กลุ่มโรงเรียนวิทยาศาสตร์จุฬาภรณราชวิทยาลัย
ลิงก์ข้ามภาษาในบทความนี้ มีไว้ให้ผู้อ่านและผู้ร่วมแก้ไขบทความศึกษาเพิ่มเติมโดยสะดวก เนื่องจากวิกิพีเดียภาษาไทยยังไม่มีบทความดังกล่าว กระนั้น ควรรีบสร้างเป็นบทความโดยเร็วที่สุด |
กลุ่มโรงเรียนวิทยาศาสตร์ จุฬาภรณราชวิทยาลัย Princess Chulabhorn Science High School | |
---|---|
ข้อมูล | |
ชื่ออื่น | จภ. PCSHS |
ประเภท | โรงเรียนรัฐบาล โรงเรียนวัตถุประสงค์พิเศษ |
คำขวัญ | รักษ์ศักดิ์ศรี มีคุณธรรม นำวิชาการ สืบสานงานพระราชดำริ |
สถาปนา | 27 กรกฎาคม พ.ศ. 2536 ประกาศตั้งโรงเรียนจุฬาภรณราชวิทยาลัย 4 แห่งแรก |
คณะกรรมการบริหาร | สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน
|
หน่วยงานกำกับ | กระทรวงศึกษาธิการ |
ผู้บริหาร | อัมพร พินะสา[1] เลขาธิการ กพฐ. ภูริวรรษ คำอ้ายกาวิน[2] ผู้อำนวยการสำนักบริหารงานความเป็นเลิศด้านวิทยาศาสตร์ศึกษา |
ระดับปีที่จัดการศึกษา | มัธยมศึกษาปีที่ 1-6 สายวิทยาศาสตร์-คณิตศาสตร์ |
สี | สีน้ำเงิน-สีแสด |
เพลง | มาร์ชจุฬาภรณราชวิทยาลัย จุฬาภรณวลัยลักษณ์ มาร์ชจุฬาภรณราชวิทยาลัยแต่ละแห่ง |
เว็บไซต์ | สำนักงานบริหารงานความเป็นเลิศด้านวิทยาศาสตร์ศึกษา |
โรงเรียนวิทยาศาสตร์จุฬาภรณราชวิทยาลัย เป็นกลุ่มโรงเรียนวิทยาศาสตร์ที่จัดตั้งขึ้นเพื่อสนองพระราชปณิธานของสมเด็จพระเจ้าน้องนางเธอ เจ้าฟ้าจุฬาภรณวลัยลักษณ์ อัครราชกุมารี กรมพระศรีสวางควัฒน วรขัตติยราชนารี ที่ทรงมุ่งมั่นจะส่งเสริมคุณภาพชีวิต ในด้านความเป็นอยู่และการศึกษาของเยาวชน ปัจจุบันเป็นโรงเรียนที่อยู่ในแผนและยุทธศาสตร์ สำหรับนักเรียนที่มีความสามารถพิเศษเฉพาะด้านวิทยาศาสตร์ โดยจัดการเรียนการสอนในระดับชั้นมัธยมศึกษา โรงเรียนส่งเสริมให้นักเรียนคิดเป็น และกล้าลงมือทำ โดยโรงเรียนจะสนับสนุนทั้งด้านอุปกรณ์การเรียนการสอน อุปกรณ์ในห้องทดลองที่มีครบถ้วนและเพียงพอต่อความต้องการของเด็ก ในการศึกษาคนคว้าส่งที่ตนเองสนใจได้เอง โดยมีอาจารย์ที่มีความรู้ความสามารถ คอยให้คำปรึกษาและสนับสนุนให้เด็กแสดงศักยภาพของตนได้อย่างเต็มที่[3]
ประวัติ
[แก้]สัมพันธ์ ทองสมัคร รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการในขณะนั้นได้ประกาศจัดตั้ง โรงเรียนเฉลิมพระเกียรติสมเด็จพระเจ้าลูกเธอเจ้าฟ้าจุฬาภรณวลัยลักษณ์อัครราชกุมารี ตามด้วยชื่อจังหวัดสถานที่ตั้ง ทั้งหมด 10 แห่ง ประจำเขตการศึกษาต่าง ๆ ทุกเขตการศึกษาของประเทศ ต่อมาได้รับพระมหากรุณาธิคุณจากสมเด็จพระเจ้าน้องนางเธอ เจ้าฟ้าจุฬาภรณวลัยลักษณ์ อัครราชกุมารี กรมพระศรีสวางควัฒน วรขัตติยราชนารี พระราชทานตราสัญลักษณ์และนามโรงเรียนใหม่ คือ "จุฬาภรณราชวิทยาลัย" ตามด้วยชื่อจังหวัดอันเป็นสถานที่ตั้ง ซึ่งเป็นพระนามของสมเด็จพระเจ้าน้องนางเธอ เจ้าฟ้าจุฬาภรณวลัยลักษณ์ อัครราชกุมารี กรมพระศรีสวางควัฒน วรขัตติยราชนารี ต่อมาจึงได้ประกาศจัดตั้งโรงเรียนจุฬาภรณราชวิทยาลัยเพิ่มอีก 2 แห่งเพื่อให้ครบทุกเขตพื้นที่การศึกษา[4]
โรงเรียนวิทยาศาสตร์ภูมิภาค
[แก้]ในปี พ.ศ. 2551 สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐานร่วมกับโรงเรียนมหิดลวิทยานุสรณ์จัดการเรียนการสอนหลักสูตรวิทยาศาสตร์ของโรงเรียนมหิดลวิทยานุสรณ์ที่โรงเรียนจุฬาภรณราชวิทยาลัยในระดับมัธยมศึกษาตอนปลาย โรงเรียนละ 1 ห้องเรียน ห้องเรียนละ 24 คน โดยมีโรงเรียนมหิดลวิทยานุสรณ์เป็นโรงเรียนต้นแบบ และพัฒนาบุคลากร รวมทั้งควบคุมการใช้หลักสูตรให้เป็นไปตามมาตรฐานของหลักสูตร และในปี พ.ศ. 2552 สำนักงานคณะกรรมการศึกษาขั้นพื้นฐานพิจารณาแห่งว่า โรงเรียนจุฬาภรณราชวิทยาลัยทั้ง 12 โรงเรียนสามารถจัดการเรียนการสอนตามหลักสูตรวิทยาศาสตร์ได้มาตรฐานเดียวกันกับโรงเรียนมหิดลวิทยานุสรณ์จึงประกาศ ณ วันที่ 18 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2552 ให้โรงเรียนจุฬาภรณราชวิทยาลัยทั้ง 12 แห่งเป็นโรงเรียนวิทยาศาสตร์ภูมิภาค[4]
