ข้ามไปเนื้อหา

ชาวไทยในประเทศพม่า

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
ไทยในพม่า
ประชากรทั้งหมด
ไม่ทราบ
ภูมิภาคที่มีประชากรอย่างมีนัยสำคัญ
 พม่าไม่ทราบ
          เขตตะนาวศรี41,258 คน (พ.ศ. 2530)[1]
          รัฐกะเหรี่ยงราว 20,000 คน (พ.ศ. 2557)[2]
          ท่าขี้เหล็กราว 1,000 คน (พ.ศ. 2563)[3]
          ย่างกุ้งราว 400–450 คน (พ.ศ. 2555)[4]
          เล่าไก่293 คน (พ.ศ. 2566)[5]
 ไทย28,000 คน[6]
ภาษา
ไทย (ถิ่นใต้ · ถิ่นเหนือ · ถิ่นอีสาน) · พม่า · มลายูไทรบุรี
ศาสนา
ศาสนาพุทธ ส่วนน้อยอิสลาม
กลุ่มชาติพันธุ์ที่เกี่ยวข้อง
ไทยใต้ · ไทยวน · พม่าเชื้อสายจีน · พม่าเชื้อสายมลายู

ชาวไทยในพม่า พม่าเรียก ฉ่า หรือเป็นไทยมุสลิมจะเรียก ฉ่าปะซู คือกลุ่มชาติพันธุ์ที่มีเชื้อสายเดียวกับไทยสยามในประเทศไทย ซึ่งอาศัยอยู่ในประเทศพม่า แต่เป็นคนละกลุ่มกับชาวโยดายา โดยมากอาศัยอยู่บริเวณเขตตะนาวศรีทางตอนใต้ของประเทศพม่า มีประวัติการตั้งถิ่นฐานในบริเวณดังกล่าวมายาวนาน ก่อนที่ดินแดนจะกลายเป็นส่วนหนึ่งของประเทศพม่าในปัจจุบัน[7] พวกเขายังคงอัตลักษณ์ความเป็นไทยไว้ ทั้งภาษา, ศาสนา, การใช้สกุลเงินไทย และการใช้นามสกุลอย่างคนไทย[8][9]

ระยะหลังชาวไทยพลัดถิ่นจากประเทศพม่าจำนวนมากอพยพไปประเทศไทยในสถานะคนต่างด้าวไร้สัญชาติ อาศัยอยู่บริเวณสี่จังหวัดติดชายแดนได้แก่ จังหวัดตาก, จังหวัดประจวบคีรีขันธ์, จังหวัดชุมพร และจังหวัดระนอง[10] บางส่วนกระจายตัวไปยังจังหวัดพังงา[11] โดยให้เหตุผลว่าพวกเขาถูกกดขี่จากประเทศต้นทาง[1][12][13] และพยายามขอสัญชาติไทย[14][15]

นอกจากชาวไทยพื้นเมืองแล้ว ยังมีบุคคลสัญชาติไทยที่เข้าไปพำนักหรือไปประกอบอาชีพในประเทศพม่า มีจำนวน 1,307 คน เมื่อ พ.ศ. 2560[16] และมีจำนวน 868 คน ใน พ.ศ. 2564[17] สถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงย่างกุ้ง ประกาศแจ้งเตือนการหลอกลวงชาวไทยไปทำงานผิดกฎหมายในประเทศพม่า โดยให้เหตุผลว่าเสี่ยงต่อการไม่ได้รับค่าจ้าง หรืออาจมีอันตรายถึงชีวิต[18]

ประวัติ

[แก้]

เขตตะนาวศรี

[แก้]
การโจมตีของชาวสยามที่ทวาย ในเหตุการณ์การปฏิวัติสยาม พ.ศ. 2231

มีหลักฐานทางประวัติศาสตร์บ่งชี้ว่าชาวสยามได้ก่อตั้งเมืองตะนาวศรี และบริเวณดังกล่าวเป็นเขตอิทธิพลของกษัตริย์สยามมาช้านาน[19] จากเอกสาร สำเภากษัตริย์สุไลมาน ระบุว่าทั้งเมืองมะริดและตะนาวศรีเป็นหัวเมืองสำคัญของอยุธยา[20] และ พ.ศ. 2228 "ตะนาวศรีเป็นเมืองอุดมสมบูรณ์ มีพลเมืองเป็นชาวสยามประมาณ 5-6 พันครัว"[19] ช่วงคริสต์ศตวรรษที่ 17 มะริดยังเป็นของสยาม "ที่นั่นเต็มไปด้วยกลุ่มคนหลากหลายเชื้อชาติ ทั้งพม่า สยาม จีน อินเดีย มลายู และยุโรป"[21] หลังการเสียกรุงศรีอยุธยาครั้งที่สองและหลังการสถาปนากรุงรัตนโกสินทร์ มีความพยายามจากกษัตริย์สยามในการตีเมืองต่าง ๆ ในบริเวณนี้คืนจากพม่าหลายครั้ง แต่ไม่ประสบความสำเร็จ[22] ตะนาวศรีถูกทำลายด้วยการยึดครองของพม่า แล้วตามด้วยการปกครองของสหราชอาณาจักรอีกทอดหนึ่ง ส่งผลให้เมืองท่าในแถบตะนาวศรีที่เคยมั่งคั่งจึงเสื่อมลง เพราะ "ถูกเทือกเขาตัดขาดจากพื้นที่ราบอันอุดมสมบูรณ์ของจีนและสยาม" ที่สุดจึงกลายเป็นดินแดนชายขอบอันล้าหลังของพม่า และกลายเป็นดินแดนของชนกลุ่มน้อย[23]

