องคชาตมนุษย์

หน้าถูกกึ่งป้องกัน
จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี

องคชาตของมนุษย์
องคชาตขณะอ่อนตัว โดยส่วนของขนหัวหน่าวถูกนำออกไปเพื่อแสดงรายละเอียดทางกายวิภาคศาสตร์
รายละเอียด
คัพภกรรมปุ่มอวัยวะสืบพันธุ์, ส่วนทบอวัยวะเพศและทางเดินปัสสาวะ
หลอดเลือดแดงหลอดเลือดแดงด้านบนขององคชาต, หลอดเลือดแดงลึกขององคชาต, หลอดเลือดแดงของกระเปาะองคชาต
หลอดเลือดดำหลอดเลือดดำด้านบนขององคชาต
ประสาทเส้นประสาทด้านบนขององคชาต
น้ำเหลืองต่อมน้ำเหลืองผิวขาหนีบ
ตัวระบุ
ภาษาละตินpenis, พหุพจน์ penes
MeSHD010413
TA98A09.4.01.001
TA23662
FMA9707
อภิธานศัพท์กายวิภาคศาสตร์

องคชาตของมนุษย์เป็นอวัยวะสอดใส่ระหว่างการสืบพันธุ์ภายนอก และทำหน้าที่เป็นท่อปัสสาวะในมนุษย์เพศชาย ส่วนหลัก ประกอบด้วย ราก (Root หรือ Radix) ลำตัว (Corpus) และ เนื้อเยื่อบุผิวองคชาต ประกอบด้วย หนังบริเวณลำ (shaft) และหนังหุ้มปลายซึ่งห่อหุ้มหัวองคชาต (Glans) ลำตัวขององคชาตเกิดจากเนื้อเยื่อในลักษณะเป็นแท่งสามแท่ง ได้แก่ กล้ามเนื้อคอร์ปุส คาเวอร์โนซุม (Corpus cavernosum) สองมัดที่ด้านบน และกล้ามเนื้อคอร์ปุส สปอนจิโอซุม (Corpus spongiosum) ซึ่งอยู่ระหว่างกลางของกล้ามเนื้อส่วนแรกประกอบกัน ท่อปัสสาวะของมนุษย์เพศชายจะผ่านกลางต่อมลูกหมาก ที่ซึ่งท่อฉีดอสุจิเชื่อมเข้ากับท่อปัสสาวะ และจากนั้นจะผ่านไปที่องคชาต โดยท่อปัสสาวะจะทอดตัวไปในกล้ามเนื้อคอร์ปุส สปอนจิโอซุม และเปิดออกบริเวณรูปัสสาวะ (Meatus) ซึ่งตั้งอยู่บริเวณปลายของหัวองคชาต โดยทำหน้าที่เป็นทางผ่านของทั้งปัสสาวะและการหลั่งของน้ำอสุจิ (ดูเพิ่มเติมที่ ระบบสืบพันธุ์เพศชาย)

การพัฒนาขององคชาตโดยส่วนใหญ่จะมาจากเนื้อเยื่อตัวอ่อนส่วนเดียวกับที่เจริญไปเป็นคริตอริสในเพศหญิง ขณะที่ผิวหนังโดยรอบขององคชาตและท่อปัสสาวะ เจริญมาจากเนื้อเยื่อตัวอ่อนเดียวกันกับที่เจริญไปเป็นแคมเล็กในเพศหญิง[1][2] การแข็งตัว คือ การขยายตัวอย่างแข็งทื่อและการปรับทิศทางในแนวตั้งฉากขององคชาต ซึ่งจะเกิดขึ้นในขณะมีอารมณ์ทางเพศ แต่ก็ยังสามารถเกิดขึ้นในขณะที่ไม่มีอารมณ์ทางเพศได้เช่นกัน และยังมีการแข็งตัวขณะที่ไม่มีอารมณ์ทางเพศตามธรรมชาติ ซึ่งมักเกิดขึ้นช่วงวัยรุ่นและในขณะนอนหลับด้วย ในสถานะอ่อนตัว (flaccid) องคชาตจะมีขนาดเล็กกว่า ไร้ซึ่งแรงดัน และ หัวจะถูกปกคลุมด้วยหนังหุ้มปลายองคชาต ในสถานะแข็งตัวเต็มที่ ลำจะแข็งทื่อและหัวจะมีลักษณะคั่งคัดแต่ไม่ถึงกับแข็งทื่อ องคชาตที่แข็งตัวอาจตั้งในแนวตรงไปด้านหน้าหรือโค้งก็ได้ และอาจมีการตั้งไปมุมด้านบน มุมด้านล่าง หรือ ตรงไปด้านหน้าก็ได้ จากข้อมูลปี พ.ศ. 2558 ขนาดองคชาตของมนุษย์โดยเฉลี่ยขณะแข็งตัวมีความยาว 13.12 เซนติเมตร (5.17 นิ้ว) และมีความยาวเส้นรอบวง 11.66 เซนติเมตร (4.59 นิ้ว)[3][4] ซึ่งทั้งอายุและขนาดขณะอ่อนตัวขององคชาตไม่สามารถใช้คาดการณ์ความยาวของอวัยวะเพศได้อย่างแม่นยำ

รูปแบบการเปลี่ยนแปลงหัวองคชาตที่พบได้บ่อยที่สุดคือ การขลิบหนังหุ้มปลายอวัยวะเพศ และการเจาะ สำหรับการขลิบหนังหุ้มปลายอวัยวะเพศ เป็นการนำส่วนหนึ่งหรือทั้งหมดของหนังหุ้มปลายออกไปด้วยเหตุผลทางวัฒนธรรม ศาสนา และทางการแพทย์ ซึ่งพบได้ไม่บ่อยนัก ขณะที่ยังคงมีการถกเถียงกันในเรื่องของการขลิบหนังหุ้มปลายอยู่ในปัจจุบัน

ความพยายามของนักวิทยาศาสตร์ในการการซ่อมโครงสร้างบางส่วนหรือทั้งหมดขององคชาตมนุษย์ยังคงอยู่ในระหว่างดำเนินการ ผู้ป่วยที่จะได้รับประโยชน์สูงสุดจากวิทยาศาสตร์สาขานี้ ได้แก่ ผู้ป่วยบกพร่องแต่กำเนิด ผู้ป่วยมะเร็ง ผู้ป่วยซึ่งบาดเจ็บอันต้องมีการตัดองคชาตออกบางส่วนหรือทั้งหมด และ ผู้ชายที่ต้องการแปลงลักษณะองคชาตโดยสมัครใจ

กายวิภาคศาสตร์

ภาพตัดขวางแสดงส่วนต่าง ๆ ขององคชาต

ส่วนต่าง ๆ

  • รากองคชาต (Radix): เป็นส่วนที่ทำหน้าที่ยึดเกาะ ประกอบด้วย กระเปาะองคชาตในส่วนตรงกลาง และ ขาองคชาตซึ่งอยู่ประกบทั้งสองด้านของกระเปาะ โดยวางตัวอยู่อย่างตื้นภายในช่องฝีเย็บ ขาองคชาตยึดเกาะอยู่กับกระดูกหัวหน่าวส่วนโค้ง
  • ตัวองคชาต (Corpus): เป็นส่วนย้อยขององคชาต มีสองพื้นผิว ได้แก่ ด้านบน (แนวส่วนบนด้านหลังในองคชาตขณะแข็งตัว) และ ด้านท้องหรือด้านท่อปัสสาวะ (หันไปทางด้านล่างและด้านหลังในองคชาตขณะอ่อนตัว) พื้นผิวด้านท้องนั้นมีลักษณะเด่นชัดจากแนวประสานองคชาต (penile raphe) ที่ฐานของตัวองคชาตถูกรองรับโดยเอ็นแขวนองคชาต ซึ่งยึดเกาะกับแนวประสานกระดูกหัวหน่าว[5]
  • เนื้อเยื่อบุผิวขององคชาต ประกอบด้วย หนังของลำ หนังหุ้มปลายอวัยวะเพศชาย และ เยื่อเมือกหนังหุ้มปลายองคชาต (preputial mucosa) ซึ่งอยู่ด้านในของหนังหุ้มปลายองคชาตและปกคลุมหัวองคชาต โดยเนื้อเยื่อบุผิวนี้มิได้ยึดติดกับลำ ทำให้เป็นอิสระในการเคลื่อนไหวไปมา[6]

โครงสร้าง

องคชาตของมนุษย์เกิดเนื้อเยื่อที่มีลักษณะเป็นแท่งจำนวนสามแท่งประกอบเข้าด้วยกัน ได้แก่ คอร์ปุส คาเวอร์โนซุมจำนวนสองแท่งวางตัวอยู่ติดกันในด้านบน และ คอร์ปุส สปอนจิโอซุมจำนวนหนึ่งแท่งวางตัวอยู่ระหว่างคอร์ปุส คาเวอร์โนซุมทั้งสองแท่งในด้านท้อง[7] คอร์ปุส คาเวอร์โนซุมนั้นเป็นส่วนหลักที่ก่อตัวเป็นองคชาต และมีหลอดเลือดซึ่งจะถูกเติมด้วยเลือดเพื่อช่วยสร้างการแข็งตัว[8] โดยมีขาองคชาตเป็นส่วนปลายของคอร์ปุส คาเวอร์โนซุมทั้งสอง ส่วนคอร์ปุส สปอนจิโอซุมเป็นเนื้อเยื่อพองยุบได้ที่ห่อหุ้มท่อปัสสาวะ บริเวณปลายส่วนต้นเป็นกระเปาะองคชาตและปลายส่วนปลายเป็นหัวองคชาต[5]

การขยายใหญ่ขึ้นและมีลักษณะคล้ายกระเปาะของปลายด้านนอกของคอร์ปุส สปอนจิโอซุมนั้น ทำให้เกิดเป็นหัวองคชาตขึ้นพร้อมกับโพรงเล็กสองประเภทเฉพาะขึ้น ซึ่งทำหน้าที่รองรับหนังหุ้มปลายองคชาต อันเป็นผิวหนังที่มีลักษณะหลวม ในวัยผู้ใหญ่สามารถร่นกลับไปเพื่อแสดงหัวองคชาตได้[9] พื้นที่ด้านใต้ขององคชาตบริเวณที่หนังหุ้มปลายองคชาตยึดเกาะอยู่ เรียกว่า เส้นสองสลึง ฐานรูปกลมของหัวองคชาต เรียกว่า โคโรนา และ แนวประสานฝีเย็บ คือ เส้นที่เห็นได้อย่างชัดเจนไปตามด้านล่างขององคชาต

แผนภาพกายวิภาคขององคชาตมนุษย์

ท่อปัสสาวะ เป็นส่วนสุดท้ายของระบบขับถ่ายปัสสาวะ จะผ่านเข้าไปในคอร์ปุส สปอนจิโอซุม และเปิดออกในบริเวณส่วนที่เรียกว่า ช่องปัสสาวะ ซึ่งวางตัวอยู่ปลายสุดของหัวองคชาต ทำหน้าที่เป็นทางผ่านของทั้งปัสสาวะและน้ำอสุจิ ตัวอสุจิถูกสร้างขึ้นในอัณฑะและถูกเก็บไว้ในเอพิดิไดมิสที่อยู่ติดกัน ในระหว่างการหลั่งน้ำอสุจิ ตัวอสุจิจะถูกขับออกไปสู่หลอดนำอสุจิ ซึ่งมีลักษณะเป็นหลอดสองหลอดที่ผ่านบริเวณด้านบนและด้านหลังของกระเพาะปัสสาวะ ถุงน้ำอสุจิจะเพิ่มของเหลวเข้าสู่น้ำอสุจิ และหลอดนำอสุจิจะรวมเข้ากับถุงน้ำอสุจิเป็นท่อฉีดอสุจิ ซึ่งจะเชื่อมเข้ากับท่อปัสสาวะที่อยู่ภายในต่อมลูกหมาก โดยต่อมลูกหมากและต่อมบัลโบยูรีทรัลจะเติมสิ่งคัดหลั่งเพิ่มเติมเข้าสู่น้ำอสุจิ และน้ำอสุจิจะถูกขับออกผ่านทางองคชาต

