ข้ามไปเนื้อหา

ปารีส

พิกัด: 48°51′24″N 2°21′08″E / 48.856613°N 2.352222°E / 48.856613; 2.352222
จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
(เปลี่ยนทางจาก กรุงปารีส)
ปารีส
ธงของปารีส
ธง
ตราราชการของปารีส
ตราอาร์ม
คำขวัญ: 
Fluctuat nec mergitur
"โคลงเคลงแต่มิล่ม"
ประเทศฝรั่งเศส
แคว้นอีล-เดอ-ฟร็องส์
จังหวัดปารีส
สหเทศบาลMétropole du Grand Paris
เขตการปกครอง20 เขตท้องถิ่น
การปกครอง
 • นายกเทศมนตรี (2020–2026) อาน อีดาลโก (พรรคสังคมนิยม)
พื้นที่1105.4 ตร.กม. (40.7 ตร.ไมล์)
 • เขตเมือง (2020)2,853.5 ตร.กม. (1,101.7 ตร.ไมล์)
 • รวมปริมณฑล (2020)18,940.7 ตร.กม. (7,313.0 ตร.ไมล์)
ประชากร
 (มกราคม ค.ศ. 2018)2
2,175,601 คน
 • ความหนาแน่น21,000 คน/ตร.กม. (53,000 คน/ตร.ไมล์)
 • เขตเมือง (มกราคม ค.ศ. 2017[1])10,785,092 คน
 • ความหนาแน่นเขตเมือง3,800 คน/ตร.กม. (9,800 คน/ตร.ไมล์)
 • รวมปริมณฑล (มกราคม ค.ศ. 2017[2])13,024,518 คน
 • ความหนาแน่นรวมปริมณฑล690 คน/ตร.กม. (1,800 คน/ตร.ไมล์)
เขตเวลาUTC+1 (CET)
 • ฤดูร้อน (เวลาออมแสง)UTC+2 (CEST)
รหัสอีนเซ/ไปรษณีย์75056 /75001-75020, 75116
สูงจากระดับน้ำทะเล28–131 m (92–430 ft)
(avg. 78 m หรือ 256 ft)
เว็บไซต์www.paris.fr
1 ข้อมูลอาณาเขตที่ตามขึ้นทะเบียนไว้โดยไม่รวมทะเลสาบ, หนองน้ำ, ธารน้ำแข็งที่ขนาดใหญ่กว่า 1 ตารางกิโลเมตรตลอดจนปากแม่น้ำ 2 Population without double counting: residents of multiple communes (e.g., students and military personnel) only counted once.

ปารีส (ฝรั่งเศส: Paris, ออกเสียง: [paʁi] ( ฟังเสียง)) เป็นเมืองหลวงและเมืองใหญ่ที่สุดของประเทศฝรั่งเศส ตั้งอยู่บนแม่น้ำแซน บริเวณตอนเหนือของประเทศ อยู่ตรงใจกลางแคว้นอีล-เดอ-ฟร็องส์ (Île-de-France หรือ Région parisienne (RP) ) ภายในกรุงปารีสมีประชากรประมาณ 2,102,650 คน (มกราคม ค.ศ. 2023)[3] ในพื้นที่มากกว่า 105 ตารางกิโลเมตร (41 ตารางไมล์)[4] ส่งผลให้กรุงปารีสเป็นเมืองที่มีจำนวนประชากรมากที่สุดเป็นอันดับสี่ในสหภาพยุโรป รวมทั้งมีความหนาแน่นของประชากรเป็นอันดับที่ 30 ของโลกใน ค.ศ. 2022[5] กรุงปารีสเป็นหนึ่งใน 4 นครสำคัญของโลกร่วมกับลอนดอน, โตเกียว และ นิวยอร์ก

กรุงปารีสถือเป็นศูนย์กลางของแคว้นอีล-เดอ-ฟร็องส์ แคว้นที่มีประชากรมากที่สุดในบรรดา 18 แคว้นของประเทศ ด้วยจำนวนประชากรกว่า 12,271,794 คน (มกราคม ค.ศ. 2023) หรือประมาณ 19% ของประชากรในประเทศจึงทำให้ปารีสมีฐานะเป็นเอกนคร ภูมิภาคปารีสยังมีผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศหรือจีดีพีสูงถึง 7.65 พันล้านยูโรใน ค.ศ. 2021 ซึ่งมากที่สุดในสหภาพยุโรป และจากข้อมูลของดิ อีโคโนมิสต์ อินเทลลิเจนซ์ ยูนิต ระบุว่าปารีสเป็นเมืองที่มีค่าครองชีพสูงเป็นอันดับ 9 ของโลก[6] กรุงปารีสยังเป็นหนึ่งในจุดหมายปลายทางที่สำคัญของโลก ด้วยจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติ 19 ล้านคนใน ค.ศ. 2020[7]

