ข้ามไปเนื้อหา

เฉฺวียน ฮุ่ยเจี่ย

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
เฉฺวียน ฮุ่ยเจี่ย
全惠解
จักรพรรดินีแห่งง่อก๊ก
ดำรงตำแหน่ง16 กุมภาพันธ์ ค.ศ. 253[1] – พฤศจิกายน ค.ศ. 258
ก่อนหน้าพัวฮูหยิน
ถัดไปจักรพรรดินีจู
ประสูติค.ศ. 244
นครหางโจว มณฑลเจ้อเจียง
สวรรคตป.ต้นทศวรรษ 300
คู่อภิเษกซุนเหลียง
พระราชบิดาจวนเสียง

จักรพรรดินีเฉฺวียน (จีน: 全皇后; พินอิน: Quán Huánghòu; ค.ศ. 244[a]ป. ต้นคริสต์ทศวรรษ 300) หรือ เฉฺวียน ฮุ่ยเจี่ย[3] (จีน: 全惠解; พินอิน: Quán Huìjiě) เป็นจักรพรรดินีของรัฐง่อก๊กในยุคสามก๊กของจีน เป็นพระมเหสีของซุนเหลียงจักรพรรดิลำดับที่ 2 ของง่อก๊ก

พระประวัติ

[แก้]

เฉฺวียน ฮุ่ยเจี่ยเป็นบุตรสาวของจวนเสียง (全尚 เฉวียน ช่าง) มารดาของเฉฺวียน ฮุ่ยเจี่ยเป็นบุตรสาวของซุนหยง (孫恭 ซุน กง) ผู้เป็นหลานชายของซุนเจ้ง (孫靜 ซุน จิ้ง) ญาติของเฉฺวียน ฮุ่ยเจี่ยชื่อจวนจ๋อง (全琮 เฉวียน ฉง) สมรสกับกิมก๋งจู๋หรือซุน หลู่ปาน (孫魯班) พระธิดาของซุนกวนจักรพรรดิผู้ก่อตั้งรัฐง่อก๊ก เมื่อเฉฺวียน ฮุ่ยเจี่ยยังอยู่ในวัยเยาว์ มีความงดงามและเป็นที่โปรดปรานของกิมก๋งจู๋[3] ทุกครั้งที่กิมก๋งจู๋เสด็จเข้าพระราชวัง ก็จะทรงนำเฉฺวียน ฮุ่ยเจี่ยไปด้วยในการเข้าเฝ้าซุนกวนพระบิดา เมื่อเกิดการต่อสู้ชิงอำนาจระหว่างพระโอรส 2 องค์ของซุนกวนคือซุนโฮและซุน ป้า (孫霸) กิมก๋งจู๋ซึ่งมีเรื่องบาดหมางกับพระมารดาของซุนโฮ จึงทูลโน้มน้าวพระบิดาให้จัดงานสมรสระหว่างเฉฺวียน ฮุ่ยเจี่ยและซุนเหลียง (พระโอรสอีกองค์ของซุนกวนที่ประสูติกับพัวฮูหยิน) เพราะซุนเหลียงและพระมารดาได้รับความโปรดปรานจากซุนกวนมากขึ้น เมื่อราวปี ค.ศ. 250 การต่อสู้แย่งชิงอำนาจระหว่างซุนโฮและซุน ป้าสิ้นสุดลงเมื่อซุนกวนปลดซุนโฮจากตำแหน่งรัชทายาท และบังคับซุน ป้าให้กระทำอัตวินิบาตกรรม ซุนเหลียงได้รับการตั้งขึ้นเป็นรัชทายาทของง่อก๊กองค์ใหม่[4]

ในเดือนพฤษภาคม ค.ศ. 252 ซุนเหลียงขึ้นครองราชย์หลังการสวรรคตของพระบิดา ในวันที่ 16 กุมภาพันธ์ ค.ศ. 253 พระองค์สถาปนาเฉฺวียน ฮุ่ยเจี่ยเป็นจักรพรรดินี หลังจากนั้นครอบครัวและญาติของเฉฺวียน ฮุ่ยเจี่ยก็ขึ้นมามีอำนาจ โดยสมาชิก 6 คนของตระกูลเฉฺวียนหรือจวน (รวมถึงจวนเสียง) ได้รับการตั้งให้มีบรรดาศักดิ์ระดับโหว (侯) รวมถึงได้ดำรงตำแหน่งระดับสูงในราชสำนักและกองทัพของง่อก๊ก เรื่องนี้ถือเป็นประวัติการณ์เพราะตั้งแต่การก่อตั้งง่อก๊กในปี ค.ศ. 229 เป็นต้นมา ยังไม่เคยมีกรณีที่พระญาติฝ่ายมเหสีมีบทบาทสำคัญในเวทีการเมืองของง่อก๊กมาก่อน ในปี ค.ศ. 257 เมื่อจูกัดเอี๋ยน (ขุนพลของวุยก๊กที่เป็นรัฐอริของง่อก๊ก) เริ่มก่อกบฏในอำเภอฉิวฉุน (壽春 โช่วชุน; อยู่บริเวณอำเภอโช่ว มณฑลอานฮุยในปัจจุบัน) ในอาณาเขตของวุยก๊ก จูกัดเอี๋ยนขอการสนับสนุนจากง่อก๊ก ซุนเหลียงจึงมีรับสั่งให้ตระกูลจวน (เฉฺวียน) นำพลไปยังฉิวฉุนเพื่อสนับสนุนจูกัดเอี๋ยน แต่ท้ายที่สุดกบฏถูกทัพวุยก๊กปราบปรามและจูกัดเอี๋ยนถูกสังหาร คนจากตระกูลจวน 4 คนยอมจำนนและแปรพักตร์เข้าด้วยวุยก๊ก ทำให้อิทธิพลของตระกูลจวนในง่อก๊กอ่อนแอลงอย่างมาก[5]

