ผู้ช่วยศาสตราจารย์

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี

ผู้ช่วยศาสตราจารย์ (อังกฤษ: assistant professor) ใช้อักษรย่อว่า ผศ. เป็นตำแหน่งทางวิชาการที่ใช้ในหลายประเทศ

การใช้งานในแต่ละประเทศ[แก้]

สหรัฐอเมริกาและแคนาดา[แก้]

ในประเทศสหรัฐอเมริกาและแคนาดา ตำแหน่งผู้ช่วยศาสตราจารย์จะเป็นตำแหน่งที่ได้รับเริ่มแรกหลังจากเข้าบรรจุทำงานหลังจากสำเร็จการศึกษาระดับปริญญาโทหรือปริญญาเอก ก่อนจะดำรงตำแหน่งรองศาสตราจารย์เป็นตำแหน่งถัดไป

กลุ่มประเทศเครือจักรภพ[แก้]

ในประเทศสหราชอาณาจักร และอดีตอาณานิคมบางประเทศ ไม่มีการใช้ตำแหน่งผู้ช่วยศาสตราจารย์ โดยตำแหน่งผู้ช่วยศาสตราจารย์ของระบบอเมริกาเหนือสามารถเทียบได้กับตำแหน่งอาจารย์ (อังกฤษ: Lecturer) ของระบบเครือจักรภพ

ไทย[แก้]

ในประเทศไทย ตำแหน่งผู้ช่วยศาสตราจารย์เป็นตำแหน่งต่อจากตำแหน่ง อาจารย์ ก่อนจะเป็น รองศาสตราจารย์ โดยมีหน้าที่หลักในมหาวิทยาลัยหรือสถาบันการศึกษาชั้นสูง คือ ต้องมีชั่วโมงสอน มีผลงานเอกสารประกอบการสอนอย่างน้อย 1 รายวิชา คุณภาพดี และผลงานวิจัย คุณภาพดี หรือ ผลงานทางวิชาการในลักษณะอื่น

การแต่งตั้งผู้ช่วยศาสตราจารย์จะต้องมีชั่วโมงสอนประจำวิชาใดวิชาหนึ่งที่กำหนดไว้ในหลักสูตรของสถาบันอุดมศึกษาและมีความชำนาญในการสอน และเสนอเอกสารประกอบการสอนที่ผลิตขึ้นสำหรับการสอนทั้งรายวิชาไม่น้อยกว่า 1 รายวิชา ซึ่งมีคุณภาพดี และได้ใช้ประกอบการสอนมาแล้ว ซึ่งแสดงถึงความรู้ ความสามารถ และผลงานทางวิชาการ ตรงตามเกณฑ์ที่กำหนดโดยผ่านการประเมินจากคณะกรรมการพิจารณาตำแหน่งทางวิชาการ ตามหลักเกณฑ์และวิธีการในข้อบังคับของสภาสถาบัน ทั้งนี้จะต้องดำรงตำแหน่ง อาจารย์ และปฏิบัติหน้าที่ในตำแหน่งดังกล่าวมาแล้วไม่น้อยกว่า กำหนด ตามระดับสุดท้ายที่สำเร็จการศึกษามา ดังนี้

  • ผู้สำเร็จการศึกษาระดับปริญญาตรีหรือเทียบเท่า ต้องดำรงตำแหน่งอาจารย์และได้ปฏิบัติหน้าที่ในตำแหน่งดังกล่าวมาแล้วไม่น้อยกว่า 6 ปี หรือ
  • ผู้สำเร็จการศึกษาระดับปริญญาโทหรือเทียบเท่า ต้องดำรงตำแหน่งอาจารย์ และได้ปฏิบัติหน้าที่ในตำแหน่งดังกล่าวมาแล้วไม่น้อยกว่า 4 ปี หรือ
  • ผู้สำเร็จการศึกษาระดับปริญญาเอกหรือเทียบเท่า ต้องดำรงตำแหน่งอาจารย์ และได้ปฏิบัติหน้าที่ในตำแหน่งดังกล่าวมาแล้วไม่น้อยกว่า 1 ปี หรือ
  • ผู้ใดดำรงตำแหน่งที่เรียกชื่ออย่างอื่น แต่ได้โอนหรือย้ายมาบรรจุและได้รับการแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งอาจารย์ประจำในสถาบันอุดมศึกษา ตามเกณฑ์ที่ ก.พ.อ.กำหนด

และได้อยู่ปฏิบัติหน้าที่ราชการตามปกติ หรือได้รับอนุมัติให้ลาศึกษาบางส่วน (อย่างมากไม่เกิน 10 ชั่วโมง/สัปดาห์) ซึ่งตำแหน่งผู้ช่วยศาสตราจารย์จะต้องผ่านการกลั่นกรองและประเมินผลงานอย่างเคร่งครัดและเข้มงวดในความถูกต้องของวิชา โดยคณะกรรมการพิจารณาตำแหน่งทางวิชาการ การเสนอขอแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่ง

ผู้เสนอขอสามารถดำเนินการเพื่อขอแต่งตั้งได้ 2 วิธี คือ วิธีปกติ และวิธีพิเศษ ดังต่อไปนี้

  1. วิธีปกติ หมายถึง ผู้เสนอขอมีคุณสมบัติเฉพาะสำหรับตำแหน่ง มีความรู้ ความสามารถ และมีผลงานทางวิชาการ ตรงตามเกณฑ์ที่กำหนดทุกประการ
  2. วิธีพิเศษ หมายถึง ผู้เสนอขอมีคุณสมบัติเฉพาะสำหรับตำแหน่งต่างไปจากที่กำหนดไว้ในมาตรฐานกำหนดตำแหน่ง เช่น ระยะเวลาไม่ครบ หรือเสนอขอข้ามขั้น ซึ่งผู้เสนอขอต้องเป็นผู้มีความรู้ ความสามารถ และมีผลงานทางวิชาการที่สูงกว่าปกติ

ในปี พ.ศ. 2557 มีผู้ดำรงตำแหน่งผู้ช่วยศาสตราจารย์ในสถาบันอุดมศึกษา จำนวน 12,843 คน และผู้ช่วยศาสตราจารย์พิเศษ จำนวน 33 คน[1]

อ้างอิง[แก้]

  1. "สำเนาที่เก็บถาวร". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2015-01-25. สืบค้นเมื่อ 2013-06-10.
  • สำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษา-สกอ. (2549). หลักเกณฑ์และวิธีพิจารณาแต่งตั้งบุคคลให้ดำรงตำแหน่ง ผู้ช่วยศาสตราจารย์ (ผศ.) รองศาสตราจารย์ (รศ.) และศาสตราจารย์ (ศ.) พ.ศ. 2549 (ฉบับใหม่) เริ่มใช้ 1 ตุลาคม พ.ศ. 2549