ประวัติศาสตร์ของปารีสเริ่มต้นขึ้นตั้งแต่ศตวรรษที่ 3 ก่อนคริสตกาล เมืองนี้ถือกำเนิดขึ้นจากการรวมตัวของชุมชนเล็ก ๆ บนเกาะลาซิเต (lle de la Cite) หนึ่งในสองเกาะขนาดใหญ่บริเวณแม่น้ำแซน โดยชาวเคลต์เป็นผู้บุกเบิกและเข้ามาตั้งรกรากบริเวณนี้[8] แต่เดิมปารีสได้รับการเรียกว่าลูเตเซียซึ่งหมายถึง "แผ่นดินกลางน้ำ" ปารีสเจริญมากขึ้นตามลำดับจากการยึดครองโดยอาณาจักรโรมัน จากนั้นกษัตริย์ราชวงศ์ต่าง ๆ หมุนเวียนกันเข้ามาปกครองจนกระทั่งปลายศตวรรษที่ 17 มีการสร้างพระราชวังแวร์ซายนอกเมืองปารีสโดยพระเจ้าหลุยส์ที่ 14 ในช่วงเวลานั้น ปารีสได้รับการยกย่องให้เป็นหนึ่งในศูนย์กลางของโลกทางด้านการค้า, การทูต, การเงิน, วัฒนธรรม, แฟชั่น, ศิลปะ, อาหาร รวมถึงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี เช่นเดียวกับการเป็นเมืองแรก ๆ ของโลกที่มีการพัฒนาระบบไฟบริเวณถนนและที่สาธารณะจึงเป็นที่รู้จักในชื่อ "เมืองแห่งแสงสว่าง" ในศตวรรษที่ 19

กรุงปารีสยังเป็นหนึ่งในศูนย์กลางทางการคมนาคมของทวีปยุโรป และการขนส่งทางอากาศที่สำคัญซึ่งมีท่าอากาศยานนานาชาติสองแห่งให้บริการได้แก่ ท่าอากาศยานนานาชาติปารีส-ชาร์ล เดอ โกล เป็นท่าอากาศยานที่พลุกพล่านมากเป็นอันดับสามในยุโรป และ ท่าอากาศยานปารีส ออร์ลี[9] รถไฟฟ้าปารีสเปิดให้บริการมาตั้งแต่ ค.ศ. 1900 ในปัจจุบันให้บริการผู้โดยสารมากกว่า 5 ล้านคนต่อวัน[10] ถือเป็นรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนที่ให้บริการผู้โดยสารมากเป็นอันดับสองรองจากรถไฟใต้ดินมอสโก สถานีรถไฟการ์ ดู นอร์ เป็นสถานีชั้นนำของยุโรปที่มีผู้ใช้บริการเฉลี่ยสูงสุดเป็นอันดับ 24 ของโลก และเป็นสถานีรถไฟภายนอกประเทศญี่ปุ่นที่มีผู้โดยสารพลุกพล่านที่สุดในโลกด้วยจำนวนกว่า 262 ล้านคนใน ค.ศ. 2015[11] ปารีสยังได้รับการยอมรับในฐานะเมืองที่มีระบบการขนส่งยั่งยืน[12] มีส่วนสนับสนุนเชิงบวกต่อสังคม สิ่งแวดล้อม และเศรษฐกิจ โดยเป็นหนึ่งในสองเมืองของโลกที่ได้รับรางวัลระบบการขนส่งยั่งยืนถึงสองครั้ง[13]

กรุงปารีสมีชื่อเสียงในด้านสถาปัตยกรรม และเป็นที่ตั้งของพิพิธภัณฑ์สำคัญ ได้แก่: พิพิธภัณฑ์ลูฟวร์ รองรับนักท่องเที่ยวมากถึง 8.9 ล้านคนใน ค.ศ. 2023 ถือเป็นพิพิธภัณฑ์ทางศิลปะที่มีผู้เยี่ยมชมมากที่สุดในโลก[14] รวมถึงพิพิธภัณฑ์อื่น ๆ อาทิ พิพิธภัณฑ์ออร์แซ, พิพิธภัณฑ์มาโมแตง-โมเนต์ และ พิพิธภัณฑ์ออรองเจอรี ซึ่งล้วนแต่มีชื่อเสียงทางด้านลัทธิประทับใจ หรือ อิมเพรสชันนิซึม ศูนย์ศิลปะและวัฒนธรรมแห่งชาติฌอร์ฌ ปงปีดู ยังเป็นที่ตั้งของผลงานศิลปะร่วมสมัยในทวีปยุโรป รวมถึงพิพิธภัณฑ์รอแด็ง และ พิพิธภัณฑ์ปิกาโซ นอกจากนี้ ย่านประวัติศาสตร์บริเวณแม่น้ำแซน ยังได้รับการยกย่องให้เป็นแหล่งมรดกโลกโดยยูเนสโกมาตั้งแต่ ค.ศ. 1991[15]

กรุงปารีสเป็นที่ตั้งขององค์การระหว่างประเทศที่สำคัญ อาทิ องค์การเพื่อความร่วมมือทางเศรษฐกิจและการพัฒนา, สำนักงานชั่งตวงวัดระหว่างประเทศ, องค์การพลังงานระหว่างประเทศ, สหพันธ์เพื่อสิทธิมนุษยชนสากล, องค์การอวกาศยุโรป และธนาคารกลางแห่งสหภาพยุโรป และยังเป็นที่ตั้งของสโมสรกีฬาที่มีชื่อเสียงของประเทศ ได้แก่ สโมสรฟุตบอลปารีแซ็ง-แฌร์แม็งและสโมสรรักบี้สตาด ฟร็องแซ รวมถึงสนามกีฬาสตาดเดอฟร็องส์ซึ่งถูกสร้างขึ้นเพื่อใช้งานในฟุตบอลโลก 1998 ด้วยความจุ 81,000 ที่นั่งโดยตั้งอยู่ในเทศบาลแซ็ง-เดอนี กรุงปารีสยังเป็นเจ้าภาพการแข่งขันเฟรนช์โอเพน หรือในชื่ออย่างเป็นทางการว่า โรลังด์ การ์รอส หนึ่งในสี่การแข่งขันเทนนิสแกรนด์สแลมประจำปี และเป็นเจ้าภาพโอลิมปิกฤดูร้อน 1900,1924 และ 2024 รวมทั้งการแข่งขันฟุตบอลโลก 1938, 1998, ฟุตบอลโลกหญิง 2019 และการแข่งขันรักบี้ชิงแชมป์โลก 2007, ฟุตบอลชิงแชมป์แห่งชาติยุโรป 1960, 1984 และ 2016 รวมทั้งการแข่งขันตูร์เดอฟร็องส์ซึ่งจัดขึ้นทุกเดือนกรกฎาคมโดยมีปลายทางอยู่ที่ช็องเซลีเซ

กำเนิดของชื่อและความหมาย

[แก้]

คำว่า ปารีส ออกเสียง /พาริส/ [ˈparɪs] หรือ /แพริส/ [ˈpæɹɪs] ในภาษาอังกฤษ และ /ปารี/ [paʁi] ในภาษาฝรั่งเศส เป็นคำที่มาจากชื่อเผ่าหนึ่งของชาวโกล เป็นที่รู้จักกันในนาม "ปารีซี" (Parisii) ซึ่งเป็นชาวเมืองที่อาศัยในสมัยก่อนโรมัน โดยที่เมืองมีชื่อเดิมว่า "ลูเทเชีย" (ละติน: Lutetia) (ชื่อเต็ม "Lutetia Parisiorum" แปลว่า ลูเทเชียแห่งปารีซี) ในระหว่างคริสต์ศตวรรษที่ 1 ถึง 6 ในช่วงที่อาณาจักรโรมันยึดครอง แต่ในช่วงการครองราชย์ของจูเลียน ดิ อโพสเทต (พ.ศ. 904 - พ.ศ. 906) ได้เปลี่ยนชื่อเมืองเป็น "ปารีส"[16]

ปารีส มีชื่อเล่นมากมาย แต่ชื่อที่โด่งดังที่สุดคือ "นครแห่งแสงไฟ" (ฝรั่งเศส: La Ville-lumière) ซึ่งหมายความว่าเป็นศูนย์กลางแห่งการเรียนและความรู้ ทั้งยังหมายความว่าเป็นเมืองที่สว่างไสวเต็มไปด้วยแสงไฟอีกด้วย ตั้งแต่ต้นคริสต์ศตวรรษที่ 20 เป็นต้นมา นครปารีสมีชื่อเรียกในภาษาสแลงว่า "ปานาม" (ฝรั่งเศส: Paname [panam]) เช่น ชาวปารีสมักแนะนำตนเองว่า "มัว, เชอซุยเดอปานาม" (ฝรั่งเศส: Moi, je suis de Paname) หรือ "ฉันมาจากปานาม"

พลเมืองชาวปารีสเป็นที่รู้จักกันในนาม "ปารีเซียน" (Parisian) ("พาริเซิน" หรือ "แพริเซิน" [pʰəˈɹɪzɪənz / pʰəˈɹiːʒn̩z]) ในภาษาอังกฤษ หรือ "ปารีเซียง" [paʁizjɛ̃] ในภาษาฝรั่งเศส โดยคำนี้ บางครั้งจะถูกเรียกอย่างดูถูกว่า ปารีโก (Parigots) [paʁigo] โดยประชาชนที่อาศัยนอกแคว้นของปารีส แม้ว่าบางครั้งชาวปารีเซียงจะชอบพอกับคำนี้ก็ตาม

ประวัติ

[แก้]

ยุคเริ่มต้น

[แก้]

หลักฐานทางโบราณคดีในการตั้งถิ่นฐานบริเวณปารีสตั้งแต่ 4,200 ปีก่อนคริสต์ศักราชคือพวกปาริซี่ ซึ่งเป็นเผ่าย่อยของพวกเซลติกซีนอนส์ โดยเป็นที่รู้จักในฐานะผู้ชำนาญทางเรือและการค้าขาย ได้อาศัยอยู่บริเวณลุ่มแม่น้ำแซนตั้งแต่ 250 ปีก่อนคริสต์ศักราชเป็นต้นมา ต่อมาพวกโรมันได้ชัยชนะยึดครองที่ราบลุ่มปารีสใน 52 ปีก่อนคริสต์ศักราช โดยมีการตั้งถิ่นฐานอย่างถาวรในตอนปลายของศตวรรษเดียวกันบนฝั่งซ้ายของแม่น้ำแซน, เนินเขาแซนต์-เชอเนอวีแอฟ และเกาะอีลเดอลาซีเต เมืองดังกล่าวนี้เดิมเรียกว่า "ลูเตตีอา" (Lutetia; ชื่อเต็ม Lutetia Parislorum, "ลูเทเชียแห่งปารีซี") แต่ต่อมาได้ทำให้เป็นชื่อในภาษาโกลเป็น "ลูแตส" (Lutèce) ตัวเมืองได้ขยายอย่างรวดเร็วในศตวรรษต่อ ๆ มาและกลายเป็นเมืองที่ร่ำรวย เต็มไปด้วยตลาด ราชวัง อ่างอาบน้ำ วัดวาอาราม โรงละครและโรงมหรสพใหญ่ เมื่อจักรวรรดิโรมันล่มสลายและการบุกของเยอรมันในช่วงคริสต์ศตวรรษที่ 3 ทำให้ "ลูแตส" อยู่ในช่วงตกต่ำและทรุดโทรม ในปี พ.ศ. 943 พลเมืองจำนวนมากได้อพยพออกจากเมืองลูแตส และหลังการยึดครองอีกครั้งหนึ่งของพวกโรมัน เมือง "ลูแตส" ได้เปลี่ยนชื่อเป็น "ปารีส"