ในยุคอาณานิคม สหราชอาณาจักรได้ทำการสำรวจจำนวนประชากร เซอร์เจมส์ สกอตต์ระบุว่า มีชาวสยามอยู่ในเขตตะนาวศรี 19,631 คน อาศัยในเมืองทวาย, แอมเฮิสต์ และมะริด[24] ส่วน ราชอักขรานุกรมภูมิศาสตร์อินเดีย (Imperial Gazetteer of India) ระบุว่าในปี พ.ศ. 2444 มีชาวสยามในเมืองมะริด 9,000 คน โดยมีชาวสยามกระจายตัวตามพื้นที่ต่าง ๆ ดังในตำบลบกเปี้ยน มีชาวสยามอาศัยอยู่ร้อยละ 53 ตำบลตะนาวศรี มีชาวสยามอาศัยอยู่ร้อยละ 40 และตำบลมะลิวัลย์มีชาวสยาม, มลายู และจีนทั้งตำบล ชาวพม่าหาไม่พบ[24] ขณะที่เมืองทวาย มีประชากรเพียง 200 คนเท่านั้นที่ระบุตัวตนว่าเป็นชาวสยาม[24] ทั้ง ๆ ที่มีร่องรอยของชาวสยามอาศัยมายาวนาน ดังปรากฏหลักฐานตามศาสนสถานต่าง ๆ ภายในตัวเมือง[25]

บทความของเอ. เคอร์ (A. Kerr) ชาวอังกฤษในกรุงเทพฯ ซึ่งเดินทางเข้าไปเขตตะนาวศรีของพม่า เมื่อ พ.ศ. 2475 ในบันทึกของเขาระบุว่าพบบ้านกะเหรี่ยงบ้างแถบไหล่เขา แต่หลังจากนั้นเป็นต้นมาก็พบแต่บ้านคนไทยที่พูดภาษาไทยถิ่นใต้กระจายอยู่ตลอดเส้นทาง และรายชื่อสถานที่ต่าง ๆ ในบันทึกของเคอร์ก็ล้วนแต่เป็นชื่อภาษาไทย[26] หนังสือ คนไทยในพม่า (พ.ศ. 2503) ของบุญช่วย ศรีสวัสดิ์ ระบุว่ามีชาวไทยจากภาคใต้และภาคตะวันตก ได้แก่ จังหวัดกาญจนบุรี จังหวัดราชบุรี จังหวัดเพชรบุรี จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ จังหวัดชุมพร และจังหวัดระนอง อพยพเข้าไปอาศัยอยู่ในตะนาวศรีเป็นจำนวนมาก ชาวไทยจำนวนนี้บางคนถือสัญชาติพม่า และนิยมแต่งกายอย่างพม่า[27]

หลังพม่าได้รับเอกราชเป็นต้นมาชาวไทยที่อาศัยในแถบตะนาวศรีอยู่อย่างสุขสงบมาตลอด จนกระทั่ง พ.ศ. 2535 พม่าได้ตั้งกระทรวงพัฒนาพื้นที่ชายแดนและเชื้อชาติแห่งชาติขึ้น ซึ่งดำเนินนโยบายพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานละการโยกย้ายประชาชนจากพื้นที่ที่ประชากรหนาแน่นไปยังพื้นที่ชายแดนต่าง ๆ ซึ่งรวมถึงชุมชนไทยด้วย หลังจากนั้นพม่าจึงเริ่มนโยบายกลืนคนไทย ได้แก่ การตั้งโรงเรียนพม่า การนำชาวพม่ามาแทรกซึมในชุมชนไทย และการนำพระสงฆ์พม่าเข้ามาประจำในวัดไทย[24] นอกจากนี้ยังมีการใช้แรงงานคนไทยไปเป็นลูกหาบให้กองทัพพม่าไปสู้รบกับกองกำลังชนกลุ่มน้อยช่วง พ.ศ. 2531-2534[24]

ปัจจุบันชาวไทยในเขตตะนาวศรีราว 3 ใน 4 ยอมมีสถานะเป็นคนต่างด้าวเข้าเมืองในไทย แบ่งเป็นสี่กลุ่มใหญ่ ๆ คือกลุ่มชาวไทยที่อพยพจากตะนาวศรี (Tanintharyi) – สิงขร (Theinkun) จะอาศัยอยู่ในอำเภอเมืองประจวบคีรีขันธ์, อำเภอบางสะพาน, อำเภอบางสะพานน้อย และอำเภอทับสะแก จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ กลุ่มที่สองคือชาวไทยที่อพยพจากลังเคี๊ยะ (Lenya) อาศัยอยู่ในอำเภอท่าแซะ จังหวัดชุมพร กลุ่มที่สามคือชาวไทยที่อพยพจากบกเปี้ยน (Bokpyin) อาศัยอยู่ในอำเภอเมืองระนอง และอำเภอกะเปอร์ จังหวัดระนอง และกลุ่มที่สี่คือชาวไทยที่อพยพจากมะลิวัลย์ (Maliwan) – เกาะสอง (Kawthaung) – ตลาดสุหรี (Karathuri) อาศัยอยู่อำเภอกระบุรี, อำเภอเมืองระนอง และอำเภอละอุ่น จังหวัดระนอง[28] มีการประมาณการถึงผู้อพยพเชื้อสายไทยจากพม่า หลบหนีเข้าประเทศไทยเป็นจำนวนถึง 28,000 คน[6]