แนวประสานเป็นส่วนที่มองเห็นได้เป็นแนวกลางขององคชาตซึ่งแบ่งองคชาตออกเป็นข้างซ้ายขวา โดยพบได้ทางด้านล่างหรือด้านท้องขององคชาต แนวนี้จะทอดตัวจากช่องปัสสาวะผ่านถุงอัณฑะไปยังฝีเย็บ (พื้นที่ระหว่างถุงอัณฑะและทวารหนัก)[10]

องคชาตของมนุษย์ต่างจากองคชาตของสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมอื่นส่วนมาก ตรงที่ไม่มี Baculum หรือกระดูกอวัยวะเพศ โดยมีการทดแทนด้วยการกักเลือดให้คั่งอยู่เพื่อให้เกิดภาวะแข็งตัว เอ็นส่วนปลายที่ค้ำยันหัวองคชาตนั้นมีส่วนสำคัญอย่างยิ่งต่อโครงสร้างของกระดูกองคชาต โครงสร้างดังกล่าวเรียกว่า "os analog" ซึ่งคำนี้ชื่อเกิงหรงได้บัญญัติไว้ในสารานุกรมการสืบพันธุ์[11] โดยเป็นส่วนที่เหลือมาจาก baculum อันเกิดจากการวิวัฒนาการด้านการเปลี่ยนแปลงการสืบพันธุ์[12]

องคชาตมนุษย์ไม่สามารถหดกลับลงไปในบริเวณขาหนีบได้ และใหญ่กว่าค่าเฉลี่ยในอาณาจักรสัตว์ตามสัดส่วนมวลกาย องคชาตของมนุษย์สามารถเปลี่ยนลักษณะได้ ตั้งแต่อ่อนนุ่มเหมือนผ้าฝ้ายไปจนถึงแข็งเหมือนกระดูกที่แข็งทื่อ ซึ่งเป็นผลมาจากการไหลของเลือดแดงที่ต่างกันไประหว่าง 2–3 ถึง 60–80 มล./นาที ซึ่งแสดงถึงสภาวะที่เหมาะสมที่สุดตามกฎของปาสกาลในร่างกายมนุษย์ทั้งหมด ทำให้เป็นโครงสร้างที่มีเอกลักษณ์เฉพาะตัว[11]

ขนาด

การวัดขนาดองคชาตนั้นแปรปรวน ทั้งนี้การศึกษาที่อาศัยการวัดด้วยตนเอง จะมีการรายงานขนาดองคชาตโดยเฉลี่ยยาวกว่าอย่างมีนัยสำคัญ เมื่อเทียบกับการวัดที่ถูกกระทำโดยผู้เชี่ยวชาญด้านสุขภาพ ในปี พ.ศ. 2558 การปริทัศน์เป็นระบบของผู้ชาย 15,521 คน (และเป็นงานวิจัยที่ดีที่สุดในหัวข้อ เนื่องจากกลุ่มตัวอย่างได้รับการวัดโดยผู้เชี่ยวชาญด้านสุขภาพ) ได้ข้อสรุปว่า ความยาวโดยเฉลี่ยขององคชาตมนุษย์ขณะแข็งตัวอยู่ที่ 13.12 เซนติเมตร (5.17 นิ้ว) ขณะที่ความยาวเส้นรอบวงโดยเฉลี่ยขององคชาตมนุษย์ขณะแข็งตัวอยู่ที่ 11.66 เซนติเมตร (4.59 นิ้ว)[3][4]

ท่ามกลางบรรดาไพรเมต องคชาตของมนุษย์นั้นใหญ่ที่สุดในด้านเส้นรอบวง แต่สามารถเทียบกันได้กับองคชาตของชิมแปนซีและองคชาตของไพรเมตชนิดอื่นในด้านความยาว[13] ขนาดขององคชาตได้รับผลกระทบจากพันธุกรรม แต่ยังอาจเกี่ยวข้องกับปัจจัยแวดล้อมด้วย เช่น การใช้ยาด้านภาวะเจริญพันธุ์[14] และการสัมผัสกับสารเคมีหรือมลพิษ[15][16][17] ขณะที่เอกสารทางการระบุว่า องคชาตของมนุษย์ที่ยาวที่สุดนั้นถูกพบโดยนายแพทย์โรเบิร์ต แลทู ดิกคินสัน มีความยาว 34.3 เซนติเมตร (13.5 นิ้ว) และมีความยาวเส้นรอบวง 15.9 เซนติเมตร (6.26 นิ้ว)[18]

รูปแบบปกติ

องคชาตรูปแบบต่าง ๆ
  • ผื่นนูนพีพีพี (Pearly penile papules) เป็นการเกิดติ่งเนื้อเล็ก ๆ ขึ้นรอบฐาน (ร่อง) ของหัวองคชาตโดยปกติจะเกิดขึ้นในผู้ชายอายุ 20 ถึง 40 ปี ในปี ค.ศ. 1999 การศึกษาพบว่าภาวะนี้มีโอกาสเกิดขึ้นในผู้ชายทุกคน 8 ถึง 48 เปอร์เซ็นต์[19] บางครั้งอาจถูกเข้าใจผิดว่าเป็นหูด แต่ทั้งนี้ไม่มีอันตรายหรือการติดเชื้อและไม่จำเป็นต้องรักษา[20]
  • จุดฟอร์ไดร์ซ เป็นจุดขนาดเล็ก นูนกว่าบริเวณโดยรอบ มีสีขาวเหลือง ขนาดเส้นผ่านศูนย์กลาง 1–2 มม. บางครั้งอาจปรากฏบนองคชาต ซึ่งเป็นเรื่องปกติและไม่มีการติดเชื้อ
  • ผื่นต่อมไขมัน (Sebaceous prominences) เป็นจุดที่นูนขึ้นกว่าบริเวณโดยรอบคล้ายกับจุดฟอร์ไดร์ซบนลำองคชาต ตั้งอยู่บนต่อมไขมันและเป็นเรื่องปกติ
  • หนังหุ้มปลายองคชาตตีบ (Phimosis) เป็นอาการที่ไม่สามารถดึงหนังหุ้มปลายได้อย่างเต็มที่ ซึ่งเป็นเรื่องปกติและไม่เป็นอันตรายในวัยเด็กถึงวัยเด็กโต เกิดขึ้นประมาณ 8% ของเด็กผู้ชายอายุ 10 ปี ตามที่สมาคมแพทย์อังกฤษ ระบุว่าการรักษา (ด้วยครีมสเตียรอยด์เฉพาะที่ และ/หรือ การยืดด้วยมือ) จะไม่ถูกใช้จนกว่าจะอายุ 19 ปี
  • การโค้ง: องคชาตจะไม่ตรงอย่างสมบูรณ์ ด้วยความโค้งที่พบได้บ่อยในทุกทิศทาง (ขึ้น, ลง, ซ้าย หรือ ขวา) บางครั้งที่ความโค้งอาจโดดเด่นมาก แต่ไม่ได้ยับยั้งการร่วมเพศ ส่วนโค้งที่มากกว่า 30 องศา ในทางการแพทย์ถือว่าเป็นเรื่องปกติและไม่ค่อยต้องรักษา เว้นแต่มีมุมเกิน 45 องศา ทั้งนี้การเปลี่ยนแปลงความโค้งขององคชาตอาจเกิดจากโรคเพโรนีย์ได้เช่นกัน

การพัฒนา

ระยะในการพัฒนาของระบบสืบพันธุ์เพศชายในลักษณะภายนอก

ความแตกต่างระหว่างอวัยวะเพศของเพศหญิงและเพศชาย

ในการพัฒนาของทารกในครรภ์ ปุ่มอวัยวะสืบพันธุ์จะเจริญขึ้นไปเป็นส่วนหัวขององคชาตในเพศชาย และเป็นคริตอริสในเพศหญิง ซึ่งถือว่าเป็นอวัยวะที่มีมีต้นกำเนิดเดียวกัน ส่วนทบอวัยวะเพศและทางเดินปัสสาวะ (urogenital fold) จะเจริญขึ้นไปเป็นผิวหนังโดยรอบลำองคชาตและท่อปัสสาวะในเพศชาย และเจริญไปเป็นแคมเล็กในเพศหญิง[1] โดยคอร์ปุส คาเวอร์โนซุมทั้งสองแท่งเป็นส่วนที่มีต้นกำเนิดเดียวกันของตัวคริตอริส ส่วนคอร์ปุส สปอนจิโอซุมเป็นส่วนที่มีต้นกำเนิดเดียวกันกับกระเปาะเวสทิบูลาร์ (vestibular bulbs) ซึ่งอยู่ใต้แคมเล็ก ส่วนถุงอัณฑะมีต้นกำเนิดเดียวกันกับแคมใหญ่ และหนังหุ้มปลายองคชาตนั้นมีต้นกำเนิดเดียวกันกับปลอกหุ้มคริตอริส[1][21] ส่วนแนวประสานนั้นไม่พบในเพศหญิงเพราะทั้งสองด้านไม่ได้เชื่อมกัน

การเจริญของอวัยวะเพศชายและวัยเริ่มเจริญพันธุ์

เมื่อเข้าสู่วัยเริ่มเจริญพันธุ์ องคชาต ถุงอัณฑะ และอัณฑะจะมีขนาดใหญ่ขึ้นต่อจนครบอายุ ในกระบวนการนั้น ขนหัวหน่าวจะขึ้นบริเวณเหนือและรอบ ๆ องคชาต จากการศึกษาขนาดอวัยวะเพศชายจำนวนมากในผู้ชายอายุ 17 ถึง 19 ปี กว่าพันคน ไม่พบความแตกต่างระหว่างขนาดเฉลี่ยขององคชาตระหว่างอายุ 17 ถึง 19 ปี จึงทำให้สามารถสรุปได้ว่าการเจริญของอวัยวะเพศชายจะสมบูรณ์ไม่เกินอายุ 17 ปี หรือก่อนหน้านั้น[22]

หน้าที่ทางสรีรวิทยา

การถ่ายปัสสาวะ

ภาพวาดการถ่ายปัสสาวะของปูเอร์มินเจนส์ โดยอันนีบาเล การ์รัชชี เมื่อปี ค.ศ. 1600 ณ วังฟาร์เนเซ

ในเพศชาย การขับปัสสาวะออกจากร่างกายจะเสร็จสิ้นผ่านทางองคชาต โดยท่อปัสสาวะระบายน้ำออกจากกระเพาะปัสสาวะ ผ่านต่อมลูกหมาก ซึ่งเป็นจุดที่เชื่อมต่อกับท่อฉีดอสุจิ และต่อลงไปยังองคชาตต่อไป ที่รากขององคชาต (ใกล้กับจุดสิ้นสุดของคอร์ปุส สปอนจิโอซุม) ที่อยู่ตรงกล้ามเนื้อหูรูดภายนอก โดยเป็นหูรูดขนาดเล็กของเนื้อเยื่อกล้ามเนื้อลายและในผู้ชายสุขภาพดีสามารถควบคุมได้โดยสมัครใจ การผ่อนคลายหูรูดท่อปัสสาวะช่วยให้ปัสสาวะในท่อปัสสาวะตอนบน ไหลเข้าสู่องคชาตอย่างถูกต้องและทำให้กระเพาะปัสสาวะว่าง

ทางสรีรวิทยา การถ่ายปัสสาวะเกี่ยวพันกับการประสานงานกันระหว่างระบบประสาทส่วนกลาง ระบบประสาทอัตโนวัติ และ ระบบประสาทโซมาติก ในทารกหรือผู้สูงอายุบางคนที่มีอาการบาดเจ็บของระบบประสาท การถ่ายปัสสาวะอาจเกิดขึ้นในฐานะรีเฟล็กซ์โดยไม่สมัครใจ ศูนย์สมองที่ควบคุมการปัสสาวะ ได้แก่ ศูนย์ถ่ายปัสสาวะพอนทีน (Pontine micturition center), เนื้อเทาพีเรียคืวดักทัล (Periaqueductal gray) และ เปลือกสมอง[23] ในระหว่างการแข็งตัว ศูนย์เหล่านี้จะยับยั้งการผ่อนคลายของกล้ามเนื้อหูรูด เพื่อทำหน้าที่แยกทางสรีรวิทยาระหว่างการขับถ่ายและการสืบพันธุ์ขององคชาต และป้องกันไม่ให้ปัสสาวะไหลเข้าไปอยู่ในท่อปัสสาวะระหว่างการหลั่งน้ำอสุจิ[24]

