อาหม
ชาวอาหมในพิธีกรรมตามลัทธิฟ้าหลวง | |
ภูมิภาคที่มีประชากรอย่างมีนัยสำคัญ | |
ภาษา | |
ภาษาอัสสัม อดีตใช้ ภาษาอาหม | |
ศาสนา | |
ลัทธิฟ้าหลวงควบคู่กับฮินดู, ศาสนาพุทธ | |
กลุ่มชาติพันธุ์ที่เกี่ยวข้อง | |
ไทใหญ่, อ่ายตน, คำตี่, คำยัง |
อาหม (อัสสัม: আহোম; อาโหมะ) หรือ ไทอาหม กลุ่มชาติพันธุ์กลุ่มหนึ่งซึ่งอาศัยในรัฐอัสสัมของประเทศอินเดีย เดิมใช้ภาษาอาหม ในกลุ่มภาษาย่อยไท-พายัพ ซึงเป็นภาษาในกลุ่มภาษากัม-ไท ตระกูลภาษาขร้า-ไท แต่ชาวอาหมในปัจจุบันนั้นหันไปใช้ภาษาตระกูลอินโด-ยุโรเปียนแล้ว[1] จนเมื่อปลายคริสต์ศตวรรษที่ 20 จนถึงคริสต์ศตวรรษที่ 21 ชาวอาหมได้เกิดความสนใจในวัฒนธรรมดั้งเดิมของตน จึงเกิดความพยายามที่จะศึกษาและฟื้นฟูวัฒนธรรมดั้งเดิมมากยิ่งขึ้น[2]
ชาวอาหมในปัจจุบันมีจำนวนมากกว่าชาวไทกลุ่มอื่นที่อพยพมายังอัสสัม ซึ่งในปี ค.ศ. 1990 ชาวอาหมมีจำนวนประชากรราว 2 ล้านคนในรัฐอัสสัม และรัฐอรุณาจัลประเทศ และมีชาวอัสสัมราว 8 ล้านคนที่อ้างว่ามีบรรพบุรุษหรือสืบเชื้อสายมาจากชาวอาหม[1]
ประวัติ
[แก้]ราว พ.ศ. 1763 ใกล้เคียงกับสมัยที่ตั้งอาณาจักรสุโขทัย ชาวไทพวกหนึ่ง ชื่อว่า "อาหม" ได้อพยพเข้ามาในดินแดนนี้ โดยข้ามภูเขาปาดไก่ทางเหนือของพม่า ไทพวกนี้มาจากอาณาจักรไทโบราณอาณาจักรหนึ่ง เรียกว่า "ปง" คือโมกอง (เมืองกอง) ในพม่าทางเหนือ และเริ่มประวัติศาสตร์อาหมเมื่อ พ.ศ. 1796 เมื่อเสือก่าฟ้า ปฐมบรมราชวงศ์อาหมได้วางรากฐานในอาณาจักรของพระองค์ ช่วงแรกของชาวอาหมนั้นอพยพมาตามตำนานกล่าวไว้ว่ามีกษัตริย์ 1 พระองค์ ขุนนาง 8 คน ช้าง 2 เชือก และม้าอีก 300 ตัว ประชากร 9,000 คน รวมทั้งสตรี และเด็ก [3]
อาหมเป็นไทพวกเดียวกับไทใหญ่ เมื่อแรกเข้าไป ได้ตั้งภูมิลำเนาลงที่ นามรูป และได้พบชนเจ้าของถิ่นสองข้างข้างหนึ่งคือ ชุติยะซึ่งครองทางตะวันออกของแม่น้ำสุพรรณสิริ อีกข้างหนึ่งมาจากโมราน ยึดครองพื้นที่แม่น้ำทิขุ และแม่น้ำทิหิง พวกอาหมต้องพิพาทกับพวกโมราน และราว พ.ศ. 1779 อาหมจึงตั้งเมืองหลวงที่อภัยปุระ ต่อมาอีก 20 ปีก็ขยายตัวออกไปตั้งเมืองใหม่ชื่อ เมืองเจ้รายดอย เป็นเมืองหลวงแรกแห่งอาณาจักรอาหม เมื่อย้ายเมืองหลวงไปที่อื่น ก็ยังให้ความสำคัญแก่เมืองเจ้รายดอย พระศพของกษัตริย์จะถูกฝังที่เมืองนี้ เวลาอาหมรบชนะ ก็จะตัดหัวของข้าศึกมาฝังที่เจ้รายดอย
พงศาวดาร