ต่อมาเมื่อวันที่ 25 พฤศจิกายน พ.ศ. 2553 คณะรัฐมนตรีได้เห็นชอบข้อเสนอของกระทรวงศึกษาธิการ ให้ดำเนินการพัฒนากลุ่มโรงเรียนจุฬาภรณราชวิทยาลัยให้เป็นโรงเรียนวิทยาศาสตร์ภูมิภาค เพื่อเพิ่มโอกาสให้กับผู้มีความสามารถพิเศษด้านคณิตศาสตร์และวิทยาศาสตร์ซึ่งมีกระจายอยู่ในทุกภูมิภาคทั่วประเทศ เน้นการให้โอกาสกับผู้มีความสามารถพิเศษที่ขาดแคลนทุนทรัพย์ในภูมิภาค ตลอดจนพัฒนา ปรับปรุง ส่งเสริม ให้โรงเรียนจุฬาภรณราชวิทยาลัยทั้ง 12 แห่ง มีมาตรฐานเทียบเท่าโรงเรียนวิทยาศาสตร์ชั้นนำของนานาชาติ และมีมติให้จัดตั้งคณะกรรมการบริหารโครงการพัฒนาโรงเรียนจุฬาภรณราชวิทยาลัยให้เป็นโรงเรียนวิทยาศาสตร์ภูมิภาค[5]
จากนั้น กลุ่มโรงเรียนจึงเริ่มรับนักเรียนเข้าเรียนในหลักสูตรโรงเรียนวิทยาศาสตร์ภูมิภาคเป็นรุ่นแรกในปี พ.ศ. 2554 ในระดับชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 1 โรงเรียนละ 1 ห้องเรียน 24 คน (จัดสอบใหม่โดยโรงเรียน) และระดับชั้นมัธยมศีกษาปีที่ 4 โรงเรียนละ 2 ห้องเรียน (โดยใช้บัญชีรายชื่อนักเรียนที่เคยสมัครสอบของโรงเรียนมหิดลวิทยานุสรณ์) แต่ละห้องมีนักเรียน 24 คน รวม 48 คน [6] ต่อมาในปี พ.ศ. 2555 - 2556 มีการปรับการรับนักเรียนใหม่ แบ่งระดับชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 1 โรงเรียนละ 4 ห้องเรียน ห้องเรียนละ 24 คน รวม 96 คน และระดับชั้นมัธยมศีกษาปีที่ 4 โรงเรียนละ 4-6 ห้องเรียน ห้องเรียนละ 24 คน โดยใช้การรับนักเรียนร่วมกับโรงเรียนมหิดลวิทยานุสรณ์[7] และตั้งแต่ปีการศึกษา 2557 เป็นต้นมา ทุกโรงเรียนปรับการรับนักเรียนเป็นไปตามแผนการรับนักเรียน กล่าวคือ ระดับชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 1 โรงเรียนละ 4 ห้องเรียน ห้องเรียนละ 24 คน รวม 96 คน และระดับชั้นมัธยมศีกษาปีที่ 4 โรงเรียนละ 6 ห้องเรียน ห้องเรียนละ 24 คน รวม 144 คนต่อปีการศึกษา[8]
ในวันที่ 9 มีนาคม พ.ศ. 2558 สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐานได้จัดตั้งศูนย์บริหารโครงการพัฒนาโรงเรียนจุฬาภรณราชวิทยาลัยให้เป็นโรงเรียนวิทยาศาสตร์ภูมิภาค มีสถานะเป็นกลุ่มงานภายในสำนักวิชาการและมาตรฐานการศึกษา เพื่อประสานการดำเนินงานโครงการของคณะกรรมการโครงการฯ กับโรงเรียนมหิดลวิทยานุสรณ์ มหาวิทยาลัย นักวิชาการ หน่วยงานต่าง ๆ รวมถึงผู้บริหารและบุคลากรของโรงเรียนจุฬาภรณราชวิทยาลัย ตลอดจนดำเนินการต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้อง[9] ต่อมา เปลี่ยนชื่อเป็นศูนย์พัฒนาโรงเรียนวิทยาศาสตร์ เมื่อวันที่ 30 มีนาคม พ.ศ. 2560[10]
เปลี่ยนชื่อโรงเรียน
[แก้]สำนักพระราชวังมีหนังสือที่ รล 0011.3/18298 ลงวันที่ 3 กรกฎาคม 2561 แจ้งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ โดยอ้างถึงหนังสือกระทรวงศึกษาธิการ ที่ ศธ 04278/2112 ลงวันที่ 30 พฤษภาคม 2561 เรื่อง การเปลี่ยนชื่อโรงเรียนในกลุ่มโรงเรียนจุฬาภรณราชวิทยาลัยเป็นโรงเรียนวิทยาศาสตร์จุฬาภรณราชวิทยาลัย ความว่า ความทราบฝ่าพระบาทแล้ว พระราชทานพระอนุญาตให้เปลี่ยนชื่อโรงเรียนตามที่กราบทูลขอมา
ต่อมาเมื่อวันที่ 6 สิงหาคม 2561 กระทรวงศึกษาธิการออกประกาศ เรื่อง การเปลี่ยนชื่อโรงเรียนจุฬาภรณราชวิทยาลัย โดยมีผลตั้งแต่ 3 กรกฎาคม 2561[11]
จัดตั้งโรงเรียนเพิ่มเติม
[แก้]วันที่ 5 ตุลาคม พ.ศ. 2564 คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบในหลักการการพัฒนายกระดับคุณภาพโรงเรียนมัธยมศึกษาให้เป็นโรงเรียนวิทยาศาสตร์จุฬาภรณราชวิทยาลัยขึ้นเพิ่มเติมประจำเขตตรวจราชการ 6 แห่ง และปรับปรุงเขตพื้นที่บริการของโรงเรียนให้เหมาะสมกับบริบทสังคม[12]
จากนั้น กระทรวงศึกษาธิการโดยสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐานได้ดำเนินการพัฒนายกระดับคุณภาพโรงเรียนมัธยมศึกษาให้เป็นโรงเรียนวิทยาศาสตร์จุฬาภรณราชวิทยาลัย 6 แห่ง โดยพัฒนาและใช้พื้นที่โรงเรียนมัธยมศึกษาที่มีอยู่เดิม 4 แห่ง (ลำปาง สุพรรณบุรี กาฬสินธุ์ และอุบลราชธานี) และพื้นที่ที่ได้รับจัดสรรใหม่ 2 แห่ง (สระแก้ว และกำแพงเพชร) ขอพระราชทานนามโรงเรียนพร้อมตราสัญลักษณ์ตามแบบที่กรมศิลปากรได้ออกแบบไว้ ความทราบแล้วพระราชนามตามที่กราบทูลขอมา ปรับปรุงเขตพื้นที่บริการของโรงเรียนวิทยาศาสตร์จุฬาภรณราชวิทยาลัยทุกแห่งให้รับนักเรียนจากเดิม 7-8 จังหวัดต่อ 1 โรงเรียนเป็น 3-5 จังหวัดต่อ 1 โรงเรียน และประกาศจัดตั้งโรงเรียนทั้งหกแห่งขึ้นเมื่อวันที่ 2 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2566[13]