ตำแหน่งถ่ายทิ้ง

ส่วนปลายของท่อปัสสาวะช่วยให้มนุษย์เพศชายปัสสาวะได้โดยตรงโดยผ่านองคชาต ความยืดหยุ่นช่วยให้เพศชายสามารถจัดท่าทางในการปัสสาวะได้ ในวัฒนธรรมที่มีการสวมใส่เสื้อผ้าเป็นอย่างน้อย องคชาตจะช่วยให้เพศชายสามารถปัสสาวะในขณะยืนอยู่ได้โดยไม่ต้องถอดเสื้อผ้า บางธรรมเนียมสำหรับเด็กผู้ชายและผู้ชายบางคนอาจปัสสาวะในท่านั่งหรือหมอบ ซึ่งท่าทางดังกล่าวอาจได้รับอิทธิพลมาจากความเชื่อทางศาสนาหรือวัฒนธรรม[25] งานวิจัยทางการแพทย์ยังพบท่าทางอื่นนอกเหนือจากท่าทางที่มีอยู่ แต่ข้อมูลนั้นเป็นแบบวิวิธพันธุ์ การวิเคราะห์อภิมาน[26] สรุปหลักฐานที่พบว่าไม่มีท่าทางที่นอกเหนือจากนั้นในวัยหนุ่มและผู้ชายที่มีสุขภาพดี อย่างไรก็ตาม สำหรับชายสูงอายุที่มีกลุ่มอาการระบบทางเดินปัสสาวะต่ำ (Lower urinary tract symptoms) ท่านั่งเมื่อเทียบกับท่ายื่นแล้วจะแตกต่างกันดังนี้:

  • ปริมาณที่เหลือภายหลังการถ่ายทิ้ง (Post void residual; PVR, มิลลิลิตร) ลดลงอย่างมีนัยสำคัญ
  • การไหลของปัสสาวะสูงสุด (Qmax, มิลลิลิตรต่อวินาที) เพิ่มขึ้น
  • เวลาการถ่ายทิ้ง (Void time; VT, วินาที) ลดลง

ข้อมูลปัสสาวะพลวัตนี้สัมพันธ์กับการลดความเสี่ยงของภาวะแทรกซ้อนทางระบบประสาท เช่น การติดเชื้อในระบบทางเดินปัสสาวะ และนิ่วในกระเพาะปัสสาวะ

การแข็งตัว

การพัฒนาของอวัยวะเพศชายในขณะแข็งตัว แสดงให้เห็นถึงหนังหุ้มปลายองคชาต (Foreskin) ที่ค่อย ๆ ถอนออกจนปรากฏให้เห็นหัวองคชาต (Glans)
ดูเพิ่มเติม: ภาพในคอมมอนส์
ภาพมุมมองด้านท้องขององคชาตขณะอ่อนตัว (ภาพซ้าย) และภาพขณะแข็งตัว (ภาพกลาง) และภาพมุมมองด้านบนขององคชาตขณะแข็งตัว (ภาพขวา)

การแข็งตัวขององคชาต คือ การแข็งทื่อและยกตัวสูงขึ้นขององคชาต ซึ่งจะเกิดขึ้นในขณะมีอารมณ์ทางเพศ แต่ก็สามารถเกิดขึ้นในขณะที่ไม่มีอารมณ์ทางเพศได้เช่นกัน การแข็งตัวขององคชาตอาจเกิดขึ้นได้บ่อยครั้งในช่วงวัยรุ่นเนื่องจากการเสียดสีกับเสื้อผ้า การเต็มของกระเพาะปัสสาวะหรือลำไส้ใหญ่ ความแปรปรวนของฮอร์โมน ความตื่นกลัว และการถอดเสื้อผ้าแม้อยู่ในสถานการณ์ที่ไม่ข้อเกี่ยวกับทางเพศ นอกจากนี้การแข็งตัวยังอาจเกิดขึ้นระหว่างนอนหลับและในตอนตื่นนอนได้เช่นกัน (ดูที่องคชาตแข็งตัวขณะหลับ) กลไกทางสรีรวิทยาที่เกี่ยวข้องกับการแข็งตัวขององคชาตคือการกว้างขึ้นอัตโนมัติของหลอดเลือดแดงที่นำเลือดไปหล่อเลี้ยงยังองคชาต ซึ่งจะช่วยให้เลือดไหลเข้าไปได้มากขึ้นเพื่อเติมเต็มเนื้อเยื่อฟองน้ำภายในองคชาต ทำให้องคชาตยาวและแข็งทื่อขึ้น เนื้อเยื่อของอวัยวะเพศในขณะนี้ได้ขยายมากขี้นจนไปกดหลอดเลือดดำที่นำเลือดออกจากองคชาต ทำให้เลือดที่ไหลเข้าสู่องคชาตมีปริมาณมากกว่าเลือดที่ไหลออกจากองคชาต จนกระทั่งถึงสภาวะสมดุลที่ปริมาตรการไหลของเลือดที่ไหลเข้ามายังหลอดเลือดแดงที่ขยายออกและเลือดที่ไหลออกจากหลอดเลือดดำที่ถูกกดนั้นเท่ากัน ขนาดการแข็งตัวที่เกิดขึ้นตลอดเวลาเป็นความสำเร็จของดุลยภาพนี้ และถุงอัณฑะอาจจะกระชับมากขึ้นด้วยในระหว่างการแข็งตัว

การแข็งตัวช่วยอำนวยความสะดวกในการร่วมเพศ แม้ว่าจะไม่จำเป็นสำหรับกิจกรรมทางเพศบางประเภทก็ตาม

องศาการแข็งตัว

แม้ว่าองคชาตโดยมากจะแข็งตัวขึ้นไปด้านบน (ดังภาพตัวอย่างประกอบ) แต่เป็นเรื่องธรรมดาและปกติที่เมื่อองคชาตแข็งตัวจะขี้ไปในลักษณะแนวเกือบตั้งขึ้นหรือเกือบตั้งลงในแนวนอนหรือแม้แต่ในแนวตรง ทั้งหมดนั้นจะขึ้นอยู่กับความตึงของเอ็นแขวนองคชาตที่ยึดองคชาตให้อยู่ในตำแหน่งดังกล่าว

ตารางต่อไปนี้แสดงให้เห็นถึงมุมต่าง ๆ ในท่ายืนของเพศชาย โดยเป็นตัวอย่างจากผู้ชาย 81 คน อายุระหว่าง 21 ถึง 67 ปี โดยในตารางนี้ ค่าศูนย์องศาจะชี้ตรงกับช่องท้อง, 90 องศาจะเป็นแนวนอนและชี้ตรงไปด้านหน้า ขณะที่ 180 องศาจะชี้ตรงลงไปที่เท้า ซึ่งส่วนมากแล้วมักเป็นมุมชี้ขึ้น[27]

การเกิดของมุมขณะแข็งตัว
มุม (°)
จากแนวตั้งขึ้น
เปอร์เซ็นต์
ของเพศชาย
0-30 4.9
30-60 29.6
60-85 30.9
85-95 9.9
95-120 19.8
120-180 4.9

การหลั่งน้ำอสุจิ

การหลั่งน้ำอสุจิคือการขับดันของน้ำอสุจิจากองคชาต ซึ่งมักเกิดขึ้นพร้อมกับความเสียวสุดยอดทางเพศ การหดตัวเป็นชุดของกล้ามเนื้อช่วยส่งน้ำอสุจิ ซึ่งบรรทุกเซลล์สืบพันธุ์เพศชาย ที่รู้จักกันว่า เซลล์อสุจิ หรือสเปิร์มาโตซูน (Spermatozoon) จากองคชาต มักเป็นผลมาจากการการกระตุ้นทางเพศ ซึ่งอาจรวมถึงการกระตุ้นต่อมลูกหมาก และจากอาการโรคต่อมลูกหมากโตซึ่งพบได้ยาก การหลั่งน้ำอสุจิอาจเกิดขึ้นตามธรรมชาติในระหว่างการนอน (รู้จักกันว่าฝันเปียก) ส่วน Anejaculation เป็นภาวะของการที่ไม่สามารถหลั่งน้ำอสุจิได้

การหลั่งน้ำอสุจิมีสองขั้นตอน คือ การปล่อยออกมา และ การหลั่งน้ำอสุจิอย่างสมบูรณ์ ขั้นตอนการปล่อยออกมาของรีเฟล็กซ์การหลั่งน้ำอสุจิอยู่ภายใต้การควบคุมของระบบประสาทพาราซิมพาเทติก ขณะที่ขั้นตอนการหลั่งน้ำอสุจิอยู่ภายใต้การควบคุมของรีเฟล็กซ์เอ็นลึกที่ระดับของประสาทไขสันหลัง S2–4 ผ่านประสาทอวัยวะเพศ ระยะดื้อจากความสำเร็จในการหลั่งน้ำอสุจิและการกระตุ้นทางเพศที่มีมาก่อน[28]

การดัดแปลงการวิวัฒน์

องคชาตของมนุษย์ได้รับการถกเถียงกันว่ามีการปรับตัวในหลายการวิวัฒนาการ ซึ่งวัตถุประสงค์ในการะปรับตัวเหล่านี้คือเพื่อเพิ่มความสำเร็จในการสืบพันธุ์และลดการแข่งขันของอสุจิ การแข่งขันของอสุจิคือ เมื่อตัวอสุจิของผู้ชายสองคนพร้อมกันที่อยู่ภายในระบบสืบพันธุ์เพศหญิง และพวกมันจะแข่งกันเพื่อไปปฏิสนธิกับไข่[29] ถ้าผลการแข่งขันของอสุจิคือ อสุจิของเพศชายคู่แข่งได้เข้าไปปฏิสนธิกับไข่ อาจจะเกิดการมีชู้ของภรรยาขึ้น นี่เป็นกระบวนการที่เพศชายลงทุนทรัพยากรของตนให้กับลูกหลานของชายอื่นโดยไม่รู้ และทำให้เกิดการวิวัฒนาการขึ้นเพื่อเลี่ยงกรณีดังกล่าว[30]

งานวิจัยส่วนใหญ่พบการปรับตัวขององคชาตมนุษย์และขนาดอัณฑะ การปรับเปลี่ยนการหลั่งน้ำอสุจิ และการเคลื่อนของน้ำอสุจิ[31]

ลูกอัณฑะและขนาดองคชาต

การวิวัฒนาการได้ก่อให้เกิดการคัดเลือกทางเพศ โดยเกิดการปรับตัวขึ้นในขนาดองคชาตและขนาดอัณฑะเพื่อให้เกิดความสำเร็จในการสืบพันธุ์สูงสุดและให้เกิดการแข่งขันของอสุจิน้อยที่สุด[32][33]

การแข่งขันของอสุจิเป็นสาเหตุให้เกิดการวิวัฒน์ในความยาวและขนาดขององคชาตมนุษย์เพื่อการเก็บรักษาตัวอสุจิและการเคลื่อนย้าย[33] เพื่อให้บรรลุเป้าหมายนี้ องคชาตจะต้องมีความยาวเพียงพอที่จะเข้าถึงตัวอสุจิคู่แข่งใด ๆ และเติมเต็มช่องคลอดให้ได้มากที่สุด[33] เพื่อให้มั่นใจว่าเพศหญิงนั้นจะยังคงมีตัวอสุจิของเพศชายเหลืออยู่ การปรับตัวในด้านความยาวขององคชาตมนุษย์จึงเกิดขึ้นเพื่อให้การหลั่งน้ำอสุจิเกิดขึ้นใกล้กับคอมดลูก[34] โดยจะสำเร็จได้เมื่อเกิดการล่วงล้ำขึ้นอย่างสมบูรณ์ และองคชาตจะถูกผลักให้ชนกับคอมดลูก[35] การปรับตัวนี้ได้เกิดขึ้นเพื่อให้การปล่อยและคงไว้ซึ่งอสุจิไปยังจุดสูงสุดของระบบทางเดินช่องคลอด เป็นผลให้การปรับตัวนี้ยังทำให้ตัวอสุจิไม่เสี่ยงต่อการเคลื่อนย้ายและการสูญเสียน้ำอสุจิ เหตุผลอีกประการในการปรับตัวนี้มาจากลักษณะของท่าทางตามธรรมชาติของมนุษย์ ซึ่งแรงโน้มถ่วงได้สร้างความเสี่ยงต่อการสูญเสียน้ำอสุจิ ดังนั้นองคชาตที่ยาวจะเข้าไปเกิดการหลั่งน้ำอสุจิภายในระบบทางเดินช่องคลอดที่ลึก และสามารถลดการสูญเสียน้ำอสุจิได้[36]