[แก้]ชาวไทอาหมเป็นพวกที่รู้หนังสือ จึงมีตำนานพงศาวดารเป็นของตนเอง ตำนานเล่มนี้เรียกว่าบุราณจี (Ahom Buranji อ่านว่า อาหม บุราณจี ) เป็นเอกสารที่ช่วยให้ศึกษาประวัติศาสตร์ของไทอาหมได้ดี และส่วนใหญ่บุราณจีนั้นจะเขียนด้วยภาษา และอักษรอาหม ซึ่งคาดว่าชาวอาหมอ่านออกตั้งแต่ 200-400 ปีที่แล้ว ในพงศาวดารนี้ก็จะมีเรื่องเกี่ยวกับนิยายการสร้างโลก ประวัติต้นตระกูลกษัตริย์อาหม ประเพณี และวัฒนธรรม รวมไปถึงพระราชประวัติของกษัตริย์อาหมในแต่ละพระองค์
วัฒนธรรม ความเชื่อ ศาสนา
[แก้]อาหมเป็นชาวไทที่ไม่ได้รับศาสนาพุทธ เมื่อเสือก่าฟ้านำชาวไทจากเมืองเมาหลวงในรัฐฉานจำนวน 90,000 คน ข้ามช่องเขาปาดไก่มาตั้งอาณาจักรในลุ่มแม่น้ำพรหมบุตรในปี ค.ศ. 1228 และตลอดเวลากว่า 600 ปีที่เป็นเอกราช สังคมอาหมเองก็ไม่ได้รับความเชื่อจากศาสนาพุทธเลย[4][5]
ผีของชาวอาหมเกิดจากธรรมชาติและบรรพบุรุษ โดยอาหมบุราณจีภาคสวรรค์ ได้กล่าวว่า ฟ้า (หรือ ฟ้าตือจึ้ง) เป็นผู้สร้างสรรพสิ่ง เป็นผู้สร้างเลงดอน (หรือ ฟ้าเหนือหัว) ผู้ครองเมืองฟ้า เลงดอนได้ส่งขุนหลวงขุนหลายผู้เป็นหลานลงมาครองเมืองมนุษย์พร้อมกับชาวฟ้าจำนวนหนึ่ง ขุนหลวงขุนหลายจึงเป็นบรรพบุรุษของเสือก่าฟ้า ส่วนชาวฟ้าที่ลงมาด้วยก็เป็นบรรพบุรุษของชาวไท เมื่อขุนหลวงขุนหลายลงมาจากฟ้า ครั้งนั้นบนพื้นดินเองก็มีคนชาติอื่นอยู่แล้ว[4] บนเมืองฟ้าหรือที่ภาษาอาหมเรียกว่า เมืองผี มีเทพหรือผีต่างๆ หลายองค์ ตามที่ปรากฏในอาหมบุราณจี เช่น ฟ้าสางดิน, แสงกำฟ้า (เทพแห่งสายฟ้า), งี่เงาคำ (หรือ ฟ้าบดร่มสางคำ), เจ้าสายฝน, นางแสงดาว, ย่าแสงฟ้า (เทพแห่งปัญญา), แลงแสง, ลาวขรี (เทพแห่งการก่อสร้าง), ขุนเดือน และขุนวัน เป็นต้น[4] ซึ่งจะเห็นได้ว่าผีเหล่านี้เป็นธรรมชาติ คือ ฟ้า ดิน แสง เดือน ตะวัน เป็นต้น นอกจากนี้ยังปรากฏชื่อผีจากธรรมชาติอีกหลายองค์ เช่น สายลม, ผีไฟ, ผีตามทุ่ง, นางอ้ายดอกคำแดง, ผีเถื่อน (ภาษาอาหมเรียก ป่า ว่า เถื่อนหรือ ดง)[6], ผีขุงชั้นหมอก, ผีขุงชั้นขุงเหมือย, ผีดอย ฯลฯ[7]
นอกจากนี้ชาวอาหมยังนับถือผีบรรพบุรุษด้วย โดยบุราณจีภาคสวรรค์ได้กล่าวถึง แสงก่อฟ้า กษัตริย์พระองค์หนึ่ง เมื่อสวรรคตไปแล้วกลายเป็นผีเรือนคอยดูแลทุกข์สุขของคนในครอบครัว ความว่า "แสงก่อฟ้า...ตายเป็นด้ำผีเรือนช่วยคุ้ม"[8][9] ส่วนอาหมบุราณจีภาคพื้นดินได้กล่าวถึง ผีด้ำ ซึ่งตามพจนานุกรมอาหมแปลว่า คนที่ตายไปแล้ว[10] และคำว่า ด้ำเรือน[11] มีความหมายว่า บรรพบุรุษที่ตายไปแล้วกลายเป็นผีเฝ้าเรือน โดยในอาหมบุราณจีภาคพื้นดิน ได้กล่าวตอนหนึ่งว่า "เจ้าฟ้าจึงมาเมืองมาตักแขก (เคารพบูชา) ผีด้ำที่ว่านี้"[12] และกล่าวถึงกษัตริย์อาหมประกอบพิธีเมด้ำเมผี[6] ชาวอาหมถือว่าบรรพบุรุษที่เหนือเราไปชั้นแรกๆ หรือผู้ที่ตายไปไม่กี่ชั่วอายุคนจะคอยปกป้องครอบครัวญาติพี่น้องที่ยังอยู่ แต่หากตายไปนานมากแล้วก็จะขึ้นไปยังสวรรค์ชั้นฟ้าไม่ลงมาช่วยเราอีก[6] โดยความเชื่อเรื่องผีบรรพบุรุษที่คอบปกป้องดูแลลูกหลานยังมีอยู่ในสังคมไทยในปัจจุบัน ที่มีหิ้งบูชาในเรือน โดยบนหิ้งนั้นถือเป็นที่สิงสถิตของผีบรรพบุรุษหลายซับหลายซ้อน หรือหลายชั่วอายุคนจนนับไม่ได้[6]
ชาวอาหมไม่เคยสูญเสียการบูชาบรรพบุรุษ เพียงแต่หันไปนับถือศาสนาพราหมณ์-ฮินดูมากขึ้นเท่านั้น ด้วยเหตุสูญเสียสถานะในการปกครองไปจึงกลายเป็นพวกนอกวรรณะ ปัญญาชนชาวอาหมที่เป็นผู้นำในการเลิกนับถือศาสนาฮินดูได้ทำให้พิธีการบูชาบรรพบุรุษเด่นชัดขึ้น พร้อมทั้งมีการจัดพิธีไหว้ผีเป็นประจำ โดยมีการตั้งหลักไฟ ซึ่งเป็นเสาไม้จุดรายรอบปะรำเล็กๆ ไหว้บรรพบุรุษ รวมไปถึงพิธีบูชาบรรพบุรุษที่เรียกว่า เมด้ำเมผี ครั้งใหญ่ที่สุดในเมืองรังคปุระ[13] แต่ชาวอาหมฮินดูบางส่วนอย่างเช่นในหมู่บ้านบอราโจโหกีจึงมีแนวโน้มหันไปนับถือศาสนาพุทธกันมากขึ้นเพื่อลดปัญหาเกี่ยวกับวรรณะ โดยมีนายทนุราม โกกอย เป็นชาวไทอาหมคนแรกที่เปลี่ยนมานับถือศาสนาพุทธ[14] โดยปฏิบัติศาสนกิจกันที่วัดทิสังปานี ในหมู่บ้านทิสังปานี ของชาวไทคำยัง[14]
ปัจจุบันชาวอาหมได้มีความพยายามที่จะฟื้นฟูวัฒนธรรมของตนเองขึ้นใหม่ มีความต้องการผู้เชี่ยวชาญทางภาษาชาวไทยให้ความช่วยเหลือทางด้านการฟื้นฟูภาษา เพราะในบรรดาเผ่าไททั้งหลายมีไทยสยามที่มีเสถียรภาพทุกด้าน[15] ทั้งยังมีการเสนอว่าหากใช้ภาษาไทยเป็นแกนกลางในการประสานงานคนไททุกเผ่าเข้าด้วยกัน วัฒนธรรมไทก็จะเป็นเอกภาพมากขึ้น ทั้งนี้อาหมไม่ได้ต้องการความบริสุทธิ์ของภาษา แต่ต้องการให้พัฒนาภาษาไทที่พวกเขาจะกลับมาใช้ในชีวิตประจำวัน[15]
มีการสร้างสัญลักษณ์ทางวัฒนธรรมของชาวอาหมคือ งีเงาคำ เทพเจ้าของชาวอาหม[16] มีการกลับมาใช้ศักราชเสือก่าฟ้า[16] การใช้คำว่า เจ้า และ นาง นำหน้านาม[16] การตั้งอนุสาวรีย์หล้าเจ็ด ซึ่งเป็นวีรบุรุษชาวอาหม[16] และบางบ้านก็มีการประดับพระบรมฉายาลักษณ์ของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวและพระบรมวงศานุวงศ์ของไทยไว้ด้วย[16] แต่การฟื้นฟูวัฒนธรรมต้องใช้เวลานาน เนื่องจากอัสสัมเป็นดินแดนปิด และรัฐบาลกลางของอินเดียก็ไม่อยากให้อัสสัมติดต่อกับต่างประเทศโดยเฉพาะประเทศไทย[17] เมื่อครั้งที่สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เสด็จฯ เยือนประเทศอินเดีย อินเดียก็มิได้จัดให้พระองค์เสด็จแวะเยือนชาวไทในอัสสัม[17] นอกจากนี้ชาวต่างประเทศที่จะเดินทางเข้าไปอัสสัมจะต้องขอใบอนุญาตพิเศษจากรัฐบาลกลางของอินเดียเสียก่อน[17] ถือเป็นอุปสรรคต่อการฟื้นฟูวัฒนธรรมอาหมในปัจจุบัน
