วรเจตน์ ภาคีรัตน์

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
วรเจตน์ ภาคีรัตน์
วรเจตน์ ภาคีรัตน์ เมื่อปี 2563
เกิด23 สิงหาคม พ.ศ. 2512 (54 ปี)
จังหวัดพระนครศรีอยุธยา
ศิษย์เก่ามหาวิทยาลัยเกิททิงเงิน
อาชีพนักนิติศาสตร์ อาจารย์มหาวิทยาลัย
มีชื่อเสียงจากหัวหน้าคณะนิติราษฎร์

ศาสตราจารย์ ดร.วรเจตน์ ภาคีรัตน์ (เกิด 23 สิงหาคม พ.ศ. 2512) เป็นนักกฎหมายชาวไทย อาจารย์ประจำคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์[1] [2] และเป็นอาจารย์พิเศษในสถาบันการศึกษาอื่นอีกหลายแห่ง[3][4] มีชื่อเสียงจากการร่วมก่อตั้งคณะนิติราษฎร์[5] แต่เนื่องจากมีผู้ไม่เห็นด้วย จึงมีการต่อต้านวรเจตน์กับเพื่อนหลายครั้ง คราวร้ายแรงที่สุด มีผู้ทำร้ายร่างกายเขาจนบาดเจ็บ[6]

มติชนออนไลน์ ให้วรเจตน์กับเพื่อนคณะนิติราษฎร์เป็นบุคคลผู้ทรงอิทธิพลแห่งปี 2553 ในสาขาวิชาการ[7] และสภามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์มีมติให้เขาเป็นศาสตราจารย์ในเดือนสิงหาคม 2557[8]

ประวัติ[แก้]

วรเจตน์เกิดที่จังหวัดพระนครศรีอยุธยา มีพี่น้องสี่คน[9] บิดาเป็นอดีตนายสถานีรถไฟบ้านม้า[9] เขาสนใจศึกษาการเมืองการปกครอง ด้วยตนเองมาตั้งแต่เด็ก จึงมีแนวคิดที่จะศึกษาในสาขารัฐศาสตร์และนิติศาสตร์[9]

วรเจตน์จบการศึกษาชั้นอนุบาลและชั้นประถมศึกษาที่โรงเรียนจิระศาสตร์วิทยา จังหวัดพระนครศรีอยุธยา[10] จากนั้นเข้าศึกษาระดับมัธยมศึกษาตอนต้นที่โรงเรียนหอวังในกรุงเทพมหานคร[10] ระหว่างนั้น เขานั่งรถไฟไปโรงเรียนและกลับบ้านที่พระนครศรีอยุธยาทุกวัน โดยลงที่สถานีบางเขนแล้วต่อรถประจำทางไปยังโรงเรียน ต่อมา สำเร็จชั้นมัธยมศึกษาตอนปลายที่โรงเรียนเตรียมอุดมศึกษา[9], นิติศาสตรบัณฑิต เกียรตินิยมอันดับ 2 มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เมื่อปี พ.ศ. 2533[10] และรับทุนมูลนิธิอานันทมหิดลไปศึกษาต่อจนสำเร็จปริญญานิติศาสตรมหาบัณฑิต มหาวิทยาลัยเกิททิงเงิน (University of Göttingen) ประเทศเยอรมนี ด้วยคะแนนสูงสุดของรุ่น[10] และปริญญาเอก Doctor der Rechte (Summa cum Laude) จาก มหาวิทยาลัยเกิททิงเงิน

วรเจตน์ชื่นชอบนวนิยายจีน เช่น มังกรหยก, ฤทธิ์มีดสั้น[9]

การทำงาน[แก้]

  • รองประธานสภานักศึกษา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (2531)[11]
  • นิติกร สำนักงานกฎหมาย บริษัทปูนซิเมนต์ไทย จำกัด (มหาชน)[11]
  • รองศาสตราจารย์ ประจำคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์[12]
  • ศาสตราจารย์ ในสาขาวิชากฎหมายมหาชน สังกัดคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ตั้งแต่วันที่ 12 มิถุนายน 2556[13]
  • หัวหน้าหลักสูตร ประกาศนียบัตรบัณฑิต ทางกฎหมายมหาชน คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์[14]
  • รองผู้อำนวยการ โครงการอบรมประกาศนียบัตรกฎหมายมหาชน คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์[15]
  • อาจารย์พิเศษ คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยรังสิต[3]
  • อาจารย์พิเศษ คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ [4]
  • ผู้บรรยายวิชากฎหมายปกครอง สำนักฝึกอบรมกฎหมาย แห่งเนติบัณฑิตยสภา [16]