รัฐกะเหรี่ยง

[แก้]

ตั้งถิ่นฐานที่บ้านห้วยส้าน, บ้านแม่แปป, บ้านปางกาน, บ้านหนองห้า, บ้านแม่กาใน, บ้านผาซอง, บ้านปะล้ำปะตี๋ และบ้านไฮ่ เมืองเมียวดี (Myawaddy) รัฐกะเหรี่ยง รวมทั้งหมด 7 หมู่บ้าน มีประชากรราว 20,000 คน[2] ชาวไทยกลุ่มนี้เรียกตนเองว่า ไต เป็นชาวไทยวนที่อพยพมาจากอำเภอแม่สอด อำเภอแม่ระมาด จังหวัดตาก อำเภอเถิน อำเภอแม่พริก อำเภองาว จังหวัดลำปาง บ้างก็มาจากจังหวัดลำพูน, เชียงใหม่หรือน่านก็มี โดยเข้าทำงานเป็นคนงานตัดไม้ของบริษัทอังกฤษราวร้อยปีก่อน[29] บ้างก็ว่าหนีการเสียภาษีจากรัฐบาลสยาม[2] จึงเข้าไปตั้งถิ่นฐานในบริเวณดังกล่าว ปัจจุบันพวกเขายังใช้ภาษาไทยถิ่นเหนือ และนับถือศาสนาพุทธ[2] รวมทั้งมีการอนุรักษ์ขนบธรรมเนียมประเพณีของไทยอย่างดี[30] ชาวไทยกลุ่มนี้ส่วนหนึ่งอพยพกลับประเทศไทยราว 30 ปีก่อน อาศัยอยู่อำเภอแม่สอดและอำเภอแม่ระมาด จังหวัดตาก โดยไม่มีสัญชาติไทย[30]

นอกจากเมืองเมียวดี ยังมีชาวไทยตั้งถิ่นฐานในเมืองพะย่าโต้นซู (Payathonzu) จำนวนหนึ่ง[31]

รัฐมอญ

[แก้]

ใน ราชอักขรานุกรมภูมิศาสตร์อินเดีย (Imperial Gazetteer of India) ระบุว่าในปี พ.ศ. 2444 มีชาวสยามตั้งนิคมขนาดน้อยในเมืองแอมเฮิสต์ ส่วนเมืองสะเทิมซึ่งเป็นเมืองสำคัญแห่งหนึ่งของรัฐมอญ มีชาวสยามตั้งถิ่นฐาน 10,000 คน[24] ปัจจุบันยังมีชุมชนไทยในเมืองไจคามี[32]

วัฒนธรรม

[แก้]

ภาษา

[แก้]
ร้านอาหารไทยในเนปยีดอว์

มีการค้นพบจารึกภาษาไทยอักษรขอมในประเทศพม่า เชื่อว่าอาจจะมาจากเมืองทวาย มิกกี ฮาร์ต นักประวัติศาสตร์ชาวพม่าสันนิษฐานว่าจารึกนี้น่าจะถูกทำขึ้นช่วงคริสต์ศตวรรษที่ 12-13 ก่อนยุคอาณาจักรสุโขทัย[33] คริสต์ศตวรรษที่ 17 ภาษาไทยเป็นภาษาราชการและภาษาทางการของมะริดและตะนาวศรี ทั้ง ๆ ที่มีชุมชนไทยเป็นชนกลุ่มน้อยขนาดเล็กในนั้น แต่ประชากรส่วนใหญ่ล้วนเป็นพม่าหรือมอญ[21] ต้นคริสต์ศตวรรษที่ 19 แอนน์ แฮซเซลไทน์ จัดสัน (Ann Hasseltine Judson) มิชชันนารีชาวอเมริกันเข้าไปเผยแผ่ศาสนาในเมืองแอมเฮิสต์ โดยได้ศึกษาภาษาไทยจากคนไทยในแอมเฮิสต์ เธอเป็นคนแรกที่แปลพระคัมภีร์เป็นภาษาไทย[34]

