ข้ามไปเนื้อหา

ทางรถไฟสายพระพุทธบาท

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
ทางรถไฟสายพระพุทธบาท
ข้อมูลทั่วไป
สถานะยกเลิก
เจ้าของบริษัท รถรางพระพุทธบาททุน จำกัด (พ.ศ. 2444–2472)[1][2]
บริษัท รถไฟท่าเรือ จำกัด (พ.ศ. 2474–2485)[3]
ที่ตั้งอำเภอท่าเรือ จังหวัดพระนครศรีอยุธยา และอำเภอพระพุทธบาท จังหวัดสระบุรี
ปลายทาง
จำนวนสถานี7
การดำเนินงาน
รูปแบบรถไฟ/รถราง
ประวัติ
เปิดเมื่อพ.ศ. 2444[4]
ปิดเมื่อ16 กรกฎาคม พ.ศ. 2485[4]
ข้อมูลทางเทคนิค
ระยะทาง20 กม. (12.43 ไมล์)[4][3]
รางกว้าง60 หรือ 75 เซนติเมตร[4]

ทางรถไฟสายพระพุทธบาท[5] หรือ ทางรถไฟสายท่าเรือ–พระพุทธบาท บ้างเรียก รถไฟกรมพระนรา (หรือ กรมพระดารา) เป็นทางรถไฟราษฎร์หรือทางรถไฟเอกชนสายหนึ่ง ดำเนินกิจการโดยบริษัท รถรางพระพุทธบาททุน จำกัด[6] และบริษัท รถไฟท่าเรือ จำกัดของพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระนราธิปประพันธ์พงศ์

รถไฟสายนี้เป็นรถไฟหรือรถรางขนาดเล็กเดินรถระหว่างอำเภอท่าเรือ จังหวัดพระนครศรีอยุธยา กับอำเภอพระพุทธบาท จังหวัดสระบุรี เป็นระยะทางราว 20 กิโลเมตร เพื่อเชื่อมต่อการเดินทางสำหรับผู้ไปนมัสการพระพุทธบาทวัดพระพุทธบาทราชวรมหาวิหาร จังหวัดสระบุรี ถือเป็นเส้นทางรถไฟสำหรับท่องเที่ยวเพื่ออำนวยความสะดวกแก่เจ้านาย และมิได้เกิดขึ้นด้วยเหตุผลทางเศรษฐกิจ[4]

ประวัติ

[แก้]

ทางรถไฟสายพระพุทธบาทก่อตั้งโดยพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระนราธิปประพันธ์พงศ์ ไม่ปรากฏข้อมูลว่าทางรถไฟสายนี้ก่อสร้างหรือเดินรถเมื่อใด แต่คาดว่าน่าจะเกิดขึ้นช่วง พ.ศ. 2444[4] เพราะปรากฏการจัดตั้งบริษัท รถรางพระพุทธบาท ทุนจำกัด โดยพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระนราธิปประพันธ์พงศ์พร้อมหุ้นส่วน ได้แก่ พระยาอภิรักษ์ราชอุทยาน เจ้าหมื่นเสมอใจราช พระนรสาตร์สารกรรม หลวงดำรงธรรมสาร หลวงอุดรภัณฑพานิช และจีนหนี รวมเจ็ดคนได้รับพระบรมราชานุญาตจัดตั้งบริษัทและได้รับพระราชทานอำนาจพิเศษ[1]

ในปี พ.ศ. 2445 พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวพร้อมด้วยพระบรมวงศานุวงศ์และข้าราชบริพารเคยเสด็จโดยรถรางพระที่นั่งสายพระพุทธบาท เพื่อไปนมัสการพระพุทธบาทและพระราชทานกฐิน ณ วัดพระพุทธบาทราชวรมหาวิหาร[4]

