑ ""ฉลาด"ฟ้อง"ประยุทธ์"-คณะคสช.ข้อหากบฏ-หมิ่นสถาบัน". โพสต์ทูเดย์. 2014-06-10. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2019-01-16. สืบค้นเมื่อ 2014-06-10.
- ↑ "Thai anti-coup protesters say it with sandwiches". Asian Correspondent. 2014-06-22. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2014-07-01. สืบค้นเมื่อ 2014-06-22.
- ↑ "Police detains 8 student activists before their anti-coup sandwiches activity". Prachatai. 2014-06-22. สืบค้นเมื่อ 2014-06-22.
- ↑ "ตั้ง 'เสรีไทย' 2557 ต้านรัฐประหารฟื้นประชาธิปไตย – จารุพงศ์นั่งเลขาธิการ". ประชาไท. 2014-06-24. สืบค้นเมื่อ 2014-06-24.
- ↑ "Five Thai students held for 'Hunger Games' salute at PM" (ภาษาอังกฤษ). BBC. 2014-11-17. สืบค้นเมื่อ 2014-11-20.
- ↑ "ฟังความในใจ น.ศ.ดาวดิน เตรียมใจถูกคัดชื่อออกจาก มข". ประชาไท. 2014-11-20. สืบค้นเมื่อ 2014-11-20.
- ↑ "ปล่อย 5 น.ศ.มข.จากค่ายแล้ว-ไม่ตั้งข้อหา". ประชาไท. 2014-11-20. สืบค้นเมื่อ 2014-11-20.
- ↑ เครือข่ายนักวิชาการเพื่อสิทธิพลเมือง - คนส.
- ↑ เครือข่ายนักวิชาการฯ ร้อง 'ยูเอ็น' สอบ รบ.-คสช. ละเมิดสิทธิคนเห็นต่าง ไทยรัฐ 5 พฤษภาคม 2559
- ↑ แถลงการณ์ ‘เครือข่ายนักวิชาการเพื่อสิทธิพลเมือง’ ร้องปล่อยตัวน.ศ.-รณรงค์ออกเสียงประชามติอย่างเสรี เก็บถาวร 2016-04-09 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน 28 มิถุนายน 2559
- ↑ 43 เครือข่ายนักวิชาการ-นศ.-ประชาชนแถลงโหวตโนร่างรธน. โพสต์ทูเดย์ 25 กรกฎาคม 2559
- ↑ เครือข่ายนักวิชาการ เรียกร้องศาลทบทวนเพิกถอนประกันตัว “ไผ่ ดาวดิน” บีบีซีไทย 28 ธันวาคม 2559
- ↑ เครือข่ายนักวิชาการ ยื่นหนังสือถึง ปธ.ศาลฎีกา หวังช่วย “ไผ่ ดาวดิน” ได้ประกันตัว 30 มกราคม 2017
- ↑ เครือข่ายนักวิชาการโต้ ถือป้าย ‘เวทีวิชาการไม่ใช่ค่ายทหาร’ รธน.ไม่ได้ห้าม-ขอให้รัฐบาลเคารพเสรีภาพการแสดงออก มติชนสุดสัปดาห์ 19 กรกฎาคม 2560
- ↑ เครือข่ายนักวิชาการ “จับเท็จ” หนังสือเรียกอาจารย์ มธ. ปรับทัศนคติ บีบีซีไทย 19 กรกฎาคม 2560
- ↑ แถลงการณ์เครือข่ายนักวิชาการเพื่อสิทธิพลเมือง เรื่อง ยุติการตรวจค้น จับกุม คุมขังนักศึกษาและเยาวชนจังหวัดชายแดนภาคใต้โดยพลการ ศูนย์เฝ้าระวังสถานการณ์ภาคใต้ 20 ตุลาคม 2559
- ↑ ‘เครือข่ายนักวิชาการเพื่อสิทธิพลเมือง’เยี่ยมแม่จ่านิว อ่านแถลงการณ์ ห่วงคสช.ตอกลิ่มความเกลียดชัง มติชนออนไลน์ 7 พฤษภาคม 2559
- ↑ เครือข่ายนักวิชาการเพื่อสิทธิพลเมืองแถลงห่วงเสรีภาพนิสิตจุฬาฯ กรณีพิธีถวายสัตย์ฯ 14 สิงหาคม 2560
- ↑ ตำรวจขวางเครือข่ายNGO-นักวิชาการเดินมิตรภาพ 8 แสนก้าวปลดอาวุธคสช. ไทยโพสต์ 20 มกราคม 2561
- ↑ สุรชาติ : บันทึก 4 ปีรัฐประหาร สืบทอดอำนาจ สู่เผด็จการครึ่งใบ
- ↑ ออกหมายเรียก 5 นักวิชาการ-น.ศ. ฝ่าฝืนคำสั่งชุมนุมทางการเมือง กรณีกิจกรรมในงานไทยศึกษา ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน 15 สิงหาคม 2560
- ↑ ทหารแจ้งจับ!! 8 แกนนำ "เดินมิตรภาพ" ขัดคำสั่ง "บิ๊กตู่" คมชัดลึก 23 มกราคม 2561
- ↑ "ย้อนดู 8 ปีความพยายามต้านรัฐประหารและลบล้างผลพวง ที่ยังไม่จบ". ประชาไท. สืบค้นเมื่อ 22 May 2022.