ปัจจุบันชาวไทยในเขตตะนาวศรีเกือบทั้งหมดยังคงใช้ภาษาไทยถิ่นใต้สำหรับการสื่อสารในชีวิตประจำวันเช่นเดียวกับชาวไทยทางภาคใต้ของประเทศไทย[35] ยกเว้นที่บ้านท่าตะเยี๊ยะที่พูดภาษาไทยถิ่นอีสาน[1]และชาวไทยมุสลิมบางส่วนพูดภาษามลายูไทรบุรี[36] ส่วนชาวไทยในรัฐกะเหรี่ยงจะใช้ภาษาไทยถิ่นเหนือสำหรับการสื่อสารในชีวิตประจำวันเช่นเดียวกับชาวไทยวนในภาคเหนือของไทย[2] ชาวไทยทั้งสองกลุ่มมีการเล่าเรียนภาษาไทยมาตรฐาน โดยชาวไทยในรัฐกะเหรี่ยงจะมีการสอนภาษาไทยแก่บุตรหลานช่วงปิดเทอมโดยพระสงฆ์ บ้างก็เข้าเรียนในโรงเรียนไทยในจังหวัดตาก[30] เดิมชาวไทยกลุ่มนี้จะใช้อักษรธรรมล้านนาและพม่าในการเขียน แต่ในปัจจุบันมีการเขียนด้วยอักษรไทยมากขึ้น[37] ขณะที่ชาวไทยในเขตตะนาวศรีเล่าเรียนภาษาไทยจากพระสงฆ์ในวัด[35] สามารถพบการติดตั้งป้ายภาษาไทยอย่างโดดเด่นตามศาสนสถาน[38] รวมทั้งนิยมสิ่งพิมพ์ภาษาไทย และสื่อโทรทัศน์ภาษาไทย ด้วยมีจินตนาการร่วมกับรัฐไทยมากกว่าพม่า[39]

ส่วนภาษาพม่าเพิ่งมีการสอนตามโรงเรียนช่วงปี พ.ศ. 2508 เป็นต้นมา เพราะในอดีตเด็กไทยไม่เข้าใจภาษาพม่าเลย[40] การเรียนรู้ภาษาพม่าของชาวไทยถือเป็นการเอาตัวรอด เพราะลดการคุกคามจากทหารพม่าได้มาก[41] ปัจจุบันชาวไทยในตะนาวศรีที่เป็นลูกครึ่งพม่าไม่สามารถใช้ภาษาไทยได้และนิยมให้ลูกหลานใช้ภาษาพม่าในชีวิตประจำวัน[42] ขณะที่คนไทยสูงอายุบางส่วนยังพบกับอุปสรรคทางภาษาเพราะมีหลายคนพูดพม่าได้น้อยหรือไม่ได้เลย[43] แต่จากการที่ไม่มีโรงเรียนไทย กอปรกับวัดไทยมีพระเชื้อสายไทยจำพรรษาน้อยและมีพระพม่ามาจำพรรษาแทน ทำให้ขาดผู้สอนภาษาไทยแก่บุตรหลานไทยในตะนาวศรี หลายคนพูดภาษาไทยได้แต่อ่านหนังสือไม่ออก[44]

ศาสนา

[แก้]

ในปี พ.ศ. 2530 ชาวไทยในเขตตะนาวศรี 41,258 คน ประกอบด้วยพุทธศาสนิกชน 22,978 คน และอิสลามิกชน 18,280 คน โดยชาวไทยพุทธตั้งถิ่นฐานในตำบลสิงขร, ตำบลบกเปี้ยน และตำบลมะลิวัลย์ ส่วนชาวไทยมุสลิมตั้งถิ่นฐานแถบเกาะสองจนถึงตลาดสุหรี[45]

พุทธศาสนิกชนชาวไทยในเขตตะนาวศรีจะทำการบวชอย่างไทยคือโกนคิ้วและห่มจีวรสีออกเหลือง[46] ศาสนาพุทธถูกยึดโยงกับความเป็นไทย ชาวไทยในพม่าจะจัดเวรทำและนำอาหารไปถวายพระทุกวัน ผู้คนนิยมเข้าวัดฟังธรรมเนืองแน่นทุกวันพระ[47] แต่ยังคงความเชื่อออกไปทางเวทมนตร์คาถา เชื่อในสิ่งลี้ลับ เช่น ภูติผี วิญญาณ เจ้าป่า เจ้าเขา โชคลาง และการบนบาน[35] พุทธศิลป์แบบไทยส่งอิทธิพลต่อศิลปวัฒนธรรมท้องถิ่นของตะนาวศรี ดังปรากฏในพุทธศิลป์ของพระประธานภายในวัดตะนาวศรีใหญ่ ซึ่งมีพระเกศาและพระพักตร์มีอิทธิพลศิลปะสุโขทัย ริ้วจีวรได้รับอิทธิพลศิลปะอยุธยา แต่มีพระกรรณยาวอย่างศิลปะพม่า จนเรียกว่าเป็นศิลปะตะนาวศรี และวัดตอจาง เคยมีเจ้าอาวาสเป็นชาวสยาม[48] ชาวไทยและพม่าที่นับถือศาสนาพุทธไม่ค่อยมีข้อขัดแย้งหรือเกิดการกดขี่ทางวัฒนธรรมกัน และมองคนมุสลิมเป็นชนชั้นสอง[49]

ส่วนชาวไทยจากเขตตะนาวศรีผู้เป็นอิสลามิกชนเข้ารับการอบรมจริยธรรมจากโรงเรียนสอนศาสนาอิสลามหรือจากมัสยิด[50]

ชาวไทยในรัฐกะเหรี่ยงนับถือศาสนาพุทธเช่นกัน มีวัดประจำชุมชน ได้แก่ วัดบัวสถาน, วัดศรีบุญเรือง, วัดสว่างอารมณ์, วัดสุวรรณคีรี และวัดป่าเลไลย์[2] โดยมีพระสงฆ์เป็นผู้นำในการทำกิจกรรมต่าง ๆ[30]