สัญลักษณ์ประจำโรงเรียน
[แก้]-
ตราประจำโรงเรียนปัจจุบัน
-
ตราประจำโรงเรียนเดิม
-
แคแสด ต้นไม้ประจำโรงเรียน
-
สีประจำโรงเรียน
- ความหมายของชื่อโรงเรียน จุฬาภรณราชวิทยาลัย แยกได้เป็น
- จุฬาภรณ เป็นพระนามของสมเด็จพระเจ้าน้องนางเธอ เจ้าฟ้าจุฬาภรณวลัยลักษณ์ อัครราชกุมารี กรมพระศรีสวางควัฒน วรขัตติยราชนารี
- ราช แปลว่า อันเกี่ยวข้องกับพระมหากษัตริย์
- วิทยาลัย แปลว่า สถาบันการศึกษาชั้นสูง
ส่วนคำว่าวิทยาศาสตร์นั้นเติมขึ้นมาในภายหลัง เพื่อเน้นความเป็นโรงเรียนวิทยาศาสตร์ที่อยู่ทั่วทุกภูมิภาคของประเทศ
ดังนั้น จุฬาภรณราชวิทยาลัย หมายถึง สถาบันการศึกษาขั้นสูงอันเกี่ยวเนื่องกับสถาบันพระมหากษัตริย์ ในสมเด็จพระเจ้าน้องนางเธอ เจ้าฟ้าจุฬาภรณวลัยลักษณ์ อัครราชกุมารี กรมพระศรีสวางควัฒน วรขัตติยราชนารี เจ้าฟ้านักวิทยาศาสตร์ ทั้งนี้ ทางโรงเรียนได้ใช้พระนามเพื่อเฉลิมพระเกียรติเนื่องในโอกาสที่สมเด็จพระเจ้าน้องนางเธอ เจ้าฟ้าจุฬาภรณวลัยลักษณ์ อัครราชกุมารี กรมพระศรีสวางควัฒน วรขัตติยราชนารี ทรงเจริญพระชนมายุครบ 36 พรรษา
- ตราประจำโรงเรียน ได้รับพระราชทานจากสมเด็จพระเจ้าน้องนางเธอ เจ้าฟ้าจุฬาภรณวลัยลักษณ์ อัครราชกุมารี กรมพระศรีสวางควัฒน วรขัตติยราชนารี ประกอบด้วย[14]
- พระมงกุฎสีเหลืองทอง
- รัศมีสีเหลืองทองเหนือยอดพระมงกุฎ 19 เส้น
- อักษร จ สีแสด และ ภ สีขาว ขอบทอง อยู่ภายใต้พระมงกุฎ โดย จภ มาจากพระนามของสมเด็จพระเจ้าน้องนางเธอ เจ้าฟ้าจุฬาภรณวลัยลักษณ์ อัครราชกุมารี กรมพระศรีสวางควัฒน วรขัตติยราชนารี
- แพรแถบด้านล่างตรา สีน้ำเงินตัดขอบสีเหลืองทอง มีข้อความชื่อโรงเรียนสีเหลืองทอง
เมื่อวันที่ 6 ธันวาคม พ.ศ. 2562 สมเด็จพระเจ้าน้องนางเธอ เจ้าฟ้าจุฬาภรณวลัยลักษณ์ อัครราชกุมารี กรมพระศรีสวางควัฒน วรขัตติยราชนารี ได้ทรงพระราชทานตราสัญลักษณ์ประจำโรงเรียนใหม่ โดยออกแบบโดยสำนักช่างสิบหมู่ กรมศิลปากร[15]
- ต้นไม้ประจำโรงเรียน ได้แก่ แคแสด[16]
- สีประจำโรงเรียน ได้แก่ สีน้ำเงิน-แสด[16] โดย
- สีน้ำเงิน หมายถึง สถาบันพระมหากษัตริย์ ความแข็งแรง มั่นคง และความเคร่งครัดในระเบียบวินัย
- สีแสด หมายถึง เป็นสีประจำวันประสูติของสมเด็จพระเจ้าน้องนางเธอ เจ้าฟ้าจุฬาภรณวลัยลักษณ์ อัครราชกุมารี กรมพระศรีสวางควัฒน วรขัตติยราชนารี วันพฤหัสบดีที่ 4 กรกฎาคม พ.ศ. 2500
- คติพจน์ประจำโรงเรียน ได้แก่ คุณธรรมนำวิชาการ[ต้องการอ้างอิง]
- คำขวัญประจำโรงเรียน ได้แก่ รักษ์ศักดิ์ศรี มีคุณธรรม นำวิชาการ สืบสานงานพระราชดำริ[16]
- ปรัชญาประจำโรงเรียน ได้แก่ ปญฺญา ยตถํ วิปสฺสติ คนย่อมเห็นเนื้อความด้วยปัญญา[16]
- เพลงประจำโรงเรียน ได้แก่ มาร์ชจุฬาภรณราชวิทยาลัย ประพันธ์คำร้องโดย วิชาญ เชาวลิต ครูใหญ่ โรงเรียนวิทยาศาสตร์จุฬาภรณราชวิทยาลัย นครศรีธรรมราช คนแรก และทำนองโดย กิตติ ศรีเปารยะ อาจารย์ประจำสาขาวิชาดนตรีสมัยนิยม วิทยาลัยดุริยางคศิลป์ มหาวิทยาลัยมหิดล
โรงเรียนในเครือข่าย
[แก้]โรงเรียนวิทยาศาสตร์จุฬาภรณราชวิทยาลัย มีทั้งหมด 18 แห่ง ตามพื้นที่บริการของโรงเรียนซึ่งอิงตามเขตการศึกษาเดิม 12 เขตและเขตตรวจราชการ 18 เขต ดังนี้
หลักสูตรของโรงเรียน
[แก้]เนื้อหาในบทความนี้ล้าสมัย โปรดปรับปรุงข้อมูลให้เป็นไปตามเหตุการณ์ปัจจุบันหรือล่าสุด ดูหน้าอภิปรายประกอบ |
ในช่วงก่อนเป็นโรงเรียนวิทยาศาสตร์ภูมิภาค โรงเรียนใช้หลักสูตรแกนกลางของกระทรวงศึกษาธิการ ต่อมาในปี พ.ศ. 2551 มีการใช้หลักสูตรวิทยาศาสตร์ของโรงเรียนมหิดลวิทยานุสรณ์ในห้องเรียนที่คัดเลือกนักเรียนร่วมกับโรงเรียนมหิดลวิทยานุสรณ์[4]