ประเพณี
[แก้]ก่อนได้รับอิทธิพลจากพราหมณ์-ฮินดู ชาวอาหมนับถือผี พิธีกรรมมักปรากฏให้เห็นถึงการบูชาผี, ผีธรรมชาติ และผีบรรพบุรุษ เพราะชาวอาหมเชื่อว่าผีสามารถดลบรรดาลให้ชีวิตเป็นอย่างไรก็ได้ ในภาษาอาหมจะเรียกการบูชาผีว่า เมด้ำเมผี, แขกผี, นอกผี, ไหว้ผีไหว้สาง เป็นต้น โดยในอาหมบุราณจีได้ปรากฏเรื่องเกี่ยวกับผี ในรัชสมัยของเสือเปิงเมืองฟ้า (ครองราชย์ 1663-1669) ที่เสียเมืองเจ้หุงแก่จักรวรรดิโมกุล ว่าเป็นเพราะ "ผีสางให้เป็นดังนี้กอย"[18] โดยการบูชาผีจะมีในทุกพิธีที่สำคัญของชาวอาหมอย่างพิธีราชาภิเษก (เฮ็ดเจ้า หรือ เฮ็ดขุนนั่งเมือง), พิธีแต่งงาน (ปลงสาวปลงชู้), ปีที่ดาวให้โทษต่อเมือง (หลักนีค่ำเมือง) หรือเวลาเจ็บไข้ได้ป่วย (ล้มไข้ หรือ หลอนหนาว)[19] โดยในพิธีเรียกขวัญเจ้าฟ้าวันราชาภิเษกทั้งหมดจะเป็นการเรียกผีเฉพาะผีชั้นฟ้าให้ช่วยในการปกครองบ้านเมืองของเจ้าฟ้า เจ้าฟ้าจะอ้างตนเป็นหลานของผีชั้นฟ้า[19]
สิ่งของที่ใช้ในการบูชาผี ได้แก่ ข้าว ผัก ดอกไม้ อ้อย หมากพลู ไข่ ไก่ เป็ด หมู และควาย เป็นต้น สำหรับสิ่งมีชีวิตมีการฆ่าภายในพิธีนั้นเลยในบางครั้ง[20][21] อย่างเช่นในพิธีราชาภิเษกจะมีการฆ่าควาย[22][23] ส่วนการฆ่าคนสังเวยผีปรากฏในอาหมบุราณจีเพียงครั้งเดียวในรัชสมัยของเสือปาดฟ้า (ครองราชย์ ค.ศ. 1681-1696) กล่าวว่า "สองขานี้ให้ผีหลวง" และอีกตอนหนึ่งว่า "ชื่อมันเลบา ผู้ 1 หัวปาก (หัวร้อย หรือ นายร้อย)... ผู้ 1 พ้อยเสาแก่โล ผู้ 1 นี้สามตัวว่าจำให้ที่ผีใส่เหล็กขื่อแขวนไว้"[24][25] ขณะที่กรุงศรีอยุธยาเองก็มีการสังเวยคนเช่นกัน ด้วยการใส่หลุมก่อนลงเสาสร้างเมือง[26][27]
การฝังคนตายเป็นประเพณีของชาวอาหม ในอาหมบุราณจีมีการกล่าวถึงการฝังศพ เนื่องจากในรัชสมัยของเสือใหญ่ฟ้าคำเมือง (ครองราชย์ ค.ศ. 1769-1780) ได้เกิดปัญหาเกี่ยวกับพิธีปลงพระศพ ว่าจะฝังหรือเผาพระศพกษัตริ์องค์ก่อน เนื่องจากอิทธิพลของศาสนาฮินดูแพร่เข้ามา ทำให้เกิดเป็นประเพณีใหม่ขึ้น จากคริสต์ศตวรรษที่ 18 หมอหลวงของลัทธิฟ้าหลวงของอาหม 2 คน จึง "นั่งต่างผีเล่ากอย แย้มเมื่อแก่นไข่ฟ้า ลงมาชั่วปู่ชั่วพ่อ ปู่เหลนปู่เถ้า ร่างตายฝังไว้"[28] โดยชิฮาบุดดีน ทาลิส (Shihabuddin Talish) ได้ระบุว่า ศพของเจ้าฟ้าและคนธรรมดา จะถูกฝังและใส่สิ่งของโดยเอาหัวหันไปทางทิศตะวันออก แต่สำหรับเจ้าฟ้าจะมีการฝังภรรยาและคนใช้ไปด้วย พร้อมกับตะเกียงและน้ำมันปริมาณมากและคนถือตะเกียง และเขายังอ้างต่อไปว่า พวกโมกุลที่ขุดที่ฝังพระศพกษัตริย์อาหม 10 แห่ง ค้นพบสมบัติมากมาย[29] โดยชาวอาหมจะเรียกสถานที่ฝังศพว่า ป่าเห้ว[28][30] หรือ สวนผี ปัจจุบันพวกที่สืบเชื้อสายมาจากชั้นพระและตระกูลบางตระกูลยังคงมีการฝังคนตายอยู่[31][32]
