ข้ามไปเนื้อหา

มหานิกาย

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี

มหานิกาย เป็นคำเรียกนิกายหรือคณะของพระสงฆ์ไทยสายเถรวาทลัทธิลังกาวงศ์[1]ซึ่งเป็นพระสงฆ์ส่วนใหญ่ในประเทศไทย เป็นฝ่ายคันถธุระ

เดิมนั้น คำเรียกแบ่งแยกพระสงฆ์สายเถรวาทในประเทศไทยออกเป็นมหานิกายและธรรมยุติกนิกายยังไม่มี เนื่องจากคณะพระสงฆ์ไทยในสมัยโบราณ ก่อนหน้าที่จะมีการจัดตั้งคณะธรรมยุตขึ้นในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวนั้น ไม่มีการแบ่งแยกออกเป็นนิกายต่าง ๆ โดยส่วนใหญ่พระสงฆ์ไทยนั้นล้วนแต่เป็นเถรวาทสายลังกาวงศ์[2]ทั้งสิ้น จนเมื่อพระวชิรญาณเถระ หรือเจ้าฟ้ามงกุฏ (พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 4) ได้ก่อตั้งนิกายธรรมยุตขึ้นในปี พ.ศ. 2376 แยกออกจากคณะพระสงฆ์ไทยที่มีมาแต่เดิมซึ่งเป็นพระสงฆ์ส่วนใหญ่ในสมัยนั้น จึงทำให้พระองค์คิดคำเรียกพระสงฆ์ส่วนใหญ่ในประเทศไทยที่เป็นสายเถรวาทลังกาวงศ์เดิมว่า พระส่วนมาก หรือ มหานิกาย[3]

ซึ่งคำ มหานิกาย นั้น มาจากธาตุศัพท์ภาษาบาลี มหนฺต + นิกาย แปลว่าพวกมาก กล่าวโดยสรุป มหานิกายก็คือ พระสงฆ์สายเถรวาทลังกาวงศ์ดั้งเดิมในประเทศไทยส่วนใหญ่ที่ไม่ใช่พระสงฆ์ธรรมยุติกนิกาย[4]

ความเป็นมาลัทธิเถรวาทลังกาวงศ์ (คณะสงฆ์มหานิกาย) หรือคณะคามวาสี ในประเทศไทย

[แก้]

ประวัติของนิกายเถรวาทในประเทศศรีลังกา

[แก้]

เมื่อประมาณ พ.ศ. 236 พระเจ้าอโศกมหาราชทรงอุปถัมภ์การสังคายนาครั้งที่สามในศาสนาพุทธ ให้เจริญรุ่งเรืองขึ้นในชมพูทวีป และจัดส่งสมณทูตไปยังดินแดนต่าง ๆ รวม 9 แห่ง หนึ่งในนั้นรวมดินแดนลังกา (ประเทศศรีลังกา) ด้วย

สถูปทรงโอคว่ำในเมืองอนุราชปุระ (สุวรรณมาลิกสถูป) รูปทรงเดียวกับพระเจดีย์ที่นิยมสร้างในสมัยพระเจ้าอโศกมหาราช

ต่อมาพระพุทธศาสนาในลังกาทวีป (ชื่อเรียกอีกอย่างหนึ่งของดินแดนศรีลังกาในอดีต) ได้เจริญรุ่งเรืองและเสื่อมโทรมบ้างตามความศรัทธาของประชาชน และเหตุการณ์บ้านเมือง ครั้นราวพุทธศตวรรษที่ 17 ปรากฏตามมหาวงศ์ว่า เมื่อ พ.ศ. 1696 พระเจ้าปรักกรมพาหุมหาราช ได้ครองราชสมบัติในลังกาทวีป ซึ่งในเวลานั้นบ้านเมืองยังถูกพวกทมิฬ (ชาวฮินดู) ครอบครองอยู่โดยมาก