จนกระทั่งคณะรัฐมนตรีมีมติดำเนินการโครงการพัฒนาโรงเรียนจุฬาภรณราชวิทยาลัยให้เป็นโรงเรียนวิทยาศาสตร์ภูมิภาค จึงได้ดำเนินการพัฒนาหลักสูตรโรงเรียนวิทยาศาสตร์ภูมิภาค เพื่อพัฒนานักเรียนให้เป็นตามไปเป้าหมายของโรงเรียน โดยแบ่งเป็นหลักสูตรสำหรับนักเรียนระดับชั้นมัธยมศึกษาตอนต้น และระดับชั้นมัธยมศึกษาตอนปลาย นักเรียนจะต้องลงทะเบียนเรียนตามหน่วยกิตที่กำหนด โดยมีผลการเรียนแต่ละรายวิชาไม่ต่ำกว่า 2 นอกจากนี้จะต้องเข้าร่วมกิจกรรมพัฒนาผู้เรียน ผ่านการประเมินความสามารถด้านการอ่าน คิด วิเคราะห์และเขียน และผ่านการประเมินคุณลักษณะอันพึงประสงค์
ระดับชั้นมัธยมศึกษาตอนต้น
[แก้]ปัจจุบันใช้หลักสูตรโรงเรียนวิทยาศาสตร์ภูมิภาค ระดับชั้นมัธยมศึกษาตอนต้น พุทธศักราช 2554 (ฉบับปรับปรุง พุทธศักราช 2558) โดยแบ่งรายวิชาออกเป็น 2 กลุ่ม ดังนี้[18]
- รายวิชาพื้นฐาน ประกอบด้วยรายวิชา 8 กลุ่มสาระการเรียนรู้ โดยมีเนื้อหาและเวลาเรียนแต่ละรายวิชาเช่นเดียวกับหลักสูตรแกนกลางการศึกษาขั้นพื้นฐาน พุทธศักราช 2551
- รายวิชาเพิ่มเติม แบ่งออกเป็น 2 กลุ่ม ดังนี้
- รายวิชาเพิ่มเติม กลุ่มที่ 1 เป็นรายวิชาที่สร้างขึ้นเพื่อสนองและสอดคล้องกับการพัฒนานักเรียนของโรงเรียนวิทยาศาสตร์ภูมิภาค โดยนักเรียนทุกคนต้องลงทะเบียนรายวิชากลุ่มนี้ทั้งหมด รายวิชาในกลุ่มนี้ ได้แก่ การเขียนเชิงวิชาการ คณิตศาสตร์เพิ่มเติม การสืบเสาะอย่างวิทยาศาสตร์ โครงงาน ภาษาอังกฤษฟังพูด ภาษาอังกฤษรอบรู้ การเขียนภาษาอังกฤษเชิงสร้างสรรค์ ภาษาต่างประเทศที่ 2 หน้าที่พลเมือง และอาเซียนศึกษา
- รายวิชาเพิ่มเติม กลุ่มที่ 2 เป็นรายวิชาเลือกเสรี นักเรียนสามารถเลือกได้ตามความถนัดและความสนใจ
ระดับชั้นมัธยมศึกษาตอนปลาย
[แก้]ปัจจุบันใช้หลักสูตรโรงเรียนวิทยาศาสตร์ภูมิภาค ระดับชั้นมัธยมศึกษาตอนปลาย พุทธศักราช 2560 โดยใช้กรอบโครงสร้างหลักสูตรของโรงเรียนมหิดลวิทยานุสรณ์ พุทธศักราช 2560 โดยแบ่งรายวิชาออกเป็น 2 กลุ่ม ดังนี้[19]
- รายวิชาพื้นฐาน ประกอบด้วยรายวิชา 8 กลุ่มสาระการเรียนรู้ เป็นรายวิชาให้ความรู้ทั่วไป ทักษะการเรียนรู้ และการใช้ดำรงชีวิตในสังคม
- รายวิชาเพิ่มเติม แบ่งออกเป็น 2 กลุ่ม ดังนี้
- รายวิชาเพิ่มเติม กลุ่มที่ 1 เป็นรายวิชาที่สร้างขึ้นเพื่อสนองและสอดคล้องกับการพัฒนานักเรียนของโรงเรียนวิทยาศาสตร์ภูมิภาค โดยนักเรียนทุกคนต้องลงทะเบียนรายวิชากลุ่มนี้ทั้งหมด รายวิชาในกลุ่มนี้ ได้แก่ ความรู้พื้นฐานสำหรับแคลคูลัส แคลคูลัส กลุ่มวิชาฟิสิกส์ เคมี ชีววิทยา ความคิดสร้างสรรค์และนวัตกรรม สัมมนาทางวิทยาศาสตร์ โครงงานวิทยาศาสตร์ บูรณาการความรู้ ทักษะชีวิต หน้าที่พลเมือง การเขียนโปรแกรมคอมพิวเตอร์ การออกแบบและพื้นฐานด้านวิศวกรรม ภาษาอังกฤษวิชาการ ภาษาต่างประเทศที่ 2
- รายวิชาเพิ่มเติม กลุ่มที่ 2 เป็นรายวิชาเลือกเสรี นักเรียนสามารถเลือกได้ตามความถนัดและความสนใจ ทั้งนี้บางรายวิชาเป็นเนื้อหาที่เรียนในระดับอุดมศึกษา เช่น ปฏิบัติการทางวิทยาศาสตร์
การคัดเลือกนักเรียน
[แก้]การคัดเลือกนักเรียนเข้าศึกษาโรงเรียนวิทยาศาสตร์จุฬาภรณราชวิทยาลัยทั้ง 12 แห่ง ใช้รูปแบบการสมัครและการสอบคัดเลือกในรอบแรกเหมือนกัน ส่วนการสอบในรอบที่สองนั้นเต่ละโรงเรียนจะเป็นผู้พิจารณารูปแบบ วัน เวลา และสถานที่สอบเอง
ระดับชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 1
[แก้]การรับนักเรียนเข้าศึกษาในระดับมัธยมศึกษาปีที่ 1 จะรับนักเรียนที่กำลังศึกษาในชั้นประถมศึกษาปีที่ 6 หรือเทียบเท่าในปีการศึกษาที่สมัคร โดยสมัครและสอบรอบแรกผ่านโครงการพัฒนาอัจฉริยภาพวิทยาศาสตร์และคณิตศาสตร์ ของสถาบันส่งเสริมการสอนวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี รับนักเรียนแห่งละ 96 คน[20] โดยแบ่งรับนักเรียนออกเป็น 2 กลุ่ม ได้แก่
- กลุ่มนักเรียนจากโรงเรียนทุกโรงเรียนในเขตพื้นที่บริการของโรงเรียนวิทยาศาสตร์จุฬาภรณราชวิทยาลัยแต่ละแห่ง จำนวนไม่น้อยกว่า 88 คน
- กลุ่มนักเรียนจากโรงเรียนขยายโอกาส (ได้แก่ โรงเรียนดีประจำตำบลตามประกาศของสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน โรงเรียนประถมศึกษาที่มีนักเรียนไม่เกิน 200 คน โรงเรียนศึกษาสงเคราะห์ โรงเรียนราชประชานุเคราะห์ โรงเรียนในสังกัดกองบัญชาการตำรวจตระเวนชายแดน โรงเรียนพระปริยัติธรรม และโรงเรียนเอกชนสอนศาสนาอิสลาม) ในเขตพื้นที่บริการของโรงเรียนจุฬาภรณราชวิทยาลัยแต่ละแห่ง จำนวนไม่เกิน 8 คน
ระดับชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 4
[แก้]การรับนักเรียนเข้าศึกษาในระดับมัธยมศึกษาปีที่ 4 จะรับนักเรียนที่กำลังศึกษาในชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 3 หรือเทียบเท่าในปีการศึกษาที่สมัคร โดยสมัครและสอบรอบแรกผ่านการคัดเลือกนักเรียนเข้าศึกษาต่อในชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 4 ของโรงเรียนมหิดลวิทยานุสรณ์ รับนักเรียนจากโรงเรียนทุกโรงเรียนในเขตพื้นที่บริการของโรงเรียนวิทยาศาสตร์จุฬาภรณราชวิทยาลัยแต่ละแห่งจำนวน 144 คน[21]
ความร่วมมือกับต่างประเทศ
[แก้]- ญี่ปุ่น โดยความร่วมมือผ่านสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน สถานเอกอัครราชทูตญี่ปุ่นประจำประเทศไทย องค์การความร่วมมือระหว่างประเทศแห่งญี่ปุ่น และกระทรวงศึกษาธิการ วัฒนธรรม กีฬา วิทยาศาสตร์ และเทคโนโลยี แห่งญี่ปุ่น[22]
- Super Science High School เริ่มความร่วมมือตั้งแต่ปี พ.ศ. 2554 ในลักษณะโรงเรียนคู่แฝด (Partner school) โดยมีกิจกรรมแลกเปลี่ยนครู นักเรียน และบุคลากรระหว่างโรงเรียน มีกิจกรรมการแลกเปลี่ยนประสบการณ์ผ่านสไกป์โดยใช้ภาษาอังกฤษ สาธิตการเรียนการสอนและกิจกรรมทางวิชาการที่เกี่ยวข้อง ตลอดจนร่วมกันนำเสนอกิจกรรมทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีของนักเรียน[23]
- การประชุมวิชาการ Thailand-Japan Student Science Fair 2015 ในวันที่ 22-24 ธันวาคม 2558 ณ โรงเรียนวิทยาศาสตร์จุฬาภรณราชวิทยาลัย เพชรบุรี ประกอบด้วยงานนำเสนอโครงงานวิทยาศาสตร์ การศึกษาดูงานโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริในพื้นที่จังหวัดเพชรบุรี และกิจกรรม Science Walk Rally สำหรับนักเรียน กิจกรรมแลกเปลี่ยนประสบการสอนสำหรับครู ในการนี้ สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เสด็จพระราชดำเนินมาเป็นประธานในพิธีเปิดการประชุมวิชาการดังกล่าว[24]
- การประชุมวิชาการ Thailand-Japan Student ICT Fair 2016 ในวันที่ 21-23 ธันวาคม 2559 ณ โรงเรียนวิทยาศาสตร์จุฬาภรณราชวิทยาลัย ชลบุรี ประกอบด้วยงานนำเสนอโครงงานด้านเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร (โปรแกรมประยุกต์ หุ่นยนต์ ฮาร์ดแวร์คอมพิวเตอร์ และอินเทอร์เน็ตของสรรพสิ่ง) การศึกษาดูงานโรงงานอุตสาหกรรม และกิจกรรม ICT Workshop สำหรับนักเรียน และกิจกรรมแลกเปลี่ยนประสบการสอนสำหรับครู[25]
- การประชุมวิชาการ Thailand-Japan Student Science Fair 2018 ในวันที่ 7-9 มิถุนายน 2561 ณ โรงเรียนวิทยาศาสตร์จุฬาภรณราชวิทยาลัย พิษณุโลก ประกอบด้วยงานนำเสนอโครงงานวิทยาศาสตร์ การศึกษาดูงานด้านวิทยาศาสตร์ในพื้นที่จังหวัดพิษณุโลก และกิจกรรม Science Walk Rally สำหรับนักเรียน กิจกรรมแลกเปลี่ยนประสบการสอนสำหรับครู ในการนี้ สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เสด็จพระราชดำเนินมาเป็นประธานในพิธีเปิดการประชุมวิชาการดังกล่าว[26]
- มหาวิทยาลัยชูโอ ส่งนักศึกษาอาสาสมัครชาวญี่ปุ่นสอนคอมพิวเตอร์และเทคโนโลยีให้แก่ครูและนักเรียนในโรงเรียนจุฬาภรณราชวิทยาลัย ในปี พ.ศ. 2558-2560[22]
- เจแปนฟาวน์เดชัน ส่งอาสาสมัครชาวญี่ปุ่นสอนภาษาญี่ปุ่นในโรงเรียนจุฬาภรณราชวิทยาลัยและโรงเรียนอื่น ๆ ตามที่สมควร ในโครงการ NIHONGO Partners ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2556 เป็นต้นมา[27]
- สถาบันเทคโนโลยีแห่งญี่ปุ่น (KOSEN) คัดเลือกนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาตอนต้นเพื่อรับทุนการศึกษาไปศึกษาต่อด้านวิศวกรรมศาสตร์ที่ประเทศญี่ปุ่น[28]
- Super Science High School เริ่มความร่วมมือตั้งแต่ปี พ.ศ. 2554 ในลักษณะโรงเรียนคู่แฝด (Partner school) โดยมีกิจกรรมแลกเปลี่ยนครู นักเรียน และบุคลากรระหว่างโรงเรียน มีกิจกรรมการแลกเปลี่ยนประสบการณ์ผ่านสไกป์โดยใช้ภาษาอังกฤษ สาธิตการเรียนการสอนและกิจกรรมทางวิชาการที่เกี่ยวข้อง ตลอดจนร่วมกันนำเสนอกิจกรรมทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีของนักเรียน[23]