ภาษา
[แก้]ภาษาอาหมถือเป็นภาษาไทยุคเก่า โดย อ.วิไลวรรณ ขนิษฐานันท์ ได้แสดงความเห็นเกี่ยวกับภาษาอาหมและภาษาในจารึกสุโขทัยที่คล้ายคลึงกันมาก และมากกว่าภาษาถิ่นไทในปัจจุบัน[33] ในภาษาอาหมจะไม่มีการใช้คำราชาศัพท์ คำที่ใช้พูดอยู่ก็สามารถกับกษัตริย์หรือเจ้าได้ การแสดงออกถึงความเป็นเจ้านายทางภาษาจึงไม่มีมากนัก[34]
เมื่อเสือก่าฟ้าได้นำผู้คนอพยพเข้ามายังอัสสัม ก็พบชาวไทเข้ามาตั้งถิ่นฐานอยู่แล้ว โดยในอาหมบุราณจีได้เรียกคนกลุ่มดังกล่าวว่า ผู้เขาอันเก่า[35] และในรัชกาลของเสือก่าฟ้าก็ยังมีการแลกเปลี่ยนทูตระหว่างอาหมกับเมืองเมา จนในรัชสมัยของเสือดังฟ้าทรงปรารภในปี ค.ศ. 1382 ว่านับเวลา 8 ปีแล้วที่ไม่ได้มีสัมพันธ์ทางการทูตกับเมืองเมา ซึ่งแสดงให้เห็นถึงการติดต่อกันระหว่างอาหมกับรัฐไทกลุ่มอื่นตลอดมา แม้แต่ในรัชสมัยของเสือห่มเมืองและเสือคำฟ้า ก็ทรงอภิเษกกับสตรีชาวเมืองกอง ซึ่งเป็นเหตุให้มีชาวไทอพยพเข้ามายังเมืองนุนสุนคำมากขึ้น[35] แต่หลังปี ค.ศ. 1638 เมืองกองได้ตกเป็นเมืองขึ้นของพม่า การติดต่อจากยุติลง ประกอบการเกิดสงครามกลางเมืองของอาหม รวมทั้งการสูญเสียอำนาจของนักบวชเทวไทกับราชสำนัก ทำให้ภาษาอาหมเริ่มถูกละเลย[35] แม้จะมีชาวไทกลุ่มอื่นที่นำภาษาไท และศาสนาพุทธเข้าไป แต่ชาวอาหมก็มิได้ให้ความสนใจ[35] โดยในรัชกาลของเสือใหญ่ฟ้างำเมือง ได้มีการทะเลาะวิวาทระหว่างเทวไทอาหมกับนักบวชฮินดู เกี่ยวกับการปลงพระศพอดีตกษัตริย์ เนื่องจากประเพณีอาหมเดิมให้มีการฝัง กับประเพณีฮินดูที่ให้มีการเผาพระศพ[36]
เซอร์จอร์จ อับราฮัม กรีเออร์สัน (Sir George Abraham Grierson) ได้ระบุว่าภาษาอัสสัมเริ่มเข้ามามีอิทธิพลและเข้ามาแทนที่ภาษาอาหมประมาณต้นศตวรรษที่ 18 จาก ค.ศ. 1720 เป็นต้นมา โดยข้าราชการฮินดูที่มีตำแหน่งทางฮินดูไม่จำเป็นต้องเรียนภาษาอาหม แต่ภาษาอาหมยังถูกใช้เป็นภาษาพูดจนถึงปลายศตวรรษที่ 18 และชนชั้นพระชาวอาหมหรือเทวไท ยังคงใช้พูดระหว่างกันอีก 50 ปีต่อมา หรือจนถึงประมาณ ค.ศ. 1850[37] ส่วน S.K. Bhuyan ได้เขียนไว้เมื่อปี ค.ศ. 1930 ได้กล่าวถึงว่าในขณะนั้นมีบัณฑิตนามว่า ราย สาหิบ โคลัป จันทรา พารัว (Rai Sahib Golap Chandra Barua) เพียงคนเดียวที่รู้ภาษาอาหมจริง และไม่มีผู้ที่จะสืบความรู้นั้นได้ในระยะใกล้นั้น โดย Bhuyan ได้พยากรณ์ไว้ว่าอย่างช้าอีก 20 ปีข้างหน้า (คือในปี ค.ศ. 1950) จะไม่มีคนรู้ภาษาอาหมเลย และภาษาของผู้ปกครองอัสสัมจะกลายเป็นภาษาลึกลับที่ไม่มีนักโบราณคดีและนักภาษาผู้ใดจะไขความหมายได้[38]