อีกทฤษฎีการวิวัฒนาการของขนาดองคชาต คือ การเลือกคู่ของเพศหญิงและความคิดเชื่อมโยงกับการตัดสินทางสังคมในสังคมปัจจุบัน[33][37] การศึกษาภาพแสดงการเลือกคู่ของเพศหญิงซึ่งมีอิทธิพลต่อการนำเสนอขนาดองคชาตต่อเพศหญิงด้วยขนาด การหมุน การสร้างเพศชายขึ้นด้วยคอมพิวเตอร์ ซึ่งเหล่านี้จะแตกต่างกันไปในระดับความสูง รูปร่าง และขนาดองคชาตขณะอ่อนตัว ด้วยที่ว่ามุมมองเหล่านี้เป็นตัวอย่างของความเป็นชาย[33] การจัดอันดับความน่าดึงดูดใจโดยเพศหญิงสำหรับเพศชายแต่ละคนเผยให้เห็นว่าขนาดองคชาตที่ใหญ่เกี่ยวข้องกับอันดับที่สูงขึ้นในความน่าดึงดูดใจ[33] ความสัมพันธ์ระหว่างองคชาตและความน่าสนใจจึงได้นำไปสู่ความสัมพันธ์ระหว่างขนาดองคชาตและความเป็นชายพบได้บ่อยในสื่อที่เป็นที่นิยม[37] สิ่งนี้ได้นำไปสู่อคติทางสังคมที่ว่าขนาดองคชาตที่ใหญ่จะเป็นที่ต้องการและมีสถานะทางสังคมที่สูงขึ้น อันเป็นภาพสะท้อนในเรื่องการเชื่อมโยงกันระหว่างความกล้าหาญและขนาดองคชาตของเพศชาย และการตัดสินทางสังคมว่าขนาดองคชาตมีความสัมพันธ์กับ 'ความเป็นลูกผู้ชาย'[37]

เช่นเดียวกับองคชาต การแข่งขันของอสุจินั้นทำให้อัณฑะเกิดการวิวัฒนาการด้านขนาดด้วยวิธีการคัดเลือกทางเพศเช่นกัน[32] ลักษณะนี้หมายความว่าการที่อัณฑะมีขนาดใหญ่เป็นตัวอย่างของการปรับตัวในการคัดเลือกทางเพศ อัณฑะของมนุษย์มีขนาดปานกลางเมื่อเปรียบเทียบกับสัตว์อื่น เช่น กอริลลาและชิมแปนซี ซึ่งอยู่ตรงสักที่หนึ่งในตรงกลาง[38] อัณฑะที่มีขนาดใหญ่นั้นเป็นประโยชน์ในการแข่งขันของอสุจิ เนื่องจากความสามารถในการผลิตการหลั่งอสุจิที่มากกว่า[39] การวิจัยแสดงให้เห็นว่ามีความสัมพันธ์กันเชิงบวกอยู่ ระหว่างจำนวนของตัวอสุจิที่ถูกหลั่งและขนาดของอัณฑะ[39] อัณฑะที่มีขนาดใหญ่กว่ายังแสดงให้เห็นถึงมีการพยากรณ์คุณภาพอสุจิที่ดีขึ้น รวมถึงจำนวนของตัวอสุจิที่เคลื่อนไหวและเคลื่อนที่ที่มากกว่า[32]

การวิจัยยังอธิบายให้เห็นอีกว่าการปรับตัวของขนาดอัณฑะนั้นจะขึ้นอยู่กับระบบการผสมพันธุ์ (Breeding system) ในแต่ละถิ่นที่อยู่ของสปีชีส์[40] ระบบการผสมพันธุ์ตัวผู้ตัวเดียว (Single-male breeding systems) หรือ สังคมการมีคู่สมรสคนเดียว มีแนวโน้มที่จะมีขนาดอัณฑะเล็กกว่าในระบบการผสมพันธุ์แบบตัวผู้หลายตัว (Multi-male breeding systems) มนุษย์นั้นอยู่ในสังคมการมีคู่สมรสคนเดียวเหมือนกับกอริลลา ดังนั้น ขนาดของอัณฑะจึงมีขนาดเล็กกว่าเมื่อเปรียบเทียบกับอันดับวานรที่มีระบบการผสมพันธุ์แบบตัวผู้หลายตัว อย่างเช่น ชิมแปนซี สาเหตุที่ทำให้เกิดความแตกต่างในขนาดอัณฑะนั้น จึงเพื่อการประสบความสำเร็จในการสืบพันธุ์ในระบบการผสมพันธุ์แบบตัวผู้หลายตัว ตัวผู้จึงต้องมีความสามารถในการสร้างการหลั่งอสุจิอย่างเต็มอย่างต่อเนื่อง[32] อย่างไรก็ตาม นี่ไม่ใช่กรณีของสังคมการมีคู่สมรสคนเดียว ซึ่งการลดลงในการหลั่งเพื่อผสมพันธุ์นั้นไม่มีมีผลกระทบกับความสำเร็จในการสืบพันธุ์[32] สิ่งนี้ได้สะท้อนให้เห็นในมนุษย์ ที่จำนวนการหลั่งของอสุจิจะลดลงถ้าหากเกิดการหลั่งขึ้นมากกว่า 3 ถึง 5 ครั้งต่อสัปดาห์[41]

การปรับเปลี่ยนในการหลั่งน้ำอสุจิ

หนึ่งในวิธีหลักที่การหลั่งน้ำอสุจิในเพศชายมีการวิวัฒน์นั้นก็เพื่อเอาชนะในการแข่งขันของอสุจิ โดยผ่านความเร็วที่ตัวอสุจิใช้ในการเดินทาง การหลั่งน้ำอสุจิสามารถเดินทางได้ไกลถึง 30–60 เซนติเมตรในแต่ละครั้ง เมื่อรวมกับการวางตำแหน่งในตำแหน่งสูงสุดของทางช่องคลอดแล้ว จึงเป็นการเพิ่มโอกาสให้เพศชายที่ไข่จะได้รับการปฏิสนธิโดยตัวอสุจิของเขา (เมื่อเทียบกับตัวอสุจิของคู่แข่งที่มีประสิทธิภาพ) ดังนั้นจึงเป็นการเพิ่มความมั่นใจสูงสุดในการเป็นพ่ออย่างแน่นอน (paternal certainty)[36]

นอกจากนี้ เพศชายยังสามารถและทำการปรับการหลั่งของตนเพื่อตอบสนองต่อการแข่งขันของอสุจิได้ ตามความได้เปรียบอย่างสูงสุดในการจับคู่กับเพศหญิงคนหนึ่งด้วย[42] การวิจัยได้มุ่งเน้นไปที่วิธีพื้นฐานสองวิธีที่เพศชายจะประสบความสำเร็จในเรื่องนี้ นั่นคือ การปรับทางด้านขนาดของการหลั่งน้ำอสุจิ และการปรับในด้านคุณภาพของการหลั่งน้ำอสุจิ

ขนาด

จำนวนของตัวอสุจิที่ออกมาในแต่ละการหลั่งน้ำอสุจิจะแตกต่างกันไป[43] การเปลี่ยนแปลงนี้ถูกตั้งสมมติฐานว่าเป็นความพยายามของเพศชายเพื่อกำจัด หากไม่มีการลดลงของการแข่งขันของอสุจิ โดยเพศชายจะเปลี่ยนแปลงจำนวนของตัวอสุจิที่ส่งเข้าไปผสมในเพศหญิง ตามระดับการรับรู้ของการแข่งขันของอสุจิ[31] โดยจะมีการผสมเชื้อ (inseminating) ตัวอสุจิเป็นจำนวนที่มาก หากเพศชายนั้นสงสัยว่าจะมีระดับการแข่งขันของอสุจิที่สูงจากชายอื่น

เพื่อสนับสนุนการปรับเปลี่ยนในการหลั่งน้ำอสุจิ การวิจัยแสดงให้เห็นว่า เพศชายมักจะเพิ่มจำนวนตัวอสุจิเข้าสู่คู่ของเขา หลังจากที่ถูกแยกกันเป็นระยะเวลาหนึ่ง[44] ลักษณะนี้พบได้เป็นส่วนใหญ่ เนื่องจากความจริงที่ว่าคู่ที่มีเวลาให้กันน้อยกว่าจะมีโอกาสที่เพศหญิงจะได้รับการผสมโดยเพศชายคนอื่นเพิ่มขึ้น[45] การแข่งขันของอสุจิจึงมีมากกว่า การเพิ่มจำนวนของตัวอสุจิที่เพศชายส่งเข้าไปผสมในเพศหญิง จะทำหน้าที่กำจัดตัวอสุจิในเพศหญิงใด ๆ ที่อาจถูกเก็บไว้ภายในเพศหญิงที่เป็นผลมาจากการมีคู้ซ้อน (Extra-pair copulation; EPC) ในระหว่างการแยกกัน ด้วยการเพิ่มจำนวนของตัวอสุจิหลังจากการแยก จะทำให้เพศชายนั้นเพิ่มความมั่นใจสูงสุดในการเป็นพ่ออย่างแน่นอน (paternal certainty) ได้ ส่วนการเพิ่มจำนวนของตัวอสุจิที่เพศชายสร้างเพิ่มขึ้นเพื่อตอบสนองต่อการแข่งขันของอสุจินั้น ไม่ได้ถูกสังเกตในส่วนการหลั่งน้ำอสุจิจากการสำเร็จความใคร่ด้วยตนเอง[31]

คุณภาพ

เพศชายยังมีการปรับการหลั่งน้ำอสุจิเพื่อตอบสนองต่อการแข่งขันของอสุจิในแง่ของคุณภาพด้วย โดยมีงานวิจัยที่ได้แสดงให้เห็นในเรื่องนี้ ตัวอย่างเช่น การดูภาพทางเพศอย่างชัดเจนที่มีเพศหญิงจำนวนหนึ่งคนและเพศชายจำนวนสองคน (กล่าวคือ มีการแข่งขันของอสุจิสูง) สามารถที่จะทำให้เพศชายสร้างจำนวนตัวอสุจิที่เคลื่อนไหวได้มากกว่าการดูภาพทางเพศอย่างชัดเจนที่มีเพศหญิงจำนวนสามคน (กล่าวคือ มีการแข่งขันของตัวอสุจิต่ำ)[46] เช่นเดียวกับการเพิ่มจำนวน การเพิ่มคุณภาพของตัวอสุจิที่เพศชายส่งไปผสมในเพศหญิงนั้นจะช่วยเพิ่มความมั่นใจสูงสุดในการเป็นพ่ออย่างแน่นอน (paternal certainty) ได้ เมื่อการแข่งขันของอสุจินั้นสูง

คุณภาพรูปแบบปรากฏของเพศหญิง

คุณภาพรูปแบบปรากฏของเพศหญิง คือ ปัจจัยสำคัญในการลงทุนหลั่งน้ำอสุจิ (ejaculate investment) ของเพศชาย[47] การวิจัยพบว่า เพศชายจะผลิตการหลั่งน้ำอสุจิในปริมาณมากขึ้น ซึ่งมีตัวอสุจิที่เคลื่อนไหวได้ดีกว่าและเร็วกว่า เมื่อผสมพันธุ์กับเพศหญิงที่มีคุณภาพสูงกว่า[42] ทั้งนี้เพื่อลดการแข่งขันของอสุจิลง เนื่องจากเพศหญิงที่มีเสน่ห์ดึงดูดมากกว่ามักจะถูกเข้าหาและเกิดการผสมโดยเพศชายมากกว่าเพศหญิงที่มีเสน่ห์ดึงดูดน้อยกว่า[48] ดังนั้น การเพิ่มปริมาณและคุณภาพในการหลั่งน้ำอสุจิของเพศชายจึงเป็นประโยชน์เมื่อจับคู่กับเพศหญิงที่มีเสน่ห์มาก เนื่องจากทำให้มีแนวโน้มในความสำเร็จในการสืบพันธุ์สูงสุดด้วย โดยการประเมินรูปแบบปรากฏของเพศหญิง เพศชายจะสามารถตัดสินใจได้ว่าจะลงทุน (หรือลงทุนมากยิ่งขึ้น) กับเพศหญิงคนใดคนหนึ่งหรือไม่ ซึ่งจะส่งผลต่อการปรับเปลี่ยนในการหลั่งน้ำอสุจิในภายหลัง