ประเพณีสำคัญ
[แก้]บทความนี้ไม่มีการอ้างอิงจากแหล่งที่มาใด |
ประเพณีเครือข่าย
[แก้]- จุฬาภรณ์ฯสัมพันธ์ - กิจกรรมการแข่งขันกีฬาเพื่อกระชับความสัมพันธ์ และแลกเปลี่ยนวัฒนธรรมประเพณีในท้องถิ่นจัดขึ้นระหว่างโรงเรียนในเครือข่ายทั้ง 12 แห่ง ผลัดเปลี่ยนการเป็นเจ้าภาพการจัดงาน[29]
- PCSHS Science Symposium - กิจกรรมวิชาการ การประกวดการแข่งขันโครงงานวิทยาศาสตร์ ระหว่างโรงเรียนในเครือข่ายโดยหมุนเวียนกันเป็นเจ้าภาพ มีการแบ่งจัดตามภูมิภาคในบางปีการศึกษา[30]
ประเพณีโรงเรียน
[แก้]- กิจกรรมต้อนรับนักเรียนใหม่
- กิจกรรมส่งเสริมวัฒนธรรมท้องถิ่นต่างๆ - กิจกรรมที่ส่งเสริมวัฒธรรมท้องถิ่นในภูมิภาคนั้นๆ ซึ่งแตกต่างกันออกไปในแต่ละโรงเรียน เช่น ประเพณีลอยกระทง, งานฉลองและสืบสานประเพณีเทศน์มหาชาติ, ฯลฯ
- วันไหว้ครู
- งานกีฬาสีโรงเรียน - จัดขึ้นตามโรงเรียนในแต่ละปีการศึกษา
- กิจกรรมการเลือกตั้งสภานักเรียน
- กิจกรรมอำลาการจบการศึกษาของนักเรียน
งานพิธี
[แก้]- พิธีถวายพระพรชัยมงคลสมเด็จเจ้าฟ้าฯ กรมพระศรีสวางควัฒน วรขัตติยราชนารี เนื่องในวันคล้ายวันประสูติ 4 กรกฎาคม[31] ประกอบด้วย
- พิธีรับมอบเข็มเครื่องแบบนักเรียนสำหรับนักเรียนใหม่ประจำปี
- พิธีการทางศาสนา (พิธีทำบุญตักบาตร พิธีเจริญพระพุทธมนต์ หรือพิธีการอื่นตามบริบทของโรงเรียน)
- คณะผู้บริหาร ตัวแทนครู นักเรียน เข้าเฝ้าฯ ถวายพระพรชัยมงคล
- พิธีน้อมรำลึกในพระมหากรุณาธิคุณพระบาทสมเด็จพระมหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร เนื่องในวันคล้ายวันสวรรคต 13 ตุลาคม และวันคล้ายวันพระบรมราชสมภพ วันชาติ และวันพ่อแห่งชาติ 5 ธันวาคม
- พิธีถวายพระพรชัยมงคล พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง และสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินี เนื่องในวันเฉลิมพระชนมพรรษา
ศิษย์เก่าที่มีชื่อเสียง
[แก้]โรงเรียนวิทยาศาสตร์จุฬาภรณราชวิทยาลัย นครศรีธรรมราช
[แก้]- ปกรณ์ อารีกุล - จบการศึกษาจากโรงเรียนวิทยาศาสตร์จุฬาภรณราชวิทยาลัย นครศรีธรรมราช ระดับมัธยมศึกษาตอนต้นรุ่นที่ 9 ระดับมัธยมศึกษาตอนปลายรุ่นที่ 12 เป็นอดีตผู้ช่วยเลขานุการรองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่ 1 (ปดิพัทธ์ สันติภาดา) เป็นนักกิจกรรมเคลื่อนไหวทางการเมือง ต่อต้านคสช. ช่วง พ.ศ. 2557-2560 อดีตผู้ชำนาญการประจำตัวรังสิมันต์ โรม สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร แบบบัญชีรายชื่อ พรรคอนาคตใหม่ ต่อเนื่องถึงพรรคก้าวไกล[32] อดีตผู้สมัครส.ส.พรรคก้าวไกล เขต 1 นครศรีธรรมราช การเลือกตั้งส.ส.นครศรีธรรมราช 2566 ได้รับคะแนนเป็นอันดับสอง พ.ศ.2567 ได้รับการแต่งตั้งเป็นคณะทำงานการเมืองของผู้นำฝ่ายค้านในสภาผู้แทนราษฎร ( ชัยธวัช ตุลาธน ) ต่อมาได้รับการแต่งตั้งเป็นคณะทำงานการเมืองของผู้นำฝ่ายค้านในสภาผู้แทนราษฎร ( ณัฐพงษ์ เรืองปัญญาวุฒิ )
โรงเรียนวิทยาศาสตร์จุฬาภรณราชวิทยาลัย เพชรบุรี
[แก้]- ชุติวัฒน์ จันเคน - ศิลปินวง Because of You,I Shine (Bus)
โรงเรียนวิทยาศาสตร์จุฬาภรณราชวิทยาลัย ลพบุรี
[แก้]- วรินทร ปัญหกาญจน์ - นักแสดง ช่อง 3 เอชดี
อ้างอิง
[แก้]- ↑ คณะที่ปรึกษาและคณะกรรมการบริหารโครงการพัฒนาโรงเรียนจุฬาภรณราชวิทยาลัยให้เป็นโรงเรียนวิทยาศาสตร์ภูมิภาค เก็บถาวร 2018-10-27 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน. สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน. สืบค้นเมื่อ 24 กันยายน 2561
- ↑ ผู้อำนวยการสำนัก สังกัดสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน เก็บถาวร 2017-10-18 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน. สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน. สืบค้นเมื่อ 14 ตุลาคม 2560
- ↑ "ปณิธานกลุ่มโรงเรียนวิทยาศาสตร์จุฬาภรณราชวิทยาลัย". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2021-05-07. สืบค้นเมื่อ 7 ธันวาคม 2563.