ประเพณี

[แก้]

ชาวไทยในพม่า โดยเฉพาะกลุ่มในเขตตะนาวศรีมีประเพณี 12 เดือน เป็นประเพณีประพฤติปฏิบัติสืบมานาน ได้แก่ ในเดือนอ้ายเดือนยี่จะมีการบูชานางโพสพ เดือนสามมีพิธีปล่อยวัวควายลงทุ่ง เดือนสี่ไหว้ตาเจ้าที่ เดือนห้ามีประเพณีสงกรานต์ เดือนหกมีดูฤกษ์ยาม รับผีตายาย ทำบุญส่งตายาย บุญเดือนสิบ ชิงเปรต เดือนสิบเอ็ดทำบุญออกพรรษา เดือนสิบสองทำบุญทอดกฐิน ทำบุญลอยแพ[51] โดยเฉพาะประเพณีสารทเดือนสิบ ชาวพม่าในแถบนั้นได้รับเอาไปปฏิบัติด้วย แต่ต่างกับคนไทยตรงที่จะมีพิธีกรรมส่งตายายกลับภพภูมิของตน โดยจะจัดหฺมรับ (สำรับ) อุทิศแก่วิญญาณบรรพชนตั้งไว้หน้าบ้าน[52]

ศิลปะ

[แก้]

ชาวไทยในตะนาวศรีมักแสดงหรือชมหนังตะลุง, มโนราห์, มวยไทย และเพลงพื้นบ้านอย่างไทยภาคใต้ มีคณะหนังตะลุงที่มีชื่อเสียงอาทิ หนังสร้อย แสงวิโรจน์ หนังช่วย และหนังยอด ส่วนมโนราห์ที่มีชื่อเสียงได้แก่ มโนราห์อาบ เกตุแก้ว มโนราห์นุ้ย ขันศรี และมโนราห์เคี่ยม[35] ขณะที่ชาวไทยมุสลิมก็มีกาโหยง เป็นศิลปะการต่อสู้พื้นบ้าน[1][46]