ปราสาทลูฟร์ในคริสต์ศตวรรษที่ 15

ประมาณปี พ.ศ. 1043 ปารีสได้กลายเป็นเมืองหลวงของกษัตริย์โกลวิสที่ 1 แห่งแฟรงค์ เมื่อโกลวิสที่ 1 ได้สวรรคตลง อาณาจักรแฟรงค์ได้ถูกแบ่งออก และปารีสได้กลายเป็นเมืองหลวงของรัฐอิสระขนาดเล็ก ในช่วงคริสต์ศตวรรษที่ 9 สมัยราชวงศ์กาโรแล็งเชียง เมืองปารีสได้กลายเป็นเขตฐานกำลังของพวกศักดินา เค้านต์แห่งปารีสมีอำนาจมากขึ้น จนกระทั่งมีอำนาจมากกว่ากษัตริย์แห่งแฟรงค์ตะวันตก (Francie occidentale) เสียด้วยซ้ำไป เค้านต์แห่งปารีสนามว่า "โอโด" (Odo) ได้ถูกเลือกให้เป็นกษัตริย์แทนชาร์ลส์ที่ 3 (ชาร์ลส์ อ้วน - Charles III le Gros) เนื่องจากชื่อเสียงอันโด่งดังของเขาที่ได้ป้องกันเมืองปารีสจากการโจมตีของพวกไวกิง (ศึกปารีส (พ.ศ. 1428 - พ.ศ. 1429)) แม้ว่าอีล เดอ ลา ซิเต้จะรอดจากการโจมตีของพวกไวกิง แต่ฝั่งซ้ายของแม่น้ำแซนที่ไม่มีการป้องกันก็ถูกทำลายอย่างย่อยยับ และแทนที่จะสร้างเมืองขึ้นมาใหม่บริเวณฝั่งซ้ายของแม่น้ำแซน ชาวปารีสได้เริ่มที่จะขยายตัวเมืองไปทางด้านฝั่งขวาของแม่น้ำแซนแทน ในปี พ.ศ. 1530 อูช กาเปต์ (Hugh Capet) เค้านท์แห่งปารีสได้ถูกเลือกให้กลายเป็นกษัตริย์แห่งฝรั่งเศส เป็นผู้ก่อตั้งราชวงศ์กาเปเตียงและทำให้เมืองปารีสเป็นเมืองหลวงของประเทศฝรั่งเศส

ตั้งแต่ พ.ศ. 1733 พระเจ้าฟิลิปที่ 2 (Philippe Auguste) ได้สร้างกำแพงเมืองล้อมรอบปารีสโดยมีลูฟร์เป็นป้อมปราการฝั่งตะวันตกและต่อมาในปี พ.ศ. 1743 ได้ตั้งมหาวิทยาลัยปารีสขึ้นมาซึ่งทำให้มีผู้คนหลั่งไหลเข้ามายังปารีสเป็นจำนวนมาก ในช่วงนี้เองที่เมืองปารีสได้พัฒนาในหลาย ๆ ด้านซึ่งในปัจจุบันยังมีให้เห็นเช่น เกาะ (อีล เดอ ลา ซิเต้) เป็นที่ตั้งรัฐบาลและสถาบันสอนศาสนา ทางฝั่งซ้ายของแม่น้ำแซนเป็นที่ตั้งสถาบันทางการศึกษา เช่น มหาวิทยาลัย วิทยาลัย โรงเรียน ฯลฯ ส่วนทางฝั่งขวาของแม่น้ำแซนเป็นที่ตั้งของการค้าขายและศูนย์กลางทางเศรษฐกิจของปารีส เช่น ตลาดเลส์ อาลส์ (Les Halles)