ปัจจุบันแม้ชาวอาหมจะใช้ภาษาอัสสัมในการพูดและเขียนไปแล้ว แต่เหล่านักบวชและชาวอาหมทั่วไปยังคงใช้ภาษาอาหมในการสวดในพิธีกรรมทางศาสนาแบบดั้งเดิมต่าง ๆ มาจนถึงทุกวันนี้[36]ซึ่งปัจจุบันมีเทวไทที่รู้ภาษาอาหมในพิธีกรรมทางศาสนาประมาณ 100-200 คน[39]
การฟื้นฟูภาษา
[แก้]มีการฟื้นฟูภาษาอาหมโดยขบวนการฟื้นฟูภาษาวัฒนธรรมอาหม โดยมีการตั้งโรงเรียนภาษาไทขึ้นที่หมู่บ้านปัตซากุ เมืองศิวสาคร เมื่อ ดร. บรรจบ พันธุเมธา นักนิรุกติศาสตร์ชาวไทย ได้เดินทางไปยังหมู่บ้านดังกล่าวในปี ค.ศ. 1955 โรงเรียนดังกล่าวก็ได้ล้มเลิกการสอนไปแล้ว เนื่องจากขาดผู้สอน[40] ในช่วงที่ผ่านมาชนชั้นพระโดยเฉพาะท่านทัมพารุธาร เทวไธ ผู้การ (Dambarudhar Deodhai Phukan, 1912-1993) หมออาวุโสแห่งหมู่บ้านปัตซากุได้เสนอให้ชาวอาหมก่อตั้งสมาคมฟื้นฟูวัฒนธรรมไทขึ้นมา ชื่อ วันออกพับลิกเมืองไท (Ban Ok Pop Lik Mioung Tai) ที่เมืองเธมชี (Dhemaji) เมื่อวันที่ 8 เมษายน ค.ศ. 1981[41][42] โดยสมาคมได้รื้อฟื้นโรงเรียนภาษาไทที่บ้านปัตซากุ และอีก 350 หมู่บ้านทั่วรัฐอัสสัม มีการผลักดันให้รัฐอัสสัมเริ่มให้การศึกษาภาษาไทระดับประถมศึกษา โดยมีการจ้างครูผู้สอนภาษาไทจำนวน 200 คน เริ่มในปี ค.ศ. 1993 ที่เมืองเธมชี โดยมีปัญญาชนอาหมคนหนึ่งชื่อ เสือดอยฟ้า เถ้าเมือง (Nagen Bargohain) ได้รวบรวมทำตำราภาษาอาหมเล่มหนึ่งเพื่อใช้เป็นบทเรียน[43] โดยสมาคมดังกล่าวได้ออกสิ่งพิมพ์และหนังสือทางวัฒนธรรมวิชาการอย่างสม่ำเสมอ[43] แต่จุดหมายระยะยาวขององค์กรคือการจัดตั้งรัฐอาหม หรือเมืองนุนสุนคำขึ้นใหม่โดยยังเป็นส่วนหนึ่งของประเทศอินเดีย รวมทั้งมีความสัมพันธ์ทางวัฒนธรรมที่ใกล้ชิดกับประเทศไทย, รัฐฉานในพม่า และเขตปกครองตนเองเต๋อหงของจีน[43]
นอกจากนี้ยังมีการจัดตั้งสมาคมวรรณกรรมไทตะวันออก (Eastern Tai Literary Association) ที่เมืองกูวาฮาติ โดยสมคมมุ่งมั่นปฏิบัติให้พัฒนาการเรียน เขียนอ่านภาษาอาหม พร้อมกันนี้ให้สนับสนุนให้ค้นคว้าศึกษาเอกสารโบราณของชาวอาหมอย่างจริงจัง การฟื้นฟูภาษาอาหมนั้นอาศัยสัทวิทยาของภาษาพี่น้อง เช่น ภาษาอ่ายตน และภาษาพ่าเก โดยภาษาดังกล่าวจะถูกเรียกว่า ภาษาไทในอัสสัม เนื่องจากประกอบไปด้วยคำไททุกกลุ่มในรัฐอัสสัม หากการฟื้นฟูดังกล่าวได้ผลภาษาเขียนในรัฐอัสสัมจะใช้อักษรอาหมเป็นหลักแทนอักษรไทอื่นๆ ในรัฐอัสสัม[44] โดยอาศัยพื้นฐานภาษาอ่ายตนในรัฐอัสสัม เนื่องจากใกล้เคียงกับภาษาอาหมมากที่สุด ชาวอาหมอาจอาศัยชาวอ่ายตนในการรื้อฟื้นภาษา[45]