อ้างอิง

[แก้]
เชิงอรรถ
  1. 1.0 1.1 1.2 1.3 "คนไทยพลัดถิ่น". เจ้าพระยา. 24 มกราคม 2554. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2018-11-15. สืบค้นเมื่อ 11 ตุลาคม 2561. {{cite web}}: ตรวจสอบค่าวันที่ใน: |accessdate= (help)
  2. 2.0 2.1 2.2 2.3 2.4 2.5 "ข้ามฝั่งเมยตามรอยชุมชนไทย 200 ปี-สัมผัสวิถีล้านนาในพม่า". ผู้จัดการ. 18 กุมภาพันธ์ 2557. สืบค้นเมื่อ 11 ตุลาคม 2561. {{cite web}}: ตรวจสอบค่าวันที่ใน: |accessdate= (help)
  3. "ตกค้างอีกกว่า 300 คนไทยในท่าขี้เหล็ก ยังไม่มารายงานตัวกลับประเทศ". พีพีทีวีออนไลน์. 10 ธันวาคม 2563. สืบค้นเมื่อ 10 มกราคม 2564. {{cite web}}: ตรวจสอบค่าวันที่ใน: |accessdate= (help)
  4. "จำนวนประมาณการคนไทยในต่างประเทศที่มีสถานเอกอัครราชทูตและสถานกงสุลไทยตั้งอยู่" (PDF). กรมการกงสุล กระทรวงการต่างประเทศ. 5 มีนาคม 2555. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิม (PDF)เมื่อ 2017-02-14. สืบค้นเมื่อ 4 กุมภาพันธ์ 2563. {{cite web}}: ตรวจสอบค่าวันที่ใน: |accessdate= (help)
  5. "ก.ต่างประเทศ เผยเร่งช่วยคนไทยกว่า 300 ชีวิตออกจากพม่า เหตุสู้รบรุนแรงขึ้น". ประชาไท. 11 พฤศจิกายน 2566. สืบค้นเมื่อ 21 กุมภาพันธ์ 2567. {{cite web}}: ตรวจสอบค่าวันที่ใน: |accessdate= (help)
  6. 6.0 6.1 "คนไทยพลัดถิ่น คนไร้สัญชาติ". มูลนิธิชุมชนไทย. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2017-08-17. สืบค้นเมื่อ 11 ตุลาคม 2561. {{cite web}}: ตรวจสอบค่าวันที่ใน: |accessdate= (help)
  7. ฐิรวุฒิ เสนาคำ. "ชาวไทยพลัดถิ่นในและจากมณฑลตะนาวศรีกับปัญหารัฐ-ชาติ". รัฐจากมุมมองของชีวิตประจำวัน 1, หน้า 164
  8. "อาสาสอนเด็กไทยพลัดถิ่น ณ หมู่บ้านสิงขรสุวรรณคีรี จ.มะริด พม่า". ธนาคารจิตอาสา. 15 ตุลาคม 2550. สืบค้นเมื่อ 11 ตุลาคม 2561. {{cite web}}: ตรวจสอบค่าวันที่ใน: |accessdate= (help)
  9. "แกะรอยเส้นทางการค้าโบราณ "สิงขร-ตะนาวศรี-มะริด"". ชายขอบ. 14 กันยายน 2559. สืบค้นเมื่อ 11 ตุลาคม 2561. {{cite web}}: ตรวจสอบค่าวันที่ใน: |accessdate= (help)
  10. รังสี ลิมปิโชติกุล (14 มีนาคม 2559). ""คนไทยพลัดถิ่น" รากเหง้าที่ยังไม่เท่าเทียม". เดลินิวส์. สืบค้นเมื่อ 11 ตุลาคม 2561. {{cite web}}: ตรวจสอบค่าวันที่ใน: |accessdate= (help)
  11. "กสม.เร่งกรมการปกครอง ตรวจสอบสถานะคืนสัญชาติไทยให้กลุ่ม มะริดอิสลาม 248 ราย". มติชนออนไลน์. 20 พฤษภาคม 2560. สืบค้นเมื่อ 11 ตุลาคม 2561. {{cite web}}: ตรวจสอบค่าวันที่ใน: |accessdate= (help)
  12. องอาจ เดชา (15 ตุลาคม 2550). ""คนไทยพลัดถิ่น" ชะตากรรมที่ตนเองไม่ได้ก่อ ต้นตอปัญหาเกิดจากรัฐไทย - พม่า หรือนักล่าอาณานิคม!? (1)". ประชาไท. สืบค้นเมื่อ 11 ตุลาคม 2561. {{cite web}}: ตรวจสอบค่าวันที่ใน: |accessdate= (help)
  13. "ผู้มาจากแผ่นดินที่สาบสูญ (1)". พับลิกโพสต์. 4 เมษายน 2555. สืบค้นเมื่อ 11 ตุลาคม 2561. {{cite web}}: ตรวจสอบค่าวันที่ใน: |accessdate= (help)
  14. สุจิตรา สร้อยเพชร (14 มิถุนายน 2554). "เส้นทางการต่อสู้ "คนไทยพลัดถิ่น"". ไทยพีบีเอส. สืบค้นเมื่อ 11 ตุลาคม 2561. {{cite web}}: ตรวจสอบค่าวันที่ใน: |accessdate= (help)
  15. "คำถามจากคนไทยพลัดถิ่น "มุสลิมมะริด" เพราะแตกต่างจึงไร้สัญชาติ?". ชายขอบ. 24 สิงหาคม 2561. สืบค้นเมื่อ 11 ตุลาคม 2561. {{cite web}}: ตรวจสอบค่าวันที่ใน: |accessdate= (help)
  16. "ข้อมูลสถิติจำนวนคนไทยที่พำนักในต่างประเทศ ประจำปี พ.ศ. 2560 ประเทศเมียนมา" (PDF). กรมการกงสุล. 17 มกราคม 2561. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิม (PDF)เมื่อ 2019-08-04. สืบค้นเมื่อ 4 สิงหาคม 2560. {{cite web}}: ตรวจสอบค่าวันที่ใน: |accessdate= (help)