ปารีสไม่ได้เป็นเมืองหลวงของประเทศฝรั่งเศสหลังจากถูกโจมตีโดยพันธมิตรของประเทศอังกฤษคือพวกบูร์กงด์ (Burgondes) ในสงครามร้อยปี แต่ก็กลับมาเป็นเมืองหลวงในปี พ.ศ. 1980 เมื่อพระเจ้าชาร์ลส์ที่ 7 (Charles VII, le Victorieux) สามารถยึดกรุงปารีสกลับคืนมา แม้ว่ากรุงปารีสเป็นเมืองหลวงของประเทศฝรั่งเศสอีกครั้งหนึ่ง แต่พระเจ้าชาร์ลส์ที่ 7ก็ตัดสินใจที่จะประทับ ณ ปราสาทหุบเขาลัวร์ ต่อมาในช่วงสงครามศาสนาของฝรั่งเศส (Guerres de religion) กรุงปารีสเป็นฐานกำลังหลักของพวกคริสต์นิกายคาทอลิก โดยรุนแรงสุดในเหตุการณ์โศกนาฏกรรมวันแซงต์-บาร์เตเลมี (Massacre de la Saint-Barthélemy) ในปี พ.ศ. 2115 ต่อในปี พ.ศ. 2137 พระเจ้าอองรีที่ 4 ได้ก่อตั้งราชสำนักในกรุงปารีสอีกครั้งหนึ่งหลังจากยึดเมืองมาจากพวกคาทอลิก ระหว่างสงครามกลางเมืองฟรงด์ (Fronde) ชาวปารีสได้ลุกฮือขึ้นประท้วงและก่อการจลาจล ซึ่งเป็นสาเหตุให้พระบรมวงศานุวงศ์ทั้งหลาย หลบหนีออกจากกรุงปารีสในปี พ.ศ. 2191 พระเจ้าหลุยส์ที่ 14 ย้ายราชสำนักอย่างถาวรไปยังแวร์ซายส์ในปี พ.ศ. 2225 ศตวรรษต่อมากรุงปารีสเป็นศูนย์กลางของการปฏิวัติฝรั่งเศส มีการทลายคุกบัสตีย์ในปี พ.ศ. 2332 และล้มระบอบกษัตริย์ในปี พ.ศ. 2335

การปฏิวัติอุตสาหกรรม จักรวรรดิฝรั่งเศสที่ 2 และยุคสวยงาม (Belle Époque) ช่วยนำพากรุงปารีสไปสู่การพัฒนาที่ยิ่งใหญ่ที่สุดในประวัติศาสตร์ฝรั่งเศส ตั้งแต่คริสต์ทศวรรษ 1840 เป็นต้นมา การเดินทางโดยรถไฟทำให้มีประชากรจำนวนมากหลั่งไหลเข้ามายังกรุงปารีสเพื่อมาทำงานในอุตสาหกรรมต่าง ๆ กรุงปารีสได้ผ่านการบูรณะครั้งยิ่งใหญ่ภายใต้การปกครองของจักรพรรดินโปเลียนที่ 3และบารงโอสส์มันน์ ซึ่งได้เปลี่ยนถนนเล็ก ๆ ในยุคกลางจนกลายเป็นถนนขนาดกว้างและมีตึกรามบ้านช่องร่วมสมัยจำนวนมากมาย การเปลี่ยนแปลงครั้งนี้มีจุดประสงค์ให้กรุงปารีสมีความสวยงามและความสะอาดมากขึ้นกว่าเดิม ถึงกระนั้นก็มีประโยชน์ถ้าเกิดมีเหตุการณ์ปฏิวัติหรือเหตุการณ์รุนแรง เพราะกองทหารม้าและปืนไรเฟิลสามารถต่อกลอนกับกลุ่มพวกจลาจล ในขณะที่กลยุทธ์ในการซุ่มโจมตีหรือสกัดกั้นที่ใช้มากในสมัยการปฏิวัติฝรั่งเศสจะเป็นการล้าสมัย

ในปี พ.ศ. 2375 และ พ.ศ. 2392 อหิวาตกโรคระบาดพลเมืองชาวปารีส แค่การระบาดในปี พ.ศ. 2375 เท่านั้นก็มีผู้ป่วยกว่า 20,000 คนจากประชากร 650,000 ในขณะนั้น กรุงปารีสยังได้เสียหายครั้งยิ่งใหญ่หลังจากสงครามฟรังโก-ปรัสเซีย (พ.ศ. 2413 - พ.ศ. 2414), การโค่นล้มจักรพรรดินโปเลียนที่ 3, เทศบาลปารีส (La Commune de Paris - พ.ศ. 2414) ได้ทำให้กรุงปารีสลุกเป็นไฟหลังจากการต่อสู้กันระหว่างเทศบาลกับรัฐบาล ซึ่งเหตุการณ์นี้เป็นที่รู้จักกันในนาม "สัปดาห์แห่งเลือด" (Semaine sanglante)

กรุงปารีสได้กลับคืนสู่สภาพเดิมอย่างรวดเร็วเพื่อที่จะจัดงานนิทรรศการนานาชาติ 1889 (พ.ศ. 2432) ทั้งนี้ได้มีการสร้างหอไอเฟลเพื่อเฉลิมฉลองการปฏิวัติฝรั่งเศสครบรอบ 100 ปี เพื่อแสดงถึงศักยภาพของประเทศฝรั่งเศสในด้านวิศวกรรมศาสตร์แค่ "ชั่วคราว" เท่านั้น ซึ่งสิ่งก่อสร้างชิ้นนี้ได้กลายเป็นสิ่งก่อสร้างที่สูงที่สุดในโลกจนถึงปี พ.ศ. 2473 และกลายเป็นสัญลักษณ์ของกรุงปารีสไปโดยปริยาย ส่วนงานนิทรรศการนานาชาติ 1900 (พ.ศ. 2443) ได้มีการเปิดตัวรถไฟฟ้าปารีสเป็นครั้งแรก หลังจากนั้นก็ได้มีการจัดนิทรรศการและงานแสดงสินค้าต่าง ๆ มากมายซึ่งทำให้กรุงปารีสเป็นสถานที่ท่องเที่ยวและดึงดูดชาวต่างชาติเป็นจำนวนมากทั้งในด้านเศรษฐกิจและเทคโนโลยี