พระเจ้าปรักกรมพาหุจึงได้พยายามทำสงครามขับไล่พวกทมิฬไปได้ และถึงกับยกกองทัพข้ามไปตีเมืองทมิฬในอินเดียไว้ในอำนาจได้อีกด้วย เมื่อพระองค์จัดการบ้านเมืองในลังกาได้เรียบร้อยแล้ว จึงได้ทรงฟื้นฟูพระพุทธศาสนา โดยให้พระสงฆ์ในลังกาทวีปรวมเป็นนิกายเดียวกัน พร้อมกับจัดทำสังคายนาพระธรรมวินัย (ซึ่งนับถือกันว่าเป็นการสังคายนาครั้งที่ 7 ของฝ่ายเถรวาท) นับแต่นั้นพระพุทธศาสนาจึงเจริญรุ่งเรืองขึ้นในลังกาทวีป มีกิตติศัพท์เลื่องลือไปทั่วในดินแดนใกล้เคียง ประกอบกับช่วงเวลานั้น พระพุทธศาสนาในอินเดียถูกชาวฮินดูเบียดเบียนให้เสื่อมโทรมลง เมืองลังกาจึงได้รับการยอมรับนับถือว่าเป็นหลักของประเทศที่นับถือพระพุทธศาสนาคตินิกายเถรวาทด้วยกัน[5]

การสืบนิกายเถรวาทลังกาวงศ์ในพุกาม

[แก้]
ทะเลเจดีย์ที่เมืองพุกาม หลักฐานความเจริญรุ่งเรืองของพระพุทธศาสนาในดินแดนพม่าในอดีต

กิตติศัพท์ในการทำนุบำรุงการพระพุทธศาสนาในลังกาทวีปเลื่องลือมาจนถึงดินแดนพม่าในสมัยของพระเจ้านรปติสี่ตู่แห่งอาณาจักรพุกาม ได้อาราธนาให้พระมหาสังฆปรินายกพุกามซึ่งมีนามว่า พระอุตตรชีวะ เป็นสมณทูตไปสืบพระพุทธศาสนาในลังกาทวีป เมื่อ พ.ศ. 1733[6]

ในจารึกวัดกัลยาณีกล่าวไว้ว่า เมื่อคราวพระมหาเถระอุตราชีวะไปเมืองลังกาครั้งนั้น มีเด็กชาวมอญชาวเมืองพสิมคนหนึ่ง ได้ถวายตัวเป็นศิษย์แล้วบวชเป็นสามเณร มีนามปรากฏว่า “ฉปัฎ” ได้บวชติดตามท่านไปลังกาด้วย ครั้นเมื่อพระมหาเถระอุตราชีวะจะกลับเมืองพุกาม สามเณรฉปัฎขออยู่เล่าเรียนที่เมืองลังกา เมื่ออายุครบบวชก็อุปสมบทเป็นพระภิกษุในวงศ์ของคณะสงฆ์ลังกา และได้เล่าเรียนศึกษาพระธรรมวินัยตามลัทธิที่สังคายนาครั้งพระเจ้าปรักกรมพาหุจนเชี่ยวชาญรอบรู้แตกฉาน เมื่อบวชครบ 10 พรรษา บรรลุเถรภูมิ (เป็นพระเถระ) จึงได้ชักชวนเพื่อนสหธรรมิกภิกษุที่ได้เล่าเรียนและเป็นพระมหาเถรภิกษุด้วยกันอีก 4 รูป มีนามว่า

  • พระสีวลี ชาวลิตถิคาม (ลังกา) รูป 1
  • พระตามะลินทะ พระโอรสของพระเจ้ากรุงกัมโพช รูป 1
  • พระอานันทะ ชาวเมืองกาญจนบุรี (หรือปัจจุบัน คอนชิวรัม Gonjeevaram เมืองมัทราษฎร์ ในอินเดียใต้) รูป 1
  • พระราหุล ชาวลังกา รูป 1