การถูกทำร้ายร่างกาย[แก้]

เหตุการณ์[แก้]

ในระยะหลัง วรเจตน์มีบทบาทแสดงความคิดเห็นทางกฎหมายต่อการเมืองในเชิงวิพากษ์ซึ่งไม่เป็นที่ชอบใจของบุคคลบางกลุ่ม วันที่ 29 กุมภาพันธ์ 2555 เวลาประมาณ 15:40 นาฬิกา มีชายสองคนเข้าทำร้ายร่างกายเขาที่คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์[17] วรเจตน์ว่า ตนขับรถยนต์เก๋งเข้าไปจอดในคณะเพื่อเตรียมสอนในเวลาเย็น เมื่อลงจากรถ มีชายสองคนเดินปรี่เข้ามาจากด้านหลัง คนหนึ่งตะโกนว่า "กูรอมึงมานานแล้ว" และชกเข้าที่หน้าขวาเขาไม่ยั้ง จนแว่นตาที่เขาสวมอยู่กระเด็นตกพื้นเลนส์แตกเสียหาย เขาได้แต่ใช้มือปัดป้อง และเห็นหน้าชายทั้งสองไม่ชัด เนื่องจากสายตาสั้น เวลานั้น มีชายสองคนวิ่งเข้ามาช่วย ทราบภายหลังว่า เป็นเพื่อนอาจารย์ แต่ก็ถูกผู้ก่อเหตุทั้งคู่ผลักล้มลง จากนั้น คนทั้งสองวิ่งไปขึ้นจักรยานยนต์ แล้วพากันขับหลบหนีไป ระหว่างนั้นตะโกนไล่หลังว่า "ถ้ามึงอยากรู้ว่ากูเป็นใคร ให้ไปดูกล้องวงจรปิดดู เดี๋ยวก็รู้ว่ากูเอง"[17] ต่อมา เขาได้รับการนำส่งโรงพยาบาลธนบุรี แขวงบ้านช่างหล่อ เขตบางกอกน้อย แพทย์ตรวจแล้วแถลงว่า มีบาดแผลฟกช้ำ และรอยขีดข่วนทั่วใบหน้าขวา ตั้งแต่โหนกแก้ม กรามขวา ไปจนถึงหน้าผาก กับทั้งมีเลือดไหลออกจากจมูก[17]

การดำเนินคดี[แก้]

ในวันนั้นเอง พลตำรวจโท วินัย ทองสอง ผู้บัญชาการตำรวจนครบาล และพลตำรวจตรี วิชัย สังข์ประไพ รองผู้บัญชาการตำรวจนครบาล พร้อมทั้งพนักงานสอบสวน เข้าตรวจสอบที่เกิดเหตุพบว่า กล้องวงจรปิดบันทึกภาพชายคู่ผู้ก่อเหตุและทะเบียนรถจักรยานยนต์ที่ใช้หลบหนีไว้ได้ชัดเจน[17] พลตำรวจตรี วิชัย ว่า พวกตนได้รับมอบหมายจากพลตำรวจเอก เพรียวพันธ์ ดามาพงศ์ ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ ให้รับผิดชอบเรื่องนี้อย่างใกล้ชิด เพราะประชาชนให้ความสนใจ เวลานี้ ทราบตัวชายสองคนดังกล่าวแล้ว และจะดำเนินคดีอย่างถึงที่สุด[17] จากนั้น จึงนำกำลังไปจับกุมผู้ต้องสงสัยที่บ้านพักแต่ไม่พบ[6]

สุธน เข็มเพ็ชร์ พนักงานรักษาความปลอดภัยของคณะ และแม่บ้านของคณะ ว่า จำหน้าคนร้ายได้อย่างแม่นยำ เพราะเคยร่วมงานเผาหุ่นวรเจตน์ประท้วงที่หน้าคณะเมื่อเดือนก่อน[18] และปิยบุตร แสงกนกกุล เพื่อนอาจารย์ของวรเจตน์ ว่า ก่อนหน้านี้ วรเจตน์ และสมาชิกคนอื่น ๆ ของคณะนิติราษฎร์ เคยรับทั้งโทรศัพท์และจดหมายข่มขู่ ซ้ำยังมีคนแปลกหน้าบุกมาหา ถึงคณะหลายครั้งด้วย แต่คาดไม่ถึงว่า จะเกิดเหตุร้ายขึ้นจริง[19]