ในเดือนพฤศจิกายน ค.ศ. 258 ซุนเหลียงถูกปลดจากราชบัลลังก์โดยซุนหลิม พระญาติของราชวงศ์แห่งง่อก๊กผู้ขึ้นมามีอำนาจในคริสต์ทศวรรษ 250 และขึ้นเป็นผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์แห่งง่อก๊ก ซุนหลังหลังถูกปลดจากราชบัลลังก์เป็นที่รู้จักในฐานันดรศักดิ์ว่า "อ๋องแห่งห้อยเข" (會稽王 ไคว่จีหวาง) ส่วนเฉฺวียน ฮุ่ยเจี่ยก็ถูกปลดจากตำแหน่งจักรพรรดินี ในปี ค.ศ. 260 ซุนฮิว พระเชษฐาต่างมารดาของซุนเหลียงและผู้ขึ้นครองราชย์เป็นจักรพรรดิแห่งง่อก๊กลำดับถัดมา (ผู้กำจัดซุนหลิมหลังขึ้นครองราชย์ในปี ค.ศ. 258) โปรดให้ลดฐานันดรศักดิ์ของซุนเหลียงเป็น "โฮ่วกวานโหว" (候官侯) และส่งซุนเหลียงไปประทับที่อำเภอโฮ่วกวาน (อยู่บริเวณนครฝูโจว มณฑลฝูเจี้ยน) เฉฺวียน ฮุ่ยเจี่ยก็ติดตามซุนเหลียงไปยังอำเภอโฮ่วกวานและประทับอยู่ที่นั่น[6] เฉฺวียน ฮุ่ยเจี่ยกลับมาเกี๋ยนเงียบ (建業 เจี้ยนเย่; ปัจจุบันคือนครหนานจิง มณฑลเจียงซู) นครหลวงของง่อก๊กภายหลังจากง่อก๊กถูกพิชิตในปี ค.ศ. 280 โดยทัพของราชวงศ์จิ้น เฉฺวียน ฮุ่ยเจี่ยถึงแก่กรรมในช่วงศักราชหย่งหนิง (永寧; ค.ศ. 301-302) ในรัชสมัยของจักรพรรดิจิ้นฮุ่ยตี้[3]

ดูเพิ่ม

[แก้]

หมายเหตุ

[แก้]
  1. ยงอานปี่จี้ (庸庵笔记) ระบุว่าเฉฺวียน ฮุ่ยเจี่ยมีพระชนมายุ 10 พรรษา (ตามการนับอายุแบบเอเชียตะวันออก) เมื่อพระองค์ขึ้นเป็นจักรพรรดินีในเดือนกุมภาพันธ์ ค.ศ. 253 ปีประสูติของพระองค์จึงควรเป็นปี ค.ศ. 244 อย่างไรก็ตาม ยงอานปี่จี้ ยังระบุด้วยว่าพระองค์มีพระชนมายุ 18 พรรษา (ตามการนับอายุแบบเอเชียตะวันออก) เมื่อซุนเหลียงสิ้นพระชนม์ (ในปี ค.ศ. 260)[2].

อ้างอิง

[แก้]
  1. วันปิ่งอิ๋น (丙寅) เดือน 1 ในปีที่ 2 ของรัชสมัยซุนเหลียง, จากพระราชประวัติซุนเหลียงในจดหมายเหตุสามก๊ก
  2. (夫人錢唐人,諱惠解,十歲立為吳皇后。吳主既廢,貶號夫人,年十八而廢主卒,崎嶇權臣劇寇之間,卒能保身完節,時議憐之。) ยงอานปี่จี้ เล่มที่ 5.
  3. 3.0 3.1 3.2 (吳錄曰:亮妻惠解有容色,居候官,吳平乃歸,永寧中卒。) อรรถาธิบายจากอู๋ลู่ในสามก๊กจี่ เล่มที่ 50.
  4. (孫亮全夫人,全尚女也。尚從祖母公主愛之,每進見輒與俱。及潘夫人母子有寵,全主自以與孫和母有隙,乃勸權為潘氏男亮納夫人,亮遂為嗣。) สามก๊กจี่ เล่มที่ 50.
  5. (夫人立為皇后,以尚為城門校尉,封都亭侯,代滕胤為太常、衞將軍,進封永平侯,錄尚書事。時全氏侯有五人,並典兵馬,其餘為侍郎、騎都尉,宿衞左右,自吳興,外戚貴盛莫及。及魏大將諸葛誕以壽春來附,而全懌、全端、全煒、全儀等並因此際降魏,全熈謀泄見殺,由是諸全衰弱。) สามก๊กจี่ เล่มที่ 50.
  6. (會孫綝廢亮為會稽王,後又黜為候官侯,夫人隨之國,居候官,尚將家屬徙零陵,追見殺。) สามก๊กจี่ เล่มที่ 50.

บรรณานุกรม

[แก้]
ก่อนหน้า เฉฺวียน ฮุ่ยเจี่ย ถัดไป
พัวฮูหยิน จักรพรรดินีจีน
ง่อก๊ก

(ค.ศ. 253 – 258)
จักรพรรดินีจู