ข้ามไปเนื้อหา

พระเจ้าบรมวงศ์เธอ พระองค์เจ้าพลับ (ในรัชกาลที่ 1)

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
พระเจ้าบรมวงศ์เธอ พระองค์เจ้าพลับ
พระเจ้าบรมวงศ์เธอ ชั้น 1
พระองค์เจ้าชั้นเอก
ประสูติพ.ศ. 2328
สิ้นพระชนม์พ.ศ. 2410
(81 ปี)
ราชวงศ์จักรี
พระบิดาพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช
พระมารดาเจ้าจอมมารดาคุ้ม ในรัชกาลที่ 1

พระเจ้าบรมวงศ์เธอ พระองค์เจ้าพลับ (พ.ศ. 2328 – พ.ศ. 2410) เป็นพระราชธิดาในพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช ประสูติแต่เจ้าจอมมารดาคุ้ม

พระประวัติ

[แก้]

พระเจ้าบรมวงศ์เธอ พระองค์เจ้าพลับ ประสูติเมื่อปีมะเส็ง สัปตศก จ.ศ. 1147 ตรงกับ พ.ศ. 2328 เป็นพระราชธิดาพระองค์ที่ 15 ในพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช ประสูติแต่เจ้าจอมมารดาคุ้ม หลังประสูติไม่นานเจ้าจอมมารดาคุ้มได้ถึงแก่อนิจกรรม พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราชจึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้สมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากรมพระศรีสุดารักษ์ทรงดูแลพระองค์เจ้าพลับ พระองค์เจ้าพลับมีพระชันษายืนยาวได้เป็นพระบรมวงศ์ผู้ใหญ่ฝ่ายในในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 4 โดยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงพระราชนิพนธ์ถึงพระเจ้าบรมวงศ์เธอ พระองค์เจ้าพลับใน ปฐมวงศ์ ว่า

"...พระองค์เจ้าพลับพระองค์หนึ่ง เปนกำพร้าไม่มีเจ้าจอมมารดา พระราชทานมอบให้กรมสมเด็จพระศรีสุดารักษ์ทำนุบำรุง มีพระชนม์ยืนนานได้เปนพระบรมวงษ์เธอผู้ใหญ่ข้างใน ในแผ่นดินประจุบันนี้..."

ในคราวพระราชพิธีบรมราชาภิเษกพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว พระเจ้าบรมวงศ์เธอ พระองค์เจ้าพลับ เป็นพระบรมวงศ์ฝ่ายในที่มีพระชันษาสูงที่สุด และเป็นผู้ถวายดอกหมากทำด้วยทองคำและพระแส้หางช้างเผือก ปรากฏใน พระราชพงศาวดารกรุงรัตนโกสินทร์ รัชกาลที่ 4 ว่า

"...ครั้นเสด็จถึงในที่ทรงจุดเทียนนมัสการแล้วเสด็จขึ้นพระแท่นบรรทม พระบรมวงศ์ผู้ใหญ่คือพระองค์เจ้าพลับ ถวายดอกหมากทำด้วยทองคำแปด น้ำหนัก ๕ ตำลึง พระแส้หางช้างเผือกผู้ ทรงรับแล้ววางไว้ข้างที่..."[1]

พระเจ้าบรมวงศ์เธอ พระองค์เจ้าพลับ ทรงดำรงตำแหน่งเป็นองค์กุลเชษฐ์แห่งพระบรมวงศานุวงศ์ กระทั่งประชวรพระโรคชรา และสิ้นพระชนม์เมื่อปีขาล อัฐศก จ.ศ. 1228 ตรงกับ พ.ศ. 2409 สิริพระชันษา 81 ปี นับเป็นพระราชบุตรในพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราชที่มีพระชันษาสูงที่สุดและมีพระชนม์ชีพอยู่เป็นพระองค์สุดท้าย พระราชทานเพลิงพระศพ ณ พระเมรุ ท้องสนามหลวง เมื่อวันอังคารเดือน 3 แรม 14 ค่ำ ปีขาล อัฐศก จ.ศ. 1228 ตรงกับวันที่ 5 มีนาคม พ.ศ. 2409 (แบบสากลคือ พ.ศ. 2410)[2] ซึ่งการพระศพของพระองค์มีบันทึกใน พระราชพงศาวดารกรุงรัตนโกสินทร์ รัชกาลที่ 4 ว่า

"ครั้นณวันเสาร์ เดือน ๓ แรม ๑๑ ค่ำ ได้เชิญพระโกศพระศพพระบรมวงศ์เธอฝ่ายใน พระองค์เจ้าพลับ ซึ่งประชวรพระโรคชราสิ้นพระชนม์นั้น ตั้งกระบวนแห่แต่หอธรรมสังเวชออก ประตูศรีสุนทรทวารไปออกประตูสกัดเหนือ ตามทางหน้าวัดมหาธาตุไปเข้าประตูพระเมรุด้านตะวันตก เชิญพระศพขึ้นบนพระเบญจา มีการมโหรสพ ๓ วัน ๓ คืน ครั้นรุ่งขึ้นณเดือน ๓ แรม ๑๔ ค่ำ พระราชทานเพลิง"[3]

พระอิสริยยศ

[แก้]
ธรรมเนียมพระยศของ
พระเจ้าบรมวงศ์เธอ พระองค์เจ้าพลับ
การทูลใต้ฝ่าพระบาท
การแทนตนข้าพระพุทธเจ้า
การขานรับพ่ะย่ะค่ะ/เพคะ
  • พ.ศ. 2328 – 7 กันยายน พ.ศ. 2352 : พระเจ้าลูกเธอ พระองค์เจ้าพลับ
  • 7 กันยายน พ.ศ. 2352 – 21 กรกฎาคม พ.ศ. 2367 : พระเจ้าน้องนางเธอ พระองค์เจ้าพลับ
  • 21 กรกฎาคม พ.ศ. 2367 – พ.ศ. 2409 : พระเจ้าบรมวงศ์เธอ พระองค์เจ้าพลับ

พงศาวลี

[แก้]

อ้างอิง

[แก้]
  1. พระราชพงศาวดารกรุงรัตนโกสินทร์ รัชกาลที่ 4 ข้าราชการฝ่ายในถวายตัว
  2. คณะกรรมการฝ่ายประมวลเอกสารและจดหมายเหตุ กรมศิลปากร ราชสกุลวงศ์ พิมพ์ครั้งที่ 4; กรุงเทพฯ, สำนักวรรณกรรมและประวัติศาสตร์: 2554
  3. พระราชพงศาวดารกรุงรัตนโกสินทร์ รัชกาลที่ 4/174 งานพระศพเจ้านาย
ก่อนหน้า พระเจ้าบรมวงศ์เธอ พระองค์เจ้าพลับ (ในรัชกาลที่ 1) ถัดไป
สมเด็จพระศรีสุลาลัย กุลเชษฐ์ในราชวงศ์จักรี
(17 ตุลาคม พ.ศ. 2380 – พ.ศ. 2409)
พระเจ้าบรมวงศ์เธอ พระองค์เจ้ายี่สุ่น