ข้ามไปเนื้อหา

ธิดา ถาวรเศรษฐ

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
ธิดา ถาวรเศรษฐ
ข้อมูลส่วนบุคคล
เกิด25 มกราคม พ.ศ. 2487 (80 ปี)
อำเภอเมืองสุราษฎร์ธานี จังหวัดสุราษฎร์ธานี
คู่สมรสเหวง โตจิราการ
บุตร2

ผู้ช่วยศาสตราจารย์ เภสัชกรหญิง ธิดา ถาวรเศรษฐ หรือ ธิดา โตจิราการ (เกิด 25 มกราคม พ.ศ. 2487) เป็นนักวิชาการชาวไทย มีชื่อเสียงจากบทบาทรักษาการประธานแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ แดงทั้งแผ่นดิน (นปช.)[1] สืบจากวีระ มุสิกพงศ์ ในช่วงปลายปี พ.ศ. 2553

ปัจจุบันเป็น เลขาธิการกรรมการคณะประชาชนทวงความยุติธรรม 2553

ประวัติ

[แก้]

ธิดา ถาวรเศรษฐ เกิดเมื่อวันที่ 25 มกราคม พ.ศ. 2487 ที่ตำบลคลองน้อย อำเภอเมือง จังหวัดสุราษฎร์ธานี เป็นลูกสาวคนโตของนายบัญชา (เฮ้ง) ถาวรเศรษฐ กับนางยิหวา สุทธิสุวรรณ ซึ่งเป็นชาวไทยเชื้อสายจีน โดยมีภูมิลำเนาอยู่ที่อำเภอเมือง จังหวัดสุราษฎร์ธานี[2][3]

ธิดา ถาวรเศรษฐได้ศึกษาในระดับมัธยมศึกษาตอนปลายที่ โรงเรียนสาธิตมหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ ประสานมิตร จบปริญญาเภสัชศาสตร์บัณฑิต มหาวิทยาลัยมหิดล และปริญญาโทด้านจุลชีววิทยา มหาวิทยาลัยมหิดล[3] เริ่มรับราชการเป็นอาจารย์ที่มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ [3]ต่อมาจึงได้ย้ายมาสอนที่ภาควิชาจุลชีววิทยา คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล จนได้รับตำแหน่งผู้ช่วยศาสตราจารย์

เคยเป็นหนึ่งในแนวร่วมในเหตุการณ์ 14 ตุลา และเหตุการณ์ 6 ตุลา และภายหลังเหตุการณ์ 6 ตุลาคม พ.ศ.​ 2519 เคยเข้าร่วมกับ พรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทย โดยใช้นามว่า "สหายปูน"[4] และเป็นอดีตกรรมการกลางสำรองและอดีตกรรมการกลางของพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทยในช่วงสมัชชาที่ 4[3]

ต่อมา หลังจากออกจากพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทยได้กลับมารับราชการที่คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล ต่อมาสมรสกับนายแพทย์ เหวง โตจิราการ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร แบบบัญชีรายชื่อ พรรคเพื่อไทย มีบุตร 2 คน คือ นางสาวมัชฌิมา โตจิราการ และนายแพทย์สลักธรรม โตจิราการ[3]

บทบาทการเมือง

[แก้]

ในช่วงปลายปี พ.ศ. 2553 ขณะที่แกนนำ นปช. ถูกจับกุมตัวและถูกคุมขังอยู่ในเรือนจำ ทำให้ ธิดา ถาวรเศรษฐ จึงได้รับการคัดเลือกให้เข้ามาทำหน้าที่รักษาการประธาน นปช. เพื่อทำหน้าที่ประสานงานในช่วงดังกล่าว

ธิดา ถาวรเศรษฐ ให้สัมภาษณ์กับหนังสือพิมพ์ประชาชาติธุรกิจ [5] ว่าเป้าหมายและเจตนารมณ์ ในการเคลื่อนไหวของคนเสื้อแดงในขณะนี้ ยังอยู่ใน 3 รูปแบบ คือ ต่อต้านรัฐประหาร คัดค้านสงคราม ทวงความยุติธรรม ฉะนั้น ด้านหลักของการเคลื่อนไหว จึงเน้นปัญหาความยุติธรรม เพราะสถานการณ์รัฐประหารก็ยังดำรงอยู่ และพวกจารีตนิยมก็ยังอยากได้สงคราม เราจึงคัดค้าน