จาริกโดยสารเรือมายังเมืองพสิมแล้วขึ้นต่อไปยังเมืองพุกาม

พระเถระ 5 องค์ที่บวชมาจากลังกา เมื่อเห็นวัตรปฏิบัติของพระสงฆ์ในเมืองพม่าผิดกับพระสงฆ์ลังกามากนัก จึงไม่ยอมร่วมลงสังฆกรรมกับพระสงฆ์ในคณะพื้นเมือง ทำให้พระสงฆ์ฝ่ายเถรวาทในเมืองพุกามเกิดเป็น 2 นิกายขึ้น (แยกกันลงสังฆกรรม)

พระสงฆ์ลังกาวงศ์นั้น เป็นพระมหาเถระ สำรวมสังวรวัตรปฏิบัติเคร่งครัด ผิดกับพระสงฆ์ในพื้นเมืองสมัยนั้น ทำให้เมื่อพระมหาเถระทั้ง 5 องค์ ได้ศึกษาภาษาพม่าจนสามารถสั่งสอนชาวเมืองได้ ก็ทำให้มีคนเลื่อมใสมาก จนกระทั่ง พระเจ้านรปติสิทธุ ก็ทรงเลื่อมใสทำนุบำรุงคณะพระสงฆ์ลังกาวงศ์ และสนับสนุนให้ชาวพม่าบวชในนิกายลังกาวงศ์มากขึ้นเป็นลำดับมา[5]

ประวัติการตั้งนิกายเถรวาทลังกาวงศ์ในเมืองนครศรีธรรมราช

[แก้]
พระมหาธาตุเมืองนครศรีธรรมราช เดิมมีลักษณะแบบมณฑปพระบรมธาตุไชยาแต่เปลี่ยนมาเป็นทรงโอคว่ำแบบลังกาในสมัยพระสงฆ์ลังกาวงศ์มาตั้งวงศ์ในประเทศไทย

ต่อมา พระราหุลเถระ หนึ่งในพระมหาเถระทั้ง 5 องค์[7] ได้นำกลุ่มคณะพระสงฆ์มายังประเทศหนึ่ง ปรากฏในพงศาวดารพม่าว่า เมืองมลายะ (นครศรีธรรมราช) ซึ่งมีกษัตริย์อาณาจักรศรีวิชัย เชื้อสายมลายูปกครองอยู่เป็นอิสระ

ต่อมา กษัตริย์เมืองนครศรีธรรมราชได้เลื่อมใสในพระราหุลเถระ จึงตั้งให้เป็นพระราชครู หลังจากนั้นจึงมีพระสงฆ์ชาวลังกาตามมาอีกมาก และได้มีชาวเมืองและชาวเมืองอื่น ๆ ในดินแดนแถบประเทศไทยและใกล้เคียง ได้พากันไปบวชเรียนที่เมืองลังกามากขึ้น ความนิยมนับถือในคติพระพุทธศาสนาเถรวาทลัทธิลังกาวงศ์จึงแพร่หลายตั้งมั่นในดินแดนประเทศไทยสืบมา (ลัทธิลังกาวงศ์เริ่มมาตั้งที่เมืองนครศรีธรรมราชเมื่อ พ.ศ. 1740 ก่อนตั้งกรุงสุโขทัยประมาณ 50 ปี) [5]

ความเจริญของพระพุทธศาสนานิกายเถรวาทลังกาวงศ์ในดินแดนประเทศไทย

[แก้]
วัดมหาธาตุ (จังหวัดสุโขทัย) ศูนย์กลางแห่งพระพุทธศาสนาในอาณาจักรสุโขทัย

เมื่อพ่อขุนรามคำแหงมหาราช เสด็จขึ้นครองราชย์เป็นพระมหากษัตริย์กรุงสุโขทัย (พ.ศ. 1822 - พ.ศ. 1841) ทรงสดับกิตติศัพท์ของพระสงฆ์ลังกา จึงทรงอาราธนาพระมหาเถระสังฆราช ซึ่งเป็นพระเถระชาวลังกาที่มาเผยแผ่อยู่ที่นครศรีธรรมราช มาเผยแผ่พระพุทธศาสนาในกรุงสุโขทัย[8]