ทว่าตลอดระยะเวลาดำเนินกิจการ ได้เกิดปัญหาหลายครั้ง เช่น วันที่ 5 ตุลาคม พ.ศ. 2445 มีการออกตั๋วเงินโดยเอาทรัพย์สมบัติของบริษัทเป็นประกัน โดยอ้างว่าต้องการเงินทุนเพื่อขยายกิจการ[7] 6 มกราคม พ.ศ. 2449 บริษัทยื่นบัญชีประจำปีต่อกระทรวงเกษตราธิการล่าช้า หากไม่ส่งอาจถูกถอนอำนาจพิเศษ[8] กระทั่งวันที่ 16 มกราคม พ.ศ. 2449 จึงนำส่งบัญชี[9] และในที่สุด วันที่ 11 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2472 มีประกาศโปรดเกล้าฯ ให้ถอนพระบรมราชานุญาตพิเศษ ด้วยเหตุเพิกเฉย ละเลย ไม่ปฏิบัติให้เป็นไปตามกฎหมายและประกาศพระราชทานพิเศษหลายครั้ง[2]

พ.ศ. 2474 พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระนราธิปประพันธ์พงศ์ทรงมอบหมายให้หม่อมเจ้านิตยากร วรวรรณพระโอรส ทำสัญญาสัมปทานกับกรมรถไฟหลวงเพื่อเดินรถระหว่างท่าเรือ–พระพุทธบาทอีกครั้งในนามบริษัท รถไฟท่าเรือ จำกัด ตั้งแต่วันที่ 12 พฤษภาคม พ.ศ. 2474 ถึง 31 มีนาคม พ.ศ. 2494[3]

อย่างไรก็ตามรถไฟราษฎร์สายนี้ไม่ประสบความสำเร็จด้านรายได้ด้วยเหตุผลหลายประการ ได้แก่ เป็นเส้นทางระยะสั้น, การเดินทางไปพระพุทธบาทจะมีเฉพาะช่วงเทศกาล และการตัดถนนพหลโยธินทำให้การเดินทางสะดวกขึ้น ด้วยเหตุผลทั้งหมดนี้บริษัท รถไฟท่าเรือ จำกัดจึงขายหัวรถจักรแก่บริษัท ส่งเสริมอุตสาหกรรมไทย จำกัด เมื่อวันที่ 16 กรกฎาคม พ.ศ. 2485[4]

การเดินรถ

[แก้]
แผนที่เส้นทางรถไฟ

รถไฟสายพระพุทธบาทเป็นรถไฟขนาดเล็ก แต่เดิมใช้หัวรถจักรไอน้ำความเร็วเพียง 20 กิโลเมตรต่อชั่วโมง โดยจะมีสถานีสำหรับเติมน้ำและฟืนคือ สถานีท่าเรือ, เขาเลี้ยว และพระพุทธบาท ต่อมาใช้หัวหัวรถจักรดีเซลความเร็ว 30 กิโลเมตรต่อชั่วโมง[4] ตู้โดยสารแบ่งเป็นสองระดับคือชั้นธรรมดา กับชั้นพิเศษที่มีสำหรับเจ้านายหรือบุคคลสำคัญ ภายในประดับตกแต่งสวยงาม มีหน้าต่างกว้างบานใหญ่ติดผ้าม่านอย่างหรู ชายคาติดครุยและตุ้มโดยรอบ เก้าอี้ผ้าผิวมัน และทางเดินปูด้วยพรม[4] รถไฟขาไปจะออกจากสถานีพระพุทธบาทในเวลา 06.00 น. ถึงสถานีท่าเรือเวลา 07.00 น. และขากลับจะออกจากสถานีท่าเรือเวลา 15.00 น. และจอดค้างคืนที่สถานีพระพุทธบาท[4]

รถไฟแต่ละขบวนจะมีพนักงาน 4 คน แบ่งเป็น พนักงานขับรถและช่างไฟ (ผู้เติมน้ำและฟืน) อย่างละคน พนักงานขายตั๋วและตรวจตั๋วอีกสองคน[4] การซื้อขายตัวจะมีเฉพาะสถานีท่าเรือและพระพุทธบาทเท่านั้น หากขึ้นลงระหว่างทางต้องซื้อตั๋วบนรถ ค่าโดยสารคิดเป็นช่วง สถานีละ 5 สตางค์ แต่ช่วง พ.ศ. 2475 มีอัตราค่าโดยสารสถานีละ 25 สตางค์[4]