- ↑ รัฐบาลสหรัฐฯ แถลงเรียกร้องทุกฝ่ายเคารพ "ประชาธิปไตย" เชื่อกองทัพไทย ยึดแนวทางป้องกันความรุนแรง, มติชนออนไลน์, 21 พฤษภาคม 2557.
- ↑ รัฐบาล-บริษัทรถยนต์ยักษ์ใหญ่ญี่ปุ่น‘กังวล’สถานการณ์ในไทย ไทยรัฐ 21 พ.ค. 2557
- ↑ สหรัฐเชื่อมั่นทหารไทยไม่รัฐประหาร วอนเคารพเสรีภาพสื่อตามคำมั่น "อียู" จี้เร่งจัดเลือกตั้ง, มติชนออนไลน์, 21 พฤษภาคม 2557.
- ↑ [Infographic Travel warnings to Thailand] Prachathai, 3 June 2014.
- ↑ Statement by the Spokesperson on military takeover in Thailand European Union External Action, 22 May 2014.
- ↑ "Statement attributable to the Spokesman for the Secretary-General on Thailand". New York: Office of the United Nations Secretary-General. 22 May 2014. สืบค้นเมื่อ 22 May 2014.
- ↑ "UN Human Rights Chief condemns military coup and urges prompt restoration of rule of law in Thailand". Prachatai. 2014-05-24. สืบค้นเมื่อ 2014-05-24.
- ↑ "UN จับตาการละเมิดสิทธิชุมชนเพิ่มทรัพย์ แนะทหารควรเคารพหลักการ". ประชาไท. 2015-02-10. สืบค้นเมื่อ 2015-02-10.
- ↑ -break-of-order-Institutional-in-Thailand Institutional-in-Thailand[ลิงก์เสีย]
- ↑ "Thai Ambassador Called in for Talks". SBS. 23 May 2014. สืบค้นเมื่อ 24 May 2014.
- ↑ "Australia downgrades ties with Thailand after military coup". The Guardian. 31 May 2014. สืบค้นเมื่อ 31 May 2014.
- ↑ "Cambodia keeps cool after coup in Thailand". The Phnom Penh Post. 23 May 2014. สืบค้นเมื่อ 23 May 2014.
- ↑ ' รัฐบาลชิลีประณามการรัฐประหารในราชอาณาจักรไทย
- ↑ "China calls for dialogues and order in Thailand". Xinhuanet. 2014-05-23. สืบค้นเมื่อ 2014-05-25.
- ↑ กระทรวงการต่างประเทศโคลัมเบีย (23 May 2014). "Comunicado de Prensa del Ministerio de Relaciones Exteriores sobre la situación en Tailandia". สืบค้นเมื่อ 23 May 2014.
- ↑ "Hollande condemns Thai coup, calls for elections". The Nation. 2014-05-22. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2014-05-22. สืบค้นเมื่อ 2014-05-22.
- ↑ "Steinmeier zur Machtübernahme durch das Militär in Thailand" [ชไตน์ไมเออร์กับการรัฐประหารของกองทัพในประเทศไทย] (ภาษาเยอรมัน). Foreign Office. 22 May 2014. สืบค้นเมื่อ 23 May 2014.
- ↑ Kishida, Fumio (22 May 2014). "タイにおける政変について(外務大臣談話)" [คำแถลงของ ฟุมิโอะ คิชิดะ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศเกี่ยวกับการรัฐประหารในประเทศไทย] (ภาษาญี่ปุ่น). Ministry of Foreign Affairs. สืบค้นเมื่อ 23 May 2014.
- ↑ "PRESS RELEASE THE CURRENT SITUATION IN BANGKOK, THAILAND". Ministry of Foreign Affairs, Malaysia. สืบค้นเมื่อ 24 May 2014.