การเคลื่อนย้ายน้ำอสุจิ

คาดกันว่ารูปร่างองคชาตของมนุษย์วิวัฒนาการขึ้นโดยเป็นผลมาจากการแข่งขันของอสุจิ[49] การเคลื่อนย้ายน้ำอสุจิเป็นการปรับรูปร่างขององคชาต เพื่อดึงน้ำอสุจิของชายอื่นให้ออกห่างจากคอมดลูก ซึ่งหมายถึงว่า ในกรณีที่มีตัวอสุจิของเพศชายคู่แข่งอยู่ในระบบสืบพันธุ์เพศหญิง องคชาตของมนุษย์มีความสามารถในการแทนที่ตัวอสุจิของคู่แข่งด้วยตัวอสุจิของตัวเอง[50]

การเคลื่อนย้ายน้ำอสุจิมีประโยชน์หลักสองประการ ได้แก่ ประการแรก การเคลื่อนย้ายตัวอสุจิของคู่แข่ง ทำให้ความเสี่ยงของการที่ตัวอสุจิของคู่แข่งจะปฏิสนธิกับไข่ลดลง ซึ่งจะช่วยลดความเสี่ยงของการแข่งขันของอสุจิลง[51] ประการที่สอง เพศชายจะแทนที่ตัวอสุจิของคู่แข่งด้วยอสุจิของตัวเอง ดังนั้นจึงเพิ่มโอกาสในการปฏิสนธิกับไข่และสืบพันธุ์กับเพศหญิงสำเร็จ อย่างไรก็ตาม เพศชายต้องมั่นใจว่าพวกเขาจะไม่เคลื่อนย้ายตัวอสุจิของเขาเอง ซึ่งเชื่อกันว่าการที่องคชาตสูญเสียการแข็งตัวไปอย่างรวดเร็วหลังจากหลั่งน้ำอสุจิ ภาวะองคชาตไวสัมผัสเกินหลังการหลั่งน้ำอสุจิ และการดันเข้าไปอย่างตื้น ๆ และช้าของเพศชายหลังการหลั่งน้ำอสุจินั้นจะช่วยป้องกันสิ่งดังกล่าว[50]

แนวโคโรนาเป็นส่วนขององคชาตมนุษย์ที่คาดว่ามีวิวัฒนาการขึ้นเพื่อช่วยในการเคลื่อนย้ายน้ำอสุจิ การวิจัยได้ศึกษาถึงจำนวนน้ำอสุจิที่ถูกแทนที่ด้วยองคชาตจำลองรูปทรงต่าง ๆ นั้นต่างกันอย่างไร[51] การวิจัยแสดงให้เห็นว่า เมื่อรวมกับการดันเข้าไปแล้ว แนวโคโรนาขององคชาตสามารถขจัดน้ำอสุจิของคู่แข่งออกจากระบบสืบพันธ์ุเพศหญิงได้ โดยการบังคับให้น้ำอสุจิให้อยู่ใต้เส้นสองสลึงของแนวโคโรนา ทำให้เกิดการสะสมขึ้นบริเวณลำด้านหลังแนวโคโรนา[51] และเมื่อใช้องคชาตจำลองที่ไม่มีแนวโคโรนา พบว่าน้ำอสุจิจำลองจำนวนน้อยลงกว่าครึ่งถูกแทนที่ เมื่อเทียบกับองคชาตที่มีแนวโคโรนา[51]

อย่างไรก็ตาม การมีอยู่ของแนวโคโรนาเพียงอย่างเดียวนั้นไม่เพียงพอสำหรับการเคลื่อนย้ายน้ำอสุจิที่มีประสิทธิภาพ ทั้งนี้ต้องมีการผลักเข้าอย่างเหมาะสมด้วยจึงจะประสบความสำเร็จ แสดงให้เห็นว่า ยิ่งมีการดันเข้าไปลึกเท่าใด จำนวนน้ำอสุจิที่จะถูกเคลื่อนย้ายก็มีมากเท่านั้น และไม่มีการเคลื่อนย้ายน้ำอสุจิเกิดขึ้นในการดันเข้าไปอย่างตื้น ๆ[51] บางส่วนจึงเรียกการคันเข้าไป (thrusting) ว่าเป็นพฤติกรรมการเคลื่อนย้ายน้ำอสุจิ[52]

พฤติกรรมที่เกี่ยวข้องกับการเคลื่อนย้ายน้ำอสุจิ ได้แก่ การดันเข้าไป (จำนวนครั้งของการดันและความลึกของการดัน) และ ระยะเวลาของการมีเพศสัมพันธ์[52] แสดงให้เห็นแตกต่างกันไปตามการรับรู้ถึงความเสี่ยงในการนอกใจของคู่ครองของเพศชายว่ามีมากหรือไม่มี ทั้งเพศชายและเพศหญิงมีรายงานพฤติกรรมการเคลื่อนย้ายน้ำอสุจิมากขึ้นภายหลังการกล่าวหาว่านอกใจ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ภายหลังจากการกล่าวหาว่านอกใจ ทั้งเพศชายและเพศหญิงรายงานว่าการมีเพศสัมพันธ์นั้น มีการดันเข้าไปลึกและเร็วขึ้นในระหว่างการมีเพศสัมพันธ์[51]

มีการแนะนำว่าการขริบหนังหุ้มปลายองคชาตส่งผลต่อการเคลื่อนย้ายตัวอสุจิ โดยการขริบจะทำให้แนวโคโรนาเด่นชัดขึ้น และมีการตั้งสมมติฐานว่าการขริบจะทำให้การเคลื่อนย้ายน้ำอสุจินั้นดีขึ้น[36] ข้อสังเกตนี้ได้รับการสนับสนุนโดยรายงานของเพศหญิงที่มีเพศสัมพันธ์กับเพศชายที่ขริบแล้ว โดยเพศหญิงรายงานว่า น้ำหล่อลื่นช่องคลอดนั้นลดน้อยลงเมื่อมีเพศสัมพันธ์กับชายที่ขริบแล้ว และชายที่ขริบแล้วจะดันเข้าไปลึกมากกว่า[53] ดังนั้นจึงมีข้อเสนอแนะว่า แนวโคโรนาที่เด่นชัดกว่ารวมกับการดันเข้าไปที่ลึกกว่านั้น จะทำให้สารคัดหลั่งในช่องคลอดของเพศหญิงเกิดการเคลื่อนย้ายไปในทางลักษณะเดียวกับตัวอสุจิของคู่แข่ง[36]

นัยสำคัญทางคลินิก

ความผิดปกติ

  • หนังหุ้มปลายองคชาตบวม (Paraphimosis) เป็นอาการที่ไม่สามารถย้ายหนังหุ้มปลายกลับลงไปคลุมส่วนหัวได้ อาจเกิดจากของเหลวซึ่งติดค้างอยู่ภายในหนังหุ้มปลายนั้น บางครั้งอาจเป็นไปตามขั้นตอนทางการแพทย์ หรืออาจเป็นการสะสมของของเหลวในหนังหุ้มปลาย อันเกิดจากแรงเสียดทานจากกิจกรรมทางเพศที่รุนแรง
  • องคชาตโค้งงอ (Peyronie's disease) เป็นอาการที่มีแผลเป็นที่ผิดปกติเกิดขึ้นในเนื้อเยื่ออ่อนขององคชาต ทำให้เกิดความโค้งขึ้น หากเป็นกรณีที่รุนแรงสามารถแก้ไขได้ด้วยการผ่าตัด
  • ภาวะการเกิดลิ่มเลือด (Thrombosis) สามารถเกิดขึ้นได้ในช่วงเวลาที่มีกิจกรรมทางเพศบ่อยครั้งและยืดเยื้อ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง การเฟอเลชิโอ โดยปกติจะไม่อันตรายและสามารถหายได้ด้วยตนเองภายในไม่กี่สัปดาห์
  • การติดเชื้อไวรัสเริม (Herpes) สามารถเกิดขึ้นได้หลังจากการมีเพศสัมพันธ์กับผู้ที่ติดเชื้อนี้ ซึ่งอาจนำไปสู่การพฒนาของแผลพุพองจากเริม
  • การกดทับเส้นประสาทหว่างขา เป็นภาวะที่มีอาการปวดเกิดขึ้นเมื่อนั่ง และสูญเสียความรู้สึกที่องคชาตและการถึงจุดสุดยอดทางเพศ บางครั้งอาจเกิดการสูญเสียความรู้สึกทั้งหมด เส้นประสาทหว่างขาสามารถได้รับบาดเจ็บจากความแคบ, จากการนั่งเบาะจักรยานที่แข็ง และอุบัติเหตุ นอกจากนี้ยังสามารถเกิดขึ้นกับคลิตอริสของเพศหญิงได้ด้วย
  • องคชาตหัก (Penile fracture) สามารถเกิดขึ้นได้ หากองคชาตที่แข็งตัวนั้นเกิดการโค้งงอมากจนเกินไป โดยปกติเสียงป็อกหรือเสียงของหักและความเจ็บปวดนั้นเกี่ยวข้องกับเหตุการณ์นี้ ควรได้รับการช่วยเหลือฉุกเฉินด้านการแพทย์โดยเร็วที่สุด การได้รับความช่วยเหลือจากแพทย์อย่างทันเวลา ช่วยลดความโค้งมนที่จะเกิดขึ้นกับองคชาตถาวรได้
  • ปลายประสาทอักเสบจากเบาหวาน สามารถทำให้เกิดอาการเหน็บชาในผิวองคชาต และความรู้สึกอาจลดลงหรือหายไปอย่างสมบูรณ์
  • ภาวะหย่อนสมรรถภาพทางเพศ คือ การไม่สามารถพัฒนาและรักษาการแข็งตัวขององคชาตให้เพียงพอต่อความพึงพอใจทางเพศได้ สาเหตุสำคัญอาจเกิดจากเบาหวาน หรือเกิดขึ้นตามวัย การบำบัดนั้นมีหลากวิธี ที่โดดเด่นที่สุด คือ การใช้ยาสารยับยั้งพีดีอี5 (เช่น ซิลเดนาฟิล ซิเตรต หรือ ไวอากา) ซึ่งทำหน้าที่เป็นยาขยายหลอดเลือด
  • ภาวะองคชาตแข็งค้าง เป็นภาวะทางการแพทย์ที่มีความเจ็บปวดและอาจมีอันตราย เนื่องจากองคชาตที่แข็งตัวไม่กลับไปสู่ภาวะอ่อนตัว ภาวะแข็งค้างที่เกิดขึ้นนานกว่าสี่ชั่วโมงเป็นภาวะฉุกเฉินทางการแพทย์ กลไกที่เป็นสาเหตุนั้นยังไม่กระจ่างนัก แต่มันเกี่ยวข้องกับปัจจัยของระบบประสาทและหลอดเลือดที่มีความซับซ้อน ภาวะแทรกซ้อนที่อาจจะเกิดขึ้น คือ การขาดเลือดเฉพาะที่, ภาวะการเกิดลิ่มเลือด และภาวะหย่อนสมรรถภาพทางเพศ ในกรณีที่มีความร้ายแรงอาจส่งผลให้เกิดเนื้อตายเน่า ซึ่งอาจเป็นผลให้มีการการตัดอวัยวะออก อย่างไรก็ตาม โดยปกติมักจะเป็นกรณีที่ถ้าอวัยวะเกิดการชำรุดและเกิดอาการเจ็บเพราะมัน ปัจจัยนั้นมีความเกี่ยวข้องกับความหลากหลายของยาที่ใช้ รวมถึง โพรสตาแกลนดินด้วย ซึ่งขัดกับความรู้สึกทั่วไปที่ ซิลเดนาฟิล (ไวอากา) นั้นจะไม่ก่อให้เกิดอาการนี้[54]
  • ลิมฟาจิโอสคลีโรซิส (Lymphangiosclerosis) เป็นการแข็งของหลอดน้ำเหลือง แม้ว่าจะสามารถให้ความรู้สึกเหมือนเป็นการแข็งขึ้นจนเกือบจะเป็นการจับของหินปูน (calcified) หรือเป็นเส้นใยแบบหลอดเลือดดำ อย่างไรก็ตาม มันมีแนวโน้มที่จะไม่มีสีน้ำเงินร่วมกับหลอดเลือดดำ โดยอาจรู้สึกได้เป็นก้อนแข็งหรือเป็น "หลอดเลือดดำ" แม้ในขณะที่องคชาตอ่อนตัว และอาการลักษณะดังกล่าวจะโดดเด่นมากขึ้นในขณะที่องคชาตแข็งตัว ถือเป็นเงื่อนไขทางกายภาพที่ไม่ร้าย (benign) ถือเป็นเรื่องทั่วไป และสามารถทำกิจกรรมทางเพศได้ตามปกติ และมีแนวโน้มที่จะหายไปหากได้รับการพักผ่อนและการดูแลอย่างอ่อนโยน เช่น การใช้สารหล่อลื่น
  • มะเร็งองคชาต (Carcinoma of the penis) พบได้ยาก มีรายงานพบในสัดส่วน 1 ต่อ 100,000 คนในประเทศพัฒนาแล้ว บางแหล่งข้อมูลระบุว่าการขลิบนั้นสามารถป้องกันมะเร็งองคชาตได้ แต่แนวคิดนี้ยังเป็นข้อขัดแย้งกันในวงการแพทย์[55]