"ความยุติธรรมไม่ใช่แค่ เรื่องคนที่ถูกจับกุมคุมขัง แต่เป็นความยุติธรรมที่จะต้องรับผิดชอบคนที่ตายไป รัฐบาลยังไม่หาคนผิดมาลงโทษ ไม่มีทั้งความรับผิดชอบทางการเมือง และทางกฎหมาย" เพราะฉะนั้นนี่เป็นภาระหน้าที่ของคนเสื้อแดงซึ่งแน่นอนเรา เรียกร้องประชาธิปไตย เราเห็นด้วยที่จะมีการยุบสภา แต่ปัญหาที่คนเสื้อแดงถูกกระทำ ก็เป็นเรื่องที่คนเสื้อแดงต้องต่อสู้ เพราะแสดงให้เห็นว่าคุณปฏิบัติต่อคนไม่เท่าเทียมกัน

ส่วน พ.ต.ท. ทักษิณ ชินวัตร เขาเป็นแนวร่วมคนหนึ่ง อย่าลืมว่าเราเป็นองค์กรแนวร่วม ชื่อเต็ม แนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ แดงทั้งแผ่นดิน ในนี้มีองค์ประกอบ 60-70% ที่รักคุณทักษิณมาก ส่วนที่เหลือคือเฉย ๆ แต่ไม่ถึงกับเกลียด และอาจจะมีคนที่อยากอยู่ห่าง ๆ อีกจำนวนหนึ่ง แต่เราเป็นองค์กรแนวร่วม เราต้องยอมรับความเป็นจริงว่า ความรักคุณทักษิณมันมีเหตุผลของมัน เพราะเขารักตัวเขา รักผลประโยชน์ของเขา เขาหวังว่าคุณทักษิณจะเป็นนายกฯ ที่ตอบสนองผลประโยชน์ของเขา ฉะนั้น คนเหล่านี้มี loyalty มีความจงรักภักดี แม้ผ่านไปหลายปีแต่เขายังรู้สึกได้ดี เพราะคนไทยเป็นคนซื่อตรง คนเหล่านี้ยังมีความรักคุณทักษิณ แม้เขารู้ว่าความหวังที่คุณทักษิณจะกลับมามันรางเลือน แต่นี่เป็นนิสัยที่ไม่หักหลังคน ฉะนั้น เมื่อเรามองอย่างนี้ในแนวร่วม เราจึงจำเป็นให้คุณทักษิณอยู่ในฐานะที่มีบทบาทพอสมควร พูดง่ายๆ คือเป็นผู้ถือหุ้นใหญ่คนหนึ่งในแนวร่วมนี้

ด้านการต่อต้านรัฐประหาร อันนี้ก็ชัดเจน ตามหลักสากลในประเทศประชาธิปไตยทั่วโลก ต้องเริ่มจากการยอมรับและเคารพในสิทธิ ของบุคคล "หนึ่งคน หนึ่งสิทธิ" ทุกคนมีสิทธิในการเลือกบุคคลที่เขาชอบ เข้ามาเป็นตัวแทนของเขาเท่าๆ กัน ไม่มีใครเป็นอภิสิทธิชน และหากนั่นเป็นเสียงส่วนใหญ่ ทุกคนต้องเคารพ และขอยืนยันว่าการนำกำลังทหาร รถถัง และอาวุธสงครามออกมาทำรัฐประหาร โดยข้ออ้างต่างๆ นานา ไม่ได้ทำให้ชาติบ้านเมืองเดินต่อไปข้างหน้าได้ มีแต่ฉุดรั้งให้ตกต่ำลง รัฐประหาร ปี 2549 มีเหตุผลที่อ้างมา 4 ข้อ ถามว่าวันนี้ ข้ออ้างดังกล่าวได้รับการแก้ไข การแตกแยกในสังคม ทุจริต-คอรับชั่น แทรกแซงอำนาจองค์กรอิสระ และหมิ่นเหม่ต่อการหมิ่นสถาบัน มีข้อใหนดีขึ้นหรือไม่ ไม่เลย มีแต่แย่ลง ตกต่ำลง

อ้างอิง

[แก้]