ต่อมาทั้งชาวไทยวน ชาวมอญ และชาวเขมร ต่างก็นิยมฝ่ายลังกาวงศ์จึงได้ส่งพระสงฆ์ไปสืบพระพุทธศาสนาที่ลังกาบ้าง มีการนิมนต์พระลังกามาเป็นอุปัชฌาย์ในเมืองของตนบ้าง การเผยแพร่พระพุทธศาสนาสายเถรวาทลัทธิลังกาวงศ์ในดินแดนแถบสุโขทัยจึงรุ่งเรืองมานับแต่นั้น ทำให้พระพุทธศาสนาฝ่ายมหายาน และศาสนาฮินดูซึ่งเจริญมาแต่ก่อนนั้น หมดความนิยมไป

เมื่อคณะสงฆ์ได้รวมกันเป็นคณะเดียวกันแล้ว จึงได้แบ่งธุระ ออกเป็น 2 พวก[9]คือ พวกที่สมาทานคันถธุระ ก็เล่าเรียนภาษาบาลี พระไตรปิฎก คณะสงฆ์ฝ่ายนี้มักเลือกวัดที่อยู่ใกล้บ้าน จึงได้ชื่อว่า "คณะคามวาสี" ส่วนพวกที่สมาทานวิปัสสนาธุระ ก็จะบำเพ็ญหาความสงบสุขอยู่ตามวัดในป่า จึงได้ชื่อว่า "คณะอรัญวาสี" เผยแผ่พระพุทธศาสนาเจริญรุ่งเรืองสืบมา[2]

การแยกนิกายของพระสงฆ์เถรวาทในประเทศไทย

[แก้]
วัดบวรนิเวศวิหาร ศูนย์กลางของคณะธรรมยุติกนิกาย

ต่อมาในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว พระวชิรญาณเถระ (เจ้าฟ้ามงกุฏ : พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ขณะดำรงพระยศเป็นเจ้าฟ้ามงกุฏ) ขณะที่ผนวชอยู่ที่จังหวัดเพชรบุรีได้ทรงศรัทธาเลื่อมใสในจริยาวัตรของพระมอญ ชื่อ ซาย ฉายา พุทฺธวํโส จึงได้ทรงอุปสมบทใหม่ในวงศ์พระสงฆ์มอญ (รามัญนิกาย) เมื่อ พ.ศ. 2372 และได้ทรงตั้ง คณะธรรมยุต ขึ้นในปี พ.ศ. 2376 แล้วเสด็จมาประทับที่วัดบวรนิเวศราชวรวิหาร และตั้งเป็นศูนย์กลางของคณะธรรมยุตสืบต่อมา

และใน พ.ศ. 2445 พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวมีพระบรมราชโองการ ให้ประกาศใช้พระราชบัญญัติลักษณะการปกครองคณะสงฆ์ขึ้นเป็นครั้งแรกในประเทศไทย พระราชบัญญัติฉบับนี้มีชื่อว่า “พระราชบัญญัติคณะสงฆ์ รศ.121” มีสาระสำคัญคือ ได้ยกสถานะคณะธรรมยุต ให้เป็นนิกายอย่างถูกต้องตามกฎหมาย

ทำให้มีการแบ่งแยกเรียกนิกายของคณะสงฆ์ใหม่ ตามศัพท์บัญญัติของพระวชิรญาณเถระ ว่า "ธรรมยุติกนิกาย" และเรียกกลุ่มพระสงฆ์เถรวาทลังกาวงศ์พื้นเมือง[10]ที่มีมาอยู่แต่เดิมว่า "มหานิกาย" สืบมาจนปัจจุบันนี้

พระธรรมทูต สายคณะสงฆ์ไทยฝ่ายมหานิกาย การเผยแผ่พระพุทธศาสนาในต่างประเทศ

[แก้]

การสังเกตการครองผ้าของพระสงฆ์ไทยทั้ง 2 นิกาย

[แก้]