ความผิดปกติทางการพัฒนา

รูเปิดท่อปัสสาวะต่ากว่าปกติ

การถูกกล่าวหาและความผิดปกติที่สังเกตได้ทางจิตวิทยา

  • โรคจู๋ (Penis panic) ในภาษามาเลเซีย/ภาษาอินโดนีเซียเรียกว่า โคโร (koro) เป็นภาพลวงตาที่เกิดเห็นองคชาตหดลงและหดหลับเข้าไปในร่างกาย ความผิดปกตินี้เหมือนจะมีเงื่อนไขทางวัฒนธรรมและมักจำกัดอยู่ภายในประเทศกานา ประเทศซูดาน ประเทศจีน ประเทศญี่ปุ่น ประเทศในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ และประเทศในแอฟริกาตะวันตก
  • ในเดือนเมษายน พ.ศ. 2551 ในเมืองกินชาซา สาธารณรัฐประชาธิปไตยคองโกในแอฟริกาตะวันตก ตำรวจได้จับกุมผู้ต้องสงสัยจำนวน 14 คน (จากการวิ่งราวองคชาต) และหมอผีซึ่งถูกกล่าวหาว่าใช้มนต์ดำหรือเวทมนตร์คาถาในการขโมย (ทำให้หายไป) หรือทำให้องคชาตของผู้ชายหดหายไปเพื่อรีดไถเงิน ท่ามกลางความตื่นตระหนกของหมู่ชน การจับกุมนั้นเกิดขึ้นเพื่อหลีกเลี่ยงการนองเลือดด้วย ดังกรณีในประเทศกานา เมื่อสิบปีก่อน โดยที่มีองคชาตของชายจำนวน 12 คนถูกวิ่งราวไป ซึ่งผู้วิ่งราวองคชาตนั้นถูกรุมประชาทัณฑ์จนถึงแก่ความตายโดยกลุ่มผู้ชุมนุม[57]
  • ความอิจฉาองคชาต (Penis envy) เป็นแย้งความเชื่อของซีคมุนท์ ฟร็อยท์ ที่เชื่อว่าผู้หญิงทุกคนมีความอิจฉาตามธรรมชาติที่ผู้ชายมีองคชาต

สังคมและวัฒนธรรม

เทศกาลแห่ลึงค์ในประเทศญี่ปุ่น
ชายชาวปาปัวสวมปลอกองคชาตตามธรรมเนียม

การดัดแปลง

บางครั้งองคชาตอาจถูกเจาะหรือตกแต่งด้วยศิลปะบนเรือนร่าง นอกเหนือจากการขริบแล้ว การดัดแปลงองคชาตเกือบจะเป็นตัวเลือกในระดับสากล และมักมีจุดประสงค์เพื่อความงามหรือเพิ่มความอ่อนไหว การเจาะองคชาต ประกอบด้วย แบบเจ้าชายอัลเบิร์ต อะพัดราวยา อัมปาลลัง ดีโด การเจาะเส้นสองสลึง ขณะที่การฟื้นฟูหนังหุ้มปลายองคชาตหรือการยืดหนังหุ้มปลาย เป็นอีกรูปแบบหนึ่งของการดัดแปลงร่างกาย เช่นเดียวกับการปลูกถ่ายบริเวณใต้ลำขององคชาต

หญิงข้ามเพศที่ผ่านการผ่าตัดแปลงเพศจะได้รับการดัดแปลงองคชาตให้เป็นช่องคลอดผ่านการศัลยกรรมตกแต่งช่องคลอด ขณะที่ชายข้ามเพศจะมีการแปลงผ่านศัลยกรรมตกแต่งองคชาต

ในแนวทางปฏิบัติอื่น ๆ ซึ่งเปลี่ยนแปลงองคชาตก็อาจเกิดขึ้นได้เช่นกัน แม้ว่าจะพบได้ยากในสังคมตะวันตกโดยไม่มีอาการป่วยใด ๆ ที่วินิจฉัยได้ นอกเหนือจากการตัดองคชาตแล้ว สิ่งที่รุนแรงที่สุดคือการผ่าใต้องคชาตซึ่งจะแยกท่อปัสสาวะออกตามแนวด้านล่างขององคชาต การผ่าใต้องคชาตเกิดขึ้นในหมู่ชนพื้นเมืองออสเตรเลีย แม้ว่าจะพบได้ในบางคนในสหรัฐและยุโรป

การขริบ

มุมมองด้านบนขององคชาตที่ขริบแล้ว: (1) ลำ, (2) แผลเป็นจากการขริบหนังหุ้มปลายองคชาต, (3) โคโรนา, (4) หัว, (5) ช่องปัสสาวะ

รูปแบบที่พบได้บ่อยที่สุดของการดัดแปลงอวัยวะเพศคือการขริบหนังหุ้มปลายองคชาต ซึ่งเป็นการนำหนังหุ้มปลายองคชาตออกบางส่วนหรือทั้งหมดด้วยเหตุผลด้านวัฒนธรรม ศาสนา และ เหตุผลทางการแพทย์ซึ่งพบได้น้อย สำหรับการขริบในทารกจะมีอุปกรณ์ที่ทันสมัย เช่น คีมหนีบกอมโก พลาสติเบลล์ และ คีมหนีบมอเกน เป็นเครื่องมือช่วย[58]

อุปกรณ์ที่ทันสมัยทั้งหมดจะมีการปฏิบัติตามขั้นตอนพื้นฐานที่เหมือนกัน ขั้นแรก ประเมินปริมาณหนังหุ้มปลายองคชาตที่จะนำออก จากนั้นเปิดหนังหุ้มปลายออกทางรูเปิดเพื่อเผยให้เห็นหัวที่อยู่ด้านล่าง และเพื่อให้มั่นใจว่าทุกสิ่งปกติ เยื่อบุด้านในของหนังหุ้มปลายองคชาตจะถูกแยกออกจากการยึดเกาะกับหัวองคชาต จากนั้นวางอุปกรณ์ (ซึ่งบางครั้งต้องมีการกรีดทางด้านหลังขององคชาต) และค้างไว้เช่นนั้นจนกว่าเลือดจะหยุดไหล ในที่สุด ส่วนหนึ่งหรือทั้งหมดของหนังหุ้มปลายจะถูกนำออกไป

การขริบในวัยผู้ใหญ่มักทำได้โดยไม่ต้องใช้คีมหนีบ และต้องงดการสำเร็จความใคร่ด้วยต้นเองหรือการมีเพศสัมพันธ์เป็นเวลา 4 ถึง 6 สัปดาห์หลังจากการผ่าตัดเพื่อให้แผลหายดี[59] ในประเทศแอฟริกาบางประเทศ การขริบมักดำเนินการโดยบุคลากรที่ไม่ใช่แพทย์ และมักอยู่ในภาวะที่ไม่ผ่านการฆ่าเชื้อ[60] หลังจากการขริบในโรงพยาบาลแล้ว อาจมีการใช้หนังหุ้มปลายองคชาตในการวิจัยทางการแพทย์[61] มีการจ่ายผลิตภัณฑ์ดูแลผิว[62] การปลูกถ่ายผิวหนัง[63][64][65] หรือ การให้ยากลุ่มอินเตอร์เฟียรอน[66] บางส่วนของทวีปแอฟริกา จะมีการจุ่มหนังหุ้มปลายของผู้เข้ารับการขริบลงในบรั่นดี และให้ผู้เข้ารับการขริบ ผู้ป่วยรับประทาน หรือให้สัตว์กิน[67] ตามกฎหมายยิว หลังจากพิธีบริทมีลาแล้ว จะต้องนำหนังหุ้มปลายองคชาตไปฝังไว้[68]

การขริบนั้นถูกโต้เถียงกันอยู่โดยทั่วไป โดยมีข้อสนับสนุนเกี่ยวกับการขริบหนังหุ้มปลาย เช่น ประโยชน์ในด้านสุขภาพที่สำคัญซึ่งมีมากกว่าความเสี่ยง ไม่มีผลกระทบมากเกินไปต่อการเจริญพันธุ์ อัตราการเกิดอาการแทรกซ้อนต่ำเมื่อได้รับการดำเนินการโดยแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ และช่วงที่ดำเนินการได้ดีที่สุดคือตอนเป็นทารกแรกเกิด[69] และข้อโต้แย้งเกี่ยวกับการขริบหนังหุ้มปลายองคชาต เช่น การปฏิบัติยังคงถูกปกป้องผ่านตำนานต่าง ๆ การขริบรบกวนการเจริญพันธุ์ตามปกติ ความเจ็บปวดอย่างมาก และในกรณีที่ทำกับเด็กทารกย่อมถือได้ว่าเป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชนของเด็กผู้นั้น[70]

สมาคมการแพทย์อเมริกันระบุไว้ในปี พ.ศ. 2542 ว่า "ถ้อยแถลงนโยบายปัจจุบันเกือบทั้งหมดจากสมาคมและองค์การทางการแพทย์นั้น ไม่แนะนำให้ทำการขริบแก่ทารกแรกเกิดซึ่งทำกันอย่างเป็นประจำ และสนับสนุนการให้ข้อมูลที่ถูกต้องและเป็นกลางแก่ผู้ปกครองเพื่อเป็นทางเลือก"[71]

ปี พ.ศ. 2550 องค์การอนามัยโลก โดยโครงการร่วมสหประชาชาติเกี่ยวกับเอชไอวี/เอดส์และศูนย์ควบคุมโรคติดต่อสหรัฐ ระบุว่า มีหลักฐานบ่งชี้ว่าการขริบในเพศชายช่วยลดความเสี่ยงการติดเชื้อเอชไอวีในเพศชายลงได้อย่างมากในระหว่างการมีเพศสัมพันธ์ทางช่องคลอด แต่ยังระบุด้วยว่าการขริบหนังหุ้มปลายนั้นช่วยป้องกันเพียงบางส่วนเท่านั้น และไม่ควรนำมาใช้เป็นวิธีการป้องกันการแพร่เชื้่อเอชไอวี[72][73] นอกจากนี้ แพทย์บางคนยังแสดงความกังวลเกี่ยวกับนโยบายและข้อมูลสนับสนุนเหล่านั้นด้วย[74][75]