ระหว่างสงครามโลกครั้งที่ 1 กรุงปารีสได้อยู่ในแนวหน้าของการรบ โดยรอดจากการโจมตีของเยอรมนีไปได้ที่สงครามแห่งมาร์นในปี พ.ศ. 2457 ในช่วงปี พ.ศ. 2461 - พ.ศ. 2462 กรุงปารีสได้กลายเป็นที่สวนสนามแห่งชัยชนะของฝ่ายสัมพันธมิตรและเป็นที่เจรจาสันติภาพอีกด้วย ในช่วงระหว่างสงคราม กรุงปารีสได้มีชื่อเสียงจากศิลปวัฒนธรรมต่าง ๆ และชีวิตยามค่ำคืน เมืองนี้ได้กลายเป็นศูนย์รวมของจิตรกรชื่อดังทั่วโลก ตั้งแต่นักประพันธ์ชาวรัสเซีย สตราวินสกี จิตรกรชาวสเปน ปีกัสโซและดาลีจนถึงนักประพันธ์ชื่อดังชาวอเมริกันอย่างเฮมิงเวย์ ในเดือนมิถุนายน พ.ศ. 2483 5 สัปดาห์หลังจากการเริ่มต้นของสงครามแห่งฝรั่งเศส กรุงปารีสได้ตกอยู่ภายใต้การปกครองของกองทัพนาซีเยอรมันจนกระทั่งการปลดปล่อยปารีสในเดือนกรกฎาคม พ.ศ. 2487 2 เดือนหลังจากการบุกนอร์มองดีของฝ่ายสัมพันธมิตร

อดอล์ฟ ฮิตเลอร์ในกรุงปารีส โดยข้างหลังเป็นหอไอเฟล ปี พ.ศ. 2483

กรุงปารีสได้ยืดหยัดท่ามกลางสงครามโลกครั้งที่ 2โดยไม่ได้รับความเสียหายใด ๆ เนื่องจากภายในกรุงปารีสไม่มีเป้าทางยุทธศาสตร์สำหรับฝ่ายสัมพันธมิตรในการวางระเบิด (สถานีรถไฟในกรุงปารีสเป็นเพียงแค่สถานีปลายทาง โรงงานที่สำคัญ ๆ ตั้งอยู่บริเวณชนบททั้งสิ้น) และด้วยความสวยงามทางวัฒนธรรม ทำให้พลเอกดีทริช ฟอน โชลทิทซ์ (General der Infanterie Dietrich von Choltitz) นายทหารเยอรมันขัดคำสั่งของอดอล์ฟ ฮิตเลอร์ในการทำลายกรุงปารีสและอนุสาวรีย์ที่สำคัญก่อนการถอนทหารเยอรมันออกจากปารีส ทำให้ชาวฝรั่งเศสบางคนมองว่าพลเอกดีทริช ฟอน โชลทิทซ์เป็นผู้ช่วยเหลือกรุงปารีส

ภูมิศาสตร์

[แก้]
ช็องเซลีเซ ถนนที่มีชื่อเสียงที่สุดในฝรั่งเศส

ปารีสตั้งอยู่บนแม่น้ำแซน ซึ่งรวมถึงเกาะอีกสองเกาะคือ อีล แซงต์-หลุยส์ (Île Saint-Louis) และ อีล เดอ ลา ซิเต้ (Île de la Cité) ซึ่งเป็นส่วนที่เก่าแก่ที่สุดของเมือง ภูมิประเทศของปารีสโดยรวมคือ เป็นที่ราบลุ่ม โดยมีจุดต่ำสุดอยู่ที่ 35 เมตร (114 ฟุต) เหนือระดับน้ำทะเล ทั้งยังมีเนินเขาอีกหลายแห่ง เนินเขาที่สูงที่สุดคือ มงต์มาร์ตร์ (Montmartre) (130 เมตร (426 ฟุต)) พื้นที่ของปารีส ซึ่งไม่รวมสวนสาธารณะบัวส์ เดอ บูโลญ (Bois de Boulogne) และบัวส์ เดอ แวงแซนน์ (Bois de Vincennes) คือประมาณ 86.928 ตารางกิโลเมตร (33.56 ตารางไมล์) การแบ่งและรวมเขตครั้งสุดท้ายที่ใหญ่ที่สุดคือในปี พ.ศ. 2403 ซึ่งทำให้มีขนาดอย่างที่เห็นในปัจจุบัน ทั้งยังทำให้เกิดเขต (Arrondissement) ที่หมุนรอบ ๆ ตามเข็มนาฬิกาอีกด้วย ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2403 เป็นต้นมา เมืองปารีสมีขนาด 78 กม.² (30.1 ม.²) และได้ขยายออกไปเป็น 86.9 กม.² (34 ม.²) ในปี พ.ศ. 2463 และตั้งแต่ปี พ.ศ. 2472 เป็นต้นมา สวนสาธารณะบัวส์ เดอ บูโลญและบัวส์ เดอ แวงแซนน์ได้ผนวกกับตัวเมืองปารีสอย่างเป็นทางการ ทำให้กรุงปารีสมีขนาด 105.397 กม.² (40.69 ม.²) จนถึงปัจจุบัน ขนาดของกรุงปารีสหรือเขตเมืองปารีสนั้นมีการขยายตัวออกไปเกินเขตเมือง ทำให้เกิดรูปร่างเป็นวงรี ขยายตัวไปตามแม่น้ำแซนและแม่น้ำมาร์น ทางทิศตะวันออกและตะวันออกเฉียงใต้ของตัวเมือง และตามแม่น้ำแซนและแม่น้ำอวส ทางทิศตะวันตกและตะวันตกเฉียงเหนือ และถ้าเลยไปยังชนบท ความหนาแน่นของประชากรจะลดลงอย่างเห็นได้ชัดเนื่องจากมีป่าและที่ดินไว้สำหรับการเพาะปลูก อย่างไรก็ตามเขตมหานครปารีส (Agglomération parisienne) มีเนื้อที่ถึง 14,518 กม² (5,605.5 ไมล์²) ซึ่งใหญ่กว่าเนื้อที่กรุงปารีสถึง 138 เท่า