  17. "สถิติจำนวนคนไทยใน ตปท. ประจำปี 2564" (PDF). กรมการกงสุล กระทรวงการต่างประเทศ. 28 กุมภาพันธ์ 2565. สืบค้นเมื่อ 22 เมษายน 2565. {{cite web}}: ตรวจสอบค่าวันที่ใน: |accessdate= (help)
  18. ปัณฑพ ตั้งศรีวงศ์ (12 กรกฎาคม 2566). "ดินแดนต้องห้ามของหญิงสาวไทย...ที่ชายแดนรัฐฉาน-จีน". ไทยพับลิก้า. สืบค้นเมื่อ 13 พฤศจิกายน 2567. {{cite web}}: ตรวจสอบค่าวันที่ใน: |accessdate= (help)
  19. 19.0 19.1 ฐิรวุฒิ เสนาคำ. "ชาวไทยพลัดถิ่นในและจากมณฑลตะนาวศรีกับปัญหารัฐ-ชาติ". รัฐจากมุมมองของชีวิตประจำวัน 1, หน้า 159
  20. "สำเภาแห่งกษัตริย์สุไลมาน". KOKOYADI. 28 กันยายน 2554. สืบค้นเมื่อ 11 ตุลาคม 2561. {{cite web}}: ตรวจสอบค่าวันที่ใน: |accessdate= (help)
  21. 21.0 21.1 แอนโทนี รีด. "คาบสมุทรแห่งความหลากหลาย". ไทยใต้ มลายูเหนือ : ปฏิสัมพันธ์ทางชาติพันธุ์บนคาบสมุทรแห่งความหลากหลาย, หน้า 43
  22. "หลงรัก "ทวาย" แบบเห็นความงาม..." อิศรา. 29 มกราคม 2560. สืบค้นเมื่อ 13 ตุลาคม 2561. {{cite web}}: ตรวจสอบค่าวันที่ใน: |accessdate= (help)
  23. แอนโทนี รีด. "คาบสมุทรแห่งความหลากหลาย". ไทยใต้ มลายูเหนือ : ปฏิสัมพันธ์ทางชาติพันธุ์บนคาบสมุทรแห่งความหลากหลาย, หน้า 47-48
  24. 24.0 24.1 24.2 24.3 24.4 24.5 ฐิรวุฒิ เสนาคำ. "ชาวไทยพลัดถิ่นในและจากมณฑลตะนาวศรีกับปัญหารัฐ-ชาติ". รัฐจากมุมมองของชีวิตประจำวัน 1, หน้า 160-161
  25. วลัยลักษณ์ ทรงศิริ (5 มกราคม 2559). ""ทวาย" บ้านเมืองที่เราไม่รู้จัก". มูลนิธิเล็ก-ประไพ วิริยะพันธุ์. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2020-10-29. สืบค้นเมื่อ 13 ตุลาคม 2561. {{cite web}}: ตรวจสอบค่าวันที่ใน: |accessdate= (help)
  26. ไมเคิล ไรท์ (1 กันยายน 2565). "ศิลปวัฒนธรรมสยาม หยุดยั้งตรงเส้นชายแดนหรือ?". ศิลปวัฒนธรรม. สืบค้นเมื่อ 2 กันยายน 2565. {{cite web}}: ตรวจสอบค่าวันที่ใน: |accessdate= (help)
  27. คนไทยในพม่า, หน้า 69-70
  28. ฐิรวุฒิ เสนาคำ. "ชาวไทยพลัดถิ่นในและจากมณฑลตะนาวศรีกับปัญหารัฐ-ชาติ". รัฐจากมุมมองของชีวิตประจำวัน 1, หน้า 164
  29. "ขี่จักรยาน...เยี่ยมคนไทยในเมียวดี". กรุงเทพธุรกิจ. 2 มีนาคม 2557. สืบค้นเมื่อ 11 ตุลาคม 2561. {{cite web}}: ตรวจสอบค่าวันที่ใน: |accessdate= (help)
  30. 30.0 30.1 30.2 30.3 สุรพงษ์ กองจันทึก (7 ธันวาคม 2559). "คนไทยพลัดถิ่นที่ห้วยส้าน : วิถีไทยในประเทศพม่า". ประชาไท. สืบค้นเมื่อ 11 ตุลาคม 2561. {{cite web}}: ตรวจสอบค่าวันที่ใน: |accessdate= (help)
  31. "ททท.ภูมิภาคภาคกลาง สำรวจเส้นทางท่องเที่ยวเชื่อมโยง". ขับรถเที่ยว. 22 เมษายน 2561. สืบค้นเมื่อ 13 ตุลาคม 2561. {{cite web}}: ตรวจสอบค่าวันที่ใน: |accessdate= (help)[ลิงก์เสีย]
  32. "Mon State | myanmarorphans.org". myanmarorphans.org. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2019-09-25. สืบค้นเมื่อ 2019-09-25.
  33. "โยเดียที่คิด(ไม่)ถึง Deleted scene". Magenta Film Studio. 8 กรกฎาคม 2560. สืบค้นเมื่อ 5 มิถุนายน 2563. {{cite web}}: ตรวจสอบค่าวันที่ใน: |accessdate= (help)
  34. "Mother of missionary schools: Ann Hasseltine Judson". The Myanmar Times (ภาษาอังกฤษ). 2019-06-21. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2019-07-12. สืบค้นเมื่อ 2019-09-25.
  35. 35.0 35.1 35.2 35.3 ฐิรวุฒิ เสนาคำ. "ชาวไทยพลัดถิ่นในและจากมณฑลตะนาวศรีกับปัญหารัฐ-ชาติ". รัฐจากมุมมองของชีวิตประจำวัน 1, หน้า 165
  36. บทที่ 2 พัฒนาการทางสังคมมุสลิมในจังหวัดสตูล, หน้า 25
  37. ประวัติศาสตร์ นอกตำรา (25 ธันวาคม 2563). "ชีวิต "คนเหนือ" คนไทยติดแผ่นดินในแดนพม่า". ยูทูบ. สืบค้นเมื่อ 21 กันยายน 2564. {{cite web}}: ตรวจสอบค่าวันที่ใน: |accessdate= (help)