การซ่อมที่เป็นไปได้

ความพยายามโดยนักวิทยาศาสตร์ในการการซ่อมโครงสร้างบางส่วนหรือทั้งหมดขององคชาตมนุษย์ยังคงดำเนินอยู่ในปัจจุบัน[76][77][78][79] ผู้ป่วยที่จะได้รับประโยชน์สูงสุดจากวิทยาศาสตร์สาขานี้ ได้แก่ ผู้ป่วยแต่กำเนิด ผู้ป่วยมะเร็ง ผู้ป่วยที่ถูกตัดส่วนของอวัยวะเพศออก และผู้ชายที่ต้องการย้อนการดัดแปลงที่เกิดขึ้น เช่น การขริบ[77][80][81] บางองค์กรที่ดำเนินงานวิจัยหรือการซ่อมนี้ ได้แก่ สถาบันเวกฟอเรสต์เพื่อเวชศาสตร์ฟื้นฟู และ กระทรวงกลาโหมสหรัฐ[80][81] นอกจากนี้ยังมีบริษัทฟอเรเจน ซึ่งเป็นบริษัทชีวเวชสัญชาติอิตาลีที่พยายามซ่อมแถบย่น เส้นสองสลึง และ เยื่อเมือกหนังหุ้มปลายองคชาตด้วย[77][82]

การผ่าตัดด้วยการอัลโลทรานสแพลนท์องคชาตที่สำเร็จเป็นครั้งแรกเกิดขึ้นในเดือนกันยายน พ.ศ. 2548 ในโรงพยาบาลทหารในกว่างโจว ประเทศจีน[83] ผู้ป่วยเป็นชายอายุ 44 ปีซึ่งได้รับบาดเจ็บจากอุบัติเหตุและองคชาตได้ถูกตัดขาดไป การปัสสาวะเป็นไปได้ยากลำบากเนื่องจากท่อปัสสาวะบางส่วนของผู้ป่วยถูกปิดกั้น จึงได้มีการเลือกการปลูกถ่ายขึ้นจากชายอายุ 23 ปีที่เสียชีวิตจากสมองตายเมื่อไม่นานนัก แม้จะมีการฝ่อของหลอดเลือดและเส้นประสาท แต่หลอดเลือดแดง หลอดเลือดดำ เส้นประสาท และคอร์ปัส สปอนจิโอซุมนั้นเข้ากันได้อย่างดี แต่ในวันที่ 19 กันยายน (สองสัปดาห์ให้หลัง) การผ่าตัดก็ถูกย้อนกลับ เนื่องจากปัญหาทางจิตใจอย่างรุนแรง (ปฏิกิริยาปฏิเสธสิ่งปลูกถ่าย) จากตัวผู้รับและภรรยา[84]

ในปี พ.ศ. 2552 เฉิน, เอเบอร์ลี, ยู และ อาตาลา คณะนักวิจัยได้ทำการวิศวชีวกรรมองคชาตและได้ปลูกถ่ายลงในกระต่าย[85] โดยสัตว์นั้นยังคงมีการแข็งตัวขององคชาตและผสมพันธุ์ได้อยู่ และมีกระต่าย 10 จาก 12 ตัวที่สามารถหลั่งน้ำอสุจิได้ การศึกษานี้แสดงให้เห็นว่าในอนาคตอาจสามารถสร้างองคชาตเทียมขึ้นเพื่อการผ่าตัดปลูกถ่ายอวัยวะหรือการศัลยกรรมตกแต่งองคชาต ในปี 2558 การผ่าตัดปลูกถ่ายองคชาตสำเร็จได้เป็นครั้งแรกที่เคปทาวน์ ประเทศแอฟริกาใต้ หลังจากการผ่าตัดเป็นเวลาเก้าชั่วโมงโดยศัลยแพทย์จากมหาวิทยาลัยสเทลเลนโบสช์และโรงพยาบาลไทเกอร์เบิร์ก ผู้ป่วยวัย 21 ปีซึ่งได้รับการปลูกถ่ายองคชาตนั้นเคยมีกิจกรรมทางเพศได้ปกติ จนกระทั้งสูญเสียองคชาตไปจากการขริบที่ไม่เรียบร้อยเมื่ออายุ 18 ปี[86]