คำบรรยายเกี่ยวกับชาวอาหม
[แก้]บุคลิกลักษณะของชาวอาหมนั้น ตามพงศาวดารของยุคราชวงศ์โมกุล แห่งอินเดียในยุคนั้น โดยฟาติยะ อิบริยะ ซึ่งติดตามไปกับกองทัพอิสลามซึ่งรบกับอาหม เมื่อปี พ.ศ. 2200 ได้บรรยายลักษณะของชาวอาหมไว้ว่า[46]
"ชาวอาหมมีรูปร่างล่ำสัน ชอบทะเลาะวิวาท กระหายเลือด ปราศจากความเมตตา ชั่วช้า ทรยศ ในเรื่องความโกหกหลอกลวง ไม่มีใครใต้ดวงอาทิตย์จะสู้พวกอาหมได้ สตรีอาหมมีรูปร่างเล็กแบบบาง ผมยาว ผิวละเอียดอ่อนเกลี้ยงเกลา มือเท้าเล็กเรียว ดูไกล ๆ สวย แต่ช่วงขาไม่ได้ส่วนสัด ถ้าดูใกล้ยิ่งน่าเกลียด ชาวอาหมโกนศีรษะ โกนหนวดเครา ภาษาที่พูดคือภาษาพื้นเมืองไทใหญ่"
ผู้เขียนตำนานอีกคนหนึ่งนามว่า อาลัมกิรนามะ ก็เขียนไว้ว่า[47]
"ชาวอาหมไม่มีศีลธรรม ไม่มีศาสนาประจำชาติ ทำอะไรตามใจตนเองโดยไม่มีกฎเกณฑ์ เห็นว่าการกระทำของตนถูกต้องเสมอ ลักษณะท่าทางของชาวอาหมส่อให้เห็นพลกำลัง และความทรหดอดทน ซ่อนกิริยา และอารมณ์อันโหดร้ายทารุณเอาไว้ข้างใน ชาวอาหมอยู่เหนือชนชาติอื่นๆในด้านกำลังกาย และความทนทาน เป็นชาติขยันขันแข็ง ชอบสงคราม อาฆาตจองเวร ตลบแตลง และหลอกลวง ปราศจากคุณธรรม ความเมตตากรุณา ความเป็นมิตร ความสุภาพ เมล็ดพืชแห่งความอ่อนโยน และมนุษยธรรมไม่ได้หว่านลงในดินแดนของชนชาตินี้เลย"
ชาวอาหมที่มีชื่อเสียง
[แก้]- โปรบิน โกกอย (Probin Gogoi) รัฐมนตรีรัฐบาลแห่งรัฐอัสสัม
- โจเกนดรา เอ็น พูคาน (Jogendra N. Phukan) นักวิชาการอิสระ และอาจารย์มหาวิทยาลัยกูวาฮาติ
- บุษบา โกกอย (Busba Gogoi) นักวิชาการอิสระ และเลขาธิการสมาคม Ban OK Pub Lik Mioung Tai.
- นาเกน ฮาซาริกา (Naken Harzarika) นักวิชาการอิสระ
- ทนุราม โกกอย ชาวอาหมพุทธคนแรก และผู้นำชาวพุทธอัสสัม
ดูเพิ่ม
[แก้]อ้างอิง
[แก้]- ↑ 1.0 1.1 http://www.ethnologue.com/show_language.asp?code=aho
- ↑ Sikhamoni Gohain Boruah & Ranjit Konwar, The Tai Ahom of India and a Study of Their Present Status Hiteswar Saikia College and Sri Ranjit Konwar, Assam Forest Department
- ↑ สารนาถ. เยี่ยมไทอาหมสายเลือดของเรา. หน้า 125
- ↑ 4.0 4.1 4.2 การศึกษาประวัติศาสตร์ไทอาหม, หน้า 37
- ↑ Sir Edward Gait, A History of Assam.