  38. ฐิรวุฒิ เสนาคำ. "ชาวไทยพลัดถิ่นในและจากมณฑลตะนาวศรีกับปัญหารัฐ-ชาติ". รัฐจากมุมมองของชีวิตประจำวัน 1, หน้า 167
  39. ฐิรวุฒิ เสนาคำ. "ชาวไทยพลัดถิ่นในและจากมณฑลตะนาวศรีกับปัญหารัฐ-ชาติ". รัฐจากมุมมองของชีวิตประจำวัน 1, หน้า 169
  40. "เรื่องเล่าชีวิต ลุงบุญเสริม ไทยพลัดถิ่นสิงขร หนีสงคราม-พม่าไม่ยอมรับ ใช้เวลาหลายสิบปี กว่าจะได้เป็นคนไทย". ข่าวสด. 15 สิงหาคม 2561. สืบค้นเมื่อ 11 ตุลาคม 2561. {{cite web}}: ตรวจสอบค่าวันที่ใน: |accessdate= (help)
  41. ทรงชัย ทองปาน และรัชพล ไทยฤทธิ์ (กรกฎาคม-ธันวาคม 2561). "การปรับเปลี่ยนและการธำรงอัตลักษณ์ทางวัฒนธรรมของคนไทยพลัดถิ่นหมู่บ้านสิงขร ในเขตตะนาวศรี ประเทศพม่า". วารสารพัฒนศาสตร์ (1:2). หน้า 155
  42. ทรงชัย ทองปาน และรัชพล ไทยฤทธิ์ (กรกฎาคม-ธันวาคม 2561). "การปรับเปลี่ยนและการธำรงอัตลักษณ์ทางวัฒนธรรมของคนไทยพลัดถิ่นหมู่บ้านสิงขร ในเขตตะนาวศรี ประเทศพม่า". วารสารพัฒนศาสตร์ (1:2). หน้า 156
  43. ทรงชัย ทองปาน และรัชพล ไทยฤทธิ์ (กรกฎาคม-ธันวาคม 2561). "การปรับเปลี่ยนและการธำรงอัตลักษณ์ทางวัฒนธรรมของคนไทยพลัดถิ่นหมู่บ้านสิงขร ในเขตตะนาวศรี ประเทศพม่า". วารสารพัฒนศาสตร์ (1:2). หน้า 152
  44. "นักวิจัยเพชรบุรีระดมพลังช่วยเด็กไทย 'พลัดถิ่น' ลงพื้นที่เมืองตะนาวศรีเก็บข้อมูล-บริจาคของ". ไทยโพสต์. 3 กุมภาพันธ์ 2563. สืบค้นเมื่อ 10 มกราคม 2564. {{cite web}}: ตรวจสอบค่าวันที่ใน: |accessdate= (help)
  45. ฐิรวุฒิ เสนาคำ. "ชาวไทยพลัดถิ่นในและจากมณฑลตะนาวศรีกับปัญหารัฐ-ชาติ". รัฐจากมุมมองของชีวิตประจำวัน 1, หน้า 161-162
  46. 46.0 46.1 ศรีสุข อาชา (20 กุมภาพันธ์ 2556). "คนไทยพลัดถิ่นในเขตตะนาวศรีของพม่า". สำนักประชาสัมพันธ์เขต 3 เชียงใหม่. สืบค้นเมื่อ 11 ตุลาคม 2561. {{cite web}}: ตรวจสอบค่าวันที่ใน: |accessdate= (help)[ลิงก์เสีย]
  47. ทรงชัย ทองปาน และรัชพล ไทยฤทธิ์ (กรกฎาคม-ธันวาคม 2561). "การปรับเปลี่ยนและการธำรงอัตลักษณ์ทางวัฒนธรรมของคนไทยพลัดถิ่นหมู่บ้านสิงขร ในเขตตะนาวศรี ประเทศพม่า". วารสารพัฒนศาสตร์ (1:2). หน้า 159
  48. "แกะรอยเส้นทางการค้าโบราณ 'สิงขร-ตะนาวศรี-มะริด'". มติชนออนไลน์. 14 กันยายน 2559. สืบค้นเมื่อ 13 ตุลาคม 2561. {{cite web}}: ตรวจสอบค่าวันที่ใน: |accessdate= (help)
  49. ทรงชัย ทองปาน และรัชพล ไทยฤทธิ์ (กรกฎาคม-ธันวาคม 2561). "การปรับเปลี่ยนและการธำรงอัตลักษณ์ทางวัฒนธรรมของคนไทยพลัดถิ่นหมู่บ้านสิงขร ในเขตตะนาวศรี ประเทศพม่า". วารสารพัฒนศาสตร์ (1:2). หน้า 153
  50. วจนา วรรลยางกูร (8 กันยายน 2560). "กฎหมายแรงงานต่างด้าว เคราะห์ซ้ำ 'คนไทยพลัดถิ่น'". มติชนออนไลน์. สืบค้นเมื่อ 13 ตุลาคม 2561. {{cite web}}: ตรวจสอบค่าวันที่ใน: |accessdate= (help)
  51. ทรงชัย ทองปาน และรัชพล ไทยฤทธิ์ (กรกฎาคม-ธันวาคม 2561). "การปรับเปลี่ยนและการธำรงอัตลักษณ์ทางวัฒนธรรมของคนไทยพลัดถิ่นหมู่บ้านสิงขร ในเขตตะนาวศรี ประเทศพม่า". วารสารพัฒนศาสตร์ (1:2). หน้า 163
  52. ทรงชัย ทองปาน และรัชพล ไทยฤทธิ์ (กรกฎาคม-ธันวาคม 2561). "การปรับเปลี่ยนและการธำรงอัตลักษณ์ทางวัฒนธรรมของคนไทยพลัดถิ่นหมู่บ้านสิงขร ในเขตตะนาวศรี ประเทศพม่า". วารสารพัฒนศาสตร์ (1:2). หน้า 164
บรรณานุกรม
  • บุญช่วย ศรีสวัสดิ์. คนไทยในพม่า. พระนคร : รามินทร์, 2503. 615 หน้า.
  • มอนซาติโน, ไมเคิล เจ. ไทยใต้ มลายูเหนือ : ปฏิสัมพันธ์ทางชาติพันธุ์บนคาบสมุทรแห่งความหลากหลาย. นครศรีธรรมราช : ศูนย์หลักสูตรอาเซียนศึกษา สำนักวิชาศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์, 2560. 416 หน้า. ISBN 978-974-7557-60-2
  • รัฐจากมุมมองของชีวิตประจำวัน 1. กรุงเทพฯ : ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร (องค์กรมหาชน), 2551. 232 หน้า. ISBN 978-974-05-6898-8