รุ่งขึ้น เวลา 11:30 นาฬิกา มีพี่น้องฝาแฝดเข้าแสดงตัวที่สถานีตำรวจชนะสงครามว่า เป็นผู้กระทำความ โดยแจ้งว่า คนหนึ่งชื่อ สุพจน์ ศิลารัตน์ อีกคนชื่อ สุพัฒน์ ทั้งสองอายุ 30 ปีเท่ากัน อาศัยอยู่และประกอบอาชีพค้าขายที่บ้านเลขที่ 12/382 หมู่ 4 ตำบลบึงยี่โถ อำเภอธัญบุรี จังหวัดปทุมธานี ทั้งคู่ให้การภาคเสธว่า ทำไปเพราะไม่เห็นด้วยที่คณะนิติราษฎร์เสนอให้แก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 แต่มิได้เตรียมการมา ในวันเกิดเหตุ ตั้งใจจะไปสักการะพระแก้วมรกตที่วัดพระศรีรัตนศาสดาราม จึงแวะไปก่อเหตุเสียก่อน[20] ตำรวจสอบสวนแล้วเชื่อว่า เป็นบุคคลเดียวกับในภาพจากกล้องวงจรปิด แต่ไม่เชื่อว่า มิได้เตรียมการมา พันตำรวจโท ณัฐกร คุ้มทรัพย์ รองผู้กำกับการฝ่ายสืบสวนสอบสวน สถานีตำรวจชนะสงคราม ซึ่งร่วมเป็นพนักงานสอบสวน กล่าวว่า "จากพฤติกรรมเข้าใจว่า น่าจะติดตามความเคลื่อนไหวของนายวรเจตน์มานานพอสมควร ถึงรู้ว่า ขับรถยี่ห้ออะไร ทะเบียนอะไร และจอดบริเวณไหนของมหาวิทยาลัย"[20] จากนั้น ตำรวจแถลงข่าวว่า แจ้งข้อหาร่วมกันทำร้ายร่างกายเป็นเหตุให้ได้รับอันตรายแก่กายหรือจิตใจโดยไตร่ตรองไว้ก่อนตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 295 และ 296 ประกอบมาตรา 289 และ 83[6][20][21]

พลตำรวจโท วินัย ยังกล่าวว่า ผู้ต้องหาทั้งสองมีประวัติกระทำความผิดลักษณะเดียวกันในหลายท้องที่[6] นอกจากนี้ ขณะที่นักข่าวขอสัมภาษณ์ สุพัฒน์ตอบว่า "อยากเตะนักข่าว"[6][20]

ต่อมาวันที่ 8 มีนาคม 2555 เวลาเช้า พนักงานอัยการฟ้องผู้ต้องหาทั้งสองเป็นจำเลยต่อศาลแขวงดุสิต ขอให้ลงโทษจำเลยทั้งคู่ตามประมวลกฎหมายอาญาข้างต้น และสุพจน์ จำเลยที่ 1 เคยกระทำความผิดเกี่ยวกับอาวุธปืนในคดีอาญาหมายเลขแดงที่ 1336/2553 ของศาลอาญา ซึ่งศาลอาญาพิพากษาจำคุกเจ็ดเดือน แต่ให้รอการลงโทษไว้ จึงขอให้นับโทษดังกล่าวต่อจากโทษในคดีนี้ด้วย[22][23] จำเลยทั้งสอง ให้การรับสารภาพ[23]

บ่ายวันเดียวกัน ศาลแขวงดุสิตพิจารณาแล้วพิพากษาว่า จำเลยทั้งสองมีความผิดตามฟ้อง ให้จำคุกคนละหกเดือน คำรับสารภาพเป็นประโยชน์แก่การพิจารณาคดี มีเหตุบรรเทาโทษ ให้ลดโทษลงกึ่งหนึ่ง เป็นจำคุกคนละสามเดือน ให้นับโทษจำเลยที่ 1 ต่อจากโทษในคดีอาญา หมายเลขแดงที่ 1336/2553 ของศาลอาญา รวมเป็นจำคุกจำเลยที่ 1 สิบเดือน และจำคุกจำเลยที่ 2 สามเดือน ไม่รอลงอาญา[23] จำเลยทั้งคู่อุทธรณ์[23] ญาติจำเลยขอให้ปล่อยจำเลยชั่วคราวระหว่างอุทธรณ์ วางประกันคนละ 22,000 บาท ศาลอนุญาต[24]