ภูมิอากาศ

[แก้]

ปารีสมีภูมิอากาศแบบมหาสมุทร ซึ่งมีผลมาจากกระแสน้ำแอตแลนติกเหนือ เพราะฉะนั้นอุณหภูมิในเมืองไม่ค่อยมีอุณหภูมิสูงหรือต่ำเกินไป อุณหภูมิเฉลี่ยของกรุงปารีสคือ 15 °C (59 °F) และจะอยู่ราว 7 °C (45 °F) สถิติอุณหภูมิสูงที่สุดที่วัดได้คือ 40.4 °C (104.7 °F) ในวันที่ 28 กรกฎาคม พ.ศ. 2491 และต่ำที่สุดที่เคยวัดได้คือ −23.9 °C (−11.0 °F) เมื่อวันที่ 10 ธันวาคม พ.ศ. 2422 เมืองปารีสได้ประสบกับอุณหภูมิร้อนจัดในปี พ.ศ. 2547 และหนาวจัดในปี พ.ศ. 2549 มาเอง

ฝนสามารถตกทุกเมื่อ และปารีสก็เป็นที่รู้จักดีกับฝนตกฉับพลัน ปารีสมีปริมาณน้ำฝนเฉลี่ย 641.6 มม. (25.2 นิ้ว) ต่อปี ส่วนหิมะมักจะเกิดขึ้นน้อยครั้ง ส่วนมากมักจะตกในช่วงเดือนมกราคมและกุมภาพันธ์ (แต่เคยตกถึงเดือนเมษายนมาแล้ว) และไม่ค่อยพบว่าหิมะตกติดต่อกันเกินวัน

เขตการปกครอง

[แก้]

ปารีสแบ่งการปกครองออกเป็น 20 เขตย่อย (Arrondissements) เขตทั้ง 20 เขตมีแขวงย่อยเขตละ 4 แขวง (Quartiers) เขตทั้งหมดเหล่านี้มีการเลือกผู้บริหารเขตหรือผู้ว่าโดยใช้การเลือกตั้งโดยตรงและมีศาลากลางเป็นของตัวเอง การแบ่งเขตย่อยของปารีสแบ่งที่ใช้อยู่ในปัจจุบันเริ่มเมื่อปี 1982 โดยมีการให้สถานะพิเศษแก่เมืองใหญ่ 3 เมือง ปารีส ลียง และมาร์เซล แต่เมื่อปี 2020 เขตที่ 1 ถึง 4 ได้รวมกันเป็นเขตบริหารอีกรูปแบบโดยมีผู้ว่าคนเดียวและมีศาลากลางของเขตที่รวมกันที่เขตที่ 3 ชื่อว่าปารี ซองทร์ (Paris Centre) เขตย่อยในปารีสจะมีชื่อเป็นเลขตามลำดับโดยเรียงตามเข็มนาฬิกาโดยหมุนวนจากเขตชั้นในสุดทางฝั่งขวาแม่น้ำแซน เขตทั้ง 20 เขตมีชื่อเรียกในท้องถิ่นเป็นเลขลำดับที่ (Ordinal Number) ในภาษาฝรั่งเศส แต่ทั้งนี้มีการตั้งชื่อพิเศษให้แก่เขตทั้ง 20 เขต โดยชื่อที่ใช้นำมาจากสถานที่สำคัญหรือชื่อชุมชนเดิมที่อยู่ในเขตนั้นๆ

เขตย่อยของปารีส

ปารี ซองทร์ (รวมเขตที่ 1 2 3และ 4)

1er เพอร์เมียร์ (ชื่อ: ลูฟวร์)
2e เดอเซียม (ชื่อ: บูร์ซ)
3e ทรัวเซียม (ชื่อ: ต็องพล์)
4e กาทรีแยม (ชื่อ: ออแตล-เดอ-วีล)
5e แซ็งเคียม (ชื่อ: ป็องเตอง)
6e ซิเซียม (ชื่อ: ลุกซ็องบูร์)
7e เซเทียม (ชื่อ: ปาแล-บูร์บง)
8e อุยเทียม (ชื่อ: เอลิเซ)
9e เนอเวียม (ชื่อ: ออเปรา)
10e ดีเซียม (ชื่อ: อ็องเทรอโป)
11e อ็องเซียม (ชื่อ: โปแป็งคูรต์)
12e ดูเซียม (ชื่อ: เรอยี)
13e เทรเซียม (ชื่อ: โกเบอแล็ง)
14e กาตอร์เซียม (ชื่อ: โอบแซร์วาทัวร์)
15e แก็งเซียม (ชื่อ: วอฌิราร์)
16e เซเซียม (ชื่อ: ปาซี)
17e ดีเซเทียม (ชื่อ: บาติญอล-มงโซ)
18e ดีซุยเทียม (ชื่อ: บุต-มงมาทร์)
19e ดีเนอเวียม (ชื่อ: บุต-โชมง)
20e แว็งเทียม (ชื่อ: เมนิลมงต็อง)