{{cite web}}
: ตรวจสอบค่าวันที่ใน:|access-date=
(help) - ↑ 4.0 4.1 4.2 "ประวัติโรงเรียนวิทยาศาสตร์จุฬาภรณราชวิทยาลัย นครศรีธรรมราช". โรงเรียนวิทยาศาสตร์จุฬาภรณราชวิทยาลัย นครศรีธรรมราช. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2020-05-03. สืบค้นเมื่อ 24 กันยายน 2561.
{{cite web}}
: ตรวจสอบค่าวันที่ใน:|access-date=
(help) - ↑ "ข่าวสำนักงานรัฐมนตรี ๑๑๖/๒๕๕๔ รร.วิทยาศาสตร์ภูมิภาค". สำนักงานรัฐมนตรี กระทรวงศึกษาธิการ. สืบค้นเมื่อ 14 ตุลาคม 2560.
{{cite web}}
: ตรวจสอบค่าวันที่ใน:|access-date=
(help) - ↑ "เฟ้นหัวกะทิ เข้า ร.ร.จุฬาภรณราชวิทยาลัย". ไทยรัฐ. สืบค้นเมื่อ 14 ตุลาคม 2560.
{{cite web}}
: ตรวจสอบค่าวันที่ใน:|access-date=
(help) - ↑ "กลุ่ม ร.ร.วิทย์ เปิดรับสมัครสอบคัดเลือก ม.4/1-31 ส.ค.นี้". ผู้จัดการออนไลน์. สืบค้นเมื่อ 14 ตุลาคม 2560.
{{cite web}}
: ตรวจสอบค่าวันที่ใน:|access-date=
(help)[ลิงก์เสีย] - ↑ "ร่างโครงการพัฒนาโรงเรียนจุฬาภรณราชวิทยาลยให้เป็นโรงเรียนวิทยาศาสตร์ภูมิภาค เพื่อกระจายโอกาสสำหรับนักเรียนผู้มีความสามารถพิเศษด้านคณิตศาสตร์และวิทยาศาสตร์" (PDF). สำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรี. สืบค้นเมื่อ 28 มิถุนายน 2560.
{{cite web}}
: ตรวจสอบค่าวันที่ใน:|access-date=
(help) - ↑ "สพฐ.ตั้งศูนย์บริหาร ร.ร.จุฬาภรณราชวิทยาลัย". ผู้จัดการออนไลน์. สืบค้นเมื่อ 14 ตุลาคม 2560.
{{cite web}}
: ตรวจสอบค่าวันที่ใน:|access-date=
(help)[ลิงก์เสีย] - ↑ "คำสั่งสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน ที่ 512/2560 เรื่อง การเปลี่ยนแปลงชื่ออำนาจหน้าที่ของศูนย์บริการโครงการพัฒนาโรงเรียนจุฬาภรณราชวิทยาลัยให้เป็นโรงเรียนวิทยาศาสตร์ภูมิภาค (เป็นกลุ่มงานภายในสำนักวิชาการและมาตรฐานการศึกษา)" (PDF). 30 มีนาคม 2560.[ลิงก์เสีย]
- ↑ "72 ง". ประกาศกระทรวงศึกษาธิการ เรื่อง เปลี่ยนชื่อโรงเรียนจุฬาภรณราชวิทยาลัย (PDF). ราชกิจจานุเบกษา. 20 กันยายน พ.ศ. 2561. p. 3. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิม (PDF)เมื่อ 2018-10-24. สืบค้นเมื่อ 2018-09-20.
{{cite book}}
: ตรวจสอบค่าวันที่ใน:|date=
(help); ไม่รู้จักพารามิเตอร์|book=
ถูกละเว้น (help) - ↑ มติคณะรัฐมนตรี วันที่ 5 ตุลาคม พ.ศ. 2564 เรื่อง การพัฒนายกระดับคุณภาพโรงเรียนมัธยมศึกษาให้เป็นโรงเรียนวิทยาศาสตร์จุฬาภรณราชวิทยาลัย
- ↑ 13.0 13.1 13.2 13.3 13.4 13.5 13.6 มติคณะรัฐมนตรี วันที่ 2 พฤษภาคม พ.ศ. 2566 เรื่อง รายงานความก้าวหน้าการดำเนินการพัฒนายกระดับคุณภาพโรงเรียนมัธยมศึกษาให้เป็นโรงเรียนวิทยาศาสตร์จุฬาภรณราชวิทยาลัย และครม.อนุมัติเปลี่ยนแปลงสถานที่ดำเนินการก่อสร้าง รร.วิทยาศาสตร์จุฬาภรณราชวิทยาลัย กำแพงเพชร และ รร.วิทยาศาสตร์จุฬาภรณราชวิทยาลัย สระแก้ว
- ↑ สัญลักษณ์ประจำโรงเรียนจุฬาภรณราชวิทยาลัย นครศรีธรรมราช[ลิงก์เสีย]
- ↑ "พระราชทานตราสัญลักษณ์ประจำโรงเรียนวิทยาศาสตร์จุฬาภรณราชวิทยาลัย" (PDF). PCSHSNST NEWS. 13 ธันวาคม 2562. เก็บ (PDF)จากแหล่งเดิมเมื่อ 2020-04-07. สืบค้นเมื่อ 2020-04-07.
- ↑ 16.0 16.1 16.2 16.3 ประวัติความเป็นมาของโรงเรียนจุฬาภรณราชวิทยาลัย มุกดาหาร. โรงเรียนวิทยาศาสตร์จุฬาภรณราชวิทยาลัย มุกดาหาร. สืบค้นเมื่อ 28 มิถุนายน 2560.