ปฏิกิริยา[แก้]

หลังทราบเหตุ สมคิด เลิศไพฑูรย์ อธิการบดีมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ โพสต์ข้อความลงเฟซบุ๊กตนว่า ขอประณามความรุนแรงทุกประเภท ขอเรียกร้องให้ทุกฝ่ายใช้เหตุผล และแม้ว่าทางมหาวิทยาลัยจะรักษาความปลอดภัยดีแล้ว แต่ก็จะวางเวรยามเพิ่มต่อไป[17]

อนึ่ง มีรายงานว่า "บรรดาเพื่อนอาจารย์...และลูกศิษย์ รวมทั้งประชาชนผู้สนับสนุนอาจารย์วรเจตน์ ต่างออกมาประณามการกระทำอันป่าเถื่อนครั้งนี้" และคณะนิติราษฎร์แถลงว่า "บอกได้เลยว่า พวกคุณคิดผิด หากคิดว่าเรากลัว...ขอยืนยัน เราจะสู้ด้วยเหตุผลต่อไป แม้พวกคุณจะใช้กำลัง"[6] ขณะที่ สมยศ เชื้อไทย อาจารย์คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ว่า "การทำร้ายร่างกายนายวรเจตน์...มิใช่เรื่องการทำร้ายร่างกายบุคคลธรรมดา...แต่ยังเป็นการทำร้ายและทำลายหลักการคุ้มครองสิทธิเสรีภาพของฝ่ายข้างน้อยอย่างร้ายแรง หากสังคมไม่เกิดความสำนึกร่วมที่จะแสวงหาหลักประกันสิทธิเสรีภาพในการแสดงออกซึ่งความคิดเห็นที่แตกต่าง ความพยายามจะแก้ไขรัฐธรรมนูญให้เป็นประชาธิปไตยก็เป็นสิ่งที่ไร้ค่า จึงขอประณามการกระทำดังกล่าว"[20] และสมาคมธรรมศาสตร์ ในพระบรมราชูปถัมภ์ กล่าวว่า การกระทำของชายทั้งสองนั้น "ไม่หวังดีต่อประเทศชาติ แต่จงใจมุ่งให้เกิดความแตกแยก และให้สังคมเกิดความโกลาหลวุ่นวาย ยากต่อการประนีประนอม หรือปรองดองสามัคคีระหว่างคนในสังคม"[25]

ส่วนมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์เองออกแถลงการณ์ซึ่งมีเนื้อหาทำนองเดียวกัน กับทั้งวิงวอนให้สังคมใช้เหตุผลเป็นที่ตั้ง มหาวิทยาลัยยังได้เพิ่มมาตรการรักษาความปลอดภัย[26]

เย็นวันที่ 1 มีนาคม 2555 มีบุคคลจำนวนมาก เข้าให้กำลังใจแก่วรเจตน์ โดยถือป้ายว่า "คิดต่าง แต่ไม่คิดต่อย" [25]

การรายงานตัวต่อคณะรัฐประหาร[แก้]

วันที่ 24 พฤษภาคม 2557 หลังรัฐประหาร คณะผู้ยึดอำนาจการปกครองซึ่งเรียกตนเองว่า คณะรักษาความสงบแห่งชาติ ออกคำสั่งฉบับที่ 5/2557 เพื่อให้วรเจตน์มารายงานตัว แต่ครั้งนั้นเขาไม่ไป และยังมีคำสั่งฉบับที่ 57/2557 เพื่อให้เขาไปรายงานตัวอีกครั้ง สถานีวิทยุกระจายเสียงแห่งประเทศไทย รายงานว่า วรเจตน์มอบหมายให้พัชรินทร์ ภริยา เข้ารายงานตัวแทน และให้เหตุผลว่า เขาป่วย จึงไม่สามารถเข้ารายงานตัวด้วยตนเอง[27]

เมื่อวันที่ 17 มิถุนายน 2557 สำนักข่าวหลายแห่งรายงานว่า กำลังทหารตามคำสั่งคณะผู้ยึดอำนาจการปกครองเข้าควบคุมตัววรเจตน์ที่ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ หลังเดินทางกลับจากเขตปกครองพิเศษฮ่องกง บางสำนักรายงานว่า เขาถูกกักตัวอยู่ก่อนแล้วเป็นเวลาหนึ่งสัปดาห์ ทว่า ในวันที่ 18 มิถุนายน 2557 ธีระ สุธีวรางกูร อาจารย์ประจำคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ นักวิชาการในคณะนิติราษฎร์ โพสต์ข้อความลงเฟซบุ๊กตนว่า "ดร.วรเจตน์ ไม่ได้ถูกควบคุมตัว แต่ตัดสินใจเข้ารายงานตัวด้วยตัวเอง"[28]