- ↑ "Thai coup will not affect Malaysian politics, economy, says Dr Mahathir". The Malaysian Insider. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2014-05-26. สืบค้นเมื่อ 24 May 2014.
- ↑ "Myanmar supreme commander lavishes plaudits on Thai coup". Bangkok Post. 5 Jul 2014. สืบค้นเมื่อ 3 Aug 2014.
- ↑ "Комментарий Департамента информации и печати МИД России относительно военного переворота в Таиланде" [ความคิดเห็นของฝ่ายข่าวและข้อมูล ของ MFA ของรัสเซียเกี่ยวกับการรัฐประหารในประเทศไทย] (ภาษารัสเซีย). Ministry of Foreign Affairs. 23 May 2014. สืบค้นเมื่อ 23 May 2014.
- ↑ ปฏิกิริยาทั่วโลกต่อการรัฐประหารในไทย[ลิงก์เสีย]
- ↑ "Foreign Secretary calls for return to democracy in Thailand". Foreign and Commonwealth Office. 22 May 2014. สืบค้นเมื่อ 23 May 2014.
- ↑ "US Department of State on Thai coup". US Department of State. 2014-05-22. สืบค้นเมื่อ 2014-05-22.
- ↑ Thailand army continues crackdown after coup. BBC. 25 May 2014. Retrieved 25 May 2014.
- ↑ "Statement by Pentagon Press Secretary Rear Admiral John Kirby on Thailand". 2014-05-24. สืบค้นเมื่อ 2014-05-24.
- ↑ "Thailand army continues crackdown after coup". BBC. 2014-05-24. สืบค้นเมื่อ 2014-05-25.
- ↑ "US tells Thailand to restore democracy or alliance is over". AFP via The Malay Mail Online. 2015-02-06. สืบค้นเมื่อ 2015-02-09.
- ↑ "U.S. military to participate in major exercise in Thailand despite coup". The Washington Post. 2015-02-07. สืบค้นเมื่อ 2015-02-09.
- ↑ "Cobra Gold opens at 'challenging' time for US, Thailand". Bangkok Post. 2015-02-09. สืบค้นเมื่อ 2015-02-09.
- ↑ นักวิชาการต่างประเทศด้านไทยศึกษาส่งจม.เปิดผนึกหาประยุทธ์ ร้องต้องคืนอำนาจสู่ประชาชนทันที
- ↑ "Amnesty International slams arrests". Bangkok Post. 2014-05-24. สืบค้นเมื่อ 2014-05-24.
- ↑ "THAILAND: Army issues summons to activists, academics, writers, and others". Asian Human Rights Commission. 2014-05-24. สืบค้นเมื่อ 2014-05-25.
- ↑ "Thailand: Rights in 'Free Fall' After Coup". Human Rights Watch. 2014-05-24. สืบค้นเมื่อ 2014-05-24.
- ↑ "Thailand: Japan Should Urge End to Military Rule". Human Rights Watch. 2015-02-06. สืบค้นเมื่อ 2015-02-09.
- ↑ สมาคมผู้สื่อข่าวเมียนมาร์แถลงห่วงเสรีภาพสื่อไทย
- ↑ "Thai and foreign students in Japan launch anti-coup protest". Prachathai. 2014-06-03. สืบค้นเมื่อ 2014-06-04.
- ↑ "US academic Noam Chomsky gives embattled Thai academic Pavin moral support". Prachatai. 2014-06-22. สืบค้นเมื่อ 2014-06-27.
- ↑ "Thailand's unelected parliament has no mandate to pass legislation". APHR. 2015-02-04. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2015-06-05. สืบค้นเมื่อ 2015-02-09.
- ↑ "Thailand's generals should stand aside". Financial Times. 2015-02-08. สืบค้นเมื่อ 2015-02-14.
- ↑ Thomas Fuller (2015-02-09). "Thailand's Junta Tries to Bury the Opposition in Endless Lawsuits". The New York Times. สืบค้นเมื่อ 2015-02-10.
แหล่งข้อมูลอื่น
[แก้]- เว็บไซต์รัฐบาลไทย
- คณะรักษาความสงบแห่งชาติ ที่เฟซบุ๊ก
- คณะรักษาความสงบแห่งชาติ ที่เอกซ์ (ทวิตเตอร์)
- รวมข่าวรัฐประหาร – ไทยรัฐ
- สามปี คสช. วางฐานอำนาจ “มั่นคง มั่งคั่ง ยั่งยืน” เก็บถาวร 2020-08-11 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน - สรุปสถานการณ์ 2557-2560