แบบการครองจีวรของภิกษุเดิมในพระไตรปิฎกได้กล่าวไว้ชัดเจน มีในเสขิยวัตรว่า "ให้ทำความสำเหนียกว่า จักนุ่งจักห่มให้เป็นปริมณฑล คือ เรียบร้อย พึงนุ่งปิดสะดือและปกหัวเข่าให้เรียบร้อย พึงทำชายทั้งสองให้เสมอกัน ห่มให้เรียบร้อย ในการแสดงเคารพหรือทำวินัยกรรม "ให้ห่มผ้าอุตราสงค์เฉวียงบ่า" ซึ่งก็คือห่มจีวรเฉวียงบ่า" [11]

ในการเข้าบ้าน กล่าวว่า "ห่มสังฆาฏิทั้งหลายทำให้มีชั้นและกลัดดุม แต่กำชับไว้ให้ปิดกายด้วยดี ห้ามไม่ให้เปิดไม่ให้เวิกผ้าขึ้น" สันนิษฐานว่าคือการห่มคลุมทั้งสองบ่า[12]

การแบ่งประเภทของการครองจีวร

[แก้]

พระภิกษุสงฆ์มหานิกายในประเทศไทยมีการครองผ้าจีวร หลายประเภทเช่น "ห่มดอง", "ห่มลดไหล่" หรือ "ห่มเฉวียงบ่า" (เวลาลงสังฆกรรม), "ห่มคลุม" (เวลาออกนอกอาราม) และ "ห่มมังกร"

ห่มลดไหล่

[แก้]

"ห่มลดไหล่" "ห่มเฉียง" หรือ "ห่มเฉวียงบ่า"ซึ่งเป็นการห่มที่ใช้ในการแสดงความเคารพ ปัจจุบันใช้ในการห่มในเขตวัด โดยนำผ้าจีวรผืนหนึ่งมาพันตัวชายจรดชายม้วนเข้าหาตัวลูกบวบวางบนบ่า

ห่มคลุม

[แก้]

ห่มคลุมหมายถึงการคลองจีวรด้วยการม้วนผ้าชายจรดชายม้วนเข้าหาตัวลูกบวบมาวางบนบ่าคลุม 2 บ่ามิดชิดดี ใช่ในการห่มออกนอกวัด ซึ่งถ้าไม่ห่มคลุมในเวลาออกนอกเขตวัด (เขตติจีวรวิปวาโส) ต้องอาบัติทุกกฎ ปัจจุบันมักห่มดองออกนอกวัดโดยถือเป็นเรื่องธรรมดาว่าถูกต้อง โดยเฉพาะภาคเหนือ ทั้ง ๆ ที่ผิดวินัย

ห่มดอง

[แก้]

การห่มดอง หมายถึง การครองผ้าลดไหล่ของภิกษุแบบมหานิกาย มีสังฆาฏิพาด คือการครองผ้าจีวรอันเป็นปริมณฑล (ห่มครบไตรจีวร) ที่เรียกว่า "ห่มดอง" กระทำโดยมีการพับจีวรเป็นทบแล้วคลี่ทาบมาที่บ่าชั้นหนึ่งก่อน แล้วจึงนำผ้าสังฆาฏิซึ่งพับเป็นผืนยาวมาพาดไหล่ด้านซ้ายของผู้ห่มก่อนที่จะนำ "ผ้ารัดอก" มารัดบริเวณอกอีกชั้นหนึ่ง ปัจจุบันเป็นการห่มที่เป็นที่นิยมทั่วไปของพระสงฆ์มหานิกาย ซึ่งดูเรียบร้อยและทะมัดทะแมงแน่นหนา เนื่องจากมีผ้ารัดอก ข้อเสียคือเปิดสีข้างดูไม่งาม อีกทั้งไม่ใช่การครองจีวรที่มีมาตามพระบรมพุทธานุญาติ เนื่องจากผ้ารัดอกไม่มีในอัฏฐบริขาร

ห่มมังกร

[แก้]