เช้าวันที่ 18 มิถุนายน 2557 ทหารควบคุมวรเจตน์มายังกองบังคับการกองปราบปราม เพื่อให้ตำรวจถามปากคำ และแจ้งข้อหาฝ่าฝืนคำสั่งคณะผู้ยึดอำนาจการปกครอง วรเจตน์ปฏิเสธที่จะให้สัมภาษณ์แก้ผู้สื่อข่าว ครั้นเวลาประมาณ 12:30 นาฬิกา พนักงานสอบสวนกองปราบปรามและทหารนำเขาไปยังศาลทหารกรุงเทพฯ เพื่อขอฝากขังจนถึงวันที่ 27 มิถุนายน ศาลทหารอนุมัติ และให้นำวรเจตน์ไปยังเรือนจำพิเศษกรุงเทพมหานคร ครอบครัวของวรเจตน์ยื่นหลักทรัพย์เงินสด 20,000 บาท เพื่อขอประกันตัว ในเวลาประมาณ 16:00 นาฬิกา ศาลทหารอนุญาตให้ประกันตัว โดยมีเงื่อนไขห้ามเคลื่อนไหวทางการเมือง ต้องขออนุญาตก่อนออกนอกราชอาณาจักร และให้มารายงานตัวตามวันที่นัดหมาย มีผู้มาคอยต้อนรับและให้กำลังใจจำนวนหนึ่ง[29]

ต่อมาคดีดังกล่าวได้ถูกโอนจากศาลทหารกรุงเทพ ไปยังศาลแขวงดุสิต ซึ่งจำเลยได้ยื่นคำร้องต่อศาลแขวงดุสิตขอให้ศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาว่าบทบัญญัติของกฎหมายที่ใช้บังคับแก่คดีขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญ ต่อมาศาลรัฐธรรมนูญได้มีคำวินิจฉัยที่ 30/2563 วินิจฉัยว่าประกาศคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ฉบับที่ 29/2557 และฉบับที่ 41/2557 เฉพาะในส่วนโทษทางอาญาขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญ[30] ต่อมาศาลแขวงดุสิตพิพากษายกฟ้องในคดีดังกล่าว[31]

ผลงานหนังสือ[แก้]

  • Die Entwicklung der Dogmatik des verwaltungsrechtlichen Vertrages (2543)[32]
  • วิธีพิจารณาของศาลรัฐธรรมนูญ (2546)[33]
  • ความรับผิดทางละเมิดของฝ่ายปกครองตาม Common Law ในระบบกฎหมายอังกฤษ (2546)
  • หลักการพื้นฐานของกฎหมายปกครองและการกระทำทางปกครอง (2546)
  • วิธีปฏิบัติราชการทางปกครองในระบบกฎหมายเยอรมัน (2549)[34]
  • การเปลี่ยนแปลงแนวคำวินิจฉัย และผลผูกพันของคำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญ (2550)[35]
  • จุดไฟในสายลม (2552)[36]
  • กฎหมายปกครอง ภาคทั่วไป (2554)[37]
  • คำสอนว่าด้วยรัฐและหลักกฎหมายมหาชน (2555)[38]
  • ด้วยกฎหมายและอุดมการณ์ (2558)[39]

เกียรติประวัติ[แก้]

  • สอบเข้ามหาวิทยาลัยทั่วประเทศ ประจำปี พ.ศ. 2530 (เลือกคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์) มีคะแนนเป็นอันดับหนึ่ง[40]
  • สำเร็จการศึกษา นิติศาสตรบัณฑิต (เกียรตินิยมอันดับสอง) มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์[40]
  • ได้รับรางวัลเรียนดีทุนภูมิพล เนื่องจากเป็นบัณฑิตซึ่งมีคะแนนสูงสุดของคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ประจำปีการศึกษา 2533[10]
  • ได้รับพระราชทานทุนมูลนิธิอานันทมหิดล ให้ไปศึกษาวิชานิติศาสตร์ สาขากฎหมายมหาชน ที่สหพันธ์สาธารณรัฐเยอรมนี[10]
  • สำเร็จการศึกษานิติศาสตรมหาบัณฑิตซึ่งมีคะแนนสูงสุด ตามหลักสูตร Magister Iuris ของมหาวิทยาลัยเกิททิงเงิน[10]
  • บุคคลผู้ทรงอิทธิพลแห่งปี พ.ศ. 2553 สาขาวิชาการ จากเว็บไซต์ข่าว มติชนออนไลน์[7]