- ↑ 6.0 6.1 6.2 6.3 การศึกษาประวัติศาสตร์ไทอาหม, หน้า 38
- ↑ J.N. Phukan, "The Inventory of Ahom Deities and spirits : An Aspect of Ancient Tai Belief"
- ↑ อาหมบุราณจี, หน้า 2 ข้อ 7
- ↑ Padmeswar Gogoi, Tai-Ahom Religion and Costoms (Gauhati:Publication Board 1976), p. 4
- ↑ Ahom-Assam-English Dictionary, p. 318
- ↑ อาหมบุราณจี, หน้า 31 ข้อ 4
- ↑ อาหมบุราณจี, หน้า 86 ข้อ 69
- ↑ การศึกษาประวัติศาสตร์ไทอาหม, หน้า 74
- ↑ 14.0 14.1 ประวัติศาสตร์ชนชาติไท, หน้า 108
- ↑ 15.0 15.1 การศึกษาประวัติศาสตร์ไทอาหม, หน้า 72
- ↑ 16.0 16.1 16.2 16.3 16.4 การศึกษาประวัติศาสตร์ไทอาหม, หน้า 73
- ↑ 17.0 17.1 17.2 การศึกษาประวัติศาสตร์ไทอาหม, หน้า 75
- ↑ อาหมบุราณจี, หน้า 189-190 ข้อ 173
- ↑ 19.0 19.1 การศึกษาประวัติศาสตร์ไทอาหม, หน้า 39
- ↑ อาหมบุราณจี, หน้า 375 ข้อ 307
- ↑ Indira Barua, Social Relations in an Ahom Village, p 92
- ↑ อาหมบุราณจี, หน้า 336 ข้อ 319
- ↑ J.N. Phukan, "Francis Buchanan's Description of the Ahom Coronation : Reconsidered," Krishna Kanta Hangui Felicitation Volume, August 1983
- ↑ อาหมบุราณจี, หน้า 271-271 ข้อ 250
- ↑ Sir Edward Gait, A History of Assam, p 174
- ↑ B.J. Terwiel, "The Tai of Assam : Sacrifices and Time Reckoning", Southeast Asian Review, Vol. VI, No. 1-2, January-December, 1981, p 71
- ↑ B.J. Terwiel, "The Origin and meaning of the Thai "City Pillar", Journal of Siam Society, Vol. 66 p 2, 1978, pp. 159-171
- ↑ 28.0 28.1 อาหมบุราณจี, หน้า 325 ข้อ 107
- ↑ Judunath Sarkar, "Assam and the Ahom in 1660 A.D.". Journal of the Bihar and Orissa Research Society. Vol. 1, 1915, pp 179-195
- ↑ อาหมบุราณจี, หน้า 326 ข้อ 308
- ↑ Padmeswar Gogoi, Tai-Ahom Religion and Costoms. Gauhati:Publication Board, 1976. p 88
- ↑ เสฐียรโกเศศ. ประเพณีเนื่องในการเกิดและประเพณีเนื่องในการตาย. กรุงเทพฯ:ไทยวัฒนาพานิช, 2513, หน้า 28
- ↑ วิไลวรรณ ขนิษฐานันท์. ภาษาเชิงประวัติ:วิวัฒนาการภาษาไทยและภาษาอังกฤษ. สำนักพิมพ์มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์, 2526, หน้า 213-229
- ↑ วิไลวรรณ ขนิษฐานันท์. การศึกษาภาษาไทอาหมตามแนวโครงสร้าง. เสนอในงานสัมนา "ล้านนาคดีศึกษา:ประวัติศาสตร์และโบราณคดี", มกราคม 2538.
- ↑ 35.0 35.1 35.2 35.3 การศึกษาประวัติศาสตร์ไทอาหม, หน้า 105
- ↑ 36.0 36.1 การศึกษาประวัติศาสตร์ไทอาหม, หน้า 106
- ↑ Sir George Abraham Grierson. "Tai Group," in Linguguistic Survey of India, reprint in Tai language and Ahom-Assamese-English Dictionary, p 5
- ↑ S.K. Bhuyan, Studies in the Literature of Assam, p 58
- ↑ Dipima Buragohain. Issues of Language Contact and Shift in Tai Ahom
- ↑ บรรจบ พันธุเมธา. กาเลหม่านไต. กรุงเทพฯ:สมาคมภาษาและหนังสือ, 2504. หน้า 31
- ↑ Chow Nagen Hazarika. "Ban Ok Pop Lik Mioung Tai" in The Tai, Vol. I, 766 Chu-ka-Fa Year (A.D. 1994), pp 1-7
- ↑ Chow Nagen Hazarika. "Ban Ok Pop Lik Mioung Tai" in The Tai, Vol. I, 766 Chu-ka-Fa Year (A.D. 1994), pp 68
- ↑ 43.0 43.1 43.2 การศึกษาประวัติศาสตร์ไทอาหม, หน้า 107
- ↑ การศึกษาประวัติศาสตร์ไทอาหม, หน้า 71
- ↑ การศึกษาประวัติศาสตร์ไทอาหม, หน้า 123
- ↑ วิจิตรวาทการ, พลตรี หลวง. งานค้นคว้าเรื่องชนชาติไทย. หน้า 438
- ↑ วิจิตรวาทการ, พลตรี หลวง. งานค้นคว้าเรื่องชนชาติไทย. หน้า 438-439
บรรณานุกรม
[แก้]- ฉัตรทิพย์ นาถสุภา และเรณู วิชาศิลป์. การศึกษาประวัติศาสตร์ไทอาหม. พิมพ์ครั้งที่ 2. กรุงเทพฯ:สร้างสรรค์, 2552. ISBN 978-974-9936-15-3
- วิจิตรวาทการ, พลตรีหลวง. งานค้นคว้าเรื่องชนชาติไทย. กรุงเทพฯ:สร้างสรรค์บุ๊คส์, 2549. ISBN 974-341-442-8
- กัญญา ลีลาลัย. ประวัติศาสตร์ชนชาติไท