ห่มมังกร หมายถึงการครองผ้าที่หมุนผ้าลูกบวบไปทางขวา เมื่ออยู่ในวัดจะห่มเฉวียงบ่า และห่มคลุมในเวลาออกนอกวัด เป็นการห่มตามธรรมเนียมของพระมหานิกาย (ปัจจุบันยังมีบางวัดนิยมการห่มแบบนี้อยู่ โดยมากจะเป็นวัดมหานิกายในกรุงเทพมหานครเฉพาะผู้ที่มีการศึกษาสูง)[2] ที่ถือว่าถูกต้องตามพระบรมพุทธานุญาต คือ "ชายจรดชายม้วนขวา[13] หรืออีกนัยหนึ่งแปลว่าข้างนอก(พาหันตะ) คือ ม้วนออกข้างนอกตัวซึ่งก็เข้ากันได้กับการม้วนขวา[14] วางบนแขน" การที่ม้วนขวาเนื่องจากในสมัยพุทธกาลถือว่าการม้วนขวานั้นเป็นมงคล (ประทักษิณ) ถ้าห่ม "บิดขวา" เป็นการห่มแบบมหานิกายแท้[15] เป็นวัตรปฏิบัติในการครองจีวรของพระสงฆ์มหานิกาย หรือพระสงฆ์ฝ่ายเถรวาทลัทธิลังกาวงศ์ในประเทศไทยก่อนที่จะมีคำสั่งของสมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระยาวชิรญาณวโรรส ให้พระภิกษุทั่วสังฆมณฑลห่มผ้าตามแบบของธรรมยุติกนิกายทั้งหมดนั้น[16] (ปัจจุบันพระฝ่ายมหานิกายส่วนมากนิยมหมุนซ้ายแบบธรรมยุต หรือพระรามัญไปแทบทั้งสิ้น)

สันนิษฐานว่า สมณะนอกศาสนานั้นย่อมห่มชายจรดชายม้วนขวา ม้วนเข้าหาตัวลูกบวบวางบนบ่าเช่นเดียวกัน เพราะสังคมอินเดียสมัยนั้นถือว่าม้วนขวา (ประทักษิณ) เป็นมงคล ม้วนซ้ายเป็นกาลกิณี แต่ว่า น่าจะวางไว้ที่บ่าขวาเมื่อห่มเฉวียงบ่าจะเปิดไหล่ซ้าย เช่นเดียวกับนักบวชของศาสนาฮินดู หรือนอกศาสนาพุทธในประเทศอินเดียที่นิยมเปิดบ่าซ้าย (สังเกตได้แม้ในปัจจุบันนี้) ดังนั้น พระสงฆ์ในพุทธศาสนาจึงวางไว้ที่บ่าซ้าย และเปิดบ่าขวาเพื่อแสดงถึงความแตกต่าง

การห่มมังกรนั้นแบ่งออกเป็น สองอย่างคือการห่มมังกรอย่างไทยและการห่มมังกรอย่างพม่า การห่มมังกรอย่างไทยนั้น จะใช้รักแร้หนีบลูกบวบไว้ และจะไม่คลี่ลูกบวบเพื่อเอามือออกแต่จะเวิกผ้ายกขึ้นมาเลย ส่วนการห่มมังกรอย่างพม่านั้น จะวางลูกบวบบนบ่า และจะคลี่ลูกบวบเพื่อเอามือออก และจะติดกระดุมสองแห่งคือปิดที่คอ และชายผ้า ซึ่งการห่มมังกรอย่างพม่าจะเป็นการห่มแบบดั้งเดิม

ดูเพิ่ม

[แก้]