เครื่องราชอิสริยาภรณ์[แก้]

อ้างอิง[แก้]

  1. ประกาศสำนักนายกรัฐมนตรีเรื่องแต่งตั้งศาสตราจารย์
  2. "สภา มธ.แต่งตั้ง อ.วรเจตน์เป็น "ศาสตราจารย์" และอ.สาวตรี สุขศรี เป็น "ผู้ช่วยศาสตราจารย์"". ประชาชาติธุรกิจ. 2557. สืบค้นเมื่อ 1 มีนาคม 2559. {{cite web}}: ตรวจสอบค่าวันที่ใน: |accessdate= (help)
  3. 3.0 3.1 "อาจารย์พิเศษ คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยรังสิต". มหาวิทยาลัยรังสิต. 2559. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2016-04-25. สืบค้นเมื่อ 25 มกราคม 2559. {{cite web}}: ตรวจสอบค่าวันที่ใน: |accessdate= (help)
  4. 4.0 4.1 "อาจารย์พิเศษ คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์". มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์. 2559. สืบค้นเมื่อ 27 มกราคม 2559. {{cite web}}: ตรวจสอบค่าวันที่ใน: |accessdate= (help)[ลิงก์เสีย]
  5. "เว็บไซต์ 'นิติราษฎร์' เปิดตัวแล้ว". วรเจตน์และเพื่อน. 19 กันยายน 2553. สืบค้นเมื่อ 1 มีนาคม 2555. {{cite web}}: ตรวจสอบค่าวันที่ใน: |accessdate= (help)
  6. 6.0 6.1 6.2 6.3 6.4 6.5 "2 ฝาแฝดมือชกวรเจตน์มอบตัว". โพสต์ทูเดย์. 1 มีนาคม 2555. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2012-05-02. สืบค้นเมื่อ 2021-09-29.
  7. 7.0 7.1 "วรเจตน์ ภาคีรัตน์ และกลุ่มนิติราษฎร์: บุคคลผู้ทรงอิทธิพลแห่งปี 2553 สาขา "วิชาการ"". มติชน. 2553. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2016-03-04. สืบค้นเมื่อ 1 มีนาคม 2555. {{cite web}}: ตรวจสอบค่าวันที่ใน: |accessdate= (help)
  8. "มติสภามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ อนุมัติ "วรเจตน์" ดำรงตำแหน่ง "ศาสตราจารย์"". มติชน. 2014-08-08. สืบค้นเมื่อ 2014-08-08.
  9. 9.0 9.1 9.2 9.3 9.4 "มารู้จัก ดร.วรเจตน์ ภาคีรัตน์". 2554. สืบค้นเมื่อ 1 มีนาคม 2555. {{cite web}}: ตรวจสอบค่าวันที่ใน: |accessdate= (help)
  10. 10.0 10.1 10.2 10.3 10.4 10.5 10.6 ศิษย์เก่าที่เราภูมิใจ วรเจตน์ ภาคีรัตน์ โรงเรียนจิระศาสตร์วิทยา
  11. 11.0 11.1 "ประวัติ ดร.วรเจตน์ ภาคีรัตน์ อาจารย์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์". ม.ป.ป. สืบค้นเมื่อ 1 มีนาคม 2555. {{cite web}}: ตรวจสอบค่าวันที่ใน: |accessdate= และ |date= (help)[ลิงก์เสีย]
  12. "รายนามอาจารย์คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (ภาษาไทย)". มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์. 2555. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2012-06-01. สืบค้นเมื่อ 1 มีนาคม 2555. {{cite web}}: ตรวจสอบค่าวันที่ใน: |accessdate= (help)
  13. ทัศนรุ่งเรือง, ณัฏฐพัชร์ (2017-04-20). "โปรดเกล้าฯ แต่งตั้งศาสตราจารย์ 'วรเจตน์ ภาคีรัตน์' 1 ใน 10 รายชื่อ". สำนักข่าวอิศรา. กรุงเทพฯ: สำนักข่าวอิศรา. สืบค้นเมื่อ 2017-04-21.