การขนส่ง

[แก้]

ปารีสมีสถานีรถไฟทางไกลแบบเทอร์มินัส (Terminus) ทั้งหมด 7 สถานีหลักประกอบด้วย

สถานีรถไฟทางไกลหลักในปารีส
สถานี จำนวนการให้บริการประเภทโดยสาร
ตลอดปี 2023 (เที่ยว)[21]
การ์ดูว์นอร์ 226,768,485
การ์เดอลียง 110,498,896
การ์แซง-ลาซาร์ 103,453,620
การ์มงปานาส 64,471,254
การ์เดอเลสท์ 39,877,017
การ์โดแตร์ลิทซ์ 21,657,509
การ์เดอปารี-แบร์ซี 5,073,990

นอกจากนี้ในปารีสยังมีระบบรถไฟขนส่งมวลชนอยู่หลายระบบเช่น รถไฟชานเมืองทร็องซีเลียงเปิดให้บริการทั้งหมด 9 สาย รถไฟฟ้าปารีสเมโทรเปิดให้บริการแล้ว 14 สาย และอยู่ในระหว่างก่อสร้างอีก 4 สาย รถด่วนชานเมืองแอร์เออแอร์ 5 สาย นอกจากนี้ยังมีรถรางอีล-เดอ-ฟร็องส์ ที่เปิดให้บริการในเส้นทางระยะสั้น (ประมาณ 20 กิโลเมตร) รอบแคว้นอีล-เดอ-ฟร็องส์รวม 14 สาย สำหรับรถบัสมีให้บริการแบ่งเป็นรอบกลางวัน 315 เส้นทางและรอบกลางคืน 52 เส้นทาง


อ้างอิง

[แก้]
  1. "Comparateur de territoire: Unité urbaine 2020 de Paris (00851)" (ภาษาฝรั่งเศส). INSEE. เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 19 January 2021. สืบค้นเมื่อ 10 February 2021.
  2. "Comparateur de territoire: Aire d'attraction des villes 2020 de Paris (001)". INSEE. เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 20 January 2021. สืบค้นเมื่อ 10 February 2021.
  3. "Estimation de la population au 1ᵉʳ janvier 2023 | Insee". www.insee.fr.
  4. "Populations légales 2019 − Commune de Paris (75056) | Insee". www.insee.fr.
  5. "The World's Most Densely Populated Cities". WorldAtlas (ภาษาอังกฤษแบบอเมริกัน). 2020-10-04.
  6. "The world's most, and least, expensive cities". The Economist. ISSN 0013-0613. สืบค้นเมื่อ 2023-09-09.
  7. "The world's most, and least, expensive cities". The Economist. ISSN 0013-0613. สืบค้นเมื่อ 2023-09-09.
  8. "Paris | History Timeline". History Timelines (ภาษาอังกฤษ).
  9. Mutzabaugh, Ben. "The world's 20 busiest airports (2017)". USA TODAY (ภาษาอังกฤษแบบอเมริกัน).
  10. "ratp.fr - Métro2030, our new Paris Metro". web.archive.org. 2016-12-21. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2016-12-21. สืบค้นเมื่อ 2023-09-09.{{cite web}}: CS1 maint: bot: original URL status unknown (ลิงก์)
  11. "The 51 busiest train stations in the world– All but 6 located in Japan". Japan Today (ภาษาอังกฤษ). 2013-02-06.
  12. Mobility, ICLEI Sustainable (2019-11-26). "Paris leads the way for sustainable urban mobility". ICLEI Sustainable Mobility (ภาษาอังกฤษแบบบริติช).
  13. "Paris, France Honored with the 2023 Sustainable Transport Award". Institute for Transportation and Development Policy - Promoting sustainable and equitable transportation worldwide (ภาษาอังกฤษแบบอเมริกัน). 2023-01-10.
  14. "The Art Newspaper", March 27,2023
  15. Centre, UNESCO World Heritage. "Paris, Banks of the Seine". UNESCO World Heritage Centre (ภาษาอังกฤษ).
  16. The City of Antiquity (อังกฤษ)
  17. "Climatological Information for Paris, France". Meteo France. August 2011. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 24 April 2020. สืบค้นเมื่อ 4 April 2017.
  18. "Paris–Montsouris (984)" (PDF). Fiche Climatologique: Statistiques 1981–2010 et records (ภาษาฝรั่งเศส). Meteo France. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิม (PDF)เมื่อ 27 February 2018. สืบค้นเมื่อ 26 February 2018.
  19. "Normes et records 1961–1990: Paris-Montsouris (75) – altitude 75m" (ภาษาฝรั่งเศส). Infoclimat. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 24 August 2017. สืบค้นเมื่อ 19 May 2015.
  20. "Paris, France – Climate data". Weather Atlas. เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 12 March 2017. สืบค้นเมื่อ 9 March 2017.
  21. "Fréquentation en gares". เผยแพร่โดย SNCF. สืบค้นเมื่อ 21 พฤศจิกายน 2024.

ข้อมูล

[แก้]

อ่านเพิ่ม

[แก้]

แหล่งข้อมูลอื่น

[แก้]