อ้างอิง

[แก้]
  1. "ประวัติศาสตร์พระพุทธศาสนาในประเทศไทย ประวัติลัทธิเถรวาทแบบลังกาวงศ์". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2007-06-02. สืบค้นเมื่อ 2007-04-11.
  2. 2.0 2.1 2.2 "การเผยแผ่พระพุทธศาสนาฝ่ายเถรวาทลัทธิลังกาวงศ์ในอาณาจักรสุโขทัย (สารานุกรมวัฒนธรรมไทย)". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2007-05-28. สืบค้นเมื่อ 2007-04-10. อ้างอิงผิดพลาด: ป้ายระบุ <ref> ไม่สมเหตุสมผล มีนิยามชื่อ "การเผยแผ่พระพุทธศาสนาฝ่ายเถรวาทลัทธิลังกาวงศ์ในอาณาจักรสุโขทัย" หลายครั้งด้วยเนื้อหาต่างกัน
  3. “สัมภาษณ์พิเศษ พระไพศาล วิสาโล,” (2547, 5-11 มกราคม). วารสารเนชั่นสุดสัปดาห์. [ออน-ไลน์]. หน้า 1. แหล่งที่มา : http://www.skyd.org/html/life-social/Paisal-2547.html
  4. เทวประภาส มากคล้าย. (2551). สาระการเรียนรู้ท้องถิ่น : ประเพณีวัฒนธรรมและพัฒนาการทางประวัติศาสตร์ของวัดและหมู่บ้านคุ้งตะเภา. อุตรดิตถ์: วัดคุ้งตะเภา
  5. 5.0 5.1 5.2 ดำรงราชานุภาพ, สมเด็จกรมพระยา.เที่ยวเมืองพม่า-เรื่องพระสงฆ์ลังกาวงศ์มาเมืองไทยจากเมืองพุกาม พิมพ์ครั้งที่ -. กรุงเทพฯ : สำนักพิมพ์มติชน, 2545.
  6. หลักฐานจากศิลาจารึก 4 ภาษาวัดกัลยาณี
  7. ปรากฏตามจารึกวัดกัลยาณีว่าพระราหุลเถระเกิดความกำหนัดอยากจะสึก พระเถระอีก 4 องค์ทักท้วงว่าถ้าสึกเสียที่เมืองพุกาม จะทำให้ประชาชนดูหมิ่นอาจจะถึงไม่มีใครนับถือพระสงฆ์ลังกาวงศ์ จึงแนะนำท่านว่าให้หลบไปสึกในประเทศที่ห่างไกล แต่ก็ปรากฏว่าท่านมิได้สึกเป็นฆราวาสแต่อย่างใด
  8. "ประวัติศาสตร์พระพุทธศาสนาในประเทศไทย ประวัติลัทธิเถรวาทแบบลังกาวงศ์". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2007-06-02. สืบค้นเมื่อ 2007-04-11.
  9. "การศึกษาสมัยลานนาไทยและสุโขทัย (1800-1893) , แม่กองบาลีสนามหลวง". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2007-10-07. สืบค้นเมื่อ 2007-10-01.
  10. สมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระยาวชิรญาณวโรรส ทรงให้ความหมายว่า “พระสงฆ์อันมีเป็นพื้นเมือง (ในประเทศไทย) ก่อนเกิดธรรมยุติกนิกาย” (การคณะสงฆ์ น. 90)
  11. พระไตรปิฎก เล่มที่ 2 พระวินัยปิฎก เล่มที่ 2 มหาวิภังค์ ภาค 2
  12. พระไตรปิฎก เล่มที่ 7 พระวินัยปิฎก เล่มที่ 7 จุลวรรค ภาค 2[ลิงก์เสีย]
  13. พระไตรปิฎก วินัยปิฏกเล่ม 11 ท้ายเรื่องพระเทวทัต
  14. มงคลทีปนี เล่ม 1 เรื่อง วินัย หนังสือเรียนชั้นป.ธ.4
  15. "พระราชปรารภเรื่องการครองผ้าของพระสงฆ์ไทย ในพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2007-09-27. สืบค้นเมื่อ 2007-04-20.
  16. "วิธีการห่มจีวรของนิกายเถรวาท". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2009-02-08. สืบค้นเมื่อ 2007-04-20.

แหล่งข้อมูลอื่น

[แก้]