  14. "วรเจตน์ ภาคีรัตน์". pub-law.net. ม.ป.ป. สืบค้นเมื่อ 1 มีนาคม 2555. {{cite web}}: ตรวจสอบค่าวันที่ใน: |accessdate= และ |date= (help)
  15. "ข้อมูลนักวิชาการ วรเจตน์ ภาคีรัตน์,". topscholar.org. 2555. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2020-09-29. สืบค้นเมื่อ 1 มีนาคม 2555. {{cite web}}: ตรวจสอบค่าวันที่ใน: |accessdate= (help)
  16. "ตารางสอน ภาคหนึ่ง สมัยที่ 68" (PDF). เนติบัณฑิตยสภา ในพระบรมราชูปถัมภ์. 2559. สืบค้นเมื่อ 27 มกราคม 2559. {{cite web}}: ตรวจสอบค่าวันที่ใน: |accessdate= (help)[ลิงก์เสีย]
  17. 17.0 17.1 17.2 17.3 17.4 17.5 "'ธรรมศาสตร์'ระอุชกวรเจตน์แกนนำนิติราษฎร์". ไทยรัฐ. 1 มีนาคม 2555. สืบค้นเมื่อ 1 มีนาคม 2555. {{cite web}}: ตรวจสอบค่าวันที่ใน: |accessdate= (help)
  18. "บรรจงประเคนหมัดตะบันหน้า "วรเจตน์ นิติเรด" แว่นแตก!". ผู้จัดการออนไลน์. 29 กุมภาพันธ์ 2555. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2012-03-02. สืบค้นเมื่อ 2012-03-01. {{cite web}}: ตรวจสอบค่าวันที่ใน: |date= (help)
  19. "Nitirat group 'won't be intimidated'". Bangkok Post. 1 มีนาคม 2555.
  20. 20.0 20.1 20.2 20.3 20.4 "แฉแฝดชกวรเจตน์ได้ถ้วยแม่นปืน". ไทยรัฐ. 2 มีนาคม 2555. สืบค้นเมื่อ 2 มีนาคม 2555. {{cite web}}: ตรวจสอบค่าวันที่ใน: |accessdate= (help)
  21. "สองพี่น้องฝาแฝดผู้ตะบันหน้า "วรเจตน์" มอบตัว! อ้างเห็นต่างทางความคิด". ผู้จัดการออนไลน์. 1 มีนาคม 2555. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2012-03-03. สืบค้นเมื่อ 2012-03-01.
  22. "ตร.ส่งฟ้องฝาแฝดตะบันหน้า"วรเจตน์"สัปดาห์หน้า". ผู้จัดการออนไลน์. 3 มีนาคม 2555.[ลิงก์เสีย]
  23. 23.0 23.1 23.2 23.3 "คุก 3 เดือน! คู่แฝดชก "วรเจตน์" - คนพี่ "สุพจน์" เจอเด้งบวกโทษคดีเก่าด้วย". ผู้จัดการออนไลน์. 8 มีนาคม 2555. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2012-03-10. สืบค้นเมื่อ 2012-03-08.
  24. "Jail terms for Worajet's attackers". Bangkok Post. 8 March 2012.
  25. 25.0 25.1 "แก๊งนิติราษฎร์ให้กำลังใจ "วรเจตน์" บอกคิดต่างแต่ไม่คิดต่อย". ผู้จัดการออนไลน์. 1 มีนาคม 2555. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2012-03-04. สืบค้นเมื่อ 2012-03-01.
  26. "ธรรมศาสตร์ ชี้"วรเจตน์"ถูกชกเหตุเสนอแก้ ม.112-ยันหนุนกิจกรรมวิชาการแต่มีเงื่อนไข". ผู้จัดการออนไลน์. 1 มีนาคม 2555. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2012-03-02. สืบค้นเมื่อ 2012-03-01.
  27. "ดวงใจ พวงแก้ว 4 คนรายงานตัว คสช.-วรเจตน์ป่วยให้ภรรยามาแจ้ง-ปล่อย 6 รายชู 3 นิ้ว". ประชาไท. 11 มิถุนายน 2557.
  28. "จนท.คุมตัว 'วรเจตน์' ตามคำสั่งรายงานตัวคสช. เตรียมส่งขึ้นศาลทหาร". ประชาไท. 16 มิถุนายน 2557.
  29. "ศาลทหารให้ประกัน 'วรเจตน์' ปล่อยตัวจากเรือนจำค่ำนี้". ประชาไท. 18 มิถุนายน 2557.
  30. "เปิดคำวินิจฉัยฉบับเต็มที่ 'วรเจตน์' โต้แย้งคำสั่งเรียก คสช.ขัดรัฐธรรมนูญ". prachatai.com.