อ้างอิง

  1. 1.0 1.1 1.2 Keith L. Moore, T. V. N. Persaud, Mark G. Torchia, The Developing Human: Clinically Oriented Embryology 10th Ed. Elsevier Health Sciences, 2015 ISBN 9780323313483, pp 267-69
  2. Richard E. Jones; Kristin H. Lopez (28 September 2013). Human Reproductive Biology. Academic Press. p. 352. ISBN 978-0-12-382185-0.
  3. 3.0 3.1 "Is Your Penis Normal? There's a Chart for That - RealClearScience".
  4. 4.0 4.1 Veale, D.; Miles, S.; Bramley, S.; Muir, G.; Hodsoll, J. (2015). "Am I normal? A systematic review and construction of nomograms for flaccid and erect penis length and circumference in up to 15 521 men". BJU International. 115 (6): 978–986. doi:10.1111/bju.13010. PMID 25487360.
  5. 5.0 5.1 Richard L. Drake; A. Wayne Voglz; Adam W. M. Mitchell (8 March 2019). Gray's anatomy for students fourth edition. Elsevier. p. 461,501,502. ISBN 978-0323393041.
  6. "Video of gliding action".
  7. Bannister LH, Dyson M. Reproductive system. In: Williams PL, ed. Gray's Anatomy. London: Churchill Livingstone; 1995:1857. OCLC 45217979.
  8. "corpus cavernosum". U.S.gov. Feb 2011. สืบค้นเมื่อ 13 Feb 2022.
  9. Hsu GL, Brock G, von Heyden B, Nunes L, Lue TF, Tanagho EA (May 1994). "The distribution of elastic fibrous elements within the human penis". British Journal of Urology. 73 (5): 566–571. doi:10.1111/j.1464-410X.1994.tb07645.x. PMID 8012781.
  10. Snell RS. The perineum. In: Snell RS, ed. Clinical Anatomy. Philadelphia, Pa: Lippincott Williams & Wilkins; 2004:430–431. Baltimore, MD Lippincott Williams & Wilkins. 2006. ISBN 9780781791649.
  11. 11.0 11.1 "M. K. Skinner (Ed.), Encyclopedia of Reproduction. vol. 1, pp. 367–375. Academic Press: Elsevier". Academic Press.
  12. "Why Humans Lost Their Penis Bone". Science. 13 December 2016.
  13. Dixson, A. F. (2009). Sexual selection and the origins of human mating systems. Oxford University Press. pp. 61–65. ISBN 9780191569739.
  14. Center of Disease Control. "DES Update: Consumers". สืบค้นเมื่อ 2013-11-07.
  15. Swan SH, Main KM, Liu F, และคณะ (August 2005). "Decrease in anogenital distance among male infants with prenatal phthalate exposure". Environmental Health Perspectives. 113 (8): 1056–61. doi:10.1289/ehp.8100. PMC 1280349. PMID 16079079.
  16. Montague, Peter. "PCBs Diminish Penis Size". Rachel's Hazardous Waste News. 372. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2012-03-03.
  17. "Hormone Hell". DISCOVER. สืบค้นเมื่อ 2008-04-05.
  18. Dickinson, R.L. (1940). The Sex Life of the Unmarried Adult. New York: Vanguard Press.[ต้องการเลขหน้า]
  19. Brown, Clarence William (February 13, 2014). "Pearly Penile Papules: Epidemiology". Medscape. สืบค้นเมื่อ 2014-03-08.
  20. Spots on the penis
  21. Richard E. Jones; Kristin H. Lopez (28 September 2013). Human Reproductive Biology. Academic Press. ISBN 978-0-12-382185-0.
  22. Ponchietti R, Mondaini N, Bonafè M, Di Loro F, Biscioni S, Masieri L (February 2001). "Penile length and circumference: a study on 3,300 young Italian males". European Urology. 39 (2): 183–6. doi:10.1159/000052434. PMID 11223678.
  23. Sie JA, Blok BF, de Weerd H, Holstege G (2001). "Ultrastructural evidence for direct projections from the pontine micturition center to glycine-immunoreactive neurons in the sacral dorsal gray commissure in the cat". J. Comp. Neurol. 429 (4): 631–7. doi:10.1002/1096-9861(20010122)429:4<631::AID-CNE9>3.0.CO;2-M. PMID 11135240.
  24. Schirren, C.; Rehacek, M.; Cooman, S. de; Widmann, H.-U. (24 April 2009). "Die retrograde Ejakulation". Andrologia. 5 (1): 7–14. doi:10.1111/j.1439-0272.1973.tb00878.x.
  25. Y. de Jong; R.M. ten Brinck; J.H.F.M. Pinckaers; A.A.B. Lycklama à Nijeholt. "Influence of voiding posture on urodynamic parameters in men: a literature review" (PDF). Nederlands Tijdschrift voor urologie). สืบค้นเมื่อ 2014-07-02.
  26. de Jong, Y; Pinckaers, JH; Ten Brinck, RM; Lycklama À Nijeholt, AA; Dekkers, OM (2014). "Urinating Standing versus Sitting: Position Is of Influence in Men with Prostate Enlargement. A Systematic Review and Meta-Analysis". PLOS ONE. 9 (7): e101320. doi:10.1371/journal.pone.0101320. PMC 4106761. PMID 25051345.
  27. Sparling J (1997). "Penile erections: shape, angle, and length". Journal of Sex & Marital Therapy. 23 (3): 195–207. doi:10.1080/00926239708403924. PMID 9292834.
  28. Carlson, Neil. (2013). Physiology of Behavior. Upper Saddle River, New Jersey: Pearson Education, Inc.
  29. Bleske-Rechek, A. L.; Euler, H. A.; LeBlanc, G. J.; Shackelford, T. K.; Weekes-Shackelford, V. A. (2002). "Psychological adaptation to human sperm competition" (PDF). Evolution and Human Behavior.
  30. Ehrke, A. D.; Pham, M. N.; Shackelford, T. K.; Welling, L. L. M. (2013). "Oral sex, semen displacement, and sexual arousal: testing the ejaculate adjustment hypothesis". Evolutionary Psychology.
  31. 31.0 31.1 31.2 Shackelford, Todd K.; Goetz, Aaron T. (2007-02-01). "Adaptation to Sperm Competition in Humans". Current Directions in Psychological Science. 16 (1): 47–50. doi:10.1111/j.1467-8721.2007.00473.x. ISSN 0963-7214.
  32. 32.0 32.1 32.2 32.3 32.4 Moller, A. P. (1988). "Ejaculate quality, testes size and sperm competition in primates". Journal of Human Evolution. 17: 479–488. doi:10.1016/0047-2484(88)90037-1.
  33. 33.0 33.1 33.2 33.3 33.4 33.5 Mautz, B. S.; Wong, B. B. M.; Peters, R. A.; Jennions, M. D. (April 23, 2013). "Penis size interacts with body shape and height to influence male attractiveness". Proceedings of the National Academy of Sciences of the United States of America. 110 (17): 6925–30. Bibcode:2013PNAS..110.6925M. doi:10.1073/pnas.1219361110. JSTOR 42590540. PMC 3637716. PMID 23569234.
  34. Masters, W. H.; Johnson, V. E. (1966). Human Sexual Response. Boston: Little, Brown and Company.
  35. Schultz, W. W.; van Andel, P.; Sabelis, I.; Mooyaart, E. (December 18, 1999). "Magnetic resonance imaging of male and female genitals during coitus and female sexual arousal" (PDF). BMJ. 319: 1596. doi:10.1136/bmj.319.7225.1596.
  36. 36.0 36.1 36.2 36.3 Gallup, G. G.; Burch, R. L. (January 1, 2004). "Semen displacement as a sperm competition strategy in humans". Evolutionary Psychology. doi:10.1177/147470490400200105. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2016-10-24.
  37. 37.0 37.1 37.2 Lever, J.; Frederick, D. A.; Peplau, L. A. (2006). "Does size matter? Men's and women's views on penis size across the lifespan". Psychology of Men and Masculinity. 7: 129–143. doi:10.1037/1524-9220.7.3.129.
  38. Harcourt, A. H.; Purvis, A.; Liles, L. (1995). "Sperm competition: Mating system, not breeding season, affects testes size of primates". Functional Ecology. 9 (3): 469–476. doi:10.2307/2390011. JSTOR 2390011.
  39. 39.0 39.1 Simmons, Leigh W.; Firman, Renée C.; Rhodes, Gillian; Peters, Marianne (2003). "Human sperm competition: testis size, sperm production and rates of extra pair copulations". Animal Behaviour. 68: 297–302. doi:10.1016/j.anbehav.2003.11.013.
  40. Harcourt, A. H.; Harvey, P. H.; Larson, S. G.; Short, R. V. (1981). "Testis weight, body weight and breeding system in primates". Nature. 293 (5827): 55–57. Bibcode:1981Natur.293...55H. doi:10.1038/293055a0. PMID 7266658.
  41. Freund, M. (1962). "Interrelationships among the characteristics of human semen and facts affecting semen specimen quality". Journal of Reproduction and Fertility. 4: 143–159. doi:10.1530/jrf.0.0040143. PMID 13959612.
  42. 42.0 42.1 Kelly, Clint D.; Jennions, Michael D. (2011-11-01). "Sexual selection and sperm quantity: meta-analyses of strategic ejaculation". Biological Reviews. 86 (4): 863–884. doi:10.1111/j.1469-185X.2011.00175.x. ISSN 1469-185X. PMID 21414127.
  43. Shackelford, Todd K.; Pound, Nicholas; Goetz, Aaron T. (2005). "Psychological and Physiological Adaptations to Sperm Competition in Humans". Review of General Psychology. 9 (3): 228–248. doi:10.1037/1089-2680.9.3.228.
  44. Baker, R. Robin; Bellis, Mark A. (1989-05-01). "Number of sperm in human ejaculates varies in accordance with sperm competition theory". Animal Behaviour. 37 (Pt 5): 867–869. doi:10.1016/0003-3472(89)90075-4.
  45. Shackelford, T (2002). "Psychological adaptation to human sperm competition". Evolution and Human Behavior. 23 (2): 123–138. doi:10.1016/s1090-5138(01)00090-3.
  46. Kilgallon, Sarah J.; Simmons, Leigh W. (2005-09-22). "Image content influences men's semen quality". Biology Letters. 1 (3): 253–255. doi:10.1098/rsbl.2005.0324. ISSN 1744-9561. PMC 1617155. PMID 17148180.
  47. Leivers, Samantha; Rhodes, Gillian; Simmons, Leigh W. (2014-09-01). "Context-dependent relationship between a composite measure of men's mate value and ejaculate quality". Behavioral Ecology. 25 (5): 1115–1122. doi:10.1093/beheco/aru093. ISSN 1045-2249.
  48. Thornhill, Randy; Gangestad, Steven W. (2008). The evolutionary biology of human female sexuality. Oxford; New York: Oxford University Press. ISBN 9780199712489.
  49. Shackelford, Todd K.; Goetz, Aaron T. (2007-02-01). "Adaptation to Sperm Competition in Humans". Current Directions in Psychological Science. 16 (1): 47–50. doi:10.1111/j.1467-8721.2007.00473.x. ISSN 0963-7214. S2CID 6179167.
  50. 50.0 50.1 Burch, R. L.; Gallup, G. G.; Mitchell, T. J. (2006). "Semen displacement as a sperm competition strategy: Multiple mating, self-semen displacement, and timing of in-pair copulations". Human Nature. 17 (3): 253–264. doi:10.1007/s12110-006-1008-9. PMID 26181472. S2CID 31703430.
  51. 51.0 51.1 51.2 51.3 51.4 51.5 Burch, R. L.; Gallup, G. G.; Parvez, R. A.; Stockwell, M. L.; Zappieri, M. L. (2003). "The human penis as a semen displacement device". Evolution and Behaviour. 24 (4): 277–289. doi:10.1016/S1090-5138(03)00016-3.
  52. 52.0 52.1 Euler, H. A.; Goetz, A. T.; Hoier, S.; Shackelford, T. K.; Weekes-Shackelford, V. A. (2005). "Mate retention, semen displacement, and human sperm competition: A preliminary investigation of tactics to prevent and correct female infidelity". Personality and Individual Differences. 38 (4): 749–763. doi:10.1016/j.paid.2004.05.028.
  53. O'Hara, K.; O'Hara, J. (1999). "The effect of male circumcision on the sexual enjoyment of the female partner". British Journal of Urology. 83 Suppl 1: 79–84. doi:10.1046/j.1464-410x.1999.0830s1079.x. PMID 10349418. S2CID 4154098.
  54. Goldenberg MM (1998). "Safety and efficacy of sildenafil citrate in the treatment of male erectile dysfunction". Clinical Therapeutics. 20 (6): 1033–48. doi:10.1016/S0149-2918(98)80103-3. PMID 9916601.
  55. Boczko S, Freed S (November 1979). "Penile carcinoma in circumcised males". New York State Journal of Medicine. 79 (12): 1903–4. PMID 292845.
  56. Andrews HO, Nauth-Misir R, Shah PJ (March 1998). "Iatrogenic hypospadias—a preventable injury?". Spinal Cord. 36 (3): 177–80. doi:10.1038/sj.sc.3100508. PMID 9554017.
  57. "Lynchings in Congo as penis theft panic hits capital". Reuters. 22 April 2017. สืบค้นเมื่อ 16 January 2017.
  58. Holman JR, Lewis EL, Ringler RL (August 1995). "Neonatal circumcision techniques". American Family Physician. 52 (2): 511–520. PMID 7625325.
  59. Holman JR, Stuessi KA (March 1999). "Adult circumcision". American Family Physician. 59 (6): 1514–8. PMID 10193593.
  60. Rosenthal, Elisabeth (2007-02-27). "In Africa, a problem with circumcision and AIDS". The New York Times.
  61. Hovatta O, Mikkola M, Gertow K, และคณะ (July 2003). "A culture system using human foreskin fibroblasts as feeder cells allows production of human embryonic stem cells". Human Reproduction. 18 (7): 1404–1409. doi:10.1093/humrep/deg290. PMID 12832363.
  62. "'Miracle' Wrinkle Cream's Key Ingredient". Banderasnews.com. Banderas News. April 2008. สืบค้นเมื่อ 2010-10-22.
  63. "High-Tech Skinny on Skin Grafts". www.wired.com:science:discoveries. CondéNet, Inc. 1999-02-16. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ February 21, 2016. สืบค้นเมื่อ 2008-08-20.
  64. "Skin Grafting". www.emedicine.com. WebMD. สืบค้นเมื่อ 2008-08-20.
  65. Amst, Catherine; Carey, John (July 27, 1998). "Biotech Bodies". www.businessweek.com. The McGraw-Hill Companies Inc. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2008-07-24. สืบค้นเมื่อ 2008-08-20.
  66. Cowan, Alison Leigh (April 19, 1992). "Wall Street; A Swiss Firm Makes Babies Its Bet". The New York Times:Business. สืบค้นเมื่อ 2008-08-20.
  67. Anonymous (editorial) (1949-12-24). "A ritual operation". British Medical Journal. 2 (4642): 1458–1459. doi:10.1136/bmj.2.4642.1458. PMC 2051965. PMID 20787713. ...in parts of West Africa, where the operation is performed at about 8 years of age, the prepuce is dipped in brandy and eaten by the patient; in other districts the operator is enjoined to consume the fruits of his handiwork, and yet a further practice, in Madagascar, is to wrap the operation specifically in a banana leaf and feed it to a calf.
  68. Shulchan Aruch, Yoreh Deah, 265:10
  69. Schoen EJ (December 2007). "Should newborns be circumcised? Yes". Canadian Family Physician. 53 (12): 2096–8, 2100–2. PMC 2231533. PMID 18077736.
  70. Milos MF, Macris D (1992). "Circumcision. A medical or a human rights issue?". Journal of Nurse-Midwifery. 37 (2 Suppl): 87S–96S. doi:10.1016/0091-2182(92)90012-R. PMID 1573462.
  71. "Report 10 of the Council on Scientific Affairs (I-99):Neonatal Circumcision". 1999 AMA Interim Meeting: Summaries and Recommendations of Council on Scientific Affairs Reports. American Medical Association. December 1999. p. 17. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ December 12, 2004. สืบค้นเมื่อ 2006-06-13.
  72. New Data on Male Circumcision and HIV Prevention: Policy and Programme Implications (PDF) (Report). World Health Organization. March 28, 2007. สืบค้นเมื่อ 2007-08-13.
  73. "Male Circumcision and Risk for HIV Transmission and Other Health Conditions: Implications for the United States". Centers for Disease Control and Prevention. 2008. สืบค้นเมื่อ 2013-11-07.
  74. G. Dowsett; M. Couch. "Male Circumcision and HIV Prevention: Is There Really Enough of the Right Kind of Evidence?". Reproductive Health Matters. สืบค้นเมื่อ 2013-11-07.
  75. Vardi Y, Sadeghi-Nejad H, Pollack S, Aisuodionoe-Shadrach OI, Sharlip ID (July 2007). "Male circumcision and HIV prevention". J Sex Med. 4 (4 Pt 1): 838–43. doi:10.1111/j.1743-6109.2007.00511.x. PMID 17627731.
  76. Patel, Manish; Atala, Anthony (2011-12-29). "Tissue Engineering of the Penis". The Scientific World Journal. 11: 2567–2578. doi:10.1100/2011/323989. ISSN 2356-6140. PMC 3253692. PMID 22235188.
  77. 77.0 77.1 77.2 Moore, Lisa; Casper, Monica (2014). The Body: Social and Cultural Dissections. Taylor & Francis. p. 74. ISBN 9781136771798.
  78. Andrew, Tom W.; Kanapathy, Muholan; Murugesan, Log; Muneer, Asif; Kalaskar, Deepak; Atala, Anthony (October 24, 2019). "Towards clinical application of tissue engineering for erectile penile regeneration". Nature Reviews Urology. 16 (12): 734–744. doi:10.1038/s41585-019-0246-7. ISSN 1759-4820. PMID 31649327. S2CID 204883088.
  79. Pozzi, Edoardo; Muneer, Asif; Sangster, Pippa; Alnajjar, Hussain M.; Salonia, Andrea; Bettocchi, Carlo; Castiglione, Fabio; Ralph, David J. (July 2019). "Stem-cell regenerative medicine as applied to the penis". Current Opinion in Urology. 29 (4): 443–449. doi:10.1097/MOU.0000000000000636. ISSN 0963-0643. PMID 31008782. S2CID 128353913.
  80. 80.0 80.1 Ude, Chinedu Cletus; Miskon, Azizi; Idrus, Ruszymah Bt Hj; Abu Bakar, Muhamad Bin (2018-02-26). "Application of stem cells in tissue engineering for defense medicine". Military Medical Research. 5 (1): 7. doi:10.1186/s40779-018-0154-9. ISSN 2054-9369. PMC 6389246. PMID 29502528.
  81. 81.0 81.1 Ferreira, Becky (October 6, 2014). "How to Grow An Artificial Penis". Vice News (ภาษาอังกฤษ). สืบค้นเมื่อ November 19, 2020.
  82. Purpura, Valeria; Bondioli, Elena; Cunningham, Eric J; De Luca, Giovanni; Capirossi, Daniela; Nigrisoli, Evandro; Drozd, Tyler; Serody, Matthew; Aiello, Vincenzo; Melandri, Davide (December 22, 2018). "The development of a decellularized extracellular matrix–based biomaterial scaffold derived from human foreskin for the purpose of foreskin reconstruction in circumcised males". Journal of Tissue Engineering. 9: 2041731418812613. doi:10.1177/2041731418812613. ISSN 2041-7314. PMC 6304708. PMID 30622692.
  83. "世界首例异体阴茎移植成功 40岁患者数周后出院·广东新闻·珠江三角洲·南方新闻网". สืบค้นเมื่อ 16 January 2017.
  84. Sample, Ian (2006-09-18). "Man rejects first penis transplant". The Guardian. London. สืบค้นเมื่อ 2010-05-22.
  85. Chen KL, Eberli D, Yoo JJ, Atala A (November 2009). "Regenerative Medicine Special Feature: Bioengineered corporal tissue for structural and functional restoration of the penis". Proceedings of the National Academy of Sciences of the United States of America. 107 (8): 3346–50. Bibcode:2010PNAS..107.3346C. doi:10.1073/pnas.0909367106. PMC 2840474. PMID 19915140.
  86. Gallagher, James (13 March 2015). "South Africans perform first 'successful' penis transplant". BBC News. สืบค้นเมื่อ 16 January 2017.

แหล่งข้อมูลอื่น