เส้นทาง

[แก้]

เส้นทางรถไฟมีระยะทาง 20 กิโลเมตร มีสถานีรายทางทั้งหมด 7 สถานี ได้แก่

ชื่อสถานี หมายเหตุ
ท่าเรือ ตั้งอยู่ตรงข้ามธนาคารออมสินสาขาท่าเรือหลังเก่า
บางโขมด
บ่อโศก มีซากสถานีอยู่
หนองคณฑี
เขาเลี้ยว
เจ้าพ่อเขาตก
พระพุทธบาท ปัจจุบันคือโรงเจฮกเอี๊ยง

อ้างอิง

[แก้]
  1. 1.0 1.1 "พระบรมราชโองการ ประกาศพระราชทานอำนาจพิเศษแก่บริษัทรถรางพระพุทธบาททุน จำกัด" (PDF). ราชกิจจานุเบกษา. 18 (26): 410. 29 กันยายน 2444.
  2. 2.0 2.1 "ประกาศ ถอนพระบรมราชานุญาตซึ่งได้พระราชทานแก่บริษัทรถรางพระพุทธบาททุนจำกัด" (PDF). ราชกิจจานุเบกษา. 46 (0 ก): 367. 2 มีนาคม 2472.
  3. 3.0 3.1 3.2 "แจ้งความกรมรถไฟหลวง เรื่องสร้างและเดิรรถไฟราษฎร์" (PDF). ราชกิจจานุเบกษา. 48 (0 ง): 679. 31 พฤษภาคม 2474.
  4. 4.00 4.01 4.02 4.03 4.04 4.05 4.06 4.07 4.08 4.09 4.10 4.11 4.12 สุนันทา เจริญปัญญายิ่ง. "ทางรถไฟสายท่าเรือ–พระพุทธบาท". สถาบันการขนส่ง จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย. สืบค้นเมื่อ 3 พฤศจิกายน 2561. {{cite web}}: ตรวจสอบค่าวันที่ใน: |accessdate= (help)
  5. "พระราชกฤษฎีกา กำหนดเขตต์ที่ดินในบริเวณที่ที่จะเวนคืนในท้องที่อำเภอท่าเรือ จังหวัดพระนครศรีอยุธยา และอำเภอหนองโดน จังหวัดสระบุรี พุทธศักราช 2482" (PDF). ราชกิจจานุเบกษา. 56 (0 ก): 688. 24 กรกฎาคม 2482.
  6. "แจ้งความเจ้าพนักงานจดทะเบียนบริษัท เรื่อง บริษัทรถรางพระพุทธบาททุนจำกัด" (PDF). ราชกิจจานุเบกษา. 35 (0 ง): 485. 26 พฤษภาคม 2461.
  7. "ประกาศ เรื่อง บริษัทรถรางพระพุทธบาททุนจำกัดจะออกตั๋วรับเงินโดยเอาทรัพย์สมบัติของบริษัทเป็นประกัน (ดิเบนเซอ)" (PDF). ราชกิจจานุเบกษา. 19 (27): 536. 5 ตุลาคม 2445.
  8. "ประกาศกระทรวงเกษตราธิการ ว่าด้วยให้บริษัทรถรางพระพุทธบาท ท.จ.ก. ยื่นบาญชีงบปีจำนวน ร.ศ. 124 ในภายในวันที่ 1 กุมภาพันธ์ รัตนโกสินทรศก 125" (PDF). ราชกิจจานุเบกษา. 23 (41): 1061. 6 มกราคม 2449.
  9. "แจ้งความกระทรวงเกษตราธิการ เรื่อง บริษัทรถรางพระพุทธบาทได้ยื่นบาญชี จำนวน ศก 125 แล้ว" (PDF). ราชกิจจานุเบกษา. 23 (44): 1126. 27 มกราคม 2449.