  31. prachachat (2021-06-08). "ศาลยกฟ้อง! "วรเจตน์" ชนะคดีไม่ไปรายงานตัว "คสช." เมื่อปี 57". ประชาชาติธุรกิจ.
  32. "Die Entwicklung der Dogmatik des verwaltungsrechtlichen Vertrages. (Schriften zum Öffentlichen Recht; SÖR 809)". Amazon.de. 2559. สืบค้นเมื่อ 25 มกราคม 2559. {{cite web}}: ตรวจสอบค่าวันที่ใน: |accessdate= (help)
  33. "วิธีพิจารณาของศาลรัฐธรรมนูญ โดย ผศ.ดร.,วรเจตน์ ภาคีรัตน์". ซีเอ็ด. 2555. สืบค้นเมื่อ 1 มีนาคม 2555. {{cite web}}: ตรวจสอบค่าวันที่ใน: |accessdate= (help)[ลิงก์เสีย]
  34. "วิธีปฏิบัติราชการทางปกครองในระบบกฎหมายเยอรมัน". pub-law.net. 2555. สืบค้นเมื่อ 1 มีนาคม 2555. {{cite web}}: ตรวจสอบค่าวันที่ใน: |accessdate= (help)
  35. "การเปลี่ยนแปลงแนวคำวินิจฉัย และผลผูกพันของคำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญ". topscholar.org. 2555. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2020-09-29. สืบค้นเมื่อ 1 มีนาคม 2555. {{cite web}}: ตรวจสอบค่าวันที่ใน: |accessdate= (help)
  36. "จุดไฟในสายลม โดย อธึกกิต แสวงสุข,วรเจตน์ ภาคีรัตน์". ซีเอ็ด. 2555. สืบค้นเมื่อ 1 มีนาคม 2555. {{cite web}}: ตรวจสอบค่าวันที่ใน: |accessdate= (help)[ลิงก์เสีย]
  37. "กฎหมายปกครอง ภาคทั่วไป โดย วรเจตน์ ภาคีรัตน์". ซีเอ็ด. 2555. สืบค้นเมื่อ 1 มีนาคม 2555. {{cite web}}: ตรวจสอบค่าวันที่ใน: |accessdate= (help)[ลิงก์เสีย]
  38. "คำสอนว่าด้วยรัฐและหลักกฎหมายมหาชน โดย วรเจตน์ ภาคีรัตน์". โครงการตำราและเอกสารประกอบการสอน คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์. 2559. สืบค้นเมื่อ 27 มกราคม 2559. {{cite web}}: ตรวจสอบค่าวันที่ใน: |accessdate= (help)
  39. "ด้วยกฎหมายและอุดมการณ์ โดย วรเจตน์ ภาคีรัตน์". Shine Publishing House. 2559. สืบค้นเมื่อ 27 มกราคม 2559. {{cite web}}: ตรวจสอบค่าวันที่ใน: |accessdate= (help)
  40. 40.0 40.1 "วรเจตน์ ภาคีรัตน์". ไทยรัฐ. 2554. สืบค้นเมื่อ 1 มีนาคม 2555. {{cite web}}: ตรวจสอบค่าวันที่ใน: |accessdate= (help)
  41. ราชกิจจานุเบกษา, ประกาศสำนักนายกรัฐมนตรี เรื่อง พระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์อันเป็นที่เชิดชูยิ่งช้างเผือกและเครื่องราชอิสริยาภรณ์อันมีเกียรติยศยิ่งมงกุฎไทย ประจำปี ๒๕๕๗ เก็บถาวร 2015-07-02 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน, เล่ม ๑๓๑ ตอนที่ ๒๗ ข หน้า ๕๓, ๓ ธันวาคม ๒๕๕๗
  42. ราชกิจจานุเบกษา, ประกาศสำนักนายกรัฐมนตรี เรื่อง พระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์อันเป็นที่เชิดชูยิ่งช้างเผือกและเครื่องราชอิสริยาภรณ์อันมีเกียรติยศยิ่งมงกุฎไทย ประจำปี ๒๕๕๔ เก็บถาวร 2012-11-19 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน, เล่ม ๑๒๘ ตอนที่ ๒๔ ข หน้า ๑๒๖, ๒ ธันวาคม ๒๕๕๔

แหล่งข้อมูลอื่น[แก้]