- ↑ 17.00 17.01 17.02 17.03 17.04 17.05 17.06 17.07 17.08 17.09 17.10 17.11 หนังสือ 10 ปี การพัฒนาต่อยอดโรงเรียนวิทยาศาสตร์จุฬาภรณราชวิทยาลัยตามอุดมการณ์
- ↑ หลักสูตรโรงเรียนวิทยาศาสตร์ภูมิภาค ระดับชั้นมัธยมศึกษาตอนต้น พุทธศักราช 2554 (ฉบับปรับปรุง พุทธศักราช 2558)
- ↑ หลักสูตรโรงเรียนวิทยาศาสตร์ภูมิภาค ระดับชั้นมัธยมศึกษาตอนปลาย พุทธศักราช 2560
- ↑ ประกาศสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐานและคณะกรรมการโครงการพัฒนาโรงเรียนจุฬาภรณราชวิทยาลัยให้เป็นโรงเรียนวิทยาศาสตร์ภูมิภาค เรื่อง การรับนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ ๑ ปีการศึกษา ๒๕๖๑ เก็บถาวร 2017-11-18 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน ลงวันที่ 4 กรกฎาคม 2560
- ↑ ประกาศสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐานและคณะกรรมการโครงการพัฒนาโรงเรียนจุฬาภรณราชวิทยาลัยให้เป็นโรงเรียนวิทยาศาสตร์ภูมิภาค เรื่อง การรับนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ ๔ ปีการศึกษา ๒๕๖๑ เก็บถาวร 2017-12-15 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน ลงวันที่ 4 กรกฎาคม 2560
- ↑ 22.0 22.1 สพฐ.ร่วมญี่ปุ่น พัฒนาโรงเรียนจุฬาภรณฯตั้งเป้าให้เป็นโรงเรียนวิทยาศาสตร์ภูมิภาค[ลิงก์เสีย]. กระทรวงศึกษาธิการ. สืบค้นเมื่อ 14 ตุลาคม 2560.
- ↑ ศูนย์บริหารโครงการพัฒนาโรงเรียนจุฬาภรณราชวิทยาลัยให้เป็นโรงเรียนวิทยาศาสตร์ภูมิภาค. เอกสารแนะนำโรงเรียนจุฬาภรณราชวิทยาลัย (โรงเรียนวิทยาศาสตร์ภูมิภาค). 2558
- ↑ ข่าวสำนักงานรัฐมนตรี 463/2558 Thailand-Japan Student Science Fair 2015. กระทรวงศึกษาธิการ. สืบค้นเมื่อ 14 ตุลาคม 2560.
- ↑ TJ-SIF2016 Official Site เก็บถาวร 2017-10-22 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน. ศูนย์บริหารโครงการพัฒนาโรงเรียนจุฬาภรณราชวิทยาลัยให้เป็นโรงเรียนวิทยาศาสตร์ภูมิภาค. สืบค้นเมื่อ 14 ตุลาคม 2560.
- ↑ TJ-SSF 2018 Official Site เก็บถาวร 2018-09-10 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน. โรงเรียนวิทยาศาสตร์จุฬาภรณราชวิทยาลัย พิษณุโลก. สืบค้นเมื่อ 24 กันยายน 2561.
- ↑ "โครงการ "NIHONGO Partners"". เจแปนฟาวน์เดชัน. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2017-10-25. สืบค้นเมื่อ 14 ตุลาคม 2560.
{{cite web}}
: ตรวจสอบค่าวันที่ใน:|access-date=
(help) - ↑ กลุ่ม ร.ร.จุฬาภรณฯ ปักธง สร้างคุณภาพเทียบนานาชาติ. ประชาชาติ. สืบค้นเมื่อ 14 ตุลาคม 2560.
- ↑ "จุฬาภรณ์ฯสัมพันธ์เฉลิมพระเกียรติ ครั้งที่ 13-โรงเรียนจุฬาภรณราชวิทยาลัย มุกดาหาร". www.pccm.ac.th.
- ↑ "PCSHSM:: - โรงเรียนวิทยาศาสตร์จุฬาภรณราชวิทยาลัย มุกดาหาร". www.pccm.ac.th.
- ↑ "วันสถาปนาโรงเรียน วันคล้ายวันประสูติ ศาสตราจารย์ ดร.สมเด็จพระเจ้าลูกเธอฯ – โรงเรียนวิทยาศาสตร์จุฬาภรณราชวิทยาลัย ปทุมธานี". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2022-05-23. สืบค้นเมื่อ 2022-04-22.
- ↑ https://election66.moveforwardparty.org/district/z_nst_1
ดูเพิ่ม
[แก้]- สมเด็จเจ้าฟ้าฯ กรมพระศรีสวางควัฒน วรขัตติยราชนารี
- กระทรวงศึกษาธิการ (ประเทศไทย)
- สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน
- โรงเรียนมหิดลวิทยานุสรณ์
- โครงการสนับสนุนการจัดตั้งห้องเรียนวิทยาศาสตร์ในโรงเรียน โดยการกำกับดูแลของมหาวิทยาลัย
แหล่งข้อมูลอื่น
[แก้]- โรงเรียนวิทยาศาสตร์จุฬาภรณราชวิทยาลัย ตรัง เก็บถาวร 2009-09-04 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน
- โรงเรียนวิทยาศาสตร์จุฬาภรณราชวิทยาลัย นครศรีธรรมราช
- โรงเรียนวิทยาศาสตร์จุฬาภรณราชวิทยาลัย สตูล
- โรงเรียนวิทยาศาสตร์จุฬาภรณราชวิทยาลัย เชียงราย เก็บถาวร 2009-02-28 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน
- โรงเรียนวิทยาศาสตร์จุฬาภรณราชวิทยาลัย พิษณุโลก
- โรงเรียนวิทยาศาสตร์จุฬาภรณราชวิทยาลัย ลพบุรี
- โรงเรียนวิทยาศาสตร์จุฬาภรณราชวิทยาลัย ปทุมธานี เก็บถาวร 2012-03-13 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน
- โรงเรียนวิทยาศาสตร์จุฬาภรณราชวิทยาลัย มุกดาหาร
- โรงเรียนวิทยาศาสตร์จุฬาภรณราชวิทยาลัย บุรีรัมย์
- โรงเรียนวิทยาศาสตร์จุฬาภรณราชวิทยาลัย เลย เก็บถาวร 2009-01-08 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน
- โรงเรียนวิทยาศาสตร์จุฬาภรณราชวิทยาลัย ชลบุรี
- โรงเรียนวิทยาศาสตร์จุฬาภรณราชวิทยาลัย เพชรบุรี
- สำนักบริหารงานความเป็นเลิศด้านวิทยาศาสตร์ศึกษา เก็บถาวร